ดู-อ่าน-ฟัง...กันยายน 2550 : แผ่นดินเดียวกันฯ-ซีไรท์-บรู๊ซ สปริงสทีน-กุ้ง กิตติคุณ
*●....เดือนนี้ดูหนังน้อยกว่าปกติ เป็นหนังโรงเสียส่วนใหญ่ แต่ก็แค่ 5 เรื่อง Shoot 'Em Up, Bug, 2 Days in Paris, สายลับจับบ้านเล็ก และ The Invasion ที่ดูช่วงปลายเดือนสิงหาคม ไม่ได้แวะเวียนไปดูหนังโปรแกรมพิเศษเลย เนื่องจากเบื่อเดินทางเข้าเมืองอย่างรุนแรง ยกเว้น 2 Days in Paris ที่อยากดูมากจนต้องยอมไป แต่ก็ไม่ได้ประทับใจอะไรนัก ถูกใจบท แต่จบแล้วแล้วกัน สงสัยเพราะเฉยๆ กับตอนจบ

●....Shoot 'Em Up เขียนลงบล็อกเมื่อสัปดาห์ก่อน ส่วน Bug กับ The Invasion เขียนลงมติชน คลิกอ่านจากเมนูด้านขวาได้เลยครับ

●....สายลับจับบ้านเล็ก ดูเพลินๆ แต่ก็รู้สึกว่าผู้สร้างไม่ค่อยพิถีพิถันเท่าไหร่ โดยเฉพาะเรื่องบท บางอย่างแทนที่จะดีแต่ดูแล้วกลับขำ เช่นให้เหตุผลว่านางเอกเป็นเมียน้อยเพราะอยากมีบ้าน ถึงขนาดต่อโมเดลบ้านไว้ดูเล่น!?!

*●....พอดีว่าเดือนนี้เพิ่งได้ดู “แสบสนิทศิษย์ส่ายหน้า” (ความจริงได้แผ่นมาตั้งนานแล้วแต่ไม่นึกอยากดูตลกคาเฟ่) ดูไปจนค่อนเรื่องยังไม่รู้สึกว่ามันเป็นหนัง เหมือนเอามุขตลกตั้งเป็นโจทย์แล้วคิดเรื่องมา “ถม” ให้เต็ม (ขำจริงๆ มุขเดียว เป็นมุขของบีมที่โผล่มาตอนใกล้จบ) เปรียบเทียบกับสายลับฯซึ่งฉากตลกแม้จะเลอะเทอะวุ่นวายแต่ก็มีที่มา-ที่ไปของมันหมด

●....หยิบหนังเก่ามาดูซ้ำอีกแล้ว...Stand by Me และ Local Hero ชอบมากโดยเฉพาะเรื่องหลัง ได้ดูอีกครั้งก็ยิ่งรู้สึกว่า มาร์ค นอพฟ์เลอร์ ทำดนตรีประกอบได้วิเศษจริงๆ นอกจากหนังเก่าและแสบสนิทฯแล้ว หนังที่เปิดดูที่บ้านมีแค่ Sisters in Law หนังสารคดีสัญชาติอังกฤษ-แคเมอรูน กับ Do You Remember Dolly Bell? ของ อีมีร์ คูสตูริซา ที่เขียนลงมติชนทั้ง 2 เรื่อง สงสัยถ้าไม่ได้ทำงานคงไม่ได้เปิดหนังดูแน่ๆ

●....นี่ยังดีที่ได้ดูทีวีบ้าง ชอบ Showreal Asia ทางช่อง National Geographic สารคดีว่าด้วยเรื่องราวของประเทศในเอเชีย (เคยมีตอนที่เกี่ยวกับไทย 3 ตอน Crime Scene Bangkok, Beetles Battle: Kwang Bang และ Body Snatchers of Bangkok) เดือนก่อนได้ดูเกี่ยวกับหนังฮ่องกงยุค 60-70 ตั้งแต่เริ่มแรก ช่วงรับอิทธิพลหนังซามูไรจากญี่ปุ่น จนถึงช่วงซบเซา ส่วนเดือนนี้เปิดเจอตอน Stuntmen of Bollywood เกี่ยวกับวงการสตันท์แมนของหนังอินเดีย ฉายครั้งแรกตั้งแต่ปี 2005

