Musica Amante คนรักดนตรี

 
กรกฏาคม 2552
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
30 กรกฏาคม 2552
 

เมื่อ จิ๊บ รด. ย้อนอดีตสู่อนาคต



ถ้าพูดถึงชื่อ วสุ แสงสิงแก้ว ย้อนกลับไป 20 กว่าปีที่แล้ว ในวงการเพลง อาจจะยังไม่มีใครรู้จักว่าเขาเป็นใคร แต่ถ้าเป็นชื่อ ไผท เดชศิริ ชื่อนี้คือนักร้องและสมาชิกที่เยาว์วัยมากที่สุดในยุคนั้นของวงพลอย วงดนตรีที่มีนักดนตรีมีฝีมือมากมายรวมตัวกัน เป็นวง Back up ให้กับพี่แจ้ ดนุพล แก้วกาญจน์ และออกอัลบั้มงานเพลงในนามของวงพลอยมาได้ช่วงเวลาหนึ่ง แต่ถ้าเรียกเขาว่า จิ๊บ รด. ก็จะเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากกว่า

จิ๊บ วสุ (แสงสิงแก้ว) ในปัจจุบัน คือข้าราชการ นักการทูตอนาคตไกล แห่งกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินตามหาฝันตามที่ได้ร่ำเรียนมาในขณะที่อีกหน้าหนึ่งของชีวิตเขาก็เคยเป็นศิลปินนักร้อง ในช่วงเวลาหนึ่งของเขาที่อยู่ในวงการบันเทิง ได้ร่วมงานกับพี่โอม ชาตรี คงสุวรรณ ในช่วงเวลาที่พี่โอมเข้ามาเป็นนักดนตรีสนับสนุนให้กับพี่แจ้ในชื่อวงแจ้และพลอยด้วยกัน และในโอกาสที่ ดิ อินโนเซ้นท์ จะมี Reunion Concert เขาเป็นผู้หนึ่งที่มีความทรงจำดีๆเกี่ยวกับ “งานเลี้ยงรุ่น” ของพี่โอม และผองเพื่อน ดิอินโนเซ้นท์

บทสนทนาต่อไปนี้ของทั้งสองคนอาจทำให้ผู้อ่านบางท่านอยากย้อนเวลาหาอดีต กลับไปเป็นวัยรุ่น หรือ วัยเด็ก ได้อีกครั้ง



จิ๊บ วสุ : ย้อนไป 2528 ตอนที่ผมจะเข้ามาวงพลอย มาร่วมงานกับพี่แจ้ ตอนนี้พี่ๆดิอินโนเซ้นท์อยู่ในวงการแล้ว พี่โอมดังมากทีเดียว เป็นขวัญใจนักเรียนอินโนเซ้นท์ กำลังเอ๊าะๆเลย นำร่องมา ตามด้วยพี่เหม (อนุสาร คุณะดิลก) ตอนผมเข้ามา มีแมวมองไปทาบทามผมที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผมก็เข้ามาคุยกับพี่แจ้ บอกพี่เค้าว่าเป็นแฟนเพลงอินโนเซ้นท์ พี่แจ้ก็ให้ร้องเพลงให้ฟัง ตอนนั้นที่ห้องอัดศรีสยาม มีเปียโนอยู่ ผมก็เล่นให้พี่แจ้ฟัง เป็นเพลง The Beatles เพลง Let It Be พี่แจ้ก็ขอฟังเพลงไทยล่ะเล่นบ้างหรือเปล่า ผมก็บอกพอเล่นได้ครับ ผมก็นึกว่าเล่นเพลงอะไร ก็เลยเล่นเพลง เพียงครึ่งใจ ของอินโนเซ้นท์ นั่นแหละเป็นเพลงTestที่ร้อง พอเล่นซักครึ่งเพลง พี่แจ้ก็บอกโอเคเลย มาร่วมงานกัน แล้วพี่แจ้เค้ายังเคยไปพูดบนเวที ที่ไหนซักที่ แต่ผมจำได้ว่าเขาบอกว่า จิ๊บนี่แฟนเพลงโอมนะ เพราะว่าเค้าเลือกที่จะเล่นเพลง เพียงครึ่งใจ ตอนที่ทดสอบเล็กๆ ก่อนที่จะเข้ามาอยู่ในวงเค้าด้วยกัน

พี่โอม : จิ๊บ กับผมก็เคยอยู่ค่ายเดียวกัน

จิ๊บ วสุ : ตอนนั้น ค่ายเพลงใหญ่ที่สุด คือ นิธิทัศน์ โปรโมชั่น แกรมมี่ เพิ่งเริ่มได้ไม่นาน

พี่โอม : แต่แกรมมี่โตเร็วมาก ในยุคที่เราร่วมงานกัน วงการเพลงมันก็อีกแบบหนึ่ง ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้

จิ๊บ วสุ : คือพี่โอมกับผม ตอนที่เราขึ้นคอนเสิร์ตด้วยกันครั้งแรกๆนี่ ตอนนั้นเราไปขึ้นเปิดอัลบั้ม ฝันสีทอง ของพี่แจ้ ที่บางกอกคอนเวนชั่นฮอลล์ ที่เซ็นทรัล พลาซ่า 2 รอบ แล้วก็มีคอนเสิร์ตดอกไม้ไฟ คอนเสิร์ตที่เดอะพาเลซ โลกดนตรี ตามมา พี่โอมเนี่ย จะมีแฟนเพลงค่อนข้างชัดเจนมาก ถ้าเป็นสมัยนี้ก็คงจะมียกป้ายไฟสีๆ ตามไปด้วย เสียงเรียก โอม ชาตรีๆๆ ผมนึกภาพนะ แต่ก่อนยังเป็นป้ายกระดาษ ป้ายผ้า

