ธันวาคม 2558

 
 
1
2
3
4
5
6
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
กัญญามน อินหว่าง: การพัฒนาจริยธรรมในองค์การ

การพัฒนาจริยธรรมในองค์การ

แนวคิดด้านจริยธรรม

จริยธรรม (Morality) จริยธรรมเป็นประมวลกฎเกณฑ์ความประพฤติหรือกฎเกณฑ์ข้อบังคับที่กำหนดขึ้นไว้เป็นแนวปฏิบัติสำหรับมนุษย์ หรือกล่าวได้ว่าจริยธรรม หมายถึง ลักษณะทางสังคมหลายลักษณะของมนุษย์และมีขอบเขตรวมถึงพฤติกรรมทางสังคมประเภทต่างๆที่เป็นพฤติกรรมที่สังคมนิยมชมชอบให้การสนับสนุนและผู้กระทำส่วนมาก เกิดความพอใจว่าการกระทำนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม และลักษณะที่สังคมไม่ต้องการให้มีอยู่ในสมาชิก

จริยธรรมแบ่งได้เป็นหลายประเภท ในที่นี้จะอธิบายถึง จริยธรรมในตัวบุคคลและจริยธรรมในอาชีพ ดังนี้ (พูนฤดี สุวรรณพันธุ์,2550)

1. จริยธรรมในตัวบุคคล ได้แก่คุณธรรมที่มีอยู่ในตัวบุคคลซึ่งบุคคลใช้ในการดำเนินชีวิต เช่น ความรอบคอบความกล้าหาญ การรู้จักประมาณ การมีความยุติธรรม ตลอดจนจริยธรรมที่เกี่ยวกับสุขภาพเช่น การรู้จักวิธีรักษาสุขภาพทางกาย สุขภาพทางจิตจริยธรรมที่เกี่ยวกับการใช้เสรีภาพ เช่น การรู้จักใช้เสรีภาพอย่างถูกต้องการเคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกัน จริยธรรมที่เกี่ยวกับความซื่อตรงหรือหลักการในการดำรงชีวิต เช่น การมีปรัชญาที่เหมาะสมในการดำรงชีวิต เป็นต้น

2. จริยธรรมในอาชีพเป็นคุณธรรมหรือหลักปฏิบัติที่ผู้ประกอบอาชีพต่างๆ พึงยึดถือในการประกอบอาชีพของตนผู้ประกอบอาชีพนั้นๆ จำเป็นต้องมีจริยธรรมไม่ว่าจะเป็นงานราชการหรือธุรกิจเอกชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาเฉพาะด้านที่มีผลกระทบต่อสวัสดิภาพหรือสิทธิของบุคคลทั่วไปเช่น แพทย์ ทนายความ นักสังคมสงเคราะห์ วิศวกร นักธุรกิจแขนงต่างๆรวมทั้งธุรกิจด้านงานบริการ ซึ่งผู้ให้บริการจำเป็นจะต้องมีจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่เพราะงานบริการมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากธุรกิจด้านอื่น คือการนำเสนอบริการจำเป็นต้องอาศัยบุคคลเป็นผู้นำเสนอโดยตรงต่อผู้รับบริการเป็นส่วนใหญ่ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าจริยธรรมในงานบริการเป็นหลักปฏิบัติที่มุ่งให้บริการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตมุ่งสร้างความพึงพอใจให้กับผู้รับบริการด้วยจิตสำนึกในบทบาทของการให้บริการ เช่นการที่พนักงานแผนกบริการส่วนหน้าของโรงแรมพูดเสนอขายห้องพักประเภทต่างๆของโรงแรมแก่ผู้มารับบริการซึ่งหากพนักงานรู้จักใช้วาจาหรือคำพูดที่สุภาพไพเราะเปี่ยมไปด้วยจริยธรรมไม่โกหก หลอกลวงผู้มารับบริการโดยตรง เช่นการผลิตเสื้อผ้าแล้วจัดส่งไปวางขายตามห้างสรรพสินค้าต่างๆซึ่งผู้ผลิตไม่ได้พบปะและเสนอขายเสื้อผ้าที่ตนผลิตกับลูกค้าโดยตรงแต่ดำเนินการโดยอาศัยคนกลางคือ พนักงานของห้างสรรพสินค้าเป็นผู้เสนอขายแทน เป็นต้น

เนื่องจากจริยธรรมมีความสำคัญและจำเป็นต่อการประกอบอาชีพต่างๆในบางอาชีพจึงได้มีการนำจริยธรรมที่ผู้ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพนั้นๆพึงยึดถือปฏิบัติมารวบรวมและประมวลขึ้นเป็นแนวปฏิบัติที่ชัดเจน เรียกว่า“จรรยาบรรณ” หรือ “จรรยาวิชาชีพ” ของอาชีพนั้นๆ ซึ่งมีความหมายครอบคลุมถึงมาตรฐานคุณค่าแห่งความดีงามของการกระทำหรือการแสดงพฤติกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพนั้นๆ เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพนั้นๆได้ปฏิบัติหน้าที่ตามเป้าหมายโดยยึดหลักและมาตรฐานเดียวกันอีกทั้งยังเป็นการคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ของประชาชนด้วย เช่น จรรยาบรรณของแพทย์จรรยาบรรณของนักสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น

สำหรับจริยธรรมทางธุรกิจหมายถึง กลไกในการจัดการกับองค์ประกอบของการดำเนินการทั้งในด้านมาตรฐานการผลิตสินค้าและการบริการเพื่อประสิทธิผลสูงสุดของธุรกิจและให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายกล่าวคือ ทั้งเจ้าของกิจการ ผู้บริหาร ผู้ร่วมงาน ผู้บริโภค ผู้รับบริการ รัฐบาลและสังคม ซึ่งมีความสัมพันธ์ร่วมกัน

ดังนั้นในองค์การทั่วไปจะมีบุคลากรที่มีพฤติกรรม 2 แบบ คือ พฤติกรรมคนดีและพฤติกรรมคนเก่ง ซึ่งองค์การใดมีบุคคลที่มีพฤติกรรมดังกล่าวในบุคคลเดียวกันแล้วองค์การนั้นจะมีความเจริญก้าวหน้าและประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน ในทางตรงกันข้าม หากองค์การใดมีบุคลากรที่มีพฤติกรรมคนเก่งอยู่เป็นจำนวนมากแต่ขาดพฤติกรรมคนดีองค์การนั้นย่อมไม่เจริญ และอาจก้าวเข้าสู่ความหายนะในที่สุด ดังนั้นการพัฒนาจรรยาบรรณในบุคลากรจึงเป็นงานหลักประการหนึ่งขององค์การ หากธุรกิจมีจริยธรรมก็ย่อมเป็นที่ยอมรับและได้รับความเชื่อถือ ได้รับโอกาส มีความได้เปรียบเชิงธุรกิจและมีแนวโน้มทางการแข่งขันมากยิ่งขึ้น

