{รับฮาโลวีน}... เรื่องของความตาย และสิ่งที่เหลืออยู่ ... สวัสดีค่ะ ดิฉันไปดูเว็บที่แสดง Postmortem photography และ Death mask มา เห็นว่าน่าสนใจเลยเอามาให้ชมกัน แต่ เพื่อให้ไม่ใช้โพสต์ที่ควรจะลงในห้องสมุด เลยแถมขบวนการเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลังความตายที่เคยเข้าไปอ่านจากเว็บของคณะแพทย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และวิกิพีเดียเป็นหลักค่ะ.. เนื่องจากรูปประกอบบางรูป อาจทำให้บางคนกลัว หรือขยะแขยง ดิฉันของลงเป็นลิงค์ให้ตามไปดูนะคะ นิยามของความตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 15 ระบุไว้ว่า "สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดและอยู่รอดเป็นทารก สิ้นสุดลงเมื่อตาย" และตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร์ พ.ศ. 2499 ระบุไว้ว่า "คนตาย หมายความว่าคนสิ้นชีวิตเท่านั้น ลูกตายในท้อง หมายถึงลูกที่อยู่ในครรภ์มารดาเป็นเวลาเกินกว่า 28 สัปดาห์และคลอดออกมาโดยไม่มีชีวิต" หลักของต่างประเทศ แต่เดิมในตำราของต่างประเทศมักให้นิยามของการตายว่า การยุติการทำงานของหัวใจและปอดอย่างถาวรไม่สามารถคืนสภาพได้ (Irreversible cessation of heart and lung function) แต่ก็ยังมีปัญหาเนื่องจากต่อมามีการเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์อย่างมากทำให้สามารถมียาหรือเครื่องมือสมัยใหม่เช่นยากระตุ้นหัวใจ เครื่องช่วยหายใจที่สามารถช่วยให้ผู้ที่มีการบาดเจ็บของสมองอย่างรุนแรงและถาวรยังมีการทำงานของหัวใจและปอดได้อีกนาน เมื่อประมาณ ค.ศ.1979 ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จัดประชุมนักวิชาการเพื่อให้คำนิยามของการตายและต่อมานิยามดังกล่าวที่ได้จากที่ประชุมนี้ได้ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายที่ว่าด้วยความตาย( Death Act )ของประเทศสหรัฐอเมริกา นิยามของการตายในกฎหมายฉบับนี้คือ 1) Irreversible cessation of circulatory and respiratory function. or 2) Irreversible cessation of the entire brain. การตาย จึงหมายถึง การหยุดทำงานของสมอง ระบบหายใจ และระบบไหลเวียนโลหิต ประเภทของการตาย การตายของมนุษย์ สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทได้แก่ 1.การตายตามธรรมชาติ 2.การตายผิดธรรมชาติ 3.การตายโดยผลของกฎหมาย ซึ่งการตายผิดธรรมชาติ ได้แก่ การฆ่าตัวตาย การถูกฆ่าตาย การถูกสัตว์ทำร้าย อุบัติเหตุและการตายโดยไม่ปรากฏเหตุ สำหรับการตายโดยผลของกฎหมาย ได้แก่ การหายสาบสูญของบุคคลตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ จะทราบได้อย่างไรว่าตายแล้ว ? จากอนุสนธิจากการประชุมโต๊ะกลม เรื่องการตายทางการแพทย์และการตายทางกฎหมาย เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2531 ณ ห้องประชุมสารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แพทย์และนักกฎหมายจาก สถาบันต่าง ๆ ที่เข้าร่วมประชุมได้เห็นพ้องต้องกันดังมีสาระสำคัญต่อไปนี้ (1). การชี้ขาดการตายเป็นปัญหาข้อเท็จจริงทางการแพทย์ (2). บุคคลผู้ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าสมองตาย ถือว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตาย (3). สมองตาย หมายถึง การที่แกนสมองถูกทำลายจนสิ้นสุดการทำงานโดยสิ้นเชิงตลอดไป (4). แพทย์เป็นผู้มีหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยและตัดสินการตายของสมองตามเกณฑ์ทางวิชาชีพ (5). แพทยสภาควรมีหน้าที่ในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการในการวินิจฉัยสมองตาย การวินิจฉัยสมองตายจะทำได้ในสภาวะและเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ 1. ผู้ป่วยต้องไม่รู้สึกตัว (deeply comatose) โดยจะต้องแน่ใจว่าเหตุของการไม่รู้สึกตัวนี้ไม่ได้เกิดจาก 1.1 พิษยา (Drug intoxication) เช่น ยาเสพติด ยานอนหลับ หรือยากล่อมประสาท ฯลฯ 1.2 สภาวะอุณหภูมิในร่างกายต่ำ (Primary hypothermia) 1.3 สภาวะผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ และเมตาโบลิก (Metabolic and endocrine disturbances) 1.4 สภาวะ Shock 2. ผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัวนั้นอยู่ในเครื่องช่วยหายใจ (Comatose patient on ventilator) เนื่องจากไม่หายใจ โดยจะต้องแน่ใจว่าเหตุของการไม่หายใจ ไม่ได้เกิดจากยาคลายกล้ามเนื้อ (Muscle relaxants) หรือยาอื่น ๆ 3. จะต้องมีข้อวินิจฉัยถึงสาเหตุของการไม่รู้สึกตัวและไม่หายใจในผู้ป่วยนั้น โดยที่ให้รู้แน่ชัดโดยปราศจากข้อสงสัยเลยว่าสภาวะของผู้ป่วยนี้เกิดขึ้นจากการที่สมองเสียหายโดยไม่มีหนทางเยียวยาได้อีกแล้ว (irremediable and irreversible structural brain damage) 4. ถ้าผู้ป่วยอยู่ในสภาวะครบตามเงื่อนไขที่กำหนดแล้ว จะต้องทำการตรวจสอบเพื่อยืนยันสมองตายคือ 4.1 ต้องไม่มีการเคลื่อนไหวใด ๆ ได้เอง (No spontaneous movement) ไม่มีอาการชัก (No epileptic jerking) ไม่มี decorticate หรือ decerebrate rigidity 4.2 ต้องไม่มีรีเฟลกซ์ของแกนสมอง (absence of brain stem reflexes) ทั้ง 6 ประการ ต่อไปนี้คือ 1) dilated and fixed pupils 2) absence of corneal reflex 3) no motor response within the cranial nerve distribution 4) absence of oculocephalic reflex (Doll's head phenomena) 5) absence of vestibular response to caloric stimulation 6) absence of gag and cough reflex 4.3 ไม่สามารถหายใจได้เอง (No spontaneous respiration) ซึ่งทดสอบได้โดยการ หยุดเครื่องช่วยหายใจ (ให้ออกซิเจนทางสายยางเข้าในหลอดลม) เป็นเวลาอย่างน้อย 10 นาที และคอยดูว่ามีการหายใจหรือไม่ ขณะที่ทดสอบจะต้องมีค่าความดันของคาร์บอนไดออกไซด์ในกระแสเลือด (pCo2) ไม่ต่ำกว่า 60 mmHg. 4.4 สภาวะการตรวจพบในข้อ 4.1, 4.2 และ 4.3 นี้ จะต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นเวลา อย่างน้อย 12 ชั่วโมง จึงจะถือได้ว่าสมองตาย ข. วิธีการปฏิบัติในการวินิจฉัยสมองตาย 1. การวินิจฉัยสมองตายต้องกระทำโดยองค์คณะของแพทย์ไม่น้อยกว่า 3 คน โดยคนหนึ่งเป็นแพทย์เจ้าของผู้ป่วย และอีก 1 ใน 2 