เล่าสู่กันฟังฉันนักบัญชี
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2562
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
2 มีนาคม 2562
 
All Blogs
 

มูลค่าปัจจุบัน-สุทธิ (Net Present Value , NPV)



มูลค่าปัจจุบัน-สุทธิ (Net Present Value , NPV)

บทความที่แล้วเราได้กล่าวถึง IRRหรือ Internal Rate of Return ซึ่งถูกใช้เป็นตัววัดทางการเงินเพื่อประเมินว่าโครงการที่จะลงทุนนั้นให้อัตราผลตอบแทนเท่ากับเท่าไร  คราวนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังถึงตัววัดอีกตัวหนึ่งซึ่งใช้คู่กันเป็นประจำเราเรียกตัววัดนี้ว่า “มูลค่าปัจจุบัน-สุทธิ(Net Present Value , NPV)”

ถ้า IRR เป็นตัววัดที่บอกผลเป็น% แล้ว  NPV จะเป็นตัววัดที่บอกผลเป็นจำนวนเงินว่าการลงทุนคราวนั้นจะได้ผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินสูงกว่าเงินลงทุนที่ลงไปเป็นจำนวนเงินเท่ากับเท่าไรแต่จำนวนดังกล่าววัดกันในรูปของมูลค่าปัจจุบันครับ...

NPV ก็ยังคงเป็นตัววัดที่อาศัยหลักการเรื่อง PV และ FV เข้ามาใช้ในการคำนวณเช่นเดิมครับ โดยหลักการของตัววัดนี้ก็คือเราจะพิจารณาผลต่างระหว่างกระแสเงินสดที่จ่ายลงทุนในโครงการที่กำลังพิจารณาอยู่กับกระแสเงินสดที่เราจะได้รับในอนาคตจากโครงการเดียวกันนี้ แต่ไม่ได้หักลบกันแบบง่ายๆแบบบวกลบ เลขของเด็กๆนะครับ... เราจะคิดลดกระแสเงินสดทั้ง 2 กลุ่มนี้กลับมาที่วันเริ่มแรกก็คือวันที่ในปัจจุบันด้วยอัตราผลตอบแทนที่นักลงทุนหรือเจ้าของเงินทุนต้องการสังเกตว่าเราจะได้ค่าปัจจุบัน (PV) 2 ก้อนก็คือค่าปัจจุบันของกระแสเงินที่ไหลออก(จ่ายลงทุน)หรือ PV of cash outflow กับค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดที่ไหลเข้า(กำไรที่เป็นเงินสดจากโครงการ)หรือ PV of cash inflow เอาค่าปัจจุบันทั้งสองค่ามาหักลบกัน(net)โดยเอาค่าปัจจุบันของเงินเข้าหักด้วยค่าปัจจุบันของเงินออกก็จะได้ค่าที่เรียกว่า “มูลค่าปัจจุบัน-สุทธิ (Net Present Value, NPV)” นั่นเอง ซึ่งถ้าได้ค่าสุทธิดังกล่าวมากกว่าหรือเท่ากับศูนย์เราจะตัดสินใจลงทุนในโครงการดังกล่าว ถ้าได้ค่าติดลบ เราจะปฏิเสธการลงทุน เพื่อไม่ให้งงกับคำอธิบายข้างบนผมขอเขียนเป็นสมการให้เห็นจะได้เข้าใจได้ง่ายขึ้น…ดูจากสมการแล้วก็เน้นอีกครั้งว่าเป็นการเอาค่าปัจจุบัน 2 ค่ามาสุทธิกันก็เลยเรียกว่า “มูลค่าปัจจุบัน-สุทธิ”

