ชนะคนอื่นเป็นร้อย ยังไม่ยากเท่าชนะตนแค่คนเดียว...
การพัฒนาการทางจิตใจ

ปราโมทย์ สุคนิชย์

    จิตใจมนุษย์มีความซับซ้อนและมีการเปลี่ยนแปลงตามวัยไปเกือบตลอดเวลา เนื่องจากปัจจัยทางพันธุกรรม สติปัญญา สภาพการเลี้ยงดูและสังคม ทั้งหมดมามีปฏิสัมพันธ์ (interaction) ต่อกัน มีผู้พยายามศึกษาพัฒนาการทางจิตใจในด้านต่างๆเป็นทฤษฎีมากมาย โดยมักแบ่งเป็นช่วงอายุกับพัฒนาการทางจิตใจด้านที่เด่นขึ้นในช่วงอายุดังกล่าว
    พัฒนาการในแต่ละด้านที่ถูกกล่าวไว้ในวัยต่างๆนั้น อาจมิได้เริ่มหรือจบลงแต่ที่ช่วงอายุนั้นๆเท่านั้น หากแต่การได้มีพัฒนาการในด้านดังกล่าวตามวัยที่เหมาะสม จะมีผลให้พัฒนาการด้านอื่นๆ ในวัยต่อๆ มาพัฒนาไปได้ดียิ่งขึ้น เช่น หากเด็กในขวบปีแรกมีความไว้วางใจและผูกพัน (trust and attachment) กับคนใกล้ชิดดี เมื่อเข้าขวบปีที่ 3 ก็มีโอกาสรับเรียนรู้และสร้างมโนธรรม (superego) ได้ดียิ่งขึ้น

พัฒนาการทางจิตใจของมนุษย์ เป็นวิชาพื้นฐานหนึ่งที่พึงศึกษาและทำความเข้าใจ เนื่องจาก
    1) การเข้าใจพัฒนาการทางจิตใจตามวัยต่างๆ ทำให้สามารถซักถามประวัติการเจ็บป่วย ตรวจ ให้การรักษาและอธิบายให้ผู้ป่วยวัยต่างๆ เข้าใจได้อย่างเหมาะสม เช่น ทราบว่าไม่ควรแยกเด็กอายุ 9 เดือนมาจากแม่เพื่อทำการตรวจร่างกาย เนื่องจากมีความรู้ว่าเด็กวัยนี้มีความกังวลต่อการพลัดพราก (separation anxiety ) สูง เป็นต้น
    2) การได้เรียนการแสดงออกของพัฒนาการที่ผิดปกติซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย เช่น คนสูงอายุหลังเกษียณอาจปรับตัวไม่ได้ มีอารมณ์ซึมเศร้าและมีปัญหาสุขภาพทางกาย นอนไม่หลับ เป็นต้น
    3) สามารถให้ความรู้และคำแนะนำทางพัฒนาการโดยตรงแก่ผู้ป่วยและญาติได้อย่างถูกต้อง
    4) อาจนำความรู้ไปประยุกต์ในแง่การจัดโครงการป้องกันความเบี่ยงเบนทางพัฒนาการแก่ชุมชนได้

    ในบทนี้ จะบรรยายพัฒนาการทางจิตใจตั้งแต่เกิดจนวัยชรา โดยผสมผสานทฤษฎีต่างๆ เข้ารวมกัน แต่จะเน้นที่วัยต้นๆ เนื่องจากมีความสำคัญต่อการเกิดบุคลิกภาพในวัยต่อๆมา และมีความซับซ้อนกว่าวัยในช่วงท้ายๆ
    มีศัพท์บางคำที่มักถูกใช้ เมื่อกล่าวถึงพัฒนาการทางจิตใจ กับ การเกิดพยาธิสภาพทางจิตใจและบุคลิกภาพ ได้แก่
     - Fixation หมายถึง พยาธิสภาพทางจิตใจที่เกิดจากการหยุดชะงักการพัฒนาทางจิตใจที่ระดับอายุหนึ่ง เช่น คนที่ต้องการพึ่งพิง คาดหวังคนอื่น อาจเรียกว่า มี fixation ที่ช่วง infancy ( Freud ‘s Oral stage ) เป็นต้น
     - Regression หมายถึง พยาธิสภาพทางจิตใจที่แสดงออกเมื่อบุคคลนั้นเกิดความกังวล ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยวิธีที่เหมาะสมกับช่วงวัยที่เป็นอยู่จริง แต่ถอยกลับมาใช้วิธีแก้ไขความกังวลในระดับพัฒนาการที่ช่วงต้นกว่า เช่น วัยรุ่นที่ไม่อาจแยกเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่ แทนที่จะพยายามตามแบบวัยรุ่นทั่วไป กลับถอยมายึดระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัดเหมือนอายุ 3-6 ปี ซึ่งถือว่า ปรับตัวไม่เหมาะสม