ประโยชน์ของจริยธรรม

จากการศึกษาพบว่า จริยธรรมก่อให้เกิดความเชื่อถือ (Credit) โดยธรรมชาติความเชื่อถือนั้นเกิดจากความซื่อสัตย์ ดังนั้นคนที่มีจริยธรรมดีด้วยความซื่อสัตย์เสมอย่อมได้รับความเชื่อถือและความเชื่อถือ นอกจากนี้ ยังพบว่า จริยธรรมก่อให้เกิดการทุ่มเท (Devotion) หากบริษัทนั้นมีผู้ยำและผู้ตามที่มีจริยธรรมผู้บริหารสามารถปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนอย่างมีมนุษยธรรมและมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง พนักงานย่อมทุ่มเทความสามารถต่อการทำงานหรืออย่างเต็มกำลังความสามารถ รวมทั้งก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดี (Good Image) ซึ่งภาพลักษณ์ที่ดีมีผลต่อตำแหน่งทางการค้าของบริษัท (Positioning) และต่อความภักดีที่ผู้บริโภคมีต่อสินค้าและบริการของบริษัท (Brand Royalty) ซึ่งตำแหน่งทางการค้ามีผลโดยตรงต่อการกำหนดราคา (Pricing) และความภักดีต่อสินค้าและบริการมีผลต่อยอดขาย (Sales Volume) ซึ่งราคาขายและยอดขายมีผลโดยตรงต่อกำไร และจริยธรรมก่อให้เกิดการทำงานอย่างมีความสุข เมื่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับบริษัทไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นผู้ร่วมงานในบริษัทคู่ค้า ลูกค้า รัฐบาล และสังคมต่างก็มีจริยธรรมอันดีต่อกันย่อมเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดี และความอบอุ่นขึ้นทุกฝ่ายจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสบายใจ และไม่มีปัญหาบาดหมางใจกันเกิดขึ้นหรือหากมีบ้างโดยอุบัติเหตุก็จะแก้ไขได้โดยง่าย การทำงานอย่างมีจรรยาบรรณต่อตนเองและต่อกันและกัน จึงเป็นวิธีการทำงานที่เป็นสุข

จริยธรรมในองค์การธุรกิจ

โดยทั่วไปองค์การธุรกิจมีบทบาทที่สำคัญด้านการผลิตสินค้าและบริการเพื่อสนองความต้องการของประชาชน เป็นแหล่งรับซื้อปัจจัยทางการผลิตเป็นแหล่งการจ้างงาน เป็นแหล่งรายได้ของรัฐในการเสียภาษีอากรรวมทั้งยังมีบทบาทที่คาดหวังให้ธุรกิจดำเนินการได้ตามความต้องการของสังคมและบทบาทในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในด้านการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้า และบริการอย่างเป็นธรรมต่อผู้บริโภคการเป็นนายจ้างที่ยุติธรรม การเป็นผู้ซื้อปัจจัยการผลิตในราคาที่เป็นธรรมบทบาทที่มีต่อคู่แข่งขัน และบทบาทในด้านการประสานประโยชน์ระหว่างผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมกับธุรกิจมีหลายฝ่ายด้วยกันทั้งที่อยู่ภายในและภายนอกองค์การ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่ละฝ่ายต่างก็มีความคาดหวังต่อธุรกิจที่แตกต่างกัน

ความสำเร็จของธุรกิจนั้นส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับว่าธุรกิจของตนจะสามารถตอบสนองได้ดีเพียงใดต่อความคาดหวังและข้อเรียกร้องใหม่ๆของสังคมที่มีต่อธุรกิจ ดังนั้นผู้บริหารธุรกิจขนาดใหญ่จึงเปลี่ยนจากความสนใจเฉพาะการแสวงหาวิธีการผลิตและการจัดการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดมาเพิ่มความสนใจในเรื่องกลยุทธ์ในการปรับนโยบายทางธุรกิจของตนให้เข้ากับความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเช่น การสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น เน้นการผลิตสินค้าที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

สำหรับตัวอย่างของนักธุรกิจในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เช่น การอนุรักษ์การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้นั้นก่อให้เกิดผลกระทบหรือเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติหรือไม่

การวางแผนพัฒนารักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของธุรกิจได้มีการจัดตั้งแผนกคุณภาพสิ่งแวดล้อม (Environmental Quality Control) ขึ้นในหลายธุรกิจมีหน้าที่รับผิดชอบในด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งภายในโรงงาน และบริเวณใกล้เคียงตรวจสอบและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติไว้ให้มากที่สุดนับเป็นบทบาทที่สำคัญทางธุรกิจในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

จริยธรรมของนักธุรกิจ

นักธุรกิจเป็นอาชีพที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศชาติดังนั้น นักธุรกิจจึงจำเป็นต้องมีลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการแสดงจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ และสังคมที่อยู่ซึ่งนักธุรกิจควรมีความรับผิดชอบต่อลูกค้า เพราะลูกค้าเป็นกลุ่มบุคคลที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ธุรกิจดำเนินกิจการต่อไปได้ลูกค้าเป็นผู้ซื้อสินค้าและใช้บริการซึ่งทำให้ธุรกิจต่างๆ ดังนั้น ลูกค้าควรได้รับการปฏิบัติอย่างซื่อสัตย์และเป็นธรรม หากนักธุรกิจไม่สามารถรักษาลูกค้าของตนเองไว้ได้ ก็ไม่สามารถรักษาธุรกิจของตนไว้ได้เช่นกัน นักธุรกิจควรปฏิบัติต่อลูกค้าในด้านการขายสินค้าและบริการในราคายุติธรรมขายสินค้าและบริการให้ถูกต้อง ตามจำนวน คุณภาพ ราคาที่ได้ตกลงกันไว้และมีความรับผิดชอบตามภาระผูกพันของตน ควรดูแลและให้บริการแก่ลูกค้าทุกคนอย่างเท่าเทียมกันละเว้นการกระทำใดๆ ที่จะควบคุมการตัดสินใจของลูกค้าในการซื้อหรือรับบริการ เช่น การกักตุนสินค้าปล่อยข่าวอันเป็นเท็จเพื่อให้ลูกค้าหลงเชื่อและให้บริการอย่างมีน้ำใจไมตรี มีอัธยาศัยที่ดีต่อกัน

