"อาตมาไม่ได้พูดให้โยมเชื่อ แต่พูดให้โยมไปคิด".....หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม
คนตายแล้ว ไปเกิดได้อย่างไร ๑


พระธรรมสิงหบุราจารย์

คำว่า “กรรม” หมายความว่า การกระทำกรรมในชาตินั้นแล้วให้ผลในชาตินั้น การแสดงการให้ผลของกรรมในชาติเดียวกันเป็นการแสดงง่าย มีเหตุผลอ้างอิงมากมาย และบางเรื่องสามารถพิสูจน์ให้เห็นจริงได้ไม่ยากนัก แต่สำหรับเรื่องกรรมที่กระทำในชาติก่อน นำผลมาให้เราในชาตินี้ก็ดี หรือกรรมที่กระทำในชาตินี้ แล้วไปแสดงผลของมันชาติหน้าก็ดี เรื่องนี้เป็นเรื่องเข้าใจยากที่สุด และยิ่งกว่านั้น ก่อนที่จะเข้าใจว่ากรรมที่กระทำในชาตินี้ไปแสดงผลของมันในชาติหน้าได้ ก็จำเป็นจะต้องเข้าใจเรื่องตาย - เรื่องเกิดเสียก่อนด้วยเหตุนั้น

โอกาสนี้ อาตมาจึงได้รวบรวมนำเอาเรื่องการเกิดการตายของสัตว์มาชี้แจง เพื่อปรารถนาจะให้ท่านได้ทราบว่า กรรมที่กระทำในชาตินี้ไปแสดงผลในชาติหน้าได้อย่างไร ถ้าหากเข้าใจในเรื่องการเกิดการตายดีแล้ว การกล่าวเรื่องกรรมที่นำไปให้ผลในภพหน้าก็จะเป็นการง่าย แต่ปัญหาของเรื่องการเกิดการตายนี้ ไม่ใช่เป็นปัญหาเล็กน้อย ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์มาจนกระทั่งบัดนี้ ก็มีนักปราชญ์ราชบัณฑิตหรือศาสดาเป็นอันมาก ได้พยายามคิดค้นหาทางที่จะให้ทราบว่าคนตายแล้วสูญไปเลย หรือคนตายแล้วไปเกิดได้อีก เอาอะไรไปเกิด ไปอย่างไร และเกิดอย่างไร การค้นคว้าในเรื่องเหล่านี้สืบต่อมาจนนับชั่วอายุคนไม่ได้ จนถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังเป็นปัญหาโลกแตกอยู่นั่นเอง หาได้คลี่คลายออกไปจนถึงสามารถยืนยันได้ไม่

เรื่องคนตายไปแล้วจะไปเกิดหรือไม่นั้น มีความเข้าใจกันไปหลายกระแส บางท่านก็เข้าใจว่าร่างกายของคนเรานี้ประกอบขึ้นด้วยรูปหรือวัตถุ ดังนั้นเมื่อคนตายร่างกายก็ฝังจมดินไป ไม่สามารถจะไปเกิดอีกได้ บางท่านเข้าใจว่าตายแล้วก็ต้องไปเกิดอีก

ในบรรดาผู้ที่เข้าใจว่าตายแล้วไปเกิดอีกได้นี้ ก็มีความเข้าใจแตกแยกออกไปมาก เช่น ผู้ตายจะต้องไปเกิดอยู่ในสวรรค์หรือในนรก ก็แล้วแต่ผลแห่งการกระทำของตน และสวรรค์นรกนั้นได้มีผู้สร้างขึ้น สำหรับลงโทษ หรือให้รางวัลตลอดนิรันดรโดยไม่กลับมาเป็นมนุษย์อีก บางท่านเข้าใจว่าคนที่ตายจะต้องไปเกิดเป็นคนเท่านั้น ไปเกิดเป็นสัตว์ไม่ได้ แต่บางท่านว่าไปเกิดเป็นคนหรือสัตว์ก็ได้ บางคนเข้าใจว่า จิตหรือวิญญาณ หรือเจตภูตนี้เป็นอมตะ เมื่อร่างกายของคนแตกดับไปแล้ว วิญญาณก็จะออกจากร่างกายล่องลอยไปเกิดใหม่ บางคนที่ศึกษาวิชาทางโลก ทางวิทยาศาสตร์มามากๆ ก็เข้าใจว่า ถ้าบุคคลใดมีลูกเต้าสืบต่อไปอีกเรื่อยๆ ก็จะไปเกิดได้อีกตามหลักของชีววิทยา เพราะลูกทุกๆ คนนั้นก็สืบต่อมาจากเซลล์ของพ่อแม่นั่นเอง เมื่อสืบต่อไปหลายๆ ชั่วคนแล้ว ชีวิตเดิมก็จะปรากฏขึ้นมาอีก แต่บางคนกลับมีความเห็นว่า ร่างกายนั้นประกอบไปด้วยรูปหรือวัตถุ ความรู้สึกนึกคิดนั้นเป็นหน้าที่ของมันสมอง ซึ่งได้วิวัฒนาการทีละน้อย ๆ มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ จนมีอำนาจในการนึกคิดและรู้สึกได้ แต่เมื่อตายแล้วก็เป็นอันหมดเรื่องกัน ไม่สามารถที่จะเกิดได้อีกเลย

เรื่องนี้เป็นรื่องมากคนก็มากความคิดเห็น แม้เจ้าของลัทธิศาสนาใหญ่ ๆ หลายศาสนา ก็มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน เพราะเรื่องคนเกิดหรือคนตาย เราเห็นได้ง่าย ๆ แต่เรื่องตายแล้วไปเกิดหรือไม่เป็นเรื่องลึกลับ เป็นปัญหาโลกแตกมาจนบัดนี้

สำหรับคำสอนของพระพุทธศาสนานั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนว่า คนตายแล้วไปเกิดอีกได้ และจะไปเกิดเป็นมนุษย์ หรือเป็นสัตว์อีกก็ได้ แต่อย่างไรก็ดี พระองค์มิได้สอนไว้เฉย ๆ ลอย ๆ ว่าคนตายแล้วไปเกิดได้เท่านั้น หากแต่ให้รายละเอียดในเรื่องนี้ไว้เป็นขั้นเป็นตอนอย่างพิสดาร ถึงวิธีไปเกิดได้อย่างไร มีอะไรบ้าง ไปอย่างไร เกิดอย่างไร พระองค์ได้สอนไว้ยากง่ายเป็นขั้น ๆ แล้วแต่วุฒิของบุคคลผู้สนใจ หากมีพื้นฐานมาดีก็สามารถเข้าใจได้ละเอียดขึ้น

แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนว่า คนตายไปแล้วไปเกิดได้ก็ดี แต่ความคิดเห็นของศาสดาอีกหลายท่านนั้น ก็ตรงกันในหลักใหญ่ ๆ ของพระพุทธศาสนาที่ว่า "เกิดอีก" เท่านั้น เช่น ศาสนาพราหมณ์ถือว่าคนตายแล้ว จิตหรือวิญญาณก็ล่องลอยออกจากร่างไปปฏิสนธิใหม่ เหตุนี้จิตหรือวิญญาณก็เป็นอมตะไม่มีวันตาย เมื่อจากคนนี้ไปสู่ยังคนนั้น เมื่อจากคนนั้นก็ไปสู่คนอื่น ๆ ต่อไปตามลำดับ เหมือนคนอาศัยอยู่ในบ้าน เมื่อบ้านพังลงแล้วจะอาศัยอยู่ไม่ได้ ก็ต้องเดินทางไปหาบ้านอยู่ใหม่ต่อไป

แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้ตรงกันข้าม พระองค์สอนว่า จิตหรือวิญญาณนั้นมิได้เป็นอมตะไม่มีวันตาย หากแต่เกิดดับสืบต่อไปไม่ขาดสาย และจิตใจก็ล่องลอยไปหาที่เกิดใหม่ไม่ได้ ดังนั้นจะเทียบคนย้ายจากบ้านที่จะพังหาได้ไม่ ยิ่งกว่านั้นความเข้าใจที่ว่าการที่ไปเกิดได้ ก็ไปแต่จิตหรือวิญญาณเท่านั้น ก็เป็นความเข้าใจผิด เพราะยังมีรูปอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า กัมมชรูป หรือ รูปอันเกิดแต่กรรม ซึ่งร่วมในการปฏิสนธิด้วย สำหรับในข้อนี้เป็นอีกข้อหนึ่งที่ท่านจะได้เห็นความพิสดารน่าอัศจรรย์ในพระพุทธศาสนา เพราะไม่ว่าใครหรือศาสดาองค์ไหนที่ว่า คนตายแล้วไปเกิดได้ ก็จะต้องไปแต่จิตหรือวิญญาณเท่านั้น มิได้แสดงการตาย-การเกิดอย่างไรให้ชัดแจ้ง แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนว่า นอกจากจิตไม่ใช่ล่องลอยไปแล้ว รูปบางชนิดก็ไปเกิดได้ ส่วนจะไปได้อย่างไร รูปอะไรบ้าง มีเหตุผลหลักฐานข้อเท็จจริงอย่างไรนั้น ขอได้โปรดฟังต่อไป

การที่เข้าใจว่าคนตายแล้วไปเกิดได้นั้น จะต้องมีความเข้าใจในเรื่องจิต เรื่องรูป เรื่องกรรม และเรื่องความตาย ว่าเหตุใดจึงตาย ความตายมีกี่อย่าง ขณะใกล้ตายมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง มีความรู้สึกอย่างไร และจิตใจทำงานกันอย่างไร ฯลฯ ให้เข้าใจดีเสียก่อน ดังนั้นท่านจึงจะเห็นได้ว่า เรื่องตายเรื่องเกิดนี้จะกล่าวกันง่าย และให้เข้าใจดีด้วยนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้เลย

ก่อนอื่น อาตมาขอย้อนไปถึงเรื่องจิตอีกครั้งหนึ่ง ตามที่ได้กล่าวมาแล้วเป็นตอน ๆ ว่า จิตนั้นเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ รู้จักนึกคิดจดจำ จิตนั้นเป็นธรรมชาติที่มีความเกิดดับสืบต่อกันเสมอเป็นนิจ มิได้อยู่นิ่ง และจิตนั้นเป็นนามธรรมที่ไม่สามารถมองเห็นหรือจับต้องได้ แต่ก็มีอำนาจในการสั่งสมสันดาน หรือสามารถเก็บเอาอารมณ์ต่างๆ ไว้ในจิต แล้วก็แสดงออกซึ่งอารมณ์นั้น ๆ ได้ เมื่อแยกงานของจิตออก ก็จะได้เป็นสอง คือ

๑ . การงานที่จิตกระทำ ได้แก่ การที่จิตขึ้นวิถีรับอารมณ์ต่าง ๆ จากทางทวาร หรือประตูทั้ง ๖ คือ รับอารมณ์จากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เช่น เห็น ได้ยิน คิด เป็นต้น

๒ . จิตเป็นภวังค์ ได้แก่ การที่จิตมิได้ขึ้นวิถีรับอารมณ์ต่าง ๆ จากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจเลย แต่จิตก็ทำงานอยู่ตลอดเวลา คือ เกิด ดับ และมีอารมณ์ที่ติดมาตั้งแต่ปฏิสนธิ

การที่อาตมาได้แยกการงานของจิตออกเป็นสองเช่นนี้ เพื่อจะแสดงให้เห็นว่า ในขณะที่รับอารมณ์ตามทวารทั้ง ๖ นั้น จิตก็ทำงาน และจิตที่เป็นภวังค์ คือ มิได้ขึ้นวิถีรับอารมณ์ จิตก็ทำงานเหมือนกัน

ข้อ ๑. การขึ้นวิถีรับอารมณ์ของจิตนั้น จิตจะรับอารมณ์หรือจะเกิดอารมณ์ขึ้นได้ ก็จะต้องอาศัยมีผัสสะ คือการกระทบ หากมิได้กระทบแล้ว จิตก็ไม่สามารถรับอารมณ์ได้ เช่น เสียงมิได้กระทบหูแล้วก็จะไม่ได้ยิน รูปมิได้กระทบตาแล้วก็จะไม่เห็น และอารมณ์หรือเรื่องที่จะเป็นตัวยืนให้คิดไม่กระทบกับจิตแล้วก็คิดนึกไม่ได้เลย

ข้อ ๒. ภวังค์จิต คำว่า ภวังค์ หรือ จิตภวังค์นี้ มีพูดกันอยู่เสมอโดยทั่วไป แต่ความเข้าใจของคนเป็นส่วนมากนั้นเข้าใจว่า ภวังค์ หมายถึง จิตมีความสงบ คือนิ่งอยู่เฉย ๆ หรือนั่งใจลอย แต่ตามหลักปรมัตถธรรมนั้นตรงกันข้าม คำว่า ภวังค์ หมายถึง องค์แห่งภพ หมายถึง จิตตั้งแต่ปฏิสนธิจนถึงจุติ คือตาย ขณะใดที่จิตมิได้ยกขึ้นสู่อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขณะนั้นจิตก็เป็นภวังค์ ภวังค์จิตที่เห็นได้ง่าย ๆ ก็คือ คนกำลังหลับสนิท ขณะหลับสนิทจะไม่มีความรู้สึกตัวเลย ขณะใดจิตมีความรู้สึกขึ้นในอารมณ์จากทวารทั้ง ๖ แล้ว ขณะนั้นจิตก็พ้นไปจากเป็นภวังค์ ความจริงขณะที่เราเห็นหรือได้ยินหรือคิดนั้น จิตก็ขึ้นวิถีรับอารมณ์ แล้วก็มีภวังค์จิตขึ้นสลับอยู่ตลอดไป ทั้งนี้เป็นไปโดยรวดเร็วมาก ดังนั้นเราจึงไม่รู้สึก

การที่อาตมานำท่านมาสู่ความเข้าใจที่สับสนนี้ ก็เพราะปรารถนาจะให้ท่านทราบว่า ในขณะที่จิตมิได้ขึ้นวิถีรับอารมณ์นั้น จิตก็เป็นภวังค์ จิตเป็นภวังค์นี้จะไม่มีความรู้สึก แต่ถึงจะไม่รู้สึกก็ดี จิตก็ทำงาน คือ เกิด-ดับสืบเนื่องกันไปอยู่เป็นเนืองนิจ หรือมีอารมณ์เหมือนกัน แต่เป็นอารมณ์ที่อยู่ในจิต มิได้แสดงออกมาให้เราเห็นได้ยินหรือรู้สึกได้ เป็นอารมณ์เก่าที่สืบเรื่องต่อมาจากปฏิสนธิ ถ้าเปรียบเทียบกับไดนาโมทำไฟ ก็คือ ไดนาโมที่กำลังหมุนอยู่มิได้หยุดนิ่งนั่นเอง มันพร้อมที่จะส่งกระแสไฟไปจุดยังหลอด ถ้าเปิดสวิตช์ขึ้น ภวังค์จิตก็มิได้หยุดนิ่งอยู่เฉย ๆ แต่กำลังทำงานอยู่เหมือนกัน พร้อมที่จะรับอารมณ์อยู่เสมอ

