"อาตมาไม่ได้พูดให้โยมเชื่อ แต่พูดให้โยมไปคิด".....หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม

คนตายแล้ว ไปเกิดได้อย่างไร ๒


พระธรรมสิงหบุราจารย์

ธรรมชาติของกรรมที่กระทำนั้นเป็นสิ่งที่น่าพิศวง เพราะไม่มีตัวตนที่เราจะถูกต้องได้ จะวัดหรือจะชั่งตวงก็ไม่ได้ แต่ก็มีอำนาจแสดงกำลังความสามารถได้

เมื่อหญิงสาวและชายหนุ่มผูกสมัครรักใคร่กัน ยิ่งนานวันก็จะยิ่งเพิ่มพูนความรักมากยิ่งขึ้น เพราะเห็นใจกัน เอาอกเอาใจกันทุกอย่าง ความรักของชายหนุ่มหญิงสาวคู่นี้เป็นไปอย่างดูดดื่มมั่นคงอยู่หลายปี เมื่อจะต้องพรากจากกันไปโดยเด็ดขาดเมื่อใด ทั้งสองฝ่ายก็จะตกอยู่ในความเศร้าเสียใจอย่างสุดซึ้ง จะเฝ้าแต่ครุ่นคิดถึงกันอยู่มิรู้วาย วันละหลายสิบหรือหลายครั้ง ทั้งนี้เพราะอะไร เรื่องความรักใคร่เห็นอกเห็นใจกันเป็นอดีตไปแล้ว เป็นเรื่องเก่าที่ดับไปแล้ว เหตุใดกรรมที่ทำไว้ในอดีตจึงได้ก่อให้เกิดความทุกข์ หรือเศร้าเสียใจอยู่มิได้หยุดหย่อน

อาตมาได้กล่าวมาแล้ว อารมณ์ที่เกิดขึ้นได้นั้นจะต้องมีเหตุ จะเกิดขึ้นลอย ๆ หาได้ไม่ เช่น การที่จะเห็นได้ก็ต้องมีคลื่นแสงมากระทบตา จะได้ยินก็ต้องมีคลื่นเสียงมากระทบหู และจะคิดได้ก็ต้องมีเรื่องที่คิดนั้นมากระทบใจ เหตุนี้จึงเห็นได้ว่า ในกรณีของหนุ่มสาวเกิดความเศร้าเสียใจคู่นี้ ก็จะต้องมีเรื่องมากระทบใจเป็นแน่นอน มิฉะนั้นความเศร้าเสียใจจะเกิดขึ้นมาหาได้ไม่ แต่อะไรเล่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดอารมณ์เสียใจเหล่านั้นขึ้น

ไม่มีผู้ใดจะปฏิเสธได้เลยว่าอารมณ์เหล่านั้นมิได้เกิดขึ้นมา แต่อารมณ์เก่า ๆ คือ เจตนาหรือความปรารถนาที่จะเป็นของกันและกัน รักกัน เอาใจกัน และจะแต่งงานอยู่กินด้วยกันนั่นเอง เป็นเหตุเป็นปัจจัย จิตจึงได้สร้างให้เห็นหน้า เห็นกิริยาท่าทาง เห็นความดีของแต่ละฝ่าย อารมณ์เก่า ๆ เหล่านั้น คือ กรรมแต่อดีตที่ดับไปแล้วนั่นเอง แต่มิได้สูญหายไปไหน อารมณ์เก่า หรือ กรรมเก่า หรือ ความปรารถนาเก่านั้นเองได้เกิดกำลังอำนาจขึ้น กำลังอำนาจนี้ได้มากระทบจิตอยู่เสมอมิได้หยุดหย่อน ซึ่งกระทำให้กรรมที่ทำไว้แล้วนั้น กลับยกขึ้นมาสู่อารมณ์ใหม่อีก ภาพเก่า ๆ ก็ได้ถูกสร้างขึ้นใหม่ ซ้ำ ๆ ซาก ๆ ทำให้มองเห็นหน้าคู่รักที่กำลังยิ้มอย่างหวาน เห็นความน่ารักน่าเอ็นดู เห็นความเอาอกเอาใจ หรือความเสียสละของแต่ละฝ่าย ภาพประทับใจทั้งหลายแหล่ ก็ได้ถูกยกขึ้นมาปรากฏอยู่เฉพาะหน้า เหมือนกำลังดูภาพยนตร์ หรือมีเสียงมากระซิบอยู่ที่ข้างหูว่ารัก รักมิได้หยุดหย่อนเลย

การที่อาตมานำตัวอย่างนี้ขึ้นมาแสดง ก็เพื่อจะให้ท่านได้เห็นกำลังของกรรม กำลังของความปรารถนาหรือตัณหาว่า แม้มันไม่มีตัวตนก็ดี แม้มันจะเกิดขึ้นในอดีตและดับไปแล้วก็ดี มันก็ยังมีความสามารถที่จะแสดงออก ซึ่งการกระทบกับจิตอันก่อให้เกิดอารมณ์ขึ้นได้ มิได้หยุดหย่อน ทั้งนี้เพื่อให้ท่านได้เห็นหน้าตาไว้เพียงนิดเดียวก่อน กำลังของกรรมหรือตัณหานี้ยังมีกว่านั้นมากมายนัก สามารถสร้างภพสร้างชาติก็ยังได้อีก และคนที่ตายแล้วไปเกิดก็ด้วยต้องอาศัยกำลังของกรรมนี่เองผลักดัน ทั้งมิได้สืบต่อไปแต่จิตอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ด้วยอำนาจของกรรมหรือตัณหานี้ ยังมีอานุภาพสร้างรูปขึ้นในภพใหม่ได้ด้วย แต่เพื่อให้เข้าใจง่าย อาตมาขอนำวิชาทางโลกเข้ามาประกอบด้วย

ร่างกายของเรานี้ คือ รูปหรือวัตถุ เมื่อนักวิทยาศาสตร์ย่อยให้เล็กลง ๆ ส่วนที่เล็กที่สุด ได้แก่ปรมาณู ปรมาณูประกอบด้วยนิวเคลียร์ อยู่ตรงศูนย์กลาง มีอนุภาคโปรตอน คือ ประจุไฟฟ้าบวก และมีอีเล็กตรอน ประจุไฟฟ้าลบ วิ่งวนอยู่รอบแกนกลาง แล้วยังมีอนุภาคอีกชนิดหนึ่งที่ไม่มีประจุไฟฟ้าเลย เรียกชื่อว่า นิวตรอน

เมื่อว่าโดยรูปหรือวัตถุแล้ว ร่างกายของเรานี้ก็ไม่มีอะไรนอกจากประจุไฟฟ้าและพลังงาน ตรงตามทฤษฎีของไอนสไตน์นักวิทยาศาสตร์ และนักคำนวณผู้ยิ่งใหญ่ของโลกในขณะนี้ ซึ่งได้กล่าวว่า พลังงานก็คือสสาร และสสารก็คือพลังงาน มันเป็นการน่าประหลาดมหัศจรรย์เพียงใด ที่ร่างกายโต ๆ ที่มองเห็นและสัมผัสได้ของคนเรานี้ มาจากพลังงานที่มองไม่เห็น สัมผัสไม่ได้ ชั่งตวงก็ไม่ได้