ขวบปีแรก ( Infancy Stage )
    ปัจจัยทางพันธุกรรม อารมณ์พื้นฐาน ( basic temperament ) ที่เด็กมีความแตกต่างกันแต่เกิดและ ”เข้ากันได้” กับอารมณ์พื้นฐานของมารดาบิดา การทำงานของ reflex ต่างๆที่มีเพื่อให้ความต้องการทางสรีระ ( physiologic needs ) ได้รับการตอบสนองเพื่อความอยู่รอด เช่น การดูดนม ( sucking reflex ) หรือ rooting reflex คือ ปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาการทางจิตใจช่วงต้นของขวบปีแรกของเด็ก
การมีสิ่งกระตุ้น
    ในช่วงขวบปีแรกๆ ของเด็กนั้น แนวคิดเรื่อง sensitive หรือ critical period มีความสำคัญ กล่าวคือ ในระยะนี้มีช่วงเวลาจำเพาะที่อาจกระตุ้นให้พัฒนาการหนึ่งๆ เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี หากเลยช่วงเวลาจำเพาะนี้ไปแล้ว ก็เป็นไปได้ยากที่จะกระตุ้นให้พัฒนาการนั้นเกิดขึ้นได้อีก โดยทั่วไปเด็กต้องการการกระตุ้น 4 ลักษณะคือ การกระตุ้นประสาทรับรู้และการเคลื่อนไหว การกระตุ้นเชาวน์ปัญญา การกระตุ้นความรู้สึกผูกพัน และการกระตุ้นการเข้าสังคม ทั้งหมดนี้ ควรคำนึงอย่างมากในการจัดสภาพหอผู้ป่วยเด็กเล็กที่ต้องนอนอยู่โรงพยาบาลนานๆ สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า และกระบวนการรับบุตรบุญธรรม
บุคลิกภาพเบื้องต้น
    ในช่วง 2-3 เดือนแรก เด็กจะแยกตัวเอง (self) จากสิ่งแวดล้อม (object) ไม่ได้ แม้แต่ ดึงนิ้วคนอื่นไปดูด ซึ่งทำให้เด็กไม่อาจมี reality testing ได้ เนื่องจาก reality testing ก็คือ ความสามารถในการแยกแยะได้ว่า สิ่งที่รับรู้ คิด หรือได้ยินอยู่นี้ เป็นสิ่งจริง หรือเกิดมาจากในใจของตนเอง
    เมื่อเด็กอายุ 6 เดือน เด็กจะเกิดความรู้สึกกลัวคนแปลกหน้า (stranger anxiety)เนื่องจากมี ” ความจำ ” ต่อใบหน้าแม่แล้ว และเริ่มสร้างภาพพจน์ของสิ่งที่หายไปไว้ในใจได้ (object constancy) เช่น เด็กเล็กๆ ถ้าวัตถุถูกซ่อนจากสายตา เด็กก็ไม่สนใจหาอีก เมื่อเด็กมีความจำเ ด็กจึงเริ่มมองหาสิ่งที่หายไป เช่น เล่น ” จ๊ะเอ๋ ” ได้
ความคิด
    ลักษณะความคิดของเด็กแรกเกิดจะไม่มีลำดับหรือเป็นเรื่องราว ปฏิกิริยาตอบสนองเกิดตามแต่ว่าได้รับกระตุ้นอย่างไร (reflex) จนกระทั่งอายุ 8 เดือน เด็กจะเริ่มเก็บสิ่งต่างที่ได้เห็นหรือเรียนรู้มาเป็น ” ประสบการณ์ ” และเด็กจะเลือกตอบสนองกับสิ่งกระตุ้นที่คล้ายกับประสบการณ์ของตนเท่านั้น เช่น ดูดนิ้ว เหมือนเคยดูดนมเพื่อให้ได้ความพอใจคล้ายกัน
ลักษณะความผิดปกติของพัฒนาการในวัยนี้ มักเป็นผลจากคุณภาพในการเลี้ยงดู
    - หากให้การเลี้ยงดูประคบประหงมเกินไป เด็กจะไม่รู้จักแยกตนเองจากสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ มักจะมีลักษณะต้องการการพึ่งพิงผู้อื่นตลอดเวลา (dependent) คาดหวังจากคนอื่นสูง
    - หากถูกทอดทิ้ง จะเกิดผลคล้ายกับที่กล่าวแล้วในย่อหน้าแรกของวัยนี้

