พี่คะ พี่ขา.. พี่นั่นแหล่ะ .. เข้ามาให้หนู "เชือด" หน่อยสิคะ.. {Serial Killer's Brain} สวัสดีค่ะ เนื่องจาก 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวฆ่าหั่นศพแม่-ลูก โดยแฟนใหม่ของแม่เอง ทำให้ดิฉันสงสัยว่าบรรดาฆาตกรน่าจะมี "ธรรมชาติ" ที่แตกต่างจากคนปรกติทั่วไป จึงเกิดบทความนี้ขึ้นมาค่ะ บทความนี้จะเน้นไปที่เรื่องของสมองนะคะ โดยจะยกงานของเจ้าพ่อทางด้านประสาทอาชญวิทยา (Neurocriminology) Prof. Adrian Raine ซึ่งเป็นนักวิจัยกลุ่มแรกๆที่ศึกษาสมองของบรรดาฆาตกรค่ะ แรงจูงใจอีกประการหนึ่ง คือ ดิฉันกำลังบ้าดูซีรี่ส์ เด๊กซเตอร์ อยู่ค่ะ พระเอกเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการกระเด็นของเลือด และเป็นฆาตกรต่อเนื่อง ที่ไม่สามารถควบคุมสัญชาตญาณได้ตั้งแต่เด็ก มีอยู่ตอนนึงตัวเอกเคลมตัวเองว่าอาจจะเกิดมามีสมองของฆาตกรด้วย.. ตัวอย่างสุดคลาสสิคของฆาตกรอีกตัวอย่างค่ะ "Hannibal Lector" (เพลงเร้าใจมากมาย~*) ฆาตกรรมต่อเนื่อง (Serial murder) คือ อะไร? ฆาตกรรมต่อเนื่อง (Serial murder) คือ การฆ่าต่อเนื่องกัน 2 ครั้ง หรือมากกว่านั้น โดยเป็นเหตุการณ์ที่แยกกัน ส่วนมาก แต่ไม่เสมอไป ที่ฆาตกรจะประกอบเหตุคนเดียว (a series of 2 or more murders, committed as separate events, usually, but not always, by one offender acting alone) คำนี้ถูกใช้ครั้งแรกโดยนักเขียนชาวอังกฤษ John Brody เมื่อปี 1966 ต่อมาคำนี้ถูกบัญญัติโดย The National Institute of Justice เมื่อปี 1988 Steve Egger ตีความว่าฆาตกรรมต่อเนื่องมีลักษณะ 6 ประการคือ 1) มีเหยื่อมากกว่า 2 ศพ 2) ฆาตกร และเหยื่อไม่รู้จักกัน 3) การเกิดเหตุฆาตกรรมไม่เกี่ยวข้องกันโดยตรง (no direct connection to each other) และเกิดต่างเวลา 4) ฆาตกรมักเลือกสถานที่ก่อเหตุไม่ซ้ำกัน 5) เหยื่ออาจมีลักษณะคล้ายกับเหยื่อที่ถูกฆ่าก่อนหน้านี้ หรือเหยื่อทีจะถูกฆ่ารายถัดมา 6) ฆาตกรไม่ได้ทำเพื่ออามิตสินจ้าง แต่ทำเพื่อสนองความพอใจตามจินตนาการของตน (the murders are not committed for material gain but for gratification based on fantasies) ลักษณะของฆาตกรต่อเนื่อง Holmes typology (Ronald M. และ Stephen T. Holmes) แบ่งลักษณะของฆาตกรต่อเนื่อง (Serial Killer) ตามแรงจูงใจเป็น 2 แบบ 1. Act-focused (ฆ่าเร็ว) แบ่งเป็น 1.1 The visionary murders ... ฆาตกรได้ยิน หรือเห็นภาพที่ชี้นำให้เกิดการฆ่า 1.2 The missionary murders ... ฆาตกรเชื่อว่าตนมีภารกิจต้องกำจัดเหยื่อ 2. Process-focused (ฆ่าช้า) ฆาตกรกลุ่มนี้จะหาความเพลิดเพลินกับการฆ่า โดยการทรมานเหยื่อ และฆ่าให้ตายอย่างช้าๆ ความรู้สึกเป็นสุขจากการฆ่าเกิดจาก - ความต้องการทางเพศ (Lust) - ความตื่นเต้นเร้าใจ (Thrill) - การได้มาซึ่งอำนาจ (Gain) ภาพประกอบ Ed Gein ฆาตกรต่อเนื่องที่เป็นแรงบันดาลใจให้โธมัส แฮร์ริส สร้างนักฆ่าแห่ง Buffalo Bill ใน "The Silence of the Lambs" Ed Gein ประวัติภาคไทยตามนี้ค่ะ //atcloud.com/stories/15340 จากสถิติแล้วพบว่า - อายุฆาตกรที่เริ่มฆ่าศพแรก ประมาณ 27.5 ปี - เป็นชาย 95 % โดย 73 % ของฆาตกรชายเป็นคนขาว - อายุเฉลี่ยของฆาตกร ประมาณ 25-34 ปี - จบปริญญาตรี และส่วนมากมีงานดีๆทำ - เหยื่อมักมีลักษณะซ้ำกัน ลักษณะของเหยื่อ 67 % เป็นผู้หญิง เด็ก ผู้หญิงขายบริการและคนชรา และที่น่าสนใจคือ 20 % เป็นผู้ชายที่ถูกฆ่า รวมทั้งมีหลักฐานว่าถูกข่มขืนโดยฆาตกรด้วย - มักใช้อาวุธประชิดตัวในการก่อเหตุ (hands-on weapons) เช่น มักใช้มีดมากกว่าปืน - มักเป็นลูกนอกสมรส - มีความบกพร่องทางกายภาพ (physical) ทางเพศ (sexual) หรือทางอารมณ์(emotional) เมื่อสืบประวัติย้อนหลัง พบว่าฆาตกรต่อเนื่องมักมีลักษณะแบบ MacDonald triad ในวัยเด็ก ได้แก่: - ปัสสาวะรดที่นอนบ่อยๆ (bed-wetting) - ชอบเล่นไฟ หรือเคยมีประวัติวางเพลิง (arson) และ - ชอบทารุณสัตว์ (cruelty to animals) อ่านเพิ่มได้ที่นี่ค่ะ //wapedia.mobi/en/Macdonald_triad รูปประกอบ Jeffrey Dahmer (1991) ฆาตกรต่อเนื่อง ฆ่าเด็กชาย และผู้ชาย อย่างน้อย 17 ราย มีประวัติชอบทารุณกรรมสัตว์ในวัยเด็ก แล้วขณะฆ่า ฆาตกรคิดอะไรอยู่ ? The Psychological Phases of Serial Killers ปี 1988 นักจิตวิทยา Joel Norris สัมภาษณ์ผู้ที่ถูกตัดสินแล้วว่าเป็นฆาตกรจากมลรัฐจอร์เจีย จำนวน 500 ครั้ง และสรุประบบความคิดของฆาตกรต่อเนื่องได้ 7 ช่วง ได้แก่ 1. The aura phase - ฆาตกรเริ่มหลุดออกจากโลกแห่งความเป็นจริง เข้าสู่โลกแห่งความเพ้อฝัน - ระยะนี้อาจเกิดในช่วงสั้นๆ หรือนานเป็นปี ฆาตกรอาจพยายามใช้ยาเสพติด หรือเหล้าเพื่อบรรเทาอาการเหล่านี้ 2. The trolling phase - ฆาตกรเริ่มมองหา และสะกดรอยตามเหยื่อ 3. The wooing phase (หรือ Seduction phase) - ฆาตกรทำให้เหยื่อเชื่อใจได้แล้ว ก่อนที่จะลวงเหยื่อไปสู่กับดัก 4. The capture phase - ฆาตกรลวงเหยื่อไปกักขังได้สำเร็จ 5. The murder phase - เกิดเหตุฆาตกรรม ลักษณะการฆ่ามักเป็นไปตามปมที่อยู่ในใจของฆาตกร และประสบการณ์ในวัยเด็ก 6. The totem phase - ฆาตกรรู้สึกถึงชัยชนะที่ได้จากการฆ่า บางคนจึงเก็บสิ่งที่ระลึก เช่น ชิ้นหน้าหนังสือพิมพ์ หรือหนังสือที่ถูกตัดออกมา รูปถ่าย ชิ้นส่วนศพ หรือกินชิ้นส่วนของศพ สวมใส่ผิวหนังของศพ หรือ โชว์ชิ้นส่วนของศพกับเหยื่อรายใหม่ 7. The depression phase - ฆาตกรมักจมอยู่กับความหดหู่ใจหลังการฆ่า (post-homicidal depression) ความรู้สึกหดหู่ที่เกิดจะกระตุ้นให้ฆาตกรก่อเหตุขึ้นใหม่ จึงเป็นสาเหตุให้ฆาตกรต่อเนื่องไม่สามารถหยุดการฆ่าได้ วงจรความคิดของฆาตกรต่อเนื่อง จาก //www.albany.edu/scj/jcjpc/vol10is1/picart.html ยอดชายนักฆ่า เท็ด บันดี (Ted Bundy; Theodore Robert Bundy) ด้วยบุคลิกหน้าตาดี และดูมีการศึกษาสูงทำให้สามารถลวงเหยื่อไป ข่มขืน ฆ่าได้ง่าย โดยออกอุบายว่าได้รับบาดเจ็บที่แขน ให้เหยื่อเข้ามาใกล้ แล้วจึงฟาดหัวเหยื่อให้สสบก่อนพาไปฆ่า ว่ากันว่า โธมัส แฮรริส เอาบุคลิกดูมีการศึกษาของพ่อคนนี้ไปสร้างป๋าฮันนิบาลค่ะ (ประวัติอ่านเพิ่มได้ที่นี่ค่ะ //foia.fbi.gov/foiaindex/bundy.htm) แล้วสมองของฆาตกรเหล่านี้ต่างกับคนปรกติไหม? จะขอยกงานวิจัยสุดคลาสสิคที่ทำเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ของโปรเฟสเซอร์ Adrian Raine โปรเฟสเซอร์คนนี้ทำการสแกนดูการทำงานของสมองฆาตกร โดยเครื่อง PET (positron emission tomography) scan ก่อนอื่นมาดูก่อนว่า PET scan ทำงานอย่างไร? การตรวจด้วย PET scan คือ การตรวจวัดกระบวนการทางชีวภาพของเซลล์ และจะให้ภาพแสดงกระบวนการทางเคมี (metabolism) ของเซลล์ในแต่ละบริเวณของอวัยวะ การตรวจการทำงานของสมองมีหลักการ คือ สมองใช้พลังงานจากกลูโคส เมื่อติดสารรังสี (radioactive isotope) กับโมเลกุลของกลูโคส (analogue of glucose-2deoxyglucose) แล้วฉีดให้ผู้เข้ารับการตรวจหลังจากที่ผู้เข้ารับการตรวจเริ่มทำการทดสอบเพื่อกระตุ้นการทำงานของสมองส่วนที่ต้องการตรวจสอบ สมองที่ถูกใช้งานมากจะใช้กลูโคสซึ่งเป็นแหล่งพลังงานมาก ดังนั้นจึงแสดงผลออกมามากกว่าสมองส่วนที่มีการทำงานน้อย เรื่องของ PET scan อ่านเพิ่มที่นี่ค่ะ//www.csulb.edu/~cwallis/482/petscan/pet_lab.html ดร. Adrian Raine ทดลองโดยสแกนดูการทำงานของสมองฆาตกร เทียบกับคนปรกติ สแกนแล้วพบอะไรบ้าง? 1. ฆาตกรมีการทำงานของสมองส่วน Prefrontal cortex น้อยกว่าคนปรกติ ซึ่งสมองส่วนนี้ทำหน้าที่ควบคุมสมองส่วนดึกดำบรรพ์ เช่น สมองส่วน Amygdala ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความก้าวร้าวด้วย เมื่อตัวเบรคอย่าง Prefrontal cortex ทำงานน้อย หรือเสียไปจึงไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมก้าวร้าวได้ ภาพที่ได้จากการสแกน - ภาพตัดขวางของสมองเปรียบเทียบระหว่างสมองของคนปรกติ (ซ้าย) และฆาตกร (ขวา) - พบว่าสมองของฆาตกรส่วน prefrontal cortex