"อาตมาไม่ได้พูดให้โยมเชื่อ แต่พูดให้โยมไปคิด".....หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม

แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา ๒


แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา โดย พระธรรมสิงหบุราจารย์ (ต่อ)

การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น จะกล่าวอีกทางหนึ่งก็คือเป็นการปลงชีวิตเข้ามาปฏิบัติ ๓ ข้อ ที่เป็นหัวใจพระพุทธศาสนา คือ
๑. การไม่กระทำความชั่ว คือบาปทั้งปวง
๒. การกระทำแต่กุศล คือความดีให้เต็มเปี่ยม
๓. การชำระจิตใจของตนให้ผ่องแผ้ว

ผู้ปฏิบัติจะได้ปณิธานในการดำเนินชีวิตตามหลักธรรม ๓ ข้อนี้ หากว่าในอนาคตเขาจะได้ประพฤติการพลาดพลั้งลงไป ไม่กลมกลืนกับหลักธรรม ๓ ข้อนี้ ก็จะมีความเสียใจและรู้จักตักเตือนตัวเอง

การปฏิบัตินั้นจะได้รับผลมากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับพลังของอินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ของผู้ปฏิบัติแต่ละคน ถือมาตรว่าจะไม่ได้รับผลขั้นสูงก็ย่อมจะได้รับผลตามส่วนตามลำดับกัน ผู้ปฏิบัติจะตระหนักได้เองจากการเปรียบเทียบดูจิตใจของเขาในระหว่างสองวาระ คือจิตใจก่อนหน้าการปฏิบัติและจิตใจหลังการปฏิบัติ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้นเป็นเรื่องของการวิจารณ์ตัวเอง วิเคราะห์ตัวเอง สำรวจดูบาปอกุศลในตัวเองด้วยการเพ่งพินิจอันแน่วแน่ลึกซึ้ง เป็นการค้นดูผงในดวงตาของตน หยุดการแส่ไปเที่ยวติเตียนผงในดวงตาของผู้อื่น ในขณะที่ไม้ทั้งท่อนปรากฏอยู่ในดวงตาของเรา คุณธรรมใดที่จะพึงบรรลุได้จากการปฏิบัติย่อมเป็นไปในทางเป็นข้าศึกต่อมานะ คือความถือตัวทะนงตัวและจะยังผู้ปฏิบัติให้ตั้งมั่นอยู่ในความสงบเสงี่ยม การผ่านการปฏิบัติไปแล้วในชั่วระยะเวลาอันสั้นระยะหนึ่ง ไม่จำเป็นจะต้องหมายความว่าธุระในการค้นและเขี่ยผงในดวงตาของเราได้เสร็จสิ้นลงด้วยดีทุกประการ และก็มิได้หมายความว่าผู้ปฏิบัติได้เขี่ยผงออกหมดแล้ว ผู้ปฏิบัติแต่ละคนย่อมทราบได้เองว่า เขาได้เขี่ยผงออกจากดวงตาของเขาไปได้มากน้อยเพียงใด และเขาควรจะวางมือเสียจากการพยายามเขี่ยผงในดวงตาต่อไปหรือไม่ ความระคายเคืองและความสบายตาของเขาจะเป็นผู้บอกกับเขาเอง ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าการเขี่ยผงในดวงตานั้นเป็นกิจที่ควรจะดำเนินสืบต่อกันไปด้วยความเอาใจใส่ และด้วยความไม่ประมาทจนตลอดชีวิต หากเรายังบอกตัวเองอย่างซื่อตรงได้ว่า ยังมีผงติดอยู่ในดวงตาของเรา

