ชนะคนอื่นเป็นร้อย ยังไม่ยากเท่าชนะตนแค่คนเดียว...
บำบัดทางจิตตนเอง

ถ้าใครอยากทราบจริงๆ ว่าเป็นคนปรกติหรือไม่ปรกติจะทราบได้โดยการสำรวจตนเองโดยไม่พึ่งใคร ไม่ถามใคร ไม่บอกใครได้หรือไม่ น่าจะทำได้ถ้าสามารถตัดเอาอคติออกไปแต่ใครเล่าสามารถเอาความรักตน ซึ่งเป็นอคติสำคัญ ออกไปได้ การประเมินตนเองจึงทำได้ดีที่สุดคือใกล้เคียงความจริง
     นักจิตวิทยาคลินิกท่านหนึ่งมีความเห็นว่า คนปรกติเป็นคนที่มีสุขภาพจิตดี จิตใจเข้มแข็งมั่นคง สามารถปรับกาย ปรับใจให้เกิดดุลยภาพกับสิ่งแวดล้อม สังคม สามารถดำรงตนให้อยู่ได้ด้วยความสุข
     ห้าสิบปีมาแล้วองค์การอนามัยโลกให้นิยามคนปรกติว่ามีลักษณะดังต่อไปนี้
       -จิตใจสงบ
       -สุขกาย-สุขใจ
       -ไม่เป็นโรคจิต-โรคประสาท
       -เชาวน์ปัญญาดี
       -เป็นตัวของตัวเอง
       -รู้จักให้-รู้จักรับ
       -แสวงหาความสุขหลายทาง

