"""ฺBlogนี้ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ผู้ใดจะเอาความรู้ในนี้ไปใช้ก็ได้ เจ้าของลิขสิทธิ์ในBlogนี้ คือ คุณพ่อคุณแม่ ผู้เลี้ยงดูสั่งสอนเรามา ครูบาอาจารย์ทุกท่านที่สอนสารพัดวิชา คุณคนนั้นผู้อยู่ในใจเสมอ และเพื่อนๆผู้คอยเสริมเติมแต่งสารพัน"""
 
มีนาคม 2549
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
26 มีนาคม 2549

ธรรมะ-พระปริตร

***งดออกความเห็นที่Blogนี้แล้วครับ****
-------------------------------------------------------------------------------------------------





พระปริตร
ช่วงสงกรานต์เวียนมาถึง คนไทยแท้แต่โบราณ นิยมทำบุญแก่ชุมชน หรือบ้านเรือนที่ตนอาศัยอยู่ เพื่อความเป็นศิริมงคล คุ้มครองป้องกันภัย ให้แก่ตนและชุมชนของตน หลังจากนั้นก็จะมีการรดน้ำดำหัวขอพรจากผู้ใหญ่ และสังสรรค์กันในหมู่คณะเพื่อสร้างความรักความผูกพันระหว่างกันและกัน

โดยทั่วๆไป จะนิยมนิมนต์พระสงฆ์ มาเจริญพระพุทธมนต์ ในบทพระปริตร ดังรายละเอียดดังนี้

การสวดมนต์ สวดพระปริตร ถ้าได้ทำเป็นประจำจะเกิดอานุภาพปรากฎให้เห็นกับผู้ที่ปฏิบัติมากมาย ที่ได้เล่าสู่กันฟัง

การสวดมนต์เป็นการอบรมจิตด้วยการระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยคือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ พร้อมทั้งแผ่เมตตาแก่สรรพสัตว์ เป็นกิจของชาวพุทธที่ทำกันอยู่เป็นประจำ เพื่อเพิ่มพูนภาวนาบารมี และขัดเกลากิเลสให้ลดน้อยลงเท่าที่จะกระทำได้

อัญมณีย่อมมีคุณค่าเหมาะแก่ผู้มีฐานะ พระรัตนตรัยก็เช่นเดียวกัน ย่อมเหมาะแก่ผู้ที่มีใจอันประเสริฐ บุคคลผู้สวดมนต์เป็นนิตย์จะมีใจเบิกบาน ใบหน้าผ่องใส อดกลั้นต่อสิ่งยั่วยุจิตใจได้ดี และมีสง่าราศรี เป็นที่เคารพนับถือของปวงชน

วิธีสวดพระปริตรนั้น ต้องสวดคำบาลีมิให้เพี้ยน สวดคำแปลควบคู่กับคำบาลีไปด้วย เพื่อน้อมใจไปในความหมายแห่งพระพุทธพจน์

การสวดมนต์เป็นประเพณีที่สืบเนื่องกันมาช้านานของชาวพุทธในหลายประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรำลึกถึงคุณพระรัตนตรัย และเจริญเมตตา จัดได้ว่าเป็นพื้นฐานของการเจริญวิปัสสนาอันเป็นแก่นสารของพระพุทธศาสนา ดังคำกล่าวว่า “สวดมนต์เป็นยาทา ภาวนาเป็นยากิน” คนสมัยก่อนนิยมสวดมนต์ด้วยบทสวดที่เรียกว่า เจ็ดตำนาน และสิบสองตำนาน แต่ในปัจจุบัน นิยมสวดมนต์ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๔

บทสวดมนต์เจ็ดตำนานและสิบสองตำนานมีชื่อเดิมว่า “พระปริตร” แปลว่า “เครื่องคุ้มครอง” เป็นที่นิยมสาธยายในหมู่ชาวพุทธตั้งแต่สมัยพุทธกาลจวบจนถึงปัจจุบัน เพื่อความมีสิริมงคล และเพิ่มพูนภาวนาบารมี

