365วันของฉันมีแต่เรื่องการเดินทาง
<<
ธันวาคม 2559
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
23 ธันวาคม 2559

ตามมกอช.ไปดูผลผลิตเกษตรเชียงราย “ส้มโอ-โครงการหลวง”



มีโอกาสร่วมทริปกับ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ไปดูผลผลิตทางการเกษตรของจังหวัดเชียงราย ที่น่าชื่นชมมากว่า ผลผลิตเหล่านี้สามารถโกอินเตอร์ไปบุกเมืองนอกได้อย่างไม่อายใคร

คุณดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) พาไปที่แรกดูส้มโอของเชียงราย

ส้มโอเป็นสินค้าเกษตรชนิดหนึ่งที่ไทยมีศักยภาพการผลิตและส่งออกสูง โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีการปลูกส้มโอพันธุ์ทองดีและพันธุ์ขาวใหญ่ 60% และพันธุ์เซลเลอร์ 40% รวมพื้นที่กว่า 5,000 ไร่ ได้ผลผลิต ประมาณ 2,200,000 ผล เป็นแหล่งผลิตส้มโอที่ได้มาตรฐานทั้ง จีเอพี และจีเอ็มพี

น่าสนใจมากว่า ที่นี่เป็นแหล่งปลูกเดียวที่สามารถส่งออกไปยังตลาดกลุ่มสหภาพยุโรปหรืออียู (EU) ได้ตั้งแต่ปี 2552 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยปี 2559 นี้ ได้มีการส่งออกส้มโอเวียงแก่นไปยัง EU แล้ว ประมาณ  40,000 ผล คิดเป็นมูลค่าหลักล้านบาท สามารถสร้างรายได้ให้กับสมาชิกวิสาหกิจชุมชนส้มโอเวียงแก่นเพื่อการส่งออกค่อนข้างสูง

ขณะนี้วิสาหกิจชุมชนส้มโอเวียงแก่นฯได้ส่งออกส้มโอไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ฮ่องกง และเวียดนามด้วย โดยเฉพาะจีนมีความต้องการนำเข้าค่อนข้างมากและมีโอกาสทางการตลาดสูง ซึ่งปีนี้คาดว่าจะส่งออกส้มโอเวียงแก่นไปจีนได้ถึง 140 ตู้คอนเทนเนอร์ (บรรจุตู้ละ 13,000-14,000 ผล) หรือประมาณ 1.82-1.96 ล้านผล โดยส่งออกผ่านเส้นทางสาย R3 จากอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ไปลาวและเข้าสู่จีนทางตะวันตกเฉียงใต้ ใช้ระยะเวลาขนส่งสินค้า 2-3 วัน สำหรับราคาส้มโอส่งออกเกรด A อยู่ที่กิโลกรัมละ 60-70 บาท ส่วนเกรดรองลงมาราคา ประมาณ 30-50 บาท/กิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา

เพื่อเป็นการเพิ่มเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและส่งออกส้มโอเวียงแก่นให้เกษตรกรสามารถแข่งขันกับคู่แข่งสำคัญอย่างแอฟริกาใต้ อิสราเอล และเวียดนามได้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้ส่งเสริมให้ยกระดับการผลิตส้มโอเวียงแก่นเข้าสู่มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือจีเอพี (GAP) เน้นผลิตส้มโอคุณภาพมาตรฐาน พร้อมคัดบรรจุสินค้าในโรงคัดที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจีเอ็มพี (GMP) ทำให้ได้ส้มโอที่มีคุณภาพดี มีความปลอดภัยและตรงตามความต้องการของตลาด

ขณะเดียวกันยังส่งเสริมให้ผลิตส้มโอนอกฤดูโดยผลผลิตจะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ซึ่งไม่ตรงกับช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตส้มโอภาคกลางและภาคใต้ ทำให้ส้มโอเวียงแก่นขายได้ราคาดี โดยช่วงต้นฤดูราคาซื้อขายส้มโอขาวใหญ่ อยู่ที่กิโลกรัมละ 50-60 บาท ส่วนส้มโอทองดีขายได้ผลละ 37 บาท

ส้มโอที่นี่ลูกใหญ่มาก หนักเฉลี่ย 1.5 กิโลกรัม และสามารถใหญ่ได้จนถึง 2 -3 กิโลกรัม

