[hip_ib ] >>>"It is never too late to be what you might have been." <<<<
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2550
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
8 ตุลาคม 2550
 
All Blogs
 
อุตสาหกรรมสุราไทย หลังการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต


กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : จากการประกาศปรับภาษีสรรพสามิตสุราเพิ่มขึ้นเมื่อเดือน สิงหาคม ที่ผ่านมา และการดำเนินมาตรการรณรงค์ประชาชนให้ งด ลด เลิกดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อย่างจริงจังและต่อเนื่องของภาครัฐ เพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนและปัญหาทางสังคม ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคชะลอตัวลง อันเป็นผลมาจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้ภาวะการค้าเครื่องดื่มสุราภายในประเทศมีความยากลำบากมากขึ้น ขณะที่ ภาวะการแข่งขันทางการค้าทวีความรุนแรงมากขึ้น จากการมีสินค้าทดแทนที่หลากหลายทั้งจากเบียร์ ไวน์ และเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์พร้อมดื่มที่ได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหันมาเร่งขยายการส่งออกสุราไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นเฉพาะอย่างยิ่ง ตลาดในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง เพื่อทดแทนตลาดในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้นหลังการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต

การผลิต : สุราขาวมากสุด….รายใหญ่ผูกขาด


ปัจจุบัน กลุ่มผู้ผลิตสุราในประเทศที่สำคัญมีประมาณ 6 ราย ได้แก่ กลุ่มตระกูลสิริวัฒนภักดี กลุ่มไชยวรรณ กลุ่มชีวะศิริ กลุ่มบุญยศรีสวัสดิ์ กลุ่มตันติวิวัฒนพันธ์ และกลุ่มโชคชัยณรงค์ แต่ในความเป็นจริง ปริมาณการผลิตส่วนใหญ่เป็นของผู้ผลิตรายใหญ่ เพียงรายเดียว ได้แก่ กลุ่มตระกูลสิริวัฒนภักดี ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงประมาณ 90% ของการผลิตทั้งหมด โดยในปี 2549 การผลิตมีปริมาณ 634.6 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 5.7% จากปีก่อน การใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 47.5% ของกำลังการผลิตรวม ทั้งนี้เป็นผลมาจากการขยายกำลังการผลิตของผู้ผลิตสุรารายใหญ่

อย่างไรก็ดี ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2550 การผลิตกลับมีปริมาณเพียง 354.7 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นเพียง 0.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้ผลิตสุรายังคงมีสต็อกเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก ประกอบกับต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ค่าขนส่ง และวัตถุดิบที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมในด้านการบรรจุ เช่น ขวด กระดาษ หีบห่อ และจุกก๊อก จากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมัน ส่งผลให้ปริมาณการผลิตสุราชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน

การผลิตสุราของไทย สามารถจำแนกออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ ประเภทแรกสุราแช่ เป็นสุราที่ได้จากการหมักธัญพืชต่างๆ รวมถึงสุราแช่ที่ได้ผสมกับสุรากลั่นแล้วแต่มีแอลกอฮอล์ไม่เกิน 15 ดีกรี เช่น เบียร์ แชมเปญ และไวน์ ส่วนประเภทที่สอง สุรากลั่น เป็นสุราที่ได้จากการหมักกลั่นสุราแช่และรวมถึงสุรากลั่นที่ได้ผสมกับสุราแช่แล้ว แต่มีแอลกอฮอล์เกินกว่า 15 ดีกรี แบ่งออกเป็น สุราขาว สุราผสม และสุราพิเศษ โดยสุราที่มีการผลิตมากที่สุดคือ สุราขาว คิดเป็น 70% ของการผลิตสุรารวมทั้งหมด

ตลาดในประเทศเติบโต……แต่ปัญหารุมเร้า

ในช่วงระยะเวลา 2 - 3 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าปริมาณการจำหน่ายสุราภายในประเทศจะขยายตัวเติบโตขึ้นทุกปี แต่เป็นการเติบโตที่ไม่มากนัก ดังจะเห็นได้จากในปี 2549 ปริมาณการจำหน่ายสุราอยู่ที่ 810.2 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 2.5% จากปีก่อนหน้า อันเป็นผลมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง จากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจและราคาน้ำมันที่ยังผันผวนอยู่ในระดับสูง ประกอบกับการจำหน่ายยังถูกกระทบจากนโยบายของภาครัฐที่ออกมาตรการคุมเข้มเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนลด เลิกดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง อาทิ มาตรการจำกัดการโฆษณาผ่านสื่อ การจำกัดเวลาและสถานที่จำหน่าย นอกจากนี้มาตรการล่าสุดในการปรับเพิ่มขึ้นภาษีสรรพสามิตสุรา ที่ทางคณะรัฐมนตรีมีความเห็นชอบเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2550 ที่ผ่านมา เฉพาะอย่างยิ่ง การปรับขึ้นอัตราภาษีสุรากลั่นโดยจัดเก็บภาษีทั้งตามมูลค่า อยู่ที่ 50% และตามปริมาณ อยู่ที่ 400 บาทต่อลิตรของแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ (100 ดีกรี) ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

