บางครั้งโลกแห่งความจริงไม่สวยงาม...เฉกเช่นความฝัน แต่รู้สึกและจับต้องได้
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728 
 
2 กุมภาพันธ์ 2554
 
All Blogs
 
หลักปฏิบัติ(6)…อยู่อย่างไรใกล้นิพพาน







“ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เสพอยู่ คบอยู่ซึ่งเสนาสนะอันประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่นานนัก พึงทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ อย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา คือ เชื่อพระปัญญา ตรัสรู้ของตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก ทรงเป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ๑

เป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อยอาหาร สม่ำเสมอ ไม่เย็นจัด ไม่ร้อนจัด เป็นปานกลางควรแก่การบำเพ็ญเพียร ๑

เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ทำตนให้เปิดเผยตามความเป็นจริง ในศาสดาหรือในเพื่อนพรหมจรรย์ที่เป็นวิญญู ๑

ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย ๑

เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาที่เห็นความเกิดและความดับ เป็นอริยะ เป็นเครื่องชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ อย่างนี้แล ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะอันประกอบด้วยองค์ ๕ อย่างไร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะในธรรมวินัยนี้ อยู่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก สมบูรณ์ด้วยทางไปมา กลางวันไม่เกลื่อนกล่น กลางคืนเงียบเสียง ปราศจากเสียงอึกทึกมีเหลือบ ยุง ลม แดด และสัมผัสแห่งสัตว์เลื้อยคลานน้อย ๑

จีวร บิณฑบาตเสนาสนะ และเภสัชบริขารอันเป็นปัจจัยแห่งคนไข้ย่อมเกิดขึ้นโดยไม่ฝืดเคืองแก่ภิกษุผู้อยู่ในเสนาสนะนั้น ๑

ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพระเถระ เป็นพหูสูต ชำนาญคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา อยู่ในเสนาสนะนั้น ๑

ภิกษุนั้นเข้าไปหาพระเถระเหล่านั้นตามกาลอันสมควร แล้วย่อมสอบถาม ไต่ถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อนี้เป็นอย่างไร เนื้อความของข้อนี้เป็นอย่างไร ๑

ท่านพระเถระเหล่านั้น ย่อมเปิดเผยข้อที่ยังไม่ได้เปิดเผย ย่อมทำให้ง่ายซึ่งข้อที่ยังไม่ได้ทำให้ง่าย ย่อมบรรเทาความสงสัยในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยแก่ภิกษุนั้น ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะอันประกอบด้วยองค์ ๕ อย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เสพอยู่ คบอยู่ ซึ่งเสนาสนะอันประกอบด้วยองค์ ๕ไม่นานนัก ก็พึงทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ฯ ….เสนาสนสูตร เล่ม๒๔ ข้อ ๑๑

อยู่อย่างไรใกล้นิพพาน

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะก็คือที่อยู่ ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เสพอยู่ คบอยู่ นี่ก็มีคำว่า อยู่ สังเกตนะ เสพอยู่ คบอยู่ ซึ่งเสนาสนะอันประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่นานนัก พึงทำให้แจ้ง ซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญา อันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่” ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่นี่ ภาษา พวกนี้เป็นภาษาใน พระไตรปิฎก เราก็คงฟังแล้วเข้าใจดีแล้ว โดยความหมายก็คือ เป็นปัจจุบันธรรม แล้วก็มีสภาพ นั้นๆ เกิดอยู่เป็นอยู่

คำว่าเสพอยู่ คบอยู่นี่ เสพก็คือเรารับอยู่ มีการสัมผัส มีการเป็นไป ร่วมรวมกันอยู่ครบ เสวมาโน ท่านใช้คำว่า มาโนอันนี้ เสวมาโน ก็ ภชมาโน ภช ครบ คภมาโน เสวะก็คือเสพนั่นแหละ เสวมาโน ภชมาโน ตีความได้รับอยู่ เสพ หรือ เสวะนี่ ได้รับอยู่ หรือบริโภคอยู่ เสพ เสวะ เสพนี่ บริโภคอยู่ บริโภคอะไร หรือว่าคบอยู่กับอะไร ก็คบอยู่กับเสนาสนะอันประกอบด้วยองค์ ๕ เสพอยู่ หรือคบอยู่ ซึ่งเสนาสนะอันประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่นานนัก ถ้าเสพอยู่ คบอยู่กับอย่างนี้ แล้ว ก็ไม่นานนักหรอก พึงทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ ก็คือจะได้บรรลุ ธรรมถึงที่สุด เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ก็คือ ได้บรรลุธรรม เป็นปัจจุบันเลยทีเดียว

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ อย่างไร ทีนี้องค์ ๕ มีอะไรบ้าง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา คือเชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชา และ จรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก ทรงเป็นสารถี ฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดา ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม๑”

ข้อ ๑ ก็คือว่าศรัทธาในพระพุทธเจ้า ที่มีองค์คุณ ๙ ที่เราท่องอยู่น่ะ พระพุทธเจ้าที่เราท่องว่า เป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ สุคโต ได้เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก โลกวิทู เป็นสารถี ฝึกบุรุษที่ควรฝึกอะไรนี่ต่างๆ ซึ่งที่จริง อาตมาเคยอธิบาย นัยะ ๙ อย่างนี้ให้ฟัง เจาะให้ฟัง ว่าเป็นพระพุทธเจ้า เพราะอะไร แล้วเราก็จะไล่เรียงลอกเลียนเหมือนพระพุทธเจ้าเหมือนกัน พระพุทธเจ้านี่ ท่านตรัสรู้เอง โดยชอบ ก็คือท่านไม่มีครูบาอาจารย์เลย เป็นปัจเจก จนกระทั่งเป็นผู้ที่ตรัสรู้เอง เป็นสยัมภู เราก็จะมีเอง

แต่เราเป็นสาวกภูมิ เราก็จะต้องได้ความรู้จากอาจารย์ เสร็จแล้ว เราก็มาบรรลุ ตนเองบรรลุ บรรลุเองของตนเอง เป็นเองได้เอง เห็นเอง แจ้งเอง แจ้งเองนั่นก็คือ แจ้งของตนเอง แล้วต้อง มีตัวญาณ ตัวญาณที่แจ้งที่ชัด ตัวญาณของตัวเองตัวที่รู้ ตัวรู้ของตัวเองรู้ รู้เห็น รู้เห็น เห็นขณะที่ แต่ก่อนรู้อยู่ เห็นอยู่ ก็บอกมาแล้ว อธิบายมาแล้ว คบอยู่ เสพอยู่ เสวยอยู่ มีการเกี่ยวข้องอยู่ นี่คบอยู่นี่ แล้วก็ยังมีการได้บริโภค หรือเสวย เสวยวิมุติ เสวยความว่าง เสวยสภาพที่ไม่มีกิเลส วิมุติรสมันเป็นอย่างไร มันว่างอยู่จริงๆนะ คุณเสวยอยู่ มีปัจจุบันธรรม มีสภาพนั้นอยู่กับตัวเรา นั่นเรียกว่าเป็นเอง เสพเอง ได้เอง

