[hip_ib ] >>>"It is never too late to be what you might have been." <<<<
Group Blog
 
 
ตุลาคม 2550
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
5 ตุลาคม 2550
 
All Blogs
 

Siminar!

ออสเตรเลีย
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง เป็นเกาะทวีป (Island Continent) อยู่ในซีกโลกใต้ ตั้งอยู่ระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก
พื้นที่ 7,692,000 ตารางกิโลเมตร มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 รองจากรัสเซีย แคนาดา จีน สหรัฐอเมริกา และบราซิล และใหญ่กว่าไทยประมาณ 15 เท่า
เมืองหลวง กรุงแคนเบอร์รา เมืองที่มีประชากรมากสุด ได้แก่ นครซิดนีย์และเมลเบิร์น
ภูมิอากาศ ภาคใต้มีสภาพอากาศเย็น ในขณะที่ภาคเหนือมีอากาศร้อนชื้น เดือนร้อนที่สุดคือ มกราคมและกุมภาพันธ์ เดือนหนาวที่สุดคือ กรกฎาคม
เวลา เร็วกว่าเวลามาตรฐานกรีนิช 10 ชม. (New South Wales, Tasmania, Victoria, Queensland และ Australian Capital Territory) 9.5 ชม. (Northern Territory และ South Australia) และ 8 ชม. (Western Australia) เวลากรุงแคนเบอร์ราเร็วกว่ากรุงเทพฯ 3 ชม.
ประชากร 21 ล้านคน (ปี 2550) เป็นผู้ที่มีเชื้อชาติยุโรป ร้อยละ 92 เอเชียร้อยละ 7 และชนพื้นเมืองอะบอริจินส์ ร้อยละ 1
ภาษาราชการ ภาษาอังกฤษ
ศาสนา คริสต์นิกายโรมันคาธอลิค ร้อยละ 27 คริสต์นิกายแองกลิกัน ร้อยละ 21 คริสต์นิกายอื่น ๆ ร้อยละ 21 พุทธ ร้อยละ 2 มุสลิม ร้อยละ 1.5 อื่นๆ ร้อยละ 1.2 ไม่แจ้งศาสนาตน ร้อยละ 13 และไม่นับถือศาสนาใด ร้อยละ 15 (จากการสำรวจสำมะโนประชากรปี 2544)
วันชาติ วันที่ 26 มกราคม
รูปแบบการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยแบบสหพันธ์ (Federal Democracy) และเป็นประเทศในเครือจักรภพ
ประมุข สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร โดยมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ (Governor-General) คนปัจจุบันคือ พลตรี ไมเคิล เจฟฟรี (คนที่ 24) หัวหน้าฝ่ายบริหารคือ นายจอห์น ฮาวเวิร์ด (John Howard) นายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคเสรนิยม Australia Liberal Party
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 755.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2550)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 36,546 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2550)
อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 2.4 (ปี 2550)
อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 3.3 (ปี 2550)
อัตราการว่างงาน ร้อยละ 4.3 (ปี 2550)
สินค้าส่งออกที่สำคัญ ถ่านหิน ทองคำ แร่เหล็ก น้ำมันดิบ แร่อะลูมิเนียม
สินค้านำเข้าที่สำคัญ น้ำมันดิบ ชิ้นส่วน/อุปกรณ์รถยนต์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ น้ำมันกลั่น อุปกรณ์โทรคมนาคม (ปี 2549)
ตลาดนำเข้าที่สำคัญ จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เยอรมนี (ปี 2549)
ตลาดส่งออกที่สำคัญ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ สหรัฐฯ นิวซีแลนด์ (ปี 2549)
สกุลเงิน AUD
อัตราแลกเปลี่ยน 28.94

