ในช่วงสงครามประชาชน ผู้นำชาวกะเหรี่ยงที่ร่วมมือกับ พ.ค.ท. ได้มีข้อตกลงอยู่ร่วมกันกับฤๅษีเลตอคุ อย่างเป็นมิตร ฤๅษีองค์ที่ 8 ยอมรับและให้ผู้ที่นับถือฤๅษีแยกบ้านกับผู้ต้องการร่วมการปฏิวัติ ปรากฏว่า ในเขตไทยมีบ้านไกบอทะและบ้านเลตอคุ
ในเขตพม่า ชาวกะเหรี่ยงฤๅษีต้องการเข้าร่วมจำนวนมาก แต่ขณะที่การขยายพื้นที่ไประยะหนึ่ง กะเหรี่ยงอิสระได้เข้าเจรจากับ พ.ค.ท. เรื่องพรมแดน และมีข้อตกลงพันธมิตร งานขยายมวลชนและสร้างอำนาจรัฐแดงในฝั่งพม่าจึงยุติลง ชาวกะเหรี่ยงฤๅษีในฝั่งพม่ายังคงยึดถือความเชื่อฤๅษีต่อไป
ภายหลังการวางอาวุธ ชาวกะเหรี่ยงลุ่มแม่จันได้กลับไปสู่ความเชื่อฤๅษีอีกครั้งหนึ่ง แต่ไม่ใช่ฤๅษีเลตอคุ
ชาวกะเหรี่ยงโพล่ง จำนวนมากได้หันกลับไปนับถือฤๅษีอีกครั้ง บ้านตะละโค่ง บ้านช่องแปะ บ้านทิบาเก นับถือฤๅษีที่นำโดยทิเล่าเอง ชาวโพล่ง จากตะวันออก ที่ได้นำไปสู่การโจมตีค่าย ตชด. แม่จันทะ เนื่องจากพวกเขาถูกคุกคาม ข่มขู่ ดูหมิ่น จากเจ้าหน้าที่รัฐ จนถึงขั้นนำเหล้าซึ่งสิ่งต้องห้ามไปเทราดลานพิธีกรรมของพวกเขา
บ้านเกริงโบ หรือกรูโบ ลุงเนเตอะนำชาวบ้าน 5 หลังจาก 10 หลังแยกไปอยู่ต่างหาก ต่อมา ชาวบ้านเกริงโบที่นับถือฤๅษี ก็ค่อยลดจำนวนลงจนเหลือครอบครัวลุงเนเตอะเพียงหลังเดียว
ขณะที่ ชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ นำโดยลุงพินิจได้นำการฟื้นฟูอย่างจริงอย่างจังประมาณ 2545 จนทำให้ขยายตัวไปสู่การเข้าร่วมของชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ ลุ่มแม่จัน ลุงพินิจได้ตีความคำสอนฤๅษีเลตอคุใหม่ เช่น ยกเลิกการห้ามเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ลุงพินิจบอกว่า การห้ามเลี้ยงเพราะอยู่ระหว่างการหลบหนีพม่าจากเมืองมัณฑะเลย์ ไก่และหมูจะสร้างร่องรอยระหว่างการเดินทาง จึงห้ามเลี้ยงในระยะเวลาหนึ่ง แต่ผมจำไม่ได้
การห้ามกินเหล้ายังคงเป็นข้อห้ามสำคัญ และยังคงยึดติดมาถึงปัจจุบัน เช่น ชาวบ้านเกริงโบ ที่ไม่ได้นับถือฤๅษี ถ้าอยากจะกินเหล้าก็จะเดินทางไปกินเหล้าหมู่บ้านอื่น ตอนเหนือน้ำ
ชาวโพล่ง แม่จันทะ มี 3 ความเชื่อ จำแนกด้วยด้ายผูกข้อมือ คือ ด้ายเหลือง ด้ายแดง และด้ายขาว ความเชื่อด้ายเหลือง และด้ายแดง เป็นโพล่งที่อพยพมาจากด่านช้างและบ้านไร่ ด้ายขาวเป็นโพล่งดั้งเดิมที่นี่ ผมไม่แน่ใจว่า ความเชื่อมีความแตกต่างกันอย่างไร จำได้เฉพาะความเชื่อด้ายแดง จะถือการกินน้ำต้ม เพื่อสู่สังคมพระศรีอริยะ
เมื่อพบกับเพื่อนชาวโพล่งห้วยหินดำ ด่านช้าง สุพรรณ เขาบอกว่า พวกเขายังคงเป็นโพล่งที่ยึดถือความเชื่อดั้งเดิมและผูกมือด้วยด้ายเหลือง
เพื่อนชาวปกาเกอะญอคนหนึ่ง บอกว่าเคยไปเลตอคุ จะเข้าไปในสำนักฤๅษีก็ไม่ได้ ได้แต่มองดูอย่างเดียว เป็นเรื่องรบกวนใจมาก แต่เดี๋ยวนี้เรามาร่วมกับลุงพินิจแล้ว เราก็เป็นฤๅษีตามแบบลุงพินิจ
ผมเคยสนทนากับผู้อาวุโส เมื่อพูดถึง ฤๅษีเลตอคุ ท่านบอกว่า ฤๅษีเลตอคุเป็นส่อง ซึ่งเป็นคำเรียก ปกาเกอะญอ ในภาษาโพล่ง ทำให้ต้องตระหนักว่า ฤๅษีของชาวกะเหรี่ยงทุ่งใหญ่ไม่ได้จำกัดแค่ฤๅษีเลตอคุเท่านั้น