พี่โอม ตอนนั้นเราก็เล่นกับพี่แจ้ เวลาไปออกงาน เราก็เอาเพลงอินโนเซ้นท์ ไปเล่นด้วย ก็เหมือนเล่นกันอยู่2 วง มีอยู่ 2 วงในเวลาเดียวกัน

จิ๊บ วสุ : ตอนนั้น ภาพมันก็ตื่นเต้นนะ ผมก็น้องเล็กสุด ว่าไปแล้วตอนนั้น พี่พี่โอมเค้าทั้งอินโนเซ้นท์แล้วก็วงพลอยกลุ่มแฟนเพลงก็ใกล้กัน มีความทับซ้อนกันอยู่เยอะมากเลย แฟนเพลงอินโนเซ้นท์ก็ตามมาเชียร์ด้วยที่วงพลอย แล้วพี่โอมก็ทำดนตรีให้กับที่วงด้วยเยอะมากเลย คือเพลงที่ผมเล่น อัลบั้มพลอยชุดแรก สุภาพบุรุษนักฝัน พี่โอมก็ทำ ใช่มั๊ย

พี่โอม : ก็ทำหมดหละ วงแจ้และพลอย พี่เป็นแบ๊คอัพอยู่ 2 ชุด ตอนหลังวงพลอยก็ออกเป็นวงเลย พี่ก็จะถอยมาเป็นนักดนตรีในห้องอัดเสียง คือไม่ได้ร้องด้วย

จิ๊บ วสุ : แต่พี่โอม ยังช่วยเล่นดนตรี เล่นคอนเสิร์ต ก็ยังขึ้นเวทีคอนเสิร์ตอยู่ด้วย อย่างโลกดนตรี อะไรงี้ อย่างสมัยก่อนนักดนตรี อยู่ต่างค่ายกันก็จริง แต่พอขึ้นเวทีมันไม่ค่อยมีค่ายเท่าไหร่ อย่างคอนเสิร์ตปี๊ก ของพี่เต๋อ ตอนขึ้นเวที นักดนตรีวงพลอยขึ้นไปอยู่บนนั้นแล้วประมาณครึ่งเวที
พี่โอมเล่นลีดกีตาร์ อยู่ด้านขวา พี่ป้อม อัสนี อยู่ซ้ายมือ
พี่มืดไข่มุก เล่นเพอคัสชั่น
พี่ติ๊ก ชีโร่ ตีกลอง
พี่ป้อมอภิไชย เย็นพูนสุข เล่นเปียโน อะไรอย่างนี้

พี่โอม : บทบาทของนักดนตรีไม่ได้แบ่งค่ายอะไรมากเหมือนสมัยนี้ไง

จิ๊บ วสุ : นักดนตรี รู้จักกันหมด อย่างอัลบั้ม ฝันสีทอง ของพี่แจ้อัลบั้มแรกเนี่ย แต่คนที่มิกซ์ดาวน์ คือพี่เต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ มาคลุกคลีช่วยกันหมดเลย ตอนที่พี่โอมมาร่วมกับพลอยนี่ อินโนเซ้นท์ได้กี่ชุดแล้วครับ

พี่โอม : ตอนนั้นช่วงอัลบั้ม ครั้งนี้...ของพี่กับน้อง เป็นอัลบั้มที่ 8 น่ะ ตอนมาร่วมกับพลอยก็ยังคิดว่า อาจจะไม่มีงานดิอินโนเซ้นท์ออกมาแล้ว คือที่วงแต่ละคนก็เริ่มงานเยอะขึ้นเรื่อยๆ พี่ก็เอ๊..มันจะยังไง แต่ไปเล่นกับพลอย ก็เพลินดี ทำไปทำมา มันก็ยังสามารถเป็นไปได้ คือความที่เค้าไม่ได้แยกเรื่องกันน่ะ ทำงานให้วงพลอยด้วย อัดเสียงให้อินโนเซ้นท์ไปด้วย มันก็ไปด้วยกันได้ ตอนนั้นทำ ครั้งนี้..ของพี่กับน้อง เสร็จแล้ว รอวาง ก็ทำงานให้วงพลอยต่อไปด้วย นี่อาจจะเป็นภาพสะท้อนว่าวงการเพลงสมัยก่อน เค้าไม่แยกเด็ดขาดเหมือนสมัยนี้

จิ๊บ วสุ : แล้วก็เป็นสมาชิกหลักด้วยนะ เวลาขึ้นเวทีเนี่ยพี่โอมแต่งชุดโซโร



พี่โอม : ก็มันยุค 80 น่ะ ทำได้ทุกอย่างแหละ

จิ๊บ วสุ : ยุคนั้นคนดูเค้าชอบดูท่ากีตาร์โซโล่ของพี่พี่โอม แล้วแว่นดำๆที่พี่หนุ่ย อำพล ใส่แล้วเท่เนี่ยพี่โอม ใส่มาก่อนแล้วนะ ล่าสุดที่กรีนเวฟ เค้าทำคอนเสิร์ต Lost Love Song ที่เค้าเอาผมไปร้องเพลง รด.ด้วย เค้าก็เอาเพลงสอบตก ของอินโนเซ้นท์ไปเล่นด้วยเป็นเมดเล่ย์ มันก็หมายถึงว่าเพลงมันก็กลมกลืนอยู่ด้วยกันแล้วช่วงนี้

แล้วอินโนเซ้นท์กลับมา จะเล่นเพลงอะไรกัน?