อาตมาได้กล่าวถึงรูปและวัตถุจากวิชาการทางโลกมาเล็กน้อยแล้ว อาตมาจะขอกล่าวถึงรูปหรือวัตถุทางพระพุทธศาสนาให้ท่านฟังดูบ้างว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงย่อยวัตถุทั้งหลายออกเป็นอย่างไร

พระองค์ทรงสอนว่า เม็ดข้าวสารเม็ดหนึ่ง เมื่อแยกออกเป็น ๗ ส่วน ส่วนหนึ่งนั้นก็จะเท่ากับหัวของเหา ใน ๑ หัวของเหานี้ย่อยออกไปอีก ๓๖ ส่วน ๑ ส่วนก็จะเป็นลิกขาณู ๑ ลิกขาณู ก็ย่อยออกไปอีก ๓๖ ส่วน ส่วน ๑ ส่วนนี้ก็จะเป็นรถเรณู ๑ รถเรณูนี้ ย่อยออกไปอีก ๓๖ ส่วน ก็จะเป็นตัชเชรี ใน ๑ ตัชเชรีนี้ย่อยออกอีก ๓๖ ส่วน แล้ว ๑ ส่วนนั้นจะเป็น ๑ อณู และ ๑ อณูนี้ย่อยออกเป็น ๓๖ ส่วน ๑ ส่วนนั้นก็จะได้แก่ ๑ ปรมาณู

อาตมาไม่สามารถจะตอบได้ว่า คำว่า ๑ ปรมาณูของทางวิทยาศาสตร์ กับ ๑ ปรมาณูของธรรมะนั้นแตกต่างกันเท่าใด แต่ขอให้ท่านลองคูณดูว่า ทางธรรมมะนั้นย่อยออกไปจากหัวของเหาจนถึงปรมาณูนั้นจะเป็นขนาดไหน ในขณะนี้เราไม่สามารถที่จะเห็นหรือถูกต้องได้แล้ว แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงเป็นรูปอยู่ คือเป็นรูปที่สุขุมละเอียดมาก และนอกจากนี้พระองค์ยังแสดงต่อไปว่า ใน ๑ ปรมาณูนั้น ทุก ๆ ปรมาณูโดยมิได้ยกเว้น ย่อมจะมีธาตุ ปฐวี อาโป เตโช วาโย ได้แก่ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม (โปรดทำความเข้าใจในธาตุ ๔ ตามหลักพระพุทธศาสนาด้วย มิได้มีความหมายตรงไปตามตัวหนังสือ เช่น ธาตุน้ำ ก็ไม่ใช่น้ำที่เราดื่ม เพราะธาตุน้ำเป็น สุขุมรูป มองไม่เห็น สัมผัสไม่ได้เป็นต้น) แล้วยังมีวรรณะ คันธะ รสะ โอชะ คือ รูปร่างหรือสี มีกลิ่น มีรส และโอชะ (หมายถึงร่างกายย่อยให้เป็นประโยชน์ได้) ดังนั้น ๑ ปรมาณูจึงมี ๘ เรียกว่า อวินิพโภครูป ๘ และพระองค์ยังได้สอนต่อไปว่า ปรมาณูทั้งหลายเหล่านั้นหาได้คิดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่ แม้เราจะเห็นวัตถุใดเป็นแท่งทึบ ปรมาณูทุกปรมาณู ย่อมถูกคั่นด้วย ปริเฉทรูป คือ ช่องอากาศหรือช่องว่าง นั่นคือรูปทั้งหลายที่เราเห็นเป็นแท่งทึบนั้น แท้จริงมีรูปโปร่งโดยตรง

พระองค์ทรงสอนเรื่องปรมาณู ก็มิได้มีความปรารถนาจะสอนให้ศึกษาวิชาสรีรวิทยา หรือให้ทำลูกระเบิดปรมาณูเพื่อที่จะได้ทิ้งใส่กัน พระองค์ปรารถนาจะชี้ให้เห็นถึงความไม่แน่นอนคงทนของรูป เพราะย่อมเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ มิได้หยุดนิ่ง อย่าได้ยึดถือเป็นจริงเป็นจังมั่นคง และเพื่อไม่ให้หลงงมงาย เชื่อเฉพาะที่ตามองเห็นเท่านั้น ถ้าเชื่อเพียงเท่านั้นก็จะได้ชื่อว่าโง่เขลา มองไม่เห็นความจริงของธรรมชาติ แล้วก็หาว่าธรรมชาตินั้นเจ้าเล่ห์เจ้ามายา และยิ่งกว่านั้น พระองค์ต้องการแสดงสภาวะของรูปเหล่านี้ว่า กรรมหรือตัณหาย่อมมีอานุภาพสร้างรูปอันประณีตนี้ ในรูปของปรมาณูหรือในรูปของพลังงาน ในขณะที่ปฏิสนธิตั้งต้นในภพใหม่ได้ด้วย แต่ส่วนจะสร้างรูปอะไรในภพใหม่ได้อย่างไรนั้น จะได้กล่าวต่อไป

ได้กล่าวมาแล้วว่า จิตนั้นเป็นธรรมชาติที่รับอารมณ์ มีอารมณ์อยู่เสมอ และอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นก็ด้วยเหตุต่าง ๆ กัน แต่สำหรับคนที่ใกล้จะตาย อารมณ์เกิดขึ้นในขณะใกล้ตาย เรียกว่า กรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ คตินิมิตอารมรณ์

๑ . กรรมอารมณ์ ผู้ใดทำกรรมอะไรไว้ ไม่ว่าจะดีหรือชั่วก็ตาม เมื่อทำไว้มาก ๆ กรรมเหล่านั้นก็มักจะกระทบกับจิต ทำให้เกิดอารมณ์ขึ้น คือ ทำให้จิตได้สร้างเป็นมโนภาพ โดยอาศัยอานุภาพของกรรมในอดีต ให้เป็นไปต่าง ๆ นานา เป็นต้นว่า
- ฆ่าสัตว์มาก ๆ ก็มักจะเห็นการฆ่าสัตว์ เช่น ยิงนก ตกปลา
- ทำบุญให้ทานมาก ๆ หรือรักษาศีล เจริญภาวานา ก็มักจะเห็นการทำบุญ ให้ทาน อารมณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็น กรรมอารมณ์

๒ . กรรมนิมิตอารมณ์ บุคคลผู้ใกล้จะตายเห็นนิมิตต่าง ๆ อาจจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ได้ เช่น
- เห็นอุปกรณ์การทำกุศล หรืออกุศลที่ตนได้เคยกระทำมา เห็นธงทิว เครื่องตกแต่ง หรือขบวนแห่ บวชนาค ทอดกฐิน ซึ่งเป็นกุศล
- ทางฝ่ายอกุศลก็เห็น แห อวน มีดไม้ เครื่องดัก หรือจับสัตว์ เห็นเครื่องมือการพนัน หรือคิดอะไร ทำอะไร ก็มองเห็นเป็นเลขท้าย ๓ ตัว อารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเรียกว่า กรรมนิมิตอารมณ์