กิเลสที่ มันเล่นงานเราเป็นทุกข์ ทุกข์อยู่อย่างไร ทุกข์น้อยทุกข์มาก ก็จะต้องเข้าใจจริงๆ เลยว่า รู้ทุกข์ เป็นผู้เข้าใจในทุกข์ ตามไปหาเหตุแห่งทุกข์ แล้วก็ลดเหตุแห่งทุกข์ได้ ก็รู้อารมณ์ของ การลดเหตุแห่งทุกข์ได้ จนเหตุนั้นดับ เหตุนั้นดับเป็นนิโรธ รู้แจ้ง เห็นนิโรธ นิโรธานุปัสสี ตามรู้ ตามเห็นได้ อย่างลึกอย่างซึ้ง ได้อย่างถึงสภาพจริงๆแล้ว คุณก็ได้บริโภคสภาพนิโรธ ดับสนิทนั้น หรือ จิตที่ว่างจากกิเลสนั้นเป็นอารมณ์อย่างไร เรียกว่า เสวมาโน เสพอยู่ และมันมีอยู่เมื่อไหร่ มันก็มีอยู่ แม้มันว่า จะไม่ได้ไปพิจารณาว่าเรากำลังเสพว่าง เราก็จะคบคุ้นกับปรุงแต่ง ทำงาน ทำการ ไอ้โน่นไอ้นี่ แต่เราก็จะแวะเวียนดูได้ว่าจิตของเราว่างหรือไม่ว่าง

เราจะมี มุทุภูตธาตุ จะมีจิตที่แววไว มันตรวจ มันพิจารณา มันอยากจะโน้มจิตมาตรวจ อยากจะโน้มจิตมาดู จิตเราว่างไหม นี่ขณะนี้สัมผัสอยู่กับเหตุปัจจัยนะ ผุฏฐัสสะ โลกะธัมเมหิ สัมผัสกับโลกธรรม ชนิดนั้น ชนิดนี้อยู่ แล้วจิตของเรานี่ในขณะปรุงแต่งไปกับเขาด้วย แล้วเรา ก็วกตรวจดูจิตใจเราสิ จิตใจเราก็จะเป็น ปริสุทธา ปริโยทาตา ยังบริสุทธิ์ยังว่างอยู่ แม้ปรุงแล้ว แม้เลิกปรุงปั๊บ มันก็ แห้งสะเด็ด เป็นปริโยทาตา การปรุงกับเขานั้น เป็นแต่เพียงสมมุติกับเขาได้ โดย ที่เรียกว่า ไม่ดูด ไม่ซับ ไม่ซึม ปริโยทาตา ยังอุเบกขาอยู่อย่างนั้น ยังผุดผ่องอยู่อย่างนั้น อุเบกขา ที่มีองค์ธรรมว่า มีตัวปริโยทาตา คือตัวผุดผ่อง เราปรุงกับเขา เหมือนกับเราไปเปื้อน กับเขานะ แต่ที่จริง พอเวลา เรากลับมาตรวจที่จิตเราอีก มันก็ผุดผ่องอยู่อย่างเก่าน่ะ มันสลัด หรือว่า มันก็เป็นแต่เพียง สมมุติกับเขาได้ แต่เราไม่ติด ไม่ยึดจริงๆ
นี่

ต้องตรวจ ๆ ต้องรู้สภาพพวกนี้ของเราจริงๆ พระพุทธเจ้าท่านเป็นผู้ที่บรรลุถึงขั้นมีพุทธคุณ ๙ นี่ โอ้ วิเศษวิเสโส เราเอง เรายังไม่ได้ เราก็ทำไป มีวิชชา มีจรณะ สุคโต ก็ในระดับของเรา พระพุทธเจ้าท่านสุคโต ในระดับตถาคโต ตถแปลว่าความจริง อาคโตก็แปลว่าเป็นไป ไปจริงแล้ว จริง ท่านไปดีจนจริงแล้ว จริงหมดแล้ว ตถาคโตของเรายังจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ยังสุคโต สุคโตเป็นภาษาที่รวมๆน่ะว่าดี สุ เราก็ไปดี ไปพอสมควร แล้วก็ไปให้ดีได้เรื่อยๆ มีโลกวิทู มีพหูสูต รู้แจ้งโลกตามฐานะของเรา จะฝึกบุรุษผู้สมควรฝึกได้ตามฐานะของเรา ที่เราเป็นพระธรรมกถึก ที่เราเข้าสู่บริษัทแกล้วกล้า อาจหาญแสดงธรรมกับบริษัท ทรงวินัย แล้วก็เป็น ผู้ที่มีจิตมันก็ยินดีในความสงบ ตรวจตราเมื่อไหร่ก็สงบ หรือไม่สงบเมื่อไหร่ เราก็ต้องขจัด ทำให้มันสะอาด ทำให้มันสงบ เป็นสภาพจิตอยู่ในป่า เป็นวัตร หรือว่ายินดี ในเสนาสนะอันสงัด อยู่ได้จริงๆ

จิตของเราจะเกิดสภาพเชื่อ เชื่อว่านี่เป็นฐานของความจริง มันเชื่อที่เราได้จริง มันเชื่อ เชื่อใน พระพุทธเจ้า ที่เป็นบุคคลคนหนึ่งที่มีคุณธรรม ๙ พุทธคุณ ๙ อย่างนั้น เชื่อเพราะเรามีพุทธะ พุทธคุณ ๙ อย่างพระพุทธเจ้าเราก็มี แต่มันน้อย แต่มันเป็นรูปร่างเดียวกัน เป็นรูปร่างเดียวกัน เป็นผู้ที่ฝึก บุรุษสมควรฝึกได้เหมือนกัน แต่ก็น้อยๆ เล็กๆ ตามภาษาเรา เป็นศาสดาของ เทวดา และ มนุษย์ทั้งหลาย เราก็เป็นครู เป็นอาจารย์ไม่ถึงศาสดาก็ตาม เป็นครูน้อยๆ เป็นอาจารย์ น้อยๆ แก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว

มีความสำคัญน่ะ คำว่าเบิกบานนี่ พุทธะท่านก็กำหนดลงไปว่าเป็นผู้เบิกบาน ผู้รู้ ผู้ตื่น เบิกบาน จริงๆนะ จิตใจมันเบิกบาน มันไม่หม่นหมอง มันไม่ทุกข์ร้อน ทั้งๆที่ เรารู้อยู่ว่า ทุกขขันธ์ก็มีนะ สภาวทุกข์ก็มี นิพัทธทุกข์ก็มี อาหารปริเยทิฏฐทุกข์ เป็นทุกข์ที่ต้องแสวงหาอาหาร แสวงหา งานการสร้างสรร มันเหน็ดเหนื่อย ทำงานร้อน ทำงานหนักๆ ทำงานเหนื่อยๆ อยู่ก็รู้ว่ามันก็เป็น สภาพธรรมดาธรรมชาติ แต่ใจก็เบิกบาน ใจไม่มีหม่นหมอง ใจไม่มีเกี่ยงไม่มีงอน ไม่มีเลี่ยง ไม่มีหลบ ใจไม่ได้มีอึดอัดขัดเคือง เราได้สร้างก็รู้ด้วยปัญญา ก็เราทำงานมันดีน่ะ สร้างงาน มันก็เป็นกุศล งานนี้มันก็เป็นกุศล เป็นงานที่สมควรในหมู่ ในกลุ่ม ในกาลเวลาที่ควรทำ เราก็ทำงานนี้ ไปด้วยความอุตสาหะวิริยะหมั่นเพียร ด้วยความพยายาม ไม่ทุกข์ ไม่อึดอัด เบิกบาน ร่าเริง เจอศัตรูอยู่ ศัตรูกำลังเล่นงานเราด้วยวิธีนั้นวิธีนี้ ก็เบิกบาน ร่าเริงอยู่ จิตใจไม่ได้ หดหู่ จิตใจไม่ได้ท้อแท้ จิตใจไม่ได้เกรงกลัว จิตใจไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไรหรอก เจอศัตรูก็ไม่ได้ ทุกข์ร้อนอะไร ก็รู้เขา พระอริยเจ้าตัวเบิกบานร่าเริงนี่ จะเหมือนกันกับพระพุทธเจ้าเบิกบาน ร่าเริง

