Group Blog
 
 
สิงหาคม 2548
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
23 สิงหาคม 2548
 
All Blogs
 
กล้วยไม้ป่าภาคใต้

ประสบการณ์สองปีเศษที่ใช้ชีวิตอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย จึงมีโอกาสได้สำรวจและรับความรู้เกี่ยวกับกล้วยไม้ป่าของไทยที่มีถิ่นอาศัยในเขตภาคใต้ของไทยเพิ่มขึ้น ภาคใต้ของไทยหมายถึงช่วงจังหวัดชุมพรลงไปจนถึงพรมแดนมาเลเซีย สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบสลับกับหุบเขา มีเกาะรายล้อมอยู่สองฟากฝั่งทั้งอ่าวไทยและอันดามัน ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 1,800-2,000 มิลลิเมตรต่อปี โดยช่วงกระจายของฝนมีมากกว่า 6 เดือนต่อปี และที่สำคัญคือไม่มีฤดูหนาว

ภาคใต้ของไทยน่าจะเป็นพื้นที่ที่มีการกระจายพันธุ์ของกล้วยไม้พันธุ์แท้ที่สมบูรณ์จุดหนึ่ง ที่พบได้ง่ายและมากที่สุดเห็นจะเป็น “กะเรกะร่อน” (Cymbidium aloifolium) กล้วยไม้ชนิดนี้พบการกระจายตัวทั่วทุกภาค และในภาคใต้ก็พบทุกจังหวัด ที่มากที่สุดผมคิดว่าน่าจะอยู่ในเขต อ.ท่าฉางต่อกับ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เพียงแหงนหน้าสังเกตบนต้นตาลข้างทางหรือตามคันนาก็พบแล้ว น่าแปลกใจไม่น้อยว่ากล้วยไม้ชนิดนี้มีความสัมพันธ์ในการดำรงชีพกับตาลอย่างใกล้ชิด อีกชนิดหนึ่งคือ “กะเรกะร่อนปากเป็ด” (Cymbidium finlaysoniana) รูปลักษณะของใบคล้ายคลึงกับชนิด aloifolium ต่างตรงที่ดอกใหญ่กว่า มีกลีบสีเหลืองอมเขียว ปากสีขาวแซมแดงม่วง กล้วยไม้ชนิดนี้มีถิ่นอาศัยเฉพาะในภาคใต้เท่านั้น

กลุ่มกล้วยไม้ที่กำลังถูกรุกรานมากที่สุดได้แก่ กล้วยไม้รองเท้านารี (Paphiopedilum) รองเท้านารีเป็นกล้วยไม้ประจำถิ่น ชนิดที่พบพบทางภาคใต้ก็จะไม่พบที่ภาคอื่น ที่สถานีวิจัยข้าว จังหวัดกระบี่ จัดพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นเรือนรวบรวมกล้วยไม้ป่าที่ถูกชาวบ้านและพ่อค้าลักลอบเก็บไปขาย เมื่อศุลกากรหรือเจ้าหน้าที่ป่าไม้จับกุมได้ก็จะนำมารวบรวมไว้ที่นี่ ที่ผมชอบมากที่สุดคือ “รองเท้านารีเหลืองกระบี่” (Paphiopedilum exul) เพราะรูปทรงสวย สีเหลือง ขาว กระน้ำตาล เป็นกล้วยไม้สัญลักษณ์ประจำจังหวัดกระบี่ “รองเท้านารีขาวสตูล” (Paphiopedilum niveum) พบในเขตจังหวัดสตูลและตรัง โดยเฉพาะตามหมู่เกาะในทะเลอันดามัน ที่อำเภอสวี จังหวัดชุมพร เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่นิยมเดินป่าพบรองเท้านารีขึ้นอยู่ข้างทางขณะเดินป่าที่ไม่สมบูรณ์นัก แต่ยังอุตส่าห์พบ “รองเท้านารีขาวชุมพร” (Paphiopedilum godefroyae) ซึ่งพบย้ำนักย้ำหนาให้แกเลี้ยงให้รอด ถ้าเก็บมาจากป่าแล้วมาเลี้ยงตายล่ะน่าดู รองเท้านารีขาวชุมพรสามารถเจริญเติบโตได้ที่ในที่ที่ความชื้นค่อนข้างสูง และแสงแดดส่องไม่จัดเกินไปนัก กล้วยไม้อีกชนิดที่น่าห่วงว่าจะสูญพันธุ์ก็คือ “เอื้องปากนกแก้ว” (Dendrobium cruentum) ซึ่งก็พบได้เฉพาะทางภาคใต้ของไทยเท่านั้น แต่ปัจจุบันก็ยากเต็มที กล้วยไม้ในสกุลรองเท้านารีและเอื้องปากนกแก้วที่กล่าวมาจัดอยู่ในกลุ่มพืชใกล้สูญพันธุ์ (Endanger species)