การที่อาตมาแสดงจิตที่ขึ้นวิถีรับอารมณ์และภวังค์จิตนั้น ก็เพื่อจะได้นำท่านเข้าไปสู่เรื่องของความตายว่า บุคคลที่กำลังจะตายนั้น จิตกำลังทำงานอะไรอยู่

ต่อไปนี้ อาตมาจะได้แสดงถึงเรื่องว่าด้วยความตายเสียก่อน ว่ามีเหตุอะไรบ้างที่จะมาทำให้ตาย

ตามพุทธภาษิต พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแบ่งความตาย ออกเป็นส่วนใหญ่ ๆ ไว้เป็นสองประการ คือ
กาลมรณะ หมายความว่า ถึงเวลาที่จะต้องตาย
อกาลมรณะ หมายความว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องตาย

ทั้งนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า ความตายนั้นเมื่อถึงเวลา หรือถึงที่แล้วจึงตายก็มี และเมื่อยังไม่ถึงเวลา หรือยังไม่ถึงที่แล้วตายก็มี

คำว่า มรณุปปัตติ แยกศัพท์ออกเป็น ๒ คือ มรณะ และ อุปปัตติ มรณะ แปลว่า ตาย อุปปัตติ แปลว่า เกิดขึ้น หมายถึง ความตายและความเกิดขึ้น

มรณุปปัตตินั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้มี ๔ ประการ คือ
๑ . อยุกขยะ หมายถึง ตายโดยสิ้นอายุ
๒ . กัมมักขยะ หมายถึง ตายโดยสิ้นกรรม
๓ . อุภยักขยะ หมายถึง ตายโดยสิ้นอายุ และสิ้นกรรม
๔ . อุปัจเฉทกะ หมายถึง ตายด้วยอุบัติเหตุต่าง ๆ มาตัดรอน คือ ยังไม่สิ้นทั้งอายุ และยังไม่สิ้นกรรม

๑ . อยุกขยะ ตายโดยสิ้นอายุ ข้อนี้ได้แก่ สัตว์ทั้งหลายต้องตายไปโดยสิ้นอายุ เพราะสัตว์ทุกชนิดย่อมจะมีชีวิตอยู่ในภายขอบเขตของอายุขัย เช่น เต่ามีอายุ ๑๓๐ ปี ช้างมีอายุ ๓๐๐ ปี ยุงมีอายุ ๑๕ วัน เป็นต้น

มนุษย์ในปัจจุบันมีอายุขัยเพียง ๗๕ ปีก็ตาย แม้ว่าจะมีผู้อายุกว่า ๗๕ ปีบ้างก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น การที่โลกในปัจจุบันค้นคว้าในสรีระของมนุษย์ จนมีความรู้ละเอียดประณีต ค้นคว้าในเรื่องอาหาร และหยูกยาสารพัด เพื่อประสงค์จะให้มนุษย์ปราศจากโรคภัยมาเบียดเบียน แล้วจะได้มีอายุยืนนั้น ถึงจะค้นคว้ากันต่อไปสักเพียงใด วิทยาศาสตร์การแพทย์จะเจริญก้าวหน้าไปสักเพียงไหน ก็เป็นการช่วยได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะการมีอายุยืนหรืออายุสั้น มิได้มีเหตุเพียงในด้านวัตถุอย่างเดียวเท่านั้น แต่ความจริงมีเหตุอื่นที่สำคัญอีกหลายประการ ซึ่งจะกล่าวในโอกาสต่อไป

๒ . กัมมักขยะ ตายโดยสิ้นกรรม ในข้อนี้หมายถึงว่า การที่สัตว์ทั้งหลายเกิดขึ้นมาและเป็นไปนั้น อาศัยกำลังของกรรมที่หล่อเลี้ยงหรือสนับสนุนในชีวิตดำเนินไปได้อย่างไร อาตมาจะให้เหตุผลข้อเท็จจริงในภายหลัง ขณะนี้กำลังกล่าวถึงเรื่องความตาย การที่จะต้องกล่าวถึงกรรมก็เพราะเกี่ยวพันไปถึง

๓ . อุภยักขยะ ตายเพราะสิ้นอายุและสิ้นกรรม ข้อนี้ไม่มีปัญหาอะไรมาก ด้วยความตายที่เกิดขึ้นเพราะสิ้นอายุนั้น หมายถึงแก่เฒ่าอายุมากแล้ว ร่างกายก็หมดกำลังที่จะอยู่ต่อไปได้ ทั้งกรรมที่สนับสนุนให้คงชีวิตอยู่ก็หมดลงด้วย บุคคลผู้นั้นถึงแก่ความตายด้วยเหตุทั้งสอง

๔ . อุปัจเฉทกะ ตายด้วยอุบัติเหตุต่าง ๆ มาตัดรอน ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ถึงอายุขัย และยังไม่สิ้นกรรม เช่น ตกต้นไม้ตาย หรือถูกรถทับตาย ความตายในข้อนี้เป็นความตายโดยเหตุต่าง ๆ อันเป็นปัจจุบัน มิได้สิ้นอายุ หรือมิได้มีกรรมแต่อดีตมาตัดรอน แต่ถึงแม้ดังนั้นก็อาศัยกรรมแต่อดีตเป็นแรงส่ง เช่น กรรมแต่อดีตเป็นตัวส่งให้เข้าไปอยู่ในเรือนจำ แล้วไปติดโรคระบาดตายภายในเรือนจำ เป็นต้น

เพื่อความเข้าใจง่ายขึ้นสำหรับความตายทั้ง ๔ ประการนี้ ท่านได้เปรียบเทียบไว้กับดวงประทีปที่ใช้น้ำมัน คือ ชีวิตทั้งหลายเปรียบเสมือนประทีปหรือโคมไฟที่อาศัยน้ำมัน ธรรมดาโคมที่อาศัยน้ำมันนั้น ไฟจะดับได้ก็ด้วยเหตุ ๔ ประการ

เหตุที่ทำให้ไฟดับ ๔ ประการคือ
๑ . เพราะเหตุที่หมดน้ำมัน
๒ . เพราะเหตุที่หมดไส้
๓ . เพราะเหตุที่หมดทั้งน้ำมัน และหมดไส้
๔ . เพราะเหตุที่มีอุบัติเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ลมพัด หรืออะไรมาทับให้ดับ

๑ . เมื่อโคมไฟหมดน้ำมัน ไฟก็จะดับ ข้อนี้หมายถึง ชีวิตทั้งหลายจะถึงแก่ความตายเมื่อสิ้นอายุ

๒ . เมื่อโคมไฟหมดไส้ ไฟก็จะดับ หมายถึง ชีวิตทั้งหลาย เมื่อสิ้นกำลังของกรรมที่สนับสนุนให้ชีวิตคงอยู่แล้ว ก็จะถึงแก่ความตาย