 

ตลาดจีนและฮ่องกง มีความต้องการนำเข้าส้มโอเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากชาวจีนถือว่า ส้มโอเป็นผลไม้มงคลสื่อถึงความสมบูรณ์พร้อม จึงนิยมใช้ในการประกอบพิธีต่างๆ ทุกเทศกาล โดยเฉพาะช่วงเดือนกันยายนซึ่งมีเทศกาลไหว้พระจันทร์ ความต้องการนำเข้าจะมากกว่าเดือนอื่นๆ

ช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จีนมีปริมาณการนำเข้าส้มโอเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า จากปี 2553 ที่มีมูลค่าการนำเข้า 7.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มขึ้นเป็น 30.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2557  โดย 60% เป็นการนำเข้าส้มโอเนื้อแดงจากแอฟริกาใต้ รองลงมาเป็นส้มโอจากไทย คิดเป็น 21% และนำเข้าจากไต้หวัน คิดเป็น 11%

จากนั้นเราได้ไปชม“โครงการหลวง”

 

คุณพิศาล พงศาพิชณ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) บอกว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้ มกอช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการส่งเสริมและพัฒนายกระดับการผลิตสินค้าพืชผักและผลไม้ ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวง จำนวน 38 ศูนย์ ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน และพะยา ให้ได้มาตรฐานรวมพื้นที่กว่า 10,000 ไร่ โดยที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ ได้รับรองแหล่งผลิตพืชผัก ผลไม้ และสมุนไพรของชาวเขาในพื้นที่โครงการหลวงตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีหรือจีเอพี (GAP) พืชอาหาร แยกเป็น พืชผักและสมุนไพร GAP 126 ชนิด เกษตรกร 3,897 ราย พื้นที่ 9,593 ไร่

 

 

ขณะเดียวกันยังได้รับรองแปลงปลูกไม้ผลเมืองร้อนตามมาตรฐาน GAP  จำนวน 4 ชนิด ไม้ผลเมืองหนาว 4 ชนิด และไม้ผลขนาดเล็ก 5 ชนิด ทั้งยังรับรองแหล่งผลิตผักอินทรีย์ จำนวน 16 ชนิด เกษตรกร 528 ราย พื้นที่ 990 ไร่ ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรในโครงการหลวงกว่า 70% ปลูกพืชผักในโรงเรือน รวมกว่า 2,000 โรงเรือน

อีกทั้งยังสนับสนุนให้โครงการหลวงคัดบรรจุสินค้าในโรงคัดบรรจุที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจีเอ็มพี (GMP)  และมีห้องปฏิบัติการตรวจสอบสารพิษตกค้างในพืชผักและผลไม้อย่างต่อเนื่อง ทำให้สินค้าของโครงการหลวงมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยสูง และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งสามารถสร้างอาชีพให้กับชาวเขาทดแทนการปลูกฝิ่น ช่วยแก้ปัญหาการทำไร่เลื่อนลอย ที่สำคัญยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตครอบครัวชาวเขาในโครงการฯให้ดีขึ้น ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9

(เราเพลิดเพลินกันมากที่แหล่งปลูกองุ่นในโครงการหลวง)

นอกจากนั้น กระทรวงเกษตรฯ โดย มกอช. ยังได้ดำเนินโครงการระบบตามสอบผลผลิตผักมูลนิธิโครงการหลวง ดำเนินการออกแบบ พัฒนาและติดตั้งระบบตามสอบทางอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบทั้งระบบฟาร์ม GAP หรือโกลบอลแก็บ (Global GAP) ระบบตรวจสอบคุณภาพ ระบบการผลิต GMP ระบบส่งขาย และระบบการตามสอบและเรียกคืนสินค้า สามารถรองรับการใช้เทคโนโลยี Radio Frequency Identification (RFID) ทำให้เชื่อมโยงข้อมูลการตามสอบของโครงการหลวงเข้าสู่ระบบตามสอบของกระทรวงเกษตรฯ ในส่วนสินค้าพืชได้ ซึ่งโครงการหลวงได้เริ่มนำร่องใช้เทคโนโลยี RFID ที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่เหียะและเชื่อมโยงไปยังศูนย์โครงการหลวงทั้งหมดแล้ว