NPV = PV of cash inflow – PV of cash outflow

เหตุที่เมื่อเราได้ค่าสุทธิมากกว่าหรือเท่ากับศูนย์แล้วเราจะลงทุนก็เพราะว่าการได้ค่าเท่ากับศูนย์ก็เท่ากับว่าท่านได้ผลตอบแทนในอัตราผลตอบแทนที่ท่านต้องการเรียบร้อยแล้วครับ (เมื่อ NPV = 0 ก็หมายถึงค่า IRR ที่ท่านคำนวณได้จะมีค่าเท่ากับอัตราผลตอบแทนที่ท่านต้องการพอดีครับ)ถ้าได้เกินกว่าศูนย์ก็หมายความว่าท่านได้อัตรา ผลตอบแทนมากกว่าอัตราผลตอบแทนที่ท่านต้องการนั่นเอง...ทั้งนี้เพราะว่าท่านใช้อัตราผลตอบแทนที่ท่านต้องการเป็นอัตราในการคิดลด(Discount) เพื่อหาค่าปัจจุบัน...หวังว่าคงจำกันได้นะครับว่ากระบวนการในการคิดลดคืออะไร?ถ้าตามไม่ทันก็กลับไปเริ่มทำความเข้าใจกับบทความก่อนหน้าที่เกี่ยวข้องได้นะครับ

การคำนวณหาค่า NPV

ข้อมูลในการคำนวณหาค่า NPV จะประกอบไปด้วยข้อมูล 3 กลุ่มด้วยกันครับได้แก่

1. ข้อมูลกระแสเงินสดจ่ายเพื่อการลงทุนในแต่ละปี หมายถึงโครงการใดๆ อาจมีการจ่ายเงินค่าลงทุนครั้งแรกตอนเริ่มต้นแล้วจบไปเลยก็มี หรือบางโครงการอาจต้องลงทุนแบบทยอยเป็นเฟส บางโครงการอาจต้องจ่ายเงินตอนสิ้นสุดโครงการก็มีครับ เช่นคุณจะต้องจ่ายค่ารื้อถอนเพื่อคืนพื้นที่เช่าก็ถือเป็นเงินจ่ายเพื่อการลงทุนเช่นกันครับ

2. ข้อมูลกระแสเงินสดรับ-สุทธิที่กิจการจะได้รับในอนาคตในแต่ละปีรวมทั้งเงินก้อนจากการขายทรัพย์สินของโครงการเมื่อจบโครงการ

3. อัตราผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนต้องการ

ข้อมูลเหล่านี้หามาได้อย่างไร? สังเกตว่าผมกล่าวถึงข้อมูลกระแสเงินสดรับ-จ่าย(Cash inflow and Cash outflow) ดังนั้นถ้าท่านจะคำนวณค่า NPV ท่านต้องไปหาตัวเลขกระแสเงินสดจ่ายและก็กระแสเงินสดรับให้ได้ก่อนครับ....มิฉะนั้นก็ไม่ต้องหวังว่าจะหาค่า NPV ได้ครับ....

เมื่อเราพูดถึงเรื่องกระแสเงินสดรับ-จ่าย  ข้อมูลทางการเงินที่จะให้ข้อมูลเหล่านี้แก่เราได้ก็เห็นจะเป็นงบกระแสเงินสดครับ...ผมได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับงบกระแสเงินสด Cash flow Statement จบไปแล้วใน group blog ความรู้เรื่องบัญชีซึ่งมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 4 ตอน ท่านผู้อ่านสามารถทำความรู้จักกับงบตัวนี้ผ่านบทความเหล่านั้นได้ครับ ผมคงไม่เอามาเล่าให้ฟังตรงนี้อีกรอบหนึ่งให้เสียพื้นที่ บทความนี้คงเป็นการนำเอาหลักการในการหาตัวเลขกระแสเงินสดจากงบตัวนั้นมาทำการหาค่า NPV ครับ...

