ทนายอ้วนชวนเที่ยว ... เวลาเดินช้าที่ .. น่าน - วัดภูมินทร์
สถานที่ท่องเที่ยว : วัดภูมินทร์ จ.น่าน, น่าน Thailand
พิกัด GPS : 18° 46' 28.52" N 100° 46' 17.90" E






 
 
 

 
2-3  วัน  หลังลอยกระทงเจ้าของบล็อกได้มีโอกาสขับรถไปเที่ยวจังหวัดน่าน  เก็บสถานที่ท่องเที่ยวส่วนมากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ในตัวเมืองน่าน  และอำเภอปัวมาได้พอสมควรครับ  วันนี้ขอนำเสนอสถานที่ท่องเที่ยวแห่งแรกที่ไปมา  แต่เป็นบล็อกที่เกี่ยวกับการไปเที่ยวน่านบล็อกที่สามครับ
 




 
วัดภูมินทร์  น่าน



 
 
วัดภูมินทร์นับว่าเป็นจุด  check in  ยอดนิยมที่สุดในจังหวัดน่าน  ใครไปใครมาน่าจะไม่พลาดที่จะมาเที่ยววัดภูมินทร์  นอกจากนั้นวัดภูมินทร์ยังตั้งอยู่กลางเมือง  ใกล้สถานที่สำคัญหลายๆแห่งด้วยครับ  ที่สำคัญโรงแรมที่ไปพักตั้งอยู่ด้านหลังวัดภูมินทร์เลยครับ  เลยได้มีโอกาศถ่ายรูปวัดภูมินทร์ในหลายๆบรรยากาศมาฝากกันครับ





 
 
 

วัดภูมินทร์ มีชื่อเดิมที่ปรากฏในคัมภีร์เมืองเหนือชื่อว่า  “วัดพรหมมินทร์”  โดยตั้งชื่อตาม  “พระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์”  (บางตำราออกพระนามว่า  “เจ้าเชษฐบุตต์พรหมมินทร์”) วีรบุรุษคนสำคัญของเมืองน่านเมื่อขึ้นครองเมืองน่านได้ 6 ปี 
(ประมาณ  พ.ศ.2138 – 2139)

ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่สมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช  (หรือ  “เจ้ามหาชีวิต”  เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 62 แห่งราชวงศ์หลวงติ๋นมหาวงศ์ ตรงกับรัชสมัยของ รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5)  เมื่อ พ.ศ.2410 (ปลายสมัยรัชกาลที่ 4) ใช้เวลาซ่อม นานถึง 7 ปี






 




 
จุดเด่นของวัดภูมินทร์ก็คือ  พระอุโบสถทรงจัตุรมุข  ถ้ามองจากจากถนนที่ผ่านข้างวัด  (ถนนผากอง)  จะเห็นเหมือนกับว่าพญานาค  2  ตน  กำลังเทินพระอุโบสถไว้บนลำตัว  โดยส่วนหัวพญานาคทั้ง  2  ตนหันหน้าไปทางทิศเหนือโดยมีพนักกำแพงรองรับ  และกลายเป็นราวบันไดนาคที่บันไดทางขึ้นพระอุโบสถ  ส่วนในแนวตะวันตก – ตะวันออกมีรูปปั้นสิงห์เฝ้าที่เชิงบันได จึงทำให้เข้าใจว่า ในแนวเหนือ -ใต้นั้นเป็นพระอุโบสถ ส่วนแนวตะวันตก – ตะวันออกนั้นเป็นวิหาร
 

อาจารย์ถวัลย์  ดัชนี  ศิลปินแห่งชาติชื่นชมพญานาคที่วัดภูมินทร์ว่าดู  “ทรงพลังที่สุด”  กรมศิลปากรสัณนิษฐานว่าเป็นพระอุโบสถแบบจัตุรมุขหลังแรกของประเทศไทยเลยทีเดียว









 











 
ช่องประตูกลางลำตัวพญานาคทั้ง 2 ตัวที่ทำท่าสะดุ้งตัวเป็นคลื่นมีอยู่ทั้งด้านหน้าและด้านหลังพระอุโบสถเชื่อกันว่าถ้าแขกบ้านแขกเมืองได้ลอดช่องประตูนี้จะได้กลับมาเที่ยวเมืองน่านอีกครั้ง
 