*●....สตันท์หนุ่มคนหนึ่งบอกว่ามาตรฐานความปลอดภัยที่บอลลีวู้ดยังไม่เซฟเท่าฮอลลีวู้ด เพราะที่ฮอลลีวู้ดจะมีผู้เชี่ยวชาญคอยเช็กให้แน่ใจว่าปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ ถึงปล่อยให้แสดงได้ แต่ในบอลลีวู้ดยังมีเปอร์เซ็นต์ความเสี่ยงอยู่พอสมควร ฟังแล้วนึกถึงเฉินหลงที่เคยบ่นตอนเล่นหนังฮอลลีวู้ดว่าอยากจะกลับฮ่องกงซะให้ได้ เพราะเล่นอะไรโลดโผนเองไม่ได้สักอย่าง โดนฝรั่งห้ามหมด

●....ทีเด็ดคือตอนพาไปที่เมืองเชนไน หรือมัทราส ซึ่งเรียกว่าเป็น “คอลลีวู้ด” (Kollywood) ศูนย์กลางหนังอินเดียพูดภาษาทมิฬ ด้วยความที่ทุนสร้างต่ำสุดๆ ทำให้ที่นี่ถ่ายทำแบบเสี่ยงตายยิ่งกว่าบอลลีวู้ดหลายเท่า พระ-นางต้องเล่นฉากเสี่ยงตายเอง เบื้องหลังการถ่ายทำที่เราได้เห็นคือ พระเอกกับนางเอกห้อยตัวด้วยเชือกบนความสูงหลายเมตร ด้านล่างมีไฟลุกโชนล้อมรอบ สักพักเกิดเสียงระเบิดเพราะแก๊สรั่ว ทีมงานต้องรีบดึงนักแสดงลงมา ส่วนหนึ่งช่วยกันดับไฟ แขกมุงวิ่งหนีตายกันวุ่น แต่พ่อพระเอกกลับยิ้มเฉย บอกว่าเรื่องปกติ เจอแบบนี้บ่อยๆ

*●....เดือนนี้ช่อง 9 มีรายการใหม่ “แผ่นดินเดียวกัน บ้านฉันบ้านเธอ” ของบริษัทบ้านบันดาลใจ บริษัทลูกของทีวีบูรพาที่ทำ “คนค้นฅน” เวลา 5 โมงครึ่งถึงหกโมง วันจันทร์ถึงศุกร์ ดูแล้วชอบมาก รูปแบบรายการจะเป็นเรียลิตี้ของเด็กต่างจังหวัด 2 คน 2 พื้นที่ สลับกันไปบ้านของอีกฝ่ายหนึ่ง

●....เริ่มดูตอนที่เด็กชายชาวลำปางวัย 11 ขวบไปบ้านเด็กนครพนมเพื่อนรุ่นน้องในหมู่บ้านที่จับตุ๊กแกขายเป็นอาชีพ ฝ่ายเจ้าบ้านพาผู้มาเยือนเรียนรู้กระบวนการตุ๊กแกเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่การจับ-ตระเวนซื้อตามบ้าน-ตีราคา-แปรรูป จนเด็กต่างถิ่นที่กลัวตุ๊กแกค่อยๆ กล้าทำได้ทุกอย่างที่เพื่อนสอน ส่วนเด็กเจ้าถิ่นก็แสดงให้เราเห็นถึงเด็กบ้านนอกวัยไม่กี่ขวบที่รู้จักทำมาหากิน และมีความสุขกับวิถีชีวิตในแบบของตนเอง