ช่วงอายุ 1 ถึง 3 ปี ( Toddler Stage )
    เด็กวัยนี้มีพัฒนาการการใช้กล้ามเนื้อดีขึ้นมาก มิใช่เป็นเพียง reflex ง่ายๆอีกแล้ว เช่น การเดินได้ ป้อนอาหารให้ตัวเองเป็น มีอิสระจากผู้เลี้ยงขึ้น สามารถควบคุม sphincter ขับถ่าย รวมทั้งมีความเข้าใจและใช้ภาษาพูดดีขึ้นอย่างมาก ซึ่งเด็กจะอาศัยภาษาเป็นสื่อในการเรียนรู้และสร้างกระบวนการคิดที่มีประสิทธิภาพ
การเล่นและจินตนาการ
    ในวัยนี้ อาศัยจินตนาการและการสมมุติเป็นหลัก มักเล่นซ้ำๆเพื่อฝึกทักษะให้ตนเอง และเล่นคนเดียว สิ่งที่มักถูกกล่าวถึงก็คือ เด็กมัก”ติด”สิ่งของบางชิ้นอย่างมาก ( transitional object ) ต้องถือไปมาเพื่อความอุ่นใจ คล้ายทดแทนความรู้สึกที่ได้จากมารดา ซึ่งไม่ถือเป็นความผิดปกติแต่อย่างไร
การแยกเป็นตัวเอง ( Separation and Individuation )
    ดังที่ได้กล่าวถึง object constancy มาแล้ว ว่าเด็กจะแยกตัวจากผู้เลี้ยงห่างและนานขึ้น แรกๆ เด็กจะห่างสักพัก แล้วหันกลับมามองหรือกลับมาคลุกคลี ก่อนจะกลับไปอยู่ด้วยตัวเองใหม่ เด็กจะสามารถห่างคนใกล้ชิดได้นานขึ้นเรื่อยๆ จนพร้อมที่จะไปโรงเรียน เมื่ออายุ 3 หรือ 4 ปี ก่อนที่เด็กยังจะอยู่คนเดียวได้เต็มที่นี้ เด็กจะกลัวต่อการพลัดพรากอย่างมาก ซึ่งควรคำนึงถึงเมื่อจะรับผู้ป่วยเด็กไว้ในโรงพยาบาลโดยไม่ให้ผู้ที่เด็กคุ้นเคยเฝ้า
    เมื่อถึงตอนปลายขวบปีที่ 3 เด็กจะรู้จักเพศของตนเอง โดยรับอิทธิพลจากการเลี้ยงดูร่วมกับลักษณะทางกาย และจะเปลี่ยนแปลงได้ยากเมื่อพ้นวัยนี้ไป ทั้งที่เด็กยังไม่เข้าใจบทบาทของเพศชัดเจนจนกว่าจะเข้าวัยรุ่น
ความรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง ( Sense of Autonomy )
    จากการที่เด็กมีพัฒนาการในด้านการควบคุมกล้ามเนื้อดีขึ้น บิดามารดาเองจะเริ่มควบคุมระเบียบวินัยกับเด็กมากขึ้นไปด้วย ที่เห็นได้ชัดคือ การควบคุมการขับถ่าย (Freud จึงเรียกพัฒนาการในวัยนี้ว่า anal stage) หากระบบประสาทของเด็กพัฒนาพอที่จะคุม sphincter ได้ตามที่บิดามารดาคาดหวัง เด็กก็จะรู้สึกว่าตนเองมีความสามารถ ทำได้ตามวินัย และบิดามารดาพอใจ แต่หากเด็กทำไม่ได้ดี เด็กอาจรู้สึกอับอาย ไม่แน่ใจในตนเอง (shame and doubt) บิดามารดาเองก็อาจเกิดเจตคติที่ไม่ดีกับเด็ก โดยทั่วไป ความสามารถในการควบคุมการขับถ่ายจะเจริญใกล้เคียงกับเมื่อเด็กเดินได้คล่อง คือ อายุ 15 ถึง 30 เดือน
    เด็กที่ถูกบังคับมากเกินไป จนเด็กที่ยังไม่พร้อมเกิดความกลัว แต่ก็ต้องการทำตามวินัยคำสอนของพ่อแม่ เมื่อเติบโต อาจมีบุคลิกภาพแบบเคร่งครัด จริงจัง จนเกินเหตุ (obsessive – compulsive personality trait )
    อีกลักษณะหนึ่งที่มักคือ การแสดงความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ซึ่งบิดามารดามักจะเรียกว่า “ดื้อ” เนื่องจากเด็กมักจะพูดคำว่า “ไม่” และไม่ทำตามที่ผู้ใหญ่บอกอย่างง่ายดายเหมือนก่อน ( negativism )
ลักษณะความคิด
    Piaget พบว่า เด็กในวัยนี้สามารถใช้ความคิด คาดลองผิดลองถูกล่วงหน้า (mental trial and error) แทนที่จะต้องทดลองทำจริงๆ (action trial and error) แบบง่ายๆได้ เช่น ไม่ต้องทดลองโยนของทุกอย่างลงพื้นเพื่อดูผล แต่คิดคาดได้ว่าผลจะเป็นอย่างไร และเมื่อเด็กพูดได้ จะถามคำถามต่างๆเพื่อช่วยในการคิด แทนที่ต้องทำจริง
    อย่างไรก็ตาม ลักษณะความคิดของเด็กยังเป็น egocentricism คือ ตนเองเป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง เช่น ใช้ภาษาหรือคำที่คนอื่นไม่เข้าใจ นอกจากนี้เด็กจะยังไม่เข้าใจแนวคิดเรื่องเวลา เช่น ไม่เข้าใจคำว่า “พรุ่งนี้” ดังนั้น หากบอกเด็กที่มานอนป่วยในโรงพยาบาลว่า พรุ่งนี้จะตรวจอะไร หรือ พ่อแม่จะมาเยี่ยม เด็กจะไม่ทราบว่าคือเวลาใด อาจต้องบอกเป็นว่า หลังกินข้าวเช้า หลังอาบน้ำ เป็นต้น

