"มนุษย์ทุกคน มีความกรุณาเป็นพื้นฐาน"
"เบื้องหลังการกระทำของมนุษย์ เป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการบางอย่าง"
เมื่อมีเหตุการณ์ต่างๆ เข้ามา เครื่องมือเหล่านี้ ช่วยให้เรามองย้อนกลับไปคิดว่า ความรู้สึก ความต้องการของตัวเองคืออะไร เมื่อเราเข้าใจตนเอง เรามีทางเลือกมากขึ้นที่จะแสดงออก พูด กระทำสิ่งต่างๆ ผู้อื่น ทำให้เรามีเครื่องมือในการฟัง สิ่งที่อยู่ข้างใต้ภูเขาน้ำแข็งของตนเอง หรือคาดเดาของคนอื่น
การกลับมาเรียนขั้นแอดวานซ์นี้ ทำให้ได้ทบทวน คำว่า สะพานใจ สะพานที่เชื่อมกันระหว่างความสัมพันธ์ เป็นสิ่งที่เราต้องสำรวจ ว่า เรา กับเขา มีสะพานที่แข็งแรงมากน้อยแค่ไหน จะสื่อสารกันอย่างไร ไม่ใช่สักแต่พูด สิ่งที่เราอยากพูดเพียงอย่างเดียว ต่อให้เป็นความจริงแท้ของเรา ถ้าสะพานไม่แข็งแรง ความสัมพันธ์ที่เปราะบางก็อาจจะพังครืนลงมาได้
แค่ประโยคเดียว "งานที่ให้ไปเสร็จหรือยัง" ภายใต้ภูเขาน้ำแข็ง อาจจะมีความรู้สึกกังวล ความรู้สึกกลัว ซ่อนอยู่ ความต้องการที่ไม่ได้รับการตอบสนองเช่น อาจจะต้องการความมีประสิทธิภาพ ต้องการความสงบ(ถ้างานไม่เสร็จ จิตใจไม่สงบ)
อย่างเราเอง ถ้าเราพูดประโยคนี้ ลึกๆ แล้ว นอกจากจะต้องการ สองอย่างข้างต้น มีความต้องการอีกอันที่เราเอาไปผูกเข้าด้วยกันไว้อีก คือ คุณค่าในตัวเอง... เอ๊ะ เราสั่งงานชัดเจนป่าววะ น้องมันจะทำได้หรือเปล่า ถ้าลูกค้าด่ามา ความน่าเชื่อถือจะหายไป เห็นไหม แค่ประโยคสั้นๆ อันเดียว
ในขณะที่คนฟัง มีเครื่องถอดรหัส ที่อาจจะกำลังแปลความไปไปว่า... ทวงงานกูอีกแล้ว งานก็เยอะแยะ ทำไม่ทัน ดีแต่ทวงๆ
ความต้องการที่อยู่เบื้องหลังอาจจะเป็น ต้องการความเข้าใจ ต้องการการสนับสนุน เป็นต้น
การสื่อสารถึงเจตนาให้ชัดเจน จึงเป็นเรื่องจำเป็นในหลายๆครั้ง เช่น
งานที่ให้ทำเสร็จหรือยัง...[พี่กังวลว่าพี่จะทำงานเสร็จไม่ทัน จึงถามดูว่า น้องคิดว่าจะใช้เวลาอีกนานไหม จึงจะเสร็จ หรือมีอะไรให้พี่ช่วยไหม]
Keyword สำคัญอันหนึ่งคือ การที่หลายครั้งเรามักจะใช้คำว่า "ต้อง" "ควรจะ" "น่าจะ" (หรือคำในทางตรงข้ามเช่น ไม่ควรจะ ไม่น่าจะ) ซึ่งการใช้คำเหล่านี้ เป็นคำอันตราย ที่เมื่อเราใช้ เราจะทำตัวเป็นผู้ถูกกระทำ และไม่มีทางเลือกทันที... It's all about brain and mindset .... NLP มั่กๆ
การลองเปลี่ยนวิธีการพูด วิธีการคิด นำไปสู่ อิสระ ที่จะ เป็นผู้เลือก มากกว่าเป็นผู้ถูกกระทำ
ฉันต้องไปทำงานทุกวัน เพราะไม่งั้นก็ไม่มีเงินใช้
ฉันเลือกที่จะไปทำงานทุกวัน เพราะฉันต้องการความมั่นคง ปลอดภัย ความสงบ
