มหัศจรรย์แห่งความฝัน เมื่อประมาณวันอังคารของสัปดาห์ที่แล้ว ผมมีประเด็นถกเถียงกับคุณปิ่น ปรเมศวร์ ผ่านทาง MSN ว่าด้วยเรื่องที่ว่า ส.ส. (ในที่นี้หมายถึงเฉพาะระบบแบ่งเขตเท่านั้น เพราะถ้าระบบปาร์ตี้ลิสต์ก็แหงแซะว่ามันต้องมี ปาร์ตี้ ซะก่อนตัวถึงไปอยู่ในลิสต์ได้) จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่? อันว่าผมนั้น เห็นว่า มันเป็นเรื่องจำเป็น ที่ ส.ส. จะต้องแสดงเจตจำนงทางการเมืองให้ชัดเจนด้วยการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เนื่องจากระบบการปกครองของไทยนั้น ประชาชนไม่สามารถเลือกนายกฯ ได้โดยตรง ดังนั้นในความเห็นของผม ส.ส. ผู้มีหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรีดังกล่าว จึงต้องสังกัดพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง เพื่อประกาศว่า หากตนได้รับเลือกจากประชาชนเข้าไปแล้ว ตนเองจะเลือกผู้ใดเป็นนายกรัฐมนตรี (ซึ่งก็คือหัวหน้าพรรคที่เขาผู้นั้นสังกัดนั่นแหละ) ส่วนคุณปิ่น แกเห็นว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนในทางการเมืองนั้นต้องง่ายแก่การเข้าถึง และมีความเป็นอิสระตามสมควร การที่ ส.ส. ระบบเขตไม่ต้องสังกัดพรรค ทำให้ประชาชนเข้าถึงการเมืองได้ง่ายขึ้น และเป็นอิสระขึ้น เช่น คุณปิ่น อาจจะลงสมัครผู้ว่าในเขตบ้านแกก็ได้ (ซึ่งถ้าจำไม่ผิด รู้สึกจะเป็นเขตบ้านผมด้วยเหมือนกัน) โดยไม่ต้องเป็นประชาธิปัตย์ หรือไทยรักไทย ซึ่งอันนี้ผมก็เห็นจริง เพราะถ้าวันนี้ผมสุกงอม และนึกสนุกอยากลง ส.ส. กว่าผมจะลงสมัครได้ในระบบปัจจุบัน ก็โน่น ไม่ต่ำกว่า ๕ ปี หรือไม่ก็อาจจะไม่มีวันนั้นด้วย หากผมหาพรรคที่ยอมรับผมให้ลง ส.ส. ไม่ได้ หรือไม่ก็ต้องตั้งพรรคเสียเอง ซึ่งเป็นเรื่องเสียเงินเสียทองโดยเปล่าประโยชน์ เราเถียงกันหลายประการ ผมยอมรับความคิดคุณปิ่นทั้งหมด และไม่สามารถหาข้อโต้แย้งที่มีตรรกะมาหักล้างได้ แต่ในใจนั้นยังตะขิดตะขวงที่จะยอมรับแนวความคิดคุณปิ่นเสียทั้งหมด เพราะผมยัง ยึดติด กับบทบาทในการเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ส. อยู่มาก ผมกลัวว่า ส.ส. ไม่สังกัดพรรคอาจจะเบี้ยว เช่นตอนหาเสียงด่านายกเจ้าสัวอยู่ดีๆ ชาวบ้านเห็นจุดยืนเลยเลือกจนเป็น ส.ส. แต่พอได้รับเลือกไป โดนมนต์รักสีเทาเข้าให้ ดันไปโหวตให้เจ้าสัวเป็นนายกต่อเสียนี่ แล้วจะทำอย่างไร ? ... ผมเก็บข้อถกเถียงทั้งหลายหลับไปในคืนนั้น ในฝัน ผมได้พูดคุยในประเด็นนี้ต่อ แต่ไม่ใช่คุณปิ่นอีกแล้ว กลับเป็นใครสักคนในฝัน (ซึ่งเมื่อตื่น ผมมั่นใจว่าผมได้คุยกับตัวเองในอีกโหมดหนึ่ง) ใครคนนั้นกล่าวว่า ผมยึดติดกับบทบาทในการเป็นผู้เลือกตั้งนายกรัฐมนตรีของ ส.