ข้อมูลชุดที่ 1 ข้อมูลกระแสเงินสดจ่ายเพื่อการลงทุนในแต่ละปี... ปกติเราสามารถหาตัวเลขเหล่านั้นได้จากกระแสเงินสดจากกิจกรรมการลงทุนครับซึ่งก็คือจำนวนเงินที่เราจะต้องลงทุนในสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนต่างๆนั่นเอง แต่ท่านไม่ต้องไปหาหรอกครับเพราะคงหาไม่ได้..เนื่องจากการคำนวณค่า NPV นั้นเกิดขึ้นก่อนการจะเกิดขึ้นของโครงการจริงๆ  แต่ข้อมูลในงบกระแสเงินสดที่นักบัญชีทำนั้นมันเป็นเรื่องของอดีตที่นำมารายงานให้ชมกัน  ดังนั้น เรื่องจำนวนกระแสเงินสดที่จะจ่ายในการลงทุนนั้นท่านจะรู้ได้จากการศึกษาว่ามูลค่าสินทรัพย์ที่ท่านจะต้องลงทุนตามแผนในแต่ละปีนั้นมันมีมูลค่าประมาณเท่าไร  งบกระแสเงินสดที่ผมเล่าให้ฟังไปนั้น นักบัญชีทำขึ้นหลังจากลงทุนไปแล้วครับ นักบัญชีก็ไปเก็บตัวเลขเงินสดจ่ายลงทุนนำมาแสดง แต่ตอนนี้เรายังไม่ได้ทำอะไรเลย ดังนั้นตัวเลขกระแสเงินสดที่จะจ่ายลงทุนตอนคำนวณค่า NPV จึงเป็นการเก็บตัวเลขประมาณการของมูลค่าสินทรัพย์ที่ต้องลงทุนที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริงครับ..แต่การจะคำนวณก็ต้องอาศัยความเข้าใจว่าโดยหลักการแล้วกระแสเงินสดเหล่านั้นหามาได้อย่างไร

ข้อมูลชุดที่ 2  ได้แก่ข้อมูลกระแสเงินสดรับ-สุทธิที่กิจการจะได้รับในอนาคตในแต่ละปี ซึ่งข้อมูลชุดนี้ก็เกิดจากการประมาณเช่นกันครับแต่ท่านต้องเข้าใจกลไกของการจัดทำกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ผมได้เล่าให้ฟังไป...เพื่อทำการประมาณกระแสเงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงานขึ้นมา  วิธีการก็คือเมื่อท่านทำโครงการขึ้นมาท่านต้องมีการประมาณการกำไรที่ท่านจะได้รับจากโครงการเหล่านั้นโครงการที่เราจะลงทุนก็มีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนขนาดใหญ่ เช่น ลงทุนแค่เครื่องจักรเครื่องหนึ่งเพื่อทดแทนเครื่องเก่าไปจนถึงการลงทุนเต็มรูปแบบเช่นการซื้อบริษัท การประมาณกำไรของท่านก็หมายความว่าท่านต้องมีการจัดทำประมาณการงบกำไรขาดทุนขึ้นมาว่าโครงการที่ตัดสินใจจะลงทุนนี้จะก่อให้เกิดรายได้เท่าไร มีต้นทุนขาย+ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเท่าไรต้องจ่ายภาษีเท่ากับเท่าไรตัวเลขเหล่านี้ก็ต้องมีการประมาณการกันขึ้นมาจนได้ตัวเลขกำไรจากการดำเนินงานหลังหักภาษีหรือ NOPLAT ที่ผมเคยเล่าให้ฟังในบทความเรื่องงบแสดงฐานะการเงินEP.3 ใครสนใจใคร่รู้ก็กลับไปอ่านได้ครับ

เมื่อเราได้ข้อมูล NOPLATมาแล้วเราก็จะทำการแปลงตัวเลข NOPLAT ให้เป็นตัวเลขกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน(Cash flow from operating, CFFO)ซึ่งก็ต้องกลับไปทบทวนเรื่องการจัดทำงบกระแสเงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงานโดยวิธีอ้อมครับนั่นก็หมายถึง ท่านต้องนำเอาค่า NOPLAT บวกด้วยค่าเสื่อมราคาและเดินหน้าต่อด้วยการบวก(ลบ)การเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินหมุนเวียน ...กล่าวมาถึงตรงนี้ท่านก็ต้องเข้าใจทันทีว่างานนี้ไม่ได้มีแค่การประมาณการงบกำไรขาดทุนเท่านั้นแต่ท่านต้องประมาณการตัวงบดุลด้วยครับว่าในอนาคตเมื่อดำเนินโครงการนี้แล้วหน้าตางบดุลของท่านจะมีหน้าตาอย่างไรเพื่อที่ท่านจะได้มีตัวเลขการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินหมุนเวียนมาปรับค่ากับตัวเลข NOPLAT เพื่อให้ได้ค่า CFFO ครับ..

