365วันของฉันมีแต่เรื่องการเดินทาง
<<
กุมภาพันธ์ 2560
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728 
19 กุมภาพันธ์ 2560

เที่ยวตามรอยโครงการพระราชดำริแม่ของแผ่นดิน



 

 

“....ข้าพเจ้าได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนําสิ่งของพระราชทานไปช่วยเหลือราษฎร มักจะเป็นเครื่องอุปโภคบริโภค พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งกับข้าพเจ้าว่าการช่วยเหลือแบบนี้เป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้า ซึ่งช่วยเขาไม่ได้จริงๆ ไม่เพียงพอ ทรงคิดว่าทําอย่างไรจึงจะช่วยเหลือชาวบ้านเป็นระยะยาว คือทําให้เขามีหวังที่จะอยูดีกินดีขึ้น ข้าพเจ้าจึงเริ่มคิดหาอาชีพเสริมให้กับครอบครัวชาวนาชาวไร่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยูทรงหาแหล่งน้ำให้กับการทําไร่ทํานาของเขา เป็นผลต่อประเทศชาติ ต่อบานเมือง ทรงพระดําเนินไปดูตามไร่ของเขาทรงคิดว่านี่เป็นการให้กําลังใจ และที่ทรงให้ข้าพเจ้าดูแลครอบครัวเลยเป็นที่เกิดของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ....” (พระราชดํารัส สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ)

ตลอดระยะเวลา ๖๖ ปีที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้โดยเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ไปทุกที่ทั่วแผ่นดินไทย พระองค์ได้สัมผัสกับประชาชนอย่างใกล้ชิด รู้ซึ้งถึงปัญหาต่างๆ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการในพระราชดําริที่สะท้อนความรักและความห่วงใยในฐานะ “แม่ของแผ่นดิน” ที่มีต่อปวงชนชาวไทย โดยพระราชทานโครงการพระราชดําริต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาปากท้อง ให้ความรู้ และสร้างอาชีพแก่คนไทย อีกทั้งเป็นการอนุรักษ์ด้านศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน รวมถึงเปิดเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจให้ประชาชนทั่วไปได้ศึกษาเรียนรู้ ซึ่งหลายโครงการมีเรื่องราวและพระราชกุศโลบายอันแยบยลที่น่าสนใจ มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีทัศนียภาพสวยงามเหมาะสําหรับการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก

กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวเป็นธุรกิจสาขาหนึ่งที่มีศักยภาพในการช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าว การช่วยกระจายรายได้ไปยังพื้นที่ๆ มีศักยภาพ นํามาซึ่งความสําเร็จในการกระจายรายได้และกระจายโอกาสในการพัฒนาท้องถิ่น สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยฝ่ายการวิจัยมุ่งเป้า จึงได้จัดทําโครงการวิจัยการท่องเที่ยวตามรอยโครงการพระราชดําริ “แม่ของแผ่นดิน มิ่งขวัญชาวไทย” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๙ เพื่อเทิดพระเกียรติในปีมหามงคล ๒๕๕๙ โดยมี รศ. ดร.พรรณี สวนเพลง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เป็นหัวหน้าโครงการ

 

วัตถุประสงค์สำคัญของการวิจัยนี้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยเดินตามรอยพระราชดําริ ไปสัมผัสกับพระราชปณิธานและแนวความคิดของพระองค์ที่สร้างความยั่งยืนให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการพระราชดําริในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งประสบปัญหามีจํานวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเดินทางไปเที่ยวน้อยกว่าภูมิภาคอื่นๆ ทําให้รายได้จากการท่องเที่ยวน้อยตามไปด้วย ทั้งที่มีแหล่งท่องเที่ยวสวยงาม มีประเพณีวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าต่อการสืบสานศิลปวัฒนธรรมของประเทศ ซึ่งการวิจัยนี้จะช่วยเปิด “มิติใหม่” ให้กับการท่องเที่ยว โดยเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้เกี่ยวกับโครงการพระราชดําริของพระองค์ที่ได้พระราชทานความช่วยเหลือประชาชน ไม่ว่าจะเป็นด้านศิลปาชีพ การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งนักทองเที่ยวจะได้รับความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของโครงการ มีส่วนร่วมในการทําสินค้าศิลปาชีพ อีกทั้งได้สัมผัสวิถีชีวิตของชุมชนในท้องถิ่นด้วย