พี่โอม : มันน่าจะเป็นเรื่องของ ”งานเลี้ยงรุ่น”

จิ๊บ วสุ : แหมผมชอบคำนี้มากเลย งานเลี้ยงรุ่น

พี่โอม : มันเป็นเรื่องที่เราจะมีคอนเสิร์ตนี่ มันเหมือนกับเราจะกลับไปหาความรู้สึกดีๆ ตอนนี้อย่างจิ๊บกับพี่คุยกันนี่ ก็จะพูดถึงเรื่องความรู้สึกดีๆสมัยก่อน อินโนเซ้นท์มันก็เหมือนอย่างนี้แหละ เราก็นึกถึงแฟนเพลง อย่างตัววงมันก็มีเพลงเยอะแยะ บางคนอยากตามใจตัวเอง เล่นเพลงแปลกๆอะไรอย่างนี้ แต่ในมุมพี่เราคงต้องเลือกเพลงที่ทั้งตัววงและทั้งแฟนเพลงมีความรู้สึกร่วมกันได้ คงต้องเลือกเอาประเด็นนี้เป็นหลักก่อน ความตั้งใจเราคือเราอยากกลับมาหาความรู้สึกดีๆ แล้วก็อยากให้มีคนดูเยอะๆ คนดูก็อยากเจอทั้งเพื่อนฝูงเจอทั้งเพลงอะไรที่เค้าอยากได้ยิน ต้องเอาอันนี้เป็นหลัก

จิ๊บ วสุ : ต้องร้องตามกันได้อะไรอย่างนี้

พี่โอม : คงต้องใช้คอนเซ็ปนี้กันในเรื่องเพลง

จิ๊บ วสุ : แสดงว่าผมตอบโจทย์ถูกตั้งแต่งานแถลงข่าวแล้ว ไปงานแถลงข่าว ความรู้สึกนั้นมันเกิดกับทุกคนที่ไปร่วมงาน อย่างผมเนี่ยสนิทกับพี่โอมที่สุดในวง อย่างพี่ปื๊ด พี่สายชลก็รู้จักกันอยู่แล้ว เข้าไปงานแล้วจะรู้จักใครบ้าง พอเข้าไปถึงหน้างาน คือซ้ายขวาหน้าหลัง ต่อติดกันหมดทุกคน หันไป อ้าว เปิ้ล หัทยา อ้าวพี่หมึก วิโรจน์ เนี่ยใช้คำว่าปาร์ตี้เลี้ยงรุ่นเนี่ย ถูกเลย เหมือนกับยุค 80 แล้วก็มีน้องๆรุ่นใหม่ๆที่เค้าเข้ามาช่วยเล่นให้ แล้วพอเราเข้าไปอยู่ตรงนั้น มันก็คล้ายๆจากที่เราไม่รู้จักกันก่อน เราห่างออกมาไม่ได้ใกล้ชิดเนี่ย เค้าก็เข้ามาทักทายสวัสดี อย่างน้องพะแพง น้องพัดชา เห็นน้องพวกนี้อยู่บนเวทีแล้ว ยกนิ้วให้หมด เค้าเก่ง วันนั้นยังคุยกับพี่เหม (อนุสาร คุณะดิลก) กับหัทยา ว่าพี่โอมเนี่ย เหมือนกับเป็นศูนย์กลางคนรุ่นยุค ‘80 กับคนรุ่นปัจจุบันให้รวมกัน มันเหมือนวัยรุ่นพี่โอม เดี๋ยวนี้ก็ยังวัยรุ่นอยู่ (หัวเราะ)

จิ๊บ วสุ : ตอนที่ผมไปร่วมรายการของสินเจริญบราเดอร์ส เค้าก็ถามว่า เอ๊ะ พี่มีภาพเก่าๆบ้างไหม จะได้เอามาใช้ในรายการ ผมบอกผมไม่มีหรอก มีแต่วิดีโอ โน่นแน่ะ ป่านนี้จมฝุ่นอยู่ไหนแล้วก็ไม่รู้ เค้าบอกไม่เป็นไร เดี๋ยวเค้าไปหาให้ ปรากฏว่าเก่งแฮะ เขาไปขอมาจาก 72 โปรโมชั่นที่โลกดนตรีเก่า แล้วไปหามาตั้งแต่ที่เราทำอัลบั้มกันครั้งแรกปี 2529-2532 ตอนนั้นเราขึ้นเวทีโลกดนตรี 7 ครั้งนะ เป็นวงที่ขึ้นเวทีโลกดนตรีเยอะมาก

พี่โอม : ตอนนี้ก็มีมาออกช่อง มะจัง ของ True

จิ๊บ วสุ : แล้วเหมือนช่วงนี้ คล้ายๆมันมีการนำเอาเพลงเก่าๆดีๆในยุคผ่านมาแล้ว สิบกว่า ยี่สิบกว่าปี เอากลับมาทำใหม่ เอากลับมาเล่นใหม่ ไม่ใช่เฉพาะบ้านเรานะ มันเป็นทั่วโลก เหมือนเพลงสากล ยุค 40-50 มีการเอาเพลงแจ๊สเก่าๆมา Cover ใหม่ สร้างปรากฏการณ์เยอะมากเอ...อย่างยุค ‘80 บ้านเรานี่มันยุคตั้งใข่ของวงการเพลงบ้านเรานะพี่ ยุควัยหวาน