๓ . คตินิมิตอารมณ์ บุคคลผู้ใกล้จะตายเกิดนิมิตขึ้น เห็นถ้ำ เห็นเหว เห็นปล่อง เห็นการทรมานสัตว์ก็ดี หรือเห็นปราสาทราชวังที่ทำด้วยทอง เห็นราชรถอันวิจิตร บางทีไม่มีในเมืองมนุษย์ก็ดี อารมณ์ที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า คตินิมิตอารมณ์

สัตว์ทั้งหลายขณะที่ใกล้จะจุติ คือ ตาย จะต้องเกิดอารมณ์ขึ้น ไม่กรรม ก็กรรมนิมิต หรือคตินิมิต อันใดอันหนึ่ง สัตว์ที่จะตายจะไม่เกิดอารมณ์ขึ้นเลยนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะตายช้าหรือโดยทันที อย่างไรก็ตาม ทั้งนี้ก็เพราะอารมณ์กรรมนั้น ๆ ย่อมเป็นกำลังงานอันสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการปฏิสนธิขึ้น กรรม กรรมนิมิต และคตินิมิตนั้น เป็นอารมณ์ครั้งสุดท้ายในชาตินั้น ๆ ที่ทรงอิทธิ ทำให้มีภพชาติสืบต่อไป

อารมณ์ที่เกิดขึ้นครั้งสุดท้ายนี้เป็นที่หมายได้แน่นอนว่าจะต้องไปเกิดตามที่ตนได้เห็น เหมือนเราทำแบบแปลนแผนผังไว้แล้ว ปลูกสร้างที่อยู่อาศัยตามแบบแปลนนั้น ๆ เช่น
- ผู้ที่จะไปเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมเห็นครรภ์ของมารดา
- ผู้ที่จะไปเกิดยังเทวภูมิ ย่อมเห็นเทพยดา นางฟ้า หรือวิมาน
- ผู้ที่จะไปเกิดในนรก ก็ย่อมเห็นการเผาผลาญสัตว์ เห็นเปลวไฟ
- ผู้ที่จะไปเกิดเป็นเปรต ย่อมเห็นปล่อง เห็นหุบเขาอันตกอยู่ในความืดมิด
- ผู้ที่จะไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็ย่อมจะเห็นสัตว์ หรือเห็นเชิงเขา ชายน้ำ เป็นต้น

ทุกคนก็มีจุดหมายปลายทาง คือ ความตาย ไม่ว่าพระราชา หรือยาจก ไม่ว่าเทวดา หรือสัตว์นรก ไม่เลือกว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เป็นหัวเลี้ยวหัวต่ออันสำคัญ สำหรับผู้ที่ฉลาดในเรื่องของชีวิต ควรจะต้องศึกษาให้รู้ เมื่อเป็นเช่นนี้การศึกษาเรื่องความตาย จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่ง จะได้ชื่อว่าไม่ตกอยู่ในความประมาท เพราะศึกษาเล่าเรียนเรื่องความตายเสียให้เข้าใจดีแล้ว ก็ย่อมมีหวังอยู่เป็นอันมากที่จะไปเกิดในสุคติภูมิ
การมองดูคนไข้ที่ใกล้ตาย จะแสดงกิริยาอาการต่าง ๆ แม้จะทายที่ไปของผู้นั้นไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ก็จริง แต่ก็มีส่วนถูกเป็นอันมาก ด้วยการที่คนไข้เกิดอารมณ์ขึ้นเหมือนความฝัน ภาพนั้นย่อมชัดเจนแจ่มใสมาก จิตของคนไข้จะมีความยินดีหรือตกใจกลัว ก็ย่อมจะมองเห็นจากการแสดงกิริยาอาการต่าง ๆ เช่น ถ้าคนไข้เห็นนายนิรยบาลถือหอกโตเท่าลำตาล กำลังเงือดเงื้อจะพุ่งลงมาทรวงอก หรือเห็นน้ำทองแดงกำลังเดือดพล่าน จะไหลเข้าในปาก หรือเห็นแร้งกา ๓ ตัวโต มีปากเป็นเหล็กกำลังจะฉีกเนื้อของตัวกิน หรือเห็นอสุรกายโตใหญ่ราวกับภูเขาดำทมิฬกำลังผ่านเข้ามาทำร้าย เมื่อคนไข้เห็นเช่นนี้ก็จะมีความตกใจโอดครวญด้วยเสียงอันดัง และจะแสดงอาการหวาดหวั่นสะดุ้งกลัวอย่างน่าสงสาร หรือแลบลิ้นปลิ้นตาร้องโวยวายให้คนช่วย เช่นนี้อบายภูมิก็มีหวังได้ ถ้าคนไข้เห็นนิมิตที่มาปรากฎนั้น เป็นพระ เป็นเณร คนให้ทาน คนไข้ก็จะยิ้มย่องผ่องใส หน้าตาอิ่มเอิบหรือหัวเราะ เช่นนี้สุคติก็มีหวังได้

เมื่อเราเอื้อมมือไปหยิบอะไรอย่างหนึ่งบนโต๊ะที่อยู่ข้างหน้า ตลอดเวลาตั้งแต่เริ่มเคลื่อนมือไป จิตย่อมจะสั่งการโดยตลอด เหตุนี้เองถ้าหากมือที่เอื้อมไปนั้นยังไม่ถึงสิ่งของที่ต้องการ เกิดมีเสียงเอะอะขึ้น จิตก็สั่งให้หันไปดูที่เสียงนั้น มือที่เอื้อมก็จะค้างอยู่ คือ เกร็ง โดยทำนองเดียวกันนี้ คนที่ใกล้จะตายเมื่อเกิดอารมณ์ขึ้นครั้งสุดท้าย ไม่ว่าจะยินดีหรือตกใจก็ตาม ย่อมแสดงกิริยาท่าท่างน่ากลัว หรือยิ้มแย้มทันที จุติจิต (ตาย) ก็เกิดขึ้น ซากศพของผู้นั้นก็ปรากฏอาการค้างอยู่ ซึ่งทำให้เราพอทายว่าจะไปสุคติ หรือ ทุคติ ได้เป็นส่วนมาก

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแยก กรรมที่จะเป็นเหตุนำให้สัตว์ไปปฏิสนธิ ๔ ประการ คือ

๑ . ครุกรรม (กรรมหนัก) ทางฝ่ายกุศล เช่น นำฌาน ทางฝ่ายอกุศล เช่น ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ เป็นต้น กรรมนี้เป็นกรรมหนัก มีกำลังมาก ดังนั้น เมื่อเวลาจุติคือตาย กำลังของกรรมนี้ก็จะเกิดขึ้นเป็นชนกกรรมนำไปสู่การปฏิสนธิ ไม่มีกรรมใดมาขัดขวางได้ เพราะเป็นกรรมหนัก มีกำลังมากต้องให้ผลก่อน

