เล่าสู่กันฟังฉันนักบัญชี
Group Blog
 
 
มกราคม 2562
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
6 มกราคม 2562
 
All Blogs
 
งบแสดงฐานะการเงิน Statement of Financial Position EP.2

 

คราวที่แล้วจบ episode 1 ไปสำหรับตัวสินทรัพย์ซึ่งเป็นองค์ประกอบหมวดที่หนึ่งในงบดุลซึ่งประกอบไปด้วยสินทรัพย์หมุนเวียนและสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนโดยใช้กรอบเวลาในการแบ่งผมจะมาเล่าต่อใน episode นี้เกี่ยวกับตัวหนี้สินและทุน

หนี้สิน

หนี้สินหมายถึงภาระผูกพันที่กิจการมีต่อบุคคลภายนอกของกิจการซึ่งเป็นผลให้กิจการต้องสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจออกไปเพื่อปลดเปลื้องภาระผูกพันเหล่านั้น  เช่นเดียวกันกับการแบ่งประเภทของสินทรัพย์ใน ep.1 เรายังคงใช้กรอบเวลาในการแบ่งเช่นเดิม  ดังนั้นเราจะใช้กรอบ 1 ปีหรือ 1 วงจรธุรกิจแล้วแต่อย่างใดจะยาวกว่าในการแบ่งหนี้สินออกเป็นหนี้สินหมุนเวียนและหนี้สินไม่หมุนเวียนเช่นเดียวกับทางฟากขอสินทรัพย์

หนี้สินหมุนเวียน โดยทั่วไปก็แบ่งออกเป็น4-5 กลุ่มได้แก่

1. เงินกู้เบิกเกินบัญชี

2. เจ้าหนี้การค้าและตั๋วเงินจ่าย

3. ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย

4. หนี้สินหมุนเวียนอื่น

5. เงินกู้ยืมระยะสั้นและส่วนของหนี้สินระยะยาวที่ต้องจ่ายชำระภายในปี

 

หนี้สินไม่หมุนเวียนโดยทั่วไปก็แบ่งเป็น 2 กลุ่มได้แก่

1. เงินกู้ยืมระยะยาวซึ่งรวมทั้งเงินกู้ประเภทเช่าซื้อรถ/ลิสซิ่ง/อื่นๆ

2. หนี้สินอื่น

 

รายละเอียดของกลุ่มหนี้สินต่างๆเหล่านี้ก็ไปดูรายละเอียดได้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินนะครับว่าประกอบไปด้วยรายละเอียดอย่างไร การที่ผู้เขียนแบ่งเป็นกลุ่มๆอย่างนี้ไม่ได้หมายถึงจะจำกัดว่ามีได้แค่นี้นะครับ มันอาจจะมีมากกว่านี้ก็ได้ขึ้นกับลักษณะจำเพาะของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับกิจการนั้นๆครับซึ่งส่งผลให้กิจการอาจมีการจัดกลุ่มหรือเพิ่มเติมกลุ่มสินทรัพย์/หนี้สินที่นอกเหนือไปจากนี้ก็ได้ครับ ไม่ได้บังคับว่ามีได้แค่นี้ครับ

 

สำหรับรายการหนี้สินนี้..การแบ่งแบบนักบัญชีก็แบ่งเป็นแบบหมุนเวียนและไม่หมุนเวียนแต่ถ้าแบ่งแบบนักการเงินก็จะแบ่งหนี้สินออกเป็น หนี้สินที่ไม่มีภาระดอกเบี้ย Non-interest bearing debt และหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยInterest bearing debt เรียกย่อๆว่า NIBD และ IBD  การแบ่งแบบนักการเงินเป็นการมองในแง่ของการบริหารเงินซึ่งแบ่งแหล่งที่มาของเงินทางด้านหนี้สินแบบที่เรามีต้นทุนเงินทุน(ดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย)ซึ่งก็หมายถึงแหล่งเงินทุนที่มาจากการกู้หนี้ยืมสินจากธนาคารหรือจากบุคคลก็แล้วแต่กับหนี้อีกแหล่งหนึ่งอันได้แก่หนี้ที่ไม่มีภาระดอกเบี้ยเช่นหนี้อันเกิดจากการที่เจ้าหนี้การค้าให้สินเชื่อแก่เราซึ่งระหว่างที่เราค้างชำระในเครดิตเทอมที่เจ้าหนี้ให้แก่เรา เราก็ยังไม่มีภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายแก่เจ้าหนี้การค้าซึ่งต่างจากการกู้ยืมเงินจากธนาคารคือเมื่อเริ่มกู้เงินมาเค้าก็คิดดอกเบี้ยตลอดเวลาจนกว่าจะชำระเงินต้นคืนแก่ธนาคาร

มันจึงเป็นแง่คิดในการบริหารกิจการคือพยายามใช้เงินทุนจากแหล่งเจ้าหนี้การค้าให้มากเข้าไว้ซึ่งมันก็เป็นที่มาว่ากิจการก็พยายามยืดระยะเวลาการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้โดยกิจการไม่ได้เสียเครดิตต่อเจ้าหนี้การค้าดังนั้นถ้าเขียนสมการงบดุลตามนักการเงินเราก็จะได้ว่า

สินทรัพย์ = IBD+NIBD+ทุน(Equity)

