...มองฟ้า ดูดาว นั่งเหงา ลำพัง...
<<
ธันวาคม 2549
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
11 ธันวาคม 2549

เฮสเส กับ เกมลูกแก้ว

หลายวันก่อนข้าได้รับหนังสือเล่มหนึ่งมาจากเพื่อน หนังสือเล่มค่อนข้างหนา ข้าอ่านแค่คำนำก็รู้สึกได้ถึงความเข้มข้นของเจตนารมณ์ของผู้เขียนที่สะท้อนออกมาผ่านตัวหนังสือ ข้าคิดว่ามันเป็นหนังสือที่ดีเล่มหนึ่งและข้าก็อยากแนะนำบอกต่อให้ทุกคนได้อ่าน เรื่องเล่าโดยย่อนี้ข้านำมาจาก //www.geocities.com/siamintellect/writings/b_glasperlenspiel.htm
ซึ่งต้องขอขอบคุณมาใน ณ ที่นี้ด้วย


Das Glasperlenspiel หรือชื่อในภาษาไทย เกมลูกแก้ว เป็นงานเขียนชิ้นสุดท้าย และชิ้นสำคัญของแฮร์มันน์ เฮสเส ซึ่งเขียนขึ้นในช่วงปีค.ศ. ๑๙๓๑ - ๑๙๔๒ ขณะนั้นฮิตเลอร์เพิ่งขึ้นมามีอำนาจในปีค.ศ. ๑๙๓๓ และนำเยอรมันเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองในระหว่างปีค.ศ. ๑๙๓๙ - ๑๙๔๕

เฮสเสเขียนงานชิ้นนี้โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะฟื้นฟูจิตวิญญาณของมนุษยชาติ ที่แตกสลายและถูกทำลายไปจากผลของสงคราม ขณะที่เขียนนั้นเขาอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ และในระหว่างสงครามโลกทั้งสองครั้ง เขาต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย และพลเมืองยุโรป ที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือชาวเยอรมัน งานเขียนจึงต้องสะดุดลงหลายครั้ง และใช้ระยะเวลานานเป็นพิเศษกว่าจะสิ้นสุดลงในปีค.ศ. ๑๙๔๒

ต้นฉบับตัวจริงได้ถูกส่งเป็นพัสดุไปรษณีย์ลงทะเบียนไปถึงบรรณาธิการกัลยาณมิตร ปีเตอร์ ซัวร์คัมป์ แห่งสำนักพิมพ์เอส. ฟิชเฌอร์ ในเบอร์ลิน แต่งานเขียนของเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ถูกตีพิมพ์โดยคำสั่งห้ามจากนาซี ทั้งซัวร์คัมป์เองก็ถูกนาซีหาเหตุกักขังจำคุกเกือบตาย ดีที่กัลยาณมิตรของเขาช่วยเหลือจนรอดชีวิตออกมาได้ และหลังสงครามในปีค.ศ. ๑๙๔๖ ก็ได้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ซัวร์คัมป์ขึ้นมา และได้ตีพิมพ์งานของเฮสเสตลอดมา

เฮสเสรู้สึกผิดหวังที่กลุ่มผู้อ่านเป้าหมายของเขาไม่มีโอกาสที่จะได้อ่านงานชิ้นนี้ อย่างไรก็ตามด้วยความกังวลที่ต้นฉบับจะสูญหายไปในภาวะสงคราม จึงได้ให้สำนักพิมพ์ในสวิตเซอร์แลนด์เป็นผู้ตีพิมพ์ครั้งแรก หนังสือบางเล่มได้หลุดรอดถึงมือผู้อ่านในเยอรมันได้บ้างช่วงสงคราม และแพร่หลายในเยอรมันเป็นอย่างยิ่งในภายหลังโดยสำนักพิมพ์ซัวร์คัมป์