นอกจาก “น้ำพระทัยเปี่ยมล้น พลิกพ้นความยากจน” บนวิถีท่องเที่ยวไทยผ่านการวิจัยเชิงลึกที่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ในการทรงงานเพื่อพระราชทานความช่วยเหลือราษฎรให้สามารถรังสรรค์งานหัตถกรรมพื้นบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ใกล้จะสูญหายไป ให้กลายเป็นงานศิลปาชีพหรือหัตถกรรมครัวเรือนที่สามารถสร้างรายได้เลี้ยงตนเอง และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบนวิถีแห่งความพอเพียงให้สามารถก้าวข้ามความยากจนได้อย่างยั่งยืน คณะวิจัยยังได้ศึกษาศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวตามรอยโครงการพระราชดําริในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งเรื่องคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ศักยภาพทางกายภาพและกิจกรรมการท่องเที่ยว ศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยว และการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว ตลอดจนพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวตามรอยโครงการพระราชดําริ ทั้งเรื่องจุดเด่น จุดขายของเส้นทางการท่องเที่ยว ความน่าสนใจของเส้นทางการท่องเที่ยว ซึ่งมีการนำเสนอรายละเอียดที่แตกต่างกันตามรูปแบบของการท่องเที่ยว เช่น ระยะสั้น (ครึ่งวัน) ระยะยาว (เต็มวัน) และระยะที่ต้องมีการค้างคืน

 

หนึ่งในพื้นที่ศึกษาสำคัญของโครงการวิจัยนี้ ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพอีสานใต้ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเดิมชาวบ้านมีฐานะยากจน รายได้หลักมาจากการทำนาและเกษตรกรรรม บางครั้งมีฝนแล้งติดต่อกันหลายปี โดยทอผ้าเป็นอาชีพเสริมแต่ส่วนมากมักทอไว้ใช้เองในครัวเรือนหรือประกอบพิธีการสำคัญ เช่น การแต่งงาน การบวชนาค เป็นต้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระราชดําริกับ พล.ท.สนั่น มะเริงสิทธิ์ แม่ทัพน้อยที่ ๒ ให้พิจารณาจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพขึ้นที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อช่วยเหลือราษฎรผู้ยากไร้ให้มีรายได้ มีอาชีพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งจังหวัดสุรินทร์ได้ร่วมกับกองกําลังสุรนารีจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพอีสานใต้ขึ้นบริเวณถนนเลี่ยงเมืองสุรินทร์-ปราสาท ตําบลนอกเมือง อําเภอเมืองสุรินทร์ บนเนื้อที่ ๙๓ ไร่

กองทัพภาคที่ ๒ ได้ดําเนินการบริหารศูนย์แห่งนี้ให้เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพจากสมาชิกในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และเป็นแหล่งจัดจําหนายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว นอกจากนี้ยังให้บริการในการฝึกอบรมพัฒนาอาชีพหลากหลายสาขา ได้แก่ ด้านเครื่องยนต์ขนาดเล็ก การตัดเย็บเสื้อผ้า วิทยาการเกี่ยวกับการปลูกพืช-เลี้ยงสัตว และขยายผลการพัฒนาการเกษตรตามแนว “ทฤษฎีใหม่” ให้แก่เกษตรกรบริเวณรอบศูนย์ รวมทั้งจัดหาวัสดุการเกษตร เช่น รถไถนาเดินตาม เพื่อให้สมาชิกศิลปาชีพยืมหมุนเวียนใช้ประโยชน์ร่วมกันอีกด้วย ผลิตภัณฑ์สำคัญของศูนย์แห่งนี้คือ ผ้าไหมมัดหมี่ที่สมาชิกได้รับเส้นไหมพระราชทานและนำไปมัดย้อม แล้วทอกลับมาส่งที่ศูนย์เพื่อจะได้รับค่าทอซึ่งทางศูนย์จะนำผ้าไหมส่งเข้าไปยังวังสวนจิตรลดาต่อไป

 

ลักษณะผ้าไหมสุรินทร์มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ซึ่งได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากกัมพูชา ลวดลายที่บรรจงประดิษฐ์ขึ้นล้วนมีที่มาและมีความหมายอันเป็นมงคล นอกจากนี้ยังนิยมใช้ไหมน้อยในการทอโดยใช้ไหมที่สาวมาจากเส้นใยภายในรังไหม มีลักษณะนุ่ม เรียบ เงางาม และนิยมใช้สีธรรมชาติในการทอ ทำให้สีไม่ฉูดฉาด ออกโทนสีขรึม เช่น น้ำตาล แดง เขียว ดำ เหลือง อีกทั้งมีกลิ่นหอมจากเปลือกไม้ ขณะที่ฝีมือการทอจะทอแน่นมีความละเอียดในการทอและประณีต รู้จักผสมผสานลวดลายต่างๆ เข้าด้วยกัน แสดงถึงศิลปะที่สวยงามกว่าปกติ แต่เดิมนั้นการทอผ้าไหมของชาวบ้านจะทำหลังสิ้นสุดฤดูกาลทำนาเพื่อไว้ใช้เองและสวมใส่ในงานทำบุญและงานพิธีต่างๆ จนมีคำกล่าวทั่วไปว่า พอหมดหน้านา ผู้หญิงทอผ้า ผู้ชายตีเหล็ก

ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จังหวัดสุรินทร์ สังกัดกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญที่นักท่องเที่ยวจะได้เข้ามาสัมผัสกับผ้าไหมและหนอนไหม โดยเฉพาะโครงการศูนย์การเรียนรู้เชิงอนุรักษ์ด้านหม่อนไหม ไม้ย้อมสี และผ้าไหม ผ่านฐานการเรียนรู้ต่างๆ เช่น จุดเรียนรู้วงจรชีวิตหนอนไหม จุดสาธิตการฟอกย้อมสีไหมด้วยสีธรรมชาติ พิพิธภัณฑ์ลายผ้าไหม ฐานการแปรรูปผลิตภัณฑ์หม่อนไหม เป็นต้น

 

น.ส.ภาวิณี อาสน์สุวรรณ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กล่าวว่า ศูนย์หม่อนไหมฯ แห่งนี้เป็นศูนย์การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมและห้องเรียนธรรมชาติซึ่งนักท่องเที่ยวและเยาวชนที่มาทัศนศึกษาจะได้เห็นถึงกระบวนการผลิตผ้าไหมตั้งแต่เริ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหม รวมถึงการแปรรูปสร้างมูลค่าจากหม่อนไหมทั้งผลและใบซึ่งล้วนมีงานวิจัยรองรับ เด็กๆ จะได้สนุกสนานกับฐานการเรียนรู้ต่างๆ รวมถึงได้ชิมขนมและน้ำจากผลหม่อนที่นำพันธุ์จากเชียงใหม่มาปลูก ซึ่งจะช่วยสร้างจิตสำนึกให้กับเด็กๆ ในการอนุรักษ์อาชีพดั้งเดิมของบรรพบุรุษและครอบครัว เพราะหลายครัวเรือนมีอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมกันอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังเปิดให้ผู้สนใจเข้ามาอบรมฝึกอาชีพเพื่อยกระดับและพัฒนาทักษะฝีมือ สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ให้ความสนใจมาเยี่ยมชมศูนย์ฯ มีทั้งเอเชีย อเมริกา และยุโรป โดยเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ในการจัดกลุ่มนักท่องเที่ยวให้เห็นกระบวนการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมของชาวสุรินทร์ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายยิ่งขึ้น ต่างชาติสนใจฐานเลี้ยงหม่อนไหมครบวงจรและการย้อมสีเป็นอย่างมาก เพราะส่วนใหญ่จะเห็นแต่ผ้าที่ทอเสร็จแล้ว อย่างไรก็ตามนักท่องเที่ยวแต่ละปียังมีเพียง ๔,๐๐๐ - ๖,๐๐๐ คนเท่านั้น จึงต้องทำประชาสัมพันธ์เชิงรุกร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรให้มากขึ้น และสร้างความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์วัฒนธรรมประจำถิ่นให้กับชาวสุรินทร์มากขึ้นผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ

 