กล้วยไม้พระเอกอีกชนิดหนึ่งที่อยากกล่าวถึงคือ “ว่านเพชรหึง” บ้างก็เรียกว่า “หางช้าง” (Grammatophyllum speciosum) ลำลูกกล้วยคล้ายลำอ้อย ขนาดโตเต็มที่สูงถึง 2-3 เมตร ดอกใหญ่เป็นช่อสีเหลืองส้มอมเขียว กระน้ำตาล เป็นที่ต้องการของตลาดกรุงเทพและต่างประเทศมาก ราคาสูงถึงสี่ห้าพันบาท กอเล็กๆ ก็ในราวสองสามร้อยบาทขึ้นไป ที่จังหวัดกระบี่ชาวบ้านมักปลูกกล้วยไม้ชนิดนี้ไว้ที่หน้าบ้าน สอบถามดูในป่าก็ใกล้สูญพันธุ์เต็มที หนังสือบางเล่มกล่าวว่ากล้วยไม้ชนิดนี้เป็นกล้วยไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่บ้านเขาสามหน่วยและบ้านนาน้ำเค็ม อ.คลองท่อม จ.กระบี่ ในที่ลุ่มนา พบ “ยี่โถปีนังหรือไม้จิ้มฟันควาย” (Arunida graminifolia) ดอกสีม่วงอมชมพูคล้าย Cattleya แต่ผมว่าสวยกว่า เพราะ Cattleya ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย ผมชอบของไทยมากกว่า ที่สำคัญยี่โถปีนังออกดอกได้ตลอดปี นิยมปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับ


กล้วยไม้อีกชนิดที่มีการดำรงชีพอย่างน่าพิศวง คือกล้วยไม้ที่มีการใช้ชีวิตแบบผู้ย่อยสลาย (Saprophytic orchids) กล้วยไม้ในกลุ่มนี้ต้องอาศัยเชื้อรา Mycorrhiza สลายธาตุอาหาร แล้วกล้วยไม้จึงนำเอาสารเหล่านี้เป็นแหล่งอาหารและช่วยในการงอกของเมล็ด ปัจจุบันกล้วยไม้กลุ่มนี้ก็หาดูยากเต็มทีเพราะไม่ได้ออกดอกให้เห็นตลอดปี Saprophytic orchids ส่วนใหญ่อยู่ในอนุวงศ์ (Sub family) Epidendroideae และจะเจริญเติบโตได้ในป่าทึบที่สมบูรณ์เท่านั้น บริเวณเทือกเขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช เป็นแหล่งที่พบกล้วยไม้กลุ่มนี้มากที่สุด “เอื้องคีรีวง” (Didymoplexiopsis khiriwongensis) ที่พบบนเขาหลวง ชูเฉพาะช่อดอกเหนือผิวดิน ไม่มีส่วนของสีเขียวหรือ Chlorophyll ดอกเล็กสีขาว ขอบปากมีสีส้มอมเหลือง ขณะนี้กำลังขออนุมัติตั้งชื่อวิทยาศาสตร์และรับรองพันธุ์ อีก 2 ชนิดที่พบเฉพาะบนเขาหลวงคือ Lecanochis multiflora และ Cyrtosia plurialata ซึ่งไม่มีรายละเอียด เพราะผมก็ไม่เคยเห็น อีกชนิดหนึ่งที่ทราบมาว่าพบที่เขาทุ่ง จ.ชุมพร อยู่ในสกุล Didymoplexis กำลังเสนอรับรองพันธุ์เช่นกัน

