บางครั้งโลกแห่งความจริงไม่สวยงาม...เฉกเช่นความฝัน แต่รู้สึกและจับต้องได้
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728 
 
25 กุมภาพันธ์ 2554
 
All Blogs
 
หลักปฏิบัติ(9)…คั้นออกมาจากศีล บทสอง






"ศีล" นั้นมีทั้งที่บอกกันได้ด้วย "ภาษา" เป็นหัวข้อๆ โดยทางปาก และ "ศีล" นั้น มีทั้งบอกกันไม่ได้เป็นหัวข้อๆ ตายตัวเลยทีเดียว และที่สุด "ศีล" นั้นมีทั้งที่บอกกันไม่ได้เลย แม้ด้วยปาก แม้ทั้งที่จะอธิบายด้วยวิธีใดๆ แต่พระอริยเจ้า หากรู้หากแจ้งใน "ศีล" นั้นๆ เอง และย่อมจัดการกับ "ศีล" นั้นด้วยตนเอง "ศีล" นั่นแหละ จะเป็นตัวนำ ให้ผู้ปฏิบัติบรรลุ "ปัญญา"

สิกขา ๓ ของพระบรมศาสดาของเรานั้น เป็นไปเกี่ยวเนื่อง ติดต่อกันเป็นสาย เป็นปัจจยาการ หรือ เป็นอิทัปปัจจยตา อย่างสำคัญยิ่ง มีสภาพหมุนรอบเชิงซ้อน และเป็น "สมังคีธรรม" คือ เป็นธรรมะที่ติดต่อ โยงใยถึงกัน เป็นเหตุ เป็นผล แก่กันและกัน อย่างสลับซับซ้อนลึกซึ้งยิ่ง ทำงานร่วมกัน เกี่ยวข้องกัน ทั้ง ศีล-สมาธิ-ปัญญา

มิใช่แต่ละข้อ แต่ละเรื่อง ทำงานกันตามลำพังโดดๆ เดี่ยวๆ เรื่องใดก็เรื่องนั้น เฉพาะตนเฉพาะตัว โดยไม่เกี่ยว ไม่สัมพันธ์กัน หรือสัมพันธ์กันบ้าง ก็นิดๆ หน่อยๆ ไม่สำคัญอะไรมากนัก ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ศีล-สมาธิ-ปัญญา มีความสัมพันธ์กัน อย่างลึกซึ้งสำคัญยิ่ง ขาดสิ่งใดไม่ได้

เช่น ศีล-สมาธิ-ปัญญา หรือ อธิศีลศึกษา-อธิจิตศึกษา-อธิปัญญาศึกษา เราก็ต้องศึกษา (สิกขา) "ศีล" เป็นเบื้องต้น ศึกษาความหมายของคำว่า "ศีล" ขอบเขตของความหมาย ความตื้นลึกหนาบาง ของความหมาย และคำว่า "อธิศีล" หมายความชัดเจนอย่างไร "อริยกันตศีล" หมายความชัดเจนอย่างไร "ปาริสุทธิศีล ๔" มีความหมายชัดเจนอย่างไร "อเสขศีล" มีความหมายชัดเจนอย่างไร แล้วก็สมาทาน "ศีล" ที่เหมาะสมกับฐานของตน นำไปปฏิบัติจริงๆ ประพฤติ ปฏิบัติ ประจำทุกวัน ทุกวินาที กับชีวิต ให้ได้มากที่สุด