คนที่เหลือควรเป็นแพทย์สาขาประสาทวิทยา หรือแพทย์สาขาประสาทศัลยศาสตร์ (ถ้ามี) 2. องค์คณะของแพทย์ผู้วินิจฉัยสมองตาย ต้องไม่ประกอบด้วยแพทย์ผู้กระทำการผ่าตัดปลูก ถ่ายอวัยวะรายนั้น 3. ผู้อำนวยการโรงพยาบาล หรือผู้ได้รับมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษรจะต้องร่วมเป็นผู้ รับรองการวินิจฉัยสมองตายและเป็นผู้ลงนามรับรองการตาย เกิดอะไรขึ้นกับร่างกายหลังความตาย ? การเปลี่ยนแปลงหลังการตาย (Post-mortem Change) การเปลี่ยนแปลงหลังการตายของร่างกายผู้ตาย จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง 2 ระยะเวลาด้วยกันคือ - การเปลี่ยนแปลงในระยะแรก - การเปลี่ยนแปลงในระยะหลัง สำหรับการเปลี่ยนแปลงในระยะแรก ร่างกายของผู้ตายจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดคือ - ไม่มีสติสัมปชัญญะ - ไม่มี reflex กล้ามเนื่ออ่อนปวกเปียก ตอบสนองต่อการกระตุ้น - หัวใจหยุดเต้น ไม่มีการหายใจ - ไม่มีปฏิกิริยาแห่งชีวิต (Vital Reaction) หรือสิ่งใด ๆ ที่บ่งบอกว่ายังมีชีวิตอยู่ - ไม่มีปฏิกิริยาแห่งชีวิตที่ลูกตา ภาพประกอบ การเช็คปฎิกิริยาของรูม่านตา แบบ Light reflex โดดยฉายแสงส่อง รูม่านตาจะตอบสนองเพื่อปรับขนาดให้ตาได้รับแสงพอเหมาะ ที่มาภาพ //leavingbio.net/THE%20SENSES_files/THE%20SENSES.htm เกิดอะไรขึ้นกับศพ ? สภาพร่างกายของผู้ตาย รวมทั้งเป็นการชี้บ่งลักษณะการตายของผู้ตาย ได้แก่ 1. การตกของเม็ดเลือดแดงตามแรงโน้มถ่วง (Post-mortem hypostasis ; Livor mortis) 2. การแข็งตัวของกล้ามเนื้อ (Post-mortem rigidity; Rigor mortis) 3. การลดลงของอุณหภูมิร่างกาย (Post-mortem cooling) 4. กระจกตาขุ่น (Corneal opacity) 5. กล้ามเนื้อ Biceps หดตัว (Post-mortem biceps contraction) 6. การเน่าสลายตัว (Decomposition) 1. Post-mortem Hypostasis (Livor Mortis หรือ Lividity) คือ รอยจ้ำแดงหรือม่วงแดงที่เกิดขึ้นหลังการตาย เมื่อหัวใจหยุดเต้นเม็ดเลือดแดงจะตกลงสู่ที่ต่ำตามแรงดึงดูดของโลก ทำให้เกิดรอยจ้ำแดงในบริเวณที่อยู่ต่ำสุดของร่างกาย - หากศพนอนหงาย รอยจ้ำเลือด (Hypostasis) จะอยู่ในบริเวณแผ่นหลังและแขนขาด้านหลัง - ส่วนศพที่อยู่ในแนวตั้ง (upright) เช่น ศพที่แขวนคอตายรอยจ้ำเลือดจะอยู่ที่ปลายแขนขา รอยจ้ำเลือดจะปรากฎให้เห็นได้ภายหลังจากการตายประมาณ 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง ในช่วงแรกนี้หากมีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนย้ายศพ hypostasis ก็จะย้ายไปอยู่ที่จุดต่ำสุดของร่างกายในตำแหน่งใหม่ แต่หากเวลาผ่านไปเกินกว่า 8 ชั่วโมงหลังจากการตาย hypostasis ก็จะคงอยู่ที่เดิมไม่เปลี่ยนที่ไปแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงจุดต่ำสุดไปแล้วก็ตาม เนื่องจากสีของเม็ดเลือดแดงติด (fix) อยู่ที่เนื้อเยื่อบริเวณนั้นแล้ว การตรวจสอบว่า hypostasis มีการ fix แล้วหรือยัง ทำได้โดยใช้นิ้วมือกดลงไปบริเวณที่มี hypostasis ประมาณ 2 นาที หากพบว่าจ้ำแดงดังกล่าวซีดไปทั้งหมด แสดงว่า hypostasis นั้นยังไม่มีการ fix