28 เมย 57 นกกาเหว่า & แคนา - Eudynamys scollopacea & Dolichandrone serrulata (DC.) Seem.
ภาพถ่ายมาลงบันทึกวันนี้ ภาพ นกกาเหว่าหรือ นกดุเหว่า เพิ่งเคยเห็นตัวเป็นๆชัดๆกันวันที่ถ่ายภาพนี่ล่ะ แคนาต้นใหญ่หน้าบ้าน ต้นไม้ที่รื่นรมย์ของนกหลายชนิด หมู่นี้นกเล็กๆหายไปหมดไม่ค่อยมาเยี่ยมเยียน เห็นแต่นกใหญ่ผลัดกันมาเกาะชมวิวบ้างจีบกันบ้างบริเวณต้นแคนา รวมทั้ง นกกาเหว่า 2 ตัวนี้ น่าจะเป็นขาประจำเพราะมักจะมาร้องกันตั้งแต่ยังไม่สว่าง บางวันร้องปลุกเสียงดังจนน่ารำคาญ แต่มักมองเห็นตัวไม่ถนัด วันนี้มองเห็นได้ชัดเพราะใบแคนาร่วงเสียมาก และ นกกาเหว่า 2 ตัวนี้ไม่กลัวคน ไม่หลบไปไหนได้แต่บังกิ่งไม้บ้างเล็กน้อย หรืออาจดุมากๆ เพื่อจะแสดงพาว์ร้องเสียงดังตลอดหลายชั่วโมง ให้ถ่ายภาพได้ตามสะดวก   ดอกแคนาบนต้นจะบานเวลากลางคืน ตอนเช้าดอกแคนามักร่วงลงมาจากต้นหมด วันนี้ยังหลงเหลือบ้างเล็กน้อย     ดอกแคนารับประทานได้ อาจทานสด ลวก ต้ม ทำแกง เวลาไปอยู่วัด มักจะมีอยู่ในผักแกล้มน้ำพริก ชื่อทางวิทยาศาสตร์ของนกกาเหว่า คือ Eudynamys scollopacea อยู่ในสกุล Genus Eudynamys มาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือ eu แปลว่า ดี สนธิกับคำว่า dyname ในเทพนิยาย Dunamene แปลว่า ผู้มีกำลังมาก ชื่อสกุลนี้ น่าจะมีความหมายว่า " นกที่มีอำนาจ หรือกำลังมาก " ชื่อ "กาเหว่า " ในภาษาไทยน่าจะมาจาก เสียงร้องเรียกคู่ของนกตัวผู้ที่ร้องในฤดูผสมพันธุ์ ราวเดือนมีนาคม จนถึง เดือนสิงหาคม ... นกกาเหว่า มีวิธีวิเศษในการขยายพันธุ์ โดยการไม่สร้างรัง และจะฟักไข่เอง แต่ให้นกอื่นกกไข่ และฟักไข่ให้ จึงต้องแอบเข้าไปวางไข่ในรังของอีกา ซึ่งทำรังวางไข่ในช่วงฤดูเดียวกัน ... เมื่อตัวเมียจะเข้าไปวางไข่ในรังอีกา นกตัวผู้จะต้องเข้าไปยั่วยุพ่อ-แม่นกกาให้ ละทิ้งรังและบินออกมาขับไล่ ...โอกาสนี้ นกกาเหว่าตัวเมีย จะลอบเข้าไปวางไข่โดยใช้เวลาในการวางไข่เพียง 2-3 นาที เป็นวิวัฒนาการในการลดโอกาสแพร่พันธุ์ของนกชนิดอื่นแลพกำจัดคู่แข่งในการแย่งอาหารไปในตัว พฤติกรรมนี้ได้ถูกนำมาแต่งเป็นเพลงเรื่องนกกาเหว่า... ไข่ของนกกาเหว่า จะฟักเป็นตัวเร็วกว่า นกกาด้วยกัน ด้วยเหตุนี้เมื่อลูกนกกาเหว่า ฟักออกจากไข่ไม่นานนัก ก็จะใช้ทุกส่วนของร่างกาย ดัน เบียด ผลัก จนไข่ของนกเจ้าของรังตกจากรังหมด เพื่อที่มันจะได้เป็นลูกนกเพียงตัวเดียว ...