การเมืองการปกครอง
กำเนิดเครือรัฐออสเตรเลีย ได้รับการก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2444 ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. 1901 ซึ่งเป็นแบบลายลักษณ์อักษร เดิมออสเตรเลียเป็นดินแดนสำหรับส่งนักโทษอังกฤษมาอาศัยอยู่ แต่มีชาวอังกฤษย้ายเข้าไปตั้งถิ่นฐานในช่วงศตวรรษที่ 19 ต่อมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีชาวยุโรปและชาวเอเชียย้ายไปตั้งรกรากที่ออสเตรเลียมากขึ้นตามลำดับ
ฝ่ายบริหาร อยู่ภายใต้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ มีคณะรัฐมนตรีเป็นองค์กรผู้บริหาร โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี บุคคลในคณะรัฐมนตรีได้รับเลือกจากสมาชิกสภาผู้แทนราฎรที่ได้รับเลือกตั้งมาจากการเลือกตั้งทั่วไป
ฝ่ายนิติบัญญัติ มีรัฐสภาประกอบด้วย สภาผู้แทนราฎร (มี 150 ที่นั่ง) และ วุฒิสภา (มี 76 ที่นั่ง)มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดและครึ่งหนึ่งของสมาชิกวุฒิสภาทุกๆ 3 ปี การออกพระราชบัญญัติทุกฉบับต้องผ่านการเห็นชอบของทั้ง 2 สภา ประชาชนที่มีอายุครบ 18 ปีขึ้นไปมีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง
ฝ่ายตุลาการ อำนาจตุลาการเป็นอิสระจากฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐบาลเป็นผู้แต่งตั้งผู้พิพากษาเมื่อมีตำแหน่งว่าง แต่ไม่มีอำนาจถอดถอน
- ศาลสูง (High Court of Australia) มีอำนาจสูงสุดในการตีความและตัดสินคดี
กฎหมายรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติระดับรัฐและส่วนกลาง และคดีในระดับระหว่างรัฐและระหว่างประเทศ ศาล Federal Court of Australia มีอำนาจตัดสินคดีแพ่ง
การปกครอง ในระบบสหพันธรัฐ ซึ่งประกอบด้วย 6 รัฐ ได้แก่ Western Australia, South Australia, Queensland, New South Wales, Tasmania, และ Victoria โดยมีอาณาเขตปกครองตนเอง 2 อาณาเขต ได้แก่ Northern Territory และ Australian Capital Territory ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองหลวง คือ กรุงแคนเบอร์รา รัฐแต่ละรัฐมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (Governor) มีรัฐบาลและมุขมนตรีทำหน้าที่บริหาร โดยมีสภานิติบัญญัติ 2 สภา ยกเว้นรัฐ Queensland ซึ่งมีเพียงสภาเดียว และรัฐและอาณาเขตต่างๆ มีระบบศาลของตนเอง
พรรคการเมือง ออสเตรเลียมีพรรคการเมืองสำคัญ 3 พรรค ได้แก่
1. Liberal Party of Australia (หัวหน้าพรรคคือ นาย John Howard นายกรัฐมนตรี)
2. Australian Labour Party (หัวหน้าพรรคคนใหม่คือ นาย Kevin Rudd เมื่อ 4 ธ.ค. 49)
3. National Party of Australia (หัวหน้าพรรคคือ นาย Mark Vaile รองนายกรัฐมนตรี)
พรรคการเมืองอื่นๆ อาทิ พรรค Australian Greens, Family First Party, Australian Democrats, One Nation Party
สถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน
- พรรค Liberal (ส.ส. 74 คน) นำโดยนาย John Howard ชนะการเลือกตั้งทั่วไป
เป็นวาระที่ 4 เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2547 ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 40.5 โดยได้จัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรค National (ส.ส. 12 คน) และมีพรรค Labour (ส.ส. 60 คน) เป็นพรรคฝ่ายค้าน
- เมื่อเดือน มี.ค. 2549 นาย Howard ครบรอบการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
เป็นปีที่ 10 และเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของออสเตรเลียที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดต่อจากนาย Robert Menzies (พ.ศ. 2482-2484 และ พ.ศ. 2492-2509) และประกาศจะลงรับเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่ 5 ในการเลือกตั้งทั่วไปจะมีขึ้นภายในปี 2550 นี้หรืออย่างช้าสุดภายในเดือน ม.ค. 2551 อันเป็นการปิดกั้นนาย Peter Costello รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและคู่แข่งคนสำคัญในพรรค Liberal จากการได้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งหัวหน้าพรรค เนื่องจากคะแนนนิยมยังสู้นาย Howard ไม่ได้
- เมื่อเดือนธันวาคม 2549 พรรค Labour มีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ซึ่งนาย Kevin Rudd ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคสืบแทนนาย Kim Beazley ซึ่งอาจเพิ่มคะแนนนิยมให้พรรคฝ่ายค้านในหมู่คนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้ คะแนนนิยมพรรค Labour ได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 55 ต่อร้อยละ 45 ของพรรครัฐบาล จากการสำรวจของ Newspoll เมื่อเดือน ส.ค. 2550
- จุดแข็งของรัฐบาลผสม Liberal-National ได้แก่การที่ออสเตรเลียมีอัตราการ
เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงอย่างต่อเนื่อง (ประมาณร้อยละ 3.1 ตั้งแต่ปี 2543) และการนำของนาย Howard ในลักษณะที่ค่อนข้างเด็ดเดี่ยว จุดอ่อนซึ่งคาดว่า อาจส่งผลต่อความนิยมได้แก่
1) ปัญหาสภาพเศรษฐกิจร้อนแรง (overheat) ซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารกลางขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต
2) ประเด็นนโยบายด้านนิวเคลียร์ โดยรัฐบาลมีแผนส่งเสริมการทำเหมืองแร่ยูเรเนียมเพิ่มขึ้น การตั้งโรงงานเพิ่มสมรรถนะยูเรเนียมเพื่อการส่งออก และการตั้งโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย
3) นโยบายการส่งกองกำลังทหารไปประเทศอิรัก ซึ่งเริ่มได้รับคะแนนนิยมลดลงจากประชาชน และการวิจารณ์จากพรรคฝ่ายค้าน

