ไปดูแผ่นป้ายพ่ายสมรภูมิที่ประตูชัย ประตูชัย หรือ Arc de triomphe บนถนนชอง เอลิเซส์ ในกรุงปารีสนั้น สร้างขึ้นในสมัยจักรพรรดิ์นโปเลียน เพื่อเทิดทูนวีรกรรมของทหารผู้กล้า และเพื่อฝังศพทหารนิรนาม และเป็นที่ระลึกแด่ชาวฝรั่งเศสที่ต่อสู้เพื่อสาธารณรัฐ และเสียชีวิตในสงครามต่างๆ ฐานของประตูชัย จะมีแผ่นป้ายโลหะ เขียนข้อความระลึกถึงสงคราม (La guerre) และการสู้รบ(Les combattants) ต่างๆ ที่คร่าชีวิตชาวฝรั่งเศส หนึ่งในแผ่นป้ายนั้น มีแผ่นหนึ่งจารึกว่า Aux combattants dindochine la nation reconnaisante แปลว่า แด่การสู้รบที่อินโดจีน ประเทศชาตินั้นยังระลึกถึง ![]() หลายคนอาจจะมองผ่านๆไป และแม้แต่คนไทยที่ไปเที่ยวที่ประตูชัย คงจะเพ่งเล็งกับการไปถ่ายภาพนครปารีสจากบนประตูชัย ไปชมว่าทำไมถึงเรียกจัตุรัสตรงนั้นว่า จุตรัสดาว (Étoile) หรือหลายๆคนอาจจะตะลึงกับศิลปะอันงดงามของการก่อสร้างประตูชัย แต่สำหรับผม แผ่นป้ายโลหะขนาดไม่โตนักนี้มีคุณค่ามหาศาลในการ ระลึกถึง ว่านี่แหละ คือหลักฐานสำคัญหนึ่งในสองชิ้น ที่เป็นที่ระลึกถึงความกล้าหาญของทหารไทย !!! คุณทราบหรือไม่ครับ ว่าหลักฐานอีกชิ้นอยู่ที่ไหน ไม่ใกล้ไม่ไกลครับ เพราะเราก็ใช้ที่นั่นเป็นเสมือนจัตุรัสดาวของกรุงเทพฯเช่นกัน และหลายท่านอาจจะต้องไปต่อรถเมล์ หรือรถไฟฟ้ากันที่นั่นด้วย อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิครับ ... ![]() อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และแผ่นป้าย (พ่ายสมรภูมิ) ที่ประตูชัย คือพยานที่บอกเราว่า ครั้งหนึ่ง สยามเคยรบชนะฝรั่งเศส และปลดปล่อยดินแดนอินโดจีนที่เคยเป็นของไทย กลับมาสู่แผ่นดินแม่ได้ในระยะเวลาอันสั้น สงครามอินโดจีน มีที่มาจาก ปัญหาเรื่องแม่น้ำโขงในฐานะเป็นพรมแดนระหว่างไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศสซึ่งดำเนินมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เนื่องจากฝรั่งเศสไม่ตกลงเรื่องการใช้ร่องน้ำลึกเป็นเส้นเขตแดน ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ฝรั่งเศสเซ็นสัญญาสงบศึกกับเยอรมนีในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓ และ สถาปนาเมืองวิชชี่ (Vichy) เป็นเมืองหลวง และมีการปกครองแบบวิชชี่ๆ (Régime vichy) ขึ้นในขณะนั้น ไทยทำสัญญาไม่รุกรานกับฝรั่งเศสเพียง ๑๐ วัน ก่อนฝรั่งเศสแพ้เยอรมนี ในการนั้น ประชาชน นิสิต นักศึกษา ต่างเดินขบวนเรียกร้องดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงคืนจากฝรั่งเศส ซึ่งต่อมาเครื่องบินรบของฝรั่งเศสบินมาทิ้งระเบิดเมืองนครพนม การรบระหว่างฝรั่งเศสกับไทย จึงเริ่มขึ้น ซึ่งต่อมาเรียกกันว่าสงครามอินโดจีน ฝรั่งเศสโจมตีไทยทางอรัญประเทศด้วย ไทยยกทหารเข้าไปในอินโดจีนทางด้านเขมร ในการรบทางทะเล เกิดสงครามที่เป็นที่เลื่องลือกล่าวขานถึงความใจสู้ของราชนาวีไทย ที่เรียกว่า ยุทธนาวีเกาะช้าง จังหวัดตราด โดยในวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๔๘๔ อันเป็นยุทธนาวีครั้งสำคัญยิ่งของกองทัพเรือไทย ในครั้งนั้น ฝรั่งเศสส่งกำลังทางเรือ จำนวน ๗ ลำ เข้ารุกล้ำน่านน้ำไทย บริเวณเกาะช้าง จังหวัดตราด เพื่อจะเข้าระดมยิง หัวเมืองชายทะเลทางภาคตะวันออกของไทย