เกมลูกแก้ว - ความพยายามในการเขียนชีวประวัติของอาจารย์ลูดี โยเซฟ คเนคชท์ รวมทั้งข้อเขียนของเขา - เป็นขยายความของหนังสือบนหน้าปก เฮสเสเขียนเล่าเรื่องชีวประวัติของคเนคชท์ เด็กชายผู้มีความสามารถพิเศษด้านดนตรี จนได้รับเลือกให้เข้าไปศึกษาในสถานศึกษาชั้นนำของดินแดนคาสตาเลีย ได้ศึกษาเกมลูกแก้ว ศาสตร์ชั้นสูงที่ใช้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างศาสตร์ต่างสาขา เลือกวิถีชีวิตในการเป็นนักบวชในนิกายคาสตาเลีย จนกระทั่งได้รับตำแหน่งอาจารย์ลูดีซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของผู้เชี่ยวชาญเกมลูกแก้ว ต่อมาได้ละทิ้งหนทางนั้นออกมาสู่โลก เพื่อทำหน้าที่เป็นครูประจำตัวธรรมดาของเด็กคนหนึ่ง แล้วก็เสียชีวิตโดยการจมน้ำในการว่ายน้ำในทะเลสาบบนเขาเพื่อเอาชนะใจศิษย์น้อย

เฮสเสได้เขียนจดหมายถึงออตโต ฮาร์ตมันน์ ผู้เป็นสหายว่า เรื่องนี้เป็น "ปลายทางสุดท้ายของชีวิตและของบทกวี" งานเขียนที่อยู่บนพื้นฐานของความเรียบง่ายนั้น นำเสนอชีวิตของคเนคชท์ ดินแดนยูโธเปียอย่างคาสตาเลีย และเกมลูกแก้ว

เขาได้แสดงให้เห็นว่าชีวิตของมนุษย์นั้นเป็นไปตามลำดับขั้น มนุษย์นั้นนอกจากจะเติบโตทางกายภาพ ในทางจิตวิญญาณเขาก็สามารถเติบโตไปด้วยพร้อมกัน แม้ในชีวิตยังมีความขัดแย้งภายใน แต่มนุษย์ยังมีหน้าที่ที่จะดำรงความสงบในภายนอกไว้ให้ได้ การตรวจสอบตนเองนั้นเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในการศึกษา - ซึ่งเฮสเสได้ให้ความหมายว่าเป็นการพัฒนาตนเอง เป็นเครื่องมือนำไปสู่จิตวิญญาณที่เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ ความมีสติรู้ที่จะดำรงชีวิตได้อย่างเป็นสุข เป้าหมายของการศึกษานั้น มิได้อยู่ที่การเพิ่มพูนความสามารถหรือศักยภาพของปัจเจกชน แต่อยู่ที่การช่วยให้ชีวิตมีความหมาย เข้าใจอดีตได้อย่างถ่องแท้ และทำให้ไม่หวั่นหวาดกับอนาคต - ดังที่เขาให้คเนคชท์นั้น เขียนบันทึกชีวประวัติของตน เราสามารถทำความเข้าใจคเนคชท์ และหรือเฮสเสได้จากการงานเขียนท่วงทำนองชีวประวัตินั้นได้อย่างไร ยิ่งน่าสนใจว่าเราจะเข้าใจตนเองได้ในทำนองเดียวกันหรือไม่

"Je schaerfer und unerbittlicher wir eine These fordern, desto unwiderstehlicher ruft sie nach der Antithese."

"ยิ่งเห็นดีเห็นงามกับทฤษฎีใด ทฤษฎีที่ขัดแย้งยิ่งเด่นชัดขึ้น"

เฮสเสยังได้เสนอภาพดินแดนยูโธเปียอย่างคาสตาเลีย ระบบการศึกษาที่ดิ่งลึกลงไปในการหาความลับของโลก เขาให้ภาพงดงามของดินแดนในอุดมคติ แต่ขณะเดียวกันก็โจมตีการแยกตนโดดเดี่ยวของชนชั้นปัญญาชน ที่ไม่สนใจความเป็นไปของโลก เขายืนยันอย่างชัดเจนว่าระบบการศึกษานั้นเป็นไปเพื่อสังคมโดยรวม เพราะโดยเหตุที่สังคมเคยจมจ่อมล่มสลาย คาสตาเลียจึงได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อค้นหาวิถีทางแห่งการพัฒนาตน และเมื่อคาสตาเลียอยู่ในความศิวิไลซ์ในขณะที่โลกเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย จึงเป็นความเห็นแก่ตัวและอกตัญญูอย่างยิ่ง หากชนชั้นปัญญาชนแยกตัวออกจากโลก เพียงเพื่อบรรลุถึงความเร้นลับในจิตวิญญาณของตน ทั้งไม่คำนึงถึงว่าราคาของปัญญาและศานติที่ตนเองมีอยู่นั้น ใครเป็นผู้เสียสละจ่ายให้