๓ . เมื่อโคมไฟหมดทั้งน้ำมันและไส้ ข้อนี้ได้แก่ชีวิตทั้งหลายต้องสิ้นชีวิตไป เพราะหมดอายุและกำลังของกรรมที่จะให้คงอยู่

๔ . เมื่อโคมไฟถูกลมพัดดับ ข้อนี้ได้แก่ยังไม่สิ้นอายุและสิ้นกรรม แต่ต้องตายด้วยอุบัติเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง สำหรับในข้อ ๑-๒-๓ ตายเพราะถึงเวลาที่จะต้องตาย สำหรับในข้อ ๔ ข้อเดียวเท่านั้น ที่ผู้ตายยังไม่ถึงคราวที่จะต้องตาย แต่ก็ตายลงไปเพราะเหตุในปัจจุบัน

เมื่อท่านได้ทราบเหตุของความตายโดยย่อ ๆ แล้ว ก็ควรจะทราบต่อไปว่า ขณะใกล้ตายนั้นเกิดอะไรขึ้น ทั้งจิตใจและร่างกายทำงานกันอย่างสลับซับซ้อนอย่างไร การแสดงในเรื่องนี้ไม่ใช่ง่าย ถ้าจะกล่าวโดยละเอียดแล้วก็จะต้องใช้เวลามาก และจะต้องมีภาพของวิถีจิตในวิถีต่างๆ และตารางแสดงรูปอันเกิดแต่กรรม จิต อุตุ และอาหารด้วย ว่าเกิดดับสืบต่อกันไปยังภพใหม่ได้อย่างไร

อาตมาได้กล่าวมาแล้วถึงเรื่อง จิต ว่ามีการงานอยู่ ๒ อย่าง คือ ขณะรับอารมณ์ทางทวาร ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และจิตในขณะเป็นภวังค์ คือ ไม่รู้สึกตัวเลย บุคคลผู้ซึ่งใกล้จะถึงแก่ความตายนั้น จะต้องเกิดอารมณ์ขึ้น ไม่ทางทวารใดก็ทวารหนึ่งทั้ง ๖ ทวารนี้

การเกิดอารมณ์ขึ้นตอนใกล้ตายนั้นเป็นธรรมดา บุคคลใดจะตายลงโดยไม่เกิดอารมณ์ขึ้นก่อนจากทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไม่ได้เลย ไม่ว่าจะตายโดยฉับพลันทันที อย่างไรก็ตาม เพราะจิตนั้นย่อมเกิดดับโดยรวดเร็วมาก และจะต้องอาศัยกำลังของกรรมที่เกิดขึ้นขณะใกล้จะตายนั้นเป็นตัวนำส่งให้เกิดการปฏิสนธิขึ้น

บุคคลที่ใกล้จะตายนั้นย่อมมีอารมณ์ และอารมณ์นั้นๆ จะดีหรือร้ายก็ได้ เช่น ได้เห็นสิ่งสวยงามเป็นที่น่านิยม คนไข้ก็จะมีหน้าตาแจ่มใสยิ้มแย้ม แต่ถ้าได้เห็นสิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัว หรือหวาดเสียว คนไข้ก็จะแสดงอาการตื่นเต้น ตกใจ ขวัญหาย หน้าตาบูดเบี้ยว คนที่ดูแลคนไข้ที่ใกล้จะตายมักจะได้ประสบพบเห็นอย่างนั้น

การที่อารมณ์ได้เกิดขึ้นขณะเมื่อใกล้ตายให้เห็นไปต่าง ๆ ก็เป็นการประกาศว่า บุคคลผู้นั้นจะไปเกิดในสุคติหรือทุคติอย่างไร ดังนั้น เราจึงเห็นว่าโดยมากคนที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ตายจึงบอกพระอรหังแก่คนไข้ และศาสนาอื่นก็บอกสิ่งที่ดีงามต่าง ๆ ชี้ทางสวรรค์ให้แก่คนไข้

เรื่องของความตายเป็นเรื่องสำคัญขั้นสุดท้ายของชีวิต ผู้ใดเข้าใจดีก็จะเป็นเครื่องช่วยตัวเองและคนอื่นได้มาก ความไม่เข้าใจหรือผิดพลาดไปเพียงเล็กน้อย ก็อาจทำให้เกิดการเสียหายร้ายแรงอย่างยิ่งแก่ชีวิตไปชั่วกาลนานได้

แต่อาจจะมีผู้สงสัยว่า เหตุใดที่คนใกล้จะตาย ทำไมจึงต้องเกิดอารมณ์ขึ้น อะไรทำให้เกิดอารมณ์ หรือเห็นไปต่าง ๆ นานา เพียงอารมณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น จะนำไปสู่สุคติหรือทุคติได้จริงหรือ คนที่กำลังจะตายมีความรู้สึกหรือเจ็บปวดอย่างไรบ้าง การงานที่จิตและร่างกายได้กระทำไปขณะชีวิตใกล้จะตายแตกดับ ตลอดจนถึงมีอะไรบ้างปฏิสนธิ เพราะตามหลักพระพุทธศาสนาถือว่า ผู้ใดเข้าใจว่าจิตของผู้ตายนั้นเองล่องลอยไปหาที่เกิดใหม่ ก็เป็นความเห็นผิด และที่เข้าใจว่าจิตเท่านั้นที่ปฏิสนธิได้ ก็เป็นความเห็นที่ผิด ความเห็นที่ถูกนั้นเป็นอย่างไร อาตมาจะได้กล่าวต่อไปตามลำดับ

ตามหลักปรมัตถธรรม หรือตามสภาวะนั้น คนตายหรือสัตว์ตายไม่มี คนตายหรือสัตว์ตาย เป็นแต่เพียงเราสมมุติพูดกันให้เข้าใจเท่านั้น อันหมายถึงว่าคนที่ไม่หายใจแล้วคือคนตาย แต่สภาวธรรมกลับตรงกันข้าม คนจะตายหรือคนกำลังมีชีวิตอยู่ ธรรมชาติของจิตก็เกิดดับสืบต่อกันไป และทำงานการเช่นนั้น เจตสิก ซึ่งมีหน้าที่ประกอบกับจิต ก็เกิดดับสืบต่อกันไปเช่นนั้น หรือแม้แต่รูป ที่เกิดขึ้นในร่างกายก็เกิดดับสืบต่อกันเช่นนั้นเหมือนกัน ความแตกต่างกันมีอยู่แต่เพียงว่า จิต เจตสิก และ รูป ของคนตายได้ปรากฏอยู่ยังภพใหม่ หรือที่ใหม่เท่านั้นเอง ถ้าถอนเอาความยึดถือที่สมมุติว่าเป็นคนหรือสัตว์ออกเสีย ก็เหมือนกับไฟฟ้าที่เกิดอยู่ที่นี่ เมื่อมีเหตุมีปัจจัยก็ไปเกิดอยู่ที่โน่นอันเป็นไปตามธรรมดา ธรรมชาติแม่เหล็กก็จะต้องมีความดึงดูดอยู่เสมอ ธรรมชาติของจิตก็จะต้องรับอารมณ์อยู่มิได้หยุดหย่อนเช่นเดียวกัน คนที่กำลังมีชีวิตอยู่ หรือคนที่ใกล้จะตายก็เหมือนกัน จิตย่อมรับอารมณ์อยู่ อันเป็นไปตามธรรมชาติ ต่างกันแต่ว่า เมื่อคนใกล้จะตายเรียกอารมณ์นั้นว่า กรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ คตินิมิตอารมณ์

