Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2549
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
22 กรกฏาคม 2549
 
All Blogs
 
กล้วยไม้ ... ไม่น่าเลี้ยง (ตอนที่ 2)

ในธรรมชาติ เรามักพบช้างงาเดียว (Thunia alba) ในป่าระดับสูงที่มีแสงแดดส่องถึง ถึงแม้ว่ากล้วยไม้ชนิดนี้ชอบแสงมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันชอบอุณหภูมิสูง การจัดการสภาพแวดล้อมให้มีแสงมากเพียงพอ โดยอุณหภูมิต่ำและความชื้นสัมพัทธ์สูงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะปัจจัยทั้ง 3 ตัวที่กล่าวถึงจะแปรผันตามและผกผันกันเสมอ คือเมื่อไรที่ความเข้มแสงมาก อุณหภูมิจะสูงตามและความชื้นในอากาศจะลดลงอย่างรวดเร็ว หลายครั้งพบว่าช้างงาเดียวที่นำมาปลูกในที่ราบจะทิ้งใบในช่วงต้นฤดูหนาวและไม่แตกใบใหม่ในช่วงต้นฤดูฝนเหมือนในธรรมชาติ หรือไม่ก็จะเน่าที่โคนลำในช่วงต้นฤดูฝนแล้วตายไปเลย

การปลูกกล้วยไม้ที่มีหัวใต้ดินบางตัวก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เกือบทั้งหมดของกล้วยไม้ดินจะมีช่วงการพักตัวซึ่งโดยส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงฤดูหนาว หลังจากออกดอกแล้วกล้วยไม้จะค่อยๆ ทิ้งใบเพื่อรักษาพลังงานเก็บไว้ใช้ในปีถัดไป เหมือนกับการจำศีล ถึงแม้ว่าหัวกล้วยไม้นั้นอยู่ใต้ผิวดิน แต่กิจกรรมทางเคมีในระดับเซลยังมีการดำเนินอยู่ แม้ไม่มากเท่าช่วงฤดูฝนแต่ก็ยังควรจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมด้วย ตั้งแต่เครื่องปลูกที่ควรร่วนซุยและสะอาด การปลูกกล้วยไม้กลุ่มนี้จึงควรผสมทรายน้ำจืดที่สะอาด ขี้เถ้าแกลบ หรืออิฐมอญละเอียดเพื่อช่วยในการระบายน้ำ ในฤดูหนาวที่หัวกล้วยไม้กำลังพักตัวอยู่นั้น ควรลด (ไม่ใช่งด) การให้น้ำและแยกกระถางออกไปไว้ในที่รำไร หลายท่านอาจกังวลว่ากล้วยไม้ทิ้งใบจะสังเคราะห์แสงได้อย่างไร จึงยังรดน้ำตามปกติ ผลที่สุดแล้วหัวที่อยู่ใต้ดินจะเน่าและอำลาโลกอย่างถาวรไปเลย กล้วยไม้ดินที่มีลักษณะลำต้นทอดยาวไปตามผิวดิน เช่นสกุล Ludisia และ Anoetochilus ก็ควรต้องหมั่นเปลี่ยนเครื่องปลูกด้วยเช่นกัน แต่เครื่องปลูกที่มีสัดส่วยอินทรียวัตถุสูงก็มักจะอุ้มน้ำดีทำให้เน่าได้ง่าย ความจริงกล้วยไม้ทั้ง 2 สกุลไม่ชอบความแฉะในเครื่องปลูก แต่ต้องการความชื้นสัมพัทธ์ที่สูงมากกว่า และจะไม่ทิ้งใบเหมือนกล้วยไม้ดินประเภทหัว ในช่วงต้นฤดูฝนหากกล้วยไม้ทิ้งใบมากเกินไปจนเหลือแต่ลำต้นยาวๆ ก็อาจใช้มีดสะอาดตัดเป็นท่อนๆ แล้วชำลงในเครื่องปลูกใหม่ก็ได้