กล้วยไม้ป่าที่พบว่าชาวบ้านเก็บมาจากป่ามาปลูกเลี้ยงที่บ้านกันมากอีกชนิดคือ “ไอยเรศ” หรือ “พวงมาลัย” หรือ “หางกระรอก” (Rhynchostylis retusa) แล้วแต่จะเรียกกัน กล้วยไม้ชนิดนี้เป็นกล้วยไม้ในสกุลช้างเพียงชนิดเดียวที่พบในภาคใต้ ดอกเป็นช่อห้อยลง มีกลิ่นหอม ชอบแสงแดดจัด อีกชนิดหนึ่งซึ่งจัดอยู่ในสกุลกุหลาบ ซึ่งเป็นชนิดเดียวที่พบทางภาคใต้คือ “กุหลาบกระบี่” หรือ “พวงชมพู” (Aerides krabiensis) โดยพบในเขตจังหวัดกระบี่และพังงา โดยลักษณะใบแคบ หนา รูปตัววี มักเห็นการแตกกอมาก

ที่จังหวัดระนอง ในเขตอำเภอกระบุรี ละอุ่น และกะเปอร์ เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านกำลังบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำสวนกาแฟ หรือไม่ก็ปาล์มน้ำมัน เพราะฉะนั้นเมื่อเราได้เดินทางเข้าหมู่บ้าน ก็จะพบว่าหน้าบ้านถูกประดับประดาไปด้วยต้นกล้วยไม้ป่าที่ได้ติดไม้ติดมือกลับมาเมื่อเขาเข้าไปตัดไม้ในป่า “เอื้องหมาก” (Spathoglottis plicata) กล้วยไม้ดินใบจีบคล้ายหมากชูดอกสีม่วงอมชมพู “เอื้องแปรงสีฟัน” (Dendrobium secundum) ก็พบเห็นได้ง่ายเช่นกัน “ขี้นกกระยางหรือหวายตะมอย” (Dendrobium cruentum) พบได้ไม่ยากเช่นกัน ดอกสีขาวปากแต้มเหลือง มีกลิ่นหอม แต่หากตั้งใจดมตรงๆ จะมีกลิ่นออกสาบๆ สำหรับจังหวัดชุมพรซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของกล้วยไม้สกุลม้าวิ่งซึ่งพบสองชนิดคือ Doritis pulcherrima และชนิดพันธุ์ที่พบเฉพาะ จ.ชุมพร คือ var.chumpornensis ซึ่งคนเก่าคนแก่ที่นี่เล่าให้ฟังว่าเมื่อสมัยก่อนพบกล้วยไม้พันธุ์นี้อาศัยอยู่ตามเชิงเขาในเขต อ.ท่าแซะ และ อ.ปะทิว เป็นจำนวนมหาศาล แต่เมื่อป่าถูกทำลายลงมากจึงเป็นกล้วยไม้ที่เริ่มหายาก ผมพบกล้วยไม้ชนิดนี้ในที่ราบใกล้ชายฝั่งทะเลซึ่งอยู่ในเขต อ.ทุ่งตะโก ขึ้นดาษดื่นยังกับวัชพืชบนเครื่องปลูกคือทรายที่มีอินทรียวัตถุสูง ภาวนาว่าอย่าให้ชาวบ้านแถวนั้นอย่าได้รู้ว่ามันเป็นกล้วยไม้ มิฉะนั้นคงจะมีการเก็บเพื่อนำมาขายกันหมด ในพื้นที่ผืนกันนี้พบกล้วยไม้ดินชนิด Bromheadia finlaysoniana ซึ่งขึ้นอยู่ไม่น้อยทีเดียว ปัจจุบันกล้วยไม้ชนิดนี้ก็หายากเต็มที เป็นเพราะดอกมีสีขาวสะอาดสีน้ำนม ปากสีเหลืองและม่วงมีกลิ่นหอมอ่อนๆ สำหรับกล้วยไม้สกุลนี้ที่มีรายงานพบเฉพาะภาคใต้เท่านั้นชนิดอื่นๆ ก็เช่น Bromheadia alticola หรือ “กลีบขาว” ในเขตที่ลุ่มมีน้ำไหลผ่านพบ Thrixspermum amplexicaule หรือ “เอื้องพรุ” ขึ้นปะปนอยู่กับกอหญ้า กล้วยไม้ชนิดนี้มีการดำรงชีพค่อนข้างแปลกจากกล้วยไม้ธรรมดาก็คือ โคนต้นจะอยู่ในน้ำ ลำต้นขนาดก้านไม้ขีดไฟ เจริญเติบโตแบบ Monopodial ดอกสีน้ำเงินอมม่วง นอกจากนี้ยังมีกล้วยไม้สกุลใหญ่ที่พบกระจายพันธุ์มากอีกสกุลหนึ่งคือ สิงโตกลอกตา (Bulbophyllum) และที่พบเพียงภาคใต้เท่านั้นได้แก่ “สิงโตเหลือง” (Bulbophyllum vaginatum) ซึ่งพบได้ตั้งแต่ชุมพรยันนราธิวาส Bulbophyllum lilacinum พบที่จังหวัดพังงาเพียงที่เดียว ”ตุ๊กตา” (Bulbophyllum modestum) ซึ่งพบในป่าลุ่ม ป่าพรุ หรือเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลเกิน 800 เมตรขึ้นไป “สิงโตก้ามปูแดง” (Bulbophyllum patens) เคยพบที่นครศรีธรรมราช ตรัง และจังหวัดชายแดนติดประเทศมาเลเซีย