ขยายความ
       จิตสงบ ปุถุชนคนทั่วไปมีจิตที่ไม่สงบ ไม่นิ่งเต็มร้อย อย่างไรก็ตามใจนั้นมีความสงบระดับหนึ่ง ยามที่ไม่สงบนั้น จิตใจไม่กวัดไกวหวั่นไหวมาก และไม่หวั่นไหวนาน ทั้งด้านสุข ด้านทุกข์ เศร้าโศกหรือน่ายินดี ชีวิตเป็นไปได้ อย่างปรกติสุข ความสัมพันธ์กับคนรอบตัวราบรื่น
       สุขกาย-สุขใจ ข้อนี้ทุกคนเข้าใจได้ไม่ยาก มีความรู้สึกเช่นนั้นจริงๆ หรือถ้ามีความทุกข์กายทุกข์ใจบ้าง ก็อยู่ในวิสัยที่รับได้ไม่เดือดร้อน ไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิต และความทุกข์หากมีก็ไม่ยาวนานจนดูเหมือนเป็นคนอมทุกข์
       ไม่เป็นโรคจิต-โรคประสาท ถ้าจำแนกคนออกเป็นประเภท คือ คนปรกติ คนโรคประสาท คนโรคจิต
       คนโรคประสาทอยู่ตรงกลางระหว่างคนโรคจิตกับคนปรกติ ลักษณะที่สำคัญของคนกลุ่มนี้ คือ เครียด มีความเครียด มากกว่าปรกติ อันที่จริงชีวิตคนมีเรื่องไม่มากน้อยกว่ากันมากนัก แต่ละคนมีปัญหา คนโรคประสาท แก้ปัญหาไม่เก่ง เรื่องบางเรื่องที่ไม่เป็นปัญหาของคนทั่วไป แต่คนโรคประสาททำให้เป็นปัญหาได้ เช่น คนโรคประสาท บางคนเดิน ผ่านศาลพระภูมิแล้วลืมยกมือไหว้ พอรู้ตัวก็เครียด กลัวพระลงโทษ กลัวโชคร้าย คิดว่าเป็นเคราะห์ไม่ดี วิตก กังวล จนกว่าพบทางแก้ที่ถูกจริตจึงหายกลัว หายกังวล เสียเวลาไปกับเรื่องที่ไม่มีสาระโดยไร้ประโยชน์
       คนโรคประสาทบางคนแก้ปัญหาชีวิตไม่เก่ง ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง ทำให้จมอยู่ในกองทุกข์ มีอาการเศร้าเรื้อรัง มองไม่เห็นวิธีการแก้ปัญหาที่ทำไปไม่ถูกทาง แก้ปัญหาแบบเดิมๆ ความทุกข์ก็ตามมาอย่างเดิม
       คนโรคประสาทบางคนมีความทุกข์เชิงซ้อน มีจินตนาการยาวไกล หวั่นไหวหวาดกลัวสิ่งที่ยังไม่เกิด ดูเหมือนเป็นคนที่รอบคอบระมัดระวังตัวดี แต่เป็นการระวังที่ก่อปัญหา เช่น เมื่อมีอาการป่วยไข้ คิดไกลไปมากว่า จะเป็นโรคร้ายแรง การตรวจเช็คอาจช่วยให้คลายกังวลได้ระดับหนึ่ง แต่แล้วคิดกลัวใหม่ กลัวโรคใหม่ กลัวผลร้าย จากโรคที่กลัว (ทั้งๆ ที่ยังไม่เป็น) เขาสร้างทุกข์ส่วนเกินให้ตนเองมาก เป็นความทุกข์ที่ไม่ควรเกิดมี
       คนโรคประสาทบางคนไม่ช่วยตนเอง ต้องพึ่งผู้อื่นให้หยิบยื่นความช่วยเหลือ ถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือ ดังใจ หวังก็เป็นทุกข์ มีอาการเจ็บป่วย แล้วแพร่กระจายความทุกข์ออกสู่คนรอบตัว มิหนำซ้ำเขาไม่รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ มองเห็นแต่เพียงว่าตนเองป่วย น่าสงสาร ไม่ได้รับความช่วยเหลือหรือความเห็นใจเท่าที่ควร ทำให้ไม่น่ารัก ไม่น่าช่วยเหลือ ผู้ป่วยโรคประสาทเองมองสถานการณ์อย่างนี้ว่าไม่มีคนรัก ไม่มีใครเข้าใจ รู้สึกโดดเดี่ยว ว้าเหว่ ไม่มีที่พึ่ง เห็นส่วนไม่ดีของผู้อื่น มองข้ามความบกพร่องของตนเอง
       คนโรคจิตนั้นหลุดโลกแห่งความเป็นจริง นั่นคือ มีอาการสำคัญผิด คิดผิดจากความเป็นจริง ในทางลบ คิดว่ามีคนมุ่งร้าย มีคนสะกดรอยตาม มีคนอ่านใจตนได้ มีกล้องวงจรปิดชนิดดีติดตามสอดส่องพฤติกรรมของตน  บางคนอาจคิดเพ้อฝันว่าเป็นคนรวยมาก เป็นเจ้าของกิจการใหญ่โต ฯลฯ ความสำคัญผิดของคนโรคจิตนี้ฝังลึก แก้ไม่ได้ด้วยเหตุผล ไม่ว่าจะยกเหตุอันใดมาชี้แจงเขาไม่ยอมรับ ถ้าจำนนต่อเหตุผลก็ไม่ยอมเชื่ออยู่ดี
       เชาวน์ปัญญาดี มนุษย์เราจะดำเนินชีวิตได้ดีเป็นปรกติสุขนั้นต้องมีสมองดีระดับหนึ่ง ปัญญาแก้ปัญหาชีวิตได้ ถ้าฉลาดน้อยก็ดำเนินชีวิตไม่ราบรื่น ในทางตรงกันข้าม  คนที่ฉลาดมากๆ  อาจมีปัญหาในการดำเนินชีวิตอีกเช่นกัน ไม่เข้าใจว่าคนอื่นทำไมไม่เข้าใจเรื่องง่ายๆ  ทำให้เป็นปัญหาอยู่ได้ ถ้าไม่รู้จักคิดถึงคนที่ฉลาด ไม่เท่าตนการ ปรับตัวเป็นปัญหา
       เป็นตัวของตัวเอง ความเป็นตัวของตัวเองนี้สำคัญมากต่อการดำเนินชีวิต คนที่เชื่อมั่นตนเอง มีชีวิตที่ก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง มั่นใจตน  ไม่ขี้อาย ไม่เคอะเขิน ไม่ให้ความคิดว่า ตนสูงต่ำกว่าผู้อื่นเป็น ขวากหนาม ทางชีวิต รู้ตัวดีกว่ากำลังทำอะไร แต่ไม่ดูหมิ่นผู้ที่ไม่เป็นตัวของตัวเอง เห็นใจช่วยเหลือผู้ด้อยตามโอกาส อันควร