นโยบายด้านความมั่นคง

2.1 ออสเตรเลียให้ความสำคัญด้านการต่อต้านการก่อการร้ายและการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ เนื่องจากเห็นว่าปัญหาการก่อการร้าย การแพร่กระจายของอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง และอาชญากรรมข้ามชาติเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อความมั่นคงในภูมิภาค นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับพันธมิตรโดยเฉพาะสหรัฐฯ เพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ และพัฒนาบุคลากรและอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ทันสมัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของกองทัพในการป้องกันดินแดน รวมทั้งผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาการลักลอบเข้าเมืองอย่างจริงจัง
2.2 ออสเตรเลียได้ตกเป็นเป้าหมายของขบวนการก่อการร้าย นับตั้งแต่เหตุการณ์ระเบิดที่เกาะบาหลี ในปี 2545 และมีความกังวลว่าจะเกิดขบวนการหัวรุนแรงขยายตัวมากขึ้นในประเทศ เนื่องจากออสเตรเลียมีชุมชนมุสลิมอาศัยอยู่ประมาณ 300,000 คน รัฐบาลกำลังจับตามองความเคลื่อนไหวของผู้นำมุสลิมต่างๆ อย่างเข้มงวด และชี้ว่าชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในออสเตรเลียจะต้องตระหนักและเคารพต่อค่านิยมทางสังคมของออสเตรเลีย คาดว่าออสเตรเลียจะดำเนินนโยบายให้ชาวมุสลิมกลมกลืนเป็นชาวออสเตรเลียมากขึ้นหลังจากที่ได้ปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตรวจคนเข้าเมือง และเปลี่ยนนโยบายการเข้าเมือง ตลอดจนเปลี่ยนชื่อกระทรวงจาก Department of Immigration and Multicultural Affairs เป็น Department of Immigration and Citizenship
2.3 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 นายอเล็กซานเดอร์ ดาวน์เนอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลียได้กล่าวสุนทรพจน์ที่ Sydney Institute ในหัวข้อ Terrorism: Winning the Battle of Ideas สรุปได้ว่า ออสเตรเลียเล็งเห็นถึงปัญหาการก่อตัวของลัทธิหัวรุนแรงในท้องถิ่นต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่ม Jemmah Islamiya – JI และพยายามใช้แนวทางด้านความมั่นคงและแนวทางการทูตสาธารณะในการแก้ไขปัญหา รวมไปถึงการเสริมสร้างความสมานฉันท์ เช่น การร่วมมือกับอินโดนีเซียในการจัดประชุม Interfaith Dialogue 2 ครั้ง (นิวซีแลนด์จะเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งที่ 3 ในเดือนพฤษภาคม 2550) การจัดโครงการแลกเปลี่ยนการเยือนและการติดต่อระหว่างกลุ่มมุสลิมในออสเตรเลียและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งในไทยและอินโดนีเซีย โดยมุ่งเน้นการเรียนรู้ประสบการณ์ของออสเตรเลียในการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนมุสลิมผสมกับหลักสูตรทั่วไปของออสเตรเลีย และจะขยายโครงการไปสู่ผู้นำมุสลิมสายกลางสาขาอาชีพต่างๆ อีกด้วย
2.4 ขณะนี้ ออสเตรเลียลงนามความตกลงด้านการต่อต้านการก่อการร้าย (MOUs on Counter-Terrorism) กับหลายประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ ฟิจิ กัมพูชา ติมอร์เลสเต อินเดีย บรูไนฯ ปาปัวนิวกินี ปากีสถาน และอัฟกานิสถาน และเมื่อเดือนพฤษภาคม 2549 ได้ประกาศที่จะให้เงินช่วยเหลือภูมิภาคในการต่อต้านการก่อการร้ายเป็นเวลา 4 ปีเป็นเงินทั้งสิ้น 92.6 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ออสเตรเลียยังเป็นประธานร่วมกับอินโดนีเซียในกรอบ Bali Process โดยได้จัดตั้งคณะทำงาน 2 คณะ ได้แก่ Legal Issues Working Group (LIWG) และ Law Enforcement Working Group (LEWG) ด้านการต่อต้านการก่อการร้าย
2.5 บทบาทที่โดดเด่นของออสเตรเลียในปี 2550 คือ การที่ออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพการประชุมในกรอบเอเปค และให้ความสำคัญกับการผลักดันความร่วมมือต่อต้านการก่อการร้ายในกรอบนี้ โดยเมื่อวันที่ 19-20 มกราคม 2550 ได้จัดการประชุม APEC Counter-Terrorism Task Force ครั้งที่ 1/2550 ณ
กรุงแคนเบอร์รา ซึ่งในกรอบนี้ออสเตรเลียเป็นผู้บริจาคสำคัญของโครงการภายใต้กรอบธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) หรือ Cooperation Fund for Regional Trade and Financial Security Initiative และจะร่วมกับมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วย financing of terrorism ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ในเดือนเมษายนและกรกฎาคม 2550
2.6 นอกจากนี้ ออสเตรเลียมีโครงการร่วมมืออื่นๆ ในภูมิภาค (regional outreach) โดยจัดการสัมมนาว่าด้วย Global Initiative to Combat Nuclear Terrorism ในระหว่างวันที่ 17-18 พฤษภาคม 2550
การประชุม Sub-Regional Ministerial Meeting on Counter-Terrorism ที่กรุงจาการ์ตา ระหว่างวันที่ 5-6 มีนาคม 2550 ซึ่งออสเตรเลียและอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพร่วม และมีผู้แทนระดับรัฐมนตรีเข้าร่วมจาก อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย ออสเตรเลีย และไทย หัวข้อที่มีการหารือ อาทิ การต่อต้านการ
แพร่ขยายของลัทธินิยมความรุนแรง การข่าว การสอดส่องควบคุมความเคลื่อนไหวและการจัดการกับยุทธวิธีของขบวนการก่อการร้าย เงินทุน อาวุธ และวัตถุที่ใช้ประโยชน์สองทาง ซึ่งฝ่ายไทยได้ให้ความสำคัญกับการขยายความร่วมมือในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้าย และการเรียนรู้วิธีปฏิบัติที่ดีจากประเทศอื่นในภูมิภาค
2.7 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลียมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านการลักลอบค้ามนุษย์ โดยเฉพาะในกรอบของ Bali Process ทั้งนี้ ออสเตรเลียได้จัดตั้งตำแหน่งเอกอัครราชทูตในเรื่องการลักลอบค้ามนุษย์เป็นการเฉพาะเพื่อประสานงานและสานต่อการดำเนินการต่างๆ ภายใต้กรอบดังกล่าว นอกจากนั้น เมื่อเดือนมิถุนายน 2547 รัฐบาลออสเตรเลียได้ประกาศใช้ Action Plan to Eradicate Trafficking in Persons โดยใช้งบประมาณ 20 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย และครอบคลุมมาตรการต่างๆ ในการต่อต้านการลักลอบค้ามนุษย์ รวมทั้งได้ให้สัตยาบันต่อพิธีสารสหประชาชาติ Protocol to Prevent, Suppress and Punish Trafficking in Persons, Especially Women and Children เมื่อเดือนกันยายน 2548 หลังจากปรับแก้ไขกฎหมายภายในที่เกี่ยวข้องแล้ว
2.8 ออสเตรเลียมีบทบาทที่แข็งขันในการต่อต้านการแพร่กระจายของอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD) โดยสนับสนุนสนธิสัญญาหลักๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ Nuclear Non-Proliferation Treaty (NPT), Chemical Weapons Convention (CWC), Biological and Toxin Weapons Convention (BWC), และComprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty (CTBT) รวมทั้งสนับสนุนและมีบทบาทที่แข็งขันใน Proliferation Security Initiative (PSI) ซึ่งเป็นแนวความคิดริเริ่มของสหรัฐฯ และได้รับความร่วมมือจากชาติตะวันตกต่างๆ รวมถึงออสเตรเลีย โดยมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงและในปัจจุบันมีประเทศเข้าร่วมมากกว่า 80 ประเทศ ทั้งนี้ ออสเตรเลียได้พยายามจะผลักดันให้ประเทศในเอเชียแปซิฟิกรวมถึงไทยให้การสนับสนุน PSI ด้วย โดยไทยมีท่าทีสนับสนุนแต่ยังไม่เข้าร่วมเพราะเห็นว่า
อาจมีผลกระทบทำให้สถานการณ์ในภาคใต้ของไทยยุ่งยากยิ่งขึ้น และไทยจะพิจารณาเข้าร่วมหากประเทศอาเซียนที่เป็นมุสลิม (มาเลเซีย และอินโดนีเซีย) เข้าร่วมด้วย นอกจากนั้น ออสเตรเลียยังสนับสนุนให้
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีบทบาทที่แข็งขันมากขึ้นในการควบคุมการแพร่กระจายของ WMD อาทิ ในกรณีเกาหลีเหนือ และอิหร่าน