เมื่อปฏิบัติตาม "ศีล" นั่นแลอย่างแท้จริง พอ "ศีล" ได้รับการปฏิบัติจน "ตั้งมั่น" ขึ้น อันเรียก ในภาษาบาลีว่า "สมาธิ" (แปลกันว่า ตั้งมั่น) หรือ เมื่อ "ศีล" ได้รับการปฏิบัติจนบริสุทธิ์ ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย โดยแท้จริง ติดต่อกันเนืองๆ บริบูรณ์เช่นนั้นอยู่ ติดต่อกันไปเสมอ หรืออย่างมาก [ไม่ใช่ว่า ขาดมั่ง บริสุทธิ์มั่ง เป็นช่วงๆ ตอนๆ ขยักขย่อนอยู่ ไม่รู้จักจบสิ้น จนบริบูรณ์จริงๆ ไม่ได้สักที เล่นแต่นั่งปลงอาบัติ ต่อศีลกันอยู่ทุกวันเว้นวัน หรือ ทุกวันพระ ก่อนจะลงโบสถ์ อย่างนั้น ก็ไม่มีทางบริบูรณ์ จนเรียกได้ว่า "สมาธิ" แน่ ]

เมื่อสามารถมีสติ สังวรควบคุม "กาย-วาจา" ได้ไปเรื่อยๆ เสมอๆ อย่างถูกวิธี คือ ขณะสังวร "กาย-วาจา" นั้นด้วยสติ ด้วยธรรมวิจัย ด้วยวิริยะ นั่นแหละ "จิต" ก็ได้รับการอบรมไปด้วยในตัว เลือกเฟ้น สั่งสม "กุศล" หรือสั่งสม "สัมมา" เสมอๆ เป็น "โพชฌงค์" หรือ "โพธิปักขิยธรรม" ด้วยรู้ ด้วยเห็นตามกรรมที่ตนมี ตามการงานที่ตนทำ ซึ่งเป็นผลเพราะ "ความพยายามสังวร" จริง กาย-วาจา-ใจ ก็จะเจริญขึ้นๆ จนที่สุดบริบูรณ์ได้นั่นเอง คือ "จิต" ของผู้ปฏิบัตินั้น จะก้าวเข้าสู่สภาพสูง เป็น "จิตอันยิ่ง" หรือ "จิตอันดียิ่ง" ที่เรียกในภาษาบาลีว่า "อธิจิต" หรือ "สมาธิ"

เมื่อ "ศีล" ชำระ "จิต" ของผู้ปฏิบัติจนเป็น "อธิจิต" หรือ "ศีล" ได้รับการปฏิบัติจริงจัง จนเป็น "สมาธิ" (สัมมาสมาธิ) ได้ดังอธิบายนี้ [อย่าไปเข้าใจผิด อยู่เพียงว่า "สมาธิ" คือ การนั่งหลับตา บริกรรมเท่านั้น อย่างพวกลัทธินอกพุทธศาสนา เขาสามารถมีภูมิปัญญา เข้าใจได้เพียงเท่านั้น และก็ยึดเอา "สมาธิ" ได้เพียงแค่ สมาธิแบบนั้น เท่านั้นเป็นอันขาด] "จิต" เอง นั่นเอง ก็จะรู้จะเห็น "ของจริง" ตามความเป็นจริง

คือ จะรู้ "ของจริง" ในจิตของตนว่า "กิเลส" เป็นเช่นใด จับตัวจับตนของมัน ซึ่งที่จริง "มันไม่มีตัวตน-มันไม่มีรูปร่างกาย" ดอก นั่นแหละ แต่มีอาการ (ลิงค-นิมิต-อุเทส) ที่สามารถสัมผัสรู้ได้ 'กิเลส' จางคลายจากจิต ด้วยความสามารถตามวิธี (อิทธิวิธี) ของเรานั้นเป็นเช่นใด? ต่างกับจิตที่มี 'กิเลส' นั้นๆ อยู่อย่างไร? ผู้ปฏิบัติจะรู้ของแท้ สภาวะจริงๆ ซึ่งจะไม่ใช่คิด ไม่ใช่คะเนคำนวณ นี้คือ "ปัญญา" ที่เรียกว่า "วิปัสสนาญาณ" หรือ "ยถาภูตญาณทัสสนะ"

