เล่าสู่กันฟังฉันนักบัญชี
Group Blog
 
 
มกราคม 2562
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
5 มกราคม 2562
 
All Blogs
 
งบแสดงฐานะการเงิน Statement of Financial Position EP.1


งบแสดงฐานะการเงิน Statement of Financial Position
 
คราวที่แล้วได้คุยไปเกี่ยวกับบัญชี 5 หมวดและหลักบัญชีคู่ที่ถูกนำมาสร้างเป็นงบดุลหรืองบแสดงฐานะการเงินโดยใช้หมวดบัญชีที่เกี่ยวข้อง 3 หมวดคือหมวด สินทรัพย์ หนี้สินและหมวดของทุน คราวนี้จะมาเล่าให้ฟังว่างบแสดงฐานะการเงินหรืองบดุลนี่มันคืออะไร 1และจะใช้งานงบตัวนี้อย่างไร2
 
งบแสดงฐานะการเงินหรือเดิมเรียกกันว่างบดุลนั้นมีไว้เพื่อแสดงถึงฐานะทางการเงินของหน่วยงานนิติบุคลหรือของบุคคลใดๆว่าเค้าเหล่านั้นมีฐานะเป็นเช่นไร ณ วันใดวันหนึ่งของงวดเวลา (ที่แสดง ณ วันที่ใดๆก็เพราะมันเป็นยอดดุลคงเหลือ ณ วันที่แสดงงบ)
 
บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็มีงบดุลประจำตัวได้เหมือนๆกัน ไม่ต้อง งง ครับ คำว่าฐานะนั้น เวลาเราพูดกันทั่วๆไปก็คงหมายถึงร่ำรวยไหม มีความมั่นคงทางการเงินขนาดไหน เวลาเราเห็นใครสักคนขับรถเมอร์ซิเดซ เบนซ์ แสดงว่าเขาผู้นั้นมีฐานะดี ใช่หรือไม่? คนส่วนใหญ่ก็คิดว่าผู้นั้นก็น่าจะมีฐานะทางการเงินที่ดี แต่ผมว่าคงต้องใจเย็นกันสักนิดก่อนจะไปตัดสินว่าเขามีฐานะที่ดี โดยถ้าเราเข้าใจเกี่ยวกับงบดุล ซึ่งเคยเล่าให้ฟังไปแล้วว่า สมการในงบดุล (ผู้เขียนขอเรียกว่างบดุลตลอดบทความนะครับเพราะไม่อยากเขียนยาว)คือ
 
สินทรัพย์ = หนี้สิน + ทุน 
 
รถเมอร์ซิเดซคันนี้คือสินทรัพย์ที่ปรากฏในงบดุลแต่อย่าลืมว่าสินทรัพย์นั้นได้มาจากเงินลงทุนที่มาจาก 2 ส่วนคือส่วนของหนี้สินคืออาจใช้วิธีเช่าซื้อ(ผ่อนค่างวด)มาส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็ใช้เงินดาวน์ซึ่งเจ้าของควักเงินส่วนตัวออกไป พอถึงจุดนี้การจะบอกว่ามีฐานะทางการเงินที่ดีหรือไม่ดีก็ต้องมาดูกันว่าสัดส่วนการใช้เงินมาซื้อรถเบนซ์คันนี้ระหว่างใช้เงินตนเอง(ทุน) กับกู้เงินมาซื้อ(หนี้) นั้นมีสัดส่วนเป็นอย่างไร ถ้าใช้เงินส่วนตัวในสัดส่วนที่ค่อนข้างมากกว่าสัดส่วนของเงินกู้ย่อมแสดงถึงฐานะทางการเงินที่เข้มแข็งกว่าการใช้สัดส่วนจากการกู้หนี้ยืมสินมากกว่าสัดส่วนของเงินจากส่วนตัว หรือถ้าใช้เงินสดทั้งหมดของตนเองซื้อรถ นั่นยิ่งแสดงถึงฐานะทางการเงินที่เข้มแข็งมากที่สุดซึ่งลักษณะนี้ในงบดุลก็จะแสดงว่ารถยนต์คันดังกล่าวได้มาจากเงินจากส่วนของเจ้าของ 100% ไม่มีหนี้สินเจือปน
 