รู้จักให้-รู้จักรับ 
       การเป็นผู้ให้และเป็นผู้รับตามโอกาสอันเหมาะสมนั้นเป็นคุณสมบัติสำคัญอย่างหนึ่งของคนที่จิตใจปรกติ คนบางคนชำนาญในการให้อย่างเดียวรับไม่เป็น และบางคนไม่ให้อะไรใครรับเป็นอย่างเดียว คนปรกติต้องรู้จักให้ รู้จักรับ และเป็นสุขที่ได้ทำ ไม่ต้องฝืนทำ ไม่ต้องจำใจทำไม่ให้ถ้าไม่สมควร ให้เมื่อควร รวมไปถึงไม่ต้องใ ห้ ถ้าไม่อยากให้ การให้เพราะเกรงใจคน กลัวคนว่าทั้งๆ ที่ไม่อยากให้  นั่นเป็นอาการของคนสุขภาพจิตไม่ดีนัก ควรให้แล้วไม่ให้ก็ผิดอีกเช่นกัน

แสวงหาความสุขหลายทาง
       คนที่สุขภาพจิตดีหาความสุขได้หลายทาง ทำงานก็เป็นสุข ท่องเที่ยวก็เป็นสุข ขยันก็เป็นสุข พักผ่อนไม่ต้องทำงานก็ชอบ เข้าสังคมก็มีความสุข นี่เป็นคุณลักษณะของผู้มีสุขภาพจิตดี มีคนบางคน สำคัญผิดว่าคนขยันทำงาน หมดเวลางานแล้วยังทำไม่เลิก ใครมีงานค้างที่ช่วยทำให้ได้เขาก็ยินดี เพราะเวลาเลิกงาน เพื่อนร่วมงานกลับบ้านหมดแล้วเขารู้สึกปลอดโปร่ง ไม่อึดอัด ทำงานได้ดี ไม่ต้องกังวลกลัวสายตาที่ตำหนิติชม เขาไม่ชอบให้คนอื่นมองเขา ไม่ชอบความรู้สึกว่าตนเองถูกประเมินค่า คนบ้างานทำงานอย่างเดียวมักจะมีสาเหตุ ที่เกิดจากปัญหาในการปรับตัว
       ใครก็ตามที่มีคุณสมบัติข้างต้นนี้เป็นผู้ที่สุขภาพจิตดี-สมบูรณ์แน่นอน แต่คงไม่มีใครมีคุณลักษณะดังกล่าวนั้น ครบบริบูรณ์ คนที่มีคุณสมบัติมากข้อก็สมบูรณ์กว่าคนที่มีน้อย อย่างไรก็ตามจัดเป็นผู้ที่จิตใจดีปรกติ
       ใครผู้ใดบ้างที่ควรบำบัดจิต คำตอบคือทุกคนต้องการบำบัดจิตทั้งนั้น ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ หลายคนคิดว่าไม่เป็นอะไร เราสบายดีอยู่แล้ว พอใจชีวิตที่เป็นอยู่ เราดีกว่าคนอีกมาก นั่นอาจเป็นจริง แต่มีบางคน ปากแข็ง รู้ตัวว่าถ้าได้บำบัดช่วยเหลืออาจเกิดผลดี แต่ไม่ทราบว่าจะให้ใครช่วย หรือช่วยตนเองได้อย่างไร ต่อไปนี้เป็นการบำบัดจิตที่ทำด้วยตนเองได้.................
      คนปรกติ ทำไมคนปรกติต้องบำบัดจิตตนเองด้วย ตอบว่า สมควรทำ ต้องทำจิตใจคนนั้นเหมือนกาย ต้องระวังรักษาดูแล แม้เป็นคนที่อยู่ในเกณฑ์ปรกติก็มีสุข มีทุกข์ ไม่ควรปล่อยไปตามยถากรรม ถ้าดูแลดี ดูแลเป็น จะเกิดผล เพราะจิตที่ดูแลดีแล้วนั้นนำสุขมาให้ คงมีวิธีดูแลจิตตนเองหลายวิธี แต่ที่นำมากล่าวนี้เป็นวิธีบำบัดจิต ของนักจิตวิทยาท่านหนึ่งชื่อ อัลเบิรติ เอลลิส (Albert Ellis) ท่านสอนวิธีดูแลจิตตนเอง วิธีที่เรียกว่า Rational Emotive Therapy ดังนี้ ชีวิตคนสุขบ้างทุกข์บ้าง ขึ้นๆ ลงๆ ไม่อยู่นิ่ง ไม่ราบเรียบซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ถ้ารู้จักจัดการดูแลดี เป็นสุขมากกว่าเป็นทุกข์ หรือทุกข์น้อย