ใครทำไม่ได้ ก็ไม่มี "ของจริง" ให้รู้ เพราะต้องรู้ ต้องเห็น 'ของจริง' ของตน ในตนเองเท่านั้น เห็นจากคนอื่นไม่ได้ จึงเรียกในภาษาบาลีว่า "ปัจจัตตัง" คือ รู้ได้เฉพาะตน ตนมี ตนเป็น ตนรู้สภาพที่เป็น ที่มีของตนเท่านั้น รู้ของคนอื่นแทน หรือคิดรู้ เข้าใจรู้ รู้ไม่มี 'ของจริง' ที่เป็น ที่มีรองรับ ไม่ใช่ "ปัจจัตตัง"



การรู้นั้น ต้องรู้ทั้งตัวกิเลส ชนิดใด ชนิดนั้น และรู้ทั้งรายละเอียดต่างๆ อีก

เช่นว่า นี่เป็นกิเลสกาม ก็เป็นอย่างนี้ๆ นี่เป็นกิเลสพยาบาท ก็เป็นอย่างนี้ๆ นี่เป็นกิเลสถีนมิทธะ มันมีสภาวะอย่างนี้ๆ นี่เป็นกิเลสอุทธัจจกุกกุจจะ ยังฟุ้งซ่าน หยุดไม่ลง ยังดื้อดิ้นต่ออยู่ ยังพริ้วพราย กระเส็นกระสาย เป็นที่รำคาญอยู่ เป็นอย่างนี้ๆ นี่คือ วิจิกิจฉากิเลส อาการรู้ที่ยังไม่ชัดแท้ รู้ยังไม่จุใจ รู้ยังไม่แจ้งจริง รู้ยังไม่ถึงที่สุด ยังไม่ตรัสรู้สมบูรณ์ ล้วนเป็นกิเลสอาการอย่างนี้ๆ เอง

หรือ นี่คือ กิเลสราคมูลนั้นอย่างนี้ นี่คือ กิเลสโทสมูล นั้นก็อีกอย่างหนึ่ง หรือ อย่างนี้ๆ จัดเป็นกิเลสโมหมูล ดั่งนี้ ต้องรู้กิเลสอาการต่างๆ ที่มีความต่างกัน (ลิงค) จะเป็นกิเลสที่มาจากมูลใด โคตรใด สายใด ก็รู้ มีหยาบมาก มีปานกลาง หรือมีน้อยๆ ละเอียดๆ ก็รู้ มีรายละเอียด ที่เป็นความแตกต่างกันอยู่ทั้งนั้น (ลิงค) ตามของจริงที่เป็นจริงนั้นๆ

ยังมี "ตัว" กิเลสนั้นๆ ในตนมาก เกิดอยู่มาก ก็รู้ หรือน้อยแล้ว ก็รู้ หรือหมดแล้ว แต่หมดชั่วคราว ก็ต้องรู้ ดับสนิท ก็ต้องเรียนรู้ชัดๆ เมื่อมีน้อย ทุกข์น้อย ก็เข้าใจเห็นจริง ก็รู้ซึ้งเอง หรือกิเลสหมดนั้น สงบสุขในจิตอย่างไร ไม่ต้องรับใช้มัน ไม่ต้องเป็นทาสมัน ไม่ต้องดิ้นต้องรน เรียกว่า สุขสงบ สุขปราศจากกิเลสตัณหานั้น อย่างนี้ๆ เอง (วูปสมสุข) ต่างจาก "สุข" ที่เป็น "การได้เสพสมใจ" (โลกียสุข) อย่างไร ก็รู้แจ้งชัดใน ความต่างกัน (ลิงค)

กำลังปฏิบัติ กำลังเพียรฆ่ากิเลส ด้วยวิธีต่างๆ รู้เห็นอยู่ว่า กิเลสลดจางลงบ้างแล้ว กำลังสู้กับกิเลสอยู่ เป็นอย่างนี้ ก็รู้ ก็ปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา เป็นการปฏิบัติอย่างรู้ ทั่วทุกทวาร ทุกกรรม ด้วยทางปฏิบัติ อันเป็นทฤษฎีเอก คือมรรคอันมีองค์ ๘