ความสำคัญที่สุดของนักธุรกิจ คือ บุคลากรหรือพนักงานถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญในการประกอบธุรกิจและเป็นทรัพยากรที่มีค่าของธุรกิจอาจกล่าวได้ว่า การมีพนักงานที่ดี รู้งาน มีความซื่อสัตย์ ขยันขันแข็งจะทำให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพในผลงานทำให้นักธุรกิจมีภาระในการแก้ไขปัญหาน้อยลง และสามารถปฏิบัติงานด้านอื่นได้มากขึ้นนักธุรกิจที่ดีจะต้องศึกษาและมีความรู้ว่าควรจะบริหารพนักงานให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้นและทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพได้นานที่สุดได้อย่างไรนักธุรกิจจึงควรปฏิบัติต่อบุคลากรโดยยึดหลักการให้ค่าจ้างและผลตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถและลักษณะงานรวมทั้งการให้รางวัลเมื่อธุรกิจมีกำไรมากขึ้น หรือธุรกิจดีขึ้น ควรเอาใจใส่ในสวัสดิการ สถานที่ทำงานสภาพการทำงาน และสภาพความเป็นอยู่ของพนักงานให้ถูกสุขลักษณะ มีความปลอดภัยและจัดหาเครื่องป้องกันภัยอันอาจเกิดในการทำงานรวมทั้งดูแลสุขภาพของพนักงานให้เหมาะสมกับสภาพการทำงานด้วยพัฒนาให้ความรู้เพื่อเพิ่มความชำนาญและประสบการณ์ของพนักงานด้วยการให้การฝึกอบรมให้ความรู้ความเข้าใจในงานที่เขาทำเป็นอย่างดีซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิผลของงานสำหรับธุรกิจโดยตรง ให้ความเป็นธรรมในการปกครองและพิจารณาผลตอบแทนไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ให้โอกาสในการแสดงความสามารถเท่าเทียมกันรวมทั้งให้สามารถออกความคิดเห็นได้โดยเสรีควรเคารพสิทธิส่วนบุคคลและความสามารถของพนักงานและเก็บรักษาข้อมูลส่วนตัวไว้เป็นอย่างดี ไม่แจกจ่ายหรือเปิดเผยโดยไม่ได้รับอนุญาต และควรสนับสนุนให้พนักงานได้ประพฤติตนเป็นพลเมืองดีมีโอกาสทำประโยชน์ต่อสังคม

นอกจากนี้ควรมีจริยธรรมกับคู่แข่ง ด้วยการแสดงความมิตรมากกว่าศัตรูซึ่งในปัจจุบันมีการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจมากขึ้นกว่าการใช้หลักการต่อสู้ นักธุรกิจจึงควรปฏิบัติต่อคู่แข่งขัน โดยไม่ใช้การกลั่นแกล้งใส่ร้ายป้ายสี ทับถม ไม่ว่าโดยทางตรงทางอ้อม หรือด้วยการข่มขู่และกีดกันอันจะทำให้คู่แข่งเสียโอกาสอย่างไม่เป็นธรรม เช่น การขายตัดราคาการทุ่มเทสินค้าเข้าตลาดการแย่งขายเมื่อลูกค้าได้ตกลงใจที่จะซื้อจากคู่แข่งขันแน่นอนแล้วการเอาข้อมูลของคู่แข่งขันมาโดยมิชอบ แต่ควรให้ความร่วมมือในการแข่งขันเพื่อสร้างสภาวะตลาดที่ดี เช่น การให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือสร้างสรรค์สินค้าหรือบริการใหม่ๆเป็นการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจที่ดี

นักธุรกิจจะต้องเกี่ยวข้องกับสังคม ชุมชนมากยิ่งขึ้น เช่น หน่วยราชการ เพราะนักธุรกิจมักมีปัญหาจากความไม่เข้าใจการทำงานไม่เข้าใจหลักการและเหตุผลของรัฐหรืออาจเป็นว่านักธุรกิจเองมีความรู้เฉพาะในเรื่องของตนไม่ได้มองเห็นภาพรวมทั้งหมด ดังนั้นจึงควรศึกษาข้อมูลต่างๆทั้งในด้านข่าวสารข้อมูลทางภาษีอากรการจัดส่งข้อมูลให้กับกระทรวงพาณิชย์ หรือหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งทางกฎหมายและการเงินตลอดจนการผลิตสินค้าที่ต้องเกี่ยวข้องด้านการขอฉลากหรือใบอนุญาตใดๆที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการบริการดังนั้น นักธุรกิจควรปฏิบัติต่อหน่วยราชการ อย่างตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์สุจริตปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายในการทำธุรกิจ ทำบัญชีเสียภาษีให้รัฐอย่างถูกต้องตรงตามลักษณะของธุรกิจไม่เปิดโอกาสให้ข้าราชการประพฤติมิชอบในธุรกิจของตน สิ่งสำคัญคือต้องละเว้นจากการติดสินบนจ้างวานข้าราชการเพื่ออำนวยความสะดวกให้ตนในการประกอบธุรกิจใดๆแม้ว่าธุรกิจนั้นจะไม่ผิดกฎหมายก็ตาม และละเว้นจากการให้ของขวัญ หรือของกำนัลใดๆ ที่แสดงให้เห็นถึงเจตนาไม่ชอบเพื่อความสะดวกสบายในการติดต่อและควรมีมีทัศนคติที่ถูกต้องและมีความเชื่อถือต่อหน่วยราชการเป็นเบื้องต้น เพราะปัจจุบันหน่วยงานราชการได้มีการปรับเปลี่ยนระบบโครงสร้างต่างๆให้เสมือนกับหน่วยงานทางธุรกิจมากขึ้น