สุราขาว จากเดิมที่เคยจัดเก็บตามมูลค่าอยู่ที่ร้อยละ 25 ปรับเพิ่มเป็นร้อยละ 50 ส่วนอัตราภาษีตามปริมาณปรับเพิ่มจาก 70 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์(100 ดีกรี) หรือ 0.70 บาทต่อลิตรต่อ 1 ดีกรี เป็น 110 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์(100 ดีกรี) หรือ 1.10 บาทต่อลิตรต่อ 1 ดีกรี ส่งผลให้ราคาขายปลีกสุราขาว 28 – 40 ดีกรี ขนาด 0.625 ลิตร มีราคาขายปลีกเพิ่มขึ้นอีก 9 – 12 บาทต่อขวด

สุราผสม ได้แก่ หงษ์ทอง เชี่ยงชุน ภาษีตามมูลค่ายังคงจัดเก็บเท่าเดิมที่ 50% แต่ปรับเพิ่มภาษีตามปริมาณจาก 240 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ (100 ดีกรี) หรือ 2.4 บาทต่อลิตรต่อ 1 ดีกรี เพิ่มเป็น 280 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์(100 ดีกรี) หรือ 2.8 บาทต่อลิตรต่อ 1 ดีกรี ส่งผลให้ราคาขายปลีกเพิ่มขึ้นอีกขวดละ 9 – 12 บาท

สุราพิเศษ ได้แก่ บรั่นดี จากเดิมภาษีตามมูลค่าอยู่ที่ 40% ปรับเพิ่มเป็น 45% ส่วนภาษีตามปริมาณยังคงเดิมที่ 400 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์(100 ดีกรี) หรือ 4 บาทต่อลิตรต่อ 1 ดีกรี ส่งผลให้ราคาขายปลีกบรั่นดี 38 – 40 ดีกรี ขนาด 0.640 ลิตร ปรับเพิ่มขึ้นอีกขวดละ 0 - 91 บาท ในส่วนของยี่ห้อรีเจนซี่ราคาเพิ่มขวดละ 9 บาท และยี่ห้อเฮนเนสซี่ เพิ่มขึ้นขวดละ 91 บาท

จากการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทสุรากลั่นของภาครัฐ ทำให้ผู้ประกอบการสุราจำเป็นต้องปรับราคาจำหน่ายให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาวะตลาดเครื่องดื่มสุราโดยรวมจะขยายตัวได้ไม่มากนัก แม้ว่าจะมีปัจจัยสนับสนุนจากการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะมีขึ้นในช่วงปลายปีนี้ก็ตาม ทำให้คาดว่า ปริมาณการจำหน่ายในปี 2550 จะอยู่ที่ 835.5 ล้านลิตร หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 จากปีที่ผ่านมา

หลากหลายกลยุทธ์การแข่งขัน….เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด

ในปี 2550 ภาวะการแข่งขันในการจำหน่ายสุราของตลาดภายในประเทศโดยรวมทวีความรุนแรงมากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตสุรา เมื่อเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ราคาจำหน่ายสุรากลั่นทุกประเภทปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ สินค้าทดแทนที่จำหน่ายในตลาดมีหลากหลายทั้งเบียร์ และไวน์ อีกทั้งยังมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุราจากต่างประเทศมาจำหน่ายภายในประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการภายในประเทศจำเป็นต้องนำกลยุทธ์ทางการตลาดที่โดดเด่นและหลากหลายมาใช้ เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดและเพื่อให้สินค้าของตนอยู่ในความทรงจำของผู้บริโภคให้มากที่สุด (Brand Awareness) ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์การตลาดด้านการตั้งราคาให้อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งกลยุทธ์อื่น ๆ เช่น การแถมและการขายพ่วง ตลอดจนการจัดกิจกรรมการตลาดที่ไม่ผ่านสื่อมากขึ้น หลังจากถูกจำกัดการโฆษณาผ่านสื่อทางโทรทัศน์ โดยมีการทำตลาดที่เน้นการสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรเป็นหลัก เช่น เครื่องดื่มสุราภายใต้เครื่องหมายการค้า แสงโสมและแม่โขง ด้วยการกระตุ้นสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ในรูปแบบกลยุทธ์ซีเอสอาร์(Corporate Social Responsibility :CSR) กำหนดกิจกรรม 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านสังคม ด้านกีฬา ด้านสาธารณสุข และด้านศิลปวัฒนธรรม โดยจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างแบรนด์ และการสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรในระยะยาว เป็นต้น

