Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2557
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
13 พฤษภาคม 2557
 
All Blogs
 
13 พค 57 วันวิสาขบูชา

 


ขออนุญาตคัดลอกเสียงบางตอน สนทนาธรรมค่ำวันเสาร์ 12 เมษายน 2557 วัดนาป่าพง

พระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตถิผโล

อธิบาย ปริวัฏฏ์ 3 อาการ 12 ตามพระสูตร

 

 

                    ดอกไม้จากในสวนเช้าวันนี้ตัดมาใส่แจกันไหว้พระ มหาหงส์สีส้มกำลังเริ่มแย้มบาน ช่อดอกกุหลาบแดง red fountain ให้ดอกหลายช่อเลือกตัดมาหนึ่งช่อ พลับพลึงจิ๋วกำลังให้ดอกหลายช่อ พุดซ้อนชอบแดดชอบน้ำให้ดอกเป็นระยะตลอดปีโดยเฉพาะถ้ามีฝน ช่อกลีบเลี้ยงพวงครามออสเตรเลียมีติดต้นหลายช่อเพราะทะยอยให้ดอกมาเรื่อยๆ บลูฮาวายไม้ดอกที่ดูกี่ครั้งก็คล้ายต้นโหระพาปักชำเมื่อไหร่ที่ไหนขึ้นตลอดให้ดอกตลอดปีและอมรเบิกฟ้าดอกซ้อน ให้ดอกสวยงามตลอดปี   แม้จะเป็นโอกาสพิเศษจริงๆที่ดอกไม้หลายชนิดถูกตัดจากต้นเพื่อเป็นพุทธบูชา  แต่ก็ยังไม่สำคัญมากเท่าการปฏิบัติบูชาที่ควรกระทำในวันนี้

 

ภาพมุมบนอีกสักภาพ

                   วันวิสาขบูชา วันพระใหญ่เป็นวันที่มีความสำคัญมากเป็นวันต้นกำเนิดของพุทธศาสนา เพราะเป็นวันสำคัญขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้หาได้ยากยิ่งในโลก ราชการให้หยุดหนึ่งวันเพื่อให้มีเวลาว่างปฏิบัติศาสนกิจ บูชาองค์คุณของพระศาสดาด้วยการปฏิบัติบูชา ได้ทบทวนคำสอนที่สำคัญของพระพุทธองค์ ประเมินการปฏิบัติของตนเอง มรรค 8 ปริวัฏฏ์ 3 อาการ 12 เราได้ทำครบถ้วนดีขาดตกบกพร่องมากน้อยแค่ไหน..ถ้าแม้เกาะชายจีวรของครูบาอาจารย์ หรืออยู่นานหลายราตรี แต่ไม่ประพฤติปฏิบัติธรรม ก็ไร้ประโยชน์ สู้ผู้อยู่เพียงราตรีเดียวไม่ได้

 "ปัจจุปปันนัญจะ โย ธัมมัง ตัตถะ ตัตถะ วิปัสสะติ,

อะสังหิรัง อะสังกุปปัง ตัง วิทธา มะนุพ๎รูหะเย

ผู้ใดเห็นธรรมอันเกิดขึ้นเฉพาะหน้าที่นั้นๆ อย่างแจ่มแจ้ง,

ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน, เขาควรพอกพูนอาการเช่นนั้นไว้ 

อัชเชวะ กิจจะมาตัปปัง โก ชัญญา มะระณัง สุเว

ความเพียรเป็นกิจที่ต้องทำวันนี้, ใครจะรู้ความตายแม้พรุ่งนี้

นะ หิ โน สังคะรันเตนะ มะหาเสเนนะ มัจจุนา

เพราะการผัดเพี้ยนต่อมัจจุราชซึ่งมีเสนามากย่อมไม่มีสำหรับเรา

เอวัง วิหาริมาตาปิง อะโหรัตตะมะตันทิตัง,

ตัง เว ภัทเทกะรัตโตติ สันโต อาจิกขะเต มุนิ

มุนีผู้สงบย่อมกล่าวเรียกผู้มีความเพียรอยู่เช่นนั้น,

ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันกลางคืนว่า, "ผู้เป็นอยู่แม้เพียงราตรีเดียว ก็น่าชม"