แม้เป็นพุทธะน้อยๆก็ตาม นี่เป็นคุณธรรมที่จะเป็นผู้ที่มีองค์อันนี้ ได้เสวยอันนี้อยู่ ได้คบอยู่ ได้เป็นอยู่ เพราะฉะนั้น มันยังไม่เป็น เราก็ต้องพากเพียรให้มันเป็น เราต้องเอาคุณธรรมของ พระอริยเจ้า เราเอาคุณธรรมของพระอรหันต์มาฝึก เอาคุณของพระอรหันต์มาฝึก มันถึงจะ ชำนาญ มันถึงจะเป็นขึ้นไปเรื่อยๆนะ นี่ข้อ ๑

ข้อ ๒ เป็นผู้มีอาพาธน้อย ข้อ ๑ นี่ เป็นผู้มีศรัทธา ศรัทธานี่ ศรัทธาในพระพุทธเจ้า ขออธิบาย เสริมอีกหน่อย คิดถึงได้ศรัทธา ๔ ศรัทธาในพระพุทธเจ้า ก็คือตถาคตโพธิศรัทธา อาตมา บอกแล้วว่า ตถาคตโพธิศรัทธานี่นั่นล่ะ เราศรัทธาพระพุทธเจ้าเรานี่แหละ จะศรัทธาในบัญญัติ แล้วก็มาศรัทธาในตัวเราเอง คือ กัมมัสสกตาสัทธากัมมัสสกตาสัทธาก็คือ ศรัทธาที่มีอยู่ในตน เป็นของๆตน อะไรเป็นของๆตน พุทธคุณที่เป็นของๆตน ตถาคตโพธิสัทธา เราก็ศรัทธา พระพุทธเจ้า ที่อยู่นอกตัว เราปฏิบัติจนกระทั่งเป็นกัมมัสสกตาสัทธา คือ ของๆตน ปฏิบัติพุทธคุณ หรือความเป็นพระพุทธเจ้าจะไม่ถึงเจ้าหรอก เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพุทธะดั่งที่ อธิบายไปเมื่อกี้นี้ มามีอยู่ในตัวเรา เราศรัทธาที่เราได้ เราเป็นพุทธคุณน่ะ มีพุทธคุณนั้น ศรัทธา จนกระทั่ง เข้าใจถึงกรรม ถึงวิบาก วิปากสัทธา กัมมสัทธา ศรัทธาในวิบากเชื่อในวิบาก ศรัทธาในกรรม เชื่อในกรรมที่เราเป็นเรามี

เราได้ก็เพราะเราประพฤติเราทำ เรียกว่ากรรม แล้วก็ สั่งสม เรียกว่าผล ผลที่เราทำนั้น จนกระทั่ง เป็น กัมมัสสกตาสัทธา ศรัทธาผลของกรรมที่เราทำ ผลของกรรมที่เราได้ละล้างกิเลส ผลของ การที่เราได้ทำพุทธคุณ เราได้สะสมพุทธคุณ ผลของกรรมนั้น เราศรัทธาเชื่อมั่นในปรมัตถ์ เหล่านั้น พุทธคุณในระดับปรมัตถ์นั่น เพราะฉะนั้น ผู้ที่ศรัทธา มีศรัทธานี่ ศรัทธาพระพุทธเจ้า ก็ต้องสั่งสมให้เกิด กัมมัสสกตาสัทธา เพราะเราสร้างกรรม สร้างวิบาก เพราะฉะนั้น เราเชื่อ ในกรรมที่เราได้กระทำ

อย่างพวกเรา มาประพฤติละลดออกมาจากอบายมุข คุณก็ทำของคุณมา หัดเลิกหัดละมา ตั้งแต่ หยาบๆ ภายนอก แล้วคุณก็มาประพฤติปฏิบัติเพื่อล้างภายใน ล้างกิเลสในปรมัตถ์ ล้างกิเลสในจิต เจตสิก จนกระทั่งทุกวันนี้คุณมีผล เพราะคุณได้ประพฤติปฏิบัติอบรมตัวเอง มาจริงๆน่ะ จนมาได้เดี๋ยวนี้ มาเป็นของๆตนเดี๋ยวนี้ มีการศรัทธา เลื่อมใส เชื่อมั่น มีศรัทธาพละ ในตัวเราเอง เพราะผล เพราะกรรม เพราะวิบาก เพราะของๆตนที่ได้พุทธคุณอันนี้ มันได้ไป ตามลำดับ

แม้แต่แค่เหตุปัจจัยหนึ่งแค่อบายมุขเรื่องหนึ่ง สองอบายมุข คือ กาม โลกกาม โลกธรรมอีก คุณก็ละล้างได้มาอีก มาเรื่อยๆ เป็นของจริง เป็นกัมมัสสกตาสัทธา ศรัทธาของๆตน ศรัทธาที่ ตนได้ ตนมี ตนเป็น เชื่อที่ตนได้ ตนมี ตนเป็น นี่ มันมีศรัทธาที่ลึกซึ้งอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ผู้ใดที่ปฏิบัติแล้ว ก็ได้เสพอยู่ เสวยอยู่ เสพอยู่ คบอยู่ มีตัวที่คุณได้ลดได้ละ คุณรู้ตัวว่า คุณเป็นคนได้ คุณไม่เบลอ คุณเป็นคนไม่เผลอๆ ไผลๆ ไม่รู้ว่าได้ ไม่ได้ก็ไม่รู้ตัวว่าไม่ได้ ปฏิบัติตัว งมๆ งายๆ ไม่เอา ปฏิบัติให้ชัดเจน ได้รู้ว่าได้ เออ ใช่ นี่สิ่งที่ได้ ที่มี ที่เป็น ที่เจริญ ได้คุณธรรม ได้พุทธคุณอย่างนี้ให้ชัด เพราะฉะนั้น เราศรัทธาในพุทธคุณที่เราได้ปฏิบัติ
เอ้า ทีนี้ ต่อมาเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อยอาหาร สม่ำเสมอ ไม่เย็นจัด ไม่ร้อนจัด เป็นปานกลาง ควรแก่การบำเพ็ญเพียร อาพาธน้อย คำนี้นี่ มีโรคเบาบางนี่ มาจากพระบาลีว่า อัปปาพาธัง อัปปาตังกัง เราก็เคยฟังว่า การกินอาหาร มื้อเดียว มันมีประโยชน์ มันมีผลดี

๑.อัปปาพาธัง
๒.อัปปาตังกัง
๓.ลหุฏฐานัง
๔.พลัง
๕.ผาสุวิหารัง

นั้นอานิสงส์ของการกินมื้อเดียว นี่ก็คำคล้ายกันซ้ำกัน อัปปาพาธัง หรืออัปปาพาโธ มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง นี่แปลภาษาไทย อัปปาตังกัง หรืออัปปาตังโก ว่ามีโรคเบาบาง ไอ้นั่นเราแปลกันน่ะ อัปปาพาธัง อัปปาตังกัง มันแปลว่าไม่อาพาธ ไม่ได้แปลว่ามีโรคน้อย นี่อันนั้น แปลว่าไม่ทุกข์ แปลว่าไม่ทุกข์ ไม่เจ็บป่วยอาพาธ ไม่มีทุกข์ แต่อันนี้มันแปลตัวเดียวกันนี่ พระบาลีว่า อัปปาตังโก หรืออัปปาตังกัง มาแปลว่ามีโรคเบาบาง ซึ่งอาตมาก็ได้เคยอธิบาย ขยายความหลายอย่าง มันไม่ใช่แค่ไม่มีทุกข์เท่านั้น มีโรคเบาบางก็ได้ หรือว่ามันมีอะไรที่มัน เป็นตัวทำให้ เราไม่สบาย จะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่มีกิเลส ก็มีโรคทั้งนั้นแหละ ลดลงไปได้เรื่อยๆ ประกอบด้วย ไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารสม่ำเสมอ หมายความว่า สรีระของเรา ดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่เย็นจัด ไม่ร้อนจัด เป็นปานกลาง ควรแก่การบำเพ็ญเพียร

สรุปแล้ว ข้อที่ ๒ (ข้อที่ ๑ มีศรัทธา) ข้อที่ ๒ เป็นคนมีโรคน้อย ทุกวันนี้พวกเรา มีโรคมากขึ้น แม้แต่ ในทางไฟธาตุ ไฟธาตุนี่เกี่ยวข้องด้วยจิตด้วยสรีระ ก็คือสรีระ แต่ไฟธาตุนี่เป็นง่าย ไฟธาตุนี่ เป็นง่าย ประเดี๋ยวก็รวนในท้องเสีย ประเดี๋ยวก็รวนให้ปวดหัว ประเดี๋ยวก็รวนให้ อย่างโน้น อย่างนี้ หนักเข้า มันไปทำให้กล้ามเนื้อกระดูกเจ็บปวดอะไรด้วยได้

ที่อาตมาพูดว่า มันเป็นโรคทางจิตนี่ ไปประกอบนี่แหละ มันก็ไปจากไฟธาตุนี่แหละเป็นสำคัญ อาตมาก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร ในพวกเรานี่ เรายังมี มันเป็นไปตามลำดับขั้นตอน มันเป็นจริงๆน่ะ ทำไมอาตมาแข็งแรง อายุก็มากขึ้น แล้วพวกเรานี่ ไม่ว่าจะเป็นทั้งฆราวาส อันนี้มัน เป็นสภาพจริงๆ เพราะฉะนั้น เราต้องสังเกต เราต้องพยายามฝึกเพียร อย่าไปปล่อยตาม มันเป็น ภวตัณหาชนิดหนึ่ง กิเลสอ้อน มันหาทาง บอกแล้วว่า มันหาทางที่จะหยุด ที่จะพัก ที่จะหลบ ที่พูดไปแล้ว ซ้ำซากน่ะ ที่จะพยายามไม่ฝืนสู้ คนโลกๆ มันทำลืมเลยนะ เพราะว่าอามิสมันมาก เพราะฉะนั้น มันไม่กลัวหรอก จะเจ็บบ้าง จะป่วยบ้าง ทั้งๆที่เจ็บจริง ป่วยจริงด้วยนะ มันไม่แคร์หรอก มันทิ้ง

แต่พวกเรานี่ รับ พอท่าทางจะป่วยมา ดีว่ะ เราจะได้พัก นอกจากได้พักแล้ว กิเลสซ้อนเชิงมัน ไม่สะเด็ดขาด ไม่สะเด็ด ยังไม่หมดนี่นะ ดี จะได้กินอาหารเสริมด้วย กิเลสมันบอก ดีจะได้กิน อาหารเสริมด้วย จะได้พัก จะได้นอน จะได้หลบ แล้วก็อยู่รอดนี่อยู่ไปวันหนึ่ง ผ่านไปวันหนึ่ง เป็นต่อไปเดือนหนึ่ง โอ้ย ก็ดีนี่ ยิ่งไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะใหญ่เลย โอ้โฮ ยิ่งไม่ว่าเลยละ ยิ่งต่อไป ได้เลย กิเลสมันก็ยิ่งขึ้น กิเลส บอกแล้วว่า มันเป็นโรคจิต มันเป็น psychosis มันเป็น Neurosis มันเป็นโรค ทางจิตนะ มันก็ยิ่งเสริมเข้าไปใหญ่ มันเป็นจริงนะ จิตนี่แหละ ไปทำให้มันเป็นจริง

ถ้าเผื่อว่า คนอย่างคนโลก คนโลกๆ เขาไม่แคร์ ป่วยนิดป่วยหน่อย เขาไม่แคร์เลย เพราะว่าเขา จะต้องทำมาหากิน เขาจะต้องหาเงิน ยิ่งเขาเดือดร้อน ยิ่งเขาจำเป็นจะต้องรีบหา หรือเขายิ่งได้ นะ เขายิ่งรวย เขายิ่งโอ้โฮ แหม กำลังดีเลย นี่แขกกำลังมาก การค้าก็กำลังขึ้น หรือว่ากิจการก็ กำลังเจริญ จะไปขุดพลอยก็ยิ่งได้พลอย จะไปขุดเพชรก็ยิ่งได้เพชร มือเจ็บ มือแตก ยิ่งไม่กังวล ขนาดเจ็บจริงนะ มือเจ็บ มือแตกก็ไม่กลัว ผิวกร้านก็ไม่กลัว กำลังรวย เพราะฉะนั้น พวกนี้มัน ก็มีอันนั้นเลี้ยง มันมีอามิสเลี้ยง

ทีนี้พวกเรานี่ ไม่มีรูปธรรมอามิสพวกนี้เลี้ยง เราก็เลยไม่รู้ว่าเราจะต้องรีบเร่ง ไม่ต้องรีบขวนขวาย ต้องรีบปฏิบัติซิ ยิ่งพยายามประพฤติปฏิบัติให้มีกรรม การงาน สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ อะไรให้เจริญยิ่งขึ้น ไม่แล้ว อาชีวะ กัมมันตะ การกระทำการงาน อาชีพ หรือกิจอะไรพวกนี้ ก็ไม่อยากทำ ไม่อยากทำ เพราะเรามองที่จริง ผลได้ของเรานี่เป็นนามธรรม มันไม่เป็นตัวตน เหมือนอามิสทางโลก มันมีลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นชิ้นเป็นอัน เป็นชิ้นเป็นก้อน มันก็ชัด แล้วมัน ก็อยากได้ทั้งนั้น ทั้งๆที่พวกเรานี่ได้ แต่เสร็จแล้ว ไปกลับ ญาณมันไม่ละเอียด ญาณมันไม่สูง ทั้งๆ ที่คุณได้มาแล้ว ทุกวันนี้เจริญอยู่นะ แต่ตัวเองกลับไม่ตะกละตะกลามเอา ต้องใช้คำ แรงๆ ว่า ตะกละ ตะกลาม ไม่อุตสาหะมานะเอา เพราะญาณของเราไม่ชัด ญาณปัญญาของเรา ไม่รู้ว่าเราได้

