"อาตมาไม่ได้พูดให้โยมเชื่อ แต่พูดให้โยมไปคิด".....หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม
ใบไม้ในกำมือ หมวด ๒(๒)


หมวดที่ ๒ กรรมฐาน (กัมมัฎฐาน)


๒.๒ ปฏิบัติกรรมฐาน

๒.๒.๑. ยืน

* เมื่อยืนกำหนดครบ ๕ ครั้งแล้ว ลืมตา ไม่ต้องไปเหลียวล่อกแล่กดูอื่น ให้เพ่งไปที่ปลายเท้า เมื่อเพ่งไปที่ปลายเท้าสักครู่หนึ่ง สำรวมจิตไว้ที่ปลายเท้า ตั้งสติปักลงไป แล้ว กำหนด(จิต)ว่า ขวา ... ย่าง ... หนอ ... ให้ช้าเหมือนคนเป็นไข้ เหมือนคนใกล้จะตาย

* เมื่อกำหนด ขวา ... ให้ยกส้นเท้าขวา (ปลายเท้ายังคงอยู่ติดพื้น) ขึ้นมาแค่ ๒ หรือ ๑ นิ้ว ก็พอแล้ว เพื่อให้สำนึกสมัญญาในหน้าที่ นี่ ขวา แปลว่า สติระลึกก่อนที่เท้าขวา และย่าง ... (ยกลอยเหนือพื้นในลักษณะเหิรไปช้า ๆ ) ด้วยการกำหนดปัจจุบัน ... ย่าง ... คือสัมปชัญญะ รู้ตัวขณะที่ย่างไป และปฏิบัติให้ช้าที่สุด เอาจิตตามไป สติตามดู ว่าได้ปัจจุบันหรือเปล่า หนอ ... ลงพื้นพอดี

* เมื่อสิ้นสุด ขวา ย่าง หนอ แล้ว ก็ตั้งสติใหม่ จิตเกิดใหม่ เอาสติกำหนดจิต ซ้าย ... ย่าง ... หนอ ... เมื่อลงหนอที่พื้นแล้ว อย่าขยับทั้งหมด หยุดสักครู่หนึ่ง เว้นช่องไฟไว้ แล้วก็ตั้งสติใหม่ จิตดวงใหม่จะเกิดชัดเจน

* กำหนด ขวา ... หรือ ซ้าย ... ยกแล้ว หยุดอย่าเพิ่งย่าง สำรวมความรู้ปักลงไป ให้เกิดปัจจุบัน ย่าง ... ต้องย่างให้ได้ตามจิตที่เรากำหนด หนอ ... ให้ช้าที่สุด ถ้าช้ามาก มีสมาธิดีมาก ถ้าเร็วมากไม่มีสมาธิเลย จิตใจร้อนเหมือนเดิม จิตใจไม่ยับยั้ง ขาดสติ สัมปชัญญะตรงนี้

* เมื่อย่างไปถึงปลายทางจะเลี้ยวขวา หยุดชิดขวา เท้าขวาชิดเท้าซ้าย สำรวมจิตหยุดหนอ หยุดแล้วกำหนด ยืนหนออีก ๕ ครั้ง ฝึกให้ละเอียดเข้าไว้ เสร็จแล้วลืมตา ดูปลายเท้า แล้วก็ขยับทางขวา อย่าไปทางซ้าย อย่าไปนอกครู โดยที่ไม่รู้จริง ขอฝากไว้ด้วย กลับทางขวา กำหนด กลับ ... หนอ ... ๔ จังหวะก่อน กลับหันหลังพอดี อย่าไปนอกครู อย่าไปเอาตำราอื่น ต้องกลับ ๔ จังหวะก่อน อย่าไปเอาคนอื่นมาเป็นอารมณ์ อย่าไปเอาตำราอื่นไม่ได้เด็ดขาดมันไม่ได้ผล เดี๋ยวจะสับสน ทำให้ละเอียดเข้าไปอีก อย่าเพิ่งรีบเดิน ต้องกำหนด ยืนหนออีก ๕ ครั้งก่อน เรียกว่าเก็บอารมณ์ภายใน ดูอารมณ์ภายใน