อาตมาได้กล่าวถึงอารมณ์เกิดขึ้นได้อย่างไรมาบ้างแล้ว แต่ได้พูดไปเพียงย่อ ๆ เท่านั้น จึงจะขอเพิ่มเติมให้ละเอียดขึ้นอีกเล็กน้อย

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนว่า สภาวะ คือ ธรรมชาติทั้งหลายจะเกิดขึ้นได้นั้นจะต้องอาศัยเหตุ ถ้าปราศจากเหตุเสียแล้วก็หาเกิดขึ้นมาได้ไม่ แต่เหตุที่ว่านี้มีหลายชั้น เป็นเหตุใกล้ ๆ ตื้น ๆ เผิน ๆ เห็นง่ายก็มี และเหตุที่ไกล ๆ ลึกซึ้ง เห็นได้ยากก็มี ปัญหาต่าง ๆ ของชีวิต เช่น ชีวิตคืออะไร มาจากไหน เป็นเรื่องล้ำลึก ถ้าไม่ได้อาศัยสัพพัญญุตญาณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็จะเข้าไม่ถึงเลย

อารมณ์ที่จะเกิดขึ้นก็เหมือนกัน อยู่เฉย ๆ มันจะเกิดขึ้นมาเองก็หาไม่ อารมณ์จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยเหตุเหมือนกัน เช่น อารมณ์ที่เกิดขึ้นทางตาและหู ต้องมีเหตุดังนี้

๑ . อารมณ์ที่จะเกิดขึ้นทางตา คือ จะเห็นได้นั้นต้องอาศัยเหตุ ๔ ประการ มาประชุมพร้อมกัน คือ
๑. จักขุปสาทะ ได้แก่ ประสาทตา
๒. รูปารมณ์ ได้แก่ รูป คือ สีต่างๆ
๓. อาโลกะ ได้แก่ แสงสว่าง
๔. มนสิกายะ ได้แก่ กระทำอารมณ์ให้แก่จิต พูดง่ายๆ ก็คือ ความตั้งใจนั่นเอง

เมื่อมีเหตุทั้ง ๔ ประการนี้มาประชุม หรือจรดพร้อมกันเข้าแล้ว การเห็นก็มักจะเกิดขึ้นทันที ถ้าเหตุทั้ง ๔ นี้มาประชุมพร้อมกันแล้ว จะไม่เกิดการเห็นขึ้นก็ไม่ได้ แต่ถ้าหากขาดไปเสียอันใดอันหนึ่งหรือหลายอันแล้ว การเห็นจะเกิดขึ้นไม่ได้เหมือนกัน เช่น ประสาทตาไม่ดี รูปารมณ์ อันได้แก่ คลื่นแสงไม่มี ขาดแสงสว่าง หรือขาดความตั้งใจที่จะเห็น

๒ . อารมณ์ที่จะเกิดขึ้นทางหู คือ จะได้ยินได้นั้นต้องอาศัยเหตุ ๔ ประการ คือ
๑. โสตปสาทะ ได้แก่ ประสาทหู
๒. สัททารมณ์ ได้แก่ เสียง คือ ความสั่นสะเทือนของอากาศ
๓. วิวรากาสะ ได้แก่ ช่องว่างในหู
๔. มนสิกายะ ได้แก่ การทำอารมณ์ให้แก่จิต คือ ตั้งใจ

เมื่อเหตุทั้ง ๔ ประการนี้มาประชุม หรือจรดพร้อมกัน เมื่อนั้นก็จะปรากฏการณ์ได้ยินขึ้นทันที การได้ยินที่จะปรากฏการณ์เกิดขึ้นได้ โดยขาดเหตุไปแม้อันหนึ่งอันใดแล้ว การได้ยินก็จะไม่เกิดขึ้นเลยเป็นอันขาด

การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนในเรื่องนี้ไว้ ก็มิได้ประสงค์จะให้ศึกษาวิชาสรีระศาสตร์ หากแต่พระองค์ต้องการแสดงเหตุ แม้แต่อารมณ์ที่เกิดขึ้นทางตา หรือหู ก็ต้องอาศัยเหตุให้เกิด ธรรมทั้งหลายต้องอาศัยเหตุจึงจะเกิดขึ้นมา มิได้เกิดขึ้นมาลอย ๆ เป็นการให้ผู้ศึกษาเข้าใจในเหตุผล ไม่ให้ยึดมั่นในความจริงที่สมมุติอันเป็นมายา และเป็นการปฏิเสธความเข้าใจที่ว่า พระผู้เป็นเจ้า หรือ พระพรหมเป็นผู้สร้างโลกโดยสิ้นเชิง

อาจจะมีผู้คิดเห็นว่าเหตุให้เกิดการเห็น การได้ยิน ต้องมีคลื่นแสงและคลื่นเสียง คือความสั่นสะเทือนของอากาศ และคิดว่าทางวิทยาศาสตร์เพิ่งจะค้นพบเมื่อไม่นานมานี้เอง เรากำลังหันเหตุให้เรื่องสภาวธรรมเข้าไปอิงวิทยาศาสตร์ที่ค้นคว้าขึ้นมาได้

ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ พระองค์ทรงสอนมาตั้ง ๒๕๐๐ ปีกว่ามาแล้ว เพียงแต่ถ้อยคำเท่านั้นที่แตกต่างกัน ส่วนความหมายนั้นเป็นอันเดียวกัน ในข้อนี้อาตมาขอยกกล่าวสักเล็กน้อย

พระองค์สอนว่า รูปารมณ์ (รูปที่เห็น) ที่เกิดขึ้นแล้ว มากระทบกับตาทำให้เห็นได้นั้น จะต้องอาศัยแสงสว่าง และรูปารมณ์ดังกล่าวมานี้จะเกิดดับสลับซับซ้อนที่ตา และประสาทตาที่รับการกระทบของรูปารมณ์ที่ว่านั้น ก็ตั้งอยู่ตรงตาดำ ซึ่งมีขนาดโตเท่าหัวของเหา ประสาทที่ตั้งอยู่ตรงตาดำโตเท่าหัวของเหานี้เองเป็นตัวรับการกระทบรูปารมณ์ ซึ่งได้แก่คลื่นของแสงนั้นเอง ยิ่งกว่านั้น พระองค์ยังแสดงถึงรูปารมณ์นี้ว่ามีความเกิดดับในจำนวนหนึ่งต่อจำนวนจิตที่เกิดดับ ๑๗ ขณะใหญ่ หรือ ๕๑ ขณะเล็ก

ในเรื่องการได้ยินก็เหมือนกัน สัททารมณ์ คือเสียงย่อมกระทบที่ประสาทหู โดยการเกิดดับสลับซับซ้อนกันอยู่ พระองค์ชี้ถึงขนอันละเอียดอ่อนในจำนวนเท่าใด ตั้งอยู่ภายในของแอ่งน้ำสีอะไรภายในช่องหู และจิตจะมารับอารมณ์ที่ตรงนี้ ข้อที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ เหตุที่จะได้ยิน ๔ ประการนี้ มีวิวรากาสะ คือ ช่องว่างภายในหูรวมอยู่ด้วย ซึ่งตรงกับหลักวิชาวิทยาศาสตร์ เพราะถ้าไม่มีช่องว่าง คือ อากาศภายในช่องหูเสียแล้ว ความสั่นสะเทือนของอากาศก็จะไม่สามารถเข้าไปกระทบกับประสาทหูได้ การได้ยินก็จะไม่บังเกิดขึ้น

