katchan...in a nutshell... A blog that marks my journey of growth...
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2553
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
11 มีนาคม 2553
 
All Blogs
 
Feb 2010 : CNY 15 days of happy spring festival

15 วัน แห่งการฉลองเทศกาลตรุษจีน

SmileySmileySmileySmiley


วันขาล เดือนขาล ปีขาล

เทศกาลตรุษจีนในเดือนกุมภาพันธ์นี้ถือเป็นการย่างเข้าสู่ปีใหม่ของชาวจีนอย่างแท้จริง และยังเป็นเดือนแห่งการการเฉลิมฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ ที่พิเศษคือ เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ เป็นทั้งเดือนขาลและปีขาล เราเริ่มศักราชปีขาลด้วยการจัดส้มไปไหว้ปีใหม่กับท่านอาจารย์ใหญ่และอาจารย์หญิงและไปตรวจดวงชะตาประจำปีขาลกันที่โคราช ในวันที่ 9 กพ. โดยมิได้ตั้งใจเลย แต่บังเอิญน้องที่ไปด้วยกันทักขึ้นมาว่า "วันที่ 9 นี้เป็นวันขาล เดือนขาล ปีขาลเลยนะพี่" โหมิน่า.....ชีพจรลงเท้าเชียว ได้เดินทางไกลไปถึงโคราช คนจีนถือว่าเสือเป็นนักกษัตรกลุ่มพาหะ หมายถึงการเดินทาง หรืออุบัติเหตุ ปีนี้เราได้เดินทางไกลใน “วันขาล เดือนขาล ปีขาล” หวังว่าได้เดินทางไกลแล้วจะช่วยแก้เคล็ด ไม่ต้องมีอุบัติเหตุใด ๆ นะค่ะ

หลังจากนี้เราก็เตรียมจัดของไหว้เจ้ามาราธอนกัน เดือนนี้นับ ๆ ไปแล้ว เรียกได้ว่ามีไหว้เจ้ากันทั้งเดือนเลยก็ว่าได้ เริ่มตั้งแต่ไหว้ส่งเจ้าขึ้นสวรรค์ ไหว้สิ้นปี ไหว้ตรุษจีน ไหว้บรรพบุรุษ ไหว้เทพยดาฟ้าดิน ทั้งหมดก็เพื่อให้เป็นสิริมงคล และนำมาซึ่งความสุขความเจริญแก่ครอบครัว ซึ่งคนจีนเค้าจะมีการการฉลองเทศกาลปีใหม่นี้ต่อเนื่องเป็นเวลานานถึง 15 วัน เราก็เลยทำสรุปข้อมูลการไหว้เจ้าไว้สำหรับใช้ปีถัด ๆ ไปท่าจะดี

ไหว้เจ้ารับตรุษจีนปีขาลกัน

8 กุมภาพันธ์ (วันที่ 25 เดือน 12 จีน) ไหว้ “ซิ๊งเจี่ยที" (神上天) ส่ง “เจ่าซิ้ง”( 灶神)

เป็นวันส่งเจ้าขึ้นสวรรค์ซึ่งคนจีนเชื่อกันว่าเป็นวันที่เทพเจ้าทุกองค์เสด็จขึ้นไปเฝ้าองค์เง็กเซียนฮ่องเต้บนสวรรค์ เพื่อรายงานความประพฤติของเจ้าบ้านว่าเป็นอย่างไร ทำความดีอะไรบ้าง พิธีไหว้เจ้าจะเริ่มตั้งแต่ก่อนวันตรุษจีนประมาณ 7 วัน ของไหว้ทั่ว ๆ ไป ประกอบด้วย ขนมอี๊สีชมพู ขนมจันอับ (แต๊เหลี่ยว) ผลไม้ น้ำชา กระดาษเงิน-กระดาษทองไหว้เจ้า กระดาษรูปนก โดยไหว้ “กล่าวขอพรให้เทพเจ้าโปรดอภัยหากเราทำผิดพลาดประการใด ขอนำผลไม้ของหวานเห่านี้มาไหว้สักการะส่งท่านเทพเจ้าขึ้นสวรรค์ และเมื่อท่านกลับมาก็โปรดนำความสิริมงคลมาสู่บ้านเรา” เมื่อไหว้แล้วก็ให้เปิดไฟทิ้งไว้ 10 วัน จนถึงวันที่เจ้าจะเสด็จกลับลงมาในวันที่ 4 ของเดือน 1 (ชิวสี่)