"Je hoeher die Bildung eines Menschen, je groesser die Privilegien, die er genoss, desto groesser sollen im Fall der Not die Opfer sein, die er bringt."

"บุคคลใดยิ่งได้รับการศึกษาสูงขึ้น ได้รับสิทธิพิเศษมากขึ้น ยิ่งทำให้มีเหยื่อแห่งความสูญเสียเพิ่มขึ้น"

เกมลูกแก้วเป็นตัวละครสำคัญในเรื่อง ผู้อ่านไม่อาจจะรู้ได้ว่ากฎกติกาของเกม หรือแม้กระทั่งหน้าตาของเกมเป็นอย่างไร เฮสเสเพียงแต่บอกหน้าที่ของเกมให้เรารับรู้แต่เพียงว่า เกมลูกแก้วเป็นภาษาที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างศาสตร์ต่าง ๆ ดังเช่นคณิตศาสตร์กับดนตรี กฎฟิสิกส์และปรัชญา ทฤษฎีเสียงและสี ท่วงทำนองดนตรีที่สามารถวัดค่าได้ ไปจนถึงการทำให้สีมีีเสียงที่ยินได้ หรือเสียงที่มองเห็นได้ เกมลูกแก้วเปรียบเสมือนตัวแทนแสดงความเชื่อที่ว่า ศาสตร์ทั้งหลายในโลกนี้ล้วนนำไปสู่ความจริงเดียวกัน และหากจะมีภาษาที่แสดงถึงความจริงดังกล่าวนั้น เฮสเสได้ตั้งชื่อภาษานั้นว่าเกมลูกแก้ว

การเข่นฆ่าล้างชาติพันธุ์ยิวในสงครามโลกครั้งที่สองนั้น เป็นเครื่องหมายแสดงภาวะความตกต่ำทางจริยธรรมของสังคมเยอรมัน อย่างที่ไม่เคยมีมา สงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้ทำให้ภาวะการนับถือตนเองของชาวเยอรมันนั้น บาดเจ็บอย่างยากที่จะเยียวยา เมื่อเหยื่อแห่งการปลดปล่อยตนเองคือการหาแพะมารับบาป แทนที่จะเป็นการตรวจสอบตนเอง ดังนี้จึงเป็นว่า มนุษย์ย่อมทำอนันตริยกรรมได้หากเขาปฏิเสธที่จะเรียนรู้ประวัติศาสตร์

และแม้เฮสเสจะต้องลี้ภัยออกมาจากมาตุภูมิ ทั้งถูกกล่าวหาว่าเป็นคนขายชาติ เขายังมิได้ละทิ้งชาวเยอรมันซึ่งเขาถือว่าเป็นเพื่อนร่วมชาติของเขา เขามองเห็นความล่มสลายภายในจิตวิญญาณของผู้คน จิตใจที่แตกสลายนั้นคือลูกกำพร้าของยุคสมัย และเป็นเด็กหลงทางจากความงามและอุดมคติ เขาพยายามจับจูงจิตใจเหล่านั้นให้กลับเข้ามารวมกัน โดยแสดงให้เห็นถึงความหมายของชีวิตที่แท้และอุดมคติอันงาม หากมีผู้สงสัยว่าเขาทำสำเร็จหรือไม่นั้น ดังที่ตั้งคำถามเอากับเขาว่า เหตุใดจึงให้คเนคชท์ตายอย่างง่ายดายเหลือเกิน เขาได้เขียนจดหมายไปยังสหายผู้หนึ่งว่า