●....กำหนดออนแอร์รายการนี้เทปแรกต้องรอหลังจากรายการไฮไลท์อคาเดมี แฟนเทเชีย จบซีซั่นเสียก่อน เรียลิตี้เด็กเมืองตามล่าฝัน เพื่อ “จะไปเป็นดาวโดดเด่นบนฟากฟ้า”... ต่อเนื่องด้วยเรียลิตี้เด็กบ้านนอกไล่จับตุ๊กแก หาเลี้ยงชีพอยู่ในท้องถิ่น

●....พอจะมองเห็นภาพอะไรกันไหมครับ?... ●●



*●....อ่านพ็อคเก็ตบุ๊คจบเล่มเดียว “ไร้เลือด” (Senza sangue, Rizzoli 2002; Without Blood, 2002) ของ อเลซซานโดร บาริกโก(Alessandro Baricco) นักเขียนร่วมสมัยชาวอิตาเลียน เคยอ่าน “ไหม” (Seta, Rizzoli 1996; Silk, 1996) ของเขานานแล้ว ตั้งแต่ฉบับพิมพ์ครั้งแรก แต่คงเพราะอ่านช่วงสภาพจิตใจไม่ค่อยดี ทำให้จำอะไรไม่ค่อยได้ นอกจากความรู้สึกลึกลับน่าฉงนแต่มีแรงดึงดูดรุนแรง ว่าจะอ่านอีกครั้งก็ยังไม่ได้อ่านสักที พอดีเห็น “ไร้เลือด” เลยซื้อมาอ่านก่อน

●.... “ไร้เลือด” ยังคงบรรยากาศประหลาดลึก สถานการณ์แปลกๆ กับเรื่องราวเกินจริงนิดๆ อันที่จริงฉากหลังของหนังสือไม่ใช่เรื่องเกินกว่าความจริง แต่วิธีการเล่าของบาริกโกต่างหากทำให้เรื่องราวย้อนยุคกับความเป็นไปของตัวละครเหมือนดำเนินอยู่ในจินตนาการ

*●....เล่มที่ยังอ่านค้างอยู่คือ “เงารัก ซ่อนเงื่อน” (Mirror Image) ของ แซนดรา บราวน์ (Sandra Brown) ขีดขิน จินดาอนันต์ แปล เล่มนี้ผู้แปลใจดีส่งมาให้ ด้วยความหนา 500 หน้า คาดว่าเดือนหน้าคงอ่านจบ แล้วจะเขียนคอมเมนต์ส่งไปให้นะ...ขีดขิน

●....อีกเล่มอ่านจบตั้งแต่เดือนที่แล้ว แต่ขอเขียนถึงสักหน่อย รวมบทกวี “โลกในดวงตาข้าพเจ้า” ของ มนตรี ศรียงค์ ที่ได้ซีไรท์ล่าสุด

●....เคยเขียนไว้ที่บอร์ดไทยไรเตอร์ตั้งแต่ยังไม่ได้อ่านว่าเชียร์เล่มนี้ให้ได้ซีไรท์ เพราะเป็นกวีที่ชื่นชอบหนึ่งในไม่กี่ราย โดยเฉพาะ “ดอกฝัน : ฤดูฝนที่แสนธรรมดา” รวมบทกวีเล่มแรกของมนตรีถือเป็นหนึ่งในสามหนังสือบทกวีที่หยิบมาอ่านบ่อยที่สุด (อีก 2 เล่มคือ “ดอกฝน” ของ ละไมมาด คำฉวี และ “สองทศวรรษ” ของ ประกาย ปรัชญา)

●....จุดเด่นของมนตรีที่เด่นกว่ากวีรุ่นเดียวกันอีกหลายคน ซึ่งต้องรสนิยมและบรรทัดฐานในการอ่านและเขียนบทกวีของผม คือใช้คำแบบไม่ยัดเยียด เห็นภาพชัดเจน และเด่นในเรื่องอารมณ์ บางบทอ่านแล้วได้กลิ่นหรือได้ยินเสียงด้วยซ้ำ (แปลตรงข้ามได้ว่ากวีจำนวนมากชอบยัดเยียดคำ จนมีอุปสรรคต่อการสร้างภาพในใจ และมักจะเน้นนำเสนอความคิด แต่แห้งแล้งอารมณ์)