๒ . อาสันนกรรม (กรรมใกล้ตาย) บุคคลใกล้จะตายจะได้รับอารมณ์อะไรก็ได้ที่เกิดขึ้นติดชิดกับความตาย เช่น ขณะนั้นเห็นพระพุทธรูป ได้ยินเสียงสวดมนต์ เป็นต้น

๓ . อาจิณกรรม (กรรมที่ทำอยู่เสมอ) ถ้าอาสันนกรรมมิได้ให้ผลแล้ว อาจิณกรรมก็จะมาให้ผล ข้อนี้คือบุคคลทั้งหลายย่อมกระทำกรรมอยู่เสมอ เมื่อเช่นนี้กรรมที่กระทำอยู่เสมอก็มีโอกาสมากที่สุดที่จะกระทบจิต ทำให้เกิดอารมณ์ขึ้น แล้วแต่อารมณ์นั้นจะเป็นกุศลหรืออกุศล

๔ . กตัดตากรรม (กรรมเล็กน้อย) ถ้ากรรมอื่น ๆ ทั้งหมดไม่ให้ผลแล้ว กรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็จะมาปรากฏในอารมณ์นำไปสู่การปฏิสนธิได้

ทั้ง ๔ ข้อนี้ ขอกล่าวแต่เพียงย่อ ๆ เพราะเกรงว่าจะเสียเวลาอ่านมากเกินไป

อารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเวลาใกล้จะตายนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแยกออกเป็นสอง คือ
๑ . มรณาสันนกาล
๒ . มรณาสันนวิถี

จิตที่ขึ้นวิถีรับอารมณ์นี้ ท่านจะเห็นว่ามี ๑๗ ขณะใหญ่ จิตแต่ละดวงมีขณะเล็ก ๓ คือ อุปปาทขณะ ฐิติขณะ ภังคขณะ ฉะนั้นในวิถีหนึ่งก็มี ๕๑ ขณะเล็กใน ๑๗ ขณะใหญ่ หรือวิถีหนึ่งนี้เกิดดับวนเวียนอยู่เป็นอันมากจึงได้ยินครั้งหนึ่ง เพราะจิตเกิดดับรวดเร็วยิ่งนัก จนเราไม่สามารถจะจับจังหวะขาดได้เลย

ดังที่ได้กล่าวมานี้ เรียกว่า มรณาสันนกาล คือ เวลาใกล้จะตาย คนไข้จะมีอารมณ์อยู่เสมอ ไม่ทวารใดก็ทวารหนึ่ง นอกจากจะถึงแก่วิสัญญี คือสลบไป มรณาสันนกาลนี้อาจเป็นอยู่เร็วหรือช้าก็ได้ เช่น วินาทีหนึ่ง หรือสัปดาห์หนึ่ง หรือหลายสัปดาห์ คนไข้ที่อยู่ในเขตนี้ มีโอกาสที่จะกลับคืนชีวิตขึ้นมาอีก เมื่อเหตุของความตายต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ยังไม่แสดงผล แต่ถ้าหากถึง มรณาสันนวิถี คือ วิถีต่อมา อันเป็นวิถีสุดท้ายของชาตินี้แล้ว ก็จะไม่มีหวังที่จะคืนชีพได้อีกเลย

ในขณะมรณาสันนกาลนี้ ถ้าเป็นเวลาหลายนาที หรือหลายวัน คนไข้ก็จะเกิดอารมณ์ต่าง ๆ ขึ้นอย่างสับสน กลับไปกลับมา ถ้าไม่มีครุกรรม คือ กรรมอันหนักแล้ว ก็จะเป็นอาสันนกรรม คือ กรรมใกล้ๆ ตาย เช่น เห็นอะไร ได้ยินอะไร หรือผู้ดูแลคนไข้จะให้อารมณ์เป็นต้นว่า เอาภาพวัดวาอารามหรือพระพุทธรูปมาให้ดู นิมนต์พระมาสวดมนต์ให้ได้ยิน บอกให้คิดถึงพระอรหันต์ ให้ระลึกถึงบุญกุศลหรือข้อธรรมะต่าง ๆ

ถ้าคนไข้เคยทำกรรมฐาน ก็ให้ทำสมถุหรือวิปัสสนากรรมฐาน ฯลฯ ถ้าคนไข้เคยศึกษา หรือเคยสนใจในธรรมะมาก่อน ควรพูดเรื่องตายเรื่องเกิด หรือให้สติอะไรก็ได้

ถ้าคนไข้ไม่ค่อยสนใจในธรรมะมาก่อน เป็นคนเหตุผลน้อย ชอบทำบุญให้ทานอย่างเดียว ไม่ชอบศึกษาธรรม หรือถ้าคนไข้มีความกลัวตายมากเป็นทุนอยู่แล้ว การให้สติดังกล่าว คนไข้รู้เท่าทัน ก็จะบังเกิดความตกใจ หรือเสียใจว่าตัวจะต้องตาย หรือคิดว่า ลูกหลานจะแช่งให้ตายเพื่อจะเอาสมบัติ หรือเกิดความอาลัยเสียดายชีวิตขึ้นมา หรือเป็นห่วงทรัพย์สินเงินทอง เรือกสวนไร่นาที่ยังมิได้แบ่งปันส่วน เมื่อตายลงก็มีหวังไปสู่ทุคติ

ในขณะมรณาสันนกาลนี้ ถ้าคนไข้ทำอกุศลมามาก คนไข้ก็จะแสดงกิริยาอาการต่าง ๆ ที่น่ากลัว บางทีก็หลายวัน เพราะได้เห็นหรือได้ยินเสียง หรือจิตได้สร้างภาพอันน่าหวาดเสียวขึ้น ถ้าคนไข้มิได้ตกอยู่ในวิสัญญี คือ สลบ หรือเข้าไปตกอยู่ในความหลง มีโมหะมากแล้ว เราก็มีหวังจะแก้อารมณ์ได้โดยวิธีการต่าง ๆ แล้วแต่กรณี แต่ถ้าคนไข้ขาดสติและหลงอยู่เสมอแล้ว ความหวังเช่นนั้นก็จะอยู่ห่างไกลหรือสิ้นหวังเอาเลยทีเดียว แต่ถึงอย่างไรก็ดี ผู้ที่พยาบาลคนไข้ที่มีใจอารี มีจิตเป็นกุศลก็ย่อมจะพยายามจนสุดความสามารถ เพราะเสียสละเวลาเพียงเล็กน้อยนั้น อาจจะให้ประโยชน์อันมหาศาลแก่คนไข้ เขาย่อมไม่ให้เวลาอันเป็นนาทีทองเหล่านั้นสูญเสียไป