หลังจากวันส่งเจ้าแล้ว ก็ทำความสะอาดเรือนเจ้าที่ หรือเรือนตี่จู้เอี๊ยกัน ถ้าใครที่ยังไม่เคย การทำครั้งแรกต้องดูฤกษ์ทำความสะอาดด้วย

ที่บ้านเราจะจัดของไหว้อีกชุดสำหรับไหว้เจ้าเตาด้วย คนจีนสมัยก่อนให้ความสำคัญกับ เทพเจ้าเตาไฟ “เจ่าซิ้ง” ( 灶神) มาก ถือเป็นเทพเจ้าประจำบ้าน เพราะคนใช้เตาไฟหุงหาประกอบอาหารเพื่อบำรุงร่างกายให้มีสุขภาพแข็งแรง

13 กุมภาพันธ์ (วันที่ 30 เดือน 12 ของจีน) ไหว้ขอบคุณเจ้าวันสิ้นปี ( 灶神)



วันก่อนวันตรุษจีนนั้นเป็นวันไหว้สิ้นปีเพื่อขอบคุณเทพเจ้าถือเป็นวันไหว้ครั้งใหญ่
แบ่งพิธีไหว้เป็น 3 ช่วง

1) ตั้งแต่ช่วงเช้า เริ่มไหว้พระพุทธ พระโพธิสัตว์กวนอิม และไหว้เจ้าที่ (ตี่จู่เอี๊ย) เป็นการไหว้ขอบคุณและตอบแทนที่เทพเจ้าทุกท่านที่คุ้มครองให้เราอยู่ดีมีสุขตลอดปีที่ผ่านมา

2) ในช่วงสายหน่อยจึงจะตั้งโต๊ะไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งปกติเราจะเดินทางไปไหว้กันที่บ้านแม่สามี มีการทำกับข้าวหลาย ๆ อย่าง เพื่อไหว้บรรพบุรุษ ที่บ้านสามีเค้ามีการไหว้ต่อธูปกันสามรอบ กว่าจะไหว้เสร็จก็บ่ายพอดี ได้เวลาทานอาหารที่เหลือจากการไหว้กัน เพราะเชื่อว่าจะทำให้เกิดสิริมงคลกับทุกคน

3) ในช่วงบ่าย บางบ้านอาจจะมีการไหว้ “หอเฮียตี๋” (好兄弟) เผื่อแผ่วิญญาณไม่มีญาติในบริเวณใกล้เคียงด้วย ถือคติว่าอยู่ที่ไหนให้สร้างมิตรที่นั่น รู้จักเผื่อแผ่รอบข้าง

ของไหว้เจ้าที่ในวันสิ้นปี สามารถจัดทั้งแบบ 5 อย่าง-โหงวแซ หรือ 3 อย่าง-ซาแซ โดยที่บ้านเราจัดไหว้ชุดเป็ด ไข่ไก่ กุ้ง (ชุดซาแซที่บ้าน ไม่ได้ไหว้หมู) ของไหว้แต่ละอย่างจะมีความหมายต่างๆกันเช่น กุ้ง หมายถึงชีวิตที่รุ่งเรือง ซาลาเปา ขนมถ้วยฟูสีชมพู เพื่อความเฟื่องฟู น้ำตาลทราย ขนมเข่ง ขนมเทียน ผลไม้มงคล ส้ม เรียกว่า “ไต้กิก” แปลว่า โชคดี องุ่น เรียกว่า “พู่ท้อ” แปลว่า งอกงาม กล้วย “เกงเจีย" มีความหมายถึงการมีลูกหลานสืบสกุล ลูกพลับ มีความหมายว่า ให้มีความสุขตลอดปี



และยังมีกระดาษเงินกระดาษทองหลายรูปแบบ ทั้งแบบเรือมาวนเป็นวง พับทำเป็นกระทง หรือถังเงินถังทอง กิมเต้างึ้งเต้า



จัดอาหารเครื่องบูชาต่างๆ เพื่อสักการะ ไหว้ขอบคุณที่เทพเจ้าให้ความเมตตาคุ้มครองเรา และดูแลบ้าน-ครอบครัวของเรามาตลอดทั้งปี