มีการทำงานน้อยกว่าคนปรกติ โดยจะเห็นว่าบริเวณ prefrontal อยู่ที่ส่วนยอดของภาพ PET scan - สีแดง และเหลือง แสดงส่วนที่สมองถูกกระตุ้นมาก สีเขียวและฟ้า แสดงส่วนที่สมองถูกกระตุ้นน้อย 2. ฆาตกรมีการทำงานของสมองส่วน Angular gyrus น้อยกว่าคนปรกติ - สมองส่วนนี้เกี่ยวข้องกับความสามารถทางภาษา (Verbal Ability) การอ่าน และการคำนวน จึงมีแนวโน้มว่าฆาตกรมักเรียนไม่เก่ง หรือมีปัญหาด้านการแสดงออก (ไม่เสมอไป) 3. การเชื่อมกันระหว่างสมอง 2 ซีก ต่ำกว่าปรกติ (Corpus collosum ไม่ค่อยแอคทีฟ) ทำให้สมองซีกขวาซึ่งเกี่ยวข้องกับการเกิดอารมณ์รุนแรง ถูกควบคุมโดยสมองซีกซ้ายน้อยลง 4. พบความผิดปรกติของสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความก้าวร้าว และความกลัว ได้แก่ Amygdala, Hippocampus และ Thalamus ทำให้ฆาตกรมักมีความผิดปรกติในการควบคุมความก้าวร้าว และความกลัว โปรเฟสเซอร์ Adrian Raine จึงเสนอ ลักษณะเฉพาะของสมองฆาตกร (unique PET signature of the brains of some murderers) โดยจะพบความผิดปรกติที่ - Prefrontal cortex - Corpus callosum - Angular gyrus - Amygdala - Hippocampus และ - Thalamus ที่มาของภาพ //people.howstuffworks.com/serial-killer.htm/printable ฆาตกรเลือดเย็น ทำไมฆาตกรถึงไม่รู้สึกสะดุ้งสะเทือนกับการฆ่า ? ดร. Adrian Raine เชื่อว่า ฆาตกรที่ไม่สะทกสะท้านต่อการฆ่า (Predatory killers) และวางแผนฆ่ามาเป็นอย่างดี จะมีการทำงานของสมองส่วน Prefrontal cortex ดีกว่า หรือมีการทำงานปรกติ เมื่อเทียบกับฆาตกรที่ฆ่าเพราะอารมณ์หรือขาดสติ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบการทำงานของสมองจองฆาตกรกลุ่มนี้อย่างแน่ชัด ทำไมฆาตกรถึงรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้ยังไม่ทราบกลไกแน่นอน แต่ เรื่องความเครียดกับพฤติกรรมก้าวร้าวนั้น จากการทดลองในสัตว์ทดลอง พบว่า พฤติกรรมการขู่ ก่อนเข้าโจมตี (Threat) กับการล่าโดยไม่มีการขู่ (Predator) ใช้สมองคนละส่วนกัน รูปนี้หาได้ในหนังสือเกือบทุกเล่มที่กล่าวถึงสมองและพฤติกรรมความก้าวร้าว ได้จากการทดลองฟังอิเลกโทรดเข้าไปกระตุ้นสมองแมวพบว่าเมื่อกระตุ้นสมองที่เกี่ยวกับพฤติกรรมก้าวร้าวต่างบริเวณกัน จะพบการตอบสนอง 2 แบบ คือ - แสดงการขู่ แต่ไม่โจมตี และเกิดการกระตุ้นให้สัตว์มีความเครียด (stress) (รูป Defensive rage) - โจมตี โดยไม่ขู่ (รูป Predatory behavior) (ที่มารูปของคคห.นี้ และกลไกอยู่ที่คคห.