     วิธีดูแลรักษาจิตตามแบบอัลเบิรติ เอลลิส (Albert Ellis) นั้นท่านให้ติดตามดูใจตนเองให้เห็นกระบวนการคิดอย่างต่อเนื่อง อัลเบิรติเอลลิส (Albert Ellis) กล่าวว่าคนส่วนมากไม่ได้ติดตามความคิดตนเองได้ต่อเนื่อง กระโดดข้ามไปเป็นตอนๆจึงไม่เห็นที่มาของความทุกข์ เมื่อไม่เห็นการแก้ก็ไม่ถูกจุดไม่ถูกที่ไม่ได้ผล ตัวอย่างเช่น นักเรียนสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในคณะที่ต้องการไม่ได้ ร้องไห้ เสียใจ ถ้าถามว่าเสียใจเรื่องอะไร นักเรียนคนนั้นคงตอบว่าสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ เขาเอาการเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นต้นเหตุแห่งการเสียใจ แท้จริงแล้วมีความคิดก่อนการคิดว่าสอบไม่ได้นำหน้ามาก่อน แต่นักเรียนมองข้าม หรือเห็นว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ นั่นคือความคิดว่า เสียดาย อายจริง คนที่เราติวให้ซึ่งเป็นเพื่อนที่ไม่เก่งเลยยังสอบเข้าได้ แม่คุยกับเพื่อนว่าปีนี้ลูกจะ เข้าเรียนแพทย์ เขาเรียนเก่ง ต้องไม่พลาดแน่ๆ  ถ้าตามกระบวนการคิดตนเองได้ทันก็ควรคิดใหม่ เช่น สอบไม่ได้ ครั้งนี้ก็พยายามใหม่ได้ เหมือนการแข่งกีฬาครั้งนี้แพ้ยังมีโอกาสอีก หรือคิดว่าโชคดีที่ไม่ได้เรียนหมอ อาชีพที่ต้องทำงานหนัก ไม่มีเวลาเป็นของตนเอง ถ้าคิดใหม่แล้วหายเสียใจเป็นอันว่าคิดถูกแล้ว กล่าวโดยสรุป

       ..ให้ตามดูความคิดตนเอง
       ..คิดผิดเมื่อไรทุกข์ใจตอนนั้น
       ..คิดใหม่ คิดถูกตอนไหนสบายใจทันที

     การระวังจัดการดูแลใจตนเองเหมือนการเล่นจิ๊กซอว์ เมื่อจัดชิ้นส่วนเข้าที่ลงล๊อกได้ ภาพก็สมบูรณ์
     ดังนั้นความสุข-ความทุกข์เป็นดัชนีชี้วัดทางเดิน การติดตามดูความคิดเป็นหลักการสำคัญในการบำบัดจิตตนเองของคนปรกติ
                                  