ส. จนเกินไป อย่าลืม ว่า ส.ส. นั้นไซร้ คือตัวแทนของประชาชนในสภานิติบัญญัติ ดังนั้น ประชาชนจึงชอบที่จะเลือกใครก็ได้ที่เขาไว้วางใจไปทำหน้าที่นี้ ซึ่งถ้าประชาชนอยากจะเลือกทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ก็สามารถเลือก ส.ส. สังกัดพรรคได้ แต่ถ้าประชาชนต้องการใครสักคนไปเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ หรือแม้แต่ฝ่ายตรวจสอบในสภา โดยไม่สนใจว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี มอบความไว้วางใจให้เป็นไปตามเจตนาของ ส.ส. ที่ตัวเลือกไปนั้น เช่นนี้ก็น่าจะทำได้ไม่ใช่หรือ ? ส่วนกรณีจะไปทรยศทีหลังหรืออะไรๆ ก็เป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือจากเจตจำนงของผู้เลือกไปแล้ว และผู้เลือกก็ต้องยอมรับว่าเมื่อเลือก ส.ส. ที่ไม่มีพรรค ก็ย่อยเท่ากับมอบอำนาจให้เขาไปเลือกใครก็ได้ตามใจแล้วนี่ นี่คือคำตอบที่ผมยอมรับได้ และเคลียร์ทุกข้อสงสัยในใจ ผมตื่นมาพร้อมกับความปลอดโปร่ง เมื่อเปิดคอมพิวเตอร์ พบว่าคุณปิ่นยังไม่นอน (เวลาของเขาช้ากว่าผมอยู่ราวหกชั่วโมง คือผมเจ็ดโมงเช้า ที่ประเทศของเขาเพิ่งจะตีหนึ่ง) ผมจึงรายงานผลการพูดคุยกับตัวเองในฝันให้เขาฟัง นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ผมสามารถคุยกับตัวเองในอีกโหมดหนึ่งผ่านทางความฝัน เมื่อครั้งที่ผมยังปิดเล่มวิทยานิพนธ์เมื่อครั้งปริญญาโทไม่สำเร็จ (วิทยานิพนธ์เรื่องนั้นติดอันดับวิทยานิพนธ์ชื่อยาวเฟื้อยตั้งแต่มีการตั้งคณะนิติศาสตร จุฬา ภาคบัณฑิตมา) ชื่อย่อหรือชื่อเล่นของมันคือ วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในคดีซุกหุ้นและซ่อนทรัพย์ (นี่ชื่อย่อแล้วนะครับ สาบาน) แน่นอน วิทยานิพนธ์ผมแบ่งเป็นสองสวน คือ วิเคราะห์วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และ วิเคราะห์คำวินิจฉัยในคดีซุกหุ้นและซ่อนทรัพย์ทั้งหลายอัน ป.ป.ช. ร้องมาตาม มาตรา ๒๙๕ ที่นี้ มาถึงบทสรุปละ ว่าผมจะจับมันเชื่อมกันได้อย่างไร ผมนั่งมองหน้าจอว่างๆ ของคอมพิวเตอร์อยู่เป็นเวลากว่าสัปดาห์ ไม่สามารถหาจุดเชื่อมของสองส่วนนั้นได้เลย ... ผมท้อใจ วันหนึ่งผมคิดเรื่องนี้จนหลับไป นั่นแหละ ในฝัน ชายลึกลับก็ปรากฏขึ้นมา แล้วพูดกับผมด้วยประโยคที่ว่า คิดให้ดีสิ กฎหมายวิธีพิจารณาความทั้งหลาย มีไว้เพื่ออะไร ? ผมตอบว่า ก็เพื่อหาให้ศาลหาข้อเท็จแห่งคดีมาใช้ในการวินิจฉัยไง
|
บทความทั้งหมด
|