หลังจากเสร็จพิธีก็ถือโอกาสไปเยี่ยมบ้านแม่เราในตอนบ่าย แล้วก็กลับบ้านในตอนค่ำเพื่อเตรียมตัวไหว้อีกครั้งในช่วงกลางคืนที่กำลังจะข้ามไปสู่วันตรุษจีนค่ะ

14 กุมภาพันธ์ (ชิวอิก - วันที่ 1 เดือน 1 จีน) ไหว้รับไฉ่ซิ้งเอี้ย เทพเจ้าโชคลาภ

คนจีนส่วนใหญ่เชื่อกันว่า ทุกวันขึ้นปีใหม่ ตรุษจีน หรือวันชิวอิก “ไฉ่ซิ้งเอี้ย” ( 財神爺)หรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภความร่ำรวย จะเสด็จมาประทานพร นำความรุ่งเรืองมาสู่คนที่กราบไหว้ท่าน โดยปกติถ้าเป็นการไหว้ครั้งแรกสุดต้องดูฤกษ์ที่ถูกต้องปลอดภัย ไม่เป็นทิศให้โทษของบ้าน และไม่ปะทะปีเกิดของเจ้าบ้าน แต่เนื่องจากเราไหว้มาหลายปีแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องดูฤกษ์ยามที่ไหว้ทุกปี เพราะถือเป็นฤกษ์ต่อเนื่องจากครั้งแรกที่ไหว้ไป
การไหว้จะนิยมไหว้กันในยามแรกของจีนคือยามชวด (จื้อ) ในช่วงเวลา 23.00 – 01.00 น. ของคืนวันสุดท้ายของสิ้นปีที่จะย่างเข้าต่อวันตรุษจีน หรือคืนวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ย่างเข้าวันที่ 14 กุมภาพันธ์



แต่จะปีจะมีทิศทางที่เทพเจ้าจะเสด็จลงมาจากสวรรค์แตกต่างกันทุกปี ในปีนี้ไฉ่ซิ้งเอี้ยจะเสด็จมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนถึงฤกษ์ก็ตั้งโต๊ะไหว้กลางแจ้งหันหน้าไปทางทิศที่ท่านจะเสด็จมาในแต่ละปี และเตรียมของไหว้ โดยให้กระถางธูป และรูปเทพเจ้า อยู่ที่ปลายโต๊ะ



ของไหว้ไฉ่ซิ้งประกอบด้วย
  • เทียนแดง 1 คู่
  • กิมฮวย
  • กระถางธูปใส่ข้าวสาร (ไหว้เสร็จแล้วเอาข้าวสารไปหุงรับประทานในภายหลัง)
  • แจกันดอกไม้สด
  • น้ำเปล่าใส่ก้านทับทิมไว้พรมตัว พรมบ้าน เพื่อสิริมงคล
  • เทียบเชิญ กระดาษเงินทองสำหรับไหว้ (เช่นหงิ่งเตี๋ย 13 ชุดขึ้นไป ค้อซี กิมเต้าหงิ่งเต้า 1 คู่ เทียงเถ่าจี้)
  • ขนมอี๊บัวลอย
  • ผลไม้มงคล 5 ชนิด (จะมีแก้วมังกรเสมอเพื่อเป็นเคล็ดให้ขอพรสำเร็จด้วย)
  • ขนมจันอับ ช้อคโกแลตรูปทองก้อน (เพื่อความเฮง ๆ รวย ๆ)
  • ซาลาเปาใส้เจและครีม เจฉ่ายผัดเป็นกับข้าว
  • ข้าวสวย น้ำชา
  • น้ำตาลกรวดติดสัญลักษณ์มงคล




เมื่อได้ฤกษ์แล้วก็จุดธูปไหว้ บอก “วัน เดือน ปี ชื่อสกุล ที่อยู่....ขออัญเชิญเทพเจ้าแห่งโชคลาภโปรดเสด็จมารับของไหว้ และนำโชคลาภมาให้กับข้าพเจ้าและคนในครอบครัว”
รอสักพักจึงเอากระดาษไปเผา ลาของไหว้ และเก็บโต๊ะ แล้วจึงอัญเชิญรูปเทพเจ้า พร้อมทั้งกระถางธูปเข้ามาในบ้าน เราไหว้มาหลายปีแล้ว เรื่องโชคลาภทางการเงินก็ดีขึ้นดีขึ้นตามลำดับด้วยเช่นกัน