สำหรับท่านที่ยังมิได้เข้ามาทดลองปฏิบัติ เพื่อพิสูจน์สัจธรรมของพระบรมศาสดานั้น หากท่านประสงค์จะฟังคำชักชวนจากผู้ปฏิบัติสักสองสามคำ ข้าพเจ้าใคร่จะขอเสนอคำชักชวนดังนี้ ในเบื้องต้นขอท่านจงถามตัวเองว่า มีสักวันหนึ่งไหมในชีวิตของท่านที่ได้ใช้ไปด้วยการตามระวังรักษาจิต และประคองจิตของท่านให้น้อมไปแต่ในทางที่เป็นกุศลตลอดวัน มีสักชั่วโมงหนึ่งไหมที่ท่านได้ใช้สติเฝ้าดูการดำเนินของจิต เฝ้าดูปฏิกิริยาอันสับสนของจิตที่มีต่ออารมณ์ภายนอกตลอด ๑ ชั่วโมง หากท่านไม่เคยทำดังนี้เลย ท่านจะไม่นึกเสียดายหรือว่าตลอดเวลานานปีในชีวิตของท่าน ท่านเต็มใจที่จะใช้เวลาเหล่านั้นไปได้สารพัดอย่าง ไม่เลือกว่าจะเป็นไปในทางที่เป็นสาระหรือไม่เป็นสาระ แต่ท่านมิได้ยอมใช้เวลาแม้แต่สักวันหนึ่งหรือเพียงชั่วโมงหนึ่งเพื่อพิสูจน์สัจธรรมของพระพุทธเจ้า ซึ่งก็เป็นการแสวงหาหลักประกันในการดับหรือบรรเทาความทุกข์ร้อนใจอย่างได้ผลให้แก่ตัวท่านเอง ถ้าท่านมีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาท่านจะไม่นึกเสียใจหรือว่าท่านยังมิได้ทำการบูชาพระพุทธเจ้าด้วยการปฏิบัติบูชา อันเป็นบูชาที่พระองค์ปรารถนาเลย เวลาที่ได้ใช้ไปในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน แม้ว่าจะเป็นเวลาระยะสั้น เพียงสัก ๑ เดือนก็ตาม จะเป็นเวลาที่ท่านได้มีโอกาสกล่าวได้ว่าเป็นเวลา ๑ เดือนที่ท่านได้เรียนรู้ถึงความดำเนินแห่งชีวิตของท่านอย่างมีคุณค่าที่สุด และไม่เคยมีการใช้เวลาหนึ่งเดือนที่ล่วงแล้วมาในชีวิตที่จะมีความหมดจดงดงามเสมอด้วย ๑ เดือนของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

ขอท่านทั้งหลายตัดสินใจเอาเองเถิด เพื่อความเข้าใจอันถูกต้องในธรรมของพระบรมศาสดา ข้าพเจ้าเห็นสมควรจะกล่าวไว้เสียด้วยว่าธรรมอันลึกที่พระโลกนาถปรารถนาให้เวไนยสัตว์ได้บรรลุนั้น เป็นธรรมที่ทวนกระแสของชีวิต เป็นธรรมที่ย้อมใจปุถุชนทั่วไป มิใช่เป็นธรรมที่คล้อยไปตามความปรารถนา และความเคยชินของชีวิตของปุถุชน อันไหลไปตามกระแสของตัณหา ซึ่งเป็นเหตุให้ชีวิตต้องหมกจมอยู่ในกองทุกข์ จึงจำเป็นที่ผู้ที่จะเข้ามาสู่ธรรมของพระองค์จักทำการศึกษาด้วยความเพ่งพินิจสักหน่อย ดังที่พระบรมศาสดาได้ตรัสไว้ว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย (มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์) เป็นที่ยินดี กำหนัดแล้วในรูป บันเทิงด้วยรูป เทวดาและมนุษย์ย่อมทนทุกข์อยู่เพราะความแปรปรวน ความกระจัดกระจายความแตกทำลายของรูป ส่วนตถาคตเป็นผู้รู้แจ้งตามความเป็นจริงซึ่งเหตุเป็นเครื่องเกิดขึ้น ซึ่งความตั้งอยู่ไม่ได้ ซึ่งรสอร่อย ซึ่งโทษคือความต่ำทราม และอุบาย เครื่องหลุดพ้นไปได้แห่ง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ทั้งหลายแล้ว ไม่เป็นผู้มีรูปเป็นที่ยินดี ไม่กำหนัดในรูป ไม่บันเทิงในรูป ตถาคตย่อมอยู่เป็นสุขเพราะความแปรปรวน ความกระจัดกระจาย ความแตกทำลายของรูป

รูป เสียง กลิ่น รส ผัสสะ ธรรมารมณ์ทั้งหลายทั้งสิ้น อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าชอบใจ ยังเป็นสิ่งกล่าวได้ว่า มีอยู่เพียงใด มนุษย์โลกพร้อมด้วยเทวโลกก็ยังสมมติว่า นั่นสุขอยู่เพียงนั้น ถ้าเมื่อสิ่งเหล่านั้นแตกดับลงในที่ใด คนเหล่านั้นก็สมมติว่า นั่นทุกข์ในที่นั้น สิ่งที่พระอริยเจ้าทั้งหลายเห็นว่าเป็นความสุข ก็คือความดับสนิทแห่งสักกายะ (กายของตน) ทั้งหลาย แต่สิ่งนี้กลับปรากฏเป็นข้าศึกตัวร้ายกาจแก่คนทั้งหลายผู้เห็นอยู่โดยความเป็นโลกทั้งปวง สิ่งใดที่คนอื่นกล่าวแล้วโดยความเป็นสุข พระอริยเจ้ากล่าวสิ่งนั้นโดยความเป็นทุกข์ พระอริยเจ้าผู้รู้กล่าวสิ่งนั้นโดยความเป็นสุข ดังนี้

