Group Blog
กุมภาพันธ์ 2552

3
4
5
6
7
8
9
11
12
13
15
17
20
24
25
26
 
All Blog
ความพอเพียงของบิล เกตส์
หลายวงการต้องแปลกใจที่จู่ๆ บิล เกตส์ ก็ประกาศออกมาว่า ภายในเวลา 2 ปีเขาจะสละตำแหน่งใหญ่ๆ ในบริษัทไมโครซอฟท์ทั้งหมดยกเว้นตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทเท่านั้น ในระบบการบริหารของไมโครซอฟท์ ประธานกรรมการบริษัท ไม่มีงานประจำมากจนถึงกับต้องไปทำงานทุกวันเ หมือนงานประจำอื่นๆ อาจไปทำงานสัปดาห์ละครั้ง การรั้งตำแหน่งนั้นเพียงอย่างเดียวจึงเป็นเสมือนบิล เกตส์ เกษียณจากงานทั้งที่ตอนนี้เขาอายุเพียง 50 ปี และยังมีสุขภาพสมบูรณ์

คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า บิล เกตส์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์เพื่อทำธุรกิจเขียนโปรแกรมสำหรับคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก ในขณะนี้ ราว 90% ของคอมพิวเตอร์ชนิดนั้นทั่วโลกใช้ "คำสั่งแม่บท" (Operating System) ของไมโครซอฟท์ นอกจากนั้น ไมโครซอฟท์ยังมีโปรแกรมอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายอีกด้วย ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ทำให้บิล เกตส์ ร่ำรวยมหาศาล ปีนี้เป็นปีที่ 12 ติดต่อกันที่เขาครองตำแหน่งอภิมหาเศรษฐีหมายเลข 1 ของโลก เพราะมีทรัพย์สินกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2 ล้านล้านบาท

แน่ละ ทรัพย์สินกองใหญ่ขนาดนั้นย่อมทำให้บิล เกตส์ หมดความจำเป็นที่จะต้องตรากตรำไปทำงานเพื่อการยังชีพ แต่คนที่มีพลังผลักดันภายในสูงยิ่งเช่น บิล เกตส์ ย่อมอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ฉะนั้นเขาจะไม่หยุดทำงานหลังจากสละตำแหน่งใหญ่ๆ ในไมโครซอฟท์แล้ว หากจะทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ให้กับมูลนิธิเพื่อการกุศลที่เขาและภรรยาตั้งขึ้นชื่อว่า Bill & Melinda Gates Foundation

มูลนิธินี้มีคำขวัญว่า Bringing innovations in health and learning to the global community ซึ่งมีความหมายว่า "เพื่อนำนวัตกรรมด้านสุขภาพและด้านการเรียนรู้ไปสู่ชุมชนโลก" คำขวัญนี้สะท้อนความตั้งใจของบิล เกตส์ และภรรยาที่ต้องการจะใช้สมบัติกองใหญ่และความรู้ความสามารถของตนช่วยขจัดโรคร้ายและอวิชชาให้หมดไปจากโลก

ณ วันนี้ Bill & Melinda Gates Foundation เป็นมูลนิธิที่มีทรัพย์สินมากที่สุดในโลก เพราะได้รับบริจาค จากสองสามีภรรยาแล้วกว่า 29,000 ล้านดอลลาร์ และจะได้รับเพิ่มอีก เนื่องจาก ทั้งสองได้ประกาศไว้นานแล้วว่า จะกันทรัพย์สินเพียงส่วนน้อยเท่านั้นไว้ให้แก่ลูกๆ ส่วนที่เหลือจะยกให้แก่มูลนิธิ คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าในสหรัฐ ผู้บริจาคทรัพย์ให้แก่มูลนิธิเพื่อการกุศลได้รับการลดหย่อนภาษีจากรัฐบาลโดยเฉพาะภาษีมรดก ฉะนั้นมูลนิธิจำนวนมากจึงถูกตั้งขึ้นหรือได้รับบริจาคทรัพย์จากมหาเศรษฐีเพราะปัจจัยด้านภาษี

แต่การตั้งมูลนิธิของบิล เกตส์ และภรรยาไม่น่าจะมีปัจจัยนั้นเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเขาเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีไม่กี่คน ที่รณรงค์อย่างเต็มที่ เพื่อกดดันให้รัฐบาลอเมริกันเก็บภาษีมรดกต่อไป

อาจไม่เป็นที่ทราบกันมากนักว่า รัฐบาลอเมริกันเก็บภาษีมรดกมาเป็นเวลานาน แต่หลังจากจอร์จ ดับเบิลยู บุช เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อต้นปี ค.ศ. 2001 เขาพยายามทุกวิถีทางที่จะยกเลิกภาษีนั้น เพราะเขาเป็นตัวแทนของชนชั้นเศรษฐีที่ขาดจิตสำนึกชนิดตกขอบ ถ้าเขาทำสำเร็จตามความตั้งใจมหาเศรษฐีอเมริกัน จะไม่ต้องจ่ายภาษีมรดกอีก อย่างไรก็ตาม คนอเมริกันจำนวนมากไม่เห็นด้วย ร่างกฎหมายเพื่อยกเลิกภาษีนั้น จึงแพ้คะแนนเสียงในสภาสูงไปสดๆ ร้อนๆ เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง

การเกษียณตัวเองจากไมโครซอฟท์และทิ้งรายได้ประจำเป็นจำนวนมากของบิล เกตส์ อาจเป็นที่แปลกใจของหลายวงการ แต่สำหรับผู้ที่ติดตามความคิดความอ่าน และการดำเนินชีวิตของเขามาเป็นเวลานานคงไม่แปลกใจเลย (ในปัจจุบันมีหนังสือเกี่ยวกับบิล เกตส์ ในตลาดจำนวนมาก รวมทั้งหนังสือที่เขาเขียนเอง เช่น The Road Ahead และ Business @ the Speed of Thought ซึ่งครั้งหนึ่งนายกฯ ทักษิณแนะนำให้คนไทยอ่าน

สำหรับผู้ที่ไม่ค่อยมีเวลาและไม่ค่อยถนัดภาษาฝรั่งอาจไปอ่านหนังสือชื่อ "เสือ สิงห์ กระทิง แรด" ซึ่งมีบิล เกตส์ เล่นบทบาท "กระทิง" และเรื่อง "คิดนอกคอก ทำนอกคัมภีร์" ซึ่งมีบทคัดย่อของเรื่อง Business @ the Speed of Thought)

นอกจากจะมีมันสมองระดับอัจฉริยะและมีพลังผลักดันภายในไม่ต่ำกว่าใครในโลกแล้ว บิล เกตส์ มีจิตสำนึกสูงยิ่ง โดยเฉพาะในความโชคดีของตนเอง การตระหนักในความโชคดีนั้นทำให้เขาต้องการตั้งมูลนิธิขึ้น เพื่อตอบแทนคุณแก่สังคม เนื่องจากบริษัทของเขาร่ำรวยด้วยการขายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทั่วโลก "สังคม" ของเขา จึงเป็นชุมชนโลกทั้งหมด

นับตั้งแต่วันก่อตั้งมูลนิธิ Bill & Melinda Gates ได้ให้เงินสนับสนุนแก่โครงการต่างๆ แล้วราว 10,500 ล้านดอลลาร์ ในจำนวนนั้นราว 30% บริจาคให้แก่โครงการในสหรัฐ เพื่อประโยชน์ของชาวอเมริกัน ส่วนอีก 70% บริจาคให้โครงการในประเทศต่างๆ กว่า 100 ประเทศ โดยเฉพาะแก่โครงการเพื่อขจัดโรคร้าย เช่น เอดส์ มาลาเรียและวัณโรค และเพื่อปลูกฝีและฉีดยาให้เด็กเกิดใหม่ในประเทศด้อยพัฒนา

บิล เกตส์ รักบ้านเกิดอย่างสุดซึ้งจึงได้ย้ายสำนักงานใหญ่ของบริษัทจากรัฐนิวเม็กซิโกกลับไปตั้งในย่านบ้านเกิดที่เมืองเล็กๆ ชื่อ Redmond ในรัฐวอชิงตัน หลังจากนั้น ก็ได้ช่วยพัฒนาเมืองนั้นจนเป็นเมืองชั้นนำ

ด้วยมันสมองระดับอัจฉริยะ พลังผลักดันปานกระทิงเปลี่ยว ความตั้งใจอันแน่วแน่ และทรัพย์สินจำนวนมหาศาล บิล เกตส์ จะขจัดโรคร้ายและอวิชชาให้หมดไปจากโลกสำเร็จหรือไม่ ?

ถ้าจะให้ฟันธงคงต้องตอบว่า "ไม่มีทาง" การฟันธงเช่นนี้มิได้หมายความว่าผมดูแคลนบิล เกตส์ หรือ ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขากระทำ ตรงกันข้ามผมชื่นชมการกระทำของเขามากและเคยเขียนไว้ในคอลัมน์นี้ ว่า นอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราแล้ว บิล เกตส์ เป็นผู้ที่สมควรจะได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพมากที่สุด และผมแน่ใจว่าในไม่ช้าเขาจะได้รับ แต่การได้ไปเห็นปัญหามาเกือบทั่วโลก ทำให้ผมแน่ใจว่าไม่มีใครคนใดคนหนึ่งจะแก้ปัญหาได้ จนกระทั่งโรคร้าย และอวิชชาหมดไปจากโลก

อย่างไรก็ตาม โลกของเราใบนี้จะดีขึ้นกว่าปัจจุบันมาก หากชนชั้นเศรษฐีจะมีจิตสำนึกเช่นบิล เกตส์ นั่นคือ ตระหนักในความโชคดีของตนเองและรู้จักพอเพียงแล้วอุทิศกำลังกาย กำลังสมองและกำลังทรัพย์ส่วนหนึ่ง เพื่อช่วยกันขจัดปัญหาใหญ่ๆ ในชุมชนซึ่งตนอาศัยอยู่ ชุมชนนั้นอาจเป็นหมู่บ้านเล็กๆ หรือชุมชนขนาดใหญ่ในระดับประเทศและระดับโลกก็ได้

บ้านเขาเมืองเรา : ดร.ไสว บุญมา กรุงเทพธุรกิจ



Create Date : 18 กุมภาพันธ์ 2552
Last Update : 18 กุมภาพันธ์ 2552 10:27:21 น.
Counter : 694 Pageviews.

0 comments

Mimi-jaiko
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 28 คน [?]