ถ้าคุณอย่างคนโลกๆ อย่างที่พูดแล้ว ถ้าคุณเห็นว่ามันเป็นรูปธรรมอย่างนั้น ไปขุดเพชรก็ได้เพชร ไปขุดทองก็ได้ทอง การค้าก็กำลังร่ำรวย เขาลืมเหน็ด ลืมเหนื่อย ลืมป่วย แล้วมันก็ไม่ป่วย ไม่ป่วยเพราะโรคทางจิต มันก็ไม่เสริมจริง มันอาจจะเป็นทางกายบ้าง ทางกายก็แก้ไข รักษาไป พอสมควรก็หาย แต่ถ้าเผื่อว่ามีโรคทางจิตเราไปเสริมซ้อนแล้ว มันหนักเลย
ทีนี้พวกเรา โรคทางกายมันเป็นบ้าง เมื่อเวลางานหนัก มันก็เป็นบ้าง ปวดนั่น เมื่อยนี่ ไอ้โน่น ไอ้นี่ มันก็เป็นบ้าง ทีนี้ถ้าเผื่อว่าคุณเอง คุณลืมมันเลย เหมือนอย่างทางโลกนะ ปวดบ้าง เมื่อยบ้าง มันจะหาย เหมือนกับเราออกกำลังกาย วันนี้นี่ ไม่เคยออกกำลังกายเลย ออกกำลังกายแล้ว ก็มาทำงานหนักวันนี้นะ พรุ่งนี้ปวดเมื่อยหมดเลย แต่พรุ่งนี้ไปทำอีกซิ ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง หาย ไปซ้ำ ก็หายปวดเมื่อย พวกนั้นหาย นี่พวกคุณต้องเชื่อต้องยอมรับ เพราะว่าเรื่องจริงมันไม่ติดต่อ มันไม่ ไอ้นั่นไปหรอก มันหาย แต่ที่เราปวดเมื่อย เอาเลยหยุดเลย แล้วเราก็ไปให้โอกาสมัน กิเลส มันก็ยิ่งหนา มันก็ยิ่งเสริมปวด เสริมเมื่อย เสริมอะไรไป เหมือนกับโรคมันไม่หายสักที อาตมาก็ ไม่รู้จะพูดอย่างไร คุณลองทิ้งดูซิ คุณลอง เลิกดูซิ มันไม่มีหรอก มันไม่เป็นหรอก

เหมือนกับอย่างที่อาตมาว่านี่ โรคพวกนี้ สงสัยพวกเรามันเรื้อรังมากอยู่แล้วนะ เรื้อรังแล้วนี่ยาก ต้องแก้กันนาน ถ้าลืมๆ เหมือนอย่างโลกน่ะ มันก็แก้กลับ มันเริ่มปวด ถ้าเราซ้ำมันเข้าไป ทำมันเข้าไป แล้วก็ไม่ต้องไปออเซาะ ให้จิตเข้าไปเสริมให้มันอีกนะ หาย แล้วมันไม่เป็นหรอกอาตมาถามคุณว่า ทำไมอาตมามันไม่เป็น มันไม่เป็นขี้โรคเหมือนอย่างพวกเรา ทั้งๆที่แก่ขึ้นๆ ทุกวัน แต่ทำไมดูแข็งแรงกว่า พวกเราหนุ่มๆสาวๆกว่า มันไม่ เพราะอะไรหรอก มันเป็นลักษณะ ที่คุณไม่รู้เท่าทันกิเลส ที่มันเล่นงานเราพวกนี้ กิเลสในภพ กิเลสลึก แล้วมันออเซาะ อัตตามานะ อาตมา อธิบายอัตตามานะมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็คงพอจะเข้าใจ มันออเซาะอัตตามานะ มันก็เลย เสริมซ้อน ให้เราเป็นตัวป่วยนั่นๆอยู่ การเจ็บป่วยอะไรที่มันมีเชื้อ มันมีเหตุจริง เราก็รักษากันไป เถอะ แล้วอย่าพยายามเสริมให้กิเลสเรานี่มันซ้อนเสริมเข้าไปทำให้เรากลายเป็น ผู้ที่มีโรค หรือ มีเจ็บ มีป่วย มีอาพาธมากขึ้น แก้ พยายามแก้

ถ้าเผื่อว่าเราเอง เราไม่มีโรค หรืออาพาธน้อย คนเรามันเลี่ยงไม่ได้หรอก เจ็บป่วยได้ไข้ มันก็เป็นบ้าง แต่ถ้าเผื่อว่าเราเอง เราไม่เสริมซ้อนให้จิตมันไปเเป็น Neurosis เป็น psychosis เป็นจิต ที่เสริมให้เกิด โรคเสริมไปอีก โรคน้อยก็กลับเป็นโรคมากไปอีกนะ มันก็จะไม่อาพาธ หรือ อาพาธ น้อยเหมือนคนในโลก เหมือนคนในโลกเขามีอามิสล่อ แล้วเขาก็ไม่แคร์ เพราะฉะนั้น คนในโลก ดูไม่ป่วย พอมาทางเรานี่ป่วย แต่ก่อนนี้อยู่ในโลกนี้ เราไม่ค่อยป่วยกันหรอกนะ เอ้า มา ไปปฏิบัติธรรม ประเดี๋ยวเท่านั้น มาป่วยกัน คนนั้นคนนี้ป่วย ก็ เอ๊ ทำไมหนอ มันถึงได้ อ่อนแออย่างนั้น นี่ อาตมาก็พยายามขยายความอยู่นะ

เรื่องใดเป็นจริง ก็อย่าแอ๊คมากนัก รักษา ไอ้นั่นก็ให้มันสมดุล ให้มันพอสมเหมาะสมควร อะไร ที่มันควรจะฝืนได้ก็ฝืน อะไรที่ฝืนไม่ได้ เอ้า ก็ต้องให้รักษากัน อันนี้รู้แน่ รู้ชัด แล้วว่าว่าโรค มีเหตุ เราก็แก้ไขด้วยเหตุที่ ทางหมอทางโรงพยาบาลทางโน่น ทางนี่ เขามี ก็แก้ไขกันไป เพราะฉะนั้น ผู้ใดมีโรคน้อย ไม่มีโรคมาก ผู้นั้นเหมาะในการบำเพ็ญเพียร ในการประพฤติปฏิบัติ เป็นคนขยัน ว่าอย่างนั้นเถอะ ผู้นี้ก็เป็นไปได้ จะมีทางที่จะบรรลุง่ายนะ