ช่วงอายุ 3 ถึง 6 ปี
    กล่าวได้ว่า เด็กในช่วงอายุนี้สามารถทำ คิด และพูดอะไรใหม่ๆ ได้แทบทุกวัน ระบบความจำและสมาธิก็ดีขึ้นมาก ลักษณะสำคัญในช่วงวัยนี้ คือ พัฒนาการของการเกิดมโนธรรม (superego) และความรู้สึกผิดชอบ การเล่นกับกลุ่มเพื่อน (social play) เพื่อผลต่างๆ ที่จะได้กล่าวต่อไป และพัฒนาการของความคิดที่เป็นฐานเพื่อการเรียนรู้สิ่งที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น (preoperational stage)
Oedipal Complex and Superego Development
    Freud เชื่อว่า เด็กวัยนี้จะรู้สึกรักบิดาหรือมารดาเพศตรงข้ามกับตนแบบคู่รัก แต่กลัวว่าบิดาหรือมารดาเพศเดียวกันกับตนจะเป็นคู่แข่งและทำร้ายตน (ทั้งหมดเรียก oedipal complex) เด็กจึงหันมาเลียนแบบบิดาหรือมารดาเพศเดียวกับตน(identification) เพื่อความปลอดภัยและทำให้บิดาหรือมารดาเพศตรงข้ามกับตนชอบตนจึงเกิดกระบวนการมโนธรรมและวินัยต่างๆ เข้าไว้ในตัว (internalization) กลายเป็น superego ประจำตัวไป
    เด็กที่พัฒนาการที่วัยนี้บกพร่องก็อาจมีทั้งไม่รู้จักผิดชอบ เป็นอันธพาล หรือในทางตรงกันข้ามอาจรู้สึกถูกผิดกับเรื่องต่างๆ มากเกินไป จนเกิดซึมเศร้า
ลักษณะการเล่น
    มักเป็นการเล่นสมมุติเหมือนเล่นละคร (dramatic play) เช่น เป็นพ่อแม่ หมอ ตำรวจ หรือ ครู ซึ่งมีอำนาจในสายตาของเด็ก เด็กในวัยนี้จะมีการเล่นด้วยกันเป็นกลุ่มมากขึ้น จุดประสงค์ของการเล่นในเด็กมีหลายประการ เช่น
    - เป็นทางระบายความกังวลหรือกลัว เช่นเล่นฉากไปพบหมอฟัน แต่เด็กได้มีโอกาสเป็นหมอฟันเองบ้าง
    - ช่วยให้กระบวนความคิดเป็นขั้นตอนของเด็กสมบูรณ์ขึ้น เนื่องจากการเล่นเป็นกลุ่มต้องมีกติกาซึ่งบางครั้งเด็กต้องช่วยกันคิดตั้งเพิ่ม - เป็นทางให้เด็กได้ฝึกใช้ทักษะกล้ามเนื้อต่างๆ
    - เป็นสังคมที่นำเด็กวัยเดียวกันมารู้จัก และอาจเลียนแบบกัน
ลักษณะความคิด
    เด็กจะชอบสมมุติให้สิ่งไม่มีชีวิตกลับมีความรู้สึกและจิตใจ ต่อมา เด็กเริ่มใช้เหตุผลง่ายๆ เป็น เริ่มรับความคิดของคนอื่นมาบ้าง ลดความ egocentric ลง การปิดบังหรือบิดเบือนความจริงในบางเรื่อง เช่น ความมืด ผี หมอ จะทำให้เด็กเข้าใจผิด และเกิดความกลัวที่ฝังใจอย่างมาก เด็กในวัยนี้ ยังไม่เข้าใจแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องความตายในมนุษย์ แต่อาจพอเข้าใจการตายของสัตว์หรือตัวละครในนิยายได้
Childhood Masturbation
    เด็กวัยนี้อาจพบการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองชัดเจนขึ้น การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองเป็นเรื่องปกติ เมื่อพบเด็กกระทำการดังกล่าวไม่ควรลงโทษหรือดุว่า ควรเบนความสนใจเด็กให้ไปทำอย่างอื่นแทน

ช่วงอายุ 6 ถึง 11 ปี
    ในช่วงระยะนี้ เด็กอาจไม่มีพัฒนาการใหม่ๆที่เห็นได้ชัดมากมายเหมือนเมื่อเล็กๆ แต่เด็กมิได้หยุดนิ่งเหมือนกับที่ Freud เข้าใจ (Freud เรียกช่วงวัยนี้ว่า latency phase) เด็กมีการพัฒนาสิ่งที่มีอยู่แล้วให้เหมาะสมคล่องแคล่วขึ้นอย่างมากเกือบทุกด้าน ลักษณะความคิดที่ถึงระดับเป็นรูปธรรม (concrete operation) ทำให้การเรียนหนังสือและความเข้าใจสิ่งรอบตัวเป็นไปอย่างราบรื่น การเล่นพฤติกรรมและอารมณ์ที่ซับซ้อนขึ้นไปด้วย
ความถนัด
    laterality คือ มือ ขา ตา หรือหู ด้านที่ใช้ได้ถนัดที่คนอื่นสังเกตได้ preference คือ ความถนัดใช้ข้างใดข้างหนึ่งตามที่ผู้ใช้รายงานเอง ส่วน dominance คือ สมองซีกที่ทำหน้าที่เด่น โดยทั่วไป จะสังเกตเห็นความถนัดของมือข้างใดชัดเจนเมื่อเด็กอายุ 5 ปี ขาที่อายุ 7 ปี ส่วนตาและหูที่อายุ 7 ถึง 8 และ 9 ปีตามลำดับ
มโนธรรม
    ช่วงต้นของวัยนี้เด็กจะยังมีมโนธรรมที่เข้มงวดมากอยู่ เด็กอาจรู้สึกผิดง่าย เคร่งครัดกับระเบียบกฎเกณฑ์เด็กบางคนอาจมีอาการย้ำคิดย้ำทำได้ จนกระทั่งก่อนเข้าวัยรุ่น มโนธรรมจึงค่อยผ่อนคลายลง เนื่องจากเด็กจะค่อยลดความเทิดทูนบิดามารดาว่า ดีถูกต้องทุกอย่างลง เพื่อนำไปสู่ความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้นในช่วงวัยรุ่น เด็กจะติดและเลียนแบบเพื่อนหรือดาราหรือพระเอกในภาพยนตร์แทน อย่างไรก็ตาม ผลจากการที่มโนธรรมเคร่งครัดที่มีต่อสังคมก็คือ เด็กจะรับเอาประเพณีวัฒนธรรม ค่านิยมต่างๆไปปฏิบัติ ซึ่งจะสืบทอดลงไปสู่รุ่นต่อๆไป
ลักษณะความคิดและจินตนาการ
    Piaget เรียกวัยนี้ว่า concrete operations เนื่องจากเด็กเริ่มเข้าใจกฎเกณฑ์ง่ายๆ ในธรรมชาติที่เป็นรูปธรรมได้ เช่น reversible operation คือ เมื่อ 6+4 = 10 ดังนั้น 10-6 = 4 ได้ สามารถบอกปริมาณน้ำในภาชนะที่กว้างและสูงต่างกันได้ว่า ในภาชนะใดควรมากกว่า หรือเท่ากัน ( conservative operation ) ซึ่งจะทำให้เด็กพร้อมที่จะเรียนรู้บทเรียนในชั้นได้ นอกจากนี้ เด็กที่อายุราว 9-10 ปี จะเข้าใจความหมายของคำว่า”ความตาย” ได้ว่า ความตายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เกิดขึ้นกับทุกคน และไม่มีทางฟื้น
การเล่น
    การเล่นเพื่อเข้าสังคมจะมีชัดเจนและซับซ้อนขึ้น เริ่มเล่นกีฬาเป็นทีม ซึ่งแต่ละคนทำหน้าที่ต่างๆกัน และเด็กสามารถนำแบบอย่างนี้ไปใช้สังคมที่โรงเรียนหรือที่อื่นๆได้ การที่เด็กวัยนี้เคร่งครัดกับกฎและความถูกผิด จะมีผลกับเลือกการละเล่นต่างๆเช่น ในช่วงต้น เด็กจะเลือกเล่นเกมส์ที่เน้นที่ผลแพ้ชนะ เช่น ทอยเหรียญ เป่ายิ้งฉุบ แต่ในช่วงท้ายเด็กจะเลือกเล่นเกมส์ที่มีกฎและกระบวนการเล่นแน่นอน เช่น หมากรุก กีฬาต่างๆ เป็นต้น
ปัญหาที่มักพบในพัฒนาการช่วงนี้ ได้แก่
    - ปัญหาการเรียน การอ่าน เขียน สมาธิ
    - การพูดปดและการขโมย อันเกิดจากที่เด็กไม่สามารถแยกจินตนาการจากความจริง และแยกของตนเองกับของคนอื่นได้นั้น ไม่ควรปรากฏขึ้นอีกต่อไป ดังนั้น หากเกิดขึ้น ควรตอบสนองต่อพฤติกรรมนี้อย่างจริงจัง
    - ปัญหาด้านอารมณ์ เช่น กังวล หรือซึมเศร้า อันอาจเป็นสาเหตุของการไม่ไปโรงเรียนได้