                   พุทธศาสนิกชนหลายท่านเข้าวัด ทำบุญ ทำทาน แต่กลับไม่ได้สนใจคำสั่งสอนที่สำคัญของพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ใช้เวลาตลอดพระชนม์ชีพสอนใจความสำคัญสิ่งใดเป็นมรดกแก่มนุษยชาติ  ในวันนี้จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้ทบทวนและทำความเข้าใจคำสอนที่พระพุทธองค์เน้นย้ำให้แก่พุทธศาสนิกชน ซึ่งเป็นสิ่งเร่งด่วนที่ต้องรู้ แม้ไฟกำลังไหม้อยู่บนศีรษะ  การรู้อริยสัจยังเป็นสิ่งเร่งด่วนที่ควรกระทำยิ่งกว่าการดับไฟบนศีรษะ

"ภิกษุ ท. ! เมื่อไฟลุกโพลงๆอยู่ที่เสื้อผ้าก็ดีที่ศีรษะก็ดี บุคคลนั้น
ควรจะทำอย่างไร ?

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เมื่อไฟลุกโพลง ๆ อยู่ที่เสื้อผ้าก็ดีที่ศีรษะก็ดี, เพื่อจะ
ดับเสียซึ่งไฟ ที่เสื้อผ้าก็ดี ที่ศีรษะก็ดี สิ่งที่บุคคลนั้นพึงกระทำโดยยิ่งก็คือ ฉันทะ วายามะ
อุสสาหะ อุสโสฬ๎หี อัปปฏิวานี สติ และสัมปชัญญะ (เพื่อจะดับไฟนั้นเสีย).”

ภิกษุ ท. ! (แม้กระนั้นก็ดี) วิญญูชนจะไม่ใส่ใจ จะไม่เอาใจใส่กับ
เสื้อผ้าก็ดีศีรษะก็ดีที่ไฟกำลังลุกโพลงอยู่ ; แต่จะรู้สึกว่า สิ่งที่ควรกระทำโดยยิ่ง
ก็คือฉันทะ วายามะ อุสสาหะ อุสโสฬ๎หี (ขะมักเขม้น) อัปปฏิวานี (ไม่ถอยหลัง)
สติ และสัมปชัญญะ เพื่อรู้เฉพาะตามเป็นจริง ซึ่งอริยสัจทั้งสี่ที่ตนยังไม่รู้
เฉพาะ.

อริยสัจสี่ อย่างไรเล่า ? สี่อย่างคือ อริยสัจคือทุกข์ อริยสัจคือเหตุให้
เกิดขึ้นแห่งทุกข์ อริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ อริยสัจคือทางดำเนินให้
ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.

ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอพึงประกอบโยคกรรมอัน
เป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า “ทุกข์เป็นอย่างนี้, เหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้,
ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่ง
ทุกข์ เป็นอย่างนี้” ดังนี้.

- มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๕๐/๑๗๑๗.

" อริยสัจ 4"

ทุกข์

สมุทัย

นิโรธ

มรรค

การจบกิจแห่งอริยสัจ

กำหนดด้วยความสมบูรณ์แห่ง ญาณสาม

. ภิกษุ ท. ! ดวงตา ญาณ ปัญญา วิชชา และแสงสว่างของเรา

ได้เกิดขึ้นแล้ว ในธรรมที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาแต่ก่อน ว่า

. นี้ เป็นความจริงอันประสริฐคือ ทุกข์ (นี้ ท่านเรียกกันว่า สัจจญาณ), ว่า

๒. ความจริงอันประเสริฐคือ ทุกข์นี้ ควรกำหนดรอบรู้ (นี้ ท่านเรียกกันว่า กิจจญาณ), ว่า

๓. ความจริงอันประเสริฐคือ ทุกข์นี้ เราได้กำหนดรอบรู้แล้ว (นี้ ท่านเรียกกันมา กตญาณ).

. ภิกษุ ท. ! ดวงตา ฯลฯ แสงสว่างของเรา ได้เกิดขึ้นแล้วในธรรมที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาแต่ก่อน ว่า

. นี้ เป็นความจริงอันประเสริฐคือ เหตุให้เกิดทุกข์ (นี้ ท่านเรียกกันว่า สัจจญาณ), ว่า

๒. ความจริงอันประเสริฐคือ เหตุให้เกิดทุกข์นี้ ควรละเสีย (นี้ ท่านเรียกกันว่า กิจจญาณ), ว่า

๓. ความจริงอันประเสริฐคือ เหตุให้เกิดทุกข์นี้เราได้ละเสียแล้ว(นี้ ท่านเรียกกันว่า กตญาณ).