การประกาศสัจธรรมของพระศาสดาเป็นการประกาศความจริงอันลึกในชีวิต ธรรมของพระศาสดาจึงเป็นธรรมที่ทวนกระแสของชีวิตปุถุชน อันไหลไปสู่ความเป็นโลกทั้งปวงอยู่เป็นนิจ การปฏิบัติวิปัสสนาเป็นการพยายามว่ายทวนกระแสน้ำแห่งชีวิตด้วยกำลังมือและเท้าทั้งหมดของผู้ปฏิบัติ อันมีบรมสัจธรรมเป็นที่หมาย แม้ไม่ถึงที่หมาย ก็จะได้รับผลคือความสงบเย็นของจิต ตามส่วนที่ได้ทวนกระแสขึ้นไปได้

ใคร ๆ มักจะมีความเข้าใจกันว่า สมาธิเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ มิใช่เป็นเรื่องของเด็ก ๆ หนุ่ม ๆ สาว ๆ หรือมีความสำคัญยิ่งขึ้นไปกว่านั้นว่า คนเฒ่าคนแก่ควรทำสมาธิ พระมีอายุพรรษามาก ๆ นั่นแหละจึงควรทำ มิใช่เรื่องของพระหนุ่ม ๆ เณรใหญ่ ๆ เณรน้อย ๆ ความเข้าใจอย่างนี้มีประจำอยู่ในความนึกคิดของคนโดยมาก ทั้งที่เป็นพระและมิใช่....เพราะเรื่องของคนตั้งใจอยู่ที่จะประพฤติตามใจตัว ถ้าตามใจตัวเองได้เท่าใด ก็ได้รับความสบายใจได้เท่านั้น มิได้นึกคิดว่าการปล่อยตัวไปตามอำเภอใจนั้น ในบางครั้งอาจนำให้เข้ารกเข้าพงก็ได้ จึงควรทำความเข้าใจเสียใหม่ว่า สมาธิ เป็นเรื่องจำเป็นของคนทุกคน ทุกเพศทุกวัยทุกชั้น

สมาธิคืออะไร ?
ปทานุกรมให้คำอธิบายว่า ความตั้งมั่นแห่งจิต การติดต่อความสำเร็จ ความจัดแจง การแต่งตัว การสำรวมใจ การเพ่งเล็ง การแน่วแน่ ความตริตรองอย่างเคร่งเครียดในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
คำอธิบายเหล่านี้ ล้วนแต่แสดงลักษณะของสมาธิให้เห็นความหมายและความสำคัญที่มีอยู่ในสมาธินั้นทั้งสิ้น เพียงแต่ความตั้งมั่นแห่งจิต ซึ่งเป็นคำอธิบายท่อนแรก ก็มีความหมายลึกซึ้งและแสดงให้เห็นว่า สมาธินั้นเกี่ยวกับจิต เพราะว่าความตั้งมั่นจะมีได้ย่อมตั้งอยู่ในจิต การทำจิตให้มั่นคง ไม่ให้ฟุ้งซ่าน ไม่ให้กวัดแกว่ง ให้ตั้งอยู่ในอารมณ์ ไม่เกาะเกี่ยวด้วยสิ่งอื่น ไม่ให้เป็นไปตามของกระแสของสิ่งต่าง ๆ ที่ได้ประสบด้วย ตา หรือ หู หรือจมูก ลิ้น กาย ใจ

ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้ง ๖ นี้ มีชื่อเรียกตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนาว่า อินทรีย์ คำว่าอินทรีย์ แปลว่าเป็นใหญ่ คือเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน ตาเป็นใหญ่ในการดู หูเป็นใหญ่ในการฟัง จมูกเป็นใหญ่ในการดม ลิ้นเป็นใหญ่ในการลิ้มรส กายเป็นใหญ่ในการถูกต้อง ใจเป็นใหญ่ในการรู้ ดู ฟัง ดม ลิ้มรส ถูกต้อง รู้ เป็นหน้าที่ของอินทรีย์ทั้ง ๖ แต่ละอย่าง