อีกหนึ่งสถานที่ต้องห้ามพลาดคือ ผลงานศิลปหัตถรรมของ “กลุ่มบ้านทอผ้าไหมยกทองโบราณ (บ้านจันทร์โสมา)” ณ บ้านท่าสว่าง ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูการทอผ้ายกทองชั้นสูงแบบราชสำนักไทยโบราณ โดยมี อ.วีรธรรม ตระกูลเงินไทย เป็นแกนนำในการรวบรวมผู้เฒ่าผู้แก่และชาวบ้านท่าสว่างมารวมกลุ่มกันทำงานทอผ้ายามว่างจากงานไร่งานนา ด้วยการออกแบบลวดลายที่สลับซับซ้อนงดงามและศักดิ์สิทธิ์ ผสมผสานกันระหว่างลวดลายการทอแบบราชสำนักกับเทคนิคการทอผ้าแบบพื้นบ้านจนกลายเป็นผ้าทอที่มีความงดงามมหัศจรรย์ และมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก งานที่ทำให้คนรู้จักชื่อเสียงเป็นอย่างมาก คือ การทอผ้ายกทองทูลเกล้าฯ ถวาย รวมถึงการทอผ้าสำหรับตัดเสื้อผ้าให้ผู้นำประเทศและผ้าคลุมไหล่ภริยาที่เข้าร่วมประชุมเอเปค ๒๐๐๓ กลุ่มทอผ้าบ้านจันทร์โสมาเปิดให้เข้าชมการผลิตผ้าไหมทั้งการย้อมสีธรรมชาติจากภูมิปัญญาไทย และความโดดเด่นของกรรมวิธีการผลิตที่ใช้ตะกอ ๑,๔๑๖ ตะกอ ผู้ทอ ๔ - ๕ คน ประกอบด้วยคนทดและส่งลายด้านบน ๓ คน และอีก ๑ คนอยู่ใต้กี่ด้านล่าง กี่ทอผ้าแบบพิเศษที่มีความสูงเท่ากับตึก ๒ ชั้น นักท่องเที่ยวที่สนใจจะซื้อผ้าอาจต้องรอคิวนานเกือบ ๓ ปี โดยราคาของผ้าไหมยกทองต่อผืนราคาประมาณ ๑-๒ แสนบาท

ขณะที่จังหวัดอุบลราชธานีก็มีสถานที่สำคัญในโครงการพระราชดำริ ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพบ้านยางน้อย อำเภอเขื่องใน แต่เดิมชาวบ้านยากจน มีรายได้จากการทำนาและเกษตรกรรม ตัดไม้ทำลายป่าเพื่อรุกล้ำพื้นที่ทำการเกษตร ต่อมาในปี ๒๕๕๐ ได้พลิกฟื้นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมจำนวน ๔๕๔ ไร่ ให้เป็นโครงการส่งเสริมศิลปาชีพฯ แก่ราษฎรในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง โดยมีกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๖ เป็นผู้รับผิดชอบ แบ่งพื้นที่ออกเป็นสองส่วนคือ งานศิลปาชีพ และฟาร์มตัวอย่าง โดยส่วนงานแรกมีสมาชิกที่ทรงรับไว้ในโครงการ ๓๑๐ คน เพื่อพัฒนาและยกระดับรายได้ อีกทั้งป้องกันการอพยพไปขายแรงงานต่างถิ่น นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอาคารจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ และอาคารจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้เรื่องการผลิตผ้าไหมและผ้าฝ้ายแก่ผู้สนใจและนักท่องเที่ยว ตลอดจนพื้นที่ป่าอนุรักษ์และหมู่บ้านเรือนไทยพื้นถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่แสดงถึงวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของชาวไทยอีสานสมัยโบราณ

 

ในส่วนของฟาร์มตัวอย่างเป็นจุดท่องเที่ยวที่ควรค่าแก่การเยี่ยมชมศึกษาเช่นกัน เพราะเป็นพื้นที่ทดลองการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่หลายประเภท เช่น การปลูกพืชสมุนไพร ผักปลอดสารพิษ ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การผลิตไหมคุณภาพระดับ Royal Thai Silk การผสมข้าวกล้องปรุงเสริมภูมิต้านทาน โรงสีข้าว และอื่นๆ อีกมากมายที่นักท่องเที่ยวจะได้รับความรู้และความเพลิดเพลินไปพร้อมๆ กัน นอกจากนี้ยังมีศูนย์จำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์โครงการซึ่งมีสินค้ามากมาย เช่น ผ้าไหมมัดหมี่คุณภาพดี ตรานกยูงพระราชทาน ผลิตภัณฑ์จากผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้ากาบบัว กระเป๋า ข้าวกล้องเบญจกระยาทิพย์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ หลากหลายรายการ นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวและศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญากว่าจะเป็นผืนผ้าไหมและฝ้าย พร้อมทั้งลวดลายวิจิตรของผืนผ้า ก่อให้เกิดการสืบสานและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศอีกแห่งหนึ่ง

 