ช่วงอายุ 12 ถึง 19 ปี
    วัยรุ่นเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกาย และจิตใจที่ซับซ้อนที่สุด มีการเจริญเติบโตทางเพศที่ชัดเจนพร้อมกับการเจริญพันธุ์ มีระดับฮอร์โมนทางเพศที่สูง ซึ่งส่งผลต่ออารมณ์ พฤติกรรม และความคิดอย่างมาก อีกทั้งเป็นวัยที่สังคมหวังให้วัยรุ่นเริ่มมองหาแนวทางอาชีพของตน อันจะเป็นทั้งเอกลักษณ์และการยังชีพต่อไป
    ปัญหาหนึ่งที่พบในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาก็คือ การที่เด็กเข้าสู่วัยรุ่นเร็วกว่าเดิม เนื่องจากสภาพทางโภชนาการที่ดีขึ้น แต่พ้นจากความเป็นวัยรุ่นช้าลง เนื่องจากสภาพสังคมที่ซับซ้อนมากกว่าเดิม วัยรุ่นอาจต้องอยู่ในสถานศึกษานานกว่าในอดีต จึงทำให้ปัญหาของวัยรุ่นพบได้มากขึ้น

วัยรุ่นตอนต้น (อายุ 12-16 ปี)
ความสนใจตัวเอง
    เกือบทุกคนจะสนใจในรูปร่างหน้าตาของตนเองมากขึ้น ไม่ว่าหญิงหรือชาย ใช้เวลาหน้ากระจกหรือเข้าห้องน้ำนานขึ้น เรื่องเพียงเล็กน้อยในสายตาผู้ใหญ่ อาจเป็นเรื่องใหญ่ของวัยรุ่น เช่น สิว น้ำหนักตัวเพิ่ม เป็นต้น
ความต้องการเป็นตัวเองและการคบเพื่อน
    เป็นวัยที่ทั้งตัววัยรุ่นเอง และบิดามารดาต้องปรับตัวเข้าหากันมากที่สุด เนื่องจากวัยรุ่นจะเสื่อมความศรัทธาในบิดามารดาลง เพื่อนำไปสู่ความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ยอมทำตามคำสั่งของผู้ปกครองอีกต่อไป ซึ่งผู้ปกครองบางคนอาจยิ่งแสดงอำนาจเพื่อพยายามควบคุมบุตรไว้เหมือนเดิม หรือกล่าวว่าวัยรุ่นในทางไม่ดี อาจทำให้เด็กรู้สึกว่า การต้องการเป็นตัวเองนั้น เป็นเรื่องไม่เหมาะสมไม่ควรทำ ทั่วไป วัยรุ่นมักจะเข้ากับมารดาได้น้อยกว่าบิดา และมักมองมารดาเหมือนผู้ดูแลเด็กเล็กเท่านั้น
    การมีเพื่อน ทำให้เด็กแยกตัวจากบิดามารดาได้ชัดเจนขึ้น ได้เรียนรู้สิ่งที่ภายนอกครอบครัวหรือสังคมทั่วไปปฏิบัติ วัยรุ่นจะพยายามเลียนแบบกลุ่ม ไม่ว่าการแต่งกาย ทรงผม หรือภาษาเฉพาะกลุ่ม คล้ายสังคมเพื่อนเป็นเหมือนห้องทดลอง ให้วัยรุ่นได้ใช้ทดสอบว่า สิ่งต่างๆนั้นมีสิ่งใดที่เหมาะสมเข้ากับตน และสังคมยอมรับบ้าง ในวัยนี้ วัยรุ่นนิยมคบกับกลุ่มเพื่อนเพศเดียวกัน ไปไหนเป็นกลุ่มใหญ่ๆ โดยอาจมีกลุ่มเพื่อนต่างเพศอีกกลุ่มไปด้วย จนกระทั่ง ตอนปลายของวัยรุ่นตอนต้น จึงเริ่มสนใจเพื่อนต่างเพศมากขึ้น
ลักษณะความคิด
    Piaget กล่าวว่า วัยรุ่นเริ่มมีความคิดแบบนามธรรม (abstract thinking) สามารถเข้าใจในสิ่งที่อาจต้องการความเข้าใจที่ซับซ้อนได้ดี มีแง่ความคิดที่แตกฉานหลากหลายกว่าเมื่อความคิดยังเป็นแบบรูปธรรม เช่น ในด้านปรัชญา ศาสนา วัฒนธรรม แต่มักยึดความคิดหรือรูปแบบใดมาปฏิบัติหรือกล่าวอ้างอย่างเลิศลอย (idealism) เป็นพักๆ แล้วอาจเสื่อมความชื่นชมไปสนใจเรื่องหรือแนวคิดใหม่ จนผู้ใหญ่รู้สึกว่า วัยรุ่นสนใจอะไรไม่จริงจัง
ความเติบโตในด้านเพศ
    เด็กวัยรุ่นหญิงที่เริ่มมีประจำเดือน และเต้านม อาจต้องการการปรับตัวอย่างมากในความรู้สึกการยอมรับความเป็นเพศหญิงที่พร้อมเจริญพันธุ์ ซึ่งอาจมีความเชื่อทางวัฒนธรรมเข้ามามีอิทธิพลด้วย โดยเฉพาะถ้าเด็กหญิงคนนั้นมีการเจริญทางเพศเร็วหรือช้ากว่าเพื่อนในชั้นเรียนเดียวกันอย่างมาก