มันดีอย่างไรสำหรับการไม่มีหนี้... ก็อย่างที่เราได้ยินกัน "ความไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ" ทำนองนั้น คนทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน การจะมีบ้านเป็นของตนเองหนึ่งหลัง บางคนผ่อนกันตั้ง 20 ปีกว่าจะมีบ้านเป็นของตนเอง แล้วอย่างงี้จะไม่เห็นด้วยได้อย่างไรกับคำกล่าวที่ว่ามา เมื่อไม่มีหนี้มันก็มีความอิสระทางการเงิน ไม่ต้องหาเงินตัวเป็นเกลียว หัวเป็นน๊อตเพื่อนำมาใช้หนี้ บางคนไปสร้างหนี้นอกระบบ หรือางคนไปสร้างหนี้บัตรเครดิตซ้อนบัตรเครดิต เหล่านี้เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคม ดังนั้น การจะบอกว่าบุคคลใดหรือบริษัทใดมีฐานะดีหรือไม่ต้องดูทั้งงบดุลครับ จะไปดูแค่ว่ามีสินทรัพย์แค่นี้ แค่นั้น ยังไม่เพียงพอครับ ก็น่าจะเป็นการอธิบายถึงการบอกฐานะทางการเงินอันเป็นหน้าที่ของงบดุลให้เข้าใจได้ในระดับนึงนะครับ
 
งบดุลมันมีส่วนประกอบหลักๆ 3 ส่วนอย่างที่เกริ่นไปคือ สินทรัพย์ หนี้สินและส่วนของทุน คราวนี้จะมาลงรายละเอียดว่าแต่ละส่วนมันประกอบด้วยองค์ประกอบย่อยๆอะไรบ้าง ก็มาเริ่มกันที่ส่วนที่ 1 คือสินทรัพย์
 
สินทรัพย์
 
สินทรัพย์ที่แสดงในงบดุลมีความหมายถึงสิ่งใดๆที่จะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อเจ้าของงบดุลนั้นในอนาคต อย่างรถยนต์ที่กล่าวไปในข้างต้นก็จัดเป็นสินทรัพย์เพราะมันเป็นสิ่งที่สามารถสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่เจ้าของของมันในอนาคต เช่น ขับไปติดต่อลูกค้าเพื่อให้ได้มาซึ่งธุรกิจที่จะทำกำไรให้แก่กิจการจนมันอาจถูกขายไปในที่สุดและได้เงินคืนมากรณีที่เจ้าของจะเลิกใช้และต้องการเงินมาทำอย่างอื่นหรือเทอร์นเพื่อแลกรถคันใหม่ เป็นต้น
 
สินทรัพย์ที่กิจการใช้ในการดำเนินงานทางธุรกิจดังที่แสดงกันไว้ในงบดุลนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามกรอบของเวลา กล่าวคือสินทรัพย์ที่ให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่กิจการในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี เช่น ลูกหนี้การค้าที่จะเรียกเก็บเงินได้ตามเครดิตเทอมปกติที่ให้แก่ลูกค้า เช่น 3-4 เดือน เป็นต้น เราเรียกเค้าว่า สินทรัพย์หมุนเวียน และสินทรัพย์ที่ให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่กิจการในระยะเวลาเกินกว่า 1 ปีเราเรียกเค้าว่า สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน เช่น เรามีที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงาน มันจะให้ประโยชน์ต่อกิจการเป็นเวลาอันยาวนานจนกว่าเราจะเลิกธุรกิจหรือขายมันออกไป เป็นต้น
 
สรุปว่าเราจะเห็นสินทรัพย์ที่แสดงในงบดุลแยกเป็น 2 กลุ่มด้วยกันคือ 1 สินทรัพย์หมุนเวียนและ 2 สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนตามกรอบของเวลาที่ว่าไป อย่างไรก็ตามกรอบ 1 ปีที่ว่านี้เป็นแค่กรอบคร่าวๆของวงจรของธุรกิจทั่วๆไปคือตั้งแต่ซื้อวัตถุดิบมาผลิตจนสินค้าขายออกไปและรับกลับมาเป็นเงินสดซึ่งรอบนึงก็กินเวลาไม่เกินปี แต่ก็ไม่เสมอไปเพราะบางกิจการนั้น 1 วงจรของธุรกิจอาจกินเวลานานกว่า 1 ปีก็ได้ เช่นธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ดังนั้นกรอบเวลาสำหรับการกำหนดว่าจะเป็นสินทรัพย์หมุนเวียนหรือไม่นั้น คงต้องยึดกรอบระหว่าง 1ปีหรือ 1 วงจรของธุรกิจแล้วแต่อย่างใดจะยาวกว่าจึงจะถูกต้องครับ ดังนั้นกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์นั้น บ้านจัดสรรที่กำลังสร้างหรือสร้างเสร็จแต่ยังไม่ได้ขายออกไปก็ถูกจัดประเภทเป็นสินค้าคงเหลือซึ่งแสดงเป็นส่วนหนึ่งของสินทรัพย์หมุนเวียนแม้ว่าจะให้ประโยชน์แก่กิจการเกินกว่าระยะเวลา 1 ปีเนื่องจากวงจรธุรกิจของกิจการนี้มันมากกว่า 1 ปีครับ
 