“บ้านคำปุน” คืออีกหนึ่งสถานที่เลื่องชื่อของเมืองดอกบัว ภายในเนื้อที่ ๘ ไร่ ประกอบด้วย เรือนทอ ที่มีการสาธิตทอเทคนิคขิต (ยก) ห้องจัดแสดงนิทรรศการผ้าทอ เรือนเก็บเส้นไหม หอพระ โรงย้อม ซึ่งนายศรัณยู ศรีใส เจ้าของบ้านคำปุน กล่าวว่า จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมเพียงปีละ ๓ วันเท่านั้นในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา นอกนั้นจะพิจารณาเป็นรายๆ ไป กิจการทอผ้าของครอบครัวนั้นเริ่มมาตั้งแต่สมัยรุ่นยายสืบทอดกัน จากเดิมที่มีเพียงผ้ามัดหมี่ธรรมดา ปัจจุบันได้ปรับให้มีสีสันทันสมัยมากขึ้นทั้งสีย้อมแบบธรรมชาติและสีสังเคราะห์ นอกจากนี้ยังมีผ้าสมปักปูมที่ขึ้นชื่อว่าสวยงาม เป็นผ้ามัดหมี่ที่มีหลายลวดลายโบราณของทางอีสาน ผืนหนึ่งมีหลายสี เป็นผ้าที่ทอยากและใช้เวลาทอนาน บางผืนนานถึง ๗ ปี โดยในอดีตผ้าสมปักเป็นผ้านุ่งพระราชทานแก่ขุนนางตามตำแหน่ง ใช้เฉพาะเวลาเข้าเฝ้าหรืองานพระราชพิธี ซึ่งผ้าสมปักมีหลายชนิดแต่สมปักปูมเป็นชนิดดีที่สุด

 

นายประทีป มีศิลป์ ที่ปรึกษาเรื่องหม่อนไหม มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการวิจัยการท่องเที่ยวตามรอยโครงการพระราชดำริฯ สกว. กล่าวว่า คนทั่วไปมักทราบเพียงว่ามูลนิธิฯ เป็นโครงการที่ส่งเสริมอาชีพทอผ้า แต่ไม่ทราบความเป็นมาและกิจกรรมภายในมากนัก โครงการวิจัยนี้ของ สกว. ขณะแรกยังนึกไม่ออกว่าจะเกิดผลเป็นรูปธรรมได้อย่างไร แต่เมื่อการดำเนินงานผ่านไป ๓ เดือนแรก ก็เริ่มเห็นภาพความเป็นไปได้ที่จะทำให้สิ่งที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ปฏิบัติพระราชกรณียกิจเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากยิ่งขึ้นผ่านการท่องเที่ยว สามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งที่คนทั่วไปและนักท่องเที่ยวสามารถศึกษาหาความรู้ภูมิปัญญาของไทย เป็นแรงดึงดูดให้พวกเราภาคภูมิใจและช่วยกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาเหล่านี้ไม่ให้สูญหาย

 

“นับว่าเป็นโครงการวิจัยที่มีประโยชน์อย่างมากในการสืบสานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมพื้นบ้านซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติ ให้เห็นงานฝีมือ ๒๔ สาขาที่ครอบคลุมหัตถกรรมทั้งหมดของประเทศไทย อย่างไรก็ตามควรจะต้องขยายงานวิจัยให้ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ที่อยู่ในโครงการพระราชดำริที่คนภายนอกยังไม่เห็น นอกจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและคนดูแลโครงการ โดยการสนับสนุนทุนวิจัยเพิ่มเติมจาก สกว. เนื่องจากเป็นงานที่สามารถก่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในการประกาศเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระปรินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อีกทั้งมีพื้นที่ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ เคยร่วมเสด็จฯ ด้วย ซึ่งควรนำมาเป็นพื้นที่ศึกษาวิจัยเช่นกัน”

 

 




Create Date : 19 กุมภาพันธ์ 2560
Last Update : 19 กุมภาพันธ์ 2560 16:46:36 น. 0 comments
Counter : 1928 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

travelistaนักเดินทาง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




Travelista นักเดินทาง หรือสาธิตา โสรัสสะ อดีตหัวหน้าข่าวเศรษฐกิจเครือเนชั่น เป็นนักข่าวสายท่องเที่ยวยาวนานเกือบ 40 ปี เดินทางมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก มีผลงานเขียนพ็อคเก็ตบุ๊คท่องเที่ยว 34 เล่ม ปัจจุบันเป็นอุปนายกสมาคมการตลาดท่องเที่ยวไทย และประธานมีเดียแอนด์บล็อกเกอร์ คลับ (คลับของบล็อกเกอร์) เคยได้รับรางวัลบล็อกเกอร์ยอดเยี่ยมปี 59 ,ช่างภาพหญิงยอดเยี่ยมจากจีนปี 60 , สื่อมวลชนยอดเยี่ยมปี 64 และผู้บริหารสื่อออนไลน์ยอดเยี่ยมปี 65 ไอดีไลน์ tatravel โทร 081-817-2805
[Add travelistaนักเดินทาง's blog to your web]