ล่าง จาก //www.colorado.edu/intphys/Class/IPHY3730/12aggression.html ) บริเวณของสมองที่ถูกกระตุ้นแล้วได้ปฎิกิริยาต่างกัน บางทีอาจจะเอากลไกนี้มาอธิบายฆาตกรที่ไม่สะทกสะท้านต่อการฆ่า (Predatory killers) ได้ (แต่ยังไม่ทราบว่าสมองของคนพวกนี้ทำงานอย่างไร) เด็กบ้านแตก และแนวโน้มการเป็นฆาตกร อิทธิพลจากครอบครัวมีผลต่อการเติบโตสู่ความเป็นฆาตกรจริงหรือ? ดร. Adrian Raine สแกนสมอง เปรียบเทียบระหว่าง คนปรกติ (ซ้าย) ฆาตกรที่มาจากครอบครัวแตกแยก เช่น มีประวัติถูกล่วงละเมิดทางร่างกาย หรือทางเพศ (กลาง) และ ฆาตกรที่มีครอบครัวปรกติ (ขวา) - พบว่าฆาตกรที่มีครอบครัวปรกติ มีสมองส่วน Prefrontal cortex ทำงานผิดปรกติมากกว่า เมื่อเทียบกับอีก 2 กลุ่ม แสดงให้เห็นว่าความอบอุ่นในครอบครัวสำคัญต่อการป้องกันการเกิดฆาตกร - คนที่มีครอบครัวปรกติคนหนึ่ง ต้องเกิดความผิดปรกติทางชีวภาพจริงๆ จึงจะกลายเป็นฆาตกรได้ - ครอบครัวมีอิทธิพลอย่ามากในการผลักดันคนปรกติ หรือเกือบจะคล้ายคนปรกติ ให้เขาเหล่านั้นกลายเป็นฆาตกร อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถบอกได้ว่าควรจะตีความว่าฆาตกรต่อเนื่องเป็นผู้ป่วยทางจิตได้ บทความนี้นำเสนอแค่งานของคนเพียงคนเดียวเท่านั้ ยังมีปัจจัยอื่นๆอีกมากมายที่ผลักดันให้เกิดฆาตกรขึ้นมาสักคนหนึ่ง การที่ดิฉันยกงานของดร. Adrian Raine ขึ้นมาเนื่องจากเป็นงานที่เห็นผลอย่างชัดเจน เข้าใจง่าย และส่งผลกระทบต่อสังคม ปัจจบันงานวิจัยเกี่ยวกับความก้าวร้าว ณ ขณะนี้ยังทำอยู่อย่างต่อเนื่อง และต่อยอดไป เช่น หายีนที่เกี่ยวข้องกับการเกิด และกาควบคุมพฤติกรรมนี้ สารสื่อประสาท และสารที่มีผลควบคุมพฤติกรรม รวมทั้งต่อยอดไปเป็นส่วนหนึ่งของประสาทวิทยาศาสตร์แขนงใหม่คือ Neurosociology ด้วย เรื่องงานของ Dr. Adrian Raine เอามาจากเว็บนี้ค่ะ Murderous Minds จากการสัมภาษณ์ Dr. Adrian Raine //www.dana.org/news/cerebrum/detail.aspx?id=3066 เอาที่อยู่มาฝากค่ะ เผื่อใครสนใจอยากไปเป็นลูกศิษย์.. Adrian Raine นักวิจัยกลุ่มแรกๆที่ริเริ่มงานด้านประสาทอาชญวิทยา (Neurocriminology) Chair, Department of Criminology Richard Perry University Professor, Departments of Criminology, Psychiatry, and Psychology, University of Pennsylvania ตอนนี้ท่านยังใช้เทคนิค PET scan อยู่ค่ะ แตไปศึกษาพฤติกรรมก้าวร้าวแล้ว ตามไปดูที่เว็บนี้ค่ะ //www.crim.upenn.edu/faculty/profiles/raine.html (ดูยังหนุ่มอยู่เลยนะ ตอนเเรกนึกว่าจะอายุมากกว่านี้) //me โค้งคำนับ รับรังสีมหาเทพ ชาบู ชาบู ราอู อูรา ~* งานวิจัยที่ใช้ Pet Scan กับสมองฆาตกร (Raine A. คือ Adrian Raine ค่ะ) 1. Kalbe E, et al. Neuropsychological and neural correlates of autobiographical deficits in a mother who killed her children. Neurocase. 