 
จุดเด่นของวัดภูมินทร์อีกประการหนึ่งก็คือพระอุโบสถหลังนี้ใช้เป็นพระวิหารด้วย
 
 
น่าเสียดายที่ทางวัดกำลังบูรณะซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถ  3  ด้าน  แต่น่าจะใกล้เสร็จแล้ว  เพราะวันที่เจ้าของบล็อกจะกลับเจ้าหน้าที่เริ่มปลดผ้าคลุมออกด้านนึงแล้วครับ











 เจ้าของบล็อกชอบการให้สีของซุ้มประตูทางเข้ามากครับ  ไม่แน่ใจว่าเป็นสีที่เลี่ยนแบบสีเดิมหรือเปล่า  ลองสังเกตดูที่ตรงขอบบัวลูกแก้วอกไก่ครับเค้าจะประดับกระจกสีฟ้าสลับกับสีเขียวทำให้พื้นซุ้มประตูสีแดงก่ำกับลายสีเขียว – สีฟ้าเด่นขึ้นมาเลยครับ
 
ลวดลายที่ประดับไม่ถึงกับอ่อนช้อยจนตะลึงตะลานแต่ก็สวยเด่นจนต้องเข้าไปมองใกล้ๆ  ก็เห็นว่าแอบสลับสีเขียว สีฟ้า  เหมือนกันนะครับ 













อีกประการหนึ่งที่เจ้าของบล็อกเห็นว่าต่างไปจากศิลปะทางภาคเหนือทั่วๆไปก็คือ 
“ชายของลายที่ประดับที่เสาข้างประตูพระอุโบสถ”  ตอนแรกเจ้าของบล็อกก็ว่าลายแบบนี้มันเหมือนลายที่ตีนซิ่นทางภาคเหนือ ก็เลยคิดถึงคำอธิบายถึงลวดลายปูนปั้นต่างของอาจารย์เผ่าทอง  ทองเจือว่า  “ลวดลายปูนปั้นต่างๆก็เอามาจากลายผ้านุ่ง”  นั่นเองครับ






 
 

 
 
ภานในพระอุโบสถตรงกลางประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ปูนปั้นลงรักปิดทอง ขนาดหน้าตักกว้าง ๒ เมตร ๗๐ เซนติเมตร ศิลปะสมัยล้านนาสกุลช่างเมืองน่าน ขนาดใหญ่ 4 องค์ หันพระพักตร์ออกตรงกับประตูทั้งสี่ทิศ หันพระปฤษฏางค์ชนกัน  ประทับนั่งบนฐานชุกชี พระพุทธรูปทั้ง ๔ องค์ เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงพระพุทธเจ้าที่เสด็จมาแล้ว คือพระกกุสันโธ พระโกนาคมน์ พระกัสสป  และพระโคตมะที่ได้มาประกาศพระพุทธศาสนาล่วงมาแล้ว
 
 
 ว่ากันว่าให้พยายามสังเกตหน้าองค์พระทั้งสี่ทิศ ซึ่งจะมีอยู่เพียงทิศเดียวเท่านั้นที่หน้าองค์พระประธานจะมีลักษณะยิ้มแย้มมากกว่าทั้ง 3 ทิศที่เหลือ ให้กราบขอพรยังทิศนั้นแล้วจะได้สมปรารถนาตามที่ตั้งใจไว้
 
















ลองสังเกตุดูดีๆจะเห็นว่าลายคำที่เครื่องบนของพระอุโบสถ  มีลาย 
"มังกรแบบจีน"  ด้วยนะครับ  แสดงให้เห็นถึงความผสมผสานของศิลปะจีนที่เข้ามาในไทยสมัยรัชกาลที่  4  - 5






 

ภายในพระอุโบสถวัดภูมินทร์  ผนังทุกด้านถูกตกแต่งด้วย 
“ฮูบแต้ม”  หรือภาพจิตรกรรมฝาผนังในภาษากลาง  ภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนขึ้นมนช่วงที่มีการบูรณะวัดภูมินทร์ครั้งใหญ่ ในปี พ.ศ. 2410 ในสมัยพระเจ้าอนันตวรฤทธิเดช (ปลายสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)  เป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน  สำหรับช่างผู้วาดนั้นไม่ปรากฎประวัติ  แต่รูปแบบของจิตรกรรมฝาผนังเป็นศิลปะแบบชาวไทลื้อ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่อพยพมาจากสิบสองปันนา
 