การส่งออก….เติบโตดีในประเทศเพื่อนบ้าน

ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกเครื่องดื่มสุราของไทยได้ขยายตัวเติบโตอยู่ในเกณฑ์ดี จนมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 20.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2549 เพิ่มขึ้น 33.0% จากปีก่อนหน้า สำหรับในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2550 การส่งออกมีมูลค่า 16.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 23.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดสุราในประเทศทำให้ผู้ประกอบการหันมาเร่งขยายการส่งออกเครื่องดื่มสุราไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่กำลังเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดเงินตราเข้าประเทศ จึงทำให้การส่งออกเครื่องดื่มสุรามีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก ตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ กัมพูชา มีมูลค่าการส่งออกในสัดส่วน 56.8% ของการส่งออกทั้งหมด รองลงมา คือ พม่า 38.6% ลาว 3.0% และตลาดอื่นๆ อีก 1.6%

ปัญหาและอุปสรรค…กระทบต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรม

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมสุราของไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัว ได้แก่

ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น จากความผันผวนของราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง และราคาบรรจุภัณฑ์สุรา เช่น ขวดแก้ว และพลาสติก ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งการกำหนดให้เครื่องดื่มสุราเสียภาษีในอัตราภาษีอบายมุข (Sin Tax) ซึ่งมีอัตราที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยและก่อให้เกิดปัญหาสังคม ทำให้ผู้ผลิตจะต้องเสียภาษีทั้งอากรสรรพสามิตและภาษีท้องถิ่น ภาระภาษีที่ผู้ผลิตต้องชำระจึงมีมูลค่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของราคาจำหน่าย ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการสูงขึ้น

จากนโยบายของภาครัฐที่มีการรณรงค์ให้ประชาชน ลด เลิกดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณา โดยอาจขยับช่วงเวลาโฆษณาจากเดิม 22.00 - 05.00 น. เป็นช่วงเวลา 24.00 – 05.00 น. เป็นต้น และห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์แก่บุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี พร้อมกับการเข้มงวดกวดขันในการวัดระดับแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่ยานพาหนะ ส่งผลให้ผู้บริโภคลดการดื่มเครื่องดื่มสุรามากขึ้น

ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น จากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสุรากลั่นทุกประเภทภายในประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการหันมานำเข้าสุราราคาถูกจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปิดเขตการค้าเสรีกับต่างประเทศ ทั้งภายใต้กรอบ AFTA และ FTA ทำให้มีการนำสุราเข้ามาจำหน่ายภายในประเทศมากขึ้น ประกอบกับต้องเผชิญกับการแข่งขันจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่น ๆ ที่มีการเติบโตสูงเช่นกัน เฉพาะอย่างยิ่ง เครื่องดื่มเบียร์ และไวน์ ทำให้ส่วนแบ่งตลาดของผู้ประกอบการลดลง

แนวโน้มปี ‘ 51

แนวโน้มอุตสาหกรรมสุราของไทยในปี 2551 คาดว่า มูลค่าตลาดในประเทศโดยรวมจะมีประมาณ 62,500 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเพียง 2.3% จากปีที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวลง ขณะที่ ราคาจำหน่ายสุราสูงขึ้นตามภาระต้นทุนด้านภาษีที่ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะลดการบริโภคลง และผู้บริโภคบางส่วนอาจหันไปดื่มเบียร์ซึ่งปัจจุบันมีราคาจำหน่ายถูกกว่าสุรา จึงทำให้คาดว่า ความต้องการบริโภคสุราของตลาดในประเทศจะขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่มากนัก อีกทั้งการดำเนินมาตรการคุมเข้มของภาครัฐที่มีการรณรงค์ให้ประชาชนเลิกดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และมาตรการจำกัดการโฆษณาผ่านสื่อ การจำกัดเวลาและสถานที่จำหน่าย ภาวะการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสุราดำเนินธุรกิจได้ยากลำบากมากขึ้น จนต้องมีการนำกลยุทธ์ทางการตลาดในรูปแบบใหม่ ๆ มาใช้ในการกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ ขณะเดียวกันก็เร่งขยายการส่งออกสุราไปยังตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น เฉพาะอย่างยิ่ง ตลาดในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ทั้งนี้ เพื่อชดเชยตลาดภายในประเทศที่ชะลอตัวลง และเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้น

***************************

ที่มา : ฝ่ายวิจัยธนาคารนครหลวงไทย



Create Date : 08 ตุลาคม 2550
Last Update : 8 ตุลาคม 2550 20:46:35 น. 2 comments
Counter : 2107 Pageviews.

 
เป็นคนขอบกินสุรามากคับ
พูดเล่นน่าๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ


โดย: อั๋น IP: 124.120.209.187 วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:18:23:52 น.  

 
ไม่มีข้อมูลที่ต้องการเลย



โดย: pop IP: 202.29.4.251 วันที่: 22 กันยายน 2552 เวลา:11:02:50 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

hip_ib
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add hip_ib's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.