* ขอฝากไว้ด้วยนะ ทำไม่ได้กัน มัวแต่ใจร้อน เดินจงกรมไม่รู้จะรีบไปไหนกัน ... เดินระยะแค่ ๔- ๕ วาเท่านั้น อย่างน้อยสั้น ๆ ต้อง ๓ วา อย่างมากสัก ๕ วา หรือไม่เกิน ๘ วา อย่าเดินเรื่อย ๆ เฉื่อย ๆ ต้องรู้จักกลับ ... รับรองท่านเดินสัก ๔ - ๕ รอบ ท่านจะมีสติดี เพิ่มขึ้นไม่ใช่น้อย ท่านจะมีจิตยับยั้ง จะคิดอะไรได้แปลก ๆ

* สติตัวเดียวเท่านั้นที่จะแก้ไขปัญหาชีวิต เพราะฉะนั้น ยืนหนอ ๕ ครั้ง ต้องทำให้ได้ทุกคน เอาสติตามจิตให้ทันเท่านั้น พอตามทันขึ้นลง ๕ ครั้งได้ เห็นคนเดินมา สัมผัสปั๊บ ดูศีรษะถึงปลายเท้า ปลายเท้าถึงศีรษะ โดยอัตโนมัติ มันจะเห็นภาพ ๓ ภาพ

ภาพที่ ๑ แต่งตัวอย่างนี้เขาจะไปไหนกัน
ภาพที่ ๒ คนนี้มีโรคประจำกาย
ภาพที่ ๓ นิสัยไม่ดี เป็นมิตรตอนกู้ เป็นศัตรู ตอนทวง คบไม่ได้

ถ้าโยมสำรวจจิตไว้มากมาย จะเห็นว่าบางคนหัวหายไปเลยนะ มันจะบอกออกมาว่า ต้องตายภายใน ๗ วัน ไม่เคยพลาด .....ถ้าเห็นผมขาว รับรองเลยว่า ไม่เป็นอัมพาตก็คางเหลือง ขอฝากไว้นะ ถ้าไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร ไม่ได้พูดให้โยมเชื่อ

* กำหนดยืนหนอ ๕ ครั้ง ถ้าทำได้ พองหนอ ยุบหนอ ก็ง่ายขึ้น


๒.๒.๒ เดิน

* โยมมาเจริญกรรมฐานเดินจงกรมได้ กำหนดจิตให้มีสติไว้ ในการฝึก เดินให้ช้า ไปไหนก็เดินจงกรมไปด้วย อย่าให้เสียเวลา อย่าให้เวลาเป็นหมันเลย ....อย่าไปเดินกรีดกรายกัน จะเสียอารมณ์นะ อารมณ์มันเสียไปแล้ว จะเก็บอารมณ์ไม่อยู่ เหมือนตักน้ำใส่ตุ่มรั่ว เหนื่อยเปล่า แล้วทำอะไรจะไม่ได้ผล จะไม่ได้อานิสงส์แต่ประการใด

* เวลาเดินจงกรม อย่าไปเอาหลักอื่น ดูที่ปลายเท้าเป็นการฝึกหัด ..... เวลาฝึกขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ช้าเพื่อไว เสียเพื่อได้ พอฝึกสติแล้ว เพื่อนเขาเอารถมาคอย จะมัวแต่เดินช้า ขวาย่างหนอซ้ายย่างหนอได้หรือ ต้องวิ่งไป สติก็ไปด้วย อย่างนี้แหละช้าเพื่อไว เสียเพื่อได้

* เดินจงกรมอย่าหลับตา อย่ามองดูไกล ๆ ให้มองดูที่เท้า อาตมาสอนคนดื้อเหลือเกิน ไปดูโน่น ดูที่เท้าซิ ถ้าฝึกได้แล้วไม่ต้องดูที่เท้าหรอก ไปไหนสติก็อยู่ที่เท้า ตาไปมองที่อื่นได้ แต่การฝึกเบื้องต้น ขอให้เชื่อครูหน่อย

* ขอฝากไว้ เดินจงกรม ขอให้เดินช้า ๆ เหมือนคนจะตาย แล้วดูปลายเท้าด้วย อาตมาสังเกต โยมไม่ค่อยเชื่ออาตมาเลย ไม่เคยดูปลายเท้า ดูโน่น ครูเขาสอนให้ดูโน่นจะได้ไม่ปวดคอต่อไป ไม่ได้ผลนะ จะเชื่อใครก็ตามใจ