นโยบายด้านต่างประเทศ

ออสเตรเลียมีบทบาทแข็งขันในการเมืองระหว่างประเทศโดยให้การสนับสนุนการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ของสหประชาชาติมาโดยตลอด เช่น ด้านการปฏิบัติการรักษาสันติภาพ การลดอาวุธ การควบคุมและปราบปรามยาเสพติด มีบทบาทสำคัญในกลุ่มประเทศสมาชิกเครือจักรภพในภูมิภาคแปซิฟิก และใน Pacific Islands Forum (PIF), Cairns Group เอเปค อาเซียน และ ARF ออสเตรเลียได้จัดสรรงบประมาณความช่วยเหลือต่างประเทศ (ปีงบประมาณ 2549-2550) จำนวน 2.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมุ่งเน้นให้แก่ กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคอาเซียนและแปซิฟิกใต้ นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังร่วมมือกับนิวซีแลนด์ในการแก้ปัญหาในประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกมาโดยตลอด ผ่านเวทีการประชุมต่างๆ เช่น Australia-New Zealand Foreign Ministers' Meeting และได้ส่งกองกำลังร่วมเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในตองกา ช่วงที่มีปัญหาการจลาจลเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2549 อย่างไรก็ตาม ออสเตรเลียได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก อาทิ ฟิจิ และหมู่เกาะโซโลมอนว่า แทรกแซงกิจการภายในของประเทศเหล่านี้มากเกินไป

ออสเตรเลียส่งเสริมการมีบทบาทสำคัญในกรอบอาเซียน โดยออสเตรเลียกำลังจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ เข้าร่วมการประชุม East Asia Summit (EAS) นอกจากนั้น ออสเตรเลียยังมีบทบาทที่แข็งขันในการรักษาสันติภาพในติมอร์เลสเต โดยได้ส่งกองกำลังร่วมกับไทยเพื่อรักษาสันติภาพในช่วงปี 2542-2545 และล่าสุดออสเตรเลียได้ส่งกองกำลังไปรักษาความสงบอีกรอบในช่วงปี 2549 ถึงปัจจุบัน

ภายหลังเหตุการณ์ก่อการร้ายในสหรัฐฯ และเหตุระเบิดที่เกาะบาหลี รัฐบาลออสเตรเลียได้ประกาศใช้สมุดปกขาวด้านนโยบายต่างประเทศและการค้าฉบับใหม่ ภายใต้ชื่อ Advancing the National Interest ในเดือนกุมภาพันธ์ 2546 โดยวางกรอบยุทธศาสตร์การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทางด้านการเมืองความมั่นคงและเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกในปัจจุบัน มุ่งเน้นการคุ้มครองคนชาติและผลประโยชน์ของออสเตรเลียจากภัยก่อการร้ายระหว่างประเทศ การต่อสู้กับปัญหาการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ การลักลอบค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติดและปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญพิเศษต่อความร่วมมือในการป้องกันภัยดังกล่าวกับประเทศและภูมิภาคที่อยู่ใกล้ออสเตรเลียที่สุด (immediate region) มุ่งเน้นความรับผิดชอบร่วมกันภายใต้กรอบสหประชาชาติ รวมทั้งการส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งขจัดอุปสรรคทางการค้าพหุภาคีภายใต้องค์การการค้าโลกและเอเปค และการส่งเสริมการจัดทำความตกลงการค้าเสรี

ออสเตรเลียเห็นว่าความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ มีความสำคัญทั้งในด้านการเมือง ความมั่นคงและเศรษฐกิจ และให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้นในทุกมิติของความสัมพันธ์ พร้อมกับมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านในแปซิฟิกใต้เพื่อให้สามารถพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีเสถียรภาพอันเป็นผลประโยชน์ของออสเตรเลีย

ส่วนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้น มหาอำนาจออสเตรเลียได้ให้ความสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่นและจีนโดยออสเตรเลียมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกับทั้งสองประเทศ และได้จัดทำความตกลงทางการทหารกับญี่ปุ่นเมือ่วันที่ 13 มีนาคม 2550 และศุลกากร พร้อมทั้ง การฝึกร่วมทางการทหาร

ในปัจจุบัน ประเด็นด้านนโยบายต่างประเทศที่ออสเตรเลียให้ความสำคัญมาก คือ การต่อต้านการก่อการร้าย ปัญหาในอิรัก และอัฟกานิสถาน การแพร่ขยายอาวุธที่มีอำนาจในการทำลายล้างสูง (non-proliferation) การปฏิรูปสหประชาชาติ และปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ เช่น พม่า ซิมบับเว และการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนก (Avian Influenza)

เศรษฐกิจการค้า
ภาคเกษตรกรรม ในช่วงทศวรรษที่ 1950 ประมาณร้อยละ 25 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของออสเตรเลียเป็นภาคเกษตรกรรม และร้อยละ 80 ของสินค้าส่งออกออสเตรเลียเป็นสินค้าเกษตร แต่ได้ลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือประมาณร้อยละ 2.9 ของ GDP และร้อยละ 20.1 ของสินค้าส่งออกของออสเตรเลียในปี 2547-2548 สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เนื้อสัตว์ นมและผลิตภัณฑ์
ภาคอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมการผลิตของออสเตรเลียประกอบด้วย รถยนต์ จักรกล เคมีภัณฑ์ และการแปรรูปอาหาร เป็นหลัก โดยในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 และต้นทศวรรษที่ 1990 รัฐบาลออสเตรเลียได้ปรับลดอัตราภาษีศุลกากรของสินค้าอุตสาหกรรมลงอย่างมาก โดยยกเว้นสินค้ารถยนต์ เสื้อผ้าและรองเท้า ซึ่งสำหรับเสื้อผ้าและรองเท้าจะลดลงเหลือร้อยละ 5 ในช่วงปี 2553-2558 ส่วนสำหรับรถยนต์ได้ลดจากร้อยละ 15 เหลือร้อยละ 10 ในเดือนมกราคม 2548 ไปแล้ว การลดอัตราภาษีศุลกากรดังกล่าวมีผลทำให้การส่งออกของภาคนี้ขยายตัวขึ้นจากร้อยละ 14 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมดในช่วงกลางทศวรรษที่ 1980 เป็นประมาณร้อยละ 21 ในปี 2547-2548 และคิดเป็นร้อยละ 11.2 ของ GDP ออสเตรเลียในปี 2547-2548

ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีแร่ธาตุที่สำคัญทางเศรษฐกิจจำนวนมาก อาทิ มีแร่ตะกั่วประมาณร้อยละ 13 ของโลก แร่เหล็กร้อยละ 12 แร่อะลูมิเนียมร้อยละ 11 และแร่สังกะสีร้อยละ 10 ออสเตรเลียยังมีแร่ยูเรเนียมประมาณร้อยละ 30 ของโลกซึ่งอยู่ในรัฐ Western Australia, South Australia, Queensland และ Northern Territory และมีถ่านหินอีกเป็นจำนวนมาก ออสเตรเลียเป็นประเทศผู้ส่งออกพลังงานและมีพลังงานในรูปแบบของเหลวใช้บริโภคในประเทศได้อย่างพอเพียงประมาณร้อยละ 70 ของพลังงานที่ใช้ และใช้ถ่านหินในการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยผลิตได้ประมาณร้อยละ 80 ของปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศ ออสเตรเลียเป็นประเทศผู้ส่งออกถ่านหินอันดับหนึ่งของโลก โดยมีแหล่งถ่านหินในรัฐ New South Wales, Queensland, และ Victoria ออสเตรเลียยังมีแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นจำนวนมากบริเวณชายฝั่งรัฐ Victoria, Western Australia, Northern Territory และในรัฐ South Australia และ Queensland ออสเตรเลียยังส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ไปประเทศญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ

ภาคการเงินและธนาคาร ธนาคารกลางออสเตรเลีย (Reserve Bank of Australia – RBA)
เป็นองค์กรอิสระและรับผิดชอบเรื่องนโยบายการเงิน เสถียรภาพของระบบการเงิน และการกำหนดระเบียบการใช้จ่าย โดยมีหน่วยงานผู้วางระเบียบระบบการเงินอีกสองหน่วยงานหลัก ได้แก่ Australian Prudential Regulation Authority (APRA) และ Australian Securities and Investment Commission (ASIC) และมีสภา (council of financial regulators) ที่ประกอบด้วยผู้แทนของทั้ง 3 หน่วยงาน ซึ่งกำกับดูแลและประสานงานด้านนโยบายและการปฏิบัติ ออสเตรเลียมีธนาคารพาณิชย์ที่สำคัญ 4 ธนาคาร ได้แก่ Commonwealth Bank, ANZ Bank, National Australia Bank และ Westpac

ภาคการท่องเที่ยว คิดเป็นร้อยละ 3.9 ของ GDP ของออสเตรเลีย และร้อยละ 5.6 ของการจ้างงานทั้งหมด จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางไปออสเตรเลียลดจำนวนลงหลังจากเหตุการณ์ 11 กันยายน 2544 และการแพร่ระบาดของ SARS แต่ได้เพิ่มขึ้นเป็น 5.4 ล้านคน ในปี 2547-2548 โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจาก ญี่ปุ่น ยุโรปตะวันตก สหรัฐฯ และจีน

การค้าระหว่างประเทศ สินค้าส่งออกออสเตรเลียยังคงประกอบไปด้วยสินค้าเกษตรและแร่ธาตุเป็นส่วนใหญ่ ประเทศคู่ค้าสำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป สหรัฐฯ จีน และกลุ่มประเทศอาเซียน ออสเตรเลียได้ดุลการค้ากับญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ ไต้หวัน และนิวซีแลนด์ แต่เสียดุลการค้ากับสหภาพยุโรป สหรัฐฯ และจีน ออสเตรเลียมีความสนใจในความตกลงเขตการค้าเสรีแบบทวิภาคี (FTA) กับประเทศคู่ค้าต่างๆ โดยได้ลงนามความตกลงกับสิงคโปร์ (SAFTA) เมื่อปี 2545 นับเป็นประเทศแรกที่ออสเตรเลียลงนามด้วย หลังจากที่ได้ลงนามกับนิวซีแลนด์เมื่อ 20 ปีผ่านมา และกับไทย เมื่อเดือนเมษายน 2547 และสหรัฐฯ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2547 โดยทั้งสองความตกลงมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนมกราคม 2548 นอกจากนั้น รัฐบาลออสเตรเลียกำลังเจรจากับจีน มาเลเซีย และ UAE รวมทั้ง กับกลุ่มประเทศอาเซียนในลักษณะไตรภาคี โดยรวมนิวซีแลนด์ด้วย ส่วนกับญี่ปุ่นได้มีการประกาศเริ่มเจรจาในปี 2550 (ญี่ปุ่นเป็นตลาดนำเข้าของออสเตรเลียที่สำคัญอันดับ 1 ของออสเตรเลีย)
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเครือรัฐออสเตรเลีย
ความสัมพันธ์ทั่วไป
ไทยกับออสเตรเลียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2495 โดยมีสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา ซึ่งมีเขตอาณาดูแลสาธารณรัฐหมู่เกาะฟิจิ สาธารณรัฐวานูอาตูและหมู่เกาะโซโลมอนด้วย ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศเป็นไปอย่างราบรื่นและฉันท์มิตร และที่มีความโดดเด่นมากคือ ด้านการเมือง ความมั่นคง และการทหาร มีการส่งเสริมความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี รวมถึงการแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้นำระดับสูงระหว่างกันสม่ำเสมอ ปัจจุบัน นายบัณฑิต โสตถิพลาฤทธิ์ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา และ นายวิลเลียม แพเทอร์สัน (Mr. William Paterson) ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย

นอกจากนี้ ไทยมีสถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ (รัฐนิวเซาท์เวลส์) โดยมีนายเกียรติคุณ ชาติประเสริฐ ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่ และมีสถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ประจำออสเตรเลีย 5 แห่ง ได้แก่ นครเพิร์ท (รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย) นครแอดิเลด(รัฐเซาท์ออสเตรเลีย) นครบริสเบน (รัฐควีนส์แลนด์) นครเมลเบิร์น (รัฐวิกตอเรีย) และนครโฮบาร์ต (รัฐแทสเมเนีย) รวมทั้งมีสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศและสำนักงานการท่องเที่ยวประจำที่นครซิดนีย์ ออสเตรเลียมีสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) และเชียงใหม่