ยังมีกล้วยไม้อีกหลายชนิดที่มีถิ่นกำเนิดทางภาคใต้ของไทยมีโอกาสดำรงชีพในภาคใต้ของไทย บ้างก็สูญพันธุ์ไม่มีโอกาสให้ลูกหลานชื่นชมอีกแล้ว บ้างก็กำลังถูกคุกคามอย่างหนักซึ่งคาดว่าอีกไม่ช้า ถ้าไม่มีกฎหมายใดที่เข้มแข็งเพียงพอที่จะลงโทษมนุษย์ผู้เห็นแก่ตัวเหล่านั้นลงได้ กล้วยไม้สายพันธุ์แท้อีกไม่ต่ำกว่า 10 พันธุ์ น่าจะสูญพันธุ์ในอีกไม่เกิน 20 ปีข้างหน้า




Create Date : 23 สิงหาคม 2548
Last Update : 11 กันยายน 2548 14:31:03 น. 26 comments
Counter : 7427 Pageviews.

 
ความรู้ล้วนๆเลยครับน้าโหด ขอบคุณครับ


โดย: ปุ้ม ครับ (ปุ้ม ครับ ) วันที่: 24 สิงหาคม 2548 เวลา:20:44:53 น.  

 
น่าสนใจมากครับ
น้าโหดมีข้อมูล cym roseum ที่เขาพนมเบญจา จ.กระบี่ไหมครับ หนังสือผมจะได้ปิดต้นฉบับซะที


โดย: สำเภางาม วันที่: 27 สิงหาคม 2548 เวลา:15:49:14 น.  

 
น่าสนใจจิงๆ ซิมที่คุณสำเภางามว่า ผมอยู่กระบี่ยังไม่เคยเห็นเลย สิงโตที่น่าโหดว่าเป็นภาษาปะกิตผมก็ไม่เคยเห็น


โดย: ลิงเล IP: 203.188.25.44 วันที่: 28 สิงหาคม 2548 เวลา:9:52:07 น.  

 
มาอ่านครับ+


โดย: บัวระวง IP: 202.28.34.244 วันที่: 28 สิงหาคม 2548 เวลา:9:53:42 น.  

 
มาอ่านเพิ่มเติมความรู้ครับ


โดย: Paphmania IP: 203.156.17.118 วันที่: 2 กันยายน 2548 เวลา:16:13:47 น.  

 
ได้ความรู้เยอะมากเลยค่ะ
กำลังครุ่นคิดเรื่องภูเขาีที่หน้าบ้านตัวเอง (ชื่อ "เขาเหมน"
เทือกเดียวกับเขาหลวง-คีรีวง)
ว่าจะทำอย่างไรดีไม่ให้ขี้ขโมยมาเอารองเท้านารีไปหมด
แต่เอาไปเยอะแล้ว
วันก่อนขึ้นไป สวนทางกัน
มันบอกว่า มาจากโครงการหลวงดอยอินทนนทร์
แกล้งถามถึงคนรู้จัก ที่ใครๆก็รู้จัก ก็อึกอักแสดงว่าโกหก
มีอะไรแนะนำบ้างไหมคะ ในการทำงานอนุรักษ์


โดย: shadow-of-art (shadow-of-art ) วันที่: 19 กันยายน 2548 เวลา:21:51:16 น.  

 
น่าสนใจนะ


โดย: ช้างกระ IP: 203.156.41.146 วันที่: 28 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:8:02:14 น.  