     อาการสำคัญที่เป็นอาการของโรคประสาท เช่น ความเครียดนั้นผู้ป่วยมีมาก เป็นอาการที่ผู้ป่วยต้องการให้หายไป ไม่อยากเครียด หากวิเคราะห์อาการนี้ดีๆ แล้วพบว่ามีที่มาสองทางคือ ทางที่หนึ่งเกิดจากตัวโรค จากกลไก การทำงานของระบบประสาทแปรปรวน ส่งผลให้เกิดอาการขึ้นมา อาการส่วนที่สองนั้นเกิดจากความร้อนใจ ไม่อยากมีอาการเครียด อยากให้อาการเครียดหายไป และหวาดวิตกจินตนาการไปว่าจะเกิดผลเสียร้ายแรง ต้องดิ้นรนต่อสู้ ทุกทางที่สามารถทำได้ เพื่อให้หลุดพ้นจากอาการนี้ อาการส่วนที่สองนี้แหละ เป็นส่วนสำคัญ และเป็นอาการส่วนใหญ่ ที่ทำให้โรคดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด เมื่อผู้ป่วยพยามยามต่อสู้มาก ความรุนแรงของ อาการนี้ก็มากเป็นเงาตามตัว ผู้ป่วยจึงตกอยู่ในสภาพที่ยิ่งสู้ยิ่งลำบาก หมอวิกเตอร์แฟรงเกิ้ล (Viktor E.Frankl) เรียกภาวะของผู้ป่วยนี้ว่ามุ่งมั่นสุดขีด (Hyperintention) อันที่จริงคนเรานั้นการมีความมุ่งมั่นในการทำงาน การไปดำเนินไปสู่เป้าหมายนั้นเป็นเรื่องดี แต่ต้องเป็นเป้าหมายที่ควรไปสู่ความสำเร็จจริงๆ หากเป้าที่มุ่งชนนั้น ไม่ใช่เป้าที่นำไปสู่ความสำเร็จ ก็อาจได้รับผลตรงกันข้าม เหมือนแมลงที่พยายามบินฝ่ากระจกใสเพื่อออกไปข้างนอก ซึงไม่สำเร็จ พบจุดจบอยู่ตรงนั้น ถ้าแมลงตัวนั้นกลับใจ กลับหลังหันบินไปในทิศทางใหม่อาจพบทางออกได้ เช่นเดียวกันกับผู้ที่มีอาการเครียด มีอาการทางประสาท อยากหายพยายามทำทุกทางให้หาย ยิ่งพยายามยิ่งเดือดร้อนเพราะอาการไม่หายกลับหนักขึ้นอีก เมื่อใดก็ตามปลงตก ยอมแพ้ ไม่หายก็ไม่หาย เป็นอะไรเป็นกัน ตายเป็นตาย คิดได้เช่นนี้จริงๆ อาการจะเบาลงทันที เพราะสาเหตุสำคัญ (ความอยากหายป่วย ความกลัวอันตราย จากความเครียด ฯลฯ) ทำให้เครียดได้ยุติการทำงาน ลงไปแล้วหมอวิกเตอร์ แฟรงเกิ้ล (Viktor E.Frankl) สอนว่าสิ่งที่คนเราปรารถนาหลายอย่างนั้น ไม่สามารถแสวงหา ร้องขอ ช่วงชิงมาโดยตรง มันเป็นผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นเมื่อเหตุปัจจัยครบถ้วนสมบูรณ์ เช่น ถ้าเราให้ใครยิ้ม บอกให้เขายิ้ม การยิ้มที่เกิดจากความปรารถนา เป็นเพียงลักษณะคล้ายการยิ้ม ไม่ใช่ของจริง แต่เมื่อเขาเห็น เรื่องขำขันการยิ้มที่เป็นของจริงตาม ธรรมชาติก็เกิดขึ้นมาเอง

