เล่าสู่กันฟังฉันนักบัญชี
Group Blog
 
 
มกราคม 2562
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
10 มกราคม 2562
 
All Blogs
 

งบแสดงฐานะการเงิน Statement of Financial Position EP.3

 

ใน EP.2 ผมได้เล่าถึงในส่วนของหนี้สินและส่วนของทุนในงบดุลจบไปแล้วทั้งในมุมมองแบบนักบัญชีและนักการเงิน มาใน EP.3 นี้ผมจะเล่าให้ฟังถึงการจะใช้งบตัวนี้ว่าจะใช้งานมันอย่างไร ซึ่งผมเคยเกริ่นไว้ว่าจะพูดถึงตั้งแต่ EP.1 โน่น..

ก็มีการเกริ่นไว้ใน EP.2 ในประเด็นการมองงบดุลแบบมุมมองของนักการเงินไว้  ทำไมต้องเกริ่นเรื่องนั้นก็เพราะว่าคนที่ใช้งบดุลนั้นจริงๆอาจไม่ใช่นักบัญชี  คนที่ทำงบดุลคือนักบัญชีแต่คนที่ใช้งบดุลหรือจะมีคำถามเกี่ยวกับงบดุลกลับกลายเป็นผู้อื่น เช่น ผู้บริหาร นักวิเคราะห์การเงิน ดังนั้น การจะใช้งบดุลก็ต้องใช้กันในมุมมองของคนเหล่านั้นว่าเค้าเหล่านั้นต้องการอะไรจากงบดุล

งบดุลโดยพื้นฐานแล้วมันบ่งบอกถึงฐานะทางการเงินของกิจการว่ามีความเข้มแข็งเพียงไร  โดยพิจารณาจากโครงสร้างของเงินทุนของกิจการ (Financial Structure)ที่ใช้ลงทุนในสินทรัพย์ของกิจการนั้นมีสัดส่วนของส่วนของเจ้าของ(Equity)มากเพียงไร ยิ่งสัดส่วน Equity มีมากกว่าสัดส่วนของหนี้ (Debt) เพียงไรก็แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งทางการเงินและความปลอดภัยของกิจการ

ทำไมการใช้เงินทุนจาก IBD (ใครจำ IBD ไม่ได้หรือยังไม่รู้จักก็กลับไปอ่านใน EP.2 นะครับ) มากๆจึงมีความเสี่ยง...อันนี้คงอธิบายได้จากการที่กิจการมีภาระทั้งด้านดอกเบี้ยและเงินต้นที่เกิดขึ้นจาการกู้เงินที่ต้องจ่ายคืนแก่เจ้าหนี้เงินกู้ซึ่งจะไปหลีกเลี่ยงการจ่ายไม่ได้ ดังนั้น ถ้ากิจการดำเนินงานแล้วประสบปัญหาขาดทุนหรือปัญหาสภาพคล่อง การจะไปขอหยุดหรืองดจ่ายดอกเบี้ยหรือเงินต้นกับธนาคารก็อาจถูกฟ้องล้มละลายหรืออาจถูกยึดทรัพย์โดยธนาคารสำหรับทรัพย์ที่เอาไปค้ำประกันได้  ต่างจากส่วนของทุนซึ่งเงินปันผลนั้นไม่ได้บังคับว่าจะต้องจ่ายเป็นจำนวนสม่ำเสมอเท่าๆกันทุกปีหรือต้องจ่ายทุกๆปีและแน่นอนว่าเงินทุนเริ่มแรก(คล้ายๆกับเงินต้นของเงินกู้)ที่เอามาลงไม่มีการใช้คืนนะครับจนกว่ากิจการจะเลิกครับ  ถ้ายังไม่เลิก ก็ได้ปันผลกันไปเรื่อยๆตราบนานเท่านาน ถ้าเลิกค่อยแบ่งสรรปันส่วนสินทรัพย์ที่สุทธิจากหนี้สินแล้วใช้คืนกันไปตามสัดส่วนที่ลงทุนไว้ครับ