จริยธรรมของนักธุรกิจต่อสังคมถือว่าเป็นหัวใจสำคัญประการหนึ่งที่นักธุรกิจหลีกเลี่ยงมาได้อีกต่อไปเนื่องจากคนในสังคมและบุคคลมีความแตกต่างกันโดยสถานะ อาชีพ ศาสนา เชื้อชาติและความเชื่อในเรื่องต่างๆ การที่ทุกคนที่มีความแตกต่างเหล่านั้นจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขและพอใจในสภาพความเป็นอยู่ตามสภาวะของตนนั้นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกคนที่เป็นสมาชิกของสังคมช่วยกันสร้างสรรค์สภาพแวดล้อม สภาพธรรมชาติ พัฒนาอนามัยสังคม ทั้งทางวัตถุและจิตใจมีการรับการให้อย่างสมดุลนักธุรกิจควรยึดถือเป็นความรับผิดขอบในอันที่จะมีส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคมให้เจริญก้าวหน้าต่อไปโดยหลีกเลี่ยงการทำธุรกิจที่สนับสนุนให้เกิดการทำผิดกฎหมาย เช่น การรับซื้อของโจร การทิ้งน้ำเสียหรือของเสียนอกโรงงานทำลายบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมของชุมชน ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่นการตัดไม้ทำลายป่า การค้าสัตว์และของป่า การรุกล้ำทางน้ำสาธารณะ หรือที่สาธารณะเพื่อประโยชน์ส่วนตน ดังนั้นการประกอบกิจการของตนมิให้เป็นต้นเหตุก่อมลภาวะให้สิ่งแวดล้อมและสังคมเช่น การจัดระบบระบายน้ำทิ้ง การป้องกันน้ำเสียที่จะไหลลงสู่แม่น้ำลำคลองการป้องกันเรื่องเสียงและกลิ่น การเก็บรักษาขนส่งวัสดุมีพิษและวัตถุระเบิดให้เป็นไปตามมาตรการรักษาความปลอดภัยการระมัดระวังในการใช้ภาชนะบรรจุสารปนเปื้อน รวมทั้งระบบป้องกันอัคคีภัยอันเป็นการป้องกันภัยให้ชุมชนได้ รวมทั้งให้ความเคารพในสิทธิทางปัญญาของผู้อื่นหรือธุรกิจอื่นไม่ลอกเลียนความคิดการผลิตลอกเลียนของต้นแบบของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ความร่วมมือกับทุกฝ่ายในชุมชนเพื่อการสร้างสรรค์สังคมโดยการสละเวลากำลังกาย กำลังทรัพย์ตามความเหมาะสมของตน ในการดำเนินธุรกิจนักธุรกิจควรให้ความสนใจในเรื่องการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนให้สอดคล้องกับศักยภาพของชุมชนนั้นๆซึ่งจะสามารถทำให้ธุรกิจก้าวหน้าและยังทำให้สังคมมีคนที่มีคุณภาพ มีรายได้และพอใจในชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง

การพัฒนาจริยธรรมในองค์การ

การพัฒนาจริยธรรมในองค์การ เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะบุคลากรและผู้บริหารตลอดจนผู้ประกอบการอาจมีการขัดเกลาทางสังคมที่แตกต่างกัน ดังนั้นหากมีการพัฒนาด้วยการอบรม การให้ความรู้ความเข้าใจอย่างต่อเนื่องรวมทั้งให้เข้าใจถึงวิสัยทัศน์หรือการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นด้านวิสัยทัศน์ของจริยธรรมในธุรกิจนั้นๆอย่างจริงจังก็จะสามารถก่อให้เกิดประโยชน์รวมทั้งหากแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมขององค์การที่เด่นชัดในด้านจริยธรรมความโปร่งใสในการทำธุรกิจ การมีธรรมมาภิบาลในการบริหารงาน เพื่อการตรวจสอบได้ตลอดจนการแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของบุคลากรและธุรกิจที่ถูกต้องเหมาะสมก็จะสามารถทำให้ธุรกิจนั้นยั่งยืน

การพัฒนาจรรยาบรรณในองค์การเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ดังนั้นต้องมีอำนาจหน้าที่ของผู้บริหารที่ชอบธรรมในการดำเนินการจึงจะประสบความสำเร็จได้ผู้บริหารระดับสูงขององค์การจะต้องมีส่วนร่วมและริเริ่ม ซึ่งถ้าผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้นำในการพัฒนาจริยธรรมก็จะประสบความสำเร็จได้ ดังนั้น ผู้ที่จะเป็นผู้นำในการพัฒนาจริยธรรมในองค์การจะต้องเป็นผู้ที่เชื่อถือได้และเป็นแบบอย่างที่ดีซึ่งสามารถเริ่มจากการวางนโยบายด้านจริยธรรมโดยเริ่มจากฝ่ายทรัพยากรมนุษย์เป็นอันดับแรกและต้องทำให้บุคลากรทุกคนเข้าใจว่า การพัฒนาคือการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าหรือสภาวะที่ ดังนั้นต้องมีการวางแผน มีขั้นตอนที่ถูกต้องเหมาะสมโดยใช้หลักการทั้งด้านการจูงใจทางพฤติกรรมศาสตร์ ด้านภาวะผู้นำและศาสนามาเป็นเครื่องมือ ผสมผสานกัน จึงจะสร้างสังคมแห่งจริยธรรมทางธุรกิจขึ้นมาได้และเมื่อมีการวางแผนที่ดี มีระบบจัดการและกิจกรรมให้ทุกคนร่วมประโยชน์แล้วต้องนำมาปฏิบัติสม่ำเสมอ จากความเข้าใจให้เป็นการตระหนักจากการตระหนักให้เป็นสำนึกรับผิดชอบ จากสำนึกรับผิดชอบให้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติจากธรรมเนียมปฏิบัติให้เป็นระเบียบจากระเบียบให้เป็นวัฒนธรรมอันดีงามขององค์การในที่สุดและต้องใช้กลยุทธ์หลากหลายรูปแบบรวมทั้งการควบคุมที่ถูกต้อง มีมาตรฐานเดียวกันมีประสิทธิภาพอันจะนำไปสู่การบรรลุผลสำเร็จได้

จากการศึกษาด้านจริยธรรมทางธุรกิจในประเทศไทยยังคงเน้นในด้านการนำหลักทางศาสนามาเป็นหลักยึดและยังคงใช้แนวทางจากต่างประเทศ ซึ่งหากองค์การธุรกิจในประเทศมีแนวทางที่ชัดเจนด้านคุณธรรมทางธุรกิจก็จะสามารถเข้าใจและพัฒนาจริยธรรมทางธุรกิจได้ ดังนั้นในส่วนต่อไป จะขอเสนอแนวทางการพัฒนาจริยธรรมในรูปแบบของการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นเครื่องมือการจัดการซึ่งจะเห็นได้ว่า จะประสานสัมพันธ์กันอย่างสอดคล้องทั้งในด้านความพอประมาณความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกันที่ดี และเงื่อนไขสำคัญ คือ ความรู้ และ คุณธรรมและการดำเนินธุรกิจจะได้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

จริยธรรมทางธุรกิจกับแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

จากหลักการทรงงานข้างต้นในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯจะเห็นว่า พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนโดยทรงให้ความสำคัญกับการสร้างจิตสำนึกในศีลธรรมแก่ประชาชน ให้รู้จักประมาณตนไม่โลภ เสียสละ มีคุณธรรมและความเพียรและซื่อสัตย์สุจริตอยู่เสมอ ดังนั้นจึงสามารถสรุปได้ว่าการพัฒนาคนตามแนวพระราชดำรินั้นจึงเป็นการเสริมสร้างศักยภาพของคนในทุกมิติทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจที่สำนึกในคุณธรรมมีความเพียรและจริยธรรมในการดำเนินชีวิต อันจะเป็นการขยายโอกาสและทางเลือกให้แก่ประชาชนในการดำเนินวิถีชีวิตได้อย่างมั่นคงซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนตามไปด้วย

แนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงลักษณะกิจกรรมความพอเพียง 6 ด้าน