    ส่วนวัยรุ่นชาย มีการแข็งตัวของอวัยวะเพศบ่อยขึ้น มีการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง หรือมีการหลั่งน้ำกามในขณะนอนหลับ ซึ่งผู้ใหญ่ไม่ควรแสดงว่าเป็นเรื่องผิดปกติ แต่ควรให้ความรู้ในธรรมชาติของเรื่องเพศ

วัยรุ่นตอนปลาย (อายุ 16-19 ปี)
ลักษณะอารมณ์
    ลักษณะอารมณ์จะค่อนข้างสับสน แม้ตัววัยรุ่นเองบางคนก็ไม่อาจบอกได้ชัดเจนว่ารู้สึกอย่างไร อาจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รุนแรง ซึ่งเกิดจากจากยังควบคุมได้ไม่ดีนัก บางคนอาจรู้สึกเบื่อสิ่งที่มีอยู่และเคยชอบ แต่ก็บอกไม่ได้ว่าต้องการอะไร วัยรุ่นมักต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เหงาได้ง่าย จึงอาจเสี่ยงต่อการใช้สารเสพติดเพื่อผลทางอารมณ์ที่วุ่นวายและเพื่อความอยากตื่นเต้น อยากรู้
การหาเอกลักษณ์
    ในสังคมตะวันตก วัยรุ่นซึ่งอาจกำลังจะเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษาจะแยกไปอยู่ต่างหากจากครอบครัว ซึ่งอาจเห็นแนวโน้มในสังคมไทยเพิ่มขึ้น แต่การแยกตัว (individuation) เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการพยายามหาเอกลักษณ์ (identity) การเข้า gang หนีออกจากบ้านสูบบุหรี่ใช้สารเสพติด ถือเป็นเพียงกระบวนการแยกตนเอง แต่การหาเอกลักษณ์ อาจประกอบไปด้วยส่วนประกอบอีกหลายประการคือ
    - เอกลักษณ์ทางเพศ ความเชื่อมั่นว่า ตนเองเป็นเพศนั้นสมบูรณ์แบบ เด็กชายจึงอาจไปเที่ยวโสเภณีเนื่องจากต้องการพิสูจน์ตนเองร่วมกับความต้องการทางเพศ และความอยากรู้
    - เอกลักษณ์ในกลุ่มเพื่อนและสังคม วัยรุ่นอาจพยายามแสดงความเป็นผู้ใหญ่ ตัดสินใจเองในเรื่องต่างๆ แต่บางคนอาจถอยมาทำตัวเป็นเด็กในบางกรณีที่ขาดความมั่นใจ
    - เอกลักษณ์ในหน้าที่อาชีพ บางคนมุ่งมั่นกับอาชีพบางอย่างจนไม่สนใจทางเลือกอื่นหรือความเป็นไปได้ บางคนเลือกตามที่ครอบครัวต้องการ หรือเลือกเพราะต้องการขยับฐานะทางสังคมของตนเองให้สูงขึ้น
ลักษณะความคิด
    ต่อเนื่องจากช่วงต้น โดยวัยรุ่นมักมีอุดมการณ์ในบางเรื่อง รวมกลุ่มกันทำงานกิจกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมตามแบบที่ตนเห็นว่าดี มีการทบทวนมโนธรรมที่เคยรับมาก่อนว่า สอดคล้องกับตนเองเพียงไร
การคบเพื่อน
    การคบเพื่อนต่างเพศในลักษณะของความรักจะเห็นได้มากขึ้น มักเริ่มมีการนัดหมายไปเที่ยวกัน ซึ่งผู้ใหญ่ควรให้ข้อคิดในการวางตัวให้เหมาะสมตามวัฒนธรรม
การสิ้นสุดของวัยรุ่น จะเกิดเมื่อ
    - ไม่มีความรู้สึกหรือต้องการแยกตัวจากบิดามารดาอีกต่อไป แต่มีความสัมพันธ์กันในระดับใหม่ ที่เคารพกัน มีความทรงจำที่ดีต่อกัน และต้องการดูแลบิดามารดา
    - สามารถมีความรักกับเพื่อนต่างเพศได้อย่างเหมาะสม
    - สามารถมีแนวคิดที่จะรู้จักดูแลผู้อื่นเช่น ภรรยา บุตร และสังคม
    - มีความรู้สึกว่า ตนเองมีเอกลักษณ์ในระดับหนึ่ง พร้อมที่จะรับผิดชอบตนเองและงานหน้าที่ต่อไป