ข้อมูลชุดที่ 3 อัตราผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนต้องการเป็นข้อมูลซึ่งต้องมีการกำหนดขึ้นมาว่าท่านในฐานะของนักลงทุนท่านต้องการผลตอบแทนจากโครงการนั้นในอัตราร้อยละเท่าไรต่อปี อัตราผลตอบแทนดังกล่าวจะขึ้นกับโครงสร้างทางการเงินและค่าเสียโอกาสของเงินทุนที่ท่านจะนำมาลงทุนในโครงการดังกล่าว  โดยปกติแล้วกิจการจะมีนโยบายเกี่ยวกับโครงสร้างเงินทุนของกิจการว่าจะดำรงสัดส่วนหนี้สินต่อทุนในสัดส่วนเท่าไรและมีการคำนวณต้นทุนเงินทุนถัวเฉลี่ย(Weighted Average Cost of Capital, WACC) ของกิจการว่ากิจการจะมีต้นทุนของเงินทุนอยู่ที่อัตราร้อยละเท่าไร ซึ่งเวลาที่ตัดสินใจลงทุนในโครงการต่างๆนั้น  WACC จะถูกนำมาใช้เป็นตัวแทนของอัตราผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนต้องการซึ่งในที่นี้ผู้ลงทุนหรือเจ้าของเงินก็มี 2 ท่านคือ IBD และ Equity ตามที่ผมเคยเล่าให้ฟังในบทความงบแสดงฐานะการเงิน EP.2 ไปแล้ว...กลับไปอ่านได้ครับ...สำหรับ WACC ไว้ผมจะหาโอกาสมาเล่าให้ฟังในอนาคตครับ

ในบทความนี้ ผมจะสมมติเคสง่ายๆในการคำนวณ NPV คงไม่ทำแบบที่มันซับซ้อน(คุยกันแต่เกณฑ์เงินสด) จนท่านผู้อ่าน งงและเลิกอ่านไปเสียก่อน...

เคสมีว่า...สมมติว่าท่านต้องการลงทุนซื้อคอนโดสักยูนิตเพื่อปล่อยเช่าโดยท่านมีแผนการแบบนี้ครับ

1. ลงทุนซื้อคอนโดยูนิตหนึ่งในราคา1.5 ล้านบาท

2. คอนโดดังกล่าวสามารถปล่อยเช่าได้เดือนละ 6,500.- บาทโดยมีนายหน้าที่หาผู้เช่าให้จะหักค่าเช่า 1 เดือนโดยสัญญาว่ายังไงก็ต้องหาผู้เช่าอยู่ได้ครบปีแน่ๆนั่นหมายถึงใน 1 ปีท่านจะมีรายได้สุทธิเพียง 11 เดือนจากการปล่อยเช่า 12 เดือน แต่นายหน้าก็เก็บท่านแค่ปีแรกหลังจากนั้นท่านไปจัดการเองตามแต่ความสามารถของท่านในการหาผู้เช่าใหม่หรือจัดการผู้เช่าเดิมต่อไป

3. ท่านหวังว่าค่าเช่าจะมีการปรับปีละ 5%ถ้าสามารถทำได้ แต่ก็ต้องดูสถานการณ์ก่อนว่าตลาดจะเป็นอย่างไรท่านก็ไม่มั่นใจว่าจะปรับได้ตามแผนจริงๆหรือไม่