ในขณะมรณาสันนกาล อารมณ์ที่มักจะเกิดกับคนไข้ได้มากที่สุดก็คือ อาจิณกรรม ซึ่งได้แก่กรรมที่กระทำอยู่เสมอในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ กรรมที่ทำมาชำนาญเหล่านั้นก็มักปรากฏแก่คนไข้ เช่น เคยทำกุศลหรืออกุศลในทางใดเสมอ ๆ กรรมเหล่านั้นก็จะกระทบกับจิต ทำให้เห็นไปต่าง ๆ นานา เด่นชัด เหมือนว่าภาพนั้นเป็นจริงเป็นจังต่อหน้าต่อตา ข้อนี้ขอให้ท่านเทียบกับความฝันของท่านในคืนวันที่ความฝันนั้นชัดเจนมาก ๆ เช่น

- เห็นการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เห็นวัดวาอาราม บางทีก็แสดงกิริยาอาการออกมาด้วย คนไข้จะยิ้มแย้ม จะหัวเราะ จะเอื้อมมือไขว่คว้า ด้วยหน้าตาชื่นบาน

- ถ้าเป็นฝ่ายอกุศล ก็จะเอะอะโวยวาย จะทำท่าทางถอยหนีด้วยความหวาดกลัว
- ถ้าตกเบ็ด ล่อปลาชำนาญ ก็มักจะทำมือยก ๆ เหมือนยกคันเบ็ด
- ถ้าชอบชนไก่ ก็มักจะเอาหัวแม่มือชนกันจนเลือดออก
- ถ้าชอบฆ่าหมู ก็มักจะร้องอี๊ด ๆ เป็นเสียงหมู
- ถ้าหมั่นฆ่าสัตว์อยู่บ่อยๆ ก็มักจะเห็นสัตว์ เห็นอาวุธที่ใช้เป็นเครื่องมือประหารสัตว์ เห็นสัตว์กำลังได้รับการทรมาน เห็นเลือดไหลนอง เห็นภาพตัวเองอยู่ในกะทะน้ำร้อนที่กำลังเดือดพล่าน
- ถ้าชอบเล่นหวย ก.ข. ภาพหวย ก.ข. ก็จะปรากฏขึ้น

ในมรณาสันนกาลนี้ ถ้าคนไข้ไม่กลับฟื้นขึ้นแล้ว ก็นับว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่ออันสำคัญยิ่งของชีวิต เพราะอาจจะไปมีความสุขอย่างสุดแสนที่จะพรรณนา หรือได้รับทุกขเวทนาสาหัสก็ได้ ดังนั้นเราผู้ซึ่งยังไม่ถึงมรณาสันนกาล ก็เป็นการสมควรยิ่งนักที่จะไม่ประมาท จะต้องหมั่นกระทำอาจิณกรรมที่เป็นฝ่ายกุศลเอาไว้ จะเป็นการทำทาน รักษาศีล หรือเจริญกุศลภาวนาก็ได้ ถ้ายิ่งศึกษาธรรมะให้มาก ๆ ก็ยิ่งดี

ถ้าเดินทางไปยังที่ใดที่หนึ่งในเวลาค่ำคืนเดือนมืด ท่านก็จะต้องถือตะเกียงไปด้วย ท่านจึงจะเดินทางไปได้โดยสะดวก แต่ถ้าท่านเดินทางนี้บ่อย ๆ จนชำนาญเสียแล้ว ท่านก็ไม่จำเป็นต้องถือตะเกียงไป ท่านก็จะเดินไปได้ง่าย ๆ เกือบจะไม่ต้องคิดด้วยซ้ำว่าตรงไหนเป็นหลุมเป็นบ่อ หรือตรงไหนจะรกจะคดเคี้ยว มีก้อนอิฐก้อนหินอยู่ที่ไหนอย่างไร ท่านก็จะก้าวข้ามหลบหลีกและเลี้ยวไปได้คล่องแคล่ว โดยไม่ต้องการแสงสว่าง ทั้งนี้เพราะทางนี้เป็นทางเดินสะดวกเสียแล้ว เหตุนี้ผู้ที่มรณาสันนกาลยังมิได้มาถึง ผู้ที่มฤตยูยังไม่ได้เรียกร้องถามหา หรือผู้ที่เห็นภัยร้ายแรงในวัฏฏะ ก็ย่อมไม่ตกอยู่ในความประมาท เขาจะพยายามทำอาจิณกรรมที่เป็นฝ่ายกุศลเข้าไว้ให้ชำนาญ ให้เป็นทางเดินสะดวกทุก ๆ คืน ก่อนนอนจะกราบพระ เพื่อรักษาจิตที่กิเลสทั้งหลายได้เข้ามาเกลือกกลั้วตลอดวันมาแล้ว ให้สงบระงับเป็นสมาธิ จะตั้งจิตอธิษฐานขอให้พ่อ แม่ พี่ น้อง ครู อาจารย์ เพื่อนฝูง ไม่ว่าศัตรูหรือมิตร ตลอดจนสัตว์ทั้งหลาย จงอย่าเบียดเบียนซึ่งกันและกัน จงมีความสุขความเจริญ ขณะนี้จิตก็จะเป็นสมาธิสะอาดบริสุทธิ์ขึ้น นิสัยเห็นแก่ตัวเพราะเป็นสัญชาตญาณอย่างหนึ่งที่ติดมากับสัตว์ทั้งหลาย ก็จะหยุดยั้งลงชั่วขณะหนึ่ง กุศลก็จะประทับลงไว้ในจิต ฝุ่นละอองสีดำคล้ำทั้งหลาย ที่เข้ามายึดกันไว้ก็ได้ถูกฝุ่นละอองสีขาวบริสุทธิ์ แม้เพียงเล็กน้อยปะปนเข้าไป ทำให้ความคล้ำนั้นไม่มืดมิดสนิทจริง ๆ ต่อจากการแผ่ส่วนกุศลแล้ว ถ้าทำสมถะหรือวิปัสสนากรรมฐานต่อไปอีก ๑๐ - ๓๐ นาที หรือ ๑ ชั่วโมง ก็จะเป็นประโยชน์มากที่สุดทั้งชาตินี้ชาติหน้า