เมื่อย่างเข้าวันปีใหม่ บุคคลแรกที่พบและคำพูดที่ได้ยินคำแรกของปีมีความหมายสำคัญมาก ดังนั้นอย่าลืมกล่าวคำอวยพรซึ่งกันและกันให้ อยู่ดีมีสุข ร่ำรวย และอายุยืน เฮง เฮง เฮง

นอกจากนี้ อาหารมื้อแรกที่ควรทานคือ อาหารเจ เพื่อเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เราจึงทานอาหารที่ทำ ถวายเทพเจ้าไฉ่ซิ้งเอี้ยกัน มีเจฉ่ายผัดเป็นกับข้าว และขนมอี๊บัวลอยสีชมพู เป็นการงดเนื้อสัตว์และทำบุญต่ออายุเพื่อนำมาซึ่งความสุขในชีวิตตลอดปีค่ะ

14 กุมภาพันธ์ (ชิวอิก - วันที่ 1 เดือน 1 จีน) ไหว้รับตรุษจีน

  • - “วันถือ” ”(初一) ในวันนี้ทุกคนจะเน้นใส่เสื้อผ้าสีแดง (หรือสีชมพู) ถือเป็นสีที่เป็นมงคลของชาวจีน
  • - วันนี้จะต้องไม่โกรธ ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง หรือ ไม่พอใจ ห้ามทำการปัดกวาดเช็ดถู หรือทำข้าวของแตกเสียหาย ให้คิดพูดทำแต่สิ่งที่ดี เพื่อเป็นสิริมงคลที่ดีสำหรับปีใหม่ที่มาถึง
  • -มีการไหว้อีกครั้ง จัดส้ม น้ำชา และขนมอี๊สีชมพู สักการะขอให้เทพเจ้าคุ้มครองในปีใหม่ที่มาถึงนี้ตลอดทั้งปี
  • -หลังจากนั้นก็ออกเดินทางไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ เพื่อไปกล่าวสวัสดีปีใหม่ ซิงเจียยู่อี่ ซิงนี้ฮวดไช้ และขอพรพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ นำ "ไต่กิก" ( 大桔) ผลส้มไปเป็นจำนวน "คู่" 2 หรือ 4 ลูก ไปแลกเปลี่ยน และอวยพรซึ่งกันและกัน
  • -กิจกรรมที่สำคัญในวันนี้คือ อั่งเปา เป็นการแจกแต๊ะเอียไปให้น้อง ๆ หลาน ๆ กัน และนัดทานข้าวรวมหมู่ญาติกันเป็นธรรมเนียมทุกปี




ปีนี้เราได้เริ่มวันตรุษจีนปีใหม่ด้วยกิจกรรมบุญดี ๆ ด้วย คือเราได้เดินทางไปร่วมทำบุญงานพิธีเททองหล่อหลวงพ่อพุทธโสธรองค์จำลอง และยกช่อฟ้าอุโบสถ วัดหลวงพ่อโอภาสี ขอเอาภาพงานบุญมาฝากให้ทุกท่านร่วมกันอนุโมทนาค่ะ



17 กุมภาพันธ์ (ชิวสี่ - วันที่ 4 เดือน 1 จีน) ไหว้รับเจ้า “ซิ้งเหลาะที” ( 神下天)

“ชิวสี่” ”(初一) เป็นวันที่ไหว้รับ “เจ่าซิ้ง” (เทพเจ้าเตาไฟ) หรือ เจ้าที่ตรงตี่จู่เอี้ย กลับจากเข้าเฝ้าองค์เง็กเซียนฮ่องเต้บนสวรรค์ เพื่อกลับเข้าบ้าน จัดของไหว้รับท่านหมือนตอนไหว้ส่งท่าน มีกระดาษเงิน-ทองและมีกระดาษรูปม้าเพิ่มมาอีก ในวันนี้จะมีการเปลี่ยนกิมฮวยและอั่งติ้ว (ผ้าคาดกระถางสีแดง)ใหม่ด้วย