๓. เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ทำตนให้เปิดเผยตามความเป็นจริง ในศาสดา หรือในเพื่อน พรหมจรรย์ ที่เป็นวิญญู อันนี้ มันเป็นกิเลสซ้อนมากๆแล้ว สำคัญ ไม่โอ้อวดนี่ อาตมาเคย เอามา อธิบายตอนก่อนนี้อย่างสำคัญนะ อสโฐ โหติ อมายาวี ยถาภูตํ อตฺตานํ อาวิกตฺตา ในศาสดา หรือ ในเพื่อนพรหมจรรย์ของเรานี่ เอาละ ไปแปลเป็นไทยประโยคนี้ มันเป็นประโยคที่ เป็นกรรม ของประโยค เป็นกรรมของประโยคก็คือในศาสดาหรือในเพื่อนพรหมจรรย์ ที่เป็นวิญญู คือ พวกเรา จะต้องเป็นผู้ที่อยู่กับศาสดา หรืออาจารย์ กับเพื่อนพรหมจรรย์ ที่เป็นวิญญู หมายความว่า เพื่อนพรหมจรรย์ที่มีภูมิธรรม เราจะอยู่ด้วย จะเสวมาโน จะภชมาโน จะเสพอยู่ จะคบคุ้นอยู่ กับเพื่อนพวกนี้ที่เราจะต้องไม่ให้เกิดการโอ้อวด ไม่ให้เกิดการมีมารยา

ทำตนเป็นคนเปิดเผยตามความเป็นจริง มีอะไรบกพร่องผิดพลาดมีอะไรจะบอกกัน เราก็บอกกัน เปิดเผยอาบัติ เปิดเผยความผิดพลาดแก่กันและกัน ไว้ใจกันสนิทกันขึ้นมา ในสิ่งในส่วนที่เรา จะรู้ว่า อันนี้ปรึกษาหารือกันได้ เป็นคนที่ไม่พราง ไม่มีมารยา นี่ก็คือไม่พราง ไม่แกล้งเสแสร้ง อย่างโน้น อย่างนี้ มีอะไรที่มันไม่ดี ก็พรางก็ลวง จนคนอื่นไม่รู้เรื่อง จนเข้าใจผิด จนคนอื่น หลงผิด

อย่างที่อาตมาอยู่กับพวกเรานี่ พวกเราบางคน อาตมาเป็นครู เป็นอาจารย์ พวกเราก็มีมารยา พรางปิด ไอ้สิ่งที่ไม่ดีไม่งาม อะไรก็พรางก็ปิด แกล้งทำนะ จนกระทั่งเรานึกว่าเป็น พระอนาคามี ดีไม่ดี เกือบเข้าใจว่าเป็นอรหันต์โน่น แต่อาตมายังไม่ [เคย] เข้าใจว่าใครเคยเป็นอรหันต์เลยนะ ที่ไหนล่ะ ขบถเล่นเอาเสียเจ็บปวดเลย เราไม่รู้นะว่า เราเชื่อนะ ก็เราอยู่ด้วยกัน คบคุ้นกัน เสวมาโน ภชมาโน เราก็นึกว่าเป็นอย่างนั้นๆจริง แล้วมันจะไปเจริญอะไร อยู่ด้วยกัน เป็นครูบา อาจารย์ หรือเพื่อนพรหมจรรย์ เพื่อนผู้ปฏิบัติร่วมกัน อยู่ด้วยกัน พรางกัน มีมารยา ไม่จริงใจ ไม่ทำตนให้เป็นที่เปิดเผยตามความเป็นจริง ไม่สนิทสนมกัน ไม่ไว้ใจกัน มันช้า

ถ้าเผื่อว่ามีองค์นี้อีกข้อหนึ่ง องค์ข้อที่ ๓ นี่ เสนาสนะอันประกอบด้วยองค์ ๕ เสนาสนะ อาตมา บอกแล้วว่า ต้องประกอบไปด้วย ชัดเจนอยู่ในนี้ ที่ท่านอธิบายเสนาสนะ น่ะ เสพอยู่ คบอยู่ ซึ่งเสนาสนะอันประกอบไปด้วยองค์ ๕ เสนาสนะคือสถานที่ อาตมาบอกแล้วว่า ในสถานที่ เสนานะนี่ ประกอบไปด้วยบุคคล ประกอบไปด้วยอาหาร ประกอบไปด้วยธรรมะ เสนาสนะ มันจะต้องรวมทั้งสปายะ ๔ เป็นสปายะสมบูรณ์ นี่เสนาสนะอันนี้

ยิ่งเอาพระพุทธพจน์อันนี้มาอ่านเห็นชัดเจนว่า เสนาสนสูตร กล่าวถึงเสนาสนะ อันประกอบ ไปด้วย เสนาสนะเหล่านี้ จึงประกอบไปด้วยคน ประกอบไปด้วยพฤติกรรม ประกอบไปด้วย บทบาท ประกอบไปด้วยลีลา ประกอบไปด้วยองค์ประกอบทั้งสถานที่ บุคคล และ อาหาร สิ่งอาศัย ธรรมะด้วย สปายะ ๔ นี่ ทั้งที่อธิบายมานี่ มีหมด กระทั่งถึงขั้นนามธรรม เสนาสนะ นี่ต้องประกอบไปด้วยธรรม มีธรรม มีธรรมะด้วย มีบุคคลด้วย เพื่อนฝูงแวดล้อมไปด้วย เพื่อนพรหมจรรย์ด้วย เพราะฉะนั้น อยู่กับเพื่อนพรหมจรรย์ เราจะต้องเป็นคนจริงใจ ไม่โอ้อวด ไม่โอ้อวด ที่จริงน่ะ มันไม่ควรจะแปลว่าไม่โอ้อวดเท่านั้น


ไม่มีจิตลามก สาเถยยจิตหรือสโถ ไม่มีจิตไม่ดี อสโถก็คือไม่มีจิตลามก อสเถยยะ เหมือนกันน่ะ สาเถยยะ หรือสโถนี่ แปลแต่ว่าโอ้อวดก็ใช่ด้วย แต่ว่ามันไม่ได้หมายความว่า จะคุยโม้ โอ้อวด อย่างเดียว ต้องไม่มีจิตลามกในตนเอง ไม่มีจิตไม่ดี ไม่มีจิตที่ไม่สนิทใจ เราต้องมีจิตที่สนิทใจ มีจิตที่จะอยู่กับ ครูบาอาจารย์อยู่กับเพื่อนฝูง เป็นจิตอสเถยยะ หรืออสโถ แล้วก็ไม่พราง อมายาวี อมายาวี ต้องไม่พราง แล้วก็ไม่มีจิตลามก เพราะฉะนั้น จิตเราจะกิเลสชัง ที่อาตมาพยายาม เน้นมาเป็นภาษาไทย จะชิงดี ชิงเด่น นั่นก็ลามก ชิง แต่ชัง โกรธกัน แค้นกัน เคืองกัน ลามก จะชอบ หรือชัง ชอบจนกระทั่ง เป็นแบบ กิเลสรัก เป็นแบบกิเลสสนิทชิดเชื้อติดยึดกันเป็น แบบกิเลส ให้กิเลสตัณหา เป็นกาม เป็นราคะ ไม่เอาละ