แต่หากจ้ำแดงยังคงปรากฏอยู่กลางรอยกด แสดงว่ามีการ fix แล้ว hypostasis นี้อาจเห็นได้ไม่ชัดเจนหากผู้เสียชีวิตอยู่ในภาวะบางอย่าง เช่น เลือดจาง เสียเลือดมาก คนชรา หรือเด็กทารก เป็นต้น รูปประกอบอยู่ที่นี่ค่ะ //www.malthus.com.br/mg_imagem_zoom.asp?id=1262 2. การแข็งตัวของกล้ามเนื้อ Post-mortem Rigidity (Rigor Mortis) คือ การแข็งตัวของกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นหลังการตาย เมื่อเซลล์ตายจะมีการรวมตัวของสาร Actin และ Myosin (จขกท. องค์ประกอบในเซลล์กล้ามเนื้อที่ทำให้กล้ามเนื้อหดตัว) ในกล้ามเนื้อแบบไม่สามารถย้อนกลับได้ ทำให้กล้ามเนื้อมีการแข็งตัว ไม่สามารถยืดหยุ่นได้ เป็นเหตุให้ข้อต่อต่าง ๆ ไม่สามารถเคลื่อนที่งอหรือเหยียดได้ตามปกติ - ตรวจพบที่ข้อต่อเล็กๆ ได้ก่อนข้อต่อใหญ่ๆ โดยเริ่มพบที่ใบหน้า ขากรรไกร นิ้วมือและนิ้วเท้าได้ในเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงภายหลังการตาย - เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 4 ชั่วโมงจะตรวจพบได้ที่ข้อศอกและเข่า และตรวจพบที่ข้อไหล่และตะโพกในเวลาประมาณ - 6 ชั่วโมง หลังจากนั้นกล้ามเนื้อจะแข็งตัวมากขึ้นเรื่อยๆ จนเต็มที่ในเวลาประมาณ 6 - 12 ชั่วโมงหลังการตาย และคงอยู่อย่างนั้นจนกระทั่งกระบวนการเน่าเริ่ม เกิดขึ้น คือประมาณ 24 ชั่วโมงหลังการตาย - มีภาวะบางประการที่ทำให้การแข็งตัวของกล้ามเนื้อเกิดและดำเนินไปเร็วกว่าเวลาที่กล่าวมาข้างต้น ได้แก่ การใช้งานกล้ามเนื้อมากๆ ก่อนเสียชีวิต เช่น การชัก การออกกำลัง เป็นต้น - นอกจากนี้การแข็งตัวของกล้ามเนื้อจะเกิดขึ้นได้เร็วกว่าปกติในกรณีที่ผู้เสียชีวิตตายจากการถูกไฟฟ้าดูด และในกรณีที่ศพอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงๆ ในทางตรงข้าม rigidity จะเกิดขึ้นและดำเนินไปได้ช้ากว่าปกติหากศพอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เย็นๆ นอกจากนี้หากผู้เสียชีวิตเป็นคนชราหรือเป็นเด็กทารก หรือเจ็บป่วยมานานและอ่อนแอก็อาจตรวจไม่พบ rigidity หรือตรวจพบแต่เพียงเล็กน้อยก็ได้ - กรณีที่เกิด rigidity เต็มที่แล้ว หากมีการยืดกล้ามเนื้อบริเวณข้อแรงๆ rigidity บริเวณข้อจะถูกทำลายทำให้ข้อนั้นเคลื่อนไหวได้ตามปกติ แต่หากกล้ามเนื้อนั้นมี rigidity แล้วแต่ยังเกิดไม่เต็มที่ ภายหลังจากที่ถูกทำลายไปแล้ว rigidity ก็จะเกิดขึ้นได้อีก - นอกจากจะมีประโยชน์ในการประเมินเวลาตายแล้ว post-mortem rigidity ยังอาจช่วยบอกถึงการเคลื่อนย้ายศพได้ด้วยหากการเคลื่อนย้ายนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่มีการแข็งตัวของกล้ามเนื้อแล้ว ซึ่งอาจ ทำให้ท่าทางของศพไม่เข้ากันกับลักษณะของสถานที่ที่ศพนั้นอยู่ 3. การลดลงของอุณหภูมิร่างกาย (Post-mortem cooling) หลังจากเสียชีวิตศพจะค่อยๆ เย็นลงจนอุณหภูมิเท่ากับสิ่งแวดล้อม การวัดอุณหภูมิและการคำนวณระยะเวลาที่เสียชีวิตโดยอาศัยการลดลงของอุณหภูมิร่างกายมีความยุ่งยากและมีความคลาดเคลื่อนสูง นอกจากนี้การเย็นตัวลงของศพยังมีความไม่แน่นอนอยู่มากเนื่องจากมีปัจจัยซึ่งมีผลกระทบต่อการลดลงของอุณหภูมิของร่างกายศพหลายอย่าง