วัยผู้ใหญ่ตอนต้น (Young Adulthood)
    เป็นช่วงต่อจากวัยรุ่น ในแง่การพัฒนาทางจิตสังคมแล้ว Erikson เรียกระยะนี้ว่า intimacy คือเป็นระยะที่เริ่มมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเพศตรงข้าม ซึ่งอาจนำไปสู่การแต่งงาน เป็นการเริ่มครอบครัวของตนเองและบทบาทของความเป็นพ่อแม่ นอกจากนั้น วัยผู้ใหญ่ตอนต้นจะเป็นช่วงของการบุกเบิกในอาชีพการงานที่แท้จริง รับงานอาชีพเข้าเป็นเอกลักษณ์ประจำตัว วัยนี้มักจบลงที่อายุเกือบ 40 ปี ซึ่งงานการและครอบครัวมักลงตัวดีแล้ว ปัญหาหลักของวัยนี้จึงตกที่เรื่อง การเลือกอาชีพและการเลือกคู่ครองที่เหมาะสมกับตนเอง
    เป้าหมายชีวิตเป็นสิ่งหลักที่ทุกคนสนใจ และเป็นแรงผลักดันในการเลือกอาชีพและคู่ครอง บุคคลในวัยนี้ในตอนต้นมักเชื่อมั่นในความสามารถของตนเป็นอย่างมาก บางคนมีอุดมการณ์ที่หวังจะเปลี่ยนปรับปรุงระบบหรือสังคมที่ตนอยู่
    ความเป็นผู้ใหญ่ช่วงต้นในบางคน ยังเผชิญกับความขัดแย้งระหว่างแนวคิดส่วนตัว กับสิ่งที่ถูกปลูกฝังมาในมโนธรรม หรือประเพณีวัฒนธรรม ซึ่งแม้จะไม่มีกรอบตัดสินว่าสิ่งใดถูกหรือผิดที่ตายตัว (ซึ่งผู้ใหญ่เองก็ต้องยอมรับว่า หลายสิ่งเป็นเพียงเหมือนการ “สัมพัทธ์ (relativism) ” กับกรอบใดกรอบหนึ่งเท่านั้น) อันจะนำไปสู่การพัฒนาความเป็นตัวของตัวเองที่สมบูรณ์ โดยไม่ต้องรู้สึกผิด (guilt)

วัยกลางคน (Middle Years)
    เป็นวัยที่อาจพบปัญหาในการปรับตัว (transitional stage) เพื่อพัฒนาเข้าสู่วัยชราต่อไปได้มาก บางคนนิยมเรียกว่า mid-life crisis เนื่องจากเมื่อบุคคลมีอายุถึงราว 40 ปีมักจะเริ่มมีความรู้สึกชราลง สภาพร่างกาย สมองและจิตใจไม่แข็งแกร่งเท่าเดิม บางคนเริ่มมีโรคประจำตัว ทำให้เริ่มหันมาประเมินสิ่งที่ตนได้ทำมา กับเป้าหมายที่ได้เคยหวังไว้ ซึ่งหากแตกต่างกันมาก บางคนอาจรู้สึกท้อถอย บางคนพอใจ บางคนปรับเป้าหมายใหม่ หรือบางคนอาจพยายามรวบรวมพลังครั้งสุดท้าย ทำบางอย่างที่ต่างไปจากเดิม เช่น ย้ายงาน ตั้งบริษัทของตนเอง เพื่อจะได้ทำอย่างที่ต้องการก่อนที่หมดเวลาลง ซึ่งครอบครัวหรือคนอื่นภายนอกอาจไม่เข้าใจในการดิ้นรนนี้
    ข้อดีของคนในวัยนี้ คือ มีประสบการณ์ในเรื่องต่างๆพร้อม และยังไม่ชราเกินไป มักมีความมั่นใจในสิ่งที่ตนเคยทำมา อยู่ในตำแหน่งงานที่มีอำนาจตัดสินใจ มีความต้องการที่จะสร้างคนที่มีความสามารถเช่นตนในรุ่นหลังขึ้นมา (generativity) แต่หากถึงวัยนี้แล้ว ยังไม่อยู่ในตำแหน่งหน้าที่ดังกล่าว บุคคลนั้นมักรู้สึกว่า โอกาสของตนได้หมดลงแล้ว มีแต่คนรุ่นหลังที่จะก้าวข้ามตนไป บางคนอาจมีภาวะซึมเศร้า
    ในครอบครัวชาวตะวันตก ลูกๆมักเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นช่วงต่างๆ ซึ่งอาจแยกตัวออกไปอยู่เป็นอิสระ (empty nest) ทำให้สามีภรรยาซึ่งใช้เวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาทุ่มเทกับลูก กลับมามีเวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น อีครั้ง บางคู่อาจปรับตัวไม่ได้นำไปสู่การหย่าร้างซึ่งพบว่ามีอัตราสูงสุดในช่วงวัยนี้ เนื่องจากพบว่า คู่ครองที่ตนเลือกเมื่ออายุน้อยนั้น อาจไม่ใช่บุคคลที่ตนจะเลือกใช้ชีวิตด้วยกันต่อไปที่วัยนี้ บางคนเลือกแต่งงานใหม่ ในครอบครัวไทย เหตุการณ์คล้ายนี้อาจพบได้ช้าและน้อยกว่า เนื่องจากครอบครัวไทยมักอยู่ด้วยกันจนแม้แต่หลังลูกแต่งงานแล้ว มักพบว่า สามีเริ่มมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่นเนื่องจากฐานะดีขึ้น และต้องการใช้ชีวิตคล้ายวัยรุ่นอีกครั้ง ส่วนภรรยาเองอาจจะหันมาแต่งตัวมากขึ้นซึ่งอาจเกิดจากเหตุผลเดียวกัน มิใช่เพื่อเป็นการผูกใจสามีเท่านั้น
    การหมดประจำเดือนในเพศหญิง นำความเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและจิตใจมาสู่ผู้หญิงเป็นอย่างมาก นอกจากจะเป็นสิ่งแสดงว่า ไม่สามารถมีบุตรได้อีกแล้ว การลดระดับฮอร์โมนก็มีผลกับสภาพร่างกาย รูปร่าง และอารมณ์ ซึ่งรวมกับความเชื่อทางสังคมที่เกี่ยวกับการหมดประจำเดือน ซึ่งเพศหญิงอาจต้องใช้เวลาปรับตัวอย่างมาก โดยที่สามีควรมีความเข้าใจในเรื่องนี้พอสมควร