ดับเหตุแห่งทุกข์ (สมุทัย) ได้ ทุกข์ดับสนิทไปจริง ทั้งๆ ที่ยังมีความเป็นอยู่เหมือนคนอื่น มีอริยาบถ เคลื่อนไหวไปมา ทำงานอยู่ มีชีวิตปกติ เหมือนชาวบ้านชาวเมือง (ไม่ใช่นั่งดับ แต่ตอนนั่งหลับตาอยู่) แต่เรา 'ดับทุกข์' หรือ 'ทุกข์ดับ' สนิท ไม่เกิดอีก แม้จะกระทบวัตถุ กระทบสัมผัสลีลา อาการของเหตุภายนอก ที่เคยทำให้เรา กิเลสเกิด ทำให้ทุกข์เกิดนั้นๆ อยู่ เราก็ "ทุกข์ดับ" อยู่ เพราะ "กิเลส" อันเป็น 'เหตุให้เกิดทุกข์' มันตายอยู่ๆ มัน 'ไม่เกิด' อยู่ๆ มัน 'ดับสนิท' อยู่ๆ (นิโรธ) เห็นๆ รู้ๆ สภาวะ "ดับสนิท" หรือ "ตายไม่เกิด" อยู่ในจิตเรา เป็นปัจจุบันนั้นๆ ทีเดียว (ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา) ดั่งนี้

ก็รู้เองของตนเอง (ปัจจัตตัง) คนอื่นรู้แทน หรือ คนอื่น "สอบญาณ" รู้แทนเราไม่ได้

สามารถรู้ "ทุกข์" เพราะมันยังมีกิเลสนั้นอยู่ คืออย่างไร? กิเลส ตัณหานั้น เป็น "เหตุแห่งทุกข์" อย่างไร? และ "ทุกข์ดับ" เพราะกิเลสตัณหาดับ เหตุแห่งทุกข์ดับนั้น แน่จริงไหม? และ "ทุกข์ดับสนิทอยู่ได้ ทั้งๆ ที่ก็มีการเป็นอยู่เยี่ยงชาวบ้าน อยู่กับชาวบ้านนี่แหละ ไม่ใช่หนีไปไหน" (ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา) เพราะสมบูรณ์ด้วย อริยมรรคองค์ ๘ แล้ว มีสัมมาอริยมรรค มีสัมมาญาณ มีสัมมาวิมุติ ครบ "อุภโตภาควิมุติ" คือ มี "วิมุติ" ทั้ง ๒ ในตนจริง ได้แก่:-

๑)ผู้นั้นได้ปฏิบัติ จนทำให้กิเลสดับ หรือไม่มี อย่างสนิทในจิตจริง ชนิดไม่กลับกำเริบอีก (อกุปปาเจโตวิมุติ)

๒)รู้ชัด รู้แจ้งอย่างถูกต้องแท้ และมี "ของจริง" ด้วยว่า ความดับสิ้นกิเลสเป็นเช่นนั้นๆ เห็น "ความดับ" เห็นสภาพ "นิโรธ" อยู่โต้งๆ เห็น "สูญญตา" เห็น "อนัตตา" คือ เห็นความไม่มีตัวตน ของกิเลสอยู่โทนโท่ มีอารมณ์ว่างจากกิเลส เป็นความสงบสบาย เช่นใดเช่นนั้นจริงๆ (ปัญญาวิมุติ หรือ วิมุติญาณทัสสนะ)

รู้แจ้ง "ของจริง" ความจริงในอริยสัจ ๔ ครบครันทีเดียว ในสภาพที่เป็นคนมีสติ มีอริยาบถปกติ รู้โลกภายนอกที่แวดล้อมอยู่ ทำงานทำการ พูดจา คิดนึกทำอะไรๆ ได้อยู่นี่แหละ มิใช่อยู่ในสภาพต้องหลับตา รับรู้อยู่แต่ในภวังค์ ไม่รู้เรื่องอะไรกับภายนอก