เศรษฐกิจและการค้า

การค้าระหว่างไทย - ออสเตรเลีย
ในปี 2548 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 6,427.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2547 ร้อยละ 37.77 โดยไทยส่งออก 3,174.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้า 3,253.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยเป็นฝ่ายเสียดุลการค้า 78.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยต่างเป็นคู่ค้าลำดับที่ 10 ของกันและกัน ในปี 2549 การค้ารวมมีมูลค่า 7,748.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.54 เมื่อเทียบกับปี 2548 โดยไทยส่งออกมูลค่า 4,351.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้ามูลค่า 3,396.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุล 954.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ มูลค่าการค้าได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากจากการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ซึ่งนับตั้งแต่มีผลใช้บังคับทำให้ปริมาณการค้าขยายตัวอย่างเห็นได้ชัดทั้งส่งออกและนำเข้าเมื่อเทียบกับช่วงที่ยังไม่มีความตกลงใช้บังคับ
สินค้าส่งออกที่สำคัญ ตามลำดับในปี 2549 ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เหล็กและผลิตภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศ นำมันดิบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป วิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก
ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สินแร่โลหะ น้ำมันดิบ เครื่องเพชรพลอยและอัญมณี เหล็กและเหล็กกล้า ด้ายและเส้นใย พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ถ่านหิน นมและผลิตภัณฑ์นม และเคมีภัณฑ์
สินค้าส่งออกที่สำคัญ ในปี 2548 ได้แก่ รถยนต์/อุปกรณ์เเละส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องปรับอากาศเเละส่วนประกอบ เหล็ก/เหล็กกล้าเเละผลิตภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์เเละส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์ยาง และเม็ดพลาสติก
สินค้านำเข้าที่สำคัญ ในปี 2548 ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ สินเเร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เหล็ก/เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ น้ำมันดิบ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ด้ายและเส้นใยใช้ในการทอ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ นมและผลิตภัณฑ์นม

สถานะการค้าล่าสุด
ในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2550 การค้ารวมมีมุลค่า 4,468.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.39 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2549 โดยไทยส่งออกมูลค่า 2,675 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้ามูลค่า 1,793.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุลการค้า 881.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกที่สำคัญได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เหล้ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และน้ำมันดิบ
สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สินแร่โลหะ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ น้ำมันดิบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ถ่านหิน สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ผลิตภัณฑเวชกรรมและเภสัชกรรม
ปัญหาและอุปสรรคการค้า
- มาตรการด้านสุขอนามัย (bio security quarantine measures) ของออสเตรเลียมีความเข้มงวดมาก โดยอ้างว่าเป็นประเทศเกาะ ทำให้สินค้าเกษตรของไทย เช่น ผัก (พริกและผลิตภัณฑ์พริก)ผลไม้สด (ทุเรียน และมะม่วง เป็นต้น) ไก่ต้มสุกแช่แข็ง ไม่สามารถเข้าไปจำหน่ายได้ หรือประสบปัญหาในการนำเข้าไปในออสเตรเลีย ทั้งนี้ ออสเตรเลียกำลังจะบังคับใช้มาตรการสุขอนามัยที่เคร่งครัดเพิ่มขึ้นกับการนำเข้ากุ้ง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อกุ้งส่งออกของไทยด้วย เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2550 หน่วยงานด้านความปลอดภัยทางชีวภาพของออสเตรเลีย (Bio security Australia) ได้ประกาศใช้มาตรการนำเข้ากุ้งชั่วคราวฉบับปรับปรุงใหม่ในระหว่างรอมาตรการวิเคราะห์ความเสี่ยงฉบับสุดท้าย คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 30 กันยายน 2550
- กฎหมายควบคุมคุณภาพอาหารตาม Australian Food Standard Code ซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อใช้ในการกักกัน (quarantine) และตรวจสอบ (inspection) คุณภาพอาหารนำเข้ามีความเข้มงวด โดยแบ่งประเภทอาหารเป็นสินค้าที่มีความเสี่ยงสูง กลาง และต่ำ หากพบว่าผู้ส่งออกไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดจะส่งสินค้ากลับ หรือทำลาย ทำให้ต้นทุนสินค้าสูง
- การใช้มาตรการทางภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping Duties) ในกรณีที่ ผู้ผลิตในประเทศร้องเรียนต่อรัฐบาลว่าสินค้านำเข้าก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีสินค้าไทย 6 รายการที่ถูกใช้มาตรการนี้ คือ สินค้าพลาสติก (PVC) ท่อเหล็กชุบสังกะสี (Galvanized Steel Pipe) น้ำสับปะรดเข้มข้นและสับปะรดกระป๋อง (Pineapple Concentrate and Canned Pineapple) สินค้าชั้นเหล็กชนิดถอดประกอบ (Certain Steel Shelving Kits) สินค้า Certain Hot Rolled Structural Steel และสินค้า Linear Low Density Polyethylene
- สินค้าไทยถูกแย่งตลาดจากจีน และอินโดนีเซีย เนื่องจากราคาสินค้าถูกกว่า เช่น รองเท้า เสื้อผ้าสำเร็จรูป และของเด็กเล่น รวมทั้งข้าว ซึ่งออสเตรเลียสามารถผลิตได้เอง

การจัดทำความตกลงการค้าเสรี (Thailand-Australia Free Trade Agreement - TAFTA)
- ไทยและออสเตรเลียได้ลงนามความตกลงการค้าเสรี (TAFTA) เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2547 ระหว่างการเยือนออสเตรเลียของนายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร) เมื่อวันที่ 4 - 6 กรกฎาคม 2547