วัยชรา (Old Age)
การสูญเสีย
    การเปลี่ยนแปลงในวัยนี้ เห็นได้ทางกายภาพและสภาพทางสังคมอย่างชัดเจน ถึงแม้จะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ก็มีการเสื่อมลงของการทำงานของอวัยวะต่างๆ บางคนเริ่มสูญเสียตำแหน่งหน้าที่การงานจากการเกษียณ หรือทำต่อไปไม่ได้ ค่านิยมความเชื่อของสังคมต่อวัยนี้มิได้เกิดในทางบวก อีกทั้งสามีภรรยาหรือคนรู้จักใกล้ชิดเริ่มเสียชีวิตจากไป ทำให้ต้องเผชิญกับการปรับตัวอีกครั้ง
    จะเห็นได้ว่า ปัญหาสำคัญที่มีผลต่อสภาพจิตใจของผู้สูงอายุคือ การสูญเสียในหลายๆ ด้าน โดยที่บุคคลนั้นไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้เท่าที่ต้องการหรือเคยมีความสามารถทำได้มาก่อน อันอาจนำไปสูภาวะซึมเศร้า
    การปรับตัวในวัยชราจะทำได้ดีหากบุคคลนั้นมีบุคลิกภาพที่เผชิญปัญหาได้ดีมาก่อน มีการเตรียมตัวสำหรับกิจกรรมที่จะทำในวัยนี้ มีความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูงที่อายุใกล้เคียงกัน และคนในรุ่นหลังให้เกียรติและโอกาสในการแสดงความสามารถในด้านต่างๆ ตามสมควร
การคงเอกลักษณ์ (Self Identity)
    บุคคลในวัยนี้มักใช้เวลาทบทวนสิ่งที่ผ่านมาในชีวิตอย่างจริงจัง ชอบเล่าถึงอดีตที่ทำให้ตนภูมิใจ รู้สึกว่า ตนเองยังเป็นคนเดิม (sense of integrity) ผู้สูงอายุที่สุขภาพจิตดี มักรู้สึกว่าตนเองยังมีคุณค่าแม้จะไม่ได้ทำหน้าที่การงานที่เคยเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองมาเกือบตลอดอายุ พร้อมที่จะเสียสละเพื่อคนอื่น (altruism) คิดคาดการณ์อย่างเป็นจริง (anticipation to reality) และสามารถถอยมามองสิ่งผิดพลาดของตนเองได้อย่างมีเหตุผลและมีอารมณ์ขัน (humor and self-observation)
การเผชิญกับความตาย (Dealing with Death)
    เป็นวัยที่ทุกคนรู้สึกว่า ใกล้ความตายที่สุด การมาถึงวัยนี้เป็นเหมือนสุดทางของชีวิตแล้ว มากกว่าที่จะเป็นอีกช่วงหนึ่งต่อจากวัยกลางคน มักพบว่า คนชรามองความตายเป็น “เป้าหมาย” หรือสิ่งที่ต้องไปถึง และไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวนักอีกต่อไป ซึ่งก็เป็นความจริงที่เหมาะสมกับวัย อย่างไรก็ตามผู้ที่รู้สึกว่า ตนใกล้ความตายมากแล้ว มักจะรู้สึกเหงาและซึมเศร้ากว่าผู้ที่ยังรู้สึกกับความตายในทางตรงกันข้ามอยู่

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.ramamental.com/medicalstudent/generalpsyc/human_psychological_development/

Smiley ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ Smiley




Create Date : 02 มีนาคม 2556
Last Update : 2 มีนาคม 2556 12:37:36 น. 0 comments
Counter : 2045 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

kitpooh22
Location :
ตรัง Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 27 คน [?]




สวัสดีครับ
..............................
ขอบคุณที่มาเยี่ยมชม และมาเม้นให้ครับ



ขอบคุณครับ :-)
THX


วันเกิดบล็อก 25/5/2009
Google+
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2556
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
2 มีนาคม 2556
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kitpooh22's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.