* ขณะเดิน เกิดคิดถึงเรื่องเก่า เรื่องไม่สบายใจ ต้องหยุด กำหนดให้ได้เสียก่อน จึงค่อยเดินต่อไป เช่นเดียวกับขณะนั่ง

* ขอเรียนว่า เดินจงกรมอย่างต่ำต้อง ๑ ชั่วโมง นั่งให้ได้ ๑ ชั่วโมง ให้ติดต่อกันไป รับรองไม่เกิน ๗ วัน ท่านต้องได้เยอะ ได้มากด้วย ไม่ใช่ไปนั่งคุยกัน ใช้ได้หรือ คุยกันน่ะ เสียอารมณ์เลย


๒.๒.๓ นั่ง

* หายใจยาว ๆ เข้าไว้ หายใจเข้ายาว ๆ หายใจออกยาว ๆ ให้สม่ำเสมอ ค่อย ๆ ทำไป โยมจะใจเย็นลงเยอะ และจะมีปัญญาแก้ไขปัญหาได้เยอะ ไม่ต้องไปหาหมอดู ไม่ต้องไปหาใครมาแก้ปัญหา เพราะเราเป็นเจ้าของปัญหา ต้องแก้เอง จะให้คนอื่นแก้ให้เราได้อย่างไร ขอฝากทุกคนไปคิด

* เรามานั่งกรรมฐานเอาแต่ความสบาย วันนี้นั่งสบายไม่มีเวทนา จิตไม่ฟุ้งซ่าน ท่านคิดไหมว่า ท่านได้อะไร ครูไม่มาสอนท่านแล้ว ว่างเปล่านั่งสบาย ใจก็ลอยออกไปชมวิวทิวทัศน์ ไม่ได้อะไรเลย เพราะครูไม่มาสอน ครูเวทนาก็ไม่มาสอน ครูฟุ้งซ่านก็ไม่มาสอน ออกมาอย่างนี้นะ ท่านตีความผิดกันทั้งนั้น

* ถ้าเรามานั่งกรรมฐาน ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก เดี๋ยวก็ปวด เดี๋ยวก็ฟุ้งซ่าน เดี๋ยวก็เสียใจ เดี๋ยวก็ดีใจ นั่นแหละครูมาสอน ต้องเรียนตำรานี้ให้ได้เรียกว่า สมถะ ...... จิตมีอุปาทาน จิตยึดเวทนา ยึดมากปวดมาก ยึดน้อยปวดน้อย ถ้ายึดมากหนักเข้า มันก็ปวดจนน้ำตาจะร่วง นั่นแหละการแสวงหาความรู้ เรียกว่า สมถะ

* ไม่หมายความว่า นั่งสบายแล้วได้ญาณโน้นญาณนี้ นั่นแหละครูไม่มาสอน ไม่ได้เรียนเลยนะ เหมือนท่านเป็นนักเรียน ครูไม่มาสอนสบายดี นั่งเล่นคุยกันทั้งชั้น ไม่ได้ความรู้อะไรเลยใช่ไหม พอครูเข้ามาสอน ก็ปวดหัวแล้ว อ้ายนั่นก็ยากอ้ายนี่ก็ยาก เพราะยังไม่เคยเรียน ยังไม่เข้าใจ ครูก็ดุ แต่ท่านได้ความรู้กลับไป


๒.๒.๔. กำหนด

* “หนอ” เป็นภาษาไทยแปลมาจากภาษาบาลีว่า “วต” เป็นภาษาธรรม สมเด็จพระศรีนครินทราฯ ทรงถามว่า ไม่ใช้ “หนอ” ได้ไหม ท่านเจ้าคุณอาจารย์อธิบายว่า “หนอ” หรือ “วต” สามารถตัดกิเลสได้ เพราะเป็นการยึดเหนี่ยวใจ ให้อยู่กับสติ จึงใส่ “หนอ” ไว้ ถ้าไม่ใส่ “หนอ” ไว้ จิตใจมันไม่ค่อยอยู่ มันวิ่งออกไปข้างนอกมากมาย หมายความว่าเพื่อต้องการ ให้จิตช้าลง ถ้าไม่มี “หนอ” แล้ว กำหนดไม่ได้ พอทำได้แล้ว ราคาวิเศษหลายล้านจริง ๆ ผมรับรองได้ “หนอ” นี่แหละเป็นการกระตุ้นเตือนจิตให้เข้าไปผนวกบวกกับสติได้ง่าย เป็นการล้างจิตให้เยือกเย็น โดยมีสติสัมปชัญญะ เป็นการดึงจิตให้อยู่กับที่ได้