อินทรีย์ทั้ง ๖ นี้ จะขาดเสียอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ถ้าขาดไปสักอย่างหนึ่งก็ทำให้เป็นคนไม่สมบูรณ์ สมมติว่าตาบอดไปข้างหนึ่งก็ทำให้แลเห็นไม่ถนัด และทำให้ขาดความสวยงามไป ยิ่งกว่านั้น ถ้าบอดเสียทั้งสองข้าง ก็แลไม่เห็นอะไรเลย ทำให้ความเป็นคนบกพร่องไป และเป็นคนยังไม่เต็มที่ มิหนำซ้ำจะเรียนหนังสือกับเขาก็ไม่ได้ เพราะการเรียนหนังสือต้องใช้อินทรีย์ คือ ตา เป็นส่วนสำคัญ กว่าส่วนอื่น หูก็เหมือนกัน ถ้าสมมติว่าหูหนวก ก็คงไม่ได้ยินอะไร ไม่รู้ว่าเสียงของมนุษย์เป็นอย่างไร ของสัตว์เป็นอย่างไร และก็คงขจัดประโยชน์ในการเล่าเรียนไปอีกอย่าง จมูก ลิ้น กาย ถ้าพิการไปเสีย ก็ไร้ประโยชน์ตามหน้าที่ไปอย่างหนึ่ง ๆ และใจซึ่งเป็นอินทรีย์ที่ ๖ อันเป็นอันดับสุดท้าย ก็มีหน้าที่ประจำอยู่อย่างสำคัญ ในการรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ อันเกิดจากอินทรีย์ทั้ง ๕ ข้างต้น ถ้าขาดไปเสียก็เหมือนคนหมดสติ กลายเป็นคนบ้าคนบอ เพราะไม่รู้เรื่องอะไรจะดีหรือร้าย ทำการวิปริตผิดแปลกไปจากคนผู้มีอินทรีย์ทั้ง ๖ ครบบริบูรณ์ อินทรีย์ทั้ง ๖ ประการนี้จึงนับว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ที่ทำให้เป็นคนอย่างสมบูรณ์ทีเดียว และเป็นหลักที่จะนำสมาธิให้มีได้

การสำรวมอินทรีย์ ๖
อินทรีย์ทั้ง ๖ ย่อมมีอาการต่าง ๆ ตามหน้าที่ โดยปกติมีอยู่อย่างไร และย่อมดึงดูดสิ่งต่าง ๆ ได้ทุกอย่างทุกชนิดที่จะพึงเห็นด้วย ตา เป็นต้น เมื่อลืมตาออกแล้วตาย่อมเห็นอะไรได้ทุกอย่างทุกชนิด เพราะตามีหน้าที่สำหรับดู ดูอะไรได้เสมอ โดยไม่เลือกว่าจะดีหรือเลว งามหรือไม่งาม รับดูได้ทั้งนั้นอย่างไม่อั้นประตู หูฟังเสียงได้ทุกอย่างทุกชนิด มิได้เลือกว่าจะเป็นเสียงอะไร ไพเราะหรือไม่ไพเราะ ดังสนั่นหรือดังตามปกติ หูก็รับฟังได้ทั้งนั้นอย่างไม่อั้นประตู จมูกสูดกลิ่นได้ทุกอย่าง จะเป็นกลิ่นหอมหรือเหม็น ถ้ามีกลิ่นอะไรผ่านมา จมูกก็รับไว้ทั้งนั้นอย่างไม่อั้นประตู ลิ้นลิ้มรสอาหารหรืออย่างอื่น ซึ่งจะมีรสเปรี้ยวหวาน มัน เค็ม เผ็ด ขม อย่างใดอย่างหนึ่ง ลิ้นก็ได้รับทั้งสิ้นอย่างไม่อั้นประตู กายจะถูกต้องสัมผัสกับอะไร ๆ ก็ได้ทั้งสิ้นอย่างไม่อั้นประตู ใจก็เช่นเดียวกันรับรู้สารพัดทุกอย่างที่เข้ามาสู่ห้วงแห่งความนึก จะเป็นอารมณ์ที่น่าชอบหรือไม่ชอบ น่าใคร่หรือไม่น่าใคร่ น่าปรารถนาหรือไม่น่าปรารถนา รับรู้ได้ทั้งสิ้นอย่างไม่อั้นประตู