กล้วยไม้พันธุ์แท้ในสกุลหวาย (Dendrobium) มีลักษณะการเจริญเติบโตในธรรมชาติที่หลากหลาย ในทุกภูมิภาคของประเทศ มีกล้วยไม้หลายชนิดพันธุ์ในสกุลนี้ที่เลี้ยงได้ไม่ง่ายนัก ตัวอย่างเช่น เอื้องปากนกแก้ว (Dendrobium cruentum) ที่เก็บมาจากป่า เมื่อนำมาเลี้ยงในสภาพเมืองโดยไม่ผ่านขั้นตอนการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ทีละน้อย (Hardening) ส่วนใหญ่จะค่อยๆ แห้งตาย เพราะสภาพธรรมชาติของกล้วยไม้ชนิดนี้อยู่ในป่าที่สมบูรณ์มาก เมื่อเก็บลงมาเลี้ยงจะปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ไม่ค่อยได้ แต่ถ้าเป็นต้นที่มาจากการเพาะเมล็ดในห้องปฏิบัติการหรือนำไปเป็นคู่ผสมกับชนิดพันธุ์อื่นจะเลี้ยงง่ายกว่ามาก มีคนเคยบอกทีเด็ดให้ฟังว่า การเกาะเอื้องปากนกแก้วบนต้นไม้เป็นจะมีโอกาสรอดกว่าเกาะเป็นแผ่นไม้ที่ตายแล้วหรือปลูกเลี้ยงในกระถาง ..... ควรรับฟังไว้เสียหน่อยไม่เสียหาย หวายปม (Dendrobium pendulum) เป็นอีกตัวหนึ่งที่เลี้ยงยากติดอันดับ การปลูกเลี้ยงที่ประสบความสำเร็จนิยมเกาะกับไม้และแขวนในที่ชื้นและแสงรำไร เมื่อรากเดินแล้วก็ยังคงต้องประคบประหงมเรื่องสภาพแสงและความชื้นอยู่ ปัญหาที่พบบ่อยคือรากใหม่ไม่เดิน ลำลูกกล้วยจะค่อยๆ เหี่ยวแห้งลง เอื้องชะนี (Dendrobium senile) ชนิดนี้ไม่ถึงกับยากในระดับปราบเซียน แต่ก็ทำเอามือใหม่ถึงผู้ปลูกเลี้ยงระดับกลางทำตายและถอดใจไปแล้วมากมาย หัวใจสำคัญอยู่ที่เครื่องปลูกและความชื้นในอากาศสูงๆ เอื้องแซะที่พบในประเทศไทยมีกลิ่นหอมทุกตัว หากจะกล่าวถึงในความเห็นส่วนตัวคิดว่าเลี้ยงยากทุกตัว แต่ที่ยากที่สุดเห็นทีจะไม่พ้น เอื้องแซะภู (Dendrobium bellatulum) กับเอื้องแซะดอยปุย (Dendrocium margaritaceum) บนยอดเขาสูงจากระดับน้ำทะเลเกิน 1,000 เมตร ของทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย มีกล้วยไม้หลายชนิดดำเนินเผ่าพันธุ์ในสภาพแวดล้อมที่มีบรรยากาศชื้นและเย็นเกือบตลอดทั้งปี “เอื้องสายวิสูตร” (Dendrobium falconeri) มีสีดอกเป็นพื้นขาว ใจปากมีสีดำตัดกับเหลืองส้ม ปลายกลีบมีสีม่วง ในฤดูออกดอกจึงสามารถมองเห็นสะดุดตาได้ตั้งแต่ไกล แต่ความงามของมันทำให้เป็นที่หมายปองของคน เมื่อนำมาปลูกในที่ราบ ลำลูกกล้วยสีดำเล็กๆ จะค่อยๆ แห้งและตายในที่สุด เช่นเดียวกับ “เอื้องมณีไตรรงค์” (Dendrobium wardianum) คนที่เคยปลูกทราบดีว่าแม้จะได้มันมาในสภาพที่ดีมากอย่างไร ลำอวบอ้วนแค่ไหน รากติดมากเท่าไหน แต่สุดท้ายมันต้องจบชีวิตลงอย่างเศร้าสลด กล้วยไม้ชนิดนี้จึงถูกขนานนามใหม่สนุกๆ ว่า “มี – แต่ – ตาย – ลง” ทราบแบบนี้แล้วอย่าได้หาซื้อหรือเก็บมาเลี้ยงเลยครับ

ยังมีตอนที่ 3 เป็นตอนจบครับ
*** รูป ***
บนซ้าย ช้างงาเดียว
บนกลาง เอื้องปากนกแก้ว
บนขวา เอื้องชะนี
ล่างซ้าย เอื้องสายวิสูตร
ล่างขวา เอื้องมณีไตรรงค์


Create Date : 22 กรกฎาคม 2549
Last Update : 26 กรกฎาคม 2549 8:43:20 น. 7 comments
Counter : 5985 Pageviews.

 
ขอบใจมากสำหรับความรู้ครับ


โดย: พีแพท47 (พีแพท47 ) วันที่: 23 กรกฎาคม 2549 เวลา:19:44:42 น.  

 
รออ่านตอนที่ ๓ ครับ


โดย: d-k วันที่: 24 กรกฎาคม 2549 เวลา:12:48:59 น.  

 
รออ่านตอนต่อไปค่ะ


โดย: ลูกปืน วันที่: 24 กรกฎาคม 2549 เวลา:15:52:04 น.  

 
แวะมาเก็บเกี่ยวความรู้น่าสนใจค่ะ แล้วจะแวะมาอ่านเรื่อย ๆ นะคะ


โดย: อินถวา วันที่: 29 กรกฎาคม 2549 เวลา:10:29:51 น.  

 
แวะมาอ่านต่อจากตอนที่1ค่ะ
น้าโหดเขียนเรื่องน่าสนใจอีกแล้วแถมได้ความรู้ด้วย ขอบคุณค่ะ


โดย: noojew วันที่: 30 กรกฎาคม 2549 เวลา:11:21:49 น.  

 
เยี่ยมมากเลยน้า

เอ พิมพ์กี่ที กี่ที ก็คำนี้

น้าจะได้รับคำชมมากไปแล้วนะเนี่ย


โดย: เสือจุ่น วันที่: 31 กรกฎาคม 2549 เวลา:10:18:05 น.  

 
ตอน 3 ยังไม่มาซักกะทีน่ะ อยากอ่านแล้วค่ะ


โดย: ชิงช้าไม้ วันที่: 5 สิงหาคม 2549 เวลา:8:58:47 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

น้าโหด
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




Friends' blogs
[Add น้าโหด's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.