* การเจริญกรรมฐานที่วัดอัมพวัน ไม่ใช่มานั่งหลับตาไปสวรรค์นิพพาน แต่เพื่อต้องการให้ฐานแน่น ต้องการเอาสมบัติมนุษย์ไว้ให้ครบถ้วนทุกประการ ....ต้องการฐานนี้ ถ้าท่านตั้งสติดี นำตัวเอง ตามดูตัวเอง คือสัมปชัญญะ ให้ “ตัวกำหนด” ( ขวา ซ้าย ย่าง พอง ยุบ ดีใจ เสียใจ ฯ ) นี่เป็นตัวนำ และให้ “หนอ” เป็นตัวตาม.... เรานำตัวเองก่อน แล้วตามไปดูตัวเอง คือ สัมปชัญญะปัพพะ รู้ตัว รู้ทั่ว รู้นอก รู้ใน รู้กาลเทศะ รู้จักเด็ก รู้จักผู้ใหญ่ รู้จักการอ่อนน้อมถ่อมตน รู้กตัญญู รู้เหตุ รู้ผล รู้ข้างต้น รู้ชนปลาย รู้บาป รู้บุญ รู้คุณ รู้โทษ รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ ต้องรู้อย่างนี้ ถึงจะเป็นมนุษยชาติ

* กำหนดทุกอิริยาบถเรียกว่า “เก็บอารมณ์” จำไว้ให้ได้ .... เห็นหนอ ตั้งอยู่ ดับไป ไม่ไปสนใจในรูปนั้น ก็เรียกว่าเก็บอารมณ์ .... เสียงหนอ เขาจะสรรเสริญเยินยอ หรือแช่งด่า ก็เก็บอารมณ์ไว้ .... คือไม่ไปรับอารมณ์ เรียกว่าเก็บอารมณ์ .... เก็บอารมณ์ที่ถูกต้องก็คือ กำหนดจิตให้ได้ในอารมณ์ปัจจุบัน ถ้ากำหนดไม่ได้ในปัจจุบัน ไม่เรียกว่าเก็บอารมณ์ .... เขาด่า เขาว่า ออกเผชิญหน้าเลย อย่างนี้แสดงว่า ไม่เก็บอารมณ์ .... อย่าเข้าใจผิด ไปเก็บเนื้อเก็บตัว ไม่ดูโลก ไม่ดูคน หรือไปนั่งในห้องมืด ไม่ต้องเจอใครเลย

* เราประสบการณ์กับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ประสบมาก กำหนดได้มาก จะได้ตำรามาก ถ้าเราไปอยู่ห้องมืด มันมองไม่เห็นใครเลย มันไม่ได้ตำรา

* เวลาตักมาก็กำหนดช้า ๆ ตักหนอ... มาหนอ... ใส่ปากก็บอก กินหนอ... เคี้ยวหนอ... กลืนหนอ... นี่ขันธ์ทำให้เราแจ้งในการรับประทานอาหาร

* การกำหนดนี่สำคัญมาก กำหนดพองหนอ ยุบหนอ ถ้าทำได้คล่องแคล่วแล้วนะ ทำอะไรว่องไวหมด ที่เราทำช้า ๆ ต้องการฝึกให้มีสติ

* อยากหลับ กำหนดที่คอหอย ที่กลืนน้ำลาย กำหนดจิตหลับทันที ง่ายนิดเดียว
* ตัวกำหนด เป็นตัวชะตากรรม
* สติอยู่กับจิต ถ้าอยู่ไม่ได้ โยมจะแยกรูปแยกนามไม่ได้