เรื่องที่เป็นเช่นนี้ย่อมเป็นไปตามหน้าที่ของอินทรีย์ทั้ง ๖ นั้น เพราะธรรมชาติสร้างมาไว้อย่างนั้น แต่กำลังแห่งจิตใจที่เป็นผู้รับนี่สิมีความสำคัญอย่างที่สุดละ ในอันที่จะมีอาการเป็นไปตามสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นหรือไม่ หากปล่อยให้เป็นไปตามเรื่องราวย่อมทำให้บังเกิดความเสียหายขึ้นได้ แต่ถ้าไม่ปล่อยให้เป็นไปตามย่อมทำให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่ง การปล่อยอินทรีย์ทั้ง ๖ ให้เป็นไปตามเรื่องราวย่อมทำให้ได้รับโทษอย่างใหญ่หลวง เพราะไม่พยายามที่จะสำรวมระมัดระวังไว้ด้วยดี และอาจถึงแก่ความสิ้นชีวิตได้เพราะความประมาท

ประดุจดังได้กล่าวมาแล้ว เราเรียกขบวนการในกายของมนุษย์นั้นว่า เบญจขันธ์ ซึ่งแต่ละขันธ์มีอำนาจหน้าที่ต่างกัน รูปเกี่ยวกับรูป เวทนาเกี่ยวกับเรื่อง สุข - ทุกข์ ไม่สุข - ไม่ทุกข์ สัญญาเกี่ยวกับความจำ สังขารเกี่ยวกับเรื่องว่าดี ชั่ว ไม่ดี ไม่ชั่ว วิญญาณเกี่ยวกับความรู้ทางทวารทั้ง ๖ อนึ่ง นายแพทย์ผู้หนึ่งได้อธิบายไว้ในหนังสือชาวพุทธ ฉบับปีที่ ๕ ว่า ในศีรษะมีมันสมอง ๓ ฟ่อน คืออยู่ข้าง ๆ ละฟ่อน ส่วนฟ่อนที่ ๓ อยู่ตรงกลาง ข้างบนกลางศีรษะเป็นสีเทา ในการทดลอง ขณะผ่าตัดปรากฏว่าเมื่อเลกมันสมองสีเทานี้ขึ้นเสียแล้ว ระบบประสาททั่วสรรพางค์กายหยุดทำงานหมดทั้งสิ้น ซึ่งก็แปลว่าประสาททวารทั้ง ๕ ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ทำการ ไม่รายงานสิ่งที่มากระทบไปตามหน้าที่ ๆ กฎธรรมชาติมอบหมายไว้

ดังได้กล่าวมาแล้วนั้น ข้าพเจ้าขอยกตัวอย่างขึ้นประกอบการวินิจฉัยของท่านผู้สนใจทั้งหลาย สมมติว่าตามองเห็นดอกกุหลาบบานสะพรั่งบนต้นที่ปลูกไว้ด้วยความทะนุถนอมเป็นอย่างดี ประสาทหัวเหาที่ดวงตาดำจะรายงานไปยังมันสมองทันที ไปเร็วยิ่งกว่าเสียงหลายร้อยเท่าพันทวี ดุจดังหนุมานทหารเอกพระรามเหาะไปเร็วลัดนิ้วมือเดียวก็ถึงที่หมายปลายทาง ส่วนมันสมองก็บอกรายงานส่งต่อไปกองบัญชาการของนายธรรมตามความเข้าใจนั้น มันสมองเป็นเพียงบุรุษไปรษณีย์ หาใช่เป็นผู้บงการโดยพลการไม่ มันสมองเป็นเพียงรูปธรรม สมองกับใจเป็นคำที่ใช้แทนกันได้เสมอ ทั้งในภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และบาลี เพราะทั้งสองสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดที่สุด เมื่อมันสมองอันเป็นที่รวมจุดปลายทางของประสาทต่าง ๆ บอกรายงานไปยังกองบัญชาการอันเป็นที่รวมของนามธรรมแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของสัญญาขันธ์ผู้เป็นยอดแห่งความจำ จะพิจารณาว่ารูปลักษณะตามรายงานนั้นทางโลกสมมติเรียกว่าอะไรกัน จากความจำที่เป็นผู้ชำนาญการนี้จะบอกได้ทันทีว่าเป็นดอกกุหลาบแล้วก็ส่งเรื่องต่อไปยังเวทนาขันธ์ ผู้ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาว่าอะไรจะให้สุขอะไรจะให้ทุกข์ อะไรจะไม่ให้ทุกข์ ไม่ให้สุข คือเฉย ๆ เวทนาขันธ์ ผู้รับเสวยอารมณ์ จักว่า ดอกกุหลาบนั้นสวยงามเจริญตาเจริญใจ จะให้ความสุขแห่งจิตใจของมวลมนุษย์เมื่อได้พบได้ชม