พระปริตรมีปรากฏในพระไตรปิฏกคือ

๑. เมตตปริตร มีในขุททกปาฐะ และสุตตนิบาต
๒. ขันธปริตร มีในอังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต วินัยปิฏก จุฬวรรค และชาดก ทุกนิบาต
๓. โมรปริตร มีในชาดก ทุกนิบาต
๔. อาฏานาฏิยปริตร มีในทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
๕. โพชฌังคปริตร มีในสังยุตตนิกาย มหาวรรค
๖. รัตนปริตร มีในขุททกปาฐะ และสุตตนิบาต
๗. วัฏฏกปริตร มีในชาดก เอกนิบาต และจริยาปิฏก
๘. มังคลปริตร มีในขุททกปาฐะ และสุตตนิบาต
๙. ธชัคคปริตร มีในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค
๑๐. อังคุลิมาลปริตร มีในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์


คุ้มครองผู้สวด

ในคัมภีร์อรรถกถามีเรื่องอานุภาพพระปริตรสามารถคุ้มครองผู้สวดได้ เช่น เรื่องพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนกยูงทอง พระองค์ได้หมั่นสาธยายโมรปริตรที่กล่าวถึงคุณของพระพุทธเจ้า ทำให้แคล้วคลาดจากบ่วงที่นายพรานดักไว้ และเรื่องในสมัยพุทธกาล มีภิกษุห้าร้อยรูปไปเจริญภาวนาในป่าได้ถูกเทวดารบกวน จนกระทั่งปฏิบัติธรรมไม่ได้ ต้องเดินทางกลับ เมืองสาวัตถี ในขณะนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเมตตปริตรที่กล่าวถึงการเจริญเมตตา ครั้นภิกษุเหล่านั้นจึงปฏิบัติธรรมได้โดยสะดวก

โบราณจารย์ได้รวบรวมอานิสงส์ของพระปริตรไว้ถึง ๑๒ ประการคือ
๑. เมตตปริตร ทำให้หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข ไม่ฝันร้าย เป็นที่รักของมนุษย์และอมนุษย์ทั้งหลาย เทพพิทักษ์รักษา ไม่มีภยันตราย จิตเป็นสมาธิง่าย ใบหน้าผ่องใส มีสิริมงคล ไม่หลงสติในเวลาเสียชีวิต และเป็นพรหมเมื่อบรรลุเมตตาฌาน
๒. ขันธปริตร ป้องกันภัยจากอสรพิษ และสัตว์ร้ายอื่นๆ
๓. โมรปริตร ป้องกันภัยจากผู้คิดร้าย
๔. อาฏานาฏิยปริตร ป้องกันภัยจากอมนุษย์ ทำให้มีสุขภาพดี และมีความสุข
๕. โพชฌังคปริตร ทำให้มีสุขภาพดี มีอายุยืน และพ้นจากอุปสรรคทั้งปวง
๖. ชัยปริตร ทำให้ประสบชัยชนะ และมีความสุขสวัสดี
๗. รัตนปริตร ทำให้ได้รับความสวัสดี และพ้นจากอุปสรรคอันตราย
๘. วัฏฏกปริตร ทำให้พ้นจากอัคคีภัย
๙. มังคลปริตร ทำให้เกิดสิริมงคล และปราศจากอันตราย
๑๐. ธชัคคปริตร ทำให้พ้นจากอุปสรรคอันตราย การตกจากที่สูง
๑๑. อังคุลิมาลปริตร ทำให้คลอดบุตรง่าย และป้องกันอุปสรรคอันตราย
๑๒. อภยปริตร ทำให้พ้นจากภัยพิบัติ และไม่ฝันร้าย