พี่โอม : จริงๆมันคือยุคแสวงหานั่นแหละ ยังคลำทางกันอยู่ ฝรั่งก็เป็นเหมือนกันนะ อย่างยุค 70 มันเป็นยุคที่ศิลปะมันเฟื่องฟู พอ ‘80 เค้าก็พยายามจะเปลี่ยนแปลงเพื่อหาสิ่งใหม่ๆ จะทำอะไรกันต่อไปได้แล้ว คือทำอย่าง ‘70 มันก็ล้าสมัย ก็เลยเกิดเรื่องใหม่ๆขึ้นมาเยอะแยะ ย้อนกลับไปดูแล้วก็ยิ้มๆอ้ะนะ

จิ๊บ วสุ : มันก็เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งนะครับในยุคนั้น อย่างพวกเสื้อผ้า อย่างพวกเสื้อเขียว กางเกงชมพู ร้องเท้าเหลือง ก็ยังไปด้วยกันได้ ยังเป็นไปได้เลย

พี่โอม : ทรงผมอย่าง ยุค 70 มันเรียบไป ซาวน์ดดนตรี ก็เปลี่ยนไปด้วยเหมือนกันนะ ‘70 ก็เป็นดนตรีเล่นสดใช่มะ ส่วน ‘80 ก็ไม่เอาเล่นสดเลย คือเป็นเสียงสังเคราะห์ซะหมดเลย พอย้อนไปฟังแล้วมันเฟคๆเลย ดนตรีของอินโนเซ้นท์มันก็เป็นของยุค 80 นั่นแหละ ในยุคที่พี่เพิ่งเริ่มทำกับอินโนเซ้นท์แบบเต็มตัว

จิ๊บ วสุ : เป็นช่วงยุคต้น ‘80 ใช่ไหมพี่

พี่โอม : จริงๆพี่เป็นคนที่ชอบดนตรีร๊อก พอเริ่มเข้าอินโนเซ้นท์ ดนตรีมันเปลี่ยนเป็นเข้าเพลงแดนซ์อะไรพวกนี้ เป็นอีเลคโทรนิค เราก็จำได้เพราะชอบ Van Halen ตอนนั้นชอบเล่นของ Van Halen แล้วอินโนเซ้นท์ก็มาออกงานในปี ‘84 เป็นปีที่เค้าวางอัลบั้ม ยุคนั้นเพลงฝรั่งเฟื่องฟูมาก แล้วหลังจากนั้นพี่ก็เข้าร่วมงานกับพลอย

จิ๊บ วสุ : แต่พูดถึงอย่างผมกับพี่โอมนี่ ตั้งแต่พลอยซึ่งตอนนั้นไปอยู่กับนิธิทัศน์ จนกระทั่งลากยาวไปเรียนต่อ กลับมาไปทำกับพี่เต๋อชุดนึง พี่โอมก็ยังช่วยทำงานให้พี่เต๋ออยู่ ตอนนั้นพี่โอมก็ยังช่วยทำดนตรีให้ เลิกอินโนเซ้นท์แล้วก็ทำให้กับแกรมมี่ต่อ มีพี่เต๋อนี่แหละ ที่พี่จะสนิทกันมาก

เวลามันผ่านเร็วนะพี่ 10 กว่าปีให้หลังเนี่ย แต่ความรู้สึกมันยังต่อกันได้ตลอดเวลา มันเป็นช่วงเวลาของความทรงจำที่มันสวยงามมากๆ ตอนนั้นผมเข้าวัยรุ่นพอดี ประมาณ 17-18 เอง พูดถึงพี่โอม กับผมนี่วัยยังใกล้กัน แต่พวก พี่พงษ์(อิสรพงศ์ ชุมสาย ณ อยุธยา) พี่เมา(สมบูรณ์ สุทธิสัตตบุษย์) นี่เค้ารุ่นใหญ่หน่อย

พี่โอม : ตามสูตรของเพลงนะ อะไรที่มันฮิตอีกทีเนี่ย คนเราจะเริ่มนึกถึง ซัก 10 ปี มันจะกลับมา แล้วอีก 10 ปีต่อมามันคือการบ่ม ตอนยุค ‘80 พี่จำได้เลยว่า เราจะชอบฟังอะไรที่เป็นยุค ‘60 ตอนยุค ‘80 เพลงSixty เป็นอะไรที่ฟังแล้วเพราะมากเลย มันได้ที่มันพอดี อย่างเราไปมองยุค ‘70 ว่าเก่า แต่ยุค ‘60 มองว่าเก๋า

จิ๊บ วสุ : ใช่ๆ อย่างพอผ่าน 20-25 ปีไปแล้ว มันจะผ่านไปถึงจุดที่เป็นตำนานเป็น Legend ไปแล้ว เหมือนอย่างรถคลาสสิคเนี่ย จะเข้าสู่ยุคคลาสสิคได้ จะต้องเป็น 25 ปีขึ้นไป แต่จะต้องเป็นรุ่นเป็น Model ที่อยู่ในความนิยมของคนด้วยนะ คือคนยังหาอยู่ ก็เหมือนเพลงแหละครับ คือเวลาที่ผ่านไปมันก็จะคัดกรองจนถึงเหลืออะไรที่เป็นความทรงจำดีๆ

แล้วสมัยก่อนมาถึงสมัยนี้ การดูแลศิลปินเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ?