2008;14(1):15-28 2. Gatzke-Kopp LM, et al.Temporal lobe deficits in murderers: EEG findings undetected by PET. J Neuropsychiatry Clin Neurosci. 2001 Fall;13(4):486-91 3. Raine A, et al. Reduced prefrontal and increased subcortical brain functioning assessed using positron emission tomography in predatory and affective murderers. Behav Sci Law. 1998 Summer;16(3):319-32 4. Raine A, Buchsbaum M, LaCasse L. Brain abnormalities in murderers indicated by positron emission tomography. Biol Psychiatry. 1997 Sep 15;42(6):495-508 5. Relkin N, et al. Impulsive Homicide Associated With an Arachnoid Cyst and Unilateral Frontotemporal Cerebral Dysfunction. Semin Clin Neuropsychiatry. 1996 Jul;1(3):172-183 6. Raine A, et al. Selective reductions in prefrontal glucose metabolism in murderers. Biol Psychiatry. 1994 Sep 15;36(6):365-73 ที่มาค่ะ เรื่องงานของ Dr. Adrian Raine และเรื่องความก้าวร้าว 1. Murderous Minds จากการสัมภาษณ์ Dr. Adrian Raine //www.dana.org/news/cerebrum/detail.aspx?id=3066 2. Pet Scan //www.csulb.edu/~cwallis/482/petscan/pet_lab.html 3. Siever LJ. Neurobiology of aggression and violence. Am J Psychiatry. 2008 Apr;165(4):429-42. Epub 2008 Mar 17 //ajp.psychiatryonline.org/cgi/content/full/165/4/429 เรื่องของ Serial Killer 4. Encyclopedia of Death and Dying //www.deathreference.com/Py-Se/Serial-Killers.html 5. //www.fbi.gov/publications/serial_murder.htm#one 6. How Serial Killers Work //people.howstuffworks.com/serial-killer.htm/printable 7. What factors contribute to serial homicide? //www.fsc.yorku.ca/york/rsheese/psyc1010/wiki/index.php/WHAT_FACTORS_CONTRIBUTE_TO_SERIAL_HOMICIDE%3F 8. Picart C J. and Greek C. The compulsion of real/reel serial killers and vampires: toward a gothic criminology. J of Criminal Justice and Popular Culture, 10 (1) (2003) 39-68 //www.albany.edu/scj/jcjpc/vol10is1/picart.html 9. //en.wikipedia.org/wiki/Serial_killer 10. //www.casebook.org/dissertations/ripperoo-serial.html 11. //en.wikipedia.org/wiki/Macdonald_triad 12. TIMES: The Top 25 Crimes of The Century //www.time.com/time/2007/crimes/16.html 26 ต.ค. 52 16:54:02 |
บทความทั้งหมด
|