ฉันไม่ควรจะดุด่าลูก
ฉันเลือกที่จะพูดดีๆ กับลูก เพราะฉันอยากให้เขามีความสุข
ภายใต้ความต้องการ (ที่ไม่ได้รับการตอบสนอง) จะมีความรู้สึก มีความคิด คำตัดสิน ชอบ tool ตัวนี้มากๆ เมื่อมารวมกับการแยกแยะ (distinction) ของ Landmark แล้ว เหมือนช่วยต่อยอดส่งเสริมกัน Landmark ในเบื้องต้นให้การแยกแยะ ความจริง( NVC เรียก ข้อสังเกต) กับ เรื่องราวที่เกิดขึ้น (Story) แล้วจากนั้น พอแยกแยะได้ ส่วนตัวเราเองบางครั้งรู้สึกเหมือนว่า ถูก shutdown เออ รู้แหละว่านี่มันเรื่องปรุงแต่ง story ที่มาจากอัตตาของเราเอง แต่ในฐานะมนุษย์ เราก็มีความต้องการ ความรู้สึก ต่างๆ ที่อาจจะไม่ได้แสดงออก และไม่ได้ถูกรับรู้
เมื่อมองเห็นคำตัดสิน ทั้ง ที่เราตัดสินคนอื่น และคนอื่นตัดสินเรา มองย้อนกลับไปหาต้นตอ ดูว่า จริงๆ แล้ว ที่เราตัดสินคนอื่นนั้น มันมาจาก ความคาดหวังอะไร preference อะไรของเรา หรือ value อะไรที่เรายืดถือ เมื่อมองเห็นของตัวเองแล้ว ลองมองคนอื่นดู แยกมันออกจากกัน ไม่ต้องพยายามเอา value ของเราไปยัดเยียดให้คนอื่น
เช่น สมมติ ง่ายๆ เรามองเห็นผู้หญิงใส่ขาสั้น เสื้อผ่าลึกก คำตัดสินของเรา สมมติว่า..อุ้ย แรดจัง หรือแม่บ้านเดินผ่านมาแต่งตัวโทรมๆ คำตัดสินเรา โหย มีลูกแล้วปล่อยให้ตัวเองโทรมขนาดนี้ เพิ้งมาก นั่นคือ เราอาจจะมีคุณค่าที่ยึดถืออย่างหนึ่ง.. แม่บ้านคนนั้น อาจจะชอบความสบายก็ได้ หรือ เขาอาจจะให้คุณค่ากับครอบครัว จนไม่มีเวลา
ในความขัดแย้ง ตั้งแต่เรื่องเล็ก ยันเรื่องใหญ่ เมื่อมองไปลึกๆ แล้ว ต่างก็คือ คนที่ถือคุณค่าที่แตกต่างกันไว้
เมื่อมีใครสักคนตัดสินเรา ลองฟังลึกๆ ดูว่า สิ่งนั้นคือ คำขอบคุณ หรือ คำร้องขอ เช่น เธอนี่ จุกจิก จู้จี้ ขี้บ่นจริงๆเลยนะ เธอนี่คิดมาก จะคิดอะไรกันนักกันหนา
.... ได้ยินอะไรจากประโยคนี้บ้าง
มีคำร้องขออยู่ข้างในนั้น ฉันต้องการความสงบ ไปจนถึง ฉันเป็นห่วงไม่อยากให้เธอเครียดมาก ฉันอยากให้เธอไม่คิดมาก
การตั้งคำถาม ว่า ที่เป็นแบบนี้ คิดแบบนี้ รู้สึกแบบนี้ มันทำให้เราเป็นอย่างไร เราต้องการอะไร เราจะได้รับอะไร เป็นคำถามที่ทรงพลังมาก
การที่เราคาดหวังจะให้คนอื่นทำแบบนั้น เป็นแบบนี้ แล้วเราจะได้รับอะไร การที่เราอยากให้แฟนรับโทรศัพท์เราทันที ไม่รับแล้วโมโห
เรารู้สึกโกรธ ปะนกับความรู้สึกเป็นห่วง รู้สึกกังวล ในความรู้สึกเหล่านี้ อาจจะมีความรู้สึกน้อยใจ ด้อยค่า ซ่อนอยู่ (เห็นไหม มันมีหลายความรู้สึกมาก)
ถ้าแฟนรับโทรศัพท์เราแล้ว เราจะได้รับอะไร?