พี่โอม : สมัยก่อนมันยังไม่ค่อยมีระบบดูแลศิลปินนะ ส่วนมากแล้วแต่กำลังทรัพย์ อย่างอินโนเซ็นท์ พี่ไม่ได้มีระบบดูแลพวกนี้เลยเพราะว่าเราไม่ได้มีภาพลักษณ์ทางแฟชั่น แต่ว่าตอนอยู่วงพลอย พี่แจ้เค้าจะมีเพื่อน มีปัจจัยช่วยเยอะ เช่นห้องเสื้ออะไรเงี๊ยะ พอทำงานที ก็จะพาไปห้องเสื้อ มีคนดูแลเรียบร้อย

จิ๊บ วสุ : คือความเป็นค่าย อาจจะมีส่วนในเรื่องการออกทุน หาสถานที่การถ่ายทำมิวสิควิดีโอ ใช่สตูดิโอ แต่ว่าการดูแลศิลปินเนี่ยมันเป็นอย่างไร ก่อนแกรมมี่จะเกิด มันจะอยู่ในสภาพว่า ในวงเราจะดูแลกันเองใช่มั๊ยเพราะฉะนั้นความรัก ความผูกพัน ความเหนียวแน่นของสมาชิกในแต่ละวง มันก็จะมี บางวงอาจจะถูกดึงมารวมกันเฉพาะกิจ อย่างวงพลอยเนี่ย แต่พอมาอยู่ด้วยกันแล้ว มันจูนกันติด คลื่นเดียวกันเนี่ย มีความสนุก แล้วงานออกมาในจังหวะที่ถูก มันก็ล้วนเป็นปัจจัยบวกที่เสริมกัน สมัยนี้จุดรวมอาจจะอยู่ที่เข้าบริษัทมั๊ย แต่สมัยก่อนอยู่ที่ห้องซ้อม ศูนย์ร่วมอยู่ที่นั่น อย่างวงพลอย แต่ก่อนซ้อมที่สยามกลการ ต่อมาก็ย้ายไปซ้อมกันที่บ้านพี่แจ้ ดนุพล ก็จะเป็นจุดศูนย์รวม ไปกินนอน ดูทีวี เล่นพูลกันบ้าง กินข้าวด้วยกันบ้าง

พี่โอม : อย่างอินโนเซ้นท์ เขาก็จะมีห้องซ้อมของตัวเอง คือบ้านพี่ปื๊ด มือเบส เป็นห้องซ้อมที่เป็นบ้านที่อยู่ในซอยไกลผู้คนหน่อย แต่ไม่ใช่ห้องหรูหรานะ แต่อย่างของพี่แจ้เค้าเป็นห้องซ้อมที่เป็นเรื่องเป็นราวเลย

จิ๊บ วสุ : อย่างการรับงาน นี่ศิลปินก็รับกันตรงๆ ผมตอนนั้น ด้วยความที่เด็กสุด ก็ไม่รู้เรื่องระบบอะไรที่เขาเป็นอยู่ แต่เราก็มีความสุขอยู่กับการที่มีใบแจ้งมาว่า อาทิตย์นี้ ซ้อมกันกี่วัน เวลาเย็นถึง 3-4 ทุ่มนี่ก็ แฮ้ปปี้แล้ว มันก็เป็นบรรยากาศที่เป็นครอบครัวใหญ่ ก็จะมีพี่ๆที่เค้าเป็นตัวชูโรง ไม่ใช่เฉพาะบนเวทีนะ หลังเวทีอย่างเช่น พี่มืด ไข่มุก เค้าก็จะชอบสอนอะไรให้กับน้องๆ เช่นมุขเอาตัวรอด พอผลตอบรับออกมาดี เราก็เลยได้ไปถ่ายมิวสิควิดีโอ ไปอัดเสียง ต่างประเทศบ้าง ไปญี่ปุ่น สิงคโปร์ อะไรอย่างนี้ ซึ่งก็มีไม่มากที่ได้รับโอกาสแบบนี้ กึ่งทำงาน กึ่งเที่ยว ตอนนั้นเราไปญี่ปุ่น ออกนิตยสารมาเลยนะ แจ้ พลอย พี่โอม ชาตรี อินเจแปน

พี่โอม : วงการสมัยก่อนก็อย่างนี้แหละ วงสมัยก่อนเวลาดังๆแล้วดังจริงๆนะ ดังทั่วประเทศ จะมีกิจกรรมทำโน่นทำนี่ เป็นเรื่องใหญ่ไปหมด

จิ๊บ วสุ : แล้วเวลาไปเล่นคอนเสิร์ตต่างจังหวัด จำได้ว่าไปกันจังหวัดนึงหลายๆครั้ง ไปกันแทบทุกจังหวัด วางโปรแกรมเดินสายกันหลายๆจังหวัด มีเจ้าภาพมาจ้าง อย่างกองทัพก็มี อย่างภาคใต้นี่เป็นสิบจังหวัด

พี่โอม : เล่นกันจน ไปแล้วก็ยังไปอีก

จิ๊บ วสุ : บางทีนึกชื่อจังหวัดยังงงๆ เพราะเวทีมันเหมือนๆกัน เล่นกันหลายที่ เวทีกลางแจ้ง ในโรงหนังก็มี แต่ก่อน เล่นกันเช้าตรู่เลยก็มี มันก็เป็นยุค สมัยนะ