สังเกตว่าเส้นทางการเงินที่เกิดขึ้นคือเราซื้อของจากเจ้าหนี้การค้าเข้ามาเป็นสินค้าคงเหลือของกิจการจากนั้นก็ขายให้แก่ลูกหนี้การค้า การผลิตสินค้าของเราอาจมีค่าใช้จ่ายค้างจ่ายต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้องเช่น ค่าแรง, ค่าน้ำ ค่าไฟที่เรายังไม่ได้ชำระ เหล่านี้ก็จัดเป็น NIBD เช่นกัน ดังนั้นว่าไปแล้วสินทรัพย์หมุนเวียนของกิจการจึงได้เงินทุนจาก NIBD เข้ามาช่วยเกื้อหนุนมากพอสมควรดังนั้นถ้าว่ากันตามนี้แล้วเราก็จะได้สมการของงบดุลที่เปลี่ยนแปลงไปเป็น

(สินทรัพย์หมุนเวียน – NIBD) + สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน= IBD+Equity

สินทรัพย์หมุนเวียน – NIBD นี้ภาษาทางการเงินเรียกกันว่ามันคือworking capital หรือเงินทุนหมุนเวียนของกิจการ ซึ่งเขียนสมการให้กระชับขึ้นก็จะเป็นว่า

เงินทุนหมุนเวียน(WC)+สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน = IBD+Equity

ซึ่งจากสมการนี้จะให้ความหมายว่าในงบดุลของเรานั้น  สินทรัพย์ที่เราใช้ในการดำเนินงานของกิจการมีแหล่งเงินมาจากแหล่ง 2 แหล่งคือเงินทุนจาก IBD และแหล่งเงินทุนจากเจ้าของ(Equity)นั่นเอง ซึ่งต้องไม่ลืมว่าเงินทุนทั้ง 2 แหล่งนี้ต้องการผลตอบแทนจากกิจการ ดังนั้น ถ้าเราลดขนาดของมัน (IBD+Equity) ลงได้ก็หมายถึงกิจการจะลดต้นทุนเงินทุนในการบริหารงานลงได้เช่นกัน ดังนั้น ถ้ามองในแง่นี้อย่างถ่องแท้การบริหารงบดุลให้เป็นให้เกิดประโยชน์ก็คือการพยายามบริหารให้มี WC ต่ำที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้เพื่อให้กิจการใช้เงินทุนจาก IBD+Equity ซึ่งต้องการผลตอบแทนจากการบริหารกิจการในขนาดที่เล็กที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ซึ่งถ้าตามหลักเศรษฐศาสตร์ก็เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด

ทุน (Equity)

ทุนของกิจการจะหมายถึงเงินทุนในส่วนของเจ้าของของกิจการซึ่งเงินทุนในส่วนนี้จะแยกออกได้เป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งได้แก่เงินทุนเริ่มแรกของผู้เป็นเจ้าของที่ลงในกิจการกับส่วนที่สอง คือกำไรสะสมที่สะสมมาในแต่ละปีตั้งแต่ก่อตั้งกิจการมาจนถึงปัจจุบัน อย่างที่กล่าวไปเงินทุนในส่วนนี้ก็ต้องการผลตอบแทนเช่นกันแต่รูปแบบของผลตอบแทนที่ต้องการนั้นไม่ใช่เป็นดอกเบี้ยเหมือนกับแหล่งเงินกู้หรือ IBD  ส่วนของทุนนั้นกิจการจ่ายผลตอบแทนคืนให้แก่เจ้าของในรูปของเงินปันผลครับ

การจ่ายเงินปันผลของกิจการแต่ละกิจการอาจมีความแตกต่างกันไปตามนโยบายในการจ่ายปันผลของกิจการ+โอกาสในการลงทุนต่อหรือความต้องการเงินทุนในการลงทุนต่อเนื่อง ดังนั้น เส้นทางการเดินทางของเงินทุนในส่วนนี้ก็คือ

1.เงินลงทุนเริ่มต้น ------à 2.ลงทุนในสินทรัพย์-----à3.สินทรัพย์ก่อให้เกิดกำไรสุทธิ ------à 4.นำกำไรสุทธิบางส่วนไปจ่ายปันผล-----à 5.นำกำไรสุทธิที่เหลือไปลงทุนเพิ่ม-----à 6.ลงทุนเพิ่มในสินทรัพย์ใหม่ในโครงการใหม่----àวนกลับไปที่ 3 แล้วดำเนินต่อไปเรื่อยๆไม่สิ้นสุด

จากเส้นทางที่กล่าวข้างต้นจะก่อให้เกิดกำไรสะสมของกิจการที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆตามขนาดของสินทรัพย์ที่กิจการลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆซึ่งก็หมายถึงกิจการมีการเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

ถ้ากิจการมีขนาดการลงทุนที่ใหญ่มากจนกำไรสะสมที่กิจการมีอยู่นั้นไม่เพียงพอที่จะลงทุนในโครงการใหม่ๆเหล่านั้น  กิจการก็อาจเรียกเพิ่มทุนหรืออาจกู้เงินเพิ่มเติมถ้ากิจการมีความสามารถในการกู้เพิ่มได้  นั่นก็ขึ้นกับนโยบายเกี่ยวกับโครงสร้างทางการเงิน (Financial Structure) ของกิจการว่าจะใช้สัดส่วนระหว่าง IBD (D) : ทุนของเจ้าของ Equity (E) เท่ากับเท่าไร ซึ่งบางท่านอาจเคยได้ยินมาบ้างว่า สัดส่วน D/E จะอยู่ที่เท่าไร

ก็ขออนุญาตจบ EP.2 แต่เพียงเท่านี้ครับ ก็น่าจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับหนี้สินและทุนในงบดุลมากขึ้นทั้งในมุมมองของนักบัญชีและนักการเงินนะครับ....สวัสดีครับ




Create Date : 06 มกราคม 2562
Last Update : 16 กันยายน 2562 13:28:08 น. 0 comments
Counter : 2380 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Phunmet
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เล่าสู่กันฟังฉันนักบัญชี
Friends' blogs
[Add Phunmet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.