 “ อาจารย์ วินัย ปราบริปู ศิลปินสายเลือดน่าน ได้แสดงทัศนะไว้ในบทความ "ใครคือศิลปินผู้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์?" ไว้อย่างน่าสนใจยิ่งว่า ศิลปินผู้เขียนภพที่วัดภูมินทร์เป็นศิลปินคนเดียวกับผู้เขียนภาพที่วัดหนองบัว วัดสำคัญของชาวไทลื้อที่อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน บุคคลท่านนั้นคือ "หนานบัวผัน" หรือ ทิดบัวผัน ช่างวาด หรือ"สล่า" ชาวไทลื้อ ด้วยเหตุผลสำคัญคือ ภาพจิตรกรรมวัดภูมินทร์กับวัดหนองบัวมีโครงสร้างสีเดียวกัน คือ แม่สีแดง น้ำเงิน เหลืองเป็นหลัก
 
ที่สำคัญคือ มีภาพที่คล้ายคลึงกันถึงกว่า 40 จุด เช่น ใบหน้าคน การแต่งกาย สรรพสัตว์ ทั้งไก่แจ้ นก ลิง กวาง แม้กระทั่งแนวการลากเส้นสายพุ่มไม้และกอสับปะรด ก็ยังเป็นแบบเดียวกัน คือเป็นแนว "คตินิยม" หรือเขียนตามจินตนาการมากกว่าจะเขียนเป็นภาพเหมือนจริง  (Realistic)   ที่เด่นชัดคือการเขียนคิ้วบนใบหน้าชายและหญิงให้โค้งเป็นวงพระจันทร์ แล้วลากหัวคิ้วข้างหนึ่งลงมาเป็นสันจมูก เหมือนกันทั้งที่วัดหนองบัวและวัดภูมินทร์ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการค้นพบภาพร่างด้วยหมึกบนกระดาษสาพับ (ชาวล้านนาเรียก ปั๊บสา) ระบุว่าเป็นของ "หนานบัวผัน" ใช้ร่างก่อนภาพจริงลงบนฝาผนัง ซึ่งมีหลายภาพ อาทิ ภาพอีโรติกของลิงหนุ่มสาว เป็นภาพร่างใน "ปั๊บสา" พบที่วัดหนองบัว แล้วมีภาพนี้ไปปรากฎที่ฝาผนังวัดภูมินทร์ด้วย
 
จึงมีความเป็นไปได้ว่า "หนานบัวผัน" สล่าชาวไทลื้อ ซึ่งมีหลักฐานว่าเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดหนองบัว อำเภอท่าวังผา ในช่วง พ.ศ. 2410-2431 จะเป็นผู้รังสรรค์ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ ระหว่างการบูรณะครั้งใหญ่ โดยเจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ ระหว่าง พ.ศ. 2410-2418 หรืออาจเขียนที่วัดหนองบัวก่อน แล้วมาเขียนที่วัดภูมินทร์ ในสมัย พระเจ้าสุริยะพงษ์ผริตเดชฯ ซึ่งปกครองนครน่านระหว่าง พ.ศ. 2336-2461 ก็เป็นได้”

 

ชาวไทลื้อ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย ที่อพยพมาจากสิบสองปันนา หลวงพระบางและล้านช้าง ตามประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า เจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ ทำสงครามกับเชียงใหม่ (ภายใต้การปกครองของพม่า) หลายครั้ง บางครั้งก็แพ้ บางครั้งก็ชนะ เมื่อแพ้จะหลบหนีไปอยู่ที่ลานช้าง แล้วก็นำทัพจากเมืองลานช้างและหงสา เข้ามาตีเอาเมืองน่านกลับคืน ซึ่งตอนนี้นี่เอง อาจมีชาวไทลื้อจากเมืองลานชางเข้ามาอยู่เมืองน่านด้วย ซึ่งได้นำเอาวัฒนธรรม  ความเชื่อประจำเชื้อชาติเข้ามาด้วย เช่น ชาดกเรื่อง "คันธกุมาร" เป็นนิทานชาดกในพุทธศาสนาที่มุ่งสอนให้คนทำความดีก็เป็นเรื่องที่มาจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว













 
อีกช่วงหนึ่งที่ชาวไทลื้อได้อพยบเข้ามาในเมืองน่านเป็นจำนวนมากก็คือในยุคของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ  เป็นเจ้าเมืองน่าน   ตามพงศาวดารเมืองน่านระบุว่า  ช่วง พ.ศ.2399  พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ยกทัพไปกวาดต้อนครอบครัวไทลื้อราว 2,000 คน มาจากเมืองพงษ์ในเขตสิบสองปันนา และญาติพี่น้องของคนกลุ่มนี้ก็อพยพตามกันลงมาอีก ปัจจุบันชาวไทลื้อตั้งถิ่นฐานกระจายตัวอยู่ในอำเภอทุ่งช้าง อำเภอเชียงกลาง อำเภอท่าวังผา และอำเภอปัว  จัดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์มากที่สุดของชาวน่าน  ผ้าทอลายน้ำไหลที่ปรากฎในภาพวาดก็เป็นผ้าของชาวไทลื้อ
 