* จิต เป็นธรรมชาติที่คิดอ่านอารมณ์ รับรู้อารมณ์ไว้ได้เป็นเวลานาน เหมือนเทปบันทึกเสียง เกิดทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตั้งสติไว้ได้ไหม เอาสติไปคุมจิตไว้ ด้วยการกำหนด

* ถ้ามันสั่นไม่หาย มันผงกไม่หาย โงกหน้าโงกหลัง เดี๋ยวขนลุกขนพองสยองเกล้าไม่หาย แก้อย่างไร... กำหนดตัวตรง กำหนดรู้หนอ..รู้หนอ..เอาจิตปักไว้ใต้สะดือ ๒ นิ้ว ปักแล้วกดลึก ๆ รับรองหยุดทันที

* บางทีศีรษะก้มตกได้นะ พองหนอยุบหนอ ก้มลงไปเรื่อย ๆ ลงไปถึงพื้นเลย ต้องแก้ โดยตั้งตัวให้ตรง กำหนดรู้หนอ..รู้หนอ..ที่ลิ้นปี่ ถ้ายังไม่หาย กำหนดลงไปที่ใต้สะดือ รู้หนอ.. รู้หนอ.. รับรองหายทันที

* กำหนดพองหนอยุบหนอ เกิดงูบลงไปเห็นแสงสี คิดว่าสำเร็จพระโสดาอีกแล้ว อะไรกันนักหนา งูบมีอยู่ ๒ อย่าง งูบไปด้วยกำลังแรงสมาธิ แต่ขาดสติ มันจึงงูบผงกโงกลงไปเลย เรียกว่าสมาธิดีแต่ขาดสติ กับอีกอย่างหนึ่ง งูบไปตอนหลับ ..... บางคนขณะกำหนดขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ยืนหลับไปเลย ยืนงูบ ...หลับไปแท้ ๆ เดินจงกรมยังหลับเลย

* พองหนอยุบหนอมันอยู่ตรงไหน กำหนดตรงนั้น ถ้างูบมากมายแก้ไม่หาย ทำอย่างไรก็แก้ไม่ได้ มันงูบเรื่อย ถีนะมิทธะเข้าครอบงำ ให้เอาจิตปักลงไปที่ใต้สะดือ ๒ นิ้ว กำหนด รู้หนอ... รู้หนอ... ที่ใต้สะดือนั่นถึงจะหาย ถ้าคิดทั่วไปหรือโกรธ ให้กำหนดที่ลิ้นปี่ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน

* ตัวสั่นขนพองสยองเกล้า ถ้ากำหนดที่ลิ้นปี่ไม่หาย ให้ถอนหายใจใหม่ พองหนอ ยุบหนอ มันยังสั่นอีก พอยกมือขึ้นพนมก็สั่น นี่เป็นปิติ มีสมาธิดี แต่ขาดสติ เกิดปิติอารมณ์ มันบางเหลือเกิน ใครกระทบอะไรไม่ได้ ขนหัวลุกเลย คนประเภทนี้ขาดสตินะ


๒.๒.๕. เวทนา

* เวลามีเวทนา ให้กำหนดเวทนาก่อน ปวดตรงไหนให้กำหนดตรงนั้น บางคนปวดศีรษะมา ๗ - ๘ ปี มานั่งกรรมฐานก็ไม่ได้กำหนดที่ปวดเลย ใช้ไม่ได้ อริยสัจ ๔ มีทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ก็แก้ที่ทุกข์ก่อน มันทุกข์ที่ปวดศีรษะ เราก็นึกมโนภาพ หลับตาเอาสติตั้งไว้ที่ศีรษะ กำหนดว่า ปวดหนอ ปวดหนอ ตายให้ตาย เดี๋ยวมันจะระเบิดขึ้นไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป หายปวดศีรษะเลย พอหายแล้วมันจะบอกว่าทำกรรมอะไรไว้ เดี๋ยวนิมิตจะบอกออกมา