คุ้มครองผู้ฟัง
อานุภาพของพระปริตรยังสามารถคุ้มครองผู้ฟังได้อีกด้วย คัมภีร์อรรถกถากล่าวไว้ว่า ในสมัยพุทธกาล เมื่อเมืองเวสาลีประสบภัย ๓ อย่างคือ ความอดอยากแร้นแค้น การเบียดเบียนจากอมนุษย์ และการแพร่ของโรคระบาด พระพุทธเจ้าได้รับสั่งให้พระอานนท์สวดรัตนปริตรที่กล่าวถึงคุณของพระรัตนตรัย ภัยดังกล่าวในเมืองนั้นจึงสงบลง
ในคัมภีร์ยังกล่าวไว้ว่า เด็กคนหนึ่งจะถูกยักษ์จับกินภายใน ๗ วัน พระพุทธเจ้าจึงทรงแนะนำให้ภิกษุสวดพระปริตรตลอดเจ็ดคืน และพระองค์ได้เสร็จไปสวดด้วยพระองค์เอง พอคืนที่แปด เด็กนั้นก็สามารถรอดพ้นจากภัยพิบัติของอมนุษย์นั้นได้ มีอายุถึง ๑๒๐ ปีมารดาจึงตั้งชื่อว่า อายุวัฑฒนกุมาร แปลว่า เด็กผู้มีอายุยืน เพราะรอดพ้นจากอันตรายดังกล่าว

การสวดพระปริตรต้องปฏิบัติอย่างไร?
พระปริตรจะมีอานุภาพมาก เมื่อผู้สวดพระปริตรเพียบพร้อมด้วยหลัก ๓ ประการคือ
๑. ต้องตั้งจิตใจให้มีเมตตา โดยมุ่งประโยชน์แก่ผู้ฟัง
๒. ต้องสวดไม่ผิด ออกเสียงพยัญชนะ สระ ตัวสะกดไม่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม และรู้ความหมายของบทสวด
๓. ไม่เคยทำอนันตริยกรรม คือ ฆ่ามารดา บิดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงห้อพระโลหิต และทำสังฆเภท
นอกจากนี้แล้ว ยังต้องไม่มิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดว่ากรรมและผลของกรรมไม่มี มีความเชื่อมั่น
ในอานุภาพพระปริตรจริง สามารถคุ้มครองผู้ฟังได้

บทสวดพระปริตรมีอะไรบ้าง?
โบราณจารย์ได้จำแนกพระปริตรออกเป็น ๒ ประเภทคือ
- เจ็ดตำนาน มี ๗ พระปริตรคือ
- ๑. มังคลปริตร
- ๒. รัตนปริตร
- ๓. เมตตปริตร
- ๔. ขันธปริตร
- ๕. โมรปริตร
- ๖. ธชัคคปริตร
- ๗. อาฏานาฏิยปริตร

- สิบสองตำนาน มี ๑๒ พระปริตร โดยเพิ่มจากเจ็ดตำนานอีก ๕ พระปริตรคือ
๑. วัฏฏกปริตร
๒. อังคุลิมาลปริตร
๓. โพชฌังคปริตร
๔. อภยปริตร
๕. ชัยปริตร
พระปริตรยังปรากฏอยู่ในคัมภีร์มิลินทปัญหา วิสุทธิมรรค และอรรถกถาต่าง ๆ โดยเพิ่ม อิสิคิลิปริตร เป็นอีกหนึ่งปริตรด้วย
พระปริตรที่ปรากฏในบทสวดมนต์ไทย ฉบับปัจจุบันมี ๑๒ ปริตร อิสิคิลิปริตรไม่ได้จัดไว้ในบทสวดมนต์ เพราะเป็นพระปริตรที่กล่าวถึงชื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าเท่านั้น ไม่เหมือนพระปริตรอื่นที่แสดงคุณของพระรัตนตรัย หรือเมตตาภาวนา

พระปริตรที่ควรสวดเสมอ ๆ

ผู้มีเวลาน้อย ควรสวดพระปริตรที่สั้นและสำคัญ จึงควรสวดพระปริตร ๔ บทแรก คือ เมตตปริตรขันธปริตร โมรปริตร และอาฏานาฏิยปริตร

เมตตปริตร และขันธปริตร เน้นการเจริญเมตตาภาวนา

โมรปริตร และอาฏานาฏิยปริตร เน้นการเจริญพระพุทธคุณ

ผู้มีสุขภาพไม่สมบูรณ์ ควรสวดโพชฌังคปริตร


บทสวดมนต์ทั้งหลาย มีอยู่ในหนังสือ “มนต์พิธี” ซื้อได้ตามร้านหนังสือทั่วไป และตามร้านสังฆภัณฑ์




ขอบคุณ //www.mai95.net

ฟังเสียงสวดมนต์ on line : //www.suadmon.com/





 

Create Date : 26 มีนาคม 2549
23 comments
Last Update : 4 สิงหาคม 2552 10:54:57 น.
Counter : 62545 Pageviews.

 

คำบูชาพระรัตนตรัย
อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา
พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ (กราบ)

สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม
ธัมมัง นะมัสสามิ (กราบ)

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
สังฆัง นะมามิ (กราบ)

พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นพระอรหันต์ ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง ตรัสรู้โดยชอบได้โดยพระองค์เอง
ข้าพเจ้าอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

พระธรรม เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสไว้ดีแล้ว
ข้าพเจ้าขอนมัสการพระธรรม

พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปฏิบัติดีแล้ว
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระสงฆ์

 

โดย: ต้นโพธิ์ต้นไทร 26 มีนาคม 2549 11:23:57 น.  

 

คำอาราธนาศีล ๕

มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ

ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ

ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอศีล ๕ ข้อพร้อมทั้งพระรัตนตรัยเพื่อประโยชน์แก่การจะรักษาต่างๆกัน

 

โดย: ต้นโพธิ์ต้นไทร 26 มีนาคม 2549 11:25:54 น.  

 

คำอาราธนาพระปริตร

วิปัตติปะฏิพาหายะ สัพพะสัมปัตติสิทธิยา สัพพะทุกขะวินาสายะ ปริตตัง พรูถะ มังคะลัง

วิปัตติปะฏิพาหายะ สัพพะสัมปัตติสิทธิยา สัพพะภะยะวินาสายะ ปริตตัง พรูถะ มังคะลัง

วิปัตติปะฏิพาหายะ สัพพะสัมปัตติสิทธิยา สัพพะโรคะวินาสายะ ปริตตัง พรูถะ มังคะลัง

ขอพระสงฆ์ทั้งหลาย จงสวดพระปริตรอันเป็นมงคลเพื่อป้องกันความวิบัติ เพื่อความสำเร็จในสมบัติทั้งปวง และเพื่อให้ทุกข์ทั้งปวงพินาศไป เพื่อให้ภัยทั้งปวงพินาศไป เพื่อให้โรคทั้งปวงพินาศไป

 

โดย: ต้นโพธิ์ต้นไทร 26 มีนาคม 2549 11:28:08 น.  

 

คำถวายสังฆทาน

อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ

สาธุโน ภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ ภัตตานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายซึ่งภัตตาหารกับของที่เป็นบริวาร ทั้งหลายเหล่านี้แด่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับซึ่งภัตตาหารกับของที่เป็นบริวารทั้งหลาย เหล่านี้เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายตลอดกาลนานเทอญ

 

โดย: ต้นโพธิ์ต้นไทร 26 มีนาคม 2549 11:32:47 น.  

 



ทำบุญงานมงคล (แบบย่อๆ)

พิธีฝ่ายเจ้าภาพ
ก. อาราธนาพระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ ปัจจุบันนิยม 9รูป
ข. เตรียมที่ตั้งพระพุทธรูปพร้อมทั้งเครื่องบูชา
ค. ตกแต่งสถานที่บริเวณพิธี
ฆ. วงด้ายสายสิญจน์
ง. เชิญพระพุทธรูปมาตั้งบนที่บูชา
จ. ปูลาดอาสนะสำหรับพระสงฆ์
ฉ. เตรียมเครื่องรับรองพระสงฆ์ตามควรแก่ฐานะ
ช. ตั้งภาชนะสำหรับทำน้ำมนต์

เมื่อพระสงฆ์มาถึงแล้ว
ก. ประเคนเครื่องรับรองที่จัดไว้
ข. ได้เวลาแล้ว จุดเทียนธูปที่โต๊ะบูชา บูชาพระแล้วกราบนมัสการ ๓ ครั้ง
ค. อาราธนาศีล และรับศีล
ฆ. ต่อจากรับศีล อาราธนาพระปริตร เสร็จแล้วไหว้หรือกราบแล้วแต่กรณี
ง. นั่งฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เมื่อจบแล้ว ถวายน้ำร้อนหรือ เครื่องดื่ม อันควรแก่สมณะ