พี่โอม : สมัยก่อนงานมันเยอะมากไง มันก็มีทั้งใหญ่ ทั้งเล็ก

จิ๊บ วสุ : เดี๋ยวนี้ตามโรงหนังต่างจังหวัดยังมีเล่นคอนเสิร์ตกันอยู่มั๊ยนะ

พี่โอม : ก็ยังน่าจะมีแต่เป็นวงเด็กสมัยนี้ เป็นอีกยุคนึง แล้ว วิธีการคงไม่เหมือนกัน คนละอย่าง

จิ๊บ วสุ : ยุคนึงผมจำได้ว่า ตอนที่ผมทำงานประจำแล้ว อยู่ต่างประเทศบ้าง กลับมาบ้าง ก็มาอัพเดทกันว่า วงไหนกำลังดัง ช่วงหนึ่งจำได้ว่า เดี๋ยวนี้การรวมตัวกัน การเล่นดนตรี ในร้านเล็กๆ ก็ทำได้ หรือในมุมตามห้างสรรพสินค้า เค้าก็ทำได้ เรียกว่าเป็นคอนเสิร์ตแล้ว สมัยนั้นไม่ค่อยมี จัดทีต้องเปลืองพอสมควร

พี่โอม : มีแห่ด้วย (หัวเราะ)

จิ๊บ วสุ : ใช่ๆ งงมากเลย บ่ายสอง ต้องไปขึ้นรถแห่ เพื่อยืนยันว่า มาแล้ว มาเล่นแน่ๆ อะไรประมาณนี้ เดี๋ยวนี้ก็เปลี่ยนไป แต่ก่อนตามห้างฯเราก็เล่นนะ แต่ก่อนพาราก้อนยังไม่มี เราก็เล่นตามสยามเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลพลาซ่า ใช้ดาดฟ้า คอนเสิร์ตลืมโลกในฮอลล์ ของไนท์สปอต แต่ที่สังเกต การถ่ายทอดสดดนตรี จะมีเยอะมาก ค่อนข้างแข่งกันสูง แต่อย่างอินโนเซ้นท์ อยู่ดีๆก็หายไปเลย คล้ายๆบอกกันกลายๆว่าชุด 10 นาฬิกา จะเป็นชุดสุดท้ายใช่หรือเปล่า

พี่โอม : จริงๆพอย้อนเวลาไปมันก็มีรายละเอียดของมัน แต่มาถามตอนนี้มันนึกไม่ออก แต่มันก็มีรายละเอียดของมันอยู่นะ อย่างของอินโนเซ้นท์เราออกชุดนั้นไป ก็เป็นช่วงโปรโมท แต่พอหมดช่วงโปรโมทแล้วเราก็ไปทำงานอยู่บริษัทแกรมมี่ มันก็มีข่าวมาว่าพี่ย้ายไปอยู่แกรมมี่ มันก็มีข่าวไปใน ทำนองสังกัดเดิมไม่แฮปปี้นัก เหมือนเราแยกค่ายไป แต่ความจริง อินโนเซ้นท์ มันไม่ได้เลิกวง มันมีอันเป็นไปแยกย้าย แล้วก็พี่อาจจะเป็นคนคิดซนๆ คือคิดอยู่ในใจว่า วงดนตรี มันไม่จำเป็นต้องประกาศแยกวงหรอก จะรวมกันอีกเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่รู้จะประกาศแยกวงไปทำไม อาจจะเพราะคิดอย่างนี้ก็ได้ เราก็เลยไม่พยายามพูดถึง คุณไม่ออกอัลบั้ม ก็คือแค่ไม่ออกอัลบั้ม ใหม่

จิ๊บ วสุ : ใช่ครับ แต่สัมพันธภาพในวง ก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม อย่างพี่โอมพูดผมนึกมาได้ ตอนที่ The Eagles กลับมารวมวงกันหลังจากห่างกันไป 10 กว่าปี สลายตัวไปเรียบร้อยแล้ว อยู่ดีๆวันหนึ่งก็มารวมกัน มาจอยกันอย่างยิ่งใหญ่ ตอนอยู่บนเวที Glen Fley กับตัว Don Henry เค้าร่วมกันพูด ประโยคแรกเลยเค้าบอกว่า พูดกันให้เข้าใจก่อนนะ สิบสี่ปีที่ผ่านมาวงไม่ได้แตกนะ แต่พักร้อนยาวไปหน่อยเท่านั้นเอง

กลับมาที่วงอินโนเซ้นท์ตอนงานแถลงข่าวรียูเนี่ยนของอินโนเซ้นท์นี่นะ พี่ๆทั้ง 4 คน เหมือนหยุดกาลเวลาไว้เลย แต่เหมือนกับแค่พักไปคิดแล้วกลับมาใหม่ การดูแลสภาพร่างกายที่ดี ผมให้คะแนนเต็มร้อยเลยนะ สำหรับลุค และความพร้อมในการ perform ในวันนั้น