นับจากวันชิวอิกไปเป็นระยะเวลา 3 วัน ช่วงนี้คนจีนจะหยุดร้านค้า เพื่อเดินทางไปเยี่ยมเยียนญาติ ๆ และเริ่มกลับมาเปิดทำงานกันในวันที่ห้าของเทศกาลตรุษจีน หลังจากไหว้รับเจ้าในวันชิวสี่เรียบร้อยแล้ว

21 กุมภาพันธ์ “ชิวเก้า” (วันที่ 9 ของเดือน 1 ของจีน) ไหว้ทีกงแซ

ในช่วงเช้าวันนี้เราไปร่วมงาน สมโภชพระโพธิสัตว์กวนอิมหยกขาว 3 ปาง องค์แรก และองค์เดียวที่ใหญ่ที่สุดของโลกจากประเทศจีน ที่ได้นำมาประดิษฐานให้ที่ วัดยานนาวา พระโพธิสัตว์ทำจากหยกขาวทั้งองค์ มีทั้ง 3 ปาง คือ ปางเมตตา ปางปัญญา และปางสันติ ซึ่งเป็นองค์แรกและองค์เดียวของโลกสวยงามมากเลยทีเดียว ใครยังไม่ได้ไปไหว้อย่าลืมแวะไปกันนะค่ะ




"ชิวเก้า" ( 初九) วันเกิดเทพยดาฟ้าดิน เรียกว่าวัน "ทีกงแซ" ( 天公 生)
ในคืนวันที่ 8 หรือที่เรียกว่า “ชิวโป๊ยแม้” (初八夜) ช่วงเวลาต่อที่ย่างเข้าสู่วันที่ 9 (ยามแรกของวันในช่วง 23.00 – 01.00 น.) จะมีพิธีบูชาเทพยดาฟ้าดิน และเทพธรรมบาลทั้ง 24 พระองค์ โดยในปีนี้เราไปไหว้กันที่โรงเจเก่งเต็กเซี่ยงตึ๊งในซอยวัดลาดบัวขวัญ



วันนี้ได้ทานต้มผักมงคลเจ็ดชนิดที่เรียกว่า “ชิกเอี่ยไฉ่” (七樣菜) ที่ทางโรงเจทำไว้ไหว้ วันชิวฉิก ซึ่งเป็นประเพณีกินผัก 7 อย่างที่เป็นศิริมงคลกันมาตั้งแต่โบราณด้วย

หลังจากนั้นก็เข้าร่วม พิธีถวายเต็ง (ตะเกียง) ใหม่ ในช่วงเวลา 21.00 และมี สวด "พะเก่ง" (拍敬) ขอพรสะเดาะเคราะห์เสริมดวงชะตาในช่วงปีใหม่







มีการตั้งโต๊ะบูชา เทพยาฟ้าดิน และของไหว้บนโต๊ะจัดอย่างสวยงามอลังการ พระสงฆ์จีนเป็นผู้ทำพิธีสวดถวายบูชา โดยเริ่มสวดกันตั้งแต่ก่อนห้าทุ่มจนเลยเที่ยงคืน หลังจากนั้นก็มีพิธีเวียนเทียน เวียนธูป อธิษฐาน รอบศาลเจ้า 3 รอบ ตั้งจิตอธิษฐาน ระลึกถึงเทพยดาฟ้าดิน ขออำนาจเทพยดาที่เรานับถือ พระแม่กวนอิมโพธิสัตว์ หลวงปู่ไต้ฮงกง ช่วยดลบันดาลให้ประสบโชคดีตลอดปีใหม่ และเมื่อเสร็จพิธีก็ร่วมกันทานสาคูที่ทำพิธีด้วยเพื่อความเป็นสิริมงคล







เทศกาลปิดท้ายของการฉลองตรุษจีนคือ ไหว้วันจับโหงวแม้ (十五夜) ในวันที่ 15 เดือน 1 จีน

วันนี้จะมีการนำของไปไหว้ถวายตามศาลเจ้า ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ ขนมหวาน น้ำตาลทราย น้ำตาลสิงห์ด้วย ผู้คนจะแย่งกันไปไหว้และปักธูปเป็นคนแรกของแต่ละศาลเจ้าที่ตนเองนับถือ ตามประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่โบราณ โดยเชื่อกันว่า จะส่งผลให้ตลอดทั้งปีมีแต่ความโชคดี