 
เข้ามาอ่านเพราะสนใจค่ะ ชอบยี่โถปีนังมาก เมื่อ 30 ปีทำงานอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังลงใต้บ่อย เวลารถไฟวิ่งผ่านหุบเขาจะเห็นยี่โถปีนังบานเหมือนต้อนรับอยู่สองข้างทาง กระจัดกระจายเยอะมาก ยังไม่รู้จักชื่อเรียกว่า"แคททารียาดิน" จำไม่ได้ว่าช่วงจังหวัดอะไร ไม่รู้ว่าเดียวนี้ยังมีชีวิตหลงเหลือให้เห็นหรือเปล่า คงต้องทำใจเพราะเคยเห็นขายกันอย่างกะวัชรพืช


โดย: noklekkaa(papagearna) IP: 158.108.211.125 วันที่: 13 มิถุนายน 2549 เวลา:18:02:25 น.  

 
อยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกกล้วยไม้แต่ละชนิด
ว่าควรปลูกอย่างไร เพราะเพิ่งเล่นกล้วยไม้ ซื้อมาแพงแต่เลี้ยงไปตาย ทำให้หมดกำลังใจ


โดย: เรส IP: 202.12.73.11 วันที่: 6 กรกฎาคม 2549 เวลา:8:33:09 น.  

 
อยากรู้เรื่องต้นหางสิงห์


โดย: บอย IP: 202.143.158.29 วันที่: 3 พฤศจิกายน 2549 เวลา:11:35:18 น.  

 


ดอกไม้นี้ ที่สวีครับ

ไม่แน่ใจว่าผมควรเรียกเธอว่า ม้าวิ่ง หรือ แดงอุบล หรืออะไรครับ.. แนะนำด้วยครับ
//blog.trekkingthai.com/sailomloy/tag/blog/page/2/

ขอบคุณครับ


โดย: สายลมลอย IP: 125.25.224.173 วันที่: 12 ธันวาคม 2549 เวลา:22:19:55 น.  

 


แถมอีกมุมมองนึงครับ พบบนภูสูงไม่เกิน ห้า ถึง เจ็ดร้อยเมตรจากระดับน้ำทะเล บานในเดือนมิถุนา-สิงหาคม ครับ

//blog.trekkingthai.com/sailomloy/


โดย: สายลมลอย IP: 125.25.224.173 วันที่: 12 ธันวาคม 2549 เวลา:22:25:50 น.  

 
น่าสนใจจังครับ ขอข้มูลเพิ่มเติมได้ไหม


โดย: เด็กตรังจ่ะ IP: 203.146.63.185 วันที่: 7 มิถุนายน 2550 เวลา:18:02:20 น.  

 
อยากเห็นกุหลาบกระบี่ หน้าตาเป็นยังไง มีรูปไหมคะ


โดย: คนเมืองบี IP: 118.173.53.51 วันที่: 21 มกราคม 2551 เวลา:19:03:08 น.  

 
ไอยเรศดอกสวยอยากได้จังเลย (ลานสกาบ้านผมหายาก)


โดย: ผู้อ่านอนาคต IP: 58.147.53.110 วันที่: 12 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:11:37:50 น.  

 
น่าสนใจดีคับอยากให้ช้วยกันอนุรักษ์ไว้


โดย: ผู้สนใจกล้วยไม้ IP: 222.123.136.35 วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:12:27:47 น.  

 
เอื้องสายนำผึ้ง ดอกสวยมากมีกลิ่นหอมด้วยช่วยกันอนุรักษ์ไว้นะครับ


โดย: ฅนทิวเขา IP: 124.157.218.86 วันที่: 9 พฤษภาคม 2551 เวลา:11:30:16 น.  

 
รู้สึกตัวเองเป็นเด็กอนุบาลไปเลยเรื่อง
กล้วยไม้เมื่อได้เจอะเจอคุณน้าโหดที่น่ารัก รูปงามที่เราหลงรักเมื่อแรกเห็นกล้วยไม้นำไปสู่จุดจบของธรรมชาติที่ไม่อาจเรียกกลับคืนมาจริงๆ มันอยู่ที่เราแล้วว่าจะเลือกเลี้ยงกล้วยไม้แบบไหน ตอนนี้รู้แล้วว่าจะไม่เลี้ยงแล้วไอ้กล้วยไม้ที่มาจากป่า หันมาเลี้ยงที่เขาเพาะเนื้อเยื่อดีกว่าเน๊าะ ยืนยง คงกระพัน ต่อไปนะคุณน้าโหด


โดย: สิงห์กันยา IP: 118.175.159.210 วันที่: 15 กันยายน 2551 เวลา:12:35:16 น.  