เฉพาะเรือลามอตต์ปิเกต์เพียงลำเดียวก็มีจำนวนปืนและกำลังพลมากกว่ากำลังพลทั้งหมดของกำลังทางเรือไทย ซึ่งประกอบด้วย เรือหลวงธนบุรี เรือหลวงชลบุรี และเรือหลวงสงขลา ที่รักษาการณ์อยู่บริเวณนั้น แม้ว่าจะเสียเปรียบในด้านกำลังรบเป็นอย่างมาก วีรชนผู้กล้าหาญของเรา ยังมีขวัญและกำลังใจอันเข้มแข็ง ได้เข้าขัดขวางผู้รุกล้ำอธิปไตยของชาติและทำการรบอย่างสุดความสามารถ ยอมสละชีพเพื่อปกป้องมาตุภูมิอย่างองอาจ จนเรือหลวงทั้ง ๓ ลำ จมลงพร้อมกับชีวิตนายทหารและทหารประจำเรือ รวมทั้งสิ้น ๓๖ นาย แต่เป็นที่น่าภูมิใจว่า ด้วยกำลังทางเรือของเราที่รักษาการณ์อยู่นั้น สามารถทำให้กองเรือรบของฝรั่งเศสได้รับความเสียหายอย่างหนัก และในที่สุดต้องล่าถอยออกไปจากน่านน้ำของไทย หลังจากนั้น ญี่ปุ่นได้เสนอตัวเข้าไกล่เกลี่ย โดยตกลงส่งผู้แทนไปประชุมที่กรุงโตเกียว จาก อนุสัญญาสันติภาพที่กรุงโตเกียว ไทยได้ดินแดนทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงข้ามหลวงพระบางคืน รวมทั้งทางใต้ตรงข้ามปากเซ คือ จัมปาศักดิ์ และดินแดนในเขมรที่เสียให้ฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐ คืนมาด้วย แต่น่าเสียดายว่า หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง และไทยอาจจะต้องเป็นฝ่ายแพ้สงครามเนื่องจากไปเข้ากับญี่ปุ่นทำสงครามรุกรานฝ่ายอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา ทำให้ฝรั่งเศสอาศัยข้อนี้บีบบังคับว่า หากไทยไม่อยากเป็นผู้แพ้สงครามแล้ว ต้องคินดินแดนดังกล่าวคืนให้ฝรั่งเศส ทำให้ไทยเสียดินแดนเหล่านั้นกลับไปอีก อย่างไรก็ตาม อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในการสู้รบดังกล่าว เป็น สัญลักษณ์ของ ชัยชนะ ที่ประเทศเล็กๆอย่างไทย มีต่อรัฐฝรั่งเศส (ชื่อในขณะนั้น) แม้ปัจจุบัน คนไทยส่วนใหญ่ลืมเหตุการณ์นี้ไปแล้ว และกว่าครึ่งไม่รู้ว่า อนุสาวรีย์รูปเหล็กขูดชาร์ปกลางพระนครนั้น สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสใด แต่เมื่อใดก็ตามที่ท่านเห็นอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ... ขอให้ระลึกถึงความกล้าหาญและเสียสละของบรรพบุรุษไทย และขอให้รับรู้ว่า ในเหตุการณ์เดียวกันนั้น เราได้อนุสาวรีย์ แต่ฝรั่งเศส ได้เพียงแผ่นป้ายสำแดงความระลึกถึง ที่ทอดตัวบนทางเดินอย่างเงียบเหงา กลางประตูชัย ถนน ชอง เอลิเซส์ ................................................................... ข้อมูลอ้างอิง เกี่ยวกับสงครามอินโดจีน และยุทธนาวีเกาะช้าง //www.geocities.com/Nashville/Opry/3009/history/048.htm //kanchanapisek.or.th/kp6/BOOK4/chapter9/t4-9-l2.htm#sect3 //www.navy.mi.th/sctr/navynews/2548/jan/nvn170148.php ข้อมูลอ้างอิง เกี่ยวกับการปกครองระบอบวิชชี่ //www.pub-law.net/publaw/view.asp?PublawIDs=720 ![]() โดย: ยี IP: 58.8.137.8 วันที่: 30 พฤษภาคม 2550 เวลา:18:15:52 น.
อู้ฮู้ เพิ่งจะรู้นะเนี่ย นับถือ นับถือ
![]() โดย: มัฟฟิ่น IP: 203.149.29.196 วันที่: 13 กันยายน 2550 เวลา:22:44:10 น.
ดีมากๆๆนะค่ะฟภาพสมจิงมากเลยค่ะ
![]() โดย: kenzadmj27 IP: 58.136.95.99 วันที่: 11 ตุลาคม 2550 เวลา:11:46:01 น.
|
บทความทั้งหมด
|