นอกจากนี้ต้องเข้าใจด้วยว่าการจ่ายผลตอบแทนของทั้ง 2 แหล่งเงินทุนนี้อันได้แก่ดอกเบี้ยจ่ายและเงินปันผลนั้น มีความแตกต่างกันในการแสดงในงบการเงินกล่าวคือดอกเบี้ยจ่ายนั้นแสดงหักเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุน  ในขณะที่เงินปันผลจ่ายนั้นแสดงหักออกจากกำไรสะสมของกิจการ(ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายของกิจการ ถือเป็นการคืนเงินทุนให้เจ้าของ) และด้วยภาระดอกเบี้ยที่มีนั้น ถ้าเงินต้นที่กู้มายังไม่ได้ชำระหรือผ่อนชำระในระยะยาวหรือใช้เต็มวงเงินและยังไม่ได้จ่ายชำระแล้ว  กิจการจะมีภาระดอกเบี้ย ค่อนข้างจะเป็นจำนวน(ก้อน)ที่คงที่หรือที่เราเรียกกันว่า fixed  charge เป็นผลทำให้ผลการดำเนินงานของกิจการมีความผันผวนอย่างมากกล่าวคือในยามที่กิจการมีรายได้และกำไรมากอัตรากำไรสุทธิของกิจการก็จะดูดีมาก แต่ในยามที่รายได้และกำไรของกิจการลดลงแต่ยังคงต้องจ่ายดอกเบี้ยในก้อนที่คงที่แล้วเมื่อนั้นอัตรากำไรสุทธิของกิจการจะตกต่ำอย่างฮวบฮาบทันที่อันนี้ในภาษานักการเงินเราเรียกว่ากิจการมี Financial leverage สูง

นั่นก็เป็นเหตุผลเบื้องหลังว่าทำไมใช้หนี้ IBD ในสัดส่วนมากแล้วกิจการจะเกิดความเสี่ยงในการบริหารงานแต่ไม่ได้หมายความว่าจะส่งเสริมให้กิจการใช้เงินทุนจากแหล่ง Equity เท่านั้นนะครับ การกู้เงินมาบริหารงานก็มีข้อดีครับ ไม่ได้มีแต่ข้อเสียตลอด มันเป็นการส่งเสริมให้ผู้บริหารตื่นตัวขยันขันแข็งมากขึ้นเพราะมีหนี้ค้ำคออยู่ต้องพยายามหารายได้ใหม่ๆเข้ามาในกิจการเสมอเพื่อคงความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นได้  นอกจากนี้เนื่องจากดอกเบี้ยที่เกิดจากการกู้เงินสามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายได้จึงเป็นส่วนช่วยให้กิจการลดภาระการจ่ายภาษีลงไปด้วยซึ่งเป็นผลทำให้ต้นทุนเงินกู้จะถูกลงด้วยอัตราภาษี  ฟังแล้วอาจรู้สึก งง งง ว่ามันเป็นอย่างไร เช่น ถ้าเรากู้เงินมาด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 8 ต่อปีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องจ่ายสมมติอยู่ที่อัตรา 20% ของกำไรก่อนภาษีก็หมายถึงว่าการที่เรามีดอกเบี้ยมาเพิ่มค่าใช้จ่ายให้แก่กิจการ(กรณีปันผลจ่ายไม่ได้ช่วยอะไรเลย) ดังนั้นทุกๆดอกเบี้ยที่จ่ายมันจะลดภาษีให้เราได้ในอัตรา 20ดังนั้น  มันจึงส่งผลทำให้ต้นทุนของเงินกู้ที่แท้จริงอยู่ที่ร้อยละ 8-8*20% หรือ 8*80% นั่นคือ = 6.4% โดย 1.6% ที่ลดลงไปก็คือผลประโยชน์จากการที่เราจ่ายภาษีน้อยลงไปหรือภาษานักการเงินเค้าเรียกกันว่า tax shield หรือเกราะป้องกันภาษีนั่นเอง

มาถึง ณ จุดนี้ การใช้งบดุลในแง่การแสดงฐานะการเงินของกิจการผู้อ่านคงพอมองออกแล้วว่าการพิจารณาว่ากิจการมีความมั่นคงหรือไม่นั้นดูกันอย่างไร นั่นก็เป็นประเด็นแรกที่เราดูเกี่ยวกับงบดุลซึ่งว่าไปแล้วเป็นคำถามเกี่ยวกับโครงสร้างเงินทุนว่ากิจการนั้นๆมีโครงสร้างเงินทุนเป็นอย่างไรระหว่าง Equity และ Debt

ประเด็นที่ 2 ที่เราจะพิจาณาจากงบดุลคือกิจการบริหารสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่เราต้องไม่ลืมว่าโครงสร้างเงินทุนที่กล่าวไปในข้างต้นนั้นเป็นก้อนเงินที่เรานำมาลงทุนในสินทรัพย์ในงบดุลผมขออนุญาตยกสมการที่เคยกล่าวไว้ใน EP.2 มาแสดงตรงนี้อีกรอบนึง