ประโยชน์ที่ไทยได้รับ
- การค้าระหว่างไทยกับออสเตรเลียได้ขยายตัวมากขึ้น ทั้งนี้ ในปี 2548 (ปีแรกที่ TAFTA มีผลบังคับใช้) การค้าระหว่างไทยกับออสเตรเลียมีมูลค่า 6,427.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 2.8 ของมูลค่าการค้ารวมของไทย เป็นมูลค่าการส่งออกไปออสเตรเลีย 3,174.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากออสเตรเลีย 3,253.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าสำคัญที่ไทยได้รับประโยชน์จากการทำความตกลง ได้แก่ ผักและผลไม้สด (ซึ่งออสเตรเลียประกาศอนุญาตให้นำเข้าลิ้นจี่ และลำใยสดจากไทยก่อนที่ความตกลงจะมีผลบังคับใช้) รถปิกอัพและรถยนต์ขนาดเล็ก เคมีภัณฑ์พลาสติก อาหารสำเร็จรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า และสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น
- ตามความตกลงฯ ผลจากการที่ออสเตรเลียเปิดตลาดการค้าบริการและการลงทุนให้ไทย ทำให้ธุรกิจไทยที่มีศักยภาพในการส่งออก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจ SME อาทิ ธุรกิจซ่อมรถยนต์ สถาบันสอนภาษาไทย สถาบันสอนทำอาหาร ร้านอาหารไทย และธุรกิจผลิตสินค้าทุกประเภท สามารถเข้าไปจัดตั้งและประกอบธุรกิจในออสเตรเลียได้ และการที่ออสเตรเลียผ่อนปรนเงื่อนไขการเข้าไปทำงาน ทำให้คนไทยสามารถเข้าไปทำงานได้สะดวกขึ้นเป็นการสร้างรายได้และนำเงินตราต่างประเทศ เข้าประเทศได้
- สำหรับการเปิดตลาดการค้าบริการและการลงทุนของไทย ไทยคาดหวังที่จะได้รับประโยชน์ต่อไทย เนื่องจากเป็นการเปิดตลาดในธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนสูง ซึ่งส่วนใหญ่ไทยต้องการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อเอื้อต่อนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนและการท่องเที่ยวในภูมิภาค
- ในระยะยาว ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศจะมีมากขึ้น ความต้องการลงทุนของออสเตรเลียในไทยจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของออสเตรเลียในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สินค้าสำคัญที่ออสเตรเลียจะได้ประโยชน์
- สินค้าสำคัญที่ออสเตรเลียจะได้รับประโยชน์จากความตกลง ได้แก่ พลาสติก เหล็ก ข้าวสาลีและมอลต์ เชื้อเพลิง ทองแดง นมและผลิตภัณฑ์นม รถยนต์ขนาดใหญ่ อาหารสัตว์ สังกะสี ไวน์ และเนื้อวัว เป็นต้น
ทั้งนี้ การที่ไทยเปิดตลาดสินค้าเกษตรให้ออสเตรเลียภายใต้ตวามตกลงฯ จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยที่อาจได้รับผลกระทบและจะต้องมีการปรับตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมโคเนื้อ โคนม และผลิตภัณฑ์นม ซึ่งมีเกษตรกรรายย่อยเป็นจำนวนมากมีระบบการผลิตที่ยังไม่มีประสิทธิภาพในการแข่งขันกับสินค้าประเภทเดียวกันที่นำเข้าจากออสเตรเลีย จึงต้องมีการปรับตัวให้ได้ภายใน 15-20 ปี
การลงทุนและการท่องเที่ยว
การลงทุนในปี 2549 การลงทุนของออสเตรเลียในไทยที่ได้รับการอนุมัติภายใต้แผนการส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีมูลค่ารวม 514 ล้านบาท (สินค้าเกษตร เหมืองแร่ ชิ้นส่วนรถยนต์ เคมีภัณฑ์และกระดาษ เครื่องไฟฟ้า สิ่งทอ) ส่วนใหญ่เป็นการร่วมทุนคิดเป็นร้อยละ 0.19 ของมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด โดยตัวเลขการลงทุนดังกล่าวสำหรับช่วงเดือนมกราคม–กรกฎาคม 2550 มีมูลค่า 1,038 ล้านบาท
การท่องเที่ยว
ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในตลาดท่องเที่ยวหลักของไทย โดยใน2549 นักท่องเที่ยวออสเตรเลียเดินทางมาไทยจำนวน 541,276 คน และในช่วงเดือนมกราคม–พฤษภาคม 2549 นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปออสเตรเลียจำนวน 73,900 คน


ความร่วมมือด้านการทหาร
ไทยกับออสเตรเลียเคยมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในช่วงที่อยู่ภายใต้สนธิสัญญา SEATO แต่หลังจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปทำให้ความร่วมมือลดลง ไทยและออสเตรเลียจึงได้จัดทำความตกลงร่วมมือทางทหารทวิภาคีตั้งแต่ปี 2515 โดยออสเตรเลียได้ให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการ ตามโครงการความร่วมมือของกองทัพภายใต้ Defence Cooperation Program (DCP) ในปี 2545-2546 ออสเตรเลียได้ให้เงินสนับสนุนแก่ไทย 5.3 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย

ความร่วมมือทางทหารที่สำคัญ มีดังนี้
1. ด้านการฝึกร่วม มีการฝึกร่วมกันทั้งสามเหล่าทัพ โดยมีการฝึกต่าง ๆ ที่สำคัญ คือ
1.1 Temple Jade & Chapel Gold เป็นการแลกเปลี่ยนกองร้อยทหารราบไปฝึกร่วม
1.2 Night Panther การฝึกผสมระหว่างหน่วยรบพิเศษของกองทัพบก
1.3 Day Panther การฝึกในการต่อต้านการก่อการร้าย
1.4 TAANOK INSII การฝึกการเฝ้าตรวจทางทะเลระหว่างกองทัพเรือ
1.5 AUSTHAI การฝึกผสมระหว่างกำลังทางเรือ และกำลังทางอากาศ
1.6 KAKADU การฝึกผสมทางเรือโดยเน้นการติดต่อสื่อสารและการปฏิบัติงานร่วม
1.7 Thai Boomerang การฝึกปฏิบัติการทางอากาศระหว่างกองทัพอากาศ
1.8 Wyren Sun การฝึกปฏิบัติการค้นหา ช่วยชีวิตและกู้ตัวประกันระหว่างกองทัพอากาศ
1.9 Pirab Jabiru การฝึกการรักษาสันติภาพระหว่างกองทัพ

2. ในแต่ละปีออสเตรเลียให้ทุนแก่นายทหารไปศึกษาในหลักสูตรทางทหารในออสเตรเลีย ปีละประมาณ 100 นาย อาทิ หลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรและหลักสูตรฝ่ายเสนาธิการ นอกจากนี้ฝ่ายไทยยังได้ส่งนักเรียนนายร้อย นักเรียนนายเรือ และนักเรียนนายเรืออากาศ เข้ารับการศึกษา ณ โรงเรียนนายร้อยรวมเหล่าออสเตรเลีย (ADFA) และโรงเรียนนายร้อยทหารบกออสเตรเลีย (Duntroon) เป็นประจำทุกปี
3. ออสเตรเลียได้ให้ความช่วยเหลือในด้านการปรับปรุงโครงสร้างอัตรากำลังและระบบการบริหารกองทัพไทย
4. การจัดทำโครงการความร่วมมือด้านการวิจัยร่วมกันระหว่างกองทัพไทยและออสเตรเลีย เช่นโครงการ Ship to Shore, HF Communication และ Ammunition Propellant Surveillance นอกจากนี้ ยังมีโครงการให้ความช่วยเหลือในการปรับปรุงระบบ IT ของกระทรวงกลาโหมไทย การรวบรวมข้อมูลในการบันทึกพิกัดจากดาวเทียม GPS และการตรวจสอบความมั่นคงของโครงสร้างอากาศยาน
5. ความร่วมมือในการส่งกำลังบำรุงให้แก่ทหารไทยในระหว่างการปฏิบัติการในติมอร์เลสเต นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการหารือในเรื่องความร่วมมือด้านการจัดหายุทโธปกรณ์
6. มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสนับสนุนด้านการส่งกำลังบำรุง ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งประเทศออสเตรเลีย ฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2547