ตามแนวพระราชดำริ

1. การเพิ่มรายได้

2. การลดรายจ่าย

พอประมาณ 3. การออม

4. การดำรงชีวิต

มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน 5. การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและ ในตัวที่ดี สิ่งแวดล้อม

6. การเอื้ออาทร

ความรู้ คุณธรรม

จากการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นและได้ทำการวิเคราะห์พบว่า เศรษฐกิจพอเพียงมีการพัฒนาจากหลักของการพึ่งตนเองให้เข้มแข็งแล้วจึงพัฒนาขึ้นเป็นการแลกเปลี่ยน การรวมกลุ่มช่วยเหลือกัน จนนำไปสู่การสังเคราะห์เกื้อกูล ร่วมมือกัน เพื่อดำเนินกิจการใดกิจการหนึ่งให้บรรลุเป้าหมายรวมทั้งสามารถประสานกับชุมชน สังคมอื่นได้อย่างดี จะเห็นได้ว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย และทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำไปเผยแพร่เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของทุกฝ่ายและประชาชนโดยทั่วไป เพื่อให้ประชาชนและประเทศชาติสามารถก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ และเพื่อให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งด้านวัตถุสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี และเพื่อให้เกิดความสมดุลในทุกมิติคือ มิติด้านทุนมนุษย์ มิติด้านทุนสังคม มิติด้านทุนสิ่งแวดล้อมและมิติด้านกายภาพ ดังนั้นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงมุ่งเน้นให้ผู้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้สามารถใช้ความรู้และคุณธรรมที่มีอยู่พิจารณาอย่างรอบด้านมีความรอบรู้ รอบคอบระมัดระวังในการดำเนินกิจกรรมเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีดังตัวบ่งชี้ด้านกระบวนการดำเนินงานของธุรกิจที่มีการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้

ตารางกระบวนการดำเนินงานของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้

กิจกรรมหลัก

ความพอประมาณ

ความมีเหตุผล

การมีภูมิคุ้มกันที่ดี

ความรู้

คุณธรรม

ผลิต

บริการ

ค้าส่ง ค้าปลีก

บริหารความเสี่ยงต่ำ

ไม่กู้เงินเกินตัว(อัตราหนี้สินต่อทรัพย์สิน)

ใช้เทคโนโลยีที่ถูกหลักวิชาการแต่มีราคาถูก

กระจายความเสี่ยง

ใช้ภูมิปัญญาในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

ไม่คิดเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค

ซื่อสัตย์สุจริต

ใช้ทรัพยากรทุกชนิดอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพสูงสุด

จ้างแรงงานเป็นหลัก โดยไม่นำเทคโนโลยีมาทดแทนแรงงาน ยกเว้น ในกรณีที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผลิตภัณฑ์

ไม่โลภมากจนเกินไป และไม่เน้นกำไรในระยะสั้นเป็นหลัก

พัฒนาความรู้ทางเศรษฐกิจ

มีการปฏิบัติธรรมในองค์การ/ มีส่วนร่วมช่วยเหลือ

สัง

คม

มีขนาดการผลิตสอดคล้องกับความสามารถในการบริหารจัดการ

ใช้วัตถุดิบภายในท้องถิ่น ตอบสนองระดับของตลาดตามลำดับความต้องการ*ตลาดท้องถิ่น *ตลาดภายนอก* ตลาดต่างประเทศ

ไม่มีหนี้สิน หรือหนี้สินมีขนาดธุรกิจที่พอเหมาะกับตลาดต่ำ

ใช้สติปัญญาแก้ปัญหาทางสังคมได้

ช่วยเหลือผู้อื่นที่ตกทุกข์ได้ยาก

จ้างแรงงานในท้องถิ่น

สร้างรายได้

ให้ค่าตอบแทนที่ยุติธรรม

ใช้พลังงานเหมาะสมกับการผลิต

ใช้พลังงานอย่างเห็นคุณค่า

สร้างพลังงานทางเลือกให้กับธุรกิจ

แยกแยะสิ่งถูกผิดทางวัฒนธรรมได้

ใช้ทรัพยากรแต่พอดี

ไม่ทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

ไม่ปล่อยสารพิษจากการผลิตสู่สิ่งแวดล้อม

มีกระบวนการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

สร้างและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

ดูแลสิ่งแวดล้อมร่วมกับ

รับผิดชอบต่อสังคม

(อ้างจาก กัญญามนอินหว่างและคณะ,2551)

จากการศึกษาวิจัยของกัญญามน อินหว่าง และคณะ(2551) ในด้านการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการจัดการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในที่นี้จะยกตัวอย่างผลลัพธ์ที่ได้จากการใช้หลักการของเศรษฐกิจพอเพียง ได้ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี และเงื่อนไขสำคัญ คือ ความรู้และ ด้านคุณธรรมจริยธรรมของธุรกิจซึ่งถือเป็นเงื่อนไขที่สำคัญของเศรษฐกิจพอเพียงมาเสนอ

จากการศึกษาวิจัยเรื่องแนวทางการพัฒนาระบบการจัดการของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้วยการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ ได้ทำการศึกษากับกลุ่มตัวอย่างที่เลือกจากข้อมูลพื้นฐานของเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงและจากการสัมภาษณ์เบื้องต้นกับผู้ประกอบการที่มีลักษณะการดำเนินธุรกิจในชุมชนและเพื่อผลประโยชน์ของชุมชนเป็นหลักที่มีลักษณะการดำเนินธุรกิจด้วยการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ดำเนินธุรกิจและมีแนวทางความสำเร็จรวมทั้งข้อคิดเห็นจากผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ จากการศึกษาวิเคราะห์เจาะลึกของธุรกิจขนาดกลางและธุรกิจขนาดย่อมด้วยการใช้ตัวบ่งชี้3 ด้านคือ ด้านกระบวนการ ด้านผลผลิตและด้านผลลัพธ์ มาพิจารณาลักษณะการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ของธุรกิจต่างๆพบว่า ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ มีการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการจัดการธุรกิจโดยเฉพาะในด้านความมีเหตุผล จากการนำเทคโนโลยีไปใช้อย่างเหมาะสมการมีความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า รวมทั้งความพอประมาณในด้านการจัดการด้านการบริหารความเสี่ยงจากการลงทุนซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของการดำเนินธุรกิจ

การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้นั้นจำเป็นต้องมีความเข้าใจอย่างชัดเจนว่าเป็นเรื่องของระบบการจัดการขั้นพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งต้องมีปัจจัยนำเข้า (Input) นั่นคือ ทรัพยากรมนุษย์ ทรัพยากรทางกายภาพ เทคโนโลยีทรัพยากรด้านการเงิน ซึ่งต้องอาศัยกระบวนการการจัดการ นั่นคือการจัดการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและคุ้มค่า กระบวนการจ้างงานที่มีศักยภาพราคาไม่แพง สามารถหาได้ในท้องถิ่นและการจัดการด้านการเงินด้วยการบริหารการเงินให้มีความเสี่ยงต่ำทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือ ความพอประมาณ นอกจากนี้ ยังพบว่ากระบวนการด้านความมีเหตุผล สามารถนำไปเป็นกระบวนการจัดการได้ในด้าน การใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพราคาไม่แพง และเหมาะสมกับธุรกิจ มีการจ้างงานที่ถูกต้องกับงานที่ทำใช้วัตถุดิบในพื้นที่และพัฒนาตนเองและพนักงานให้มีความซื่อสัตย์ต่อลูกค้าและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรวมทั้งการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี คือ การที่สามารถจัดการกับการกระจายความเสี่ยงด้วยการหาผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ตลาด ไม่ทำให้เกินพอดีหรือตามหลักของระบบการบริหารงานของญี่ปุ่นที่เรียกว่า การทำให้พอดี (Just inTime) และการรู้จักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น จะเห็นว่ากระบวนการของความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี ตามแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียงก็คือกระบวนการจัดการ (Process)ทางธุรกิจให้สามารถจัดการด้านการตลาด การจัดการทรัพยากรมนุษย์ การจัดการการเงินการจัดการผลิต การจัดการเทคโนโลยีให้เกิดประสิทธิภาพ

สำหรับผลผลิตและผลลัพธ์ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับมิติด้านสังคม และสิ่งแวดล้อมรวมทั้งด้านเศรษฐกิจซึ่งถือว่าเป็นทุนของมนุษย์ที่จะต้องอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ผลลัพธ์ที่ได้จากการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้นั้น จะสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ในระยะสั้นของธุรกิจ อาจมาจากการดำเนินธุรกิจโดยใช้กลยุทธ์ด้านความพอเพียงในส่วนของราคาใช้วิธีการรณรงค์เรื่องประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน เพื่อการลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่สามารถประหยัดได้
สำหรับประโยชน์ในระยะปานกลาง อาจมาจากการดำเนินธุรกิจโดยใช้กลยุทธ์ด้านลูกค้าเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเป้าหมายและลูกค้า ดูแลรักษาลูกค้าเดิมของกิจการให้คงอยู่
และประโยชน์ในระยะยาว อาจมาจากการดำเนินธุรกิจโดยใช้กลยุทธ์ด้านการพัฒนา เพื่อการสร้างนวัตกรรมในผลิตภัณฑ์ทั้งการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตรวมถึงการแก้ไขและปรับปรุงผลิตภัณฑ์เดิม ให้มีคุณสมบัติเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เนื่องมาจากการใช้หลักความสามารถในการพัฒนาธุรกิจทั้งในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์การพัฒนาเครือข่ายทางธุรกิจการพัฒนาภูมิปัญญาดั้งเดิมมาสู่ผลิตภัณฑ์ที่สร้างนวัตกรรมใหม่อย่างต่อเนื่อง

คุณลักษณะและเงื่อนไขของเศรษฐกิจพอเพียงโดยการแยกแยะให้เห็นถึงคุณลักษณะและเงื่อนไข เป็นการวิเคราะห์แบบแยกส่วนเพื่อทำความเข้าใจในทางวิชาการแต่การนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัตินั้น ต้องคำนึงถึงความเกี่ยวข้องของแต่ละคุณลักษณะและเงื่อนไขต่างๆในแบบองค์รวม ทั้งคุณลักษณะด้านความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีควบคู่ไปกับเงื่อนไขด้านความรู้ และคุณธรรม เป็นแต่เพียงว่าองค์กรธุรกิจหนึ่งๆ อาจมีความพร้อมหรือการให้ความสำคัญของคุณลักษณะและเงื่อนไขของเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นเหตุให้การนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติใช้นั้นมีระดับหรือขั้นของการปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไปความพอเพียงตามนัยของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในแต่ละองค์กรจึงไม่จำเป็นต้องเท่ากัน มีรูปแบบเดียวกัน

ธุรกิจขนาดย่อมและขนาดกลางมีจุดเริ่มของการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้เป็นอันดับแรกคือ ความซื่อสัตย์สุจริตในการประกอบการ ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคและไม่เอารัดเอาเปรียบแรงงานหรือลูกค้าตลอดจนไม่เอารัดเอาเปรียบผู้จำหน่ายวัตถุดิบซึ่งเป็นคุณธรรมขั้นพื้นฐานของความพอเพียงในการดำเนินชีวิตทั้งด้านธุรกิจและส่วนตัวดังนั้น ในการสร้างแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้สามารถยั่งยืนได้ ซึ่งจะเห็นว่าเป็นจริยธรรมทางธุรกิจที่สำคัญธุรกิจส่วนใหญ่เน้นความซื่อสัตย์เป็นหัวใจหลัก เพราะหากมีความซื่อสัตย์แล้วความพอประมาณ ความมีเหตุผลในตนเองและการดำเนินธุรกิจก็จะตามมา เพราะในการดำเนินธุรกิจแบบพอเพียงนั้น จะพบว่าผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมส่วนใหญ่มีความเข้าใจว่าเศรษฐกิจพอเพียงที่ใช้อยู่ คือ เน้นการไม่กู้หนี้ยืมสินเป็นหลักรวมทั้งด้านการไม่เอารัดเอาเปรียบลูกค้าและผู้เกี่ยวข้อง

ตัวบ่งชี้ที่ธุรกิจขนาดย่อมมีมากที่สุดคือ การไม่เอารัดเอาเปรียบลูกค้า ซึ่งตรงกับตัวบ่งชี้ด้านกระบวนการคือ ความซื่อสัตย์หรือความมีเหตุผลในการดำเนินธุรกิจซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่เล็งเห็นว่า การทำธุรกิจด้วยความรับผิดชอบไม่เอาเปรียบลูกค้า ก็จะสามารถอยู่ได้นานกว่า ดังเช่น ธุรกิจเอกชนขนาดย่อม เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่า การเอื้อเฟื้อต่อกันยังเป็นตัวบ่งชี้ที่มีมากกว่าด้านอื่นในส่วนของมิติด้านสังคมและทรัพยากรเพราะเนื่องจากการดำเนินธุรกิจขนาดย่อมส่วนใหญ่จะเป็นทั้งธุรกิจเอกชนและธุรกิจชุมชนและเป็นธุรกิจแบบครอบครัวการเอื้อเฟื้อกับพนักงานและชุมชนจึงมีส่วนสำคัญต่อการร่วมมือกันทำธุรกิจส่วนใหญ่เป็นธุรกิจชุมชนดังตารางที่แสดงให้เห็นถึงธุรกิจและผลลัพธ์ของธุรกิจด้านจริยธรรมเป็นหลักต่อไปนี้