ถ้าเราจะชอบกัน ถ้าเราจะรักกัน ก็รักกันอย่างเสมอสมาน อยู่ด้วยกัน คบกันอย่างเสมอสมาน อย่างนี้ เป็นต้น เสมอสมานอย่างไร โสดาเสมอโสดา สกิทาเสมอสกิทา อนาคาเสมออนาคา อรหันต์เสมออรหันต์ เสมอสมานมีจิตที่จะปรารถนาดีต่อกัน เกื้อกูลกัน เอื้อเฟื้อเจือจานกัน ช่วยเหลือกัน นี่รักกันอย่างช่วยเหลือกัน เกื้อกูลกันสนิท สนิทกัน จะสนิทสนมขนาดไหนก็ได้ ไม่ใช่รักผูกพัน ไม่ใช่รักปฏิพัทธกันแบบราคะ แบบดึงดูดเป็นความสุขบำเรอจิต จะต้องหวง ต้องแหน ต้องอยู่ใกล้อยู่ชิดอะไรแบบราคะ แบบโลกๆ ไม่ใช่ ห่างกันก็ได้ ไกลกันก็ได้ มีจิตที่สนิท เป็นผู้สนิทสนมกันอยู่เสมอๆ เกื้อกูลกัน มีความยินดีในกันและกัน

นั่นเรียกว่าเป็นสภาพที่เราจะต้องชอบ ต้องชอบ ให้ถูกให้ควรอย่างนั้น ส่วนชัง หรือชิง หรือชัง อะไรพวกนี้ก็ไม่มีละ ต้องล้าง ต้องละ ถ้าอย่างนั้น เรียกว่าจิตลามก มันยังมีชิงมีชัง มีชอบ ที่เป็นราคะ ชอบที่เป็นความเลยเถิด เป็นกิเลส เป็นตัณหาอะไรพวกนั้น เพราะฉะนั้น จิตอสโถ อมายาวี แล้วก็ทำตนเป็นผู้ที่คบคุ้นกันไปก็สนิทสนมกัน ที่คบคุ้นกันไป อยู่ด้วยกันมา ก็ยิ่งปกยิ่งปิด ทำตนไม่เปิดไม่เผย ยิ่งมีอะไรลึก มีอะไรลับ มีอะไรพรางไปกันใหญ่ เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่าเราทำตนนี่ให้สำคัญ อันนี้สำคัญน่ะ อสโฐ โหติ อมายาวี ยถาภูตัง อัตตานัง อาวิกัตตา แล้วก็ในศาสดา หรือในเพื่อนพรหมจรรย์ที่เป็นวิญญู สตฺถริ วา วิสุ วา สพฺรหฺมจารีสุ แปลเอาความหมายเป็นภาษาไทย เป็นภาษาบาลีมันชักจะ วิญญูสุ วา สพรหมจารีสุ สัตถริหมายถึงพระศาสดา วาก็คือและ หรือหรือนี่เอง วิญญูสุ วา สพรหมจารีสุ ในเพื่อนพรหมจรรย์ ในเพื่อนที่เป็นวิญญูชน นี่เป็นข้อ ๓

ข้อ ๔ นี่ก็สำคัญอย่างสำคัญทีเดียว อารัทธวิริโย เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ข้อ ๓ นี่ละไม่ได้ ทิ้งไม่ได้ เป็นยาดำ อยู่ทุกแห่ง มีความเพียร มีความบากบั่นมั่นคง เป็นผู้ถอยกำลังบากบั่น หยุดขยัน หยุดพากเพียร ประพฤติปฏิบัติอบรมตนไม่ได้ เพราะฉะนั้น ต้องรู้ตัวเสมอๆจริงๆเลยว่า เอ๊ ตอนนี้ เราหย่อนเพียรแล้วนะ ปล่อยตัวตามสบาย เป็น ยถาสุขัง แล้วนะ ยถาสุขังแล้วนี่ อกุศลธรรม จะเจริญ จริงๆ

ฟังความที่อาตมาพยายามหยิบมายืนยันให้ได้ชัดๆ อย่าปล่อยตัวตามสบาย ตราบใดที่เรายัง ไม่เป็น พระอรหันต์พ้นเป็นขีณาสพ จะต้องเตือนตนเสมอเลยว่า เราจะต้องอย่าปล่อยตัวตาม สบาย ยถาสุขัง โข เม วิหรโตถ้าปล่อยตัวตามสบายแล้ว อกุศลธรรมมันจะเจริญยิ่ง เพราะฉะนั้น เราควรจะสังวร เราควรจะสำรวม เราควรจะปฏิบัติอย่างไรที่จะต้องมีความ อุตสาหะ วิริยะ มีความปรารภความเพียร มีความบากบั่น ต้องบากบั่น ต้องอุตสาหะวิริยะ ต้องตั้งตน อยู่บนความลำบาก ต้องทุกขายะ อย่าปล่อย ไม่อย่างนั้นแล้ว มันเผลอง่ายๆว่า เออ เรามีฐานอาศัย มีฐานที่จะพัก มีฐานอาศัย แวะชมสวน

อาตมาพูดอย่างนี้ คงพอเข้าใจน่ะนะ มาอยู่กับหมู่พวกเรา นี่ มันมีที่หลบที่เลี่ยง ที่อาศัย ที่ซุก ที่ปล่อยๆ ไปวันๆ คืนๆหนึ่ง ไม่ปรารภความเพียร ไม่สัมมาอาชีวะ สัมมากัมมันตะ คนเจริญนี่ ยิ่งเจริญในอาชีพ ยิ่งมีการงาน ยิ่งมีการกระทำอะไรที่เป็นงานการ ที่เป็นบทบาทลีลา เป็นโล้ เป็นพาย เป็นสัดเป็นส่วน มันเจริญเหมือนคนโลกด้วยนะ ไม่ใช่ว่าเรามาเจริญทางธรรม แล้วเรา กลายเป็นคนที่ยิ่งจะนั่งอยู่เฉยๆ มีคนมากราบมาไหว้เฉยๆ ไม่ใช่

จะมีหน้าที่การงาน จะรับผิดชอบ เป็นผู้ใหญ่ก็จะเป็นผู้นำที่ดี สังวรระวัง จะนำพากันเอาใจใส่ แม้ว่าจะไม่ไปแบก ไปหามอะไร ก็จะเป็นภาระ จะเอาภาระในเรื่องพิธีกรรม ก็จะเป็นคน พากเพียร ในพิธีกรรมที่ดี เอาใจใส่ นำพา จะเอาภาระในทางกิจกรรม ก็นำพากิจกรรมที่ดี เราไปหลงใหลกิจกรรมมาก ก็มาทางพิธีกรรมบ้าง เราหลงใหลพิธีกรรมมาก ก็ไปหากิจกรรม กิจการบ้าง มันมีถนัดเหมือนกัน บางคนถนัดทางพิธีกรรม บางคนถนัดทางกิจกรรม