ผู้ทำอกุศลมาก ๆ บางคนเมื่อได้ศึกษาเข้าใจในสภาวธรรมแล้ว ก็มักมีความเสียใจในอกุศลที่ตนทำแล้วนั้น มักจะครุ่นคิดเป็นกังวลว่าตัวจะได้รับโทษภัยในขณะจะตายหรือในชาติหน้า การครุ่นคิดถึงเรื่องเช่นนั้นก็คือ เป็นการที่กำลังสร้างอกุศลขึ้นนั่นเอง เป็นการชักชวนอกุศล หรืออารมณ์อะไรที่ไม่เป็นที่พอใจหรือเจ็บใจที่เกิดแล้วดับแล้ว ให้เกิดขึ้นซ้ำเติมอยู่เรื่อย ๆ บางคนชอบเอาเรื่องเสียใจครั้งเก่า ๆ มาสร้างรูปใหม่ แล้วคิดเสียใจอยู่ทุก ๆ วัน เป็นการสร้างอกุศล สร้างทางเดินที่ไม่สะดวกให้แก่จิตใจ จึงไม่ควรกระทำ อกุศลที่แล้วควรจะคิดขึ้นเพียงครั้งหนึ่งคราวเดียวเพื่อเป็นบทเรียนเท่านั้น จะต้องหักใจทำลายลงได้เด็ดขาด ถ้าผู้ใดชอบคิดนึกอยู่จนชำนาญเสียแล้วจะเลิกได้ยาก ควรสร้างอารมณ์ที่เป็นกุศลทับถมให้บ่อย ๆ ด้วยวิธีการต่าง ๆ ก็จะช่วยได้มาก ยิ่งกว่านั้น เหตุการณ์ข้างหน้าที่ยังมาไม่ถึง บางคนก็ชอบคิดวาดภาพที่ไม่ดีอยู่เรื่อย ๆ เช่น กลัวจะต้องถูกออกจากงาน กลัวจะอดอยาก กลัวครอบครัวจะเดือดร้อน กลัวเจ้านายจะดุ กลัวเพื่อนฝูงจะโกรธ กลัวจะอับอายขายหน้า กลัวคนรักจะทอดทิ้ง กลัวจะเจ็บป่วย ตลอดจนกลัวความตาย ทั้ง ๆ ที่เหตุการณ์เหล่านั้นยังมาไม่ถึง และส่วนมากบางทีก็ไม่เกิดขึ้นเลย แต่เป็นเพราะตัวชอบสร้างภาพขึ้นเองจนชำนาญเป็นเหตุ
จริงอยู่ แม้ว่ามนุษย์จะฝังมั่นอยู่ในความกลัวทุกรูปทุกนามก็ตาม แต่ผู้ใดเข้าใจสภาวธรรม ผู้ใดมีศิลปในการแก้ปัญหาของชีวิตอยู่บ้าง เรื่องเล็กน้อยที่จะทำอารมณ์ให้ขุ่นมัวก็ย่อมจะเกิดน้อย ยิ่งน้อยเท่าไรยิ่งดี เพราะเป็นการฝึกจิตให้เกิดทางเดินสะดวก

บางท่านอาจสงสัยว่า ความสำคัญของคนที่จะตายนี้ขึ้นอยู่ที่ตอนใกล้จะตาย ถ้าเช่นนั้นเราก็ทำชั่ว คนโกง คอร์รัปชั้น เบียดเบียนกันให้เต็มที่ แล้วภายหลังก็หมั่นสร้างอารมณ์แก้เสียก็สิ้นเรื่อง

สำหรับข้อนี้ถ้าเข้าใจธรรมะอยู่บ้างแล้ว ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร เพราะรู้ว่ากรรมที่ทำแล้ว ๆ นั้นมิได้สูญหายไปไหน จะต้องให้ผลในวันหนึ่งจนได้ แต่การที่คนได้กระทำความชั่วมาแทบล้มแทบตาย ครั้นเวลาจะดับจิต บังเอิญมาให้อารมณ์ดีเข้าก็เลยไม่ต้องไปนรก ข้อนี้บางครั้งก็เป็นความจริง เพราะอารมณ์ที่เกิดขึ้นในบั้นปลายชีวิตนั้นก็เป็นกรรมเหมือนกัน และกรรมนั้นเป็นผู้ส่ง แต่อารมณ์ที่เกิดขึ้นเล็กน้อยนี้ ก็จะนำไปสู่สุคติได้ในเวลาไม่มาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงแสดงตัวอย่างไว้เป็นอันมากในเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ดีจะต้องแก้อารมณ์คนใกล้จะตายให้ดี ถึงแม้ว่าจะไปรับกรรมนั้นในเวลาอันสั้น เพราะอาจไปเกิดเป็นแมว ไม่นานเท่าไรตายก็จริง แต่ทว่าแมวนั้นจะไปสร้างอกุศลกรรมจับหนูกินอยู่ตลอดเวลาชั่วชีวิตของมันเพิ่มอกุศลเข้าอีก

อาตมาได้กล่าวรายละเอียดอันเป็นส่วนปลีกย่อยมากเกินไปสักหน่อย แต่คิดว่าคงจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ยังมิได้ศึกษาธรรมะมาจริง ๆ บ้าง ที่ได้กล่าวมาเป็นเรื่องในเขตมรณาสันนกาล บัดนี้ก็ได้แสดงถึงมรณาสันนวิถี ที่อยู่ติดกับความตายว่า ขณะนั้นจิตทำงานกันอย่างไร คนเราทำไมจึงตาย ขณะจุติและปฏิสนธิมีความพิสดารอย่างไรบ้าง

ได้กล่าวมาแล้วว่ามรณาสันนกาล คือ เวลาใกล้กับความตาย อาจจะอยู่ไปหลายวันก็ได้ คนไข้อาจจะหนักบ้าง เบาบ้าง หรือสลบไปบ้าง ต่อมาในตอนปลายของมรณาสันนกาล กำลังของจิตและรูปเริ่มจะอ่อนลงมากที่สุด บัดนี้คงจะมีปัญหาเกิดขึ้นว่า จิตและรูปอ่อนลงมากนั้นเพราะเหตุใด ได้แสดงมาแล้วตอนต้น ๆ ว่าการที่รูปของเรายังยืนหยัดเป็นรูปอยู่ได้นั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะ กัมมชรูป คือรูปอันเกิดแต่กรรมรักษาเอาไว้ ในที่นี้อาตมาจะไม่บรรยายให้ละเอียดนัก เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องกว้างใหญ่จะต้องใช้เวลามาก จะขอกล่าวไว้พอได้เห็นบ้าง และในตอนต่อไปเมื่อถึงรูปวิถีก็จะได้กล่าวเรื่องกัมมชรูป คือ กรรมสร้างรูปขึ้นได้อย่างไร เพิ่มเติมอีก

ถ้าท่านดูแต่ละภาพแล้วจะเห็นว่า จิตจะเกิดขึ้นรับอารมณ์นั้น วิถีหนึ่งมี ๑๗ ขณะใหญ่ และ ๕๑ ขณะเล็ก เมื่อจิตเกิดขึ้นรับอารมณ์ ๑๗ ขณะดับแล้ว รูปก็จะดับ ๑ ขณะ เพราะรูปดับช้ากว่าจิตมาก เป็นอยู่เช่นนี้ตลอดไป

ได้กล่าวมาแล้วตั้งแต่ตอนต้นว่า จิตมิใช่มันสมอง ทั้งจิตก็มิได้อาศัยอยู่ในสมอง มันสมองเป็นเพียงทางแสดงออกของจิตเท่านั้น แท้จริง จิตอยู่ในช่องหนึ่งของหัวใจที่สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงร่างกายนั่นเอง คือ หทัยวัตถุ ที่อาศัยของจิตเป็นบ่อเล็ก ๆ โตเท่าเม็ดบุนนาค และมีน้ำสีต่าง ๆ ๖ สี ประมาณ ๑ ฟายมือ อันเป็นการแสดงจริตหรืออุปนิสัยของผู้นั้น ข้อนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้มาก ท่านผู้ใดสงสัยไปถามอาตมาได้ยินดี