4. ท่านต้องรับภาระจ่ายค่าส่วนกลางปีละ 5,000.- บาทซึ่งท่านก็พยายามผลักภาระดังกล่าวผ่านค่าเช่าไปเรียบร้อยแล้ว

5. ท่านอาจจะต้องมีค่าซ่อมแซมบางส่วนซึ่งต้องรับผิดชอบจัดการให้แก่ผู้เช่าซึ่งท่านก็ประมาณว่าน่าจะมีค่าใช้จ่ายเผื่อไว้ปีละ 5,000.-ถึง 8,000.- บาทต่อปี

6. ท่านคิดว่าจะลงทุนในคอนโดเพื่อให้เช่าเป็นระยะเวลา 8 ปี หลังจากนั้นท่านก็จะขายคอนโดนั้นไปในต้นปีที่ 9 ซึ่งคิดว่าราคามันก็ไม่น่าจะตกต่ำไปกว่า1.5 ล้านบาท ถ้ามันขึ้นราคาปีละ 2% ท่านคิดว่าก็น่าจะขายต่อได้ในราคาประมาณ1.75 ล้านบาทหักค่าโอนนี่นั่นก็น่าจะเหลือประมาณ 1.72ล้านบาท

7. ท่านคิดว่าการลงทุนในคอนโดก็ไม่น่าจะมีความเสี่ยงอะไรมากมายรายได้ค่อนข้างจะเข้าอย่างสม่ำเสมอ ราคาคอนโดก็ไม่น่าจะตกไปกว่าราคาที่ซื้อมา ท่านก็หวังว่ามันจะได้ผลตอบแทนดีกว่าการลงทุนตราสารหนี้ระยะ 10 ปีซึ่งก็น่าจะประมาณ 4.5%+ส่วนเพิ่มอีกสัก 3% ก็เลยคิดว่าท่านหวังผลตอบแทนจากการลงทุนคราวนี้ไว้ที่ 7.5% ต่อปี

8. ท่านคิดว่าถ้าเป็นไปตามแผนนี้แล้วท่านจะลงทุนในคอนโดดังกล่าวดีไหมมันจะคุ้มค่าการลงทุนหรือไม่?

เคสนี้ก็เป็นโครงการๆหนึ่งที่ท่านจะตัดสินใจว่าควรจะลงทุนดีหรือไม่...ก็มาคำนวณหาค่า NPV ไปพร้อมกันครับ ถ้าพบว่าค่า NPV มากกว่าหรือเท่ากับศูนย์ก็ตัดสินใจลงทุนกันครับถ้าติดลบก็คงบอกลา พับโครงการไปเอาเงินไปทำอย่างอื่นดีกว่า....

เริ่มต้นที่ชุดข้อมูลที่ 1กระแสเงินสดที่เราจะต้องจ่ายลงทุนซึ่งตามโจทย์นี้ก็ไม่มีอะไรซับซ้อน จ่ายครั้งเดียวตั้งแต่วันเริ่มโครงการจำนวนที่จ่ายก็คือจำนวน 1.5 ล้านบาท

ข้อมูลชุดที่ 2 กระแสเงินสดรับ-สุทธิข้อมูลชุดนี้ในเคสนี้ก็ไม่ได้มีความซับซ้อนขนาดที่ต้องไปทำงบกำไรขาดทุนอะไรกันมากมายเพราะรายการรับจ่ายทั้งหมดทำกันบนเกณฑ์เงินสดครับดังนั้นเราแค่หาว่าแต่ละปีมีรายรับเงินสดเท่าไร รายจ่ายเงินสดเท่าไร

2.1 เราจะได้รับเงินค่าเช่าปีแรกจำนวน 6500*11=71500 บาทและต้องหักด้วยรายจ่ายค่าส่วนกลาง 5000 บาทค่าซ่อมแซมเฉลี่ยที่ 6500 สรุปรายรับสุทธิจะเป็น 71500-5000-6500= 60000 บาท

2.2 แผนการลงทุนกะว่าจะสามารถเพิ่มค่าเช่าได้5%ต่อปี แต่ก็ไม่แน่ใจดังนั้น ผมคิดค่าเฉลี่ยก็แล้วกันระหว่างไม่ขึ้นเลยกับขึ้น5% ต่อปี ก็เท่ากับขึ้นค่าเช่าเฉลี่ยปีละ 2.5% ดังนั้นตั้งแต่ปีที่ 2-8 จะมีรายรับ-สุทธิค่าใช้จ่ายตามนี้ครับ...