อาตมาได้กล่าวมาเพียงย่อ ๆ และเพียงสองทวาร คือ ตากับหูเท่านั้น ส่วนจมูก ลิ้น กาย ใจ จะงดเสีย เพราะจะเสียเวลามาก ที่อาตมาได้กล่าวมานี้ เป็นการนำเอาคำสอนที่แสดงเหตุใกล้ ๆ เพื่อให้ผู้ศึกษาได้เข้าใจเรื่องการเกิดอารมณ์ และคลายความยึดมั่นในตัวตนคน สัตว์ เพราะการที่คลื่นของแสงและคลื่นเสียงมากระทบกับประสาทตาและประสาทหูนั้น ก็เกิดดับอยู่ตลอดเวลาเหมือนกัน ส่วนการที่เห็นเป็นคน เป็นสัตว์ น่ารัก น่าเกลียด สวยหรือไม่สวย อะไรต่าง ๆ นั้น จิตใจได้สร้างรูปขึ้น คือ จิตได้สร้างเป็นมโนภาพ หรือจินตนาการขึ้นเท่านั้นเอง หาได้เป็นสาระแก่นสารที่จะยืนยงคงทนไม่ ส่วนเหตุไกลยังมีอีกเป็นอันมาก เช่น เพราะอะไร ปสาทรูป คือ ประสาทรับอารมณ์ต่าง ๆ จึงมีแก่คนและสัตว์ทั้งหลายได้ อะไรเป็นผู้สร้างขึ้น เมื่อมีเหตุทั้ง ๔ มาประชุมพร้อมกันแล้ว ทำไมคนจึงเห็นและได้ยินได้ ขณะเห็นหรือได้ยิน จิตใจและร่างกายทำงานกันอย่างไร

อารมณ์ที่เกิดขึ้นทางทวารทั้ง ๖ ไม่ว่าจะเป็น ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจก็ตาม เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าจะต้องมีรูป คือ อารมณ์มากระทบกับจิต ถ้าไม่มีรูปมากระทบกับจิตแล้ว ก็จะเกิดอารมณ์ขึ้นไม่ได้เลยเป็นอันขาด ซึ่งทางธรรมเรียกการกระทบนี้ว่า ผัสสะ เช่น การที่จะเห็นได้นั้นจะต้องมีรูปมากระทบตา จะได้ยินได้จะต้องมีรูปคือเสียงมากระทบหู และจิตคิดนึกเรื่องราวอะไรได้ ก็จำเป็นจะต้องมีรูป คือ เรื่องราวที่คิดนึกนั้นมากระทบใจ

บัดนี้ก็มาถึงปัญหาที่ว่า คนที่ใกล้จะตายนั้นเกิดอารมณ์ขึ้นได้อย่างไร ถ้าไม่เกิดอารมณ์ขึ้น คือจิตกำลังเป็นภวังค์อยู่ก็จะไม่ตาย เพราะเหตุใด อารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมีดีบ้างไม่ดีบ้าง จะนำผู้ตายไปพบกับอะไร

อาตมาได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น ๆ ว่า ตามหลัก สภาวะ หรือ ปรมัตถธรรมนั้น ไม่มีคนเกิดคนตาย คนเกิดคนตายเป็นเรื่องสมมุติ จิตก็มีธรรมชาติเกิดดับ และรับอารมณ์อยู่เสมอเป็นนิจ ไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือความตายได้มาถึง ดังนั้นเมื่อคนไข้ที่ใกล้จะตาย ได้รับคำบอกเล่าถึงพระอรหันต์ หรือเรื่องที่ทำบุญให้ทาน คนไข้ก็จะเกิดอารมณ์นั้นขึ้น หรือเป็นเรื่องกระทบกระเทือนใจในทางไม่ดี เช่นเกิดความเสียใจว่า ตัวจะต้องตาย หรือลูกหลานทำอะไรให้ไม่ถูกใจ หรือมีความห่วงใยในทรัพย์สมบัติที่อยู่เบื้องหลัง คนไข้ก็จะเกิดอารมณ์ขึ้นก่อนหน้าจุติ คือตาย แต่ถ้าจะจุติคือใกล้จะตายจริง ๆ แล้ว จะบอกหรือให้คติอะไรแก่คนไข้ไม่ได้เลย คนไข้จะตายเช่นนี้ ทวารทั้ง ๕ จะรับอารมณ์ไม่ได้ คือ จะไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส และแม้จะเอาไฟไปจี้ก็จะไม่รู้สึก คนไข้จะมีความรู้อยู่เพียงทวารเดียวคือทางใจเท่านั้น และเมื่อเหลืออารมณ์แต่เพียงทางใจ อารมณ์นั้นก็จะแจ่มใสชัดเจนดุจการมองดูวัตถุโต ๆ ยามเที่ยง ถ้าคนไข้เห็นสิ่งที่ดี หน้าตาก็จะแจ่มใสผุดผ่องขึ้น แต่ถ้าเห็นสิ่งที่น่ากลัวน่าหวาดเสียว คนไข้ก็จะแสดงความตกใจ หน้าของคนไข้ก็จะแสดงออกมาให้เห็นได้ชัด

บัดนี้อาตมาคิดว่าควรจะคิดถึงประเด็นสำคัญในเหตุผลที่ว่า คนที่ตายแล้วไปเกิดอีกได้นั้น อะไรเห็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะนำให้ผู้ตายไปเกิด คิดว่าท่านทั้งหลายก็คงถือว่าอันนี้เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อย อาตมาก็ขอแสดงอำนาจที่ผลักดันให้การปฏิสนธิเกิดขึ้นเสียก่อน ส่วนวิธีที่จะไปอย่างไร เกิดอย่างไร จะได้กล่าวต่อไป

ปัญหาที่ว่าอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยนำสัตว์ทั้งหลายให้ต้องเวียนเกิดเวียนตาย หรือต้องสืบต่อไปยังภพใหม่มิได้หยุดหย่อนนั้น ถ้าจะว่าอย่างง่าย ๆ สั้น ๆ ที่สุด ก็คือ เราอยากจะเกิดต่อไปนั่นเอง คนทุกคน สัตว์ทุกตัว ตายแล้วต้องไปเกิดอีก ก็เพราะมีจิตปรารถนาจะอยู่ต่อไปอีก มีจิตปรารถนาจะไปเกิดใหม่อีก ความปรารถนานั้นก็มีกำลังความสามารถอันมหาศาล แม้ว่าความปรารถนานั้นไม่อาจจะมองเห็นหรือสัมผัสได้ก็ตาม ผู้ที่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนาในขั้นละเอียดก็จะได้เห็นความจริงอันน่าพิศวงนี้