เงินทุนหมุนเวียน(WC)+สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน = IBD+Equity

 

สังเกตว่าฝั่งซ้ายมือประกอบไปด้วยWC+สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนเป็นก้อนสินทรัพย์ที่เราใช้เงินลงทุนมาจาก2ท่านทางด้านขวา พิจารณาตัว WC,working capital หรือเงินทุนหมุนเวียนมันมาจากสินทรัพย์หมุนเวียนของกิจการหักด้วย NIBD (ใครตามไม่ทันให้กลับไปอ่าน EP. ก่อนหน้านะครับ) ถ้าเราบริหารส่วนนี้ดีๆหรือเรียกว่ามีการบริหารทุนหมุนเวียนที่ดีก็จะลดขนาดการถือครองWC ลงมาซึ่งก็หมายถึงฝั่งทางขวามือเราก็สามารถลดขนาดมันลงได้เช่นกันซึ่งก็หมายถึงคุณสามารถจ่ายคืนเงินกู้เพื่อลดขนาดมันลงซึ่งก็จะลดภาระดอกเบี้ยและความเสี่ยงของกิจการลงได้

 

ทีนี้การบริหาร WC ทำอย่างไร WC เกิดจาก สินทรัพย์หมุนเวียนซึ่งตัวใหญ่ๆของกิจการทั่วๆไปก็คือลูกนี้การค้าและสินค้าคงเหลือหักออกด้วยหนี้สิน NIBD ตัวใหญ่ๆก็จะได้แก่เจ้าหนี้การค้าและค่าใช้จ่ายค้างจ่ายต่างๆ ดังนั้นการจะลดขนาดของ WC ลงได้ก็ทำได้โดยการที่กิจการต้องพยายามบริหารให้เหลือลูกหนี้การค้าและสินค้าให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นให้กิจการดำเนินการต่อไปอย่างราบรื่นในขณะที่ใช้ประโยชน์จากเจ้าหนี้การค้าและค่าใช้จ่ายค้างจ่ายมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ซึ่งก็จะทำให้ WC มีขนาดที่เล็กลงและสามารถไปลดขนาดเงินลงทุนลงมาได้แต่ศักยภาพในการค้าขายและทำกำไรยังคงเท่าเดิม....ผมกำลังจะบอกว่ากิจการไม่ควรจะเพิกเฉยในการติดตามการชำระเงินจากลูกหนี้กิจการไม่ควรตุนสินค้าโดยไม่จำเป็น กิจการไม่ควรปล่อยปละละเลยให้สินค้าหมดอายุ/เสียหาย / ล้าสมัย นั่นคือสิ่งที่ต้องการจะสื่อออกมาสิ่งสูญเสียเหล่านี้แม้ว่าเราตัดมันทิ้งไป(คล้ายๆขจัดไขมันส่วนเกินออกจากร่างกาย)กิจการก็ยังคงความสามารถในการทำกำไรเท่าเดิมครับ(ร่างกายสุขภาพก็ดีเท่าเดิมหรือดีขึ้นครับ)แต่สิ่งที่เราได้มาคือใช้เงินทุนทางด้านขวาของเราอย่างคุ้มค่าครับ(ร่างกายเฟอร์มไม่ต้องเสียตังค์หาหมอโดยไม่จำเป็นครับ)

 

ดังนั้นประเด็นที่ 2 ที่เรามองงบดุลคือกิจการนี้บริหารเงินทุนหมุนเวียนอย่างไร ถ้าลงทุนใน WC แต่น้อยสินทรัพย์หมุนเวียนมีแต่กล้ามเนื้อไม่มีไขมันนั่นจะเป็นเรื่องดีสำหรับงบดุลของกิจการนั้นๆครับ

 

ประเด็นที่ 3 อาจเป็นประเด็นที่ไม่ได้พิจาณาแต่เพียงงบดุลงบเดียว ต้องใช้ร่วมกับงบกำไรขาดทุนในการพิจาณาว่ากิจการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่ผู้เป็นเจ้าของเงินทุนหรือไม่หรือที่เรียกกันว่ากิจการสร้างEconomic Value Added ,EVA หรือไม่ในประเด็นนี้คงมีความซับซ้อนพอสมควรสำหรับนักบัญชีเนื่องจากการวัดผลกำไรทางเศรษฐศาสตร์อาจแตกต่างไปจากที่นักบัญชีวัดผลกันนักบัญชีวัดผลกำไรขาดทุนผ่านงบกำไรขาดทุน ว่ากิจการทำธุรกิจแล้วได้กำไรหรือขาดทุนแต่ในความเป็นจริงนั้นตัวเลขกำไรที่เราเห็นในงบกำไรขาดทุนอาจเป็นผลขาดทุนก็ได้ในมุมมองของเจ้าของเงินทุน.....