*●....แต่หลังจากอ่าน “โลกในดวงตาข้าพเจ้า” ความรู้สึกคือผิดหวัง มนตรีกลายเป็นกวีนักสังเกตการณ์ที่แห้งแล้งอารมณ์ไปเสียแล้ว

●....ที่ขัดใจอย่างแรงคือเครื่องหมายตกใจ (!) ที่ใส่ไว้ท้ายวรรคสุดท้ายแทบจะทุกชิ้นงาน โรคขวัญอ่อนของบรรดากวีนี่ระบาดรุนแรงเหลือเกิน เขียนจบวรรคสุดท้ายต้องตกใจเสียหนึ่งทีไม่งั้นเหมือนไม่จบ ผมว่าคนเขียนบทกวีที่เก่งใช้แค่ “คำ” ก็สามารถสื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องการได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องพึ่ง “เครื่องหมาย” ที่เป็นสัญลักษณ์อีกชั้นหนึ่ง

●....กระนั้นก็ตาม...ความผิดหวังไม่ได้หมายถึงไม่เห็นด้วยที่ “โลกในดวงตาข้าพเจ้า” ได้ซีไรท์ เล่นไหนได้ผมโอเคหมด ไม่ได้โอเคกับคุณภาพหรือความเหมาะสม แต่โอเคกับความเป็นไปของรางวัล เพราะหลังจากติดตามมาเป็นสิบปี จนซีไรท์กลายเป็นรางวัลด้านการตลาดที่คนแห่กันแทงหวยปีละกว่า 70 เล่ม มีคนเอะอะโวยวายได้ทุกปี บางคนเคยวิพากษ์ซีไรท์อย่างเผ็ดร้อน เรียกร้องมาตรฐานสูงส่ง แต่พอได้เวียนว่ายในกระแสซีไรท์บ่อยๆ ก็ผันตัวมาเป็นฝ่ายเห็นดีเห็นงามเสียอย่างนั้น สุดท้ายซีไรท์ก็ยังเหมือนเดิม เป็นธรรมชาติของซีไรท์ที่เราควรทำความเข้าใจและยอมรับ เหมือนสี่แยกลำสาลี ถ้ารถไม่ติดก็ไม่ใช่ลำสาลีนั่นล่ะ

●....ผมจึงมองซีไรท์เป็นแค่ “มหกรรม” ประจำปีเท่านั้นเอง

●....คือ “มหกรรม” ของมนุษย์ที่มีให้ดูทุกรูปแบบ...ขนาดประกาศผลไปตั้งแต่ต้นเดือน ถึงตอนนี้ “มหกรรม” ยังไม่เลิกเลย ไม่เชื่อเปิดมติชนสุดสัปดาห์กับเนชั่นสุดสัปดาห์เล่มล่าสุด(28 ก.ย.-4 ต.ค.) อ่านดู

●....โอยยยย...มันส์ ...!!!

*●....แถมท้ายถึงนิตยสารสักหน่อย “ฅ.คน” ฉบับเดือนกันยายน (เขียนถึงงานของบริษัทนี้อีกแล้ว ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกันนะครับ ก็งานเขาดีน่ะ) สกู๊ปปกเกี่ยวกับความเป็นมาและเป็นไปของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ต้อนรับการกลับมาของช่อการะเกด

●....น่าจะเป็นการรวบรวมและไล่เรียงลำดับเรื่องราวฉบับย่อของพี่สุชาติครบถ้วนที่สุด แต่แน่นอนว่ายังมีอีกหลายส่วนที่ไม่ได้ลงรายละเอียด (หรือไม่ควรลงรายละเอียด) ใครอยากรู้จักพี่สุชาติ อ่านเล่มนี้เล่มเดียวอยู่... ●●




