[hip_ib ] >>>"It is never too late to be what you might have been." <<<<
Group Blog
 
 
สิงหาคม 2550
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
30 สิงหาคม 2550
 
All Blogs
 

การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย...ยังคงเผชิญกับความเสี่ยง


กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : แม้ว่าการตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 3.25% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา จะสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของธปท.ต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศได้ในระดับหนึ่ง แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอน โดยได้ประเมินอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 และของทั้งปี 2550 ดังต่อไปนี้:-


ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2550

ในไตรมาสที่สองของปี 2550 คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวประมาณ 4.3% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า ซึ่งใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวในไตรมาสแรก ทั้งนี้ แม้ว่าการใช้จ่ายภายในประเทศยังคงถูกกระทบจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง และการปรับลดของความเชื่อมั่นของภาคเอกชน แต่การส่งออกก็ยังคงขยายตัวในอัตราที่สูงใกล้เคียงกับในไตรมาสแรก และเป็นแรงผลักดันสำคัญของเศรษฐกิจไทย อนึ่ง แม้ว่าการนำเข้าจะขยายตัวสูงขึ้นในไตรมาสนี้เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก แต่การส่งออกที่ขยายตัวสูงกว่าการนำเข้ามากนั้น ได้ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังคงมีฐานะที่เกินดุลในไตรมาสนี้ และทำให้เงินบาทยังคงเดินหน้าแข็งค่าขึ้น

การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2550

สำหรับแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2550 นั้น คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 4.0-4.5% ซึ่งใกล้เคียงกับในช่วงครึ่งปีแรกที่ขยายตัว 4.3% ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของทั้งปี 2550 อยู่ในช่วง 4.3-4.5% โดยลดลงจากปี 2549 ที่ขยายตัว 5.0% ทั้งนี้แม้ว่าในช่วงครึ่งหลังของปีการใช้จ่ายในประเทศน่าจะได้รับผลดีจากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะการรับร่างรัฐธรรมนูญในการลงประชามติเมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา ตลอดจนการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ (ก.ค.-ก.ย. 2550) รวมทั้งการใช้จ่ายในประเทศที่น่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนกรกฎาคม ต่อเนื่องจากในช่วงครึ่งแรกของปีที่ผ่านมารวมเป็นการลดดอกเบี้ยทั้งสิ้นห้าครั้ง แต่การส่งออกที่ชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 คงจะส่งผลกดดันต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย ในขณะที่ปัญหาซับไพร์มของสหรัฐฯได้ส่งผลกระทบและสร้างความผันผวนต่อทั้งตลาดทุนและอัตราแลกเปลี่ยน

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในขณะนี้ เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ โดยปัจจัยภายนอกประเทศสำคัญคงจะหลีกไม่พ้นผลกระทบจากปัญหาซับไพร์มของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลให้การบริโภคของครัวเรือนสหรัฐฯชะลอตัวลง และส่งผลต่อเนื่องไปยังการส่งออกของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ ตัวเลขล่าสุดของสหรัฐฯในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ระบุว่า ยอดขายบ้าน (Existing Home Sales) ยังคงปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน ในขณะที่ยอดบ้านที่ยังขายไม่ได้ ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี ส่วนราคาบ้านเฉลี่ย (Median Home Price) ยังคงปรับลดลงเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน ซึ่งภาวะการถดถอยของภาคอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว อาจจะส่งผลให้ครัวเรือนของสหรัฐฯประสบกับความยากลำบากมากขึ้นในการรีไฟแนนซ์สินเชื่อ รวมทั้งการชำระคืนหนี้ ซึ่งอาจมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังการใช้จ่ายเพื่อบริโภคและภาวะการจ้างงานของสหรัฐฯ

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ขนาดของการส่งออกไปยังสหรัฐฯต่อ GDP ของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเซีย พบว่า แม้การส่งออกของจีนจะพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯมากที่สุด คือประมาณร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับไทยที่ประมาณร้อยละ 25 (โดยสัดส่วนดังกล่าวได้รวมถึงการส่งออกสินค้าขั้นกลางไปยังประเทศอื่น ๆ เพื่อที่จะนำไปผลิตเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายที่มีจุดหมายปลายทางไปยังตลาดสหรัฐฯ ) แต่เนื่องจากสัดส่วนการส่งออกของจีนคิดเป็นประมาณร้อยละ 34 ของ GDP ของประเทศ เทียบกับสัดส่วนการส่งออกต่อ GDP ของไทยที่สูงถึงร้อยละ 62 ทำให้เมื่อพิจารณาสัดส่วนของการส่งออกไปยังสหรัฐฯต่อ GDP ของประเทศแล้ว พบว่า การส่งออกไปยังสหรัฐฯมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย มากกว่าต่อเศรษฐกิจของจีนเสียอีก ในขณะที่ประเทศที่น่าจะถูกกระทบมากที่สุดหากเศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวคือ มาเลเซียและสิงค์โปร์ เนื่องจากประเทศทั้งสองมีสัดส่วนการส่งออกต่อ GDP เกิน 100%

อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ในเบื้องต้นเป็นการพิจารณาเฉพาะปัจจัยด้านการส่งออกสินค้าเท่านั้น ในขณะที่ความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจสหรัฐฯกับเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั่วโลกยังดำเนินผ่านช่องทางอื่น ๆ อีก เช่น การค้าในด้านบริการ การลงทุนโดยตรง และการเชื่อมโยงผ่านตลาดเงินและตลาดทุน ซึ่งหากพิจารณาการหดตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯในวิกฤติฟองสบู่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี (Dotcom crisis) ในช่วงปี 2543-2544 จะพบว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ลดลงทุก ๆ ร้อยละ 1 ได้ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงเดียวกันลดลงประมาณร้อยละ 0.8 ในขณะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนลดลงเพียงร้อยละ 0.03 อินเดียลดลงประมาณร้อยละ 0.3 ญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 0.8 เกาหลีใต้ลดลงประมาณร้อยละ 1.5 มาเลเซียลดลงร้อยละ 1.6 ไต้หวันลดลงร้อยละ 2.5 และสิงค์โปร์ลดลงร้อยละ 3.9 ตามลำดับ