 

หลักการของ EVA ก็คือเจ้าของเงินทุนของกิจการมีอยู่ 2 ท่านก็คือ IBD และ Equity 2 ท่านนี้เอาเงินมาลงทุนในสินทรัพย์ของกิจการเพื่อให้ผู้บริหารเอาสินทรัพย์เหล่านั้นไปสร้างผลตอบแทนคืนมาสู่ทั้ง 2 ท่านที่กล่าวไปซึ่งต้องไม่ลืมว่าทั้ง 2 ท่านเค้าก็มีอัตราผลตอบแทนที่เค้าต้องการอยู่ดังนั้นถ้าคิดง่ายๆว่าทั้ง 2 ท่านเอาเงินมาลงทุน 100 ล้านบาทแบ่งเป็น Debt 40 ล้านบาท Equity 60 ล้านบาท Debt ต้องการดอกเบี้ยที่ 8% Equity ต้องการผลตอบแทน 13ก็หมายความว่าเฉลี่ยแล้ว(คิดแบบง่ายๆไม่ได้คำนึงเรื่อง tax shield) ก็คือ 2 ท่านต้องการผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 40*8%+60*13%= 11% ดังนั้นเงิน 100 ล้านที่มาลงในสินทรัพย์ก็หวังผลตอบแทนเป็นที่ปีละ 11 ล้านบาท กิจการที่กล่าวนี้ ถ้าผู้บริหารสามารถสร้างยอดขายได้ที่ปีละ 100 ล้านบาทโดยได้กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยที่หักภาษีแล้ว Net Operating Profit less adjusted tax, NOPLAT (เป็นกำไรก้อนที่ถือเป็นผลตอบแทนแก่ทั้ง 2 ท่านในข้างต้น) เป็นจำนวน 10 ล้านบาทซึ่งเมื่อเราพิจารณาจากตัวเลขกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยที่หักภาษีแล้วจำนวน 10 ล้านซึ่งคิดเป็น 10% ของยอดขายก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่กิจการทำกำไรได้ขนาดนั้น อย่างไรก็ตามในมุมมองของเจ้าของทุนทั้ง 2 ท่านคงมีความเห็นว่าผู้บริหารสอบตกครับและเจ้าของเงินทุนขาดทุนครับเพราะต้องการผลตอบแทน 11 ล้านบาทแต่ผู้บริหารทำได้แค่10 ล้านอันนี้ก็เป็นหลักการในการพิจาณางบดุลควบคู่ไปกับงบกำไรขาดทุนเพื่อประเมินความสามารถของผู้บริหารกิจการถ้าผู้บริหารทำได้เท่ากับที่ต้องการหรือได้ผลตอบแทนที่ดีกว่านี้กิจการนั้นก็น่าลงทุนและมีความเสี่ยงที่ต่ำสำหรับการลงทุนครับ

 

อย่างไรก็ตามการประเมิน EVA ผ่านงบดุลและงบกำไรขาดทุนนี้ผู้ใช้งบคงต้องมีข้อมูลประกอบอื่นซึ่งนักบัญชีไม่ได้ให้มานั่นคืออัตราผลตอบแทนที่เจ้าของเงินทุนทั้ง 2 ท่านต้องการว่าอยู่ในอัตราร้อยละเท่าไรไว้ในอนาคตผู้เขียนจะค่อยๆอธิบายให้ฟังเมื่อถึงเวลาครับ ตอนนี้เอาแค่เข้าใจในหลักการของมันเสียก่อน  ก็เป็นอันจบเรื่องงบแสดงฐานะการเงินหรืองบดุล (Statement of financial position) ว่าเค้าคืออะไรแล้วจะใช้งานเค้าอย่างไร  คราวต่อไปจะมาเล่าเรื่องงบกำไรขาดทุนให้ฟังต่อครับ....วันนี้ สวัสดีครับ




 

Create Date : 10 มกราคม 2562
0 comments
Last Update : 16 กันยายน 2562 13:28:57 น.
Counter : 637 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


Phunmet
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เล่าสู่กันฟังฉันนักบัญชี
Friends' blogs
[Add Phunmet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.