พี่โอม : อันนี้มันต้องอยู่ที่ใจ ทุกคนพยายาม ความจริงมันเป็นเรื่องที่ดีสำหรับนักดนตรี บางทีเราดูแลตัวเองหน่อยนึง ดนตรีนี่มันต้องทำอะไรที่มันสนุกสนานอยู่แล้ว ถ้าปล่อยให้มันล่วงเลยไปตามวัยมากเกินไปมันก็ไม่ดี ต้องกระชุ่มกระชวยอยู่ตลอด ร่างกายดี มันก็มีผลกับดนตรีด้วย อย่างเพลงของ Elvis ที่จิ๊บชอบร้องเนี่ย ทุกวันนี้เพลงเค้าก็ยังอมตะ จิ๊บยังต้องเต้นอยู่เลยใช่มั๊ย

จิ๊บ วสุ : แต่ที่สำคัญเค้าตายตอนที่อายุเท่าผมตอนนี้พอดี กำลังคิดอยู่ว่า หยุดร้องซะปีนี้จะดีมั๊ย (หัวเราะ) แล้วไปหาเด็กๆซัก 20 ปี สดๆน่าจะดีกว่า

อย่างพี่สายชลนี่ ยังดูสดๆอยู่เลย วันที่แถลงข่าว มีกล้องมาสัมภาษณ์ผม ผมก็ยืนยันเลยว่า นี่เป็นปรากฏการณ์ ตำนานอีกหน้าหนึ่งของวงการเพลงบ้านเรา คนที่โตมายุคผม หรือใกล้ๆผม ต้องเคยได้ยินเพลงดิอินโนเซ้นท์ มา แล้วก็สิ่งที่มันพิสูจน์ว่าเพลงเหล่านี้มันเป็นอมตะเพราะว่าผ่านไปแล้ว 20 กว่าปี เพราะเด็กรุ่นใหม่ก็เอามา Cover ใหม่กันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ทำให้เพลงไม่ตาย ดนตรี ซาวน์เปลี่ยนไปบ้าง แปลกไปบ้าง แต่พอฟังแล้ว คนก็อยากกลับไปฟังว่าออริจินอล มันยังไง

พี่โอม : ก็เหมือนที่เราเอาเพลงที่เราชอบๆ มาเล่นกันต่อ มันก็เป็นการสืบทอดกันรุ่นต่อรุ่น ก็เป็นวัฒนธรรมที่ดี

จิ๊บ วสุ : เล่นตอนแถลงข่าวไป 2 เพลงนี่มันกระตุ้นต่อมอยากเรียกน้ำย่อยกันดีเลย

พี่โอม : ทีแรกไม่รู้ว่าจะเล่นกันทันหรือเปล่า เพราะว่าถึงซ้อม มันก็ไม่ได้ซ้อมกันเยอะมาก แต่พอตัดสินใจเล่นแล้วก็เอาเลยมีเอาเป็นวงใหญ่มาเล่นกันเลย ทุกคนก็ได้รู้ด้วยไงว่าจะเล่นจริงๆมันต้องแน่น แน่นกว่าสมัยก่อน

จิ๊บ วสุ : ต้องเรียกว่าเอาให้สมศักยภาพนะ กลับมาอีกที

พี่โอม : พี่จำคำพูดพี่เต๋อ พี่เต๋อก็จะบอกว่า นักดนตรีเนี่ย ยิ่งเล่นแล้วต้องยิ่งแน่น ยิ่งอายุเยอะขึ้น ยิ่งต้องเก่งขี้น แกเป็นคนคิดอย่างนี้นะ

จิ๊บ วสุ : พี่เต๋อนี่เป็นอมตะจริง เหมือนพี่โอมพูดตอนแรกน่ะ เหมือนไวน์ยิ่งบ่มนาน ไอ้ความเข้าเนื้อ รสชาดมันจะนุ่มลึก เกิดความดื่มด่ำให้คนที่จะเอาไปสัมผัสปลายลิ้นได้ มันจะยิ่งเข้มข้นยิ่งขึ้น นี่เห็นมีการประชาสัมพันธ์ ป้ายโฆษณาตามท้องถนนบ้างแล้ว มีพูดถึงชื่อเพลงหลายเพลงด้วย

พี่โอม : อันนี้แหละที่มองว่าดนตรีหรืองานเพลง มันทำหน้าที่ของมัน มันเป็นไอเดียของคนที่เค้าจัดคอนเสิร์ต แต่มันเป็นไอเดียที่ดี เพราะว่าดนตรีหน้าที่ของมันคือทำให้คนสนุก มันไม่สำคัญหรอกเราเป็นตำนานหรืออะไรอย่างไร แต่ว่าการกลับมาด้วยการรียูเนี่ยนคอนเสิร์ต มันทำให้ผู้คนเค้ามีอะไรตื่นเต้น ดนตรีก็ทำหน้าที่แรกของมันแล้ว ทำให้คนรู้สึกตื่นตัว มันคือความหมายที่แท้จริงที่ทำให้มันอยู่ได้ยาว โอกาสที่เราเล่นคอนเสิร์ตถ้าเราทำให้คนมีความสุขได้ ทำให้คนตื่นเต้นได้ อันนี้คือความคลาสสิค

จิ๊บ วสุ : ตอนนี้เตรียมตัวอย่างไรที่เราจะเอ็นเทอร์เทนคนดูได้ในวันงาน

พี่โอม : ก็ต้องซ้อมเยอะๆ ซ้อมเยอะๆ ถ้าซ้อมน้อยไม่งั้นมันจะเลยกลายเป็นมีความตื่นเต้นไปด้วย