เช่น อุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของผู้เสียชีวิต และอุณหภูมิของร่างกายผู้เสียชีวิตก่อนตาย เป็นต้น ดังนั้นจึงไม่เป็นที่นิยมทำกันในทางปฏิบัติ ที่จะมีใช้กันอยู่บ้างคือการประเมินอย่างคร่าวๆ โดยการใช้มือสัมผัสศพ หากรู้สึกว่าศพนั้นเย็นแสดงว่าเสียชีวิตมาแล้วอย่างน้อย 1 - 2 ชั่วโมง 4. กระจกตาขุ่น (Corneal Opacity) หลังจากการตายกระจกตาของผู้เสียชีวิตจะมีการขุ่นเกิดขึ้น หากหนังตาของศพเปิดกระจกตาจะเริ่มขุ่นเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง แต่ หากหนังตาปิดกระจกตาจะใสอยู่ได้นานถึง 24 ชั่วโมง แล้วจึงจะเริ่มขุ่น 5. กล้ามเนื้อ Biceps หดตัว (Post-mortem biceps contraction) หลังจากร่างกายถึงแก่ความตายแล้ว เซลล์ หรือ เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อจะยังคงมีชีวิตอยู่ได้ในระยะหนึ่งและสามารถตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นซึ่งเป็นแรงกลได้ การตรวจว่าเซลล์กล้ามเนื้อยังมีชีวิตอยู่หรือไม่นี้ทำได้โดยการใช้ไม้ตีลงไปแรงๆที่กล้ามเนื้อ Biceps หากมีการหดตัวของกล้ามเนื้อเป็นรอยนูนขึ้น แสดงว่าเซลล์ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่จะพบปฏิกริยาแบบนี้ได้ภายใน 5 ชั่วโมงหลังตาย กล้ามเนื้อ Biceps //upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/5/5f/Biceps_(PSF).jpg 6. การเน่าสลายตัว (Decomposition) คือ การเน่าสลายของเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกายภายหลังการตาย - สิ่งแรกที่บ่งบอกว่า ร่างกายเริ่มมีการเน่าเกิดขึ้นแล้วคือสีเขียวบริเวณหน้าท้องซึ่งเกิดจากการเน่าของลำไส้ มักพบที่หน้าท้องส่วนล่างด้านขวาก่อน โดยจะเห็นได้ในเวลาประมาณ 24 ชั่วโมงภายหลังการตาย - หลังจากนั้นแบคทีเรียจะเริ่มเข้าไปเจริญเติบโตในเลือดซึ่งเป็นอาหารที่ดีของแบคทีเรียทำให้เลือดอยู่ในเส้นเลือดเกิดการเน่า เห็นเป็นสีม่วงคล้ำปนเขียวตามลายเส้นเลือด คล้ายลายของหินอ่อนเรียกว่า Marbling ซึ่งมักเห็นได้ในเวลาประมาณ 48 ชั่วโมงภายหลังการตาย - ประมาณ 3 วันหลังตายแก๊สที่แบคทีเรียสร้างขึ้นจะทำให้ร่างกายพองโตขึ้น ลิ้นจุกปาก ดวงตาถลน ผิวดำคล้ำ และประมาณ 5 วันหลังตาย หนังกำพร้าจะพองตัวหลุดลอกออกไปจากลำตัวเป็นส่วนใหญ่ รูปของ Marbling ที่มา //www.pathguy.com/lectures/env-23.htm (เว็บนี้เจ๋งมาก แนะนำให้ไปชมค่ะ) การเปลี่ยนแปลงของศพตามเวลาที่พบ และแมลงที่พบ ที่มา //library.thinkquest.org/04oct/00206/text_ta_time_since_death.htm เห็นแล้วคิดถึงเรื่องนี้ .. เมื่อร่างกายตาย เซลล์ก็ตาย กลไกแสดงความเปลี่ยนแปลงของเซลล์หลังการตาย ที่มา //www.ifcc.org/index.asp?cat=Publications&scat=eNewsletter&suba=May/June_2009&subx=Post-mortem%20Changes&zip=1&dove=1&zona=full&aq=1 หมดเรื่องวิทยาศาสตร์แล้ว ต่อไปเป็นของที่ระลึกจากคนตายค่ะ Post-mortem photography (หรือ Memorial portraiture หรือ Memento mori) หมายถึง