สำหรับปัจจัยความไม่แน่นอนภายในประเทศนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าน่าที่จะยังคงเป็นเรื่องของความชัดเจนทางด้านการเมือง โดยสิ่งที่นักลงทุนและภาคธุรกิจเฝ้าติดตาม แม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะได้ผ่านการลงประชามติไปแล้วเมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมาก็ตาม ยังคงได้แก่ประเด็นด้านเสถียรภาพทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง รวมทั้งการดำเนินการพิจารณากฎหมายธุรกิจที่สำคัญ ๆ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และพ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่ง เป็นต้น ซึ่งทำให้คาดว่า นักลงทุนอาจจะยังคงรอดูความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวก่อนที่จะทำการตัดสินใจ ทำให้อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของการลงทุนทั้งในช่วงที่เหลือของปี 2550 และในปี 2551 ได้ ในขณะเดียวกัน ความล่าช้าของโครงการรถไฟฟ้า รวมทั้งการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ต่ำกว่าเป้า ก็อาจกระทบต่ออัตราการขยายตัวของการลงทุนในช่วงที่เหลือของปี 2550 และอาจต่อเนื่องไปจนถึงปี 2551 เช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ตลอดจนนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่

นอกจากนี้ การลงทุนของภาครัฐและเอกชนยังน่าที่จะเผชิญกับต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาว (long-term bond yields) ที่ได้ปรับตัวขึ้นมาตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากที่ตลาดเงินตีความคำกล่าวของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว ว่าหมายถึงอัตราดอกเบี้ยในประเทศอาจจะไม่ปรับลดลงอีก ในขณะที่สภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ไทยยังคงถูกกระทบจากมาตรการกันสำรอง 30% ของ ธปท. รวมทั้งจากภาวะความผันผวนของตลาดทุนอันเนื่องมาปัญหาซับไพร์มของสหรัฐฯ ที่ทำให้การระดมทุนในตลาดต่างประเทศมีความยากลำบากมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ปริมาณอุปทานตราสารหนี้ที่จะทยอยเข้าสู่ตลาดก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาล และพันธบัตรที่ออกเพื่อการปรับโครงสร้างการกู้ยืมของกองทุนฟื้นฟูฯ เนื่องจากธปท.กำลังจะปิดตลาดซื้อคืนพันธบัตรลงภายในปลายปี 2550 ซึ่งน่าจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวดังกล่าวทรงตัวในระดับที่สูงต่อไปทั้งในช่วงที่เหลือของปี 2550 และปี 2551

โดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยอาจจะขยายตัวประมาณ 4.3% ในไตรมาสที่ 2 ปี 2550 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ใกล้เคียงกับไตรมาสแรกที่ผ่านมา โดยแม้ว่าภาวะการใช้จ่ายในประเทศยังคงชะลอตัว แต่การส่งออกยังคงขยายตัวได้ดีในไตรมาสที่สองนี้ และช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลต่อเนื่องจากในไตรมาสแรก สำหรับแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2550 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะขยายตัวประมาณ 4.0-4.5% ซึ่งใกล้เคียงกับในช่วงครึ่งปีแรกที่ขยายตัว 4.3% ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของทั้งปี 2550 อยู่ในช่วง 4.3-4.5% โดยลดลงจากปี 2549 ที่ขยายตัว 5.0% โดยปัจจัยหนุนทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 นี้ ได้แก่ ภาวะการเมืองที่เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ตลอดจนการใช้จ่ายในประเทศที่น่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม การส่งออกที่ชะลอตัวได้สร้างแรงกดดันต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ในขณะที่ปัญหาซับไพร์มของสหรัฐฯได้ส่งผลกระทบและสร้างความผันผวนต่อทั้งตลาดทุนและอัตราแลกเปลี่ยน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในขณะนี้ เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ โดยปัจจัยภายนอกประเทศสำคัญคงจะหลีกไม่พ้นผลกระทบจากปัญหาซับไพร์มของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลให้การบริโภคของครัวเรือนสหรัฐฯชะลอตัวลง และส่งผลต่อเนื่องไปยังการส่งออกของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวมทั้งของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนปัจจัยความไม่แน่นอนภายในประเทศนั้น คาดว่า นักลงทุนและภาคธุรกิจยังคงเฝ้าติดตามประเด็นด้านเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ แม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะได้ผ่านการลงประชามติไปแล้วเมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมาก็ตาม

นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงติดตามการดำเนินการพิจารณากฎหมายธุรกิจที่สำคัญ ๆ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และพ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่ง เป็นต้น ในขณะเดียวกันความล่าช้าของโครงการรถไฟฟ้า รวมทั้งการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ต่ำกว่าเป้า ก็อาจกระทบต่ออัตราการขยายตัวของการลงทุนในช่วงที่เหลือของปี 2550 และอาจจะต่อเนื่องไปจนถึงปี 2551 ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ตลอดจนนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ นอกจากนี้ การลงทุนของภาครัฐและเอกชนยังเผชิญกับต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น เนื่องจากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาว (long-term bond yields) ที่ได้ปรับตัวขึ้นมาตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แม้ว่าธปท.จะได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาก็ตาม

ที่มา : บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด




 

Create Date : 30 สิงหาคม 2550
0 comments
Last Update : 30 สิงหาคม 2550 19:07:25 น.
Counter : 557 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


hip_ib
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add hip_ib's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.