●....เดือนนี้มีศิลปินรุ่นใหญ่ปล่อยงานใหม่ออกมา 2 ราย บรู๊ซ สปริงสทีน (Bruce Springsteen ) กับอัลบั้ม Magic และ มาร์ค นอพฟ์เลอร์ (Mark Knopfler) กับ Kill to Get Crimson

*●....หลังจากทำอัลบั้ม The Rising (2002) ปลุกใจอเมริกันชนหลังเหตุการณ์ 9/11 ต่อด้วยงานอะคูสติกลำดับที่ 3 Devils & Dust (2005) ว่าด้วยสงครามอิรัก “เดอะ บอสส์” แห่งนิวเจอร์ซีย์กลับมาคึกคักอีกครั้งกับอัลบั้ม Magic ฟังแล้วนึกถึงงานยุคแรกๆ โดยได้ E Street Band กลับมาแบ๊กอัพให้อีกครั้ง

●....ยังไม่ได้ดูรายละเอียดของเนื้อหา แต่น่าจะไม่ได้พูดถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษหรือเป็นคอนเซ็ปต์อัลบั้มแบบ The Rising

●....ให้ฟังแทร็คที่ 4 “Your Own Worst Enemy” ครับ




*●....สำหรับ มาร์ค นอพฟ์เลอร์ นับตั้งแต่เขาสลัดความเป็น Dire Straits ได้ในอัลบั้ม Sailing to Philadelphia (2000) มาถึง Kill to Get Crimson ก็แทบไม่แตกต่างจากงานก่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียงกีตาร์ใสกิ๊ง เมโลดี้สวยๆ เนื้อหาซึ่งเหมือนฟังเรื่องเล่าผ่านบทเพลง เหมาะสำหรับแฟนขาประจำที่รับรองว่าไม่ผิดหวัง

●....ซิงเกิ้ลแรกคือแทร็คแรก “True Love Will Never Fade” แต่เอาแทร็คสุดท้าย “In the Sky” มาฝาก




●....ปิดท้ายด้วยเสียงร้องของ “กุ้ง กิตติคุณ” ผู้จากไป อัลบั้มคัฟเวอร์เพลงสากลของเขาคือหนึ่งในอัลบั้มโปรดของผมสมัยเป็นเด็ก

●....นี่คือเพลง Is It Over? ซึ่งเป็นชื่ออัลบั้มคัฟเวอร์เพลงสากลชุดแรก และเป็นเพลงจากเสียงร้องของเขาที่ผมชอบมากที่สุด....●●





Create Date : 01 ตุลาคม 2550
Last Update : 10 ตุลาคม 2550 21:31:14 น.
Counter : 941 Pageviews.

9 comments
BUDDY คู่หู คู่ฮา multiple
(3 ม.ค. 2567 04:49:04 น.)
๏ ... รามคำแหง แรงคำหาม ... ๏ นกโก๊ก
(2 ม.ค. 2567 14:22:51 น.)
No. 1259 สาระเกือบมี (ตอนทำงานที่ใหม่ ถูกลองดี) ไวน์กับสายน้ำ
(1 ม.ค. 2567 05:58:05 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
  
สวัสดีค่ะ...

ชอบดูหนังและฟังเพลงเหมือนกันค่ะ..

ขอบคุณที่ทำblogดีๆมาให้อ่านกันนะค่ะ
โดย: อ้อมแอ้ม (คนผ่านทางมาเจอ ) วันที่: 1 ตุลาคม 2550 เวลา:10:06:37 น.
  
ขอบคุณคะสำหรับความรู้ที่ดี
โดย: vintage วันที่: 1 ตุลาคม 2550 เวลา:10:12:11 น.
  