ตาราง ผลผลิตของธุรกิจด้านจริยธรรม

ธุรกิจ

จิตใจ

สติปัญญา

ความเป็นอยู่

ธุรกิจชุมชน

เผชิญภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจได้

ไม่ทำลายตนเอง

ใช้ภูมิปัญญาในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

พออยู่พอกินไม่เบียดเบียน

เห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร

มีความเอื้อเฟื้อต่อกัน

ธุรกิจเอกชนขนาดย่อมที่มีชุมชนมีส่วนร่วม

เผชิญภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจได้

ใช้สติปัญญาแก้ปัญหา

มีความเอื้อเฟื้อต่อกัน

ตระหนักคุณค่าของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร

ใช้ภูมิปัญญาในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

พออยู่พอกินโดยไม่เบียดเบียน

ธุรกิจเอกชน ขนาดกลาง ประเภทการผลิต /ค้าส่ง*

เผชิญภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจได้

ใช้ภูมิปัญญาในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

มีความเอื้อเฟื้อต่อกัน

มีจิตสาธารณะ

พัฒนาวัฒนธรรมให้เจริญ

รักษาสิทธิและหน้าที่ของตน

ไม่คิดเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค

คิดค้นวิธีการักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรให้มีความยั่งยืน

ตระหนักคุณค่าของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร

ธุรกิจเอกชน ขนาดย่อม ประเภทการผลิต

ไม่คิดเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค

ใช้ภูมิปัญญาในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

พัฒนาความรู้ทางเศรษฐกิจได้

มีความเอื้อเฟื้อ

ตระหนักคุณค่าของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร

ธุรกิจเอกชน ขนาดย่อมประเภทค้าปลีก/ค้าส่ง

ไม่คิดเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค

มีความเอื้อเฟื้อ

ธุรกิจเอกชน ขนาดย่อม ประเภทการบริการ

ไม่คิดเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค

พัฒนาวัฒนธรรมให้เจริญงอกงาม คิดค้นวิธีการักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรให้มีความยั่งยืน

มีความเอื้อเฟื้อต่อกัน

สำหรับด้านผลลัพธ์กับธุรกิจที่ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะสามารถก่อให้เกิดทุนที่สำคัญ4 ประการ คือ ทุนมนุษย์ ทุนสังคม ทุนสิ่งแวดล้อม และทุนกายภาพ

จากการศึกษาธุรกิจ จำนวน 27 ราย พบว่าเมื่อมีการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้แล้วได้ผลผลิตตามมิติทางเศรษฐกิจมากที่สุดซึ่งจะพบว่ามีลักษณะมิติของการเงินเป็นส่วนสำคัญรองลงมาเป็นมิติด้านสังคมและทรัพยากรสิ่งแวดล้อมซึ่งสอดคล้องกับมิติด้านการดำเนินชีวิตและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรวมทั้งมิติความสุขของการอยู่ร่วมกัน เป็นส่วนหนึ่งของทุนทางสังคมและทุนทางกายภาพเป็นส่วนหนึ่งของมิติทางการเงิน สำหรับผลการวิจัยด้านตัวบ่งชี้ของผลลัพธ์ที่ได้ พบว่าธุรกิจที่มีกระบวนการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้มีผลผลิตและผลลัพธ์ที่สอดคล้องกัน คือ ด้านทุนมนุษย์ ทุนสังคม ทุนด้านสิ่งแวดล้อมและทุนกายภาพ ครบทุกด้าน จำนวน 19 ธุรกิจจากการวิเคราะห์พบว่า ธุรกิจขนาดย่อม ซึ่งเป็นธุรกิจชุมชน ประเภทการผลิต จะมีผลลัพธ์จากตัวบ่งชี้ในด้านขีดความสามารถและทักษะการดำรงชีวิตและการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นมีกลุ่ม มีชุมชนเครือข่ายที่ช่วยเหลือเกื้อกูล เช่น กลุ่มธุรกิจชุมชนกลุ่มออมทรัพย์ ใช้ทรัพยากรการผลิตอย่างเข้าใจและประหยัด และมีทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นไปตามลักษณะของการดำเนินธุรกิจชุมชนที่มีการสร้างเครือข่ายระหว่างชุมชนภายในชุมชน มีการจัดกลุ่มการเรียนรู้ร่วมกันอย่างชัดเจนซึ่งแนวทางดังกล่าวนี้สอดคล้องกับแนวคิดของวิสาหกิจชุมชน (กัญญามน อินหว่าง, 2548) กล่าวได้ว่า ธุรกิจชุมชนประเภทการผลิต มีมิติครบทุกด้าน คือ มิติทางด้านความสุข คือ มีทุนทางสังคมมากกว่าธุรกิจประเภทเอกชนสำหรับมิติด้านการเงินนั้นสามารถอยู่รอดได้ด้วย มิติด้านการดำเนินชีวิตและมิติด้านผลกระทบทางสังคมที่อยู่ในลักษณะที่ดี