การตั้งโต๊ะบูชามีหลักว่า ต้องตั้งหันหน้าโต๊ะออกทางเดียวกับพระสงฆ์ ปัจจุบันนิยมตั้งพระพุทธรูปไว้ทางขวาของพระสงฆ์

สำหรับการตั้งเครื่องบูชานั้นควรมีแจกันประดับดอกไม้ ๑ คู่ ตั้ง ๒ ข้างพระพุทธรูป ตั้งกระถางธูปตรงหน้า พระพุทธรูปกับเชิงเทียน ๑ คู่ ตั้งตรงกับแจกัน

การวงสายสิญจน์ เริ่มวงสายสิญจน์ที่ฐานพระพุทธรูป รอบบ้านจากซ้ายไปขวา หรือเลข ๑ ไทย กลับมาจบที่ฐานพระพุทธรูปมายังภาชนะน้ำมนต์ อย่าให้สายสิญจน์ขาด อย่าโยงต่ำเกิน อย่าเดินข้าม

เรื่องตั้งภาชนะสำหรับทำน้ำมนต์ ควรเตรียมภาชนะเป็นประการแรก ถ้าไม่มีครอบ น้ำมนต์ ซึ่งเป็นของสำหรับใส่น้ำมนต์โดยเฉพาะ จะใช้บาตรของพระหรือขันน้ำ พานรองแทนก็ได้

เรื่อง จุด เทียน ธูป ที่โต๊ะบูชา เจ้าภาพควรจุดเอง ไม่ควรให้คนอื่นจุดแทน เพราะเป็น การนมัสการพระอันเป็นกิจเบื้องต้นของบุญ การจุดควรจุดเทียนก่อน จุดด้วยไม้ขีดหรือเทียน ชนวน อย่าต่อจากตะเกียง หรือไฟอื่น เทียนติดดีแล้ว ใช้ธูป ๓ ดอกจุดต่อที่เทียนจนติดดี จึงปักลงให้ตรง ๆ ในกระถางธูป แล้วตั้งใจบูชาพระ

ต่อจากนี้จึงดำเนินพิธีไปตามลำดับ คืออาราธนาศีล รับศีลแล้ว อาราธนาพระปริตร พออาราธนาพระปริตรจบแล้ว พระสงฆ์เริ่มสวดมนต์ ทุกคนที่อยู่ในบริเวณพิธี พึงนั่ง ประนมมือฟังพระสวดด้วยความเคารพ พอพระเริ่มสวดมงคลสูตรขึ้นต้นบท อเสวนา จ พาลานํ เป็นต้น เจ้าภาพพึงเข้าไปจุดเทียนน้ำมนต์ที่บาตร หรือครอบน้ำมนต์หน้าพระแล้วประเคนบาตร หรือครอบน้ำมนต์นั้นต่อหัวหน้าสงฆ์ เพื่อท่านจะได้ทำน้ำมนต์ต่อไป

ถ้าเป็นงานวันเดียว คือ สวดมนต์ก่อนฉัน การตระเตรียมต่าง ๆ ก็คงจัดครั้งเดียว พระภิกษุสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ก่อน แล้วสวดถวายพรพระต่อท้าย เจ้าภาพพึงนั่งประนมมือฟัง เมื่อพระสงฆ์สวดถึงบทถวายพรพระ จึงเตรียมภัตตาหารไว้ให้พร้อม พอพระสวดจบก็ยกประเคน ได้

สุดท้ายพิธี เมื่อพระภิกษุสงฆ์ฉันอิ่มแล้ว ถวายเครื่องไทยธรรม ต่อนั้น พระสงฆ์ อนุโมทนา ขณะพระว่าบท ยถา... ให้เริ่มกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้เสร็จก่อนจบบท ยถา...
พอพระว่าบท สพฺพีติโย... พร้อมกัน ถึงประนมมือรับพรตลอดไปจนจบ แล้วส่งพระกลับ

 

โดย: ต้นโพธิ์ต้นไทร 26 มีนาคม 2549 12:17:13 น.  