ที่ตั้งที่อาศัยอยู่ของจิต (มิใช่กล้ามเนื้อหัวใจทั้งหมด) นั้นประกอบขึ้นมาได้ด้วยกำลังของกรรม กรรมซึ่งเคยกล่าวมาแล้วว่า ไม่มีรูปร่างหน้าตาตัวตนนั่นเอง ได้สร้างที่ตั้งอาศัยของจิตขึ้น เรียก กัมมชรูป และกำลังของกรรมก็ปกปักรักษารูปนี้ไว้ตลอดเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ ถ้ากรรมมิได้รักษาที่ตั้งที่อาศัยของจิตไว้แล้ว จิตก็ไม่อาจตั้งอยู่ได้ ผู้นั้นก็จะถึงแก่ความตายทันที สันนกาลท้าย ๆ กัมมชรูป ทำให้หทัยวัตถุ คือ รูปอันเป็นที่ตั้งอาศัยของจิตอ่อนกำลังลงเต็มที ที่ตั้งที่อาศัยหมดกำลังที่จะทรงตัวอยู่ด้วยดี เหมือนกับรถไฟที่กำลังวิ่งมาขณะที่ถึงสะพานข้ามแม่น้ำ สะพานข้ามแม่น้ำชำรุดเสียแล้ว ดังนั้นรถไฟก็จะต้องชลอฝีจักรลง มิฉะนั้นก็จะตกจากสะพานลงไป ขณะนี้ใกล้จะถึงความตายมาก คนไข้ถูกโมหะครอบคลุมขาดสติ ความรู้สึกของคนไข้จาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย อาจจะหมดลง และเมื่อถึงท้ายวิถีของมรณาสันนกาล กัมมชรูปก็เริ่มจะดับ คือ ตามธรรมดา กัมมชรูปย่อมจะดับ และเกิดทดแทนกันอยู่ทุกขณะจิต แต่ครั้นถึงปฐมภวังค์ของมรณาสันนวิถีไปจนถึงจุติ กัมมชรูปจะดับโดยไม่มีการเกิดทนแทนอีกเลยเมื่อถึงจุติ ติดกันนั้นก็ปฏิสนธิ ต่อจากนั้นจิตก็เป็นภวังค์

กำลังของกรรมที่ส่งให้ไปปฏิสนธินั้น สืบเนื่องมาแต่มรณาสันนกาล เช่น ได้ยินเสียงพระสวดมนต์ จิตที่รับอารมณ์สวดมนต์ในมรณาสันนกาลเป็นตัวส่งให้ไปปฏิสนธิ เพราะยังมีกำลังมากกว่า ส่วนในมรณาสันนวิถีเป็นแต่รับอารมณ์กรรม กรรมนิมิต คตินิมิต มาจากมรณาสันนกาล แล้วสืบต่อไปจนถึงจุติเท่านั้น

และเพราะเหตุที่กัมมชรูปเริ่มดับ โดยไม่เกิดอีกมาตั้งแต่ ชวนะดวงที่ ๑ ในมรณาสันนวิถีถึงชวนะดวงที่ ๗ เหตุนี้จิตดวงที่ ๑๗ คือ จุติจิต (จิตดับหรือตาย) จึงได้เกิดขึ้น เพราะไม่สามารถจะตั้งอยู่ได้อีกต่อไป ทิ้งแต่ซากศพเอาไว้

ที่ได้กล่าวมาแล้ว คนเราจะมีชีวิตอยู่หรือจะตายก็ตาม จิตย่อมเกิดดับสืบต่อกันไปอยู่เช่นนั้นตามธรรมชาติ ข้อที่แปลกสักหน่อยก็อยู่ที่จุติเกิดขึ้น คือ จิตดับลงแล้วก็พ้นจากชาติเก่าร่างเก่าเท่านั้น ในทันทีนั้นก็ปฏิสนธิเลย ได้แก่การเกิดขึ้นติดต่อกันด้วยความรวดเร็วมาก โดยมิให้มีอะไรมาคั่นกลาง เหมือนกับจิตที่เกิดดับอยู่ตามธรรมดานั่นเอง ด้วยเหตุนี้คำว่าจิตล่องลอยไปเกิดก็ดี หรือ จิตท่องเที่ยวไปตามอำนาจของกรรมก็ดี จึงได้ชื่อว่าเป็นความเห็นผิด

การที่ผู้ตายไปสู่สุคติหรือทุคตินั้นก็แล้วแต่กรรม แล้วแต่อารมณ์ที่เกิดขึ้นในขณะใกล้จะตาย ดังนั้นผู้ดูแลคนไข้ที่ฉลาดในเรื่องของชีวิต และมีเมตตากรุณาจึงยอมเสียเวลา สละประโยชน์อันจะพึงได้อื่น ๆ มาช่วยเหลือให้สติแก่คนไข้ด้วยความระมัดระวัง

ถ้าคนไข้ได้เคยศึกษาธรรม ได้เคยพูดเรื่องตายมาเสมอ ๆ โดยความไม่ประมาทแล้ว การให้สติแก่คนไข้ก็ง่ายมาก แต่ถ้าคนไข้ไม่เข้าใจธรรมเลย แล้วการมีเจตนาให้สติด้วยความหวังดีจะกลับเป็นร้ายไป คนไข้บางคนพูดเรื่องตายไม่ได้ ใจไม่สบายทันที เราก็จำเป็นต้องหาเรื่องอันเป็นกุศลอื่น ๆ ที่คนไข้ชอบ คนไข้บางคนได้ยินการให้สติ ก็ทราบว่าตัวนั้นใกล้จะตาย ก็เกิดมีความเสียใจเสียดายชีวิตเป็นกำลัง มีความหวาดหวั่นต่อความตายอย่างสุดแสน หรือ คนไข้บางคนได้ยินคำว่าให้ระลึกถึงพระอรหันต์ไว้ ก็มีความโกรธแค้น โดยคิดว่าลูกหลานจะมาแช่งให้ตาย เพราะจะได้แบ่งทรัพย์สมบัติ เหล่านี้นับว่าเป็นทางนำไปสู่อบายทั้งนั้น ขณะที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้ จะต้องระมัดระวังให้จงหนัก การให้อารมณ์ที่ดีแก่คนไข้ก็มีมากมายแล้วแต่จะคิด เช่น นิมนต์พระมาสวด หาพระพุทธรูปมาตั้งให้คนไข้เห็น เล่าธรรมะหรือเรื่องอันเป็นกุศลต่าง ๆ สำหรับผู้ที่ศึกษาพระอภิธรรมมาดีแล้ว ก็เป็นการง่ายดาย เขาจะหาอารมณ์ที่ดีที่สุดของเขาเองได้เป็นส่วนมากมาตั้งแต่ต้น เพราะเขาย่อมรู้ว่าขณะนั้นสำคัญอย่างไร และรู้ว่าความตายนั้นเป็นเรื่องสมมุติกันเท่านั้นเอง จิต เจตสิก รูป ก็สืบต่อไปยังภพใหม่ชาติใหม่ ไม่เห็นจะแปลกประหลาดพิสดารน่าหวาดหวั่นอะไรสักกี่มากน้อย จะได้ยกตัวอย่างคนใกล้จะตาย คืออยู่ในมรณาสันนกาลเป็นเวลาหลายวันสักเรื่องหนึ่ง