 
จุดเด่นของจิตรกรรมฝาผนังที่วัดภูมินทร์นอกจากจะสังเกตุได้จากการเน้นค่านิยมความงามแบบชาวเหนือ ภาพคนจึงมักมีผิวขาวใบหน้ากลมแป้น  ดวงตาค่อนข้างรีและเหลือบแลไปในทิศต่าง ๆ เสมอ ริมฝีปากเล็กรูปกระจับแสดงความดีใจด้วยการเขียนมุมปากเชิดขึ้นทั้งสองข้าง เมื่ออยู่ในอารมณ์เศร้าเสียใจมุมปากก็จะตกลงการเขียนคิ้วบนใบหน้าชายและหญิงให้โค้งเป็นวงพระจันทร์ แล้วลากหัวคิ้วข้างหนึ่งลงมาเป็นสันจมูกแล้ว  ใบหน้าผู้คนที่ช่างได้ใส่อารมณ์ความรู้สึกไว้อย่างเต็มที่  การใช้เส้นโค้งหรือไม่ก็ใช้สภาพธรรมชาติ เช่นภูเขา โขดหิน เนินดิน เป็นตัวแบ่งเรื่องราว  อีกทั้งลายเส้นเคลื่อนไหวอ่อนช้อยจนคิดว่าผู้คนเหล่านั้นมีชีวิตจริง โครงสีที่ใช้เป็นสีคู่หลักคือสีส้มแดงและสีน้ำเงินซึ่งเป็นคู่สีตรงข้าม แต่ช่างได้นำเอาโครงสีโทนอ่อนเข้ามาแทรกเป็นระยะ ตลอดจนการผสมสีทั้งสองให้หม่นลงจึงมีผลต่อภาพทำให้ดูนุ่มนวลและกลมกลืนเข้ากันได้เป็นอย่างดี


นอกจากจิตรกรรมฝาผนังจะเขียนเรื่องชาดกในพระพุทธศาสนาแล้ว  ยังเขียนภาพความเป็นอยู่ของชาวเมืองน่านในสมัยปลายรัชกาลที่ 4 ถึงสมัรัชกาลที่  5  ไว้อย่างชัดเจน  เช่น  ผู้หญิงมักจะมีกาและมีปอยผม  นุ่งซิ่นลายน้ำไหลกันทุกคนซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของผู้หญิงชาวน่านโดยแท้  ผู้หญิงส่วนใหญ่นิยมไว้ผมมวยสูงมวดเป็นห่วง ส่วนผู้ชายก็ไว้ผมเกล้าแล้วเคียนศรีษะ บางคนก็ตัดผมทรงมหาดไทยและนิยมสักตามตัวตั้งแต่เอวลงไป
 

การสักยันต์ของชายหนุ่มเป็นความเชื่อของชาวไทลื้อ  ชายหนุ่มในภาพต่างเปลือยอกเห็นรอยสักเต็มตัว ทั้งแขน ไหล่ หน้าอก พุง และหน้าขา คนกลุ่มนี้จึงถูกเรียกว่า
“ลาวพุงดำ”  เนื่องจากมีรอยสักเต็มทั้งตัว










 





ภาพชาวต่างประเทศทั้งหญิงและชายที่เข้ามาเมืองน่านช่วงรัชกาลที่ 4 - 5 และยังมีภาพชาวจีนที่เข้ามาค้าขายทางเรือ  








 
 
ภาพธรรมเนียมการอยู่ข่วง ของชาวไทลื้อ พ่อแม่จะอนุญาตให้หนุ่มสาวพบปะกันที่ชานบ้านในเวลาค่ำ ขณะหญิงสาวกำลังปั่นฝ้าย หรือ
“อยู่ข่วง” หากสาวเจ้า ตกลงปลงใจด้วยก็จะจัดพิธีแต่งงาน หรือที่เรียกว่า “เอาคำไปป่องกั๋น” หรือเป็นทองแผ่นเดียวกัน





 
 


ภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมืองน่าน  บ้านเรือนยุคนั้นเป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูงเอาไว้ทำกิจกรรมต่างๆ เช่นทอผ้า ทอหูก ฯลฯ บันไดทางขึ้นบ้านมีทั้งด้านหน้าและด้านหลัง บริเวณนอกชานเป็นพื้นที่โล่ง รอบๆ ชานมีแนวลูกกรงไม้กั้นโดยรอบ  มีหญิงสาวกำลังทอผ้าด้วยกี่พื้น เมือง นอกชานมีเรือนเล็กๆ ตั้งหม้อน้ำดินเผาที่เรียกว่า
“ฮ้านน้ำ”







 
บนผนังด้านทิศตะวันตก มีภาพชาย 2 คน ใต้ภาพอธิบายไว้ว่า
“ยาง” ซึ่งหมายถึงชาวกะเหรี่ยง ภาพนี้ชี้ให้เห็นว่าชาวกะเหรี่ยงยุคนั้นสวมชุดสีแดงสลับขาวยาวถึงน่อง





 
 
ภาพชาวลัวะในภาพเขียนบนผนังด้านทิศตะวันตกใกล้ๆกับภาพ  “ปู่ม่านย่าม่าน”  อันลือลั่น  โดยวาดเป็นชายนุ่งผ้าต้อย สะพายย่ามและมีกระชุด้านหน้า คนที่สะพายกระชุสูบกล้องยาสูบ ซึ่งคาดว่าเป็นชนชาวเขากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ที่ด้านล่างมีรูปสุนัขอยู่ เข้าใจว่าช่างอาจจะสื่อความหมายถึงชาวลัวะก็ได้ เพราะเดิมเชื่อว่าดินแดนนี้เป็นที่อยู่ของชาวลัวะ เล่ากันว่าก่อนที่พระเจ้ากาวิละจะเข้ามาฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่นั้น ต้องให้ชาวลัวะจูงหมาเข้าเมืองก่อน ส่วนผู้หญิงที่เดินตามหลังนั้นถึงแม้ลักษณะการแต่งตัวเป็นแบบชาวพื้นราบแล้ว แต่กระชุที่แบกอยู่ด้านหลังกลับคล้ายกระชุของชาวขมุ ซึ่งในระยะนั้นเป็นคนงานตัดไม้ในป่า







 
แล้วก็มาถึงภาพเขียนที่เป็นที่เลื่องลือเป็นตำนานของเมืองน่าน .....
ภาพปู่ม่าน  ญ่าม่าน  หรือ  ภาพกระซิบรัก  ภาพวาดของหนุ่มสาวคู่นี้มีความประณีตมาก ภาพนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพที่งามเป็นเยี่ยมของวัดภูมินทร์  มีขนาดใหญ่เกือบเท่าคนจริงอยู่ที่ผนังด้านซ้ายของประตูทิศตะวัตกของวิหารวัดภูมินทร์ เป็นภาพชายหนุ่มกับหญิงสาวในชุดแต่งกายแบบพม่าหรือไทใหญ่ กำลังยืนกระซิบกระซาบกัน ใช้สายตาเป็นสื่อภาษาใจต่อกัน โดยด้านบน มีอักษรล้านนาโบราณเขียนกำกับไว้ลางๆ ถอดความได้ว่า "ปู่ม่านญ่าม่าน"
 
คำว่า
"ม่าน" ในภาษาล้านนาใช้เรียกดินแดนพม่าและชาวพม่า และบางทียังใช้เรียกชาติพันธุ์ไท หรือ "ไต" อย่างชาวไทใหญ่ หรือ "ไตโหลง" ที่อาศัยในที่ราบสูงฉาน ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของพม่า หรือ "ม่าน" ส่วนคำว่า "ปู่" และ "ญ่า" ในภาษาถิ่นล้านนามิได้หมายถึงผู้เฒ่าผู้แก่เสมอไป ในบางครั้งอาจใช้เป็นคำสรรพนามเรียกผู้ชายและผู้หญิง "ปู่ม่านญ่าม่าน" ในที่นี้ จึงอาจหมายถึง "หนุ่มม่านสาวม่าน" ก็ได้
 