นอกจากนี้ ยังพบว่าธุรกิจขนาดกลางที่เป็นธุรกิจเอกชนจะมีความสอดคล้องกันทั้ง 8 ธุรกิจ คือ ธุรกิจเอกชนขนาดกลาง ธุรกิจชุมชนประเภทการผลิตทั้งที่ส่งออกต่างประเทศและในประเทศรวมทั้งธุรกิจขนาดย่อมประเภทการผลิตมีการพัฒนาขีดความสามารถและทักษะในการทำงานทางเศรษฐกิจ มีกิจกรรมเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงด้านการช่วยเหลือสังคม การให้ทุนการศึกษา มีการดูแลฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมภายในชุมชนและมีผลิตภาพทางการผลิตที่สูงขึ้นและไม่ก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจซึ่งแนวทางดังกล่าวนี้จะก่อให้เกิดผลดีด้านการพัฒนาธุรกิจต่อไปทั้งยังสามารถช่วยให้ธุรกิจสร้างความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันได้ทั้งนี้เป็นเพราะการดำเนินธุรกิจต่างๆหากมีขีดความสามารถในระดับที่พัฒนาทั้งทรัพยากรมนุษย์ด้านการผลิตด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยแต่ราคาถูกเหมาะสมรวมทั้งสามารถบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วจะสามารถพัฒนาธุรกิจให้ยั่งยืนได้ จากการศึกษาวิเคราะห์ยังพบว่า ธุรกิจเอกชนที่เป็นธุรกิจขนาดย่อมบริหารงานแบบครอบครัว ประเภทธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก มีลักษณะผลลัพธ์ที่แตกต่างจากธุรกิจขนาดกลางประเภทธุรกิจการผลิตกัน คือมีมิติด้านการดำเนินชีวิตที่มีขีดความสามารถและทักษะการดำรงชีวิตและการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้แต่ไม่ถึงขั้นที่สามารถพัฒนาขีดความสามารถและทักษะทางด้านเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ สำหรับทุนกายภาพ ด้านมิติทางการเงินพบว่ามีทรัพย์สิน หรือปัจจัยการผลิตที่เพิ่มขึ้นและมิติทางด้านผลกระทบต่อสังคมจะเป็นไปในทางบวกที่สามารถรู้จักใช้ทรัพยากรและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมที่อยู่มากขึ้น สามารถอยู่ได้ด้วยการไม่เป็นหนี้สินมีรายได้เลี้ยงชีวิตและครอบครัวได้ และสามารถขยายกิจการได้ในอนาคต เช่นธุรกิจขนาดย่อมระดับพื้นฐานเป็นธุรกิจแบบครอบครัวประเภทการผลิต ค้าปลีกและการให้บริการประเภทสถานที่พัก นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตว่าธุรกิจขนาดย่อมที่มีการบริหารจัดการแบบครอบครัวนั้นจะขาดเรื่องมิติของความสุขหรือทุนสังคม คือ ด้านการแลกเปลี่ยนผลผลิต การมีกลุ่มชุมชนหรือเครือข่ายในการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจซึ่งเป็นไปตามลักษณะของธุรกิจขนาดย่อมโดยทั่วไปซึ่งหากสามารถรวมตัวกันอย่างธุรกิจชุมชนได้ก็จะเป็นผลดีต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต ดังตารางต่อไปนี้

ตาราง ข้อมูลตัวบ่งชี้ด้านผลลัพธ์จากการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้

ธุรกิจ

ทุนมนุษย์/

มิติการดำเนินชีวิต

ทุนสังคม/

มิติของความสุข

ทุนสิ่งแวดล้อม/

มิติทางสังคม

ทุนกายภาพ/

มิติการเงิน

ธุรกิจชุมชน

มีขีดความสามารถและทักษะการดำรงชีวิตและการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น

มีกลุ่ม มีชุมชนเครือข่ายที่ช่วยเหลือเกื้อกูล เช่น กลุ่มธุรกิจชุมชน กลุ่มออมทรัพย์

ใช้ทรัพยากรการผลิตอย่างเข้าใจและประหยัด

มีทรัพย์สินปัจจัยการผลิตที่เพิ่มขึ้น

ธุรกิจเอกชนที่มีชุมชนมีส่วนร่วม

มีการพัฒนาขีดความสามารถและทักษะในการทำงานทางเศรษฐกิจ

มีการกิจกรรมเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมต่างๆ การรวมกลุ่มเพื่อเรียนรู้ การสอนงานให้กับพนักงานและชุมชน

มีกลุ่ม ชุมชนที่ช่วยเหลือเกื้อกูล รับซื้อผลิตภัณฑ์จากชุมชน เช่น กลุ่มธุรกิจชุมชนในพื้นที่

มีการดูแลฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

มีทรัพย์สินปัจจัยการผลิตที่เพิ่มขึ้น

ธุรกิจเอกชน ขนาดกลาง

มีการพัฒนาขีดความสามารถและทักษะในการทำงานทางเศรษฐกิจ

มีการกิจกรรมเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ด้านการช่วยเหลือสังคม การให้ทุนการศึกษา

มีการดูแลฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

มีผลิตภาพที่สูงขึ้นและไม่ก่อให้เกิดปัญหา

ธุรกิจเอกชน ขนาดย่อม ค้าส่ง

มีขีดความสามารถและทักษะการดำรงชีวิตและการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น

มีการดูแลฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

มีทรัพย์สินหรือปัจจัยการผลิตที่เพิ่มขึ้น

ธุรกิจเอกชนขนาดย่อม การผลิต

มีขีดความสามารถและทักษะการดำรงชีวิตและการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น

การให้ความรู้กับชุมชน

มีการดูแลฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

มีทรัพย์สินหรือปัจจัยการผลิตที่เพิ่มขึ้น

ธุรกิจเอกชน ขนาดย่อม การบริการ

มีขีดความสามารถและทักษะการดำรงชีวิตและการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น

ใช้แรงงานในพื้นที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชน ร่วมกับวิทยุชุมชน

มีการดูแลฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

มีทรัพย์สินหรือปัจจัยการผลิตที่เพิ่มขึ้น

สำหรับผลลัพธ์ที่ได้จากการวิจัยพบว่า ธุรกิจที่มีกระบวนการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้มีผลผลิตและผลลัพธ์ที่สอดคล้องกัน คือผลลัพธ์จากการมีขีดความสามารถและทักษะการดำรงชีวิตและการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพในการทำธุรกิจมีกลุ่ม มีชุมชนเครือข่ายที่ช่วยเหลือ และสามารถใช้ทรัพยากรการผลิตอย่างเข้าใจและประหยัดและมีทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากการที่ผู้ประกอบการมีเหตุผลในการดำเนินธุรกิจด้วยการเข้าใจถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสม รวมทั้งการจ้างงานในชุมชนใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น ซึ่งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่มาก รวมทั้งสามารถเข้าใจถึงความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศนอกจากนี้ ในด้านความพอประมาณนั้นผู้ประกอบการสามารถบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ รู้ขนาดของการลงทุนใช้ทรัพยากรอย่างพอดีพอประมาณจึงทำให้ได้ผลลัพธ์ของมิติทางด้านการดำเนินชีวิตหรือมีทุนทางมนุษย์ มีมิติความสุขกับการอยู่ร่วมกับผู้อื่นมีการสร้างเครือข่ายและการอยู่กับชุมชนอย่างเอื้ออาทรรวมทั้งมีมิติทางด้านการเงินที่มีทรัพยากรและปัจจัยที่เกื้อหนุนต่อการดำเนินธุรกิจและการใช้ชีวิตได้เพียงพอและยั่งยืน นอกจากนี้การใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินธุรกิจจะมีผลกระทบต่อสังคมในทางบวกเนื่องจากผู้ประกอบการเข้าใจถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมและการดูแลฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมร่วมกันในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งจะก่อให้เกิดจิตสำนึกของความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนที่อยู่มากยิ่งขึ้นจะสามารถสร้างคุณภาพชีวิตทั้งในการทำงานและการอยู่ร่วมกันได้






Create Date : 07 ธันวาคม 2558
Last Update : 7 ธันวาคม 2558 9:08:42 น.
Counter : 558 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

kanyamon555
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



การเรียนรู้ คือวิถีของมนุษย์