 

สวดมนต์ดลสุขสันต์
ดวงจิตมั่นมิหวั่นไหว
บุญทานงานน้ำใจ
ประจักษ์แจ้งแสงธรรมา....

ขอบคุณ เรื่องราวมงคลค่ะ
มีความสุขมากๆค่ะ

 

โดย: ดอกสารภี IP: 203.113.16.250 26 มีนาคม 2549 17:50:01 น.  

 

บทสวดมนต์ภาษาไทย

//www.watprom.iirt.net/chant_10.html

//www.watprom.iirt.net/chant_11.html

//www.watprom.iirt.net/chant_12.html

ชินบัญชร//www.watprom.iirt.net/chant_14.html

 

โดย: ต้นโพธิ์ต้นไทร 27 มีนาคม 2549 9:28:15 น.  

 

ข้อมูลเยอะจริงๆ
ตอนเด็กๆ ผมจำบทสวดมนต์ได้มากกว่าตอนนี้หลายเท่า
เป็นเพราะเราเลวลงหรือเปล่าหว่า

ตอนนั้นนอนกับยาย ยายสวดให้ฟังทุกคืน มันเข้าสมองโดยอัตโนมัติ
ตอนนี้นอนกับเมีย เมียก็สวดให้ฟังเหมือนกัน แต่เราต้องอุดหู (ความจริงป้องเอาไว้ กันก้านคอ)

 

โดย: เจ....เล่ IP: 203.151.141.194 27 มีนาคม 2549 10:10:44 น.  

 

สาธุ

 

โดย: วัช IP: 202.142.200.252 27 มีนาคม 2549 10:12:28 น.  

 

สาธุ........



(อยากรู้ว่าคนที่นอนข้างๆคุณเจเล่ สวดว่าอะไร คิคิ)

 

โดย: คนจีนตัวน้อย IP: 58.10.13.107 27 มีนาคม 2549 11:51:33 น.  

 

เค้าสวดเป็นภาษาฮินดู ผมฟังไม่ออก
ประมาณๆ ว่า "ม่ายล่ายหลั่งจายเลย" ทำนองนี้แหละ
(อย่าคิดไกล อย่าคิดไกล)

 

โดย: เจ....เล่ IP: 203.151.141.194 27 มีนาคม 2549 13:59:07 น.  

 

สวดมนต์ทุกวันก่อนนอนได้เวลาเดียว
วันพระก็สวดยาวหน่อย

ส่วนมนต์กับประเพณีพิธีไทยนี่ไม่เคยรู้เลย ขอบคุณที่นำมาเห้อ่าน อนุโมทนา

 

โดย: woodchippath IP: 12.202.106.197 28 มีนาคม 2549 0:36:44 น.  

 

ขอบคุณพี่ต้นโพธิ์ค่ะ

กะลังว่าจะหลังไมค์ไปถาม คำอาราธนาศีลอยู่เลยค่ะ
เพราะศุกร์นี้นกจะทำบุญบ้านค่ะ

แต่ไม่ค่อยมีใครเป็นเรื่องพิธีการค่ะ

สงสัยอีกอย่างว่า คนที่อาราธนาศีลต้องเป็นผู้ชายหรือเปล่าค่ะ

หรือว่าเป็นผู้หญิงก็ได้ พอดี่ว่าที่บ้านมีแต่ผู้หญิงน่ะค่ะ

พี่ต้นโพธิ์ช่วยตอบด้วยนะคะ

ขอบคุณค่ะ

 

โดย: กระจิ๊บ IP: 203.146.116.101 28 มีนาคม 2549 7:50:18 น.  

 

ทุกอย่างในพิธี

ผู้หญิงก็ได้

ผู้ชายก็ได้

ครับ

 

โดย: ต้นโพธิ์ต้นไทร IP: 203.114.107.127 28 มีนาคม 2549 14:30:35 น.  

 

เข้ามาอีกรอบค่ะ

เข้ามาขอบคุณเจ้าค่ะ

 

โดย: กระจิ๊บ IP: 203.146.116.101 29 มีนาคม 2549 7:40:38 น.  