"ถึงที่สุดแล้วมันไม่ใช่เรื่องสำคัญสักเท่าไหร่ว่าคุณจะเข้าใจหรือไม่ ผมหมายถึงมรณกรรมของคเนคชท์ที่ออกจะง่ายดายเหลือเกิน เพราะมรณกรรมของเขาได้ก่อให้เกิดผลกระทบกับคุณเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังที่ได้ทิ้งรอยแผลเป็นไว้กับติโต มันได้ปลุกความรับรู้ของจิตวิญญาณในตัวคุณให้ตื่น และยังคงอยู่ในตัวคุณอย่างนั้นแหละ แม้ว่าคุณจะลืมหนังสือผมไปแล้ว กรุณาฟังเสียง ที่หนังสือไม่ได้ส่งเสียงออกมาอีก แต่เป็นเสียงที่มาจากภายในของคุณเอง เสียงนั้นจะนำคุณต่อไป"

แม้เฮสเสจะเขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อคนเยอรมัน แตนักเขียนที่กล่าวถึงจิตวิญญาณของโลกนั้น ย่อมเป็นนักเขียนของมนุษยชาติโดยแท้



เกี่ยวกับผู้เขียน



แฮร์มันน์ เฮสเส (ค.ศ. ๑๘๗๗ - ๑๙๖๒)

เกิดเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๗๗ ในเมืองคาล์ฟ เมืองเล็ก ๆ ใกล้ป่าดำ พื้นเพทางพ่อเป็นชาวเยอรมัน แม่มีเชื้อสายเยอรมัน-สวิส พ่อและตาเป็นมิชชันนารี ทำงานกับโรงพิมพ์ ตานั้นเคยเป็นมิชชันนารีอยู่ที่อินเดีย พ่อของเฮสเสเคยไปช่วยงาน ในระยะเวลาหนึ่งก่อนจะกลับมาที่เยอรมัน

ในวัยเด็กเฮสเสเป็นเด็กเรียนดี มีความรักในการเขียน แต่ในวัยรุ่น เป็นช่วงขมขื่นพอควร เพราะพออายุได้สิบสี่แม้จะโชคดีสอบผ่านข้อสอบรัฐ และได้ทุนไปเรียนประจำที่มาล์บรอนน์ แต่ได้หนีออกมาหลังจากนั้นไม่นาน และประสบปัญหาทางสุขภาพจิต เคยพยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง ต้องใช้เวลาฟื้นฟูอยู่หลายปี ระหว่างนั้นก็ไปเรียนเป็นเด็กฝึกงานอยู่ในโรงงานทำหอนาฬิกา แล้วค่อยไปเรียนด้านทำหนังสือที่ร้านหนังสือในทือบิงเงน

พอเรียนจบ อายุได้ยี่สิบสองเริ่มเขียนบทกวีออกตีพิมพ์ และออกเดินทางไปที่ต่าง ๆ ทั้งสวิสเซอร์แลนด์ อิตาลี นิยายเรื่องปีเตอร์ คาเมนซินท์ เป็นนิยายเรื่องแรกที่นำชื่อเสียงมาให้ จากนั้นก็ผลิตงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ ใต้วงล้อ เกอทรูด รอสฮัลด์ เป็นงานในช่วงนี้ จนกระทั่งประสบปัญหาในครอบครัว ภรรยาวิกลจริต ลูกชายก็ป่วย พ่อเสียชีวิต เขาต้องออกเดินทางเพื่อเยียวยาตนเอง ระหว่างนั้นมักจะอยู่ในสวิสเซอร์แลนด์ จนกระทั่งได้สัญชาติสวิสฯ

แม้จะแต่งงานใหม่เป็นครั้งที่สองแต่ก็หย่ากันอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งการแต่งงานครั้งสุดท้ายกับนินอน โดลบิน ในปีค.ศ. ๑๙๓๑ จึงนับว่าเขาพบความสงบได้บ้าง สร้างบ้านอยู่ริมมอนตาโนลาและใช้ชีิวิตอยู่จนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต งานที่เขียนช่วงนี้เริ่มเกี่ยวข้องกับการค้นคว้าจิตวิญญาณในตัว ได้แก่ สิทธารถะ นาร์ซิสซัสกับโกลด์มุนท์ สเตปเปนวูล์ฟ และเกมลูกแก้ว เฮสเสยังเขียนบทกกวี และมีงานเขียนอื่นตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์อย่างสม่ำเสมอ และแม้จะได้ชื่อว่าล้มเหลวด้านการเรียนในวัยเด็ก เขาก็ได้รับปริญญาดุษฎีบัฒฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยเบิร์น ทั้งยังได้รับรางวัลด้านการเขียนมากมาย รวมทั้งรางวัลโนเบลในปี ค.ศ. ๑๙๔๖