การรู้ "รูป-นาม" หรือ จะมี "ปัญญา" เห็นแจ้ง "รูป-นาม" นั้น พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า รู้ได้ด้วย "อาการ-ลิงค-นิมิต-อุเทส" ที่ได้กล่าว ยกขึ้นแสดงมาตลอด นั้นคือ "อุเทส" และความหมาย ที่ยกมากล่าวถึง มาอธิบายต่างๆ นั้นคือ "อุเทส"

เมื่อไปปฏิบัติพบ "อาการ" ที่ตรงตามความหมาย ทั้งๆ ที่เป็นนามธรรมนี่แหละ ผู้ปฏิบัติจับ "อาการ" นั้นๆ ได้ ตามความหมาย ที่เราเข้าใจมาแล้ว มี "เครื่องหมาย" ให้จับได้ "เครื่องหมาย" นั้นๆ แหละคือ "นิมิต"

เราต้อง "กำหนดหมาย" ทำเครื่องหมาย (นิมิต) นั้นๆ เอาเองด้วยความสามารถ และปัญญาอันยิ่ง อย่างสำคัญ รู้ยากมาก เพราะเป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่าง (อสรีระ) ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มี "ตัวตน" ที่เป็นแท่งก้อนหยาบ (อนัตตา)

"อาการ" ของกิเลส "อาการ" ของ "จิต" ที่รู้กิเลส ตลอดจน "อาการ" ของกิเลสลักษณะต่างๆ หรือกิเลสลดตัวเล็กลง หรือ "อาการ" ของความว่างจากกิเลส และ "อาการ" ต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว ฯลฯ ดั่งนี้เป็นต้น ล้วนมี "ความแตกต่าง" กันและกัน การรู้ "ความแตกต่าง" ได้นั่นแหละคือ "ลิงค" หรือ "เพศ"

เรารู้ "กิเลส" เห็น "กิเลส" รู้เห็นปรมัตถธรรม รู้เห็นนามธรรม รู้เห็นวิญญาณ รู้เห็นจิต-เจตสิก-รูป (ของนามธรรม ซึ่งคือ "สภาวะที่ถูกรู้" จะมิใช่ "รูป" ของวัตถุธรรม) -นิพพาน ได้ด้วย "อาการ" ทั้งสิ้น

ต้องรู้เห็นด้วย "ปัญญาอันยิ่ง" จับ "ของจริง" ที่เป็น "อาการ" แท้ๆ แห่งนามธรรมนั้นๆ ได้ จึงเรียกว่า "ตาทิพย์" ที่ไม่หลงผิด ออกนอกคำสอน ของพระพุทธเจ้า หรือ เรียกว่า "ตาทิพย์" ในวิชชาพุทธศาสนา

จะมิใช่ รู้เห็นด้วย "รูป" (วัตถุ) รู้เห็นด้วย "สรีระ" หรือ รู้เห็น "วิญญาณ" ด้วยการนั่งหลับตาปั้น "รูปร่าง-ตัวตน-มีสีสัน-มีโฉมกาย" ขึ้นในภวังค์ จนสำเร็จด้วยจิต (มโนมยอัตตา) แล้วหลงผิดว่า นั่นเป็นการรู้เห็น "วิญญาณ" เป็นการรู้เห็น "นามธรรม" แล้วเข้าใจเอาการรู้ การได้เห็นอย่างนี้ว่า "ตาทิพย์" นี้แหละคือ "ตาทิพย์" แบบเดรัจฉานวิชา

การรู้เห็น การได้เข้าใจ หรือ การเกิดความฉลาดเฉลียว การเกิด "ปัญญา" จึงมีนัยะที่มีเงื่อนไข มีประเด็นให้ชัดเจน