ความต้องการ อาจจะ ต้องการการสื่อสาร ต้องการความมั่นใจ ต้องการความมั่นคง ความปลอดภัย
บางสถานการณ์ ความต้องการของเราที่ไม่ได้รับการตอบสนอง เป็นเพราะว่า เราเอาความต้องการ ความคาดหวังของเราไปฝากให้คนอื่นเติมเต็ม โยนความรับผิดชอบให้คนอื่น ทั้งที่จริงแล้ว ความรู้สึก ความต้องการของเรา ใครเป็นคนกำหนด คนนั้นควรจะเป็นคนรับผิดชอบจริงไหม?? เช่น สื่อสารความรู้สึก ความต้องการของเราออกไป หาวิธีการเติมเต็มความต้องการของตนเอง ไปจนถึง การหาวิธีดูแลใส่ใจความรู้สึกซึ่งกันและกัน
เครื่องมืออีกอันหนึ่งที่สนุกมาก... SSSTOP การตามดูความโกรธ ที่เกิดขึ้นในใจเรา ค่อยๆ เดินไป ทีละก้าวๆ
Sensation ตามดูกาย รู้กาย หัวใจเต้นเป็นอย่างไร มือ เท้า ปาก หน้า เลือดในกาย สมองเป็นอย่างไร
Stimulus สถานการณ์อะไรที่เป็นตัวกระตู้น ข้อสังเกตเป็นอย่างไร ข้อสังเกตแปลว่า fact ลองทำตัวเหมือนกล้องวีดีโอ รายงานความเป็นไป เช่น เราโทรไปหาแฟน แฟนไม่รับสาย 5 นาทีต่อมา โทรไปอีกครั้ง แฟนไม่รับสายอีก (หลีกเลี่ยงคำที่ ไม่ใช่ข้อสังเกต เช่น คุณอาจจะใช้คำว่า โทรไปหลายรอบก็ยังไม่ยอมรับสาย ยังไม่รับสาย) แต่เห็นโพสเฟสบุ๊คอยู่หมาดๆ
2 นาทีต่อมา แฟนโพสสเตตัสเฟสบุ๊ค ว่า บลาๆ จึงโทรไปอีกครั้ง แฟนก็ยังไม่รับสายอีก (เนี่ย มารู้อีกทีว่า นั่งกินเหล้าอยู่กับเพื่อน บลาๆๆ) ลองสังเกตตัวเองดู ว่า เราสามารถแยก ข้อสังเกต กับ เรื่องราวได้มากน้อยเพียงใด
Should Thinking พิจารณาชุดความคิด ที่เป็นสาเหตทำให้เราโกรธ เช่น น่าจะ ควรจะ ทำไมไม่ เค้าน่าจะทำแบบนี้ น่าจะทำแบบนั้น ฉันไม่น่าจะทำแบบนี้ แบบนั้น ทำไมคนอื่นไม่ทำแบบนี้ แบบนั้น
ยกตัวอย่างเช่น
เค้าน่าจะรับสายที่ชั้นโทรไป มีเรื่องเร่งด่วนมาก ไม่น่าจะต้องให้รอ โทรไปเป็นสิบๆ รอบขนาดนี้ นี่ชั้นเป็นแฟนนะ น่าจะทำตัวดีๆ หน่อย หรือว่าคบกันนานแล้ว ไม่รักกันแล้ว ถึงได้ทำแบบนี้ บลาๆๆ
Translate Needs มองหาความต้องการภายใต้ความโกรธที่ไม่ได้รับการตอบสนอง เช่น อยากได้การสื่อสาร อยากได้ความรัก อยากได้การดูแลเอาใจใส่ อยากได้ความมั่นใจ อยากได้ความสัมพันธ์ที่ดี เป็นต้น
Open Feelings รับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากความต้องการที่ไม่ได้รับการตอบสนอง เช่น น้อยใจ(ตอนเป็นแฟนกันใหม่โทรหาทุกวัน คบกันนานไป โทรไปหาเป็นสิบรอบไม่รับ) กังวล(เป็นห่วง กลัวเป็นอันตราย)
Present Request เรียกร้องกับตัวเอง ในสิ่งที่ทำได้จริง ณ เวลานี้ เช่น จะกลับไปลองสื่อสารกับแฟนใหม่ จะปล่อยวาง จะไว้อาลัยให้กับความสัมพันธ์นี้ หรืออื่นๆ เป็นต้น ย้ำว่า ทำได้จริง ณ เวลานี้
การพยายามเปลี่ยนหรือไปบอกให้คนอื่นทำแบบนี้แบบนั้น มันทำไม่ได้จริงและทำไม่ได้ทันที เคร๊

Note : ความต้องการ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นสำหรับแต่ละคน ในสถานการณ์เดียวกัน ย่อมแตกต่างกัน จะเห็นว่า การทบทวน ค้นหาความรู้สึก ความต้องการ ใช้คำว่า ฉันเข้าใจถูกต้องไหมว่า เธอต้องการสิ่งนี้.... เธออาจจะต้องการสิ่งนี้ใช่หรือไม่ เป็นชุดคำถามที่ช่วยผู้ฟังมีทางเลือก และเปิดโอกาสทบทวนตนเอง หลายๆ ครั้ง เราจะพบว่า เราไม่เข้าใจตัวเองว่ารู้สึกอย่างไร ต้องการอะไร แต่เวลาคนอื่น ถามคำถามเหล่านี้ ช่วยกันเดาความรู้สึกความต้องการของเรา มันสนุกมาก และดีใจมาก ที่มีคนรับรู้ แบบ เอ้ย ใช่ๆๆๆๆ ฉันรู้สึกแบบนี้แหละ ที่เธอพูดมา เมื่อกี้เธอพูดมา คำนั้นเลย! เพราะ.......
"มนุษย์ทุกคน มีความกรุณาเป็นพื้นฐาน"
"เบื้องหลังการกระทำของมนุษย์ เป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการบางอย่าง"
จากประสบการณ์อันน้อยนิด.. ฉันค้นพบว่า การสื่อสาร คือหนทางภาวนาอย่างหนึ่ง...ทั้ง การเจริญสติ เมตตาภาวนา และวิปัสสนา
ขอบคุณพี่หลิ่ง คุณครูผู้มีเมตตา และเพื่อนๆ ร่วมคลาสทุกคนที่แบ่งปันประสบการณ์ร่วมกันตลอดสองวันนะคะ