. ภิกษุ ท. ! ดวงตา ฯลฯ แสงสว่างของเรา ได้เกิดขึ้นแล้ว ใน

ธรรมที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาแต่ก่อน ว่า

. นี้ เป็นความจริงอันประเสริฐคือ ความดับไม่เหลือของทุกข์ (นี้ ท่านเรียกกันว่า สัจจญาณ), ว่า

๒. ความจริงอันประเสริฐคือ ความดับไม่เหลือของทุกข์นี้ ควรทำให้แจ้ง (นี้ ท่านเรียกกันว่ากิจจญาณ), ว่า

๓. ความจริงอันประเสริฐคือ ความดับไม่เหลือของทุกข์นี้ เราได้ ทำให้แจ้งแล้ว (นี้ ท่านเรียกกันว่า กตญาณ).

. ภิกษุ ท. ! ดวงตา ฯลฯ แสงสว่างของเรา ได้เกิดขึ้นแล้วใน

ธรรมที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาแต่ก่อน ว่า

. นี้ เป็นความจริงอันประเสริฐคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์ (นี้ ท่านเรียกกันว่า สัจจญาณ), ว่า

๒.ความจริงอันประเสริฐคือ ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์นี้ ควรทำให้เจริญ (นี้ท่านเรียกกันว่า กิจจญาณ), ว่า

๓. ความจริงอันประเสริฐคือ ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์นี้ เราได้ ทำให้เจริญแล้ว (นี้ ท่านเรียกกันว่า กตญาณ).

ภิกษุ ท. ! ปัญญาเครื่องรู้เห็นตามที่เป็นจริงอันมีรอบ (ปริวัฏฏ์)สาม มีอาการสิบสอง เช่นนั้น ในอริยสัจทั้งสี่เหล่านี้ ยังไม่เป็นของบริสุทธิ์หมดจดด้วยดีแก่เราอยู่เพียงใด; ตลอดกาลเพียงนั้น เรายังไม่ปฏิญญาว่าได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว ซึ่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์.

ภิกษุ ท. ! เมื่อใดปัญญาเครื่องรู้เห็นตามที่เป็นจริง อัน มีรอบสามมีอาการสิบสอบ เช่นนั้น ในอริยสัจทั้งสี่เหล่านี้ เป็นของบริสุทธิ์หมดจดด้วยดีแก่เรา; เมื่อนั้น เราปฏิญญาว่าได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้วซึ่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้ง สมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์

ก็แหละ ญาณและทัสสนะได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ว่า “ความหลุดพ้นของเราไม่กลับกำเริบ, ความเกิดนี้เป็นความเกิดครั้งสุดท้าย, บัดนี้ความเกิดอีกอย่างไม่มี” ดังนี้.

อริยมรรค มีองค์ ๘

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ อริยมรรค คือหนทางเป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ? คือ หนทางอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนี้เอง องค์แปด คือ

ความเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ)

ความดำริชอบ (สัมมาสังกัปปะ)

วาจาชอบ (สัมมาวาจา)

การงานชอบ (สัมมากัมมันตะ)

อาชีวะชอบ (สัมมาอาชีวะ)

ความเพียรชอบ (สัมมาวายามะ)

ความระลึกชอบ (สัมมาสติ)

ความตั้งใจมั่นชอบ (สัมมาสมาธิ)

ภิกษุทั้งหลาย ! ความเห็นชอบ เป็นอย่างไร ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ความ รู้ในทุกข์ ความรู้ในเหตุให้เกิดทุกข์ ความรู้ในความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ความรู้ในหนทางเป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ อันใด, นี้เราเรียกว่า ความเห็นชอบ.

ภิกษุทั้งหลาย ! ความดำริชอบ เป็นอย่างไร ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในการไม่พยาบาท ความดำริในการไม่เบียดเบียน, นี้เราเรียกว่า ความดำริชอบ.

ภิกษุทั้งหลาย ! วาจาชอบ เป็นอย่างไร ?

ภิกษุทั้งหลาย ! การเว้นจากการพูดเท็จ การเว้นจากการพูดยุให้แตกกัน การเว้นจากการพูดหยาบ การเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ, นี้เราเรียกว่า วาจาชอบ.

ภิกษุทั้งหลาย ! การงานชอบ เป็นอย่างไร ?