วันจับโหงวแม้ปีนี้ เราเดินทางไปไหว้เจ้าขอพรปีใหม่ที่ฮ่องกง มีผู้คนเบียดเสียดเข้าร่วมประเพณีแย่งปักธูปกันอย่างล้นหลาม ในวันนั้นเราจึงเลือกไปทำบุญถวายสังฆทานที่วัดไทยในฮ่องกง และจึงค่อยไปไหว้เจ้าหลังจากวันจับโหงวแม้ผ่านไปแล้ว ส่วนตัวเราคิดว่า ขอเพียงมีจิตศรัทธา ก็สามารถมาเคารพสักการะเพื่อปักธูปดอกแรกของตนที่ศาลเจ้าได้ทุกเวลา ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นช่วงเช้ามืดของวันเทศกาลสำคัญ ๆ เท่านั้น

ในปีนี้วันจับโหงวแม้ตรงกับวันมาฆบูชาด้วย ซึ่งเราก็ได้ร่วมกับเพื่อน ๆ บริจาคปัจจัย จำนวนรวม 14,120 เพื่อร่วมสร้างกุฏิกรรมฐาน ณ วัดป่าเจริญราชในงานทอดผ้าป่าสามัคคีที่จัดในวันเสาร์ที่ 27กุมภาพันธ์ นี้ ณ ศาลาปฏิบัติธรรม วัดป่าเจริญราช ขออนุโมทนาบุญกับท่านผู้มีจิตศรัทธาทุกท่านมาในครั้งนี้ด้วยค่ะ

..............ถือเป็นการเสร็จสิ้นกระบวนการเฉลิมฉลองทั้ง 15 วันแห่งความสุขและอิ่มบุญในเทศกาล “ตรุษจีน” ปีขาลของเราค่ะ...

ซิงเจียยู่อี่ ซิงนี้ฮวดไช้ 新 正 如 意 - 新 年 發 財

ขอให้ทุกท่านประสบแต่ความสุข ความรุ่งเรือง เฮงเฮง รวยรวย
สุขภาพแข็งแรง แคล้วคลาดภยันอันตรายทั้งปวง
คิดสิ่งใดสมปรารถนา ตลอดในปีเสือที่มาถึงนี้นะค่ะ

Smiley Smiley Smiley




Create Date : 11 มีนาคม 2553
Last Update : 8 กุมภาพันธ์ 2554 15:02:05 น. 5 comments
Counter : 10007 Pageviews.

 
โอ้โห...ท่าทางจะอิ่มบุญน่าดู อิอิ


โดย: Ezy-SeaHill วันที่: 12 มีนาคม 2553 เวลา:8:17:50 น.  

 
ดีจริงๆ เลยกระแต มีเกร็ดความรู้เกี่ยวกับงานพิธีต่างๆ เยอะดี ชอบๆ เขียนอีกนะ ^_^


โดย: Poon IP: 124.120.139.94 วันที่: 31 มีนาคม 2553 เวลา:0:03:36 น.  

 
เป็นอะไรที่สวยงามมาก ข้าพเจ้าไม่เห็นมาก่อน ถูกใจมาก ๆ ยกนิ้วให้ WORK มาก ๆ


โดย: Pom IP: 180.183.73.221 วันที่: 3 พฤศจิกายน 2554 เวลา:17:07:13 น.  

 
เป็นอะไรที่สวยงามมาก ข้าพเจ้าไม่เห็นมาก่อน ถูกใจมาก ๆ ยกนิ้วให้ WORK มาก ๆ


โดย: Pom IP: 180.183.73.221 วันที่: 3 พฤศจิกายน 2554 เวลา:17:07:33 น.  

 
ขอถามหน่อยครับว่าที่บ้านได้ตั้งหิ้งเจ้าเตาเปล่าคับ
แล้ววันส่งเจ้าคุณส่งเจ้าเตาด้วยรึเปล่าเเล้วคุณไหว้ยังงัย


โดย: ตั้ม IP: 110.49.240.205 วันที่: 30 มิถุนายน 2555 เวลา:17:10:49 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

katchan
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




Color Codes ป้ามด
Friends' blogs
[Add katchan's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.