ตั้งแต่เราตื่นนอนขึ้นมาในเวลาเช้า แล้วหลับไปในเวลากลางคืน ตลอดเวลาเหล่านั้นเราได้ไขว่คว้าหาอารมณ์อยู่เรื่อย ๆ ประเดี๋ยวเราก็ต้องการเห็น ต้องการได้ยิน ต้องการคิด ต้องการเคลื่อนไหวอิริยาบถ ความต้องการหรือความปรารถนาเหล่านั้นมิได้หยุดยั้งเลย มีแต่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเราได้อะไรสมปรารถนาแล้ว เราก็ปรารถนาอย่างอื่น และอย่างอื่น ๆ ต่อไปอีก โดยมิได้ว่างเว้นเลยตลอดชีวิต เพื่อความดำรงอยู่ของชีวิต เพื่อให้ชีวิตแจ่มใสสดชื่นเบิกบาน เพื่อให้ทุกข์เบาบางหรือหายไป เราปรารถนาที่จะได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้ถูกต้อง ได้คิดนึกเรื่องที่ดี ๆ ที่เราพอใจนั้น ๆ อยู่เสมอ ครั้นเมื่อได้อารมณ์อันเป็นที่พึงพอใจแล้ว ก็ติดอกติดใจในอารมณ์นั้น ๆ อย่างแน่นหนา แล้วหาลู่ทางที่จะได้มาซึ่งอารมณ์ที่ตนพอใจนั้นให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก ความพอใจในอารมณ์ต่าง ๆ เหล่านั้น ก็ย่อมประทับไว้ในจิตอย่างมั่นคง มิได้หลุดถอนความปรารถนาที่จะได้อารมณ์ความยินดีติดใจในอารมณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ทางธรรมเรียกว่า โลภะ ตัณหา

คำว่าตัณหานี้ ผู้ที่มิได้ศึกษาพระพุทธศาสนาก็เข้าใจว่า หมายถึงในเรื่องชู้สาวหรือของเซ็กส์เท่านั้น แต่ความจริง ตัณหามีความหมายยิ่งกว่านั้น คือหมายถึง ความยินดีติดใจในอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากทวารทั้ง ๖ นั่นเอง เช่น ยินดีติดในในการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส และสัมผัส ได้คิดนึกต่าง ๆ

แม้แต่อารมณ์ที่เป็นโทสะ คือ ความไม่พอใจในอารมณ์ ก็เป็นเหตุให้เกิดตัณหาได้เหมือนกัน เช่น

เมื่อเราเห็นสิ่งที่ไม่ดี หรือได้ยินเสียงอันระคายโสตประสาท เราก็ไม่พอใจ เมื่อไม่พอใจแล้ว เราทำอย่างไร เราก็หลีกหนี เราหลีกหนีไปไหน เราก็หลีกหนี เพื่อหาสิ่งที่ดีที่พอใจต่อไปใหม่

เมื่อเราได้กลิ่นเหม็นเราก็ไม่ชอบใจ เพราะมันเป็นอารมณ์ที่เราไม่พึงปรารถนา เราก็ไปให้พ้นจากกลิ่นเหม็นนั้น แต่ก็หนีไปไม่พ้นจากการที่จะแสวงหากลิ่นที่หอม หรืออารมณ์ที่ต้องใจอื่น ๆ ต่อไปใหม่ นี่ก็แสดงว่าอารมณ์ที่ไม่พอใจ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยนำไปสู่อารมณ์ที่พอใจจนได้

เมื่อเราได้อารมณ์ที่พอใจแล้ว เราก็มีความยินดี ติดใจในอารมณ์นั้น อารมณ์นั้น ๆ ก็จะฝังมั่นประทับไว้ในจิตใจ ความยึดมั่นทางธรรมะ เรียกว่า อุปาทาน เช่น เรารับประทานอาหารอะไรอย่างหนึ่งมีรสอันโอชะเป็นพิเศษจนทำให้เราติดใจ ความติดอกติดใจนั้นจะเก็บประทับเอาไว้แน่นหนา ถ้ามีโอกาสเราก็พยายามหาให้ได้ซึ่งรสหรืออารมณ์นั้นอีก หรือเราดูภาพยนตร์เรื่องที่สนุกมาก ๆ เราก็ติดอกติดใจอยากจะดูเรื่องที่สนุก ๆ ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก ถ้ามีโอกาส

ความยินดีติดใจในอารมณ์หรือตัณหานี้ มีกำลังมากเกินที่ผู้ใดผู้หนึ่งจะคาดคิดว่ามันจะเป็นไปได้ ถ้ามิได้ศึกษาให้เข้าใจถึงความละเอียดในพระพุทธศาสนา ก็จะไม่มีทางทราบได้เลย แม้แต่เพียงคิด ก็ไม่มีใครคิดไปถึงเสียแล้วว่า กำลังของตัณหานี้เองที่เป็นตัวนำให้การปฏิสนธิเกิดขึ้นชาติแล้วชาติอีก มิได้หยุดหย่อน ซึ่งก็คือการที่เราปรารถนาที่จะเกิดต่อไปนั่นเอง
บัดนี้ถึงปัญหาที่ว่า เหตุใดเมื่อเจตนาหรือตัณหาประทับลงไว้ในจิตอยู่เสมอแล้ว กำลังเจตนาหรือตัณหานั้นจึงผูกมัดรัดรึงสัตว์ทั้งหลายไว้ให้คงอยู่ในวัฏฏะ จนไม่สามารถดิ้นรนให้รอดไปได้

กำลังของกรรม คือ ตัณหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่เช้าจนถึงเวลาหลับสนิทนั้น วันหนึ่ง ๆ มิใช่เล็กน้อย ถ้ารวมกันตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตายแล้ว ก็หมดปัญญาที่ผู้ใดจะคิดหรือคาดคะเนได้ว่ามากสักเท่าใด ประเดี๋ยวก็อยากเห็น อยากได้ยิน อยากได้ลิ้มรส และอยากคิดนึก ฯลฯ ซ้ำแล้วซ้ำอีกวันยังค่ำ และเมื่อได้รับอารมณ์เหล่านั้นสมปรารถนาแล้ว ก็อยากได้อารมณ์อื่น ๆ อีกไม่มีวันจบสิ้น

เมื่อเราเห็นเด็ก ๆ อายุ ๑๐ ปี เล่นดนตรีได้เก่ง เขียนรูปได้ดี เราก็พูดว่าเขามีอุปนิสัย เขาได้ถ่ายทอดศิลปเหล่านั้นตามสายเลือดมาจากพ่อหรือแม่ ถ้าไม่ใช่พ่อแม่ ก็ ปู่ ย่า ตา ยาย คนใดคนหนึ่ง ซึ่งคงจะต้องมีคนหนึ่งจนได้

นักอาชญาวิทยา นักจิตวิทยา หรือนักวิทยาศาสตร์ทางชีวภาพ เมื่อพบเด็กที่เหลือขอและชอบขโมย ก็จะกล่าวว่าเด็กคนนี้ได้สืบสันดานมาจากพ่อแม่ที่เป็นผู้ร้าย การที่เขาเป็นผู้ร้ายก็เพราะสันดาน หรือมีเลือดของพ่อแม่ของเขาติดมา ซึ่งความจริงนักอะไรต่อนักอะไรทั้งหลายเหล่านี้ได้สืบสวนค้นคว้ามาเพียงเหตุผลใกล้ ๆ ตื้น ๆ เผิน ๆ แค่เกิดมาเท่านั้นเอง เพราะเขายังไม่เข้าใจเลยว่าจิตนั้นคืออะไร สามารถสืบต่อกันไปได้อย่างไร เขาจะเข้าใจให้ถูกต้องได้สมบูรณ์หรือ เพราะเขามิได้ศึกษาจากพระสัพพํญญุตาญาณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำอย่างไรก็จะให้ความเข้าใจของเขาถูกต้องสมบูรณ์ไม่ได้ เพราะเขาได้เข้าใจผิดไปว่ามันสมองนั้นเป็นตัวจิต ซึ่งได้วิวัฒนาการมาแล้วนับจำนวนเวลาเป็นพันเป็นหมื่นล้านปี จนสามารถมีความคิดอ่านจนจำทุกข์สุขได้ มนุษย์ทั้งหลายเกิดสืบต่อกันมาตามสายโลหิต จากสปอร์มาโตซัวของบิดา และโอวัม คือ ไข่ของมารดา และอุปนิสัยใจคอของเด็กจะสถิตอยู่ภายในยีนส์ซึ่งอยู่ในเซลล์นั้น ซึ่งเราได้ตรวจสอบค้นคว้ามาได้ และจากกล้องขยายหลายพันเท่าอันเป็นรูปหรือวัตถุ ซึ่งเขาจะรู้ได้แน่แต่ทางเดียวเท่านั้น