* ขณะเดินต้องปักจิตไว้ที่เท้า จะปวดหัวไหล่ จะปวดคอ ก็กำหนดจิต กำหนดเวทนาก่อน ให้มันได้ เดี๋ยวมันก็จะมาพร้อมกันหมด อิริยาบถต่างๆ ก็จะมาพร้อมกัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ต้องกำหนด มีบางคนบอกปวดหัวมาก ถามว่ากำหนดหรือเปล่า ตอบว่าเปล่า ไม่ได้อะไรเลยนะ ปวดก็กำหนด ปวดหนอ ๆ ๆ ปวดหนักเข้าก็ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จะได้รู้ว่า เหตุที่ปวดนั้น เพราะไปทำอะไรมา ไปทำบาปตรงไหน เดี๋ยวมันจะบอก ปวดศีรษะนี้รักษาไม่ได้ ปวดมานานแล้ว ไม่ใช่มาปวดตอนนั่งกรรมฐาน จะได้รู้เวรกรรมบ้าง ปวดขามากก็กำหนดไป ตั้งสติไว้ เป็นตายร้ายดีตั้งสติไว้ เดี๋ยวมันจะนึกออกบอกเราเอง

* ขณะที่เดินนั้นมันเกิดเวทนา ปวดต้นคอมาก หรือปวดเอว ปวดขามาก ให้หยุดทันที ยืนอยู่ที่หยุด หยุดอยู่กับที่ อย่าเดินต่อ เลิกกำหนดอื่นทั้งหมด สำรวมจิตให้สติมาปักที่เวทนานั้น แล้วกำหนดว่า ปวดหนอ ๆ ๆ อย่าส่งจิตไปที่อื่น ให้รู้ความรู้สึกนึกคิดของเวทนา เอาอย่างนี้ก่อน .... เมื่อกำหนดเวทนารู้สภาพความเป็นจริงของมันแล้ว รู้ว่าปวดมาก ปวดน้อยอย่างไร โดยสังขารมันเกิดปรุงแต่ง มันอาศัยรูป คือสภาวะอาศัยกัน มันจึงปวดรวดร้าว เรากำหนดได้แล้ว รู้ความเป็นอยู่ของสังขารปรุงแต่งแล้ว รู้รูปรู้นามแล้ว เราก็สำรวมจิต เดินจงกรมต่อไป อย่างนี้นะ ทำให้ละเอียด

* ขณะเดินจงกรม เกิดจิตฟุ้งซ่าน เพราะเวทนายังไม่หาย จิตมันก็ออกไปคิดถึงอะไรต่าง ๆ มากมาย คิดถึงความสุข ความสบาย ความลำบาก หรือคิดว่าเลิกเดินเถอะ มันออกมาอย่างนี้ เพราะมารผจญไม่ให้สร้างความดีแล้ว .... โยมต้องฝืนใจต่อไป ถึงจะได้เห็นธรรม อย่าหยุด อย่าเลิก ให้กำหนดจิตฟุ้งซ่าน ที่ฟุ้งนั้น (อย่าลืมหยุดยืนอยู่กับที่ มือยังคงไพล่หลัง มือขวาจับข้อมือซ้าย) กำหนด ฟุ้งซ่านหนอ ๆ ๆ โดยเอาจิตปักไว้ที่ลิ้นปี่ หายใจยาว ๆ จากจมูกถึงสะดือ ฟุ้งซ่านหนอ ฟุ้งซ่านหนอ ฟุ้งซ่านหนอ สมาธิเกิด ปัญญาก็บอกออกมาว่า ที่คิดนั้นไม่เกิดประโยชน์ จิตมันก็กลับมาสู่แหล่งได้ไว นี่ปัญญาอย่างนี้นะ เสร็จแล้วเดินจงกรมต่อไป

* อุปาทานยึดเป็นการศึกษาว่า ปวดหนอ ปวดหนอ... นี่ยึดเพื่อต้องการศึกษา ต้องการเรียนรู้เวทนาจะได้อดทนต่อไป พอรู้จริงแล้ว มันก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พระไตรลักษณ์เกิด เรียกว่าวิปัสสนา มันจะเกิดมาในภายหลัง ไม่ใช่กำหนดส่งเดชไป

* ปวดหนอกำหนดไว้ ปวดแล้วก็เลิก กำลังหัวเลี้ยวหัวต่อ ก็กลับไปเลิกเสีย ไหนเลยล่ะจะได้ถึงขั้น นี่แหละทำดีไม่ถึงขั้น ดันไม่ถึงที่ สร้างความดีไม่ได้ ก็เลยไม่ได้อะไรเกิดขึ้น