คราวนี้ก็เป็นหน้าที่ของสังขารขันธ์จะพิจารณาว่า ดอกกุหลาบอันมีรูปลักษณะสวยงามนั้น ดีหรือชั่ว หรือไม่ดีไม่ชั่ว และเมื่อเห็นว่าเป็นที่ยินดีแก่มวลมนุษย์ก่อเกิดอิฏฐารมณ์ให้แก่เขา ก็เป็นหน้าที่ต่อไปในฐานะผู้ปรุงแต่ง จะรายงานแก่วิญญาณขันธ์ว่าต้องนำมาประดับบ้านเรือน ห้องหับต่าง ๆ เช่น ใส่แจกัน เป็นต้น เมื่อวิญญาณขันธ์ได้รับรายงานขั้นสุดท้ายจากสังขารขันธ์ ก็มีหน้าที่พิจารณาว่า คำบอกรายงานของขันธ์ทั้งสามนั้นชอบแล้วหรือไม่ ถ้าเห็นชอบด้วยก็จะแจ้งไปยังมันสมองให้สั่งการตามประสงค์ มันสมองก็จะให้มือไปตัดดอกกุหลาบมาปักแจกันตามประสงค์ของวิญญาณขันธ์ และเพราะมือเป็นรูปขันธ์ กับทั้งประสาทหัวเหาในดวงตาดำก็เป็นรูปขันธ์ จึงกล่าวได้ว่า ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นผู้ดำเนินการร่วมกันในกายมนุษย์ แต่การที่ได้ดอกกุหลาบมาประดับห้องให้สวยงามขึ้น เป็นโลภะตามปรมัตถธรรม นักปฏิบัติต้องพิจารณาแต่เพียงว่าสิ่งที่หัวเหาในดวงตาดำเห็นนั้นเป็นเพียงสี จะสีอะไร มีลักษณะอย่างไรก็ช่างเถิด เมื่อประสาทหัวเหารายงานผ่านมันสมองไปยังกองบัญชาการนามธรรม (สัญญา เวทนา สังขาร วิญญาณ) แต่เพียงเท่านี้ผู้มีอำนาจสูงสุดในกายมนุษย์ คือสติสัมปชัญญะ ก็จะบงการทันทีว่า อย่าไปแยแสอะไรกับมัน เมื่อเป็นเช่นนี้อิฏฐารมณ์ก็ไม่เกิด ไม่เป็นโลภะ ไม่ก่อให้เกิดกิเลส วิญญาณขันธ์ก็จะไม่สั่งผ่านมันสมองให้รูปขันธ์ คือมือไปเด็ดดอกกุหลาบมาประดับห้องรับแขก ดังกล่าวข้างต้นอยู่ในสังโยชน์ ๑๐ เรียกว่า กามราคะสังโยชน์ เกิดขึ้นแก่ผู้ยินดีต่ออิฏฐารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ ซึ่งกรณีนี้เกิดขึ้นทางจักขุทวาร ตรงกันข้ามกับกามราคะสังโยชน์ ก็คือปฏิฆะสังโยชน์อันเกิดขึ้นแก่ท่านผู้โกรธในขณะประสบอนิฏฐารมณ์ เช่นหัวเหาในดวงตาดำเกิดเห็นอุจจาระหรือสุนัขเน่า ประสาทหัวเหาจะรายงานผ่านมันสมองไปยังกองบัญชาการของนามธรรม ก่อให้เกิดความโกรธสั่งการให้รูปธรรม คือ มือ จัดเอาไปทิ้งและแช่งชักหักกระดูกผู้ที่มาปล่อยอุจจาระหรือสุนัขเน่าไว้ ณ ที่นั้น แต่ตามปรมัตถธรรมแล้ว สติสัมปชัญญะจะเข้าควบคุมบงการ นั้นเป็นเพียงแต่สิ่งที่เห็นอย่างหนึ่งเท่านั้น อย่าไปยินดียินร้ายว่าเป็นของเน่าของเหม็น เพราะในร่างกายของมนุษย์ก็เป็นสิ่งเหล่านี้อยู่เต็มเปา จะไปโกรธไปเกลียดมันทำไมกัน ขอให้ผ่านไปด้วยความสงบ