 
ยี่โถปีนังที่ผมมีเป็นสวนเลย

ดอกสวย ปลูกง่าย


โดย: คนใต้ IP: 61.19.67.47 วันที่: 31 มีนาคม 2552 เวลา:23:35:32 น.  

 
เอามาลงให้มากกว่านี้


โดย: จ้องกัฟฟฟฟ IP: 118.173.232.118 วันที่: 7 กันยายน 2552 เวลา:12:06:50 น.  

 
ที่บ้านผมมี่เขากวางอ่อนที่พบใน กระบี่ และเอื่องผึ่ง ไม่รู้ว่าเคยมีประวัติการเจอหรือยังครับน้าโหด


โดย: มี กระบี่ IP: 110.49.81.37 วันที่: 24 มิถุนายน 2553 เวลา:9:55:01 น.  

 
อยากรู้ว่ากล้วยไม้พันธ์สิงโตปลูกง่ายไหมค่ะ


โดย: น้องนิด IP: 125.26.134.130 วันที่: 4 กรกฎาคม 2553 เวลา:12:16:24 น.  

 
20-25 ปีที่แล้วข้างบ้าน(ป่าพรุ)จะมีกล้วยไม้ เฟิร์นและต้นไม้หายากหลายชนิดอาศัยอยู่จำนวนมาก แต่ปัจจุบันกลายเป็นสวนยาง สวนปาล์มสะหมด ของที่เคยมีกลับไม่มี ของที่อยู่ในป่ากลับมาอยู่ในบ้านคนรวย นับว่าโชคดีมากครั้งนึงกลับมาจากกรุงเทพฯ อยากออกไปสำรวจความเปลี่ยนแปลงของหมู่บ้านและตามหาแหล่งม้าวิ่ง ม้าบินที่เคยมี พบว่าถูกทำลายเกือบหมดแล้วเหลืออยู่ไม่ถึง 2% มีม้าวิ่งที่เหลือตามหน้าดินที่ไม่ตรงกับแนวปลูกต้นปาล์มอย่างเบาบางมากๆ นับฟ้าประทานเดินมาก้อพบม้าบินสีขาวปากเหลืองแสปลสสีเหลือง 1กอ โห ดีใจมากๆเลยเก็บมาไว้พร้อมๆกับม้าวิ่งจำนวนนึง กลับบ้านและดูแลอย่างดี ตอนนี้ขยายพันธ์ได้บ้างแล้ว จะเก็บไว้เป็นตัวอย่างให้กับเยาวชนรุ่นหลังต่อไป เพราะตอนนี้อย่าว่าแต่ม้าบินเลย ม้าวิ่งจากธรรมชาติก้อคงเหลือแต่ชื่อไปแล้ว ..เด็กชุมพร


โดย: ม้าวิ่ง-ม้าบินชุมพร IP: 10.239.23.152, 203.149.16.36 วันที่: 17 กรกฎาคม 2553 เวลา:14:16:05 น.  

 
ผมมีกล้วยไม้ที่ได้จากในป่าต้นคล้ายช้างกระเเต่ไม่ใช่ ออกดอกเป็นช่อดอกสีขาวคล้ายไอยเรส ยาวประมาณ 8 นิ้ว มีใบสีเขียวเข้มไม่มีลายเส้นบริเวณใต้ใบผมไม่รู้ว่าเป็นต้นอะไร น้าโหดพอจะชี้นำทางให้หน่อยได้มั้ยครับ ที่ //www.nsp47-21hotmail.com


โดย: หน่วยพัฒนาสันติที่ 47-21 IP: 110.49.234.2 วันที่: 4 กรกฎาคม 2554 เวลา:16:10:58 น.  

 
ผมเป็นทหารพราน เเละได้เจอกล้วยไม้ป่ามากมาย ทั้งเขากวางอ่อนดอกสีเเดง และดอกสีเเดงลายจุดสีน้ำตาล


โดย: หน่วยพัฒนาสันติที่ 47-21 IP: 110.49.234.2 วันที่: 4 กรกฎาคม 2554 เวลา:16:15:18 น.  

 
อยากได้ข้อมูล เขากวางอ่อนและกล้วยไม้ดิน ของภาคใต้คับ


โดย: หวัน ชะอวด IP: 113.53.57.240 วันที่: 10 พฤศจิกายน 2555 เวลา:0:56:11 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

น้าโหด
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




Friends' blogs
[Add น้าโหด's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.