สินทรัพย์หมุนเวียนนั้นโดยส่วนใหญ่ที่แสดงในงบดุลก็จะถูกจัดออกเป็นกลุ่มๆไม่กี่กลุ่มหรอกครับ ตามประสบการณ์ก็ประมาณ 4-5 กลุ่มแค่นั้น ได้แก่
1. เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด
2. เงินลงทุนระยะสั้น
3. ลูกหนี้การค้าและตั๋วเงินรับ
4. สินค้าคงเหลือ
5. สินทรัพย์หมุนเวียนอื่น(อื่นๆที่ไม่ใช่ 4 รายการข้างต้น)
 
กิจการขนาดเล็กๆส่วนใหญ่ก็อาจเหลือแค่ 3-4 กลุ่มครับ เช่นกิจการบริการก็คงไม่มีสินค้าคงเหลือ หรือกิจการทั่วๆไปขนาดเล็กก็คงไม่มีการลงทุนในเงินลงทุนระยะสั้น แต่อาจมีการให้กู้ยืมเงินระยะสั้นแก่ตัวเจ้าของ(จริงๆกิจการอาจไม่อยากให้ยืมก็ได้แต่กิจการขนาดเล็กเจ้าของเป็นใหญ่ครับ ก็จะขอยืมหละครับ...) สำหรับรายละเอียดว่ากลุ่มสินทรัพย์เหล่านี้ประกอบไปด้วยรายละเอียดอะไรบ้าง ก็สามารถไปดูเพิ่มเติมได้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินครับ ก็แสดงว่างบการเงินไม่ได้มีแค่งบดุล งบกำไรขาดทุนแค่นั้น แต่มันต้องมีหมายเหตุประกอบงบการเงินประกอบเป็นส่วนหนึ่งของงบการเงินด้วยครับ ไว้ผมจะอธิบายรายละเอียดเรื่องนี้ในบล๊อคต่อๆไป ไม่งั้นคนอ่านจะสับสน เอาทีละเรื่อง....
 
ต่อจากสินทรัพย์หมุนเวียนก็จะเป็นส่วนของสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนซึ่งจะแสดงต่อกันลงมาครับ สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนประกอบด้วยกลุ่มสินทรัพย์ใหญ่ๆเพียง 2-3 กลุ่มเช่นกัน ได้แก่
1. เงินลงทุนระยะยาว
2. ที่ดิน, อาคารและอุปกรณ์
3. สินทรัพย์อื่น (สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนที่ไม่ใช่รายการ 1 และ 2 ข้างต้น)
 
และเช่นกัน รายละเอียดของกลุ่มสินทรัพย์เหล่านี้ก็ไปหารายละเอียดดูได้จากหมายเหตุประกอบงบการเงินครับ สังเกตว่าหน้างบดุล เราไม่ต้องการให้มันเปะปะลงรายละเอียดมากไปเพื่อประโยชน์ต่อผู้อ่านงบครับ จะได้มองภาพรวมได้ว่าเป็นอย่างไร ถ้ารายละเอียดเยอะจัดคงหลงทางเป็นแน่....
 
มาถึงจุดนี้ก็ขออนุญาตแสดงตัวอย่างหน้างบดุลในส่วนของสินทรัพย์ก่อนว่าหน้าตามันจะเป็นอย่างไร  ก็ตามข้างล่างนี้เลยครับ แบบนี้เรียกว่าการแสดงแบบ T account นะครับ ส่วนใหญ่เราเห็นแบบรายงานคือยาวเป็นพรืดลงไปเรื่อยๆ ไม่ได้แบ่งข้างซ้ายข้างขวาครับ แต่มันคืองบดุลเหมือนกัน
 
เอาหละครับ EP.1 คงพอแค่นี้ก่อนครับ ไม่งั้นยาวไปจะพาลเบื่อไม่อยากอ่าน ไว้พบกันใน EP.2 ครับ  



Create Date : 05 มกราคม 2562
Last Update : 16 กันยายน 2562 13:27:38 น. 0 comments
Counter : 3921 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Phunmet
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เล่าสู่กันฟังฉันนักบัญชี
Friends' blogs
[Add Phunmet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.