      การป่วยเป็นโรคประสาทหลายโรคมีสาเหตุสำคัญดังกล่าวนี้ ถ้าได้หยุดคิดพิจารณาหลักการสำคัญข้างต้น นี้แล้ว ปล่อยวางแนวคิดเดิม ไม่พยายามเดินหน้าต่อไป หยุดก่อน ยอมก่อน ดูสิว่าอะไรเกิดขึ้น แต่ก่อนปลงใจว่าเป็น โรคประสาท และวิธีการรักษาดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์ให้แน่ใจว่าการวินิจฉัยโรคถูกต้อง ไม่ใช่โรคอื่นแอบแฝงอยู่
      มีนิยายเด็กฝรั่งเล่าสู่กันฟังว่า เด็กนักเรียนคนหนึ่ง ไปถึงโรงเรียนสายมาก ครูถามหาสาเหตุของการมาสาย เด็กบอกว่าเส้นทางเดินจากบ้านมาถึงโรงเรียนนั้นลื่นมากเพราะหิมะตกแล้วฝนตกตามมาอีกชั้นหนึ่ง ปรกติเดินมาเรียน สบายๆ ไม่เสียเวลาเดินทางมาก แต่วันนี้เดินลำบาก ผมก้าวข้างหน้าหนึ่งก้าวก็ลื่นหกล้มถอยกลับไปสองก้าว พยายามอยู่นานไม่สามารถเดินทางก้าวหน้าได้มากนัก ในที่สุดปลงใจยอมแพ้ กลับบ้านไม่เรียนแล้ววันนี้ แต่เมื่อหันหลังกลับบ้าน เหตุการณ์กลับตาลปัตร คือมาถึงโรงเรียน แต่สายครับ.......
      โรคจิต (Psychosis) ไม่สามารถบำบัดจิตด้วยตนเองได้ เพราะความคิดความเชื่อของเขาแก้ไม่ได้ด้วยเหตุผล ต้องให้หมอช่วย ถ้าเป็นผู้ที่มีที่พึ่งที่พึ่งพาได้และผู้ป่วยรักเชื่อฟังยอมให้ช่วยก็รักษาได้ ปัจจุบันนี้แพทย์ช่วยได้ดีมาก
      การบำบัดตามหลักพระพุทธศาสนา บ้านเราเป็นเมืองพุทธ อยากให้พระช่วย พุทธธรรมช่วยรักษาโรคประสาทได้ แต่กว่าจะไปถึงจุดที่เกิดผลดีนั้นคงมีคนถอดใจยอมแพ้ก่อนถึงความสำเร็จ เพราะเป็นงานยาก ไม่มีวิธีที่ง่าย สั้น เร็วทันใจ ถ้าสนใจควรดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้
        - ยอมรับว่าป่วยและอยากรักษา
        - สำรวจตนว่ามีความมุ่งมั่นศรัทธามากพอหรือไม่
        - ฝึกฝนอบรมจิตให้สงบนิ่ง ใช้จิตที่ฝึกจนมีความมั่นคง สงบตั้งมั่นดีแล้วติดตามดูใจตนอย่างต่อเนื่อง
        - ขยัน มุ่งมั่นทำงานไม่ท้อถอย จนในที่สุดเห็นว่าชีวิตนี้เป็นเพียงมายาที่ ไม่ว่าสุข หรือทุกข์                    
        - ถ้าเดินทางมาถึงจุดนี้ได้ไม่เพียงหายป่วยแต่เป็นคนที่สุขสมบูรณ์อย่างแท้จริง

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.si.mahidol.ac.th/clinpsy/selftherapy.html

Smiley ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ Smiley




Create Date : 31 มกราคม 2556
Last Update : 9 กุมภาพันธ์ 2556 21:03:52 น. 2 comments
Counter : 5197 Pageviews.

 
LIKE


โดย: deco_mom วันที่: 31 มกราคม 2556 เวลา:16:20:48 น.  

 
มีปัญหาที่สะสมมานานค่ะ พอถึงจุดที่ทนไม่ไหวแล้วก็รู้สึกว่าเครียด พยายามทำร้ายตัวเอง อยากหนีไปจากจุดที่มีชีวิตอยู่นี้
อยากจะขอความคิดเห็นจากอาจารย์ว่าดิฉันควรจะทำอย่างไร
ถ้าปัญหาที่มีนั้นไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง
แล้วถึงจะอยู่เผชิญหน้าหรือถอยออกมา ปัญหานั้นก็ยังไม่หายไปค่ะ


โดย: fongfoofoo@outlook.com IP: 110.77.136.54 วันที่: 6 สิงหาคม 2557 เวลา:9:06:14 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

kitpooh22
Location :
ตรัง Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 27 คน [?]




สวัสดีครับ
..............................
ขอบคุณที่มาเยี่ยมชม และมาเม้นให้ครับ



ขอบคุณครับ :-)
THX


วันเกิดบล็อก 25/5/2009
Google+
Group Blog
 
<<
มกราคม 2556
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
31 มกราคม 2556
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kitpooh22's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.