ทำให้เกิดคำถามว่า "ภาพปู่ม่านญ่าม่าน" หรือที่ศิลปินร่วมสมัยนิยมเรียกภาพ "กระซิบรัก" (The Whispering) อันยวนใจ (Romance) คือใครเหตุใดศิลปินจึงวาดภาพที่มีขนาดใหญ่เท่าคนจริงเพียงนี้ มีความเป็นไปได้เพียงใดว่า ที่ชายหนุ่มในภาพอาจเป็นภาพเหมือนของตัวจริงของตัวศิลปินผู้วาดภาพเอง ตลอดรวมไปถึงข้อสงสัยว่าจิตรกรรมฝาผนังภาพนี้ ซ่อนรหัสนัย อะไรไว้ในทางวัฒนธรรมหรือการเมืองไว้หรือไม่

 
"ส่วนภาพหนุ่มกระซิบรักบันลือโลก ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่อง คันธกุมารชาดก อาจารย์สน สีมาตรั้ง แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากรได้ตั้งข้อสันนิษฐานในเบื้องต้นว่า น่าจะเป็นภาพตัวศิลปินเองกับคนรักของเขานั้น แต่ทว่า ชายหนุ่มในภาพขมวดผมไว้กลางกระหม่อม พร้อมผ้าพันผมแบบพม่า นุ่งผ้าลยลุนตะยาแบบพม่า พร้อมผ้าพันผมแบบพม่า มีสักยันต์สีแดงตามลำตัว ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ชนชาวไทใหญ่ สอดคล้องกับตัวอักษรล้านนาที่เขียนกำกับไว้ว่า "ปู่ม่านญ่าม่าน" ซึ่งจะแปลว่าหนุ่มสาวชาวพม่า หรือชาวไทใหญ่ที่อยู่ในเขตพม่าก็ได้ ดังนั้น อาจารย์วินัย จึงเชื่อว่าชายหนุ่มในภาพนี้ ไม่น่าเป็นภาพตัวศิลปินผู้วาด เพราะมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้แล้วว่า ศิลปินผู้วาดคือ "หนานบัวผัน" นั้นเป็นชาวไทลื้อ เพราะด้วยเหตุผลที่ว่า ล้านนาตกเป็นประเทศราชของหงสาวดีกว่า 200 ปี วัฒนธรรมได้ฝังแน่นคลุกเคล้าผสมปนเปกับวัฒนธรรมของชาติพันธุ์เผ่าต่าง ในเมืองน่าน ศิลปิน "หนานบัวผัน" จึงถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดของตน ผ่านภาพเขียนเป็นภาพหญิงสาวแสนสวยชายตาแสดงความกรุ้มกริ่มในอารมณ์คู่รักหนุ่มชาวพม่า...หนานบัวผัน ไม่ได้เขียนบุคคลที่เป็นตัวตน หากแต่เขียนภาพความสมบูรณ์ของบุคคลในความรู้สึกนึกคิด ความรู้สึก และความศรัทธาในความ "ขลัง" มากกว่าจะเขียนภาพตามคติและความเป็นจริง (วินัย ปราบริปู จากบทความ 'ภาพหนุ่มกระซิบบันลือโลก ณ วัดภูมินทร์ เป็นภาพศิลปินจริงหรือ?)


 

อาจารย์สมเจตน์ วิมลเกษม ปราญช์เมืองน่าน ได้แต่งคำกลอนอันสุดแสนโรแมนติกเป็นภาษาเหนือเพื่อบรรยายถ้อยคำกระซิบของปู่ม่านญ่าม่านนี้ว่า
 
“คำฮักน้องกูปี้จักเอาไว้ในน้ำก็กลัวหนาว จักเอาไว้พื้นอากาศกลางหาว ก็กลัวหมอกเหมยซอนดาวลงมาขะลุ้ม
จักเอาไปใส่ในวังข่วงคุ้ม ก็กลัวเจ้าปะใส่แล้วลู่เอาไป ก็เลยเอาไว้ในอกในใจ๋ตัวชายปี้นี้ จักหื้อมันไห้อะฮิอะฮี้ ยามปี้นอนสะดุ้งตื่นเววา…”


 
แปลว่า  
“ความรักของน้องนั้น พี่จะเอาฝากไว้ในน้ำก็กลัวเหน็บหนาว จะฝากไว้กลางท้องฟ้าอากาศกลางหาว ก็กลัวเมฆหมอกมาปกคลุมรักของพี่ไปเสีย หากเอาไว้ในวังในคุ้ม เจ้าเมืองมาเจอก็จะเอาความรักของพี่ไป เลยขอฝากเอาไว้ในอกในใจของพี่ จะให้มันร้องไห้รำพี้รำพันถึงน้อง ไม่ว่ายามพี่นอนหลับหรือสะดุ้งตื่น”