เพื่อประโยชน์ให้เข้าใจง่าย ข้าพเจ้าขออุปไมยดังนี้ สมมติว่า
๑. ร่างกายเท่ากับเป็นค่ายทหาร
๒. ตัวกิเลส คือศัตรูผู้จะเข้ามาย่ำยี
๓. ค่ายทหารนั้นมีประตูเป็นด่านประจำอยู่ ๕ ด่าน ด่านจักขุ ด่านโสตะ ด่านฆานะ ด่านชิวหา ด่านกายา
ก. ด่านจักขุนั้นมีพันตรีหัวเหาเป็นผู้บังคับบัญชากองพันหัวเหา
ข. ด่านโสตะมีพันตรีวงแหวนเป็นผู้บังคับกองพันวงแหวน
ค. ด่านฆานะ มีพันตรีกีบแพะเป็นผู้บังคับบัญชากองพันกีบแพะ
ง. ด่านชิวหามีพันตรีกลีบดอกบัว เป็นผู้บังคับบัญชากองพันกลีบดอกบัว
จ. ด่านกายามีพันตรีแผ่นปุยฝ้ายเป็นผู้บังคับบัญชากองพันแผ่นปุยฝ้าย
ฉ. ค่ายทหารนี้ มีหอรบเป็นหอคอยฟังเหตุการณ์ มีพันตรีมโน ซึ่งที่แท้เป็นเหมือนพลเอกวิญญาณ เป็นผู้บังคับบัญชากองพันวิทยุ โทรทัศน์ ฟังเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวของศัตรู (ตัวกิเลส) โดยตรง
๔. กองเสนาธิการ มีพลตรีมันสมองเป็นผู้บังคับบัญชา
๕. กองบัญชาการ มีพลเอกวิญญาณเป็นผู้บัญชาการใหญ่และ
ก. มีพลโท สัญญา เป็นที่ปรึกษาเทคนิค ทางสังเกตจดจำ
ข. มีพลโท เวทนา เป็นที่ปรึกษาเทคนิค ทำการพิจารณาว่าอะไรเป็นสุข-เป็นทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ คืออะไรจะก่อเกิดอิฏฐารมณ์ (อารมณ์อันน่าใคร่น่าปรารถนาน่าพอใจ) หรือก่อเกิดอนิฏฐารมณ์ (อารมณ์อันไม่น่าปรารถนาไม่น่าพอใจ) หรือจะเป็นกลาง ๆ ไม่ก่อเกิดความยินดียินร้าย เป็นอุเบกขา
ค. มีพลโท สังขาร เป็นที่ปรึกษา มีหน้าที่พิจารณาว่าอะไรดีหรืออะไรชั่ว สมควรจัดประการใด แก่เหตุการณ์นั้น ๆ
ง. พลเอก วิญญาณ มีอำนาจหน้าที่จะบงการให้จัดอย่างไร ในเมื่อได้รับรายงานของท่านที่ปรึกษาทั้งสามนั้นแล้ว และสั่งงานไปตามที่เห็นชอบ
๖. กองบังคับการ มีพลโท รูป เป็นผู้บังคับบัญชาทหารที่จะดำเนินการตามคำบงการของพลเอก วิญญาณ ซึ่งส่งผ่านมาทางพลตรีมันสมอง ผู้เป็นใหญ่ในกองเสนาธิการ
๗. อย่างไรก็ดี ยังมีจอมพลสติ สัมปชัญญะ ผู้บังคับบัญชาการสูงสุด ควบคุมดูแลทั่วไปซึ่งค่ายทหารนั้น และเมื่อตัวกิเลสอันเป็นศัตรูใหญ่ยกทัพมาย่ำยีฉะนี้แล้ว ท่านจอมพลอาจสั่งยับยั้งคำบงการของกองบัญชาการ ในเมื่อพิจารณาเห็นว่าความจริงแท้คือ สัจจะ ซึ่งจะประจักษ์ว่าตัวกิเลสแสดงเป็นตัวศัตรูนั้น ที่แท้คือมายาเท่านั้นเอง จะมาทำอะไรไม่ได้จริงจัง หากว่าในค่ายทหารนั้นตั้งมั่นอยู่เฉย ๆ ค่ายทหารคือกายมนุษย์นั้นจะไม่มีจอมพลผู้บังคับบัญชาการสูงสุดเลย เว้นไว้แต่มนุษย์ผู้นั้นจะเป็นผู้ปฏิบัติ ก่อเกิดสติสัมปชัญญะ ควบคุมพลเอกวิญญาณไว้ได้ หรือนัยหนึ่งคือปฏิบัติได้ปัญญาอันแจ้งปราศจากโลภ โกรธ หลงทั้งหลาย เหล่านี้เป็นขบวนการในกายมนุษย์ซึ่งข้าพเจ้าสมมติเทียบเคียงดังค่ายทหาร