* เวทนาระหว่างปฏิบัติต้องหยุด กำหนดก่อน เพื่อให้จิตมีที่ยึด จะได้ไม่เลเพลาดพาดออกไป
* นี่กฎแห่งกรรม รู้ได้จากเวทนา จำไว้ บอกให้เสียเลย บางคนปวดหน่อย เลิกเลย อีกร้อยปีก็ไม่ได้ผล

* เกิดเวทนา มันจะปวดเมื่อยทั่วสกลกาย ตั้งสติไว้ เพราะเวทนาบังคับไม่ได้ บัญชาไม่ได้ เกิดโดยสภาพของธรรมชาติ อาศัยรูปเกิด ก็มีเวทนาอย่างนี้ด้วยกันทุกคน

* อาตมานั่งนี่ปวดไหม มันก็ปวดเมื่อยเป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติของเขาเอง แต่เราไม่ไปยึดมัน แต่กำหนดปวดหนอนี่ปวดหนัก ต้องศึกษาให้รู้ พอปวดหนักเข้า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จิตไม่ไปพะวง จิตไม่เป็นอุปาทานยึดมันอีก ในเมื่อจิตไม่ยึดแล้ว มันก็สบายใช่ไหม

* ปวดศีรษะก็ไม่กำหนด ไม่สบายใจก็ไม่กำหนด โกรธใครก็ไม่กำหนด ปล่อยความโกรธไว้ค้างคืน นอนเนื่องในสันดาน เกิดอารมณ์ค้าง ไหนเลยล่ะ โยมจะดีได้ นี่แหละเวทนาชัดเจน สำหรับเชิงปฏิบัติการ

* เสียใจก็ต้องกำหนด เพราะเสียใจนี่จิตเศร้าหมอง กำหนดเสียใจหนอ ๆ ๆ สัจธรรมก็เกิดขึ้นว่า เสียใจเพราะเหตุใด มันจะบอกออกมาชัดเจน เราก็จะไม่เสียใจอีกต่อไป นี่แหละบทความของกรรมฐาน แต่โยมไม่ค่อยทำกัน

* อุเบกขาเวทนา คือ ไม่สุข ไม่ทุกข์ จิตใจมันก็ลอย หาที่เกาะไม่ได้ จึงต้องกำหนดว่า รู้หนอ .....

* มันปวดเพราะจิตไปยึด แต่จำเป็นต้องยึด เหมือนโยมขึ้นบันไดที่มีอยู่ ๙ ขั้น ก้าวขั้นที่ ๑ ก็ต้องเกาะ ก้าวขั้นที่ ๒ ก็ปล่อยมือ อย่างนี้นะ ก้าวขึ้นไปอีกก็ปล่อยอีก ต้องก้าวไปถึงขั้นสุดท้ายเลยนะ ถึงจะปล่อยได้ ก้าวต้องมีที่เกาะ เกาะต้องมีที่เก็บ ตรงนี้ลึกซึ้งมาก

* คนจะรู้กฎแห่งกรรมได้ต้องผ่านเวทนา เวทนาทำให้รู้กฎแห่งกรรม ไม่ใช่นั่งหลับตาเห็นกรรมนะ ปวดหนอ ๆ ๆ ปวดจังเลย ตายให้ตาย จิตยึดมั่นเป็นสมถะ ศึกษาเวทนาจบรายการ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเลย เพราะรู้จริงเสียแล้ว จิตจะไม่ยึดถือ ขอให้นักกรรมฐานโปรดจดจำข้อนี้ไว้ รู้จริงจะไม่ยึด รู้จริงยิ่งสงบ



Create Date : 14 พฤษภาคม 2549
Last Update : 14 พฤษภาคม 2549 16:18:59 น. 0 comments
Counter : 722 Pageviews.

ถมทอง
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 56 คน [?]








.: เรื่องล่าสุด ๒๕๕๖ :. คลิกเลยค่ะ

๒ พ.ย. [คลิปเสียง]ธรรมเทศนา ๑๔

๑๔ ต.ค. [คลิป]พิธีถวายผ้าป่า๒๐๐กอง





pub-6092438163871112
Group Blog
 
 
พฤษภาคม 2549
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
14 พฤษภาคม 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add ถมทอง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.