ภาพหลังความตาย เป็นการจัดศพของคนที่ตายไปแล้วมาแต่งหน้าทำผม แต่งตัวและถ่ายรูปให้เสมือนพวกเขามีชีวิต ก่อนนำไป ฝัง ลักษณะของภาพ คล้ายกับคนกำลังหลับ และจะเน้นไปที่ใบหน้า มักไม่ถ่ายรูปพร่อมโลงศพที่ใส่ Saint Madeleine Sophie Barat (1779-1865) by A.A.E.Disdéri ที่มาของภาพ และประวัติ //www.paulfrecker.com/pictureDetails.cfm?pagetype=library&typeID=1&ID=3753 หลายครั้งที่มีถ่ายคนเป็น คู่กับคนตายด้วย ที่มา //www.paulfrecker.com/pictureDetails.cfm?pagetype=library&typeID=1&ID=3774 Memento mori มาจากภาษาละติน แปลว่า " Remember you will die " นอกจากจะหมายถึง Post-mortem photography แล้ว ยังหมายถึง ภาพหรือศิลปะที่เตือนถึงความตายทางศาสนา (เหมือนภาพปลงสังเวชของไทยมั้ง?) และ บางครั้งสร้างเพื่อเตือนถึงโทษที่จะได้รับ หากละเมิดกฎด้วย หาอ่านเพิ่มที่ //en.wikipedia.org/wiki/Memento_mori รูปประกอบ Memento mori Mosaic from Pompeii (30 B.C. 14 A.D.) Naples, National Archaeological Museum ที่มา //ancientrome.ru/art/artworken/img.htm?id=1755 Death Mask เป็นหน้ากากที่หล่อจากคนตาย โดยหล่อโดยตรงจากศพใช้ขี้ผึ้ง หรือปูนปลาสเตอร์ หรือปั้น หรือแกะสลัก โดยใช้ศพเป็นต้นแบบ อ่านเพิ่มที่ //en.wikipedia.org/wiki/Death_mask Ludwig van Beethoven ที่มา //socyberty.com/history/death-masks-of-the-famous/ Napoleon Bonaparte ที่มา //socyberty.com/history/death-masks-of-the-famous/ (เว็บนี้รวมหน้าคนดังอีกหลายหน้าค่ะ) ภาพแสดงวิธีการทำค่ะ ที่มา //socyberty.com/history/death-masks-of-the-famous/ จบแล้วค่ะ กระทู้นี้เกือบจะเป็นห้องย่อยห้องสมุดเพราะตั้งจากความชอบอะไรหลอนๆของเจ้าของกระทู้ค่ะ สำหรับของไทยคงต้องไปหาที่ห้องสมุดค่ะ เช่น [สงสัยมานาน] ในพระโกฐมีอะไร? เเล้วพระศพในโลงพระศพไปไหน?? //topicstock.pantip.com/chalermthai/topicstock/2008/01/A6218157/A6218157.html มีผู้รู้หลายท่านมากมายคอยให้คำตอบอยู่..^^ ขอบคุณที่เข้ามาชมนะคะ ------------------------------------------------------------------ ที่มา 1. การเปลี่ยนแปลงหลังการตาย : //medboard.med.cmu.ac.th/elearning/interactive/knowledge/post1.html 2. นิยามของ การตายสำคัญไฉน โดย นพ.พิทูร ธรรมธรานนท์ : //www.mnrh.in.th/site_data/mykku_hos/222/%B9%D4%C2%D2%C1%A2%CD%A7%A1%D2%C3%B5%D2%C2.doc 3. ประกาศแพทยสภา เรื่อง"เกณฑ์การวินิจฉัยสมองตาย" : //neurosun.googlepages.com/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A2 4. Time Since Death : //library.thinkquest.org/04oct/00206/text_ta_time_since_death.htm 5. VIOLENCE, ACCIDENTS, POISONING by Ed Friedlander, M.D., Pathologist : //www.pathguy.com/lectures/env-23.htm 6. Postmotem Photography : //www.paulfrecker.com/ 7. Memento_mori : //en.wikipedia.org/wiki/Memento_mori 8. Death masks of the famous : //socyberty.com/history/death-masks-of-the-famous/
|
บทความทั้งหมด
|