แต่บางครั้งเมื่อไม่สามารถดันไข่ใบอื่นให้ตกไปหมด ลูกนกกาเหว่าก็จะอยู่กับลูกนกกาได้ เพราะมีขนสีดำคล้ายลูกนกกาพ่อกา-แม่กาแยกไม่ออก จึงเลี้ยงรวมกันไป ... อย่างไรก็ตาม ลูกนกกาเหว่ามันแข็งแรงกว่าร้องได้เสียงดังกว่า จึงแย่งอาหารจากพ่อ-แม่กาได้มากกว่า ลูกนกอีกามักจะอดอาหารตาย หรือ อ่อนแอ จนถูกลูกนกกาเหว่าจิกตาย เหลือเพียงแต่ลูกนกกาเหว่า ... เมื่อลูกนกกาเหว่าเติบโตขึ้น จะเริ่มมีเสียงร้องผิดแปลก ก้าวร้าวไม่เหมือนเดิม พ่อ-แม่กา จึงเริ่มรู้ว่าไม่ใช่ลูกตัวจริง เป็นลูกนกกาเหว่าที่เร้นแฝงมาหาผลประโยชน์จึงต้องขับไล่ให้พ้นรัง ... ลูกนกกาเหว่าซึ่งถูกขับไล่ออกนอกรังในขณะที่ยังโตไม่เต็มที่ จึงมักถูกนกอื่นที่โตกว่ารังแก และ ขับไล่อยู่เสมอ นกกาเหว่าจึงมีสัญชาติญาณของการหลบซ่อนตัว และบินหลบลี้ไปในขณะเดียวกันก็ส่งเสียงร้องเรียกหาพวกเดียวกันเพื่อแสดงถึงการมีอำนาจ อาณาเขต และเรียกหาคู่ ... พฤติกรรมของนกกาเหว่า ที่ก้าวร้าว ชอบซุกซ่อน ฝากคนอื่นเลี้ยงเป็นสัญชาติญาณธรรมชาติ ซึ่งก็เป็นกฏของธรรมชาติอีกเช่นกันว่า เมื่อเวลาแปรเปลี่ยนไป สิ่งที่ซุกซ่อนร่อนเร้นเจ้านกกาเหว่า จะไปอยู่ที่ไหนสร้างรังใหม่ที่ใดก็ไม่สามารถทราบได้ แต่ที่แน่นอนก็คือ เจ้านกกาเหว่ามันกลับรังเดิมไม่ได้ แคนา ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dolichandrone serrulata (DC.) Seem. ชื่อสามัญ : - ชื่อท้องถิ่น : แคเก็ตถวา, แคขาว(เชียงใหม่), แคตุ้ย, แคแน, แคฝา, แฝอย, แคหยุยฮ่อ, แคแหนแห้(ภาคเหนือ), แคทราย(นครราชสีมา), แคนา(ภาคกลาง), แคป่า(เลยและลำปาง), แคพูฮ่อ(ลำปาง), แคยาว, แคอาว(ปราจีนบุรี) แคนา เป็นไม้ผลัดใบ สูง 5-20 เมตร พบได้ตามไร่นา ตามชายทะเล เรือนยอดเป็นพุ่มทึบรูปไข่ เปลือกต้นสีน้ำตาลอมเทา ผิวเรียบ ในประกอบแบบขนนก ติดเป็นคู่ตรงข้ามกัน ดอกสีขาว มีกลิ่นหอมอ่อนในเวลากลางคืน ออกดอกเป็นช่อ ช่อหนึ่งๆ มีดอกตั้งแต่ 2-8 ดอก มี 5 กลีบ ขอบขยุกขยิก ก้านดอกยาว ผล เป็นฝักกลมยาว มีช่อละ 3-4 ฝัก ยาว 12-40 ซม. แคนา นิยมนำดอกและยอดอ่อน มาลวกจิ้มน้ำพริก รสหวานเย็น แก้ไข้ ใบ ตำพอกบาดแผล ต้นเอาน้ำบ้วนปาก รักษาแผลในปาก เปลือก รสหวานเย็น แก้ท้องอืดเพ้อ ราก แก้ไข้ ขับเสมหะและช่วยบำรุงโลหิต
Create Date : 28 เมษายน 2557 |
|
2 comments |
Last Update : 9 พฤษภาคม 2557 18:44:57 น. |
Counter : 3767 Pageviews. |
|
 |
|