เราจะเห็นได้ บางคนถนัดมาลงศาลา มาทำพิธีกรรม ไปงานการที่เกี่ยวกับงานพิธีกรรมอะไร เราชอบ มันไปในทางนี้ มันไปในทางขลังๆ ไปในทางศาสนา มันไปในทางพิธีการ พิธีกรรม ไปในทางพวกนี้ มันก็มีจริตนิสัย บางคนเอาไปในทางการงานกิจกรรมก็มี เราจะเห็น เราจะรู้ บางคน แต่เราก็ อย่าไปผลัก เรายิ่งไม่มีนิสัยจริตในทางพิธีกรรม เราก็ต้องมาบ้าง ต้องสั่งสมบ้าง ต้องพยายาม บอกแล้วว่า ต้องแย้งย้อนจิตตัวเองบ้าง แก้ไขอัตตาของเราบ้าง ไม่อย่างนั้น เราก็บำเรอ บำเรออารมณ์ บำเรอสิ่งที่เราชอบ

เราต้องฝึก เราต้องพิสูจน์ พิสูจน์ให้ปล่อยวางได้ว่า เออ เราจะมาพิธีกรรม เราก็มาได้ เราจะมา กิจกรรมก็พอไปได้ แต่จริงๆแล้ว เราก็ไม่ถนัด เพราะฉะนั้น หนักๆเข้า มันก็จะมี พระที่ทำ การงาน เก่งๆ ก็จะทำการงานเป็นใหญ่ แต่ก็จะไม่เดือดร้อนในเรื่องพิธีกรรม ถ้าเห็นว่า เออ เราควร จะมาร่วมงานพิธีกรรมบ้าง มันคนน้อยมาช่วยกัน หรือว่าละพิธีกรรม ก็เห็นการงานมัน มาก เออ ไม่มีใครไปช่วยการงานบ้างละ เราก็จะรู้ด้วยปฏิภาณ เออ ไปช่วยบ้าง ก็จะไม่ทุกข์ร้อน ไปก็ได้ มาได้

ถ้ามีแล้วเพียบพร้อม เราก็มารับหน้าที่รับผิดชอบ มันเป็นจริต นิสัย มันเป็นวาสนา มันเป็นได้ เหมือน อย่างพระกัสสปะก็จะเป็นอย่างพระกัสสปะ พระสารีบุตรก็จะเป็นอย่างพระสารีบุตร พระสารีบุตร สอนเก่ง ไม่มาในทางพิธีกรรม ส่วนพระโมคคัลลานะ นั่นไปทางกิจกรรม ท่านถึงมี บอกว่า พระโมคคัลลานะ นั่นน่ะเป็นพระก่อสร้าง ที่จริงมันก็ไม่ใช่งานก่อสร้างอย่างเดียวหรอก แต่งานก่อสร้าง มันก็มีเป็นหลักสมัยโบราณ สมัยก่อนนั้น มันมีการงาน มันมีกระทำงานอื่นๆ มันไม่ได้เป็นพระ เป็นพระทำงาน พระเครื่องอะไรเหมือนกับอย่างสมัยนี้ พระสมัยนี้ มีพระเครื่อง พระทำงานเยอะ พระโมคคัลลานะ นั่นเป็น พระกิจกรรมมาก ส่วนพระสารีบุตร นี่เป็นพระทาง ด้านสอน ทางด้านพิธีกรรมมาก พูดอย่างนี้ คงพอเข้าใจได้ชัดขึ้น


ส่วนข้อสุดท้ายนั้นก็คือข้อปัญญา เป็นผู้มีปัญญา ปัญญาก็คือปัญญาที่ประกอบไปด้วย ปัญญา ที่เห็นความเกิดและดับเป็นอริยะ เป็นปัญญา บอกแล้วว่า ปัญญานี่คือ เห็นความเกิดความดับ ทางธรรม เป็นปรมัตถ์ ปัญญาไม่ใช่เฉโก เป็นเครื่องชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี่ข้อที่ ๕ เอาละ ข้อที่ ๕ ปัญญา อาตมาก็ไม่ต้องขยายความ เพราะอธิบายกันมามากมาย ก็เสริม ซ้อนกันมามาก แม้แต่ปรารภความเพียร อาตมาก็ไม่น่าจะมาซ้ำซ้อนอะไรมากหรอก เพราะว่า เราก็ต้องรู้ แต่ก็อยากจะซ้ำ เพราะว่ามันสำคัญมาก เรื่องปรารภความเพียร เพราะเราจะดูดาย ปล่อย เฉื่อยแฉะอะไรต่ออะไรไม่ได้

ต้องเป็นคนขมีขมันเอาภาระ ต้องรู้กาละเวลา บัดนี้เวลานี้ กายกรรม วจีกรรมที่ดีกว่านี้ยังมีอีก เราควรทำอะไร เวลาล่วงไปๆ สังวรจริงๆ ปัจจเวกณ์ เตือนตนเสมอ ระลึกเสมอ แล้วก็พยายาม ปรับตัวเอง ให้มันเจริญได้
ห้าข้อสรุปแล้ว

๑.ศรัทธาในพระพุทธเจ้า
๒.ไม่อาพาธ อาพาธน้อย
๓.เป็นผู้ที่ไม่มีจิตลามก
๔.เป็นผู้ปรารภความเพียร
๕.เป็นผู้มีปัญญา

ห้าข้อก่อน แล้วยังอยู่อีกห้าข้อที่จะซ้อนเสริมเข้าไป แล้วมันก็จะกลายเป็นผู้ที่มีเสนาสนะ อันดีงาม มีเสนาสนะ อันที่เป็นที่พึ่ง เป็นที่พึ่งของตนนี่แหละ นาถกรณสูตร สูตรแห่งการมีที่พึ่ง การกระทำที่พึ่งให้แก่ตนมันจะเกิด
เอ้า เอาละ ไว้วันหลังก็ค่อยต่อ สำหรับวันนี้ เอาแค่นี้ก่อน


ธรรมบรรยายจากครูอาจารย์






Create Date : 02 กุมภาพันธ์ 2554
Last Update : 2 กุมภาพันธ์ 2554 12:39:57 น. 4 comments
Counter : 1450 Pageviews.

 
สาธุ
สาธุ


โดย: nordcapp (nordcapp ) วันที่: 2 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:13:57:18 น.  

 
สวัสดีค่ะ
แวะมาอวยพรตรุษจีนค่า ขอให้มีความสุข มั่งมีเงินทองค่ะ
คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...
เดี๊ยวมาอ่านใหม่อีกรอบค่ะ


โดย: phunsud วันที่: 2 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:20:45:29 น.  

 
ขอบคุณนะคะ ที่แวะมาเยี่ยมหากัน
ช่วงนี้ว่างๆ มาเที่ยวหาแล้วค่ะ เพราะเสร็จสิ้นภาระกิจที่สำคัญไปแล้ว ต่อไปเป็นช่วงเที่ยวบ้างละ อิอิ ขอโทษทีนะคะที่ไม่ได้แวะมาเที่ยวหาเลย ค่ะ


โดย: Handmade Bag วันที่: 3 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:12:40:01 น.  

 
เสนาสนะอันประเสิฐ ขอบพระคุณครับ อนุโมทนาสาธุครับ


โดย: shadee829 วันที่: 3 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:21:55:49 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

atruthoflife10
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




กลับคืนสู่ธรรมชาติ ด้วยสุขภาพที่ดีกว่า

ไตรลักษณ์
เกิดขึ้น 26 พ.ย.2553

ดับไป....???

Friends' blogs
[Add atruthoflife10's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.