ไม่เช่นนั้นจะหลงผิดได้ ทั้งที่อาจจะไปจับ เอาความฉลาดเฉลียว ชนิดที่เรียกด้วยภาษาบาลีว่า "เฉก" หรือ "เฉโก" มาเป็น "ปัญญา" ทั้งที่อาจจะไปจับ เอาการรู้เห็นแบบ "เดรัจฉานวิชชา" มาเป็น "ปัญญา" มาเป็น "อภิญญา" มาเป็น "วิชชา" แบบพุทธ ซึ่งเป็นเรื่องลึกซึ้ง แม้แค่การเข้าใจ จากอธิบายนี้ ก็ยังยากอยู่

การเกิด "ปัญญา" ได้อย่างแท้จริง โดยนัยที่ถูกต้องดังนี้เอง ผู้มี "ศีล" จึงมี "ปัญญา" แน่ ผู้ปฏิบัติ "ศีล" ให้ถูกต้องทั้งเป็นจริง ย่อมบรรลุ "ปัญญา" จริงอย่างนี้แล

แต่ผู้ปฏิบัติ "สมาธิ" อันยังไม่มี "ศีล" หรือ ยังไม่พ้นกิเลสตัณหา เป็นปกติโดยจริง (เฉพาะในข้อ "ศีล" ที่เราสมาทานก็ดี) กิเลสตัณหานั้น มันจะไม่ยอมให้เกิด "ปัญญา" ที่เป็นไปเพื่อจะมาฆ่าตัวมันเอง (คือ กิเลส-ตัณหานั้นๆ เอง) ง่ายๆ แน่ๆ จึงจะบรรลุ "ปัญญา" (โลกุตตรปัญญา) มิได้เป็นอันขาด จะได้ก็แต่ "ปัญญา" ที่เบี้ยวๆ เบี่ยงๆ อันยังมีกิเลสตัณหาแฝงๆ หรือ ลากจูงไปอยู่อย่างแน่แท้ อาจจะส่งเสริม "เดรัจฉานวิชชา" อยู่ (คือ ยังไม่เป็น "โลกุตตรปัญญา" แท้) อาจจะได้ความสงบ แต่มันก็ยังไม่เป็น "ปัญญา" ตามที่มีเป้าหมายสำคัญ ของพุทธศาสนา

บางอาจารย์สอนว่า ให้นั่งๆ หลับตา ทำความสงบเข้าไปเถอะ ทำๆๆๆ แล้ว "ปัญญา" มันจะเกิดขึ้นมาเอง ตัว "ปัญญา" มันจะโผล่พลัวะขึ้นมาเอง ว่าอย่างนั้นก็มี
ไม่ใช่พิจารณาเห็น "ของจริง" ตามความเกิด ความเป็น ความมีจริง โดยเฉพาะ ความเป็น ความมี แห่ง "อริยสัจ ๔" ดั่งที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นไม่เลย
หรือไม่เช่นนั้น ก็สอนว่า เมื่อนั่งสะกดจิต ให้สงบได้แล้ว ใช้จิตนึกคิด ไตร่ตรองไป ก็จะเกิดปัญญาใสสว่าง
ก็อาจเป็นได้บ้างจริงอยู่ แต่ยังไม่ใช่ "ปัญญา" ที่รู้แจ้ง อริยสัจ ๔ ครบพร้อมเป็นสมังคี โดยเฉพาะ ในข้อ "ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา" คือ ความพ้นทุกข์ เพราะเหตุแห่งทุกข์ดับสนิท ไม่มี "การเกิด" (ของกิเลส) อีกอยู่ ทั้งๆ ที่มีความเป็นอยู่ มีพฤติกรรม มีอิริยาบถปกติธรรมดาๆ อยู่เยี่ยงผู้คน ชาวบ้านเขานั่นแหละ