อาตมาได้กล่าวมาแล้วว่า จิตนั้นเกิดดับสืบต่อกันไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นหรือตาย จะหลับหรือตื่น และมีอำนาจสั่งสมสันดาน เหตุฉะนั้น อุปนิสัย สันดาน หรือสัญชาตญาณของเด็กเหล่านั้นจึงมิได้สืบสายโลหิตมาจากพ่อแม่ เพราะจิตเป็นนามธรรม จึงไม่สามารถแบ่งแยกจิตของพ่อแม่ออกมาเป็นของเด็กได้ หากแต่เป็นจิตดวงใหม่ คือ ผู้ที่ได้ตายต่างหากมาปฏิสนธิ

คงจะมีบางท่านที่สงสัยว่า ถ้าเป็นจิตดวงใหม่มาปฏิสนธิ มิได้ถ่ายทอดมาตามสายเลือดแล้ว ก็เหตุใดเล่า อุปนิสัยใจคอของเด็ก เช่น ชอบในทางศิลป หรือมีสันดานเป็นผู้ร้าย จึงไปเหมือนกับพ่อแม่ของเด็กเหล่านั้นได้

ปัญหานี้ ผู้ที่ศึกษาธรรมะมาพอสมควรก็จะไม่ประหลาดใจเลย เพราะเขาจะเข้าใจในเรื่องการปฏิสนธิของจิต ว่าจิตจะต้องปฏิสนธิไปตามความเหมาะสม ไปตามเหตุปัจจัย เช่น ถ้าข้าพเจ้าเอาแก้วน้ำร้อนมาตั้งไว้บนโต๊ะนี้ ภายนอกของแก้วก็จะไม่มีไอน้ำมาจับได้เลย แต่ถ้าข้าพเจ้านำแก้วน้ำแข็งมาวางแล้ว ในไม่ช้าเราก็จะเห็นน้ำติดกันเป็นหยด ๆ โดยรอบแก้ว ทั้งนี้เพราะความเย็นของน้ำแข็งเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ละอองของน้ำมาจับได้ ถ้า ก. มีสันดานหยาบคายเป็นผู้ร้ายเต็มตัว ข. ซึ่งเป็นสุภาพบุรุษร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็ไม่อาจจะร่วมเป็นร่วมตายสนิทสนม หรือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้ เพราะไม่มีความเหมาะสมกันเลย โดยนัยนี้จิตที่มีอุปนิสัยในทางชั่ว จึงปฏิสนธิในพ่อแม่ที่มีสันดานผู้ร้าย และจิตที่โง่เง่าหรือไม่สู้จะเต็ม จึงชอบปฏิสนธิในพ่อแม่ที่เป็นคนจิตทราม

การศึกษาเรื่องจิต ตามหลักพระพุทธศาสนาให้เข้าใจแล้ว ก็จะเห็นได้ว่ามีเหตุผลข้อเท็จจริงที่จะเป็นไปดังนั้นอีกมากมาย อาตมาเห็นว่าเวลามีน้อยก็จะของดเสีย

อาตมานำท่านมาเช่นนี้ก็เพื่อจะแสดงกำลังพลังของตัณหา หรือกำลังของกรรม คือ เจตนา หรือ ความปรารถนาว่า สามารถจะส่งผลสืบต่อกันไปได้ เพราะจิตที่มีนิสัยในทางดนตรี ก็โดยชาติที่แล้วมามีเจตนาอันรุนแรงเฝ้าอบรมฝึกหัดจนชำนาญ ด้วยใจรักนิสัยอันนี้ก็สืบต่อมาถึงชาตินี้ ถ้าเราจะจับเอาเด็ก ๑๐๐ คน ที่ไม่มีนิสัยเช่นนั้นมาฝึกหัด ก็หาอาจฝึกหัดวิชาดนตรีให้เป็นผู้มีความสามารถจริง ๆ แม้แต่สักคนหนึ่งได้ไม่ และถ้าเอาคน ๑๐๐ คน ที่ไม่มีนิสัยตลกคะนองมาแสดงเป็นตัวตลก คนทั้ง ๑๐๐ คน ที่แสดงอยู่ต่อหน้าเรานั้นก็จะทำให้เรารู้สึกสงสาร เพราะทำให้เราขบขันไม่ได้เลย

แน่นอน ช่างเขียนที่สามารถ นักประพันธ์ที่มีคารมคมคาย ซึ่งประชาชนชอบอกชอบใจทั่วทิศ นักประดิษฐ์เรืองนาม นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำ หรือตัวตลก ลิเก ละคร ที่มีคนหัวเราะท้องคัดท้องแข็ง หรือนักอะไร ๆ เหล่านี้ ไม่มีเลยที่จะฝึกฝน จนกลายเป็นบุคคลชั้นนำเพียงในชาตินี้ชาติเดียว ความจริงบุคคลเหล่านี้ย่อมมีวาสนา คือ ได้รับการอบรมมาแล้วหลาย ๆ ชาติทั้งนั้น และการที่เขาเป็นได้เช่นนั้น ก็ย่อมแสดงให้เห็นถึงความปรารถนาเขาว่า กำลังของความปรารถนาแต่อดีตนั้นสามารถส่งผลให้จนถึงปัจจุบันและอนาคตได้

อารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทางทวารทั้ง ๖ นั้น ทุกอารมณ์ก็ย่อมประทับสั่งสมลงไว้ในจิตอย่างสลับซับซ้อนมากมาย กำลังของอารมณ์ก็ย่อมมีเจตนาหรือความปรารถนารวมอยู่ด้วย ความปรารถนามีกำลังมากก็ย่อมเป็นไปตามปรารถนานั้น ๆ ความปรารถนาที่จะได้ภพชาติใหม่หรือที่จะเกิดใหม่นั้นเอง ที่ทำให้ชาติมิได้สิ้นสุด ไม่ว่าจะเป็นความปรารถนาโดยตรงหรือโดยปริยายก็ตาม

ที่มา : //www.jarun.org/



Create Date : 21 มิถุนายน 2549
Last Update : 21 มิถุนายน 2549 23:31:47 น. 0 comments
Counter : 516 Pageviews.

ถมทอง
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 56 คน [?]








.: เรื่องล่าสุด ๒๕๕๖ :. คลิกเลยค่ะ

๒ พ.ย. [คลิปเสียง]ธรรมเทศนา ๑๔

๑๔ ต.ค. [คลิป]พิธีถวายผ้าป่า๒๐๐กอง





pub-6092438163871112
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2549
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
21 มิถุนายน 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add ถมทอง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.