ภิกษุทั้งหลาย ! การเว้นจากการฆ่าสัตว์ การเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ การเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย, นี้เราเรียกว่า การงานชอบ.

ภิกษุทั้งหลาย ! อาชีวะชอบ เป็นอย่างไร ?

ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกในกรณีนี้ ละการหาเลี้ยงชีพที่ผิดเสีย สำเร็จความเป็นอยู่ด้วยการหาเลี้ยงชีพที่ชอบ, นี้เราเรียกว่า อาชีวะชอบ.

ภิกษุทั้งหลาย ! ความเพียรชอบ เป็นอย่างไร ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุ ในกรณีนี้ ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อความไม่บังเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรมอันบาปทั้งหลาย ที่ยังไม่ได้บังเกิด; ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อการละเสียซึ่งอกุศลธรรมอันเป็นบาปที่บังเกิดขึ้นแล้ว; ย่อม ปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อการบังเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย ที่ยังไม่ได้บังเกิด; ย่อม ปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อความยั่งยืน ความไม่เลอะเลือนความงอกงามยิ่งขึ้น ความไพบูลย์ ความเจริญ ความเต็มรอบ แห่งกุศลธรรมทั้งหลาย ที่บังเกิดขึ้นแล้ว, นี้เราเรียกว่า ความเพียรชอบ.

ภิกษุทั้งหลาย ! ความระลึกชอบ เป็นอย่างไร ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้มีปกติ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ, มีความเพียรเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม (สัมปชัญญะ) มีสติ นำความพอใจ และความไม่พอใจในโลกออกเสียได้; เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ, มีความเพียรเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสตินำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้; เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ, มีความเพียรเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้; เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ, มีความเพียรเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้, นี้เราเรียกว่า ความระลึกชอบ.

ภิกษุทั้งหลาย ! ความตั้งใจมั่นชอบ เป็นอย่างไร ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุ ในกรณีนี้ สงัดแล้วจากกามทั้งหลาย สงัดแล้วจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึงฌานที่หนึ่ง อันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่ เพราะวิตกวิจารรำงับลง, เธอเข้าถึงฌานที่สอง อันเป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข อันเกิดแต่สมาธิแล้วแลอยู่ เพราะปีติจางหายไป, เธอเป็นผู้เพ่งเฉยอยู่ได้ มีสติ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม และได้เสวยสุขด้วยนามกาย ย่อมเข้าถึงฌานที่สาม อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย กล่าวสรรเสริญผู้ได้บรรลุ ว่า “เป็นผู้เฉยอยู่ได้ มีสติ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม” แล้ว แลอยู่ เพราะละสุขและทุกข์เสียได้ และเพราะความดับหายไปแห่งโสมนัสและโทมนัส ในกาลก่อน เธอย่อมเข้าถึงฌานที่สี่ อันไม่ทุกข์และไม่สุข มีแต่สติอันบริสุทธิ์เพราะ อุเบกขาแล้วแลอยู่, นี้เราเรียกว่า สัมมาสมาธิ.

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เราเรียกว่า อริยมรรค คือ หนทางเป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.

ปฐมธรรม หน้า ๒๙๕

(ภาษาไทย) มหา. ที. ๑๐/๒๓๑/๒๙๙

 

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค

หน้าที่ ๒๓๑/๒๖๑ ข้อที่ ๒๙๙

รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมม ตัณหา เป็นที่ รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่นี้ ฯ รูปวิตก สัททวิตก คันธวิตก รสวิตก โผฏฐัพพวิตก ธัมมวิตก เป็นที่รักที่เจริญ ใจในโลก ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่นี้ ฯ รูปวิจาร สัททวิจาร คันธวิจาร รสวิจาร โผฏฐัพพวิจาร ธัมมวิจาร เป็นที่รักที่เจริญ ใจในโลก ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่นี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ ฯ [๒๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจเป็นไฉน นี้คือมรรค มีองค์ ๘ อันประเสริฐ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมา อาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ก็สัมมาทิฏฐิเป็นไฉน ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในทุกขสมุทัย ความรู้ใน ทุกขนิโรธ ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา อันนี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ฯ สัมมาสังกัปปะ เป็นไฉน ความดำริในการออกจากกาม ความดำริใน ความไม่ พยาบาท ความดำริในอันไม่เบียดเบียน อันนี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ ฯ สัมมาวาจา เป็นไฉน การงดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากการพูดส่อเสียด งดเว้นจากการพูดคำหยาบ งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ อันนี้เรียกว่า สัมมาวาจา ฯ สัมมากัมมันตะ เป็นไฉน การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากการถือ เอาสิ่งของ ที่เขามิได้ให้ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม อันนี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ ฯ สัมมาอาชีวะ เป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ละการเลี้ยงชีพที่ผิดเสีย สำเร็จ การเลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงชีพที่ชอบ อันนี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ ฯ สัมมาวายามะ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เกิดฉันทะพยายาม ปรารภความ เพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อมิให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่ เกิดบังเกิดขึ้น เพื่อละ อกุศลธรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้กุศลธรรมที่ยัง ไม่เกิดบังเกิดขึ้น เพื่อความตั้งอยู่ ไม่เลือนหาย เจริญยิ่ง ไพบูลย์ มีขึ้น เต็มเปี่ยม แห่งกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นแล้ว อันนี้เรียกว่า สัมมาวายามะ ฯ