รองเลขาธิการ มกอช. กล่าวอีกว่า เทคโนโลยี RFID เป็นการเก็บข้อมูลแบบอัตโนมัติ คล้ายกับป้ายอิเล็กทรอนิกส์ (RFID Tag) โดยมีการรับส่งสัญญาณข้อมูลผ่านทางสัญญาณวิทยุ ซึ่งข้อมูลที่เก็บไว้จะเก็บไว้ในส่วนที่เรียกว่า แท็กของ RFID มีประโยชน์ คือ ใช้ติดตามฉลากสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อใช้ในการติดตามข้อมูลหรือเก็บข้อมูลของผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้น ซึ่งดีกว่าการใช้ระบบบาร์โค้ด (Barcode) ตรงที่ไม่ต้องอ่านข้อมูลในระดับสายตา   เพราะมีการส่งสัญญาณวิทยุ ทำให้มีความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้นในการตามสอบและเรียกคืนสินค้ากรณีที่มีปัญหา ถือเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างที่ช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้

(วิวสวยมากที่นี่)

“ระบบดังกล่าว สามารถรองรับการใช้งานด้านบริหารจัดการแปลงเกษตรกรของโครงการหลวงได้ครบทุกราย ครอบคลุมพืชผักในโครงการฯทุกชนิด ทั้งยังรองรับการทำงานการตามสอบที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 38 ศูนย์ และโรงงานคัดบรรจุ 1 โรง นอกจากนี้ ยังสามารถตามสอบจากบรรจุภัณฑ์ (ถุงหรือกล่อง) ถึงรายเกษตรกรหรือแปลงที่เพาะปลูกพืชผักตามมาตรฐาน Global GAP และสามารถตามสอบแหล่งกระจายสินค้าได้ภายในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง โดยเรียกคืนสินค้าหรือนำสินค้าออกจากชั้นวางขายได้ภายในเวลาที่กำหนด ทั้งยังเกิดระบบคลังสินค้าแบบเรียลไทม์ (Real Time) เป็นฐานข้อมูลสำหรับการจัดการอุปสงค์และอุปทาน ช่วยลดการสูญเสียและเพิ่มโอกาสในการจำหน่ายสินค้า ทำให้ต้นทุนการผลิตผักของโครงการหลวงลดลง” รองเลขาธิการ มกอช.กล่าว

จากทริปนี้มกอช.ยังได้พาไปสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของเชียงรายคือภูผาสวรรค์ เดินขึ้นไปชมทะเลหมอกรอบทิศทาง อยู่ใกล้ภูชี้ฟ้า

มีเนินชมวิวให้เรานั่งเล่นชมวิวฝั่งลาว

และได้ไปไฮไลท์ของเชียงรายที่พลาดไม่ได้ นั่นคือภูชี้ฟ้า สวยตระการตาสมใจอยาก

ขอบคุณมกอช.สนับสนุนการเดินทางของ Travelista นักเดินทาง




Create Date : 23 ธันวาคม 2559
Last Update : 23 ธันวาคม 2559 15:27:46 น. 1 comments
Counter : 3703 Pageviews.  

 
ขอบคุณที่แบ่งปัน


โดย: Kavanich96 วันที่: 24 ธันวาคม 2559 เวลา:2:23:36 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

travelistaนักเดินทาง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




Travelista นักเดินทาง หรือสาธิตา โสรัสสะ อดีตหัวหน้าข่าวเศรษฐกิจเครือเนชั่น เป็นนักข่าวสายท่องเที่ยวยาวนานเกือบ 40 ปี เดินทางมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก มีผลงานเขียนพ็อคเก็ตบุ๊คท่องเที่ยว 34 เล่ม ปัจจุบันเป็นอุปนายกสมาคมการตลาดท่องเที่ยวไทย และประธานมีเดียแอนด์บล็อกเกอร์ คลับ (คลับของบล็อกเกอร์) เคยได้รับรางวัลบล็อกเกอร์ยอดเยี่ยมปี 59 ,ช่างภาพหญิงยอดเยี่ยมจากจีนปี 60 , สื่อมวลชนยอดเยี่ยมปี 64 และผู้บริหารสื่อออนไลน์ยอดเยี่ยมปี 65 ไอดีไลน์ tatravel โทร 081-817-2805
[Add travelistaนักเดินทาง's blog to your web]