จิ๊บ วสุ : แต่ผมว่าตื่นเต้นเล็กๆ ก็ดีนะ มันทำให้เราไม่ประมาท ผมจำได้ Elvis เค้าเคยพูดเอาไว้ว่า เวลาที่งานโชว์เค้าเยอะปีๆนึง 200 กว่าโชว์ เล่นไปเล่นมา ที่วงเค้าก็มีความรู้สีก เวลาจะขึ้นโชว์ว่า มันก็เหมือนเดิมแหละ เค้าก็เลยพูดกับสมาชิกในวงเค้าว่า อย่าลืมว่าถึงแม้เราจะเล่นเพลงเดิม มีความรู้สึกว่า Performance เหมือนเดิม พอถึงตรงนี้ ท่อนฮุคอย่างนี้ อย่างนั้น แต่อย่าลืมว่า คนดู เป็นคนดูที่แตกต่างกันไป แต่ละที่ แต่ละครั้ง เราต้องสร้างสิ่งใหม่ให้คนดูตลอด เพราะฉะนั้นอย่ารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งธรรมดา ที่ได้เล่นนี่ต้องถือว่าเป็นโอกาสที่พระเจ้าประทานมาแต่ละครั้ง ฉะนั้นต้องทำออกมาให้ดีที่สุด ซึ่งผมถือว่าเป็นแนวความคิดที่ดีมากทีเดียว

พี่โอม : ใช่ พอเป็นนักดนตรีรุ่นก่อนๆ มันก็จะมีแนวคิดแบบนี้ ก็เพราะมันผ่านมาเยอะไง มีตัวอย่างมาเยอะ มีเรื่องราวมาเยอะให้ได้เรียนรู้

จิ๊บ วสุ : Elvis เนี่ยเค้าบอกว่า ก่อนขึ้นเวทีทุกครั้ง เขาตื่นเต้นทุกครั้ง เขาจะคิดว่า คนดูจะสนุกกับเค้ามั๊ย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีนะ ที่ทำให้เราได้รับสิ่งดีๆที่แสดงออกมาจากภายในของเขา

พี่โอม : ศิลปินที่ดี เค้าจะคิดแบบนี้หมดเลยนะ คือเค้าตั้งใจน่ะ พอตั้งใจแล้วก็จะสามารถเข็นศักยภาพตนเองออกมาได้อย่างเต็มที่

=============================================
เหล่านี้ เป็นบทสนทนา เป็นแรงโหยหา ของผู้ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาในวงการเพลงไทยอย่างยาวนานที่น่าจะสะท้อนถึงความแตกต่างของสังคมดนตรีจนถึงยุคปัจจุบันได้บ้าง

รวมเพลง วงพลอย

สมาชิกวงพลอย ประกอบด้วย
• ติ๊ก ชีโร่ (ศิริศักดิ์ นันทเสน) ตำแหน่ง นักร้องนำ, กลอง
• วสุ แสงสิงแก้ว (ไผท เดชศิริ เดิม) ตำแหน่ง นักร้องนำ
• อิศรพงศ์ ชุมสาย ณ อยุธยา ตำแหน่ง หัวหน้าวง, คีย์บอร์ด
• มืด ไข่มุก ตำแหน่ง เพอร์คัสชั่น, นักร้องนำ
• รักษ์ สวัสซิตัง (รักษ์) ตำแหน่ง กีตาร์, นักร้องนำ
• สมบูรณ์ สุทธิสัตตบุษย์ (เมา) ตำแหน่ง กีตาร์, คีย์บอร์ด, นักร้องนำ
• อนุสาร คุณะดิลก (เหม) ตำแหน่ง เบส, นักร้องนำ
• เดวิด เอง ตำแหน่ง กีตาร์
โดยมี พี่โอม ชาตรี คงสุวรรณ ร่วมทำหน้าที่ กีตาร์ซัพพอร์ท ในขณะที่ วงนี้ยังเพียงทำหน้าที่เป็นวง Back up ให้ พี่แจ้ ในนาม แจ้และพลอย ในปี 2529 ต่อมาเมื่อมีการตั้งวงพลอยขึ้นมาเพื่อออกอัลบั้มเพลงอย่างจริงจัง พี่โอม จึงได้ถอนตัวเองออกมาทำงานของตนเองและดิอินโนเซ้นท์โดยไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกวงพลอย และยังเป็นสมาชิกดิอินโนเซ้นท์อยู่ต่อไปจน ออกอัลบั้มสุดท้าย 10 นาฬิกา ในปี 2532


Create Date : 30 กรกฎาคม 2552
Last Update : 6 สิงหาคม 2552 13:20:50 น. 2 comments
Counter : 4242 Pageviews.  
 
 
 
 
คิดถึงวงพลอยจังเลย...

น่าจะมีคอนเสริ์ตแบบรวมตัวกันครบวงซะทีเนอะ...

ผมว่าคนน่าจะอยากดูเยอะนะ....
 
 

โดย: YoYo' IP: 10.0.1.23, 58.8.233.19 วันที่: 12 ธันวาคม 2552 เวลา:0:05:43 น.  

 
 
 
" พี่จิ๊บ ดูหล่อ เท่ห์ ไม่เสื่อมคลายเลยนะ "
 
 

โดย: tk IP: 112.142.142.34 วันที่: 15 มิถุนายน 2553 เวลา:13:21:15 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

Musica Amante
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




เปิดตา เปิดหู เปิดสมอง เปิดใจ
เพลงที่ดี ดนตรีที่ดี ไม่มีค่าย
[Add Musica Amante's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com