ชายผู้นี้เป็นคนจีน อายุราว ๕๐ ปี ชอบฆ่าสัตว์อย่างทรมานเป็นประจำ สุนัขของใครเพ่นพ่านเข้ามา ต้องโดนตีตาย หรือโดนยาเบื่อ ถ้าไม่มีสุนัขของใครเข้ามา บางทีก็อุตส่าห์เอายาเบื่อไปวางถึงถนนหลวง ช่วยกระทรวงสาธารณสุข สัตว์ที่ใช้กินเป็นอาหาร ก็ชอบฆ่าสัตว์สด ๆ ร้อน ๆ เช่น จะกินปลาก็ต้มน้ำให้เดือด แล้วเอาปลาเป็น ๆ ใส่ลงไป ฟังเสียงมันดิ้นด้วยความร้อนรน เหมือนได้ฟังเสียงดนตรีอันไพเราะ บางทีก็เอาปลาลงไปทอดแล้วกดให้แน่น เรามองเห็นตาปลาแจ๋วแหว๋ว กล้ามเนื้อด้านบนยังเต้นอยู่ไปมา ถ้าไก่ตัวใดเป็นโรคระบาด เขาจะติดไฟเตาถ่านให้ลุกแดง แล้วจับรวบขาทั้งสอง เอาศีรษะปักกดลงไปในเตาอันร้อนระอุนั้น ทีละตัวๆ จนกว่าจะหมด เป็นเคล็ดที่จะแก้โรคระบาด อาชีพของเขาฝืดเคืองลงมามาก ต้องทำงานหนักอยู่ตลอดเวลา

ต่อมาตอนที่เขาจะตายนั้น เขาเริ่มเป็นบ้าทีละน้อย กลางวันชอบนอนตากแดดเสมอ กลางคืนตี ๑ ตี ๒ ก็ชอบลงไปลอยคออยู่ในน้ำ ปลิงเกาะกัดโลหิตไหลโทรม เป็นอยู่เช่นนี้วันละหลายหน พวกเราจะต้องช่วยกันจับ เขาชักดิ้นชักงออยู่ครั้งละนาน ๆ อาหารกินได้น้อยที่สุด ญาติพี่น้องก็ไม่เอาใจใส่ เราคนภายนอกที่มีจิตเมตตาช่วยกันเอง ก่อนเมื่อจะตายนั้นตลอด ๓ วัน ๓ คืน ตัวกระดุกกระดิกไม่ได้เลย อาหารและน้ำ อาศัยพวกเราหยอดให้ ตาพองแข็งอยู่ตลอดเวลา หายใจรัว ๆ แสดงว่ายังไม่ตาย ขณะนี้คงอยู่ในมรณาสันนกาล ถ้าว่าตามหลักแล้ว กิริยาอาการที่เป็นมาแต่ต้นชวนให้เห็นว่าได้อารมณ์ที่ไม่ดี ที่หน้าแสดงความหวาดเสียวอยู่ตลอดเวลา แต่ร้องไม่ออก บุคคลผู้นี้ขอให้ท่านทายว่าตายแล้วจะไปไหน

ในขณะมรณาสันนกาลนั้น คนไข้ยังมีความรู้สึกตัวอยู่ นอกจากจะอยู่ในวิสัญญี คือ สลบ แต่แม้ว่าจะมีความรู้สึกทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย อยู่ก็ดี แต่มีกำลังอ่อนมาก การที่มีกำลังอ่อนมากนั้นก็เพราะว่า กัมมชรูป คือรูปอันเกิดขึ้นจากกรรมเป็นผู้สร้าง ได้แก่รูปอันเป็นที่ตั้งของจิตนั่นเอง และเมื่อรูปอันเกิดเป็นที่ตั้งของจิตมีกำลังน้อย การแสดงออกของจิตก็อ่อนกำลังลงไป แต่เมื่อถึงมรณาสันนวิถี วิถีสุดท้ายที่อยู่ติดกับความตายแล้ว คนไข้จะไม่รู้สึกจากทวารทั้ง ๕ เลย ไม่ว่าจะทุบตีหรือเอาไฟไปเผา แต่อย่างไรก็ดี การให้สติแก่คนไข้ก็ต้องเริ่มให้กันตั้งแต่ตอนต้น ๆ ของมรณาสันนกาลก็ยิ่งดี ในขณะที่สติของคนไข้ยังดีอยู่ อารมณ์นั้นจะได้สืบต่อไปจนถึงจุติ

ทันทีที่จุติ (ตาย) เกิดขึ้น ปฏิสนธิก็สืบต่อกันไปไม่ขาดสาย เหมือนน้ำที่ไหลติดต่อกันในลำธาร ไม่มีอะไรมาคั่นกลางเลย แม้ว่าจะตายที่นี่แล้วไปเกิดที่เชียงใหม่ เพราะจิตเกิดดับเร็วยิ่งนัก ลัดนิ้วทีเดียวก็ถึงแสนโกฏิขณะ ฉะนั้น...

ทันทีที่ "จุติจิต" เกิดขึ้น จิตที่สืบติดต่อกันนั้น ก็คือ "ปฏิสนธิจิต" ด้วยอำนาจของกรรมเป็นตัวส่ง

มนุษย์ที่ยังมีกิเลสตัณหาอยู่นั้น จะเป็นกัลยาณชนหรือปุถุชนของกรรมเป็นตัวส่ง

มนุษย์ที่ยังมีกิเลสตัณหาอยู่นั้น จะเป็นกัลยาณชนหรือปุถุชนก็ตาม จะดีหรือชั่วก็ตาม เมื่อตายแล้วก็ต้องเกิดทั้งนั้น ไม่มีใครไม่เกิด เพียงแต่จะเกิดไปเป็นอะไรเท่านั้น จะเป็นเทวดา มนุษย์ สัตว์นรก เดรัจฉาน เปรต หรืออสุรกาย แล้วแต่กรรมของแต่ละบุคคล...........................

ที่มา : //www.jarun.org/




 

Create Date : 21 มิถุนายน 2549
0 comments
Last Update : 21 มิถุนายน 2549 23:33:12 น.
Counter : 997 Pageviews.


ถมทอง
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 56 คน [?]








.: เรื่องล่าสุด ๒๕๕๖ :. คลิกเลยค่ะ

๒ พ.ย. [คลิปเสียง]ธรรมเทศนา ๑๔

๑๔ ต.ค. [คลิป]พิธีถวายผ้าป่า๒๐๐กอง





pub-6092438163871112
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2549
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
21 มิถุนายน 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add ถมทอง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.