 

มาเยี่ยมแล้วนะคะ

สาธุ ต้องไปหัดคำถวายสังฆทานแล้วเรา ขอบคุณค่ะที่แบ่งปัน

 

โดย: Farm Girl in High Sierra 29 มีนาคม 2549 21:41:51 น.  

 

ลองตามมาดูค่ะ
ที่ไม่ได้สมัครสมาชิก ก็คิดแบบเดียวกับทักษิณ คือ ไม่ยึดติด แต่ไม่ไป...ฮ่า..ฮ่า...
พอห้องกวีราชดำเนินต้องใช้บัตรสมาชิกเข้า ก็เลยหันมาทางต้นไม้ค่ะ เพลิดเพลินไม่แพ้กัน
สวัสดีอีกที เห็นคำสวดมนต์ ถอยกรูดยังกับผีเลยค่ะ...
ไม่สันทัด ถึงจะเคยได้นักธรรมตรีมาก่อนก็เถอะ...

 

โดย: sue IP: 203.151.140.117 1 เมษายน 2549 14:24:47 น.  

 

ไม่ได้เป็นการยึดติดนี่น่า

แต่มันเป็นการง่ายในการเข้ามา

อย่างน้อย ก็ไม่ต้องพิมพ์ชื่อตัวเอง

ไปห้องกวีที่ชอบก็ได้
หลังไมค์กับคนที่ชอบบทกลอนก็ได้
มีปัญหาเรื่องต่างๆก็ลงรูป แล้วถาม ก็จะได้คำตอบง่ายขึ้น

จะเชียร์ทักกี้ในราชดำเนินก็ได้(แต่อย่าเชียร์เลย)

ปล.blogเรามีตั้งหลายรูปแบบ ไปเที่ยวให้ทั่วจิ ไม่ได้มีแต่บทสวดมนต์นะ

 

โดย: ต้นโพธิ์ต้นไทร IP: 203.188.41.44 1 เมษายน 2549 15:52:23 น.  

 

ไว้ใกล้ๆทำบุญบ้านจะปรึกษาพี่ต้นฯค่ะ

 

โดย: ไอ้แล่ด IP: 124.120.198.236 10 พฤษภาคม 2549 19:31:35 น.  

 

ได้เลย

 

โดย: ต้นโพธิ์ต้นไทร 13 พฤษภาคม 2549 19:53:23 น.  

 

กำลังจะทำบุญบ้าน
เข้ามาหาข้อมูลเกี่ยวกับการพิธีทางสงฆ์
ก็ได้ครบถ้วนเลยค่ะ
มีความชัดเจนทุกขั้นตอน
ขอบพระคุณยิ่งค่ะ

 

โดย: อำไพ IP: 202.44.210.31 5 มิถุนายน 2549 14:49:09 น.  

 

ขอบคุณได้ประโยชน์มากเลยคะ

 

โดย: fin_jung IP: 61.90.221.122 25 กันยายน 2549 10:43:14 น.  

 

สวดมนต์ไม่เป็นภาษาอื่นอ่านไม่เข้าใจพาลไม่อยากท่อง ไม่รู้ว่ากำลังอ่านอะไร ไม่ชอบพระ แอบนินทาสงฆ์บ่อยๆ
วันหนึ่งอ่านเจอว่า การทำบุญมีสามวิธี ทาน ศีล และสมาธิ รู้สึกอยากรู้เพิ่ม
ตอนนี้หาหนังสือธรรมะมาไล่อ่าน อ่านไม่ค่อยเก่งพาลจะหลับบ่อย บางวันพึ่งกาแฟ บางวันก็นอนซะเลย
เริ่มจากภาษาไทยก่อนหนังสือท่านพุทธทาส อ่านง่ายดี ซื้อหาง่าย

กำลังพยายามจะไม่เป็นชาวพุทธแต่ชื่อ รู้จักพุทธศาสนามากขึ้นอยู่ค่ะ

 

โดย: anthurium IP: 203.170.140.42 19 ตุลาคม 2549 23:02:41 น.  


ต้นโพธิ์ต้นไทร
Location :
ชลบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 74 คน [?]




[Add ต้นโพธิ์ต้นไทร's blog to your web]