 

 

- มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๒๙-๕๓๐/๑๖๖๖-๑๖๗๐.




Create Date : 13 พฤษภาคม 2557
Last Update : 13 พฤษภาคม 2557 21:59:39 น. 2 comments
Counter : 1753 Pageviews.

 
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

ญาณ 3 (ความหยั่งรู้, ปรีชาหยั่งรู้ — insight; knowledge)

1. สัจจญาณ (หยั่งรู้สัจจะ คือ ความหยั่งรู้อริยสัจ 4 แต่ละอย่างตามที่เป็นๆ ว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา — knowledge of the Truths as they are)
2. กิจจญาณ (หยั่งรู้กิจ คือ ความหยั่งรู้กิจอันจะต้องทำในอริยสัจ 4 แต่ละอย่างว่า ทุกข์ควรกำหนดรู้ ทุกขสมุทัยควรละเสีย ทุกขนิโรธควรทำให้แจัง ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาควรเจริญ — knowledge of the functions with regard to the respective Four Noble Truths)
3. กตญาณ (หยั่งรู้การอันทำแล้ว คือ ความหยั่งรู้ว่ากิจอันจะต้องทำในอริยสัจ 4 แต่ละอย่างนั้นได้ทำสำเร็จแล้ว — knowledge of what has been done with regard to the respective Four Noble Truths)

ญาณ 3 ในหมวดนี้ เนื่องด้วยอริยสัจ 4 โดยเฉพาะ เรียกชื่อเต็มตามที่มาว่า ญาณทัสสนะ อันมีปริวัฏฏ์ 3 (ญาณทัสสนะมีรอบ 3 หรือ ความหยั่งรู้ หยั่งเห็นครบ 3 รอบ -- thrice-revolved knowledge and insight) หรือ ปริวัฏฏ์ 3 แห่งญาณทัสสนะ (the three aspects of intuitive knowledge regarding the Four Noble Truths) ปริวัฏฏ์ หรือวนรอบ 3 นี้ เป็นไปในอริยสัจทั้ง 4 รวมเป็น 12 ญาณทัสสนะนั้น จึงได้ชื่อว่ามีอาการ 12 (twelvefold intuitive insight หรือ knowing and seeing under twelve modes)


โดย: 4*3=12 IP: 202.28.179.5 วันที่: 15 พฤษภาคม 2557 เวลา:15:18:40 น.  

 
ขอบคุณที่ให้ความคิดเห็น
4*3=12 ค่ะ


โดย: mcayenne94 วันที่: 15 พฤษภาคม 2557 เวลา:22:12:14 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

mcayenne94
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 36 คน [?]




Bangkok

Kyoto

Sydney

Mcayenne94's Diary มีวัตถุประสงค์เพื่อบันทึกเรื่องราวของเจ้าของบ้านและสิ่งแวดล้อม ไม่มีวัตถุประสงค์ เพื่อการ จัดจำหน่าย ต้นไม้ดอกไม้ หรือสิ่งใด อนุญาตให้นำภาพถ่าย พร้อมชื่อMcayenneผู้ถ่ายภาพไปใช้ประโยชน์ได้ และสงวนสิทธิ์ไม่อนุญาตให้นำภาพถ่าย Mcayenne ไปใช้ โดยการดัดแปลงตัดต่อหรือลบชื่อภายในภาพ
Friends' blogs
[Add mcayenne94's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.