รูปสุดท้ายที่จะนำมาให้ชมถูกใจเจ้าของบล็อกที่สุด .... ลองเดากันนะครับว่าเป็นรูปอะไร .... คริๆๆๆ






 


ที่ด้านข้างของวัดภูมินทร์มีสถานที่ที่น่าสนใจอีก  2  แห่ง  คือ



 

สถูปเจดีย์พระมาลัยโปรดโลก
 
ภายในก็จะเป็นรูปปั้นจำลองนรกสำหรับคนที่ทำบาปว่าจะได้รับผลกรรมเช่นไร เพื่อเป็นการย้ำเตือนใจการทำความดี








 
หอไตรวัดภูมินทร์ สร้างขึ้นใหม่เลียนแบบของเดิม เมื่อ 5 มีนาคม 2537 อาคารสี่เหลียมทรงสูงสองชั้นก่ออิฐถือปูน มีบันใดภายในตัวอาคาร ชั้นบนมีระเบียง หลังคามีช่อฟ้าใบระกา







รูปสุดท้ายไม่รู้แน่ว่าคืออะไร  ถ้าจะให้เดาคงจะเป็น  "ใบเสมา"  มั๊งครับ  แต่ทำไมเหลือใบเดียว ???








ติดตามชมสถานที่ท่องเที่ยวแห่งต่อในจากทริป  น่าน - แพร่ นะครับ 131131131













 


 
135131132



Create Date : 04 ธันวาคม 2562
Last Update : 4 ธันวาคม 2562 20:57:09 น.
Counter : 2253 Pageviews.

16 comments
กงสุลใหญ่สมใจ ตะเภาพงษ์“ร่วมฉลองสงกรานต์ปีใหม่ไทยในไทม์สแควร์” newyorknurse
(17 เม.ย. 2567 02:18:24 น.)
++ พระมหาธาตุเจดีย์โฆสปัญโญศรีพนม ++ wicsir
(13 เม.ย. 2567 10:29:52 น.)
ระยองฮิสั้น จันทราน็อคเทิร์น
(12 เม.ย. 2567 15:33:48 น.)
ซ้งเย็นตาโฟ ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลา พุทธมณฑลสาย 1 แมวเซาผู้น่าสงสาร
(11 เม.ย. 2567 10:45:53 น.)

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณโอน่าจอมซ่าส์, คุณบาบิบูเบะ...แปลงกายเป็นบูริน, คุณสองแผ่นดิน, คุณmcayenne94, คุณSweet_pills, คุณKavanich96, คุณไวน์กับสายน้ำ, คุณRananrin, คุณkae+aoe, คุณtuk-tuk@korat, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณlife for eat and travel, คุณSai Eeuu, คุณสาวไกด์ใจซื่อ, คุณตะลีกีปัส

  
คิดถึงน่านจริงๆเลยจ้า
โดย: โอน่าจอมซ่าส์ วันที่: 4 ธันวาคม 2562 เวลา:21:03:36 น.
  
อยากไปน่าน อยากเที่ยววัดนี้ค่า
โดย: บาบิบูเบะ...แปลงกายเป็นบูริน วันที่: 4 ธันวาคม 2562 เวลา:22:10:31 น.
  

วันนี้โหวต โฟโต้ ภาพสวยงามมาก
พร้อมคำอธิบายประกอบละเอียด
ได้ความรู้มากค่ะ วัดนี้ดังมาก
และภาพ ชายหญิงพม่า นั่นก็เป็นภาพที่ใครๆต้องไปถ่ายภาพด้วย
นานไปสีคงจะค่อยๆลางเลือนไปอีก
มาร่วมชื่นชมพุทธศิลป์ของทางเหนือ
ยังไม่เคยไปน่านสักครั้งค่ะ
โดย: mcayenne94 วันที่: 4 ธันวาคม 2562 เวลา:22:24:00 น.
  
วัดภูมินทร์สวยงามมาก
อยากมีโอกาสชมภาพจิตรกรรมฝาผนังด้วยค่ะคุณบอล
ขอบคุณคุณบอลที่พาเที่ยวนะคะ
ภาพสวยมากค่ะ
โดย: Sweet_pills วันที่: 4 ธันวาคม 2562 เวลา:23:43:50 น.
  
ขอบคุณที่แบ่งปัน
โดย: Kavanich96 วันที่: 5 ธันวาคม 2562 เวลา:3:48:49 น.
  