คราวนี้จะดำเนินเรื่องให้เห็นว่า กายมนุษย์อันยาววาหนาคืบนี้ สมมติว่าเป็นค่ายทหาร มีขันธ์ ๕ สมมติเป็นนายทหารประจำค่าย ได้ปฏิบัติอำนาจหน้าที่กันอย่างไร ตัวอย่างเช่น มีความเคลื่อนไหวของกองทหารศัตรูตรงมายังค่ายนั้น พลตรีหัวเหาจะรายงานไปยังพลตรีมันสมองทันทีที่ได้เห็นเหตุการณ์ พลตรีมันสมองจะบอกรายงาน (ไม่แสดงความเห็นอย่างไร) ไปยังกองบัญชาการ (นามธรรม) พลโทสัญญา ได้ทราบรายละเอียดเช่นนั้น ก็จะกล่าวฐานะผู้เคยจดจำได้ว่ากิริยาอย่างนี้ศัตรูจะเคลื่อนทัพเข้าโจมตีค่ายของเรา พลโทเวทนา จะรายงานต่อไปว่า อย่างนี้จะก่อให้เกิดทุกข์เดือดร้อนแก่ค่ายของเรา พลโทสังขาร จะแสดงความเห็นเสนอพลเอกวิญญาณว่า อย่างนี้ไม่ดีแน่ ควรยกพลทหารเข้าปะทะข้าศึกให้ทันท่วงที ตีทัพศัตรูให้แตกพ่ายไป พลเอกวิญญาณ เมื่อเห็นชอบด้วยก็จะบงการไปยังพลตรีมันสมองให้แจ้งแก่พลโท รูป เพื่อนำทหารออกไปสู้กับศัตรู แต่ถ้าหากค่ายทหารอันยาววาหนาคืบนั้นเป็นมนุษย์ที่ได้ปฏิบัติธรรมแล้วก็จะเกิดปัญญา รู้ความจริงแท้คือสัจจะ มีจอมพลสติสัมปชัญญะคอยคุมว่าอย่ายกพลทหารไปรบราฆ่าฟันกันเลย เพียงแต่ตั้งมั่นอยู่ในค่ายเตรียมพร้อมไว้ให้ดี ศัตรูคือตัวกิเลสก็จะไม่กล้ำกรายเข้ามาย่ำยีได้ แพ้ภัยไปเอง

ส่วนทางด่านอื่น เช่นค่ายของพันตรีวงแหวนนั้น เมื่อได้ยินเสียงระเบิด หรือเสียงยิงปืนของข้าศึกศัตรู พันตรีวงแหวนก็คงจะรายงานผลทำนองเดียวกัน ทางด่านกองทัพกีบแพะหรือด่านกองพันกลีบดอกบัว ทางด่านกองพันแผ่นปุยฝ้ายก็ไม่แตกต่างกันไปเป็นอย่างอื่น เว้นเสียแต่ทางหอคอยกองพันวิทยุนั้น พันตรีมโนได้รับข่าวโดยตรงแล้ว พลเอกวิญญาณอาจสั่งการผ่านพลตรีมันสมองทันที โดยไม่ฟังความเห็นพลโทที่ปรึกษาทั้งสาม ดังกล่าวมานั้น แต่จอมพล สติสัมปชัญญะอาจควบคุมยับยั้งเช่นกรณีอื่นได้ ทั้งหลายเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าในกายมนุษย์นี้มีขบวนการอันหนึ่งที่จะดำเนินการต่าง ๆ ไม่ใช่ตัวตนของเราดอก ที่ทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ กล่าวสั้น ๆ ก็คือ ขันธ์ ๕ นั่นแหละเป็นผู้ดำเนินการ หรือพูดโดยย่อก็ได้แก่ รูปนามนั่นเอง หาใช่เรา ใช่เขา ใช่ตัวใช่ตนไม่ เมื่อมีปัญญารู้ทะลุปรุโปร่งเช่นนี้ ก็ละสักกายทิฏฐิได้อย่างแน่นอน ท่านจึงว่าการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานให้พิจารณาที่รูปนาม ในกายยาววาหนาคืบนี้ ซึ่ง อริยสัจสี่ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เกิดตรงนี้เอง




 

Create Date : 06 สิงหาคม 2549
0 comments
Last Update : 6 สิงหาคม 2549 1:42:06 น.
Counter : 1836 Pageviews.


ถมทอง
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 56 คน [?]








.: เรื่องล่าสุด ๒๕๕๖ :. คลิกเลยค่ะ

๒ พ.ย. [คลิปเสียง]ธรรมเทศนา ๑๔

๑๔ ต.ค. [คลิป]พิธีถวายผ้าป่า๒๐๐กอง





pub-6092438163871112
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2549
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
6 สิงหาคม 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add ถมทอง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.