ปี่ที่ 2 รายรับ 6500*1.025*12 = 79950-5000-6500 = 68450

ปีที่ 3 รายรับ =79950*1.025 = 81950 (ปัดเศษ) -5000-6500 = 70450

ปีที่ 4 รายรับ =81950*1.025 = 84000-5000-6500 = 72500

ปีที่ 5 รายรับ = 84000*1.025 = 86100-5000-6500 = 74600

ปีที่ 6 รายรับ = 86100*1.025 = 88250-5000-6500 = 76750

ปีที่ 7 รายรับ = 88250*1.025 = 90450-5000-6500 = 78950

ปีที่ 8 รายรับ = 90450*1.025 = 92710-5000-6500 = 81210

ต้นปีที่ 9(ปลายปีที่ 8) รายรับจากการขายคอนโด1.72 ล้านบาท

ข้อมูลชุดที่ 3ก็คืออัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่ท่านต้องการก็อยู่ที่ 7.5% ต่อปี

เอาหละครับเพื่อให้มันดูเป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้นผมขออนุญาตจับข้อมูลเหล่านี้ใส่ใน excel เพื่อคำนวณหาค่า NPV ครับ


สังเกตปีที่ 8 กับต้นปีที่ 9ใช้ตัวคิดลดตัวเดียวกันนะครับ เพราะมันคือช่วงเวลาเดียวกัน สรุปผลการคำนวณเราได้ค่า NPV ติดลบที่ 114,732 บาทครับ ก็หมายความว่าตามแผนการเงินเข้าออกตามที่ว่ามาและท่านหวังผลตอบแทนไว้ที่ 7.50% ต่อปี ปรากฏว่ามันไม่เวอร์คครับดูจากข้อมูลขั้นต้นด้วยตาเปล่าก็ดูว่ามันน่าจะคุ้มค่าแก่การลงทุนแต่เอาเข้าจริงมันยังไม่คุมค่าการลงทุนครับ ถ้าท่านเก็บเงิน 1.5ล้านของท่านไว้แล้วหาแหล่งลงทุนที่ 7.50% ต่อปีต่อเนื่องไป 8 ปี ตอนต้นปีที่ 9 หรือปลายปีที่ 8 เงิน 1.5 ล้านของท่านจะกลายเป็น 1.5*(1.075)^8= 2.675 ล้านบาทครับ จากเคสนี้..ถ้าเราคิดค่า IRR โดยใช้ความรู้ที่เราได้มาจากบทความก่อนเราจะได้ค่า IRR ที่ต่ำกว่า 7.50% ซึ่งคำนวณแล้วมันจะได้เท่ากับเพียง 6.27% ก็อยู่ที่ท่านว่าท่านจะเปลี่ยนใจหรือไม่ถ้าท่านรับได้กับผลตอบแทนที่ 6.27% ท่านก็ลงทุนในโครงการนี้ได้ครับเพราะค่า NPV จะได้เท่ากับศูนย์พอดีครับ


ก็น่าจะได้ไอเดียกันนะครับสำหรับการนำเอาตัววัดที่เรียกว่า NPV มาเป็นเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจในการลงทุน ก็ขอจบเรื่องเล่าแต่เพียงเท่านี้ครับ สวัสดีครับ...




 

Create Date : 02 มีนาคม 2562
0 comments
Last Update : 2 มีนาคม 2562 18:41:01 น.
Counter : 6815 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


Phunmet
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เล่าสู่กันฟังฉันนักบัญชี
Friends' blogs
[Add Phunmet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.