นั่งดูภาพ คำอธิบายที่มาของภาพ.... น่าทึ่งมากสำหรับศิลปินผู้วาด
ภาพ ผมว่าก็ใช่นะครับภาพเป็นแบบจินตนาการมากกว่า ภาพเหมือน
เพราะ สรีระ ไม่เหมือนคนของจริง

แต่นั่นใช่เลยเป็น ศิลป....จนใคร ๆ ก็เป็นภาพ กระซิบรัก.. โบสถ์วิหาร
สวยจริง ภาพยางหรือคนไทยเรียกว่า กระเหรี่ยงก็ใช่อีกเพราะเห็น
เสื้อผ้าที่ใส่

ตอนเป็นเด็ก อยู่เชียงใหม่เพื่อน ๆ รู้ว่าผมมาจาก อ.ปายก็ล้อว่า
ไอ้ม่าน...โกรธซิครับ ก็ผมมิใช่ม่านแต่ มีเชื้อสาย ไทยใหญ่ ฮ่า ๆๆ

ทนาย..เขียนแบบนี้ดีจรังเลยได้ความรู้ด้วย
โดย: ไวน์กับสายน้ำ วันที่: 5 ธันวาคม 2562 เวลา:4:09:54 น.
  
มาเที่ยวด้วยคนค่ะ
ขอบคุณสำหรับคำแนะนำนะคะ
โดย: Rananrin วันที่: 5 ธันวาคม 2562 เวลา:5:03:01 น.
  
สวยมากๆ

ภาพนี่แปลกดีเลยนะคะ ดูเพลินดี
โดย: kae+aoe วันที่: 5 ธันวาคม 2562 เวลา:7:59:26 น.
  
ปล. ที่เด็กๆคริสต์ทางเรียนกว่าแผ่นปังค่ะ รสจะจืดๆ ค่ะ
โดย: kae+aoe วันที่: 5 ธันวาคม 2562 เวลา:8:02:27 น.
  
อ่านสนุกมากค่ะ
โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 5 ธันวาคม 2562 เวลา:8:47:18 น.
  
ไปเที่ยวน่านด้วยคนค่ะ เห็นแล้วก็คิดถึงวัดวาอารามและที่เที่ยวที่นั่นค่ะ โหวตๆค่ะ
โดย: life for eat and travel วันที่: 5 ธันวาคม 2562 เวลา:21:24:33 น.
  
บรรยายยอดเยี่ยม จนอยากไปดูเองเลย ปู่ย่าม่าน
โดย: Sai Eeuu วันที่: 5 ธันวาคม 2562 เวลา:22:25:04 น.
  
อู๊ยยยย คิดถึงม่าน

นี่สิ บล็อกท่องเที่ยว ชอบอ่านพวกรายละเอียดพวกนี้นี่แหละ ขอบคุณที่พาเที่ยวนะจ๊ะ

บันทึกการโหวตเรียบร้อยแล้วค่ะ



บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
Sai Eeuu Food Blog ดู Blog
nonnoiGiwGiw Diarist ดู Blog
ทนายอ้วน Travel Blog ดู Blog

ระบบจะบันทึกคะแนนโหวต เฉพาะการโหวต 10 ครั้งล่าสุดในแต่ละวันเท่านั้น
โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 6 ธันวาคม 2562 เวลา:9:20:29 น.
  
สวยและสื่อความหมายได้ดีมาก ภาพสมัยโบราณที่วัด ภูมินทร์
ใครไป น่าน .....ไม่ไป ไม่ถึงน่าน
โดย: พายุสุริยะ วันที่: 6 ธันวาคม 2562 เวลา:20:21:16 น.
  
หนักใจตรงต้องไปหาว่าพระพุทธรูปด้านไหนยิ้มมากกว่าด้านอื่นนี่แหละ

จะดูออกมั้ยละเรา
โดย: เพรางาย วันที่: 9 ธันวาคม 2562 เวลา:16:42:30 น.
  
สวัสดีมีสุขค่ะ

ชอบเมืองน่านค่ะ ประทับใจเมืองนี้มาก
ไปมา3ครั้งแล้วยังคงติดใจอยากไปอีก

ขำภาพโปรดของคุณทนายอ้วนค่ะ
หญิงสาวถึงกับหันหลัง หลั่งน้ำตากันทีเดียว
หมดกัน คนรักข้อย
โดย: ตะลีกีปัส วันที่: 11 ธันวาคม 2562 เวลา:10:54:04 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Chubbylawyer.BlogGang.com

ทนายอ้วน
Location :
นนทบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 156 คน [?]

บทความทั้งหมด