หรือยิ่งเป็นว่า พอจิตสงบก็ไปสร้างนรก สร้างสวรรค์หลอกตัวเอง มีสภาพแปลกๆ อยู่ในภวังค์ แล้วก็หลงว่า ตนได้ฤทธิ์พิเศษ ได้อภิญญารู้เห็นอะไรพิเศษ ซึ่งที่แท้ เป็นอุปาทานของตน ที่มันฝังอยู่ในจิต แล้วมันก็หล่อหลอม จนปั้นขึ้นเป็นตัวเป็นตน สำเร็จได้ทางจิต (มโนมยอัตตา) นั่นก็ยิ่งไม่ใช่ "โลกุตตรปัญญา" ใหญ่เลย เพราะเป็นเพียงอัตภาพ (อัตตา) ชนิดหนึ่ง ที่เกิดผลสำเร็จ จากความอุตสาหะเพียรทำ เพียรสร้าง ให้เกิดผลได้ สมที่ตนได้ยึดถือมา อย่างผิดๆ อย่างหลงผิด "ความรู้" ความเข้าใจอย่างนี้ ใครๆ ก็ล้วนเคย "หลงผิด" เคยนึกว่า คงจะเป็นอย่างนี้ๆ มากันแล้วทั้งนั้น ตั้งแต่โบราณกาลด้วยซ้ำ

จึงเรียกได้ว่า การทำ "สมาธิ" หลับตา เอาแต่ความสงบเฉยๆ เท่านั้น ก็ยังไม่พ้น "โมหะ" คือ หลงผิด หรือหลงยึดถือที่ผิดๆ นั้นว่าเป็นถูก และยังไม่พ้น "อวิชชา" คือ สภาพที่ไม่ใช่ "วิชชา" ที่พาพ้นทุกข์อันสิ้นรอบ หรือไม่ใช่ "พุทธวิชชา" โดยถ้วน ถูกแท้

ซึ่งปัจจุบันนี้ มีอยู่ทั่วไปดาษดื่นมาก "สมาธิ" แบบที่ว่านี้ เมื่อ "พุทธวิชชา" ไม่ถูกถ้วนแท้ "เดรัจฉานวิชชา" จึงมีมากด้วย และไปติดอยู่แค่ "สงบ" เพราะมันได้อยู่นิ่งๆ ไม่ต้องคิด ต้องนึก ไม่ต้องมีงาน มีการอะไร ไม่ต้องสัมพันธ์ กับใครต่อใครมากนัก ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร "สงบ" แบบมีชีวิตอยู่ล่องๆ ลอยๆ เปล่าดาย (โมฆบุรุษ) ก็เยอะที่สุด



ธรรมบรรยายจากครูอาจารย์




Create Date : 25 กุมภาพันธ์ 2554
Last Update : 9 มีนาคม 2554 19:17:23 น. 7 comments
Counter : 700 Pageviews.

 
อนุโมทนาสาธุครับ ท่านได้สาธยายธรรมได้แจ่มแจ้งจริงๆครับ


โดย: shadee829 วันที่: 25 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:23:28:23 น.  

 
คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...



อรุณสวัสดิ์เช้าวันเสาร์ค่ะ แวะเข้ามาทักทาย ทำใจให้เบิกบาน ยิ้มรับอรุณรุ่งของวันใหม่น๊า


โดย: KeRiDa วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:9:21:02 น.  

 
คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...


โดย: phunsud วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:9:58:00 น.  

 
Orkut Scraps - Good Morning




อรุณสวัสดิ์เช้าวันอาทิตย์ จิตแจ่มใส หัวใจเบิกบาน ได้พักผ่อนอยู่กับบ้าน สบ๊าย สบาย แวะเข้ามาทักทายค่ะ


โดย: KeRiDa วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:4:29:40 น.  

 
ขอบคุณสำหรับคำอวยพรนะค่ะ


โดย: kenglady วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:20:34:02 น.  

 


โดย: Megeroo วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:20:39:24 น.  

 
Orkut Scraps - Good Morning





อรุณสวัสดิ์เช้าวันจันทร์ค่ะ



โดย: KeRiDa วันที่: 28 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:4:30:43 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

atruthoflife10
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




กลับคืนสู่ธรรมชาติ ด้วยสุขภาพที่ดีกว่า

ไตรลักษณ์
เกิดขึ้น 26 พ.ย.2553

ดับไป....???

Friends' blogs
[Add atruthoflife10's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.