++ อ่าน โลกในดวงตาข้าพเจ้า แต่ไม่เคยอ่านงานของคุณมนตรี ศรียงค์ มาก่อนค่ะ

++เคยเห็นโฆษณารายการที่เด็กชายจับตุ๊กแก...น่าดูมากๆ ชอบรายการที่เกี่ยวกับบ้านนา แต่เสียดายกลับมาดูไม่ทัน

++แม่ชอบฟังเพลงของกุ้ง กิตติคุณ และชอบกุ้ง กิตติคุณ ..แต่ตอนนี้ฟังเพลงไม่ได้อ่ะค่ะ..เดี๋ยวมาคลิ๊กฟังใหม่
โดย: renton_renton วันที่: 2 ตุลาคม 2550 เวลา:1:59:43 น.
  

ชอบ ไร้เลือด เหมือนหนังเรื่อง Belle Toujours เลย
โดย: merveillesxx วันที่: 2 ตุลาคม 2550 เวลา:3:34:44 น.
  
ขอบคุณคุณอ้อมแอ้ม กับคุณ vintage ด้วยครับ

ตอบ renton
แม่ผมชอบกุ้ง ตอนร้องคู่กับ ไพจิต อักษรณรงค์
ผมก็รู้จักเขาตอนนั้นแหละ

ตอบ merveillesxx
ยังไม่เคยดู Belle Toujours เลยครับ แหะๆ
โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ วันที่: 3 ตุลาคม 2550 เวลา:11:53:37 น.
  
แวะมาฟังเพลงค่ะ....
โดย: renton_renton วันที่: 5 ตุลาคม 2550 เวลา:8:56:28 น.
  
โรคขวัญอ่อนของบรรดากวีนี่ระบาดรุนแรงเหลือเกิน <- - - มาฮาตรงนี้นี่ล่ะค่ะ

เห็นว่า ต่อไปนี้ซีไรท์จะไม่มีการแบ่งประเภท แล้วก็จะไม่มีระบบส่งประกวดแล้วนี่คะ... เป็นการตัดตอนมหกรรมพิมพ์เพื่อซีไรท์...ระบบการพิมพ์หนังสือบ้านเราจะได้ไม่วิปริตอีกต่อไป




โดย: ม่วนน้อย วันที่: 5 ตุลาคม 2550 เวลา:13:46:09 น.
  
5 เรื่องนี่น้อย
ผมดิเดือนนี้ไม่ได้ดูสักเรื่อง

อ่าน ไร้เลือด จบแล้วว่าจะเขียนถึงอยู่เหมือนกันครับ
โดย: เจ้าชายไร้เงา วันที่: 6 ตุลาคม 2550 เวลา:12:05:54 น.
  
ตอบ ม่วนน้อย
ถ้าทำอย่างนั้นได้ก็มีข้อดีครับ
แต่การไม่ใช้วิธีส่งประกวดอาจจะแค่ทำให้คนที่ไม่อยากกระโตกกระตากได้สำรวม "ความอยาก" ไว้น่ะครับ
แล้วเชื่อเถอะ การ "นำเสนอ" เพื่อให้เข้าตากรรมการก็ต้องมี
สนพ.เล็กๆ ที่ไม่มีกำลังภายในก็คงไม่ชอบใจนัก หรือนักเขียนที่ยังไม่มีชื่อเสียงก็กลัวว่าผลงานของตนจะตกสำรวจ
จากแต่ก่อนเสี่ยงพิมพ์เพื่อส่งประกวด กลายเป็นเสี่ยงพิมพ์ไปโดยไม่รู้กรรมการจะได้อ่านหรือเปล่า

การไม่แบ่งประเภทเป็นรายปี ดีที่จะเป็นการกระจายรางวัล
ถ้าเพิ่มประเภท พวกสารคดี บทละคร ยิ่งดี
แต่มูลค่าของรางวัลอาจลดน้อยลง เพราะมีทุกปี ไม่ต่างจากรางวัลสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ


ตอบ เจ้าชายไร้เงา
จะคอยอ่านนะครับ
โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ วันที่: 6 ตุลาคม 2550 เวลา:20:59:07 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Aloneagain.BlogGang.com

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]

บทความทั้งหมด