เฮสเสไม่ได้เขียนอัตชีวประวัติไว้ แต่งานเขียนของเขาล้วนอยู่บนพื้นฐานของชีวิตเขาทั้งสิ้น และอาจจะกล่าวได้ว่า งานเขียนของเขาก็คืออัตชีวประวัติของเขานั้นเอง ชาวไทยรู้จักงานเขียนของเฮสเสมากกว่าชาวเยอรมันคนอื่น ด้วยฝีมือการแปลของ สดใส งานเขียนอย่างสิทธารถะ และเกมลูกแก้ว นั้น แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจอย่างลุ่มลึกต่อปรัชญาตะวันออก ทั้งอินเดียและจีน ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาจิตวิญญาณภายในของมนุษย์ แต่ความคิดของเขาก็ได้รับอิทธิพลจากเฮเกลนักปรัชญาเยอรมันมาไม่น้อย

เขาเป็นกวีที่หาญกล้าแสดงจุดยืนตรงข้ามกับเผด็จการร่วมสมัย และแม้จะเป็นผู้บูชาความเป็นปัจเจก ใช้ชีวิตสันโดษแยกจากสังคม แต่เขายังได้แสดงความรักที่มีต่อโลกผ่านงานเขียน งานเขียนของเขาได้รับการความนิยมเป็นอย่างสูง และได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ทั่วโลก



Create Date : 11 ธันวาคม 2549
Last Update : 11 ธันวาคม 2549 7:00:43 น. 4 comments
Counter : 1658 Pageviews.  

 
อยากอ่านเล่มนี้อยู่เหมือนกันค่ะ
แต่ท่าทางอ่านยาก ต้องรอให้มีสมาธิดีๆก่อน


โดย: BoOKend (BoOKend ) วันที่: 11 ธันวาคม 2549 เวลา:11:10:47 น.  

 
ยาวมากเลยท่าน .. สำหรับเวลาไม่ถึง 5 นาทีที่แมงป่องได้อ่านอยู่นี้ ..

ต้องรีบกลับบ้านก่อนนะท่าน ( เดี๋ยวตกรถ ..555 )

.. กลับไปอ่านต่อที่บ้านดีกว่า..

.......

อ่อ .. ท่านขอเคล็ดลับทำให้ใจว่างเปล่าเหรอท่าน

อืมมม ..

ท่านก็หยุดความคิดทุกอย่างจิท่าน .. หลับตาภาวนา พุทโธ ..ๆ .. ยุบ แล้ว พอง .. ยุบแล้วพอง ...

แบบเนี้ยอ่ะท่าน ..

น่าจะดีขึ้นนะ ..

..อิอิ ..


โดย: แมงป่องไร้พิษ วันที่: 11 ธันวาคม 2549 เวลา:17:49:02 น.  

 
ทั่นร้อย อ่านหนังสือเก่งจัง อยากอ่านหนังสือเก่ง ๆ แต่สมาธิสั้นมาก ๆ พยายามฝึกแต่ยังไม่สำเร็จ





กลับมาแล้ว ขอบคุณที่แวะไปเยี่ยมนะคะ



โดย: เสียงซึง วันที่: 12 ธันวาคม 2549 เวลา:6:45:06 น.  

 
ได้ยินหนังสือเล่มนี้มานานแล้วค่ะ

แต่ยังไม่เคยได้อ่านซะที แหะๆ


โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 12 ธันวาคม 2549 เวลา:15:17:17 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ร้อยวลี
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ฉันมองไม่เห็นอะไรเลย


[Add ร้อยวลี's blog to your web]