ความร่วมมือด้านวิชาการและความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา ความร่วมมือด้านวิชาการและการพัฒนาเริ่มมาจากการให้ความร่วมมือตามแผนโคลัมโบ และพัฒนาเป็นการให้แบบทวิภาคีจนถึงปัจจุบัน โดยได้มีการลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2532 การให้ความร่วมมือทางวิชาการของรัฐบาลออสเตรเลียแก่ไทยส่วนใหญ่กระจายอยู่ในสาขาเกษตร การศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
ในปี 2544 รัฐบาลออสเตรเลียได้ริเริ่มโครงการความร่วมมือภาครัฐไทย - ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Government Sector Linkages Program - TAGSLP) ซึ่งเป็นโครงการในกรอบความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่าง AusAID กับรัฐบาลไทย มีเป้าหมายที่จะช่วยปรับปรุงองค์กรและเสริมสร้างขีดความสามารถขององค์กรภาครัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาที่มีภารกิจสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของออสเตรเลียต่อไทย ในปีงบประมาณ 2546-47 รัฐบาลออสเตรเลียจัดสรรความช่วยเหลือทวิภาคีแก่ไทย จำนวน 7 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ลดลงจากปีก่อน 5 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย โดยความช่วยเหลือดังกล่าว มุ่งเน้นโครงการด้านการเพิ่มขีดความสามารถของหน่วยงานไทย การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การสนับสนุนแนวทางการวางนโยบายเศรษฐกิจและสังคม และความร่วมมือไตรภาคี และยังให้ ความช่วยเหลืออีก 8.1 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียสำหรับการดำเนินกิจกรรมในกรอบเอปคและอาเซียน โดยผ่าน AusAID ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2546 รัฐบาลไทยได้ประกาศไม่รับการช่วยเหลือจากต่างประเทศอีกต่อไป (aid recipient) ซึ่งทำให้งบของ AusAID ให้ไทยลดลงอย่างมากในปีงบประมาณ 2547-2548 อย่างไรก็ดี งบ AusAID ที่จัดสรรให้ไทยสำหรับปีงบประมาณ 2549-2550 เป็นจำนวนเงิน 5.3 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย โดยเน้นความช่วยเหลือในการเพิ่มขีดความสามารถของไทยด้านการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการบริหารภาครัฐ โดยการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานรัฐของไทยกับออสเตรเลีย

ความร่วมมือทางด้านการเกษตร
ไทยและออสเตรเลียมีความร่วมมือด้านการพัฒนาการเกษตรอยู่หลายโครงการ และมีการประชุมเกี่ยวกับความร่วมมือดังกล่าว ทั้งในด้านการค้าและวิชาการ ที่สำคัญคือ การประชุมคณะทำงานร่วม ทางวิชาการ ด้านกักกันโรคและตรวจสอบอาหาร โดยการประชุมครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 3 - 4 มีนาคม 2546 ที่จังหวัดเชียงใหม่ได้เปลี่ยนชื่อกรอบการประชุมดังกล่าวเป็นคณะทำงานด้านการเกษตร
นอกจากนั้น มีความร่วมมือทางด้านวิชาการ อาทิ ความร่วมมือในด้านการทำวิจัยและพัฒนาระหว่าง Australian Center for International Agricultural Research กับสถาบันต่างๆ ด้านการเกษตรของไทย และความร่วมมือในเรื่องระบบวิเคราะห์ความเสี่ยงการนำเข้าพืชผลซึ่ง Australian Quarantine and Inspection Service ให้ต่อกรมวิชาการเกษตร นอกจากนี้ ความตกลง TAFTA ได้กำหนดกรอบสำหรับความร่วมมือด้านสุขอนามัย โดยมีคณะกรรมการร่วมที่จัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา ตลอดจนพัฒนาและเสริมสร้างขีดความสามารถของไทยด้วย

ความตกลงสำคัญๆ กับไทย
- ความตกลงทางวัฒนธรรม (ธันวาคม 2517)
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนา (กุมภาพันธ์ 2532)
- ความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีจากเงินได้
- แถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือในการต่อต้านการเข้าเมือง โดยผิดกฎหมาย และการลักลอบค้ามนุษย์ตลอดจนการลักลอบขนผู้ย้ายถิ่นฐาน (กรกฎาคม 2544)
- ความตกลงว่าด้วยการโอนตัวผู้กระทำผิดและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา (กรกฎาคม 2544)
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศ(ตุลาคม 2545)
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติและการพัฒนาความร่วมมือของตำรวจ (มิถุนายน 2546)
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการป้องกันการลักลอบค้ามนุษย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ธันวาคม 2546)
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสนับสนุนด้านการส่งกำลังบำรุง (กุมภาพันธ์ 2547)
- ความตกลงการค้าเสรี (Thailand-Australia Free Trade Agreement - TAFTA) (กรกฎาคม 2547)
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (กรกฎาคม 2547)
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชนภายใต้ Work and Holiday Visas (กรกฎาคม 2547)
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กรกฎาคม 2547)
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา (กรกฎาคม 2547)
- แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (กรกฎาคม 2547)
- ความตกลงว่าด้วยการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญา (กรกฎาคม 2549)

การแลกเปลี่ยนการเยือน

ระดับพระราชวงศ์
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยือนออสเตรเลียอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 26 สิงหาคม - 12 กันยายน 2505
- สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนออสเตรเลียอย่างเป็นทางการ 5 ครั้ง ในระหว่างวันที่ 8 -17 ธันวาคม 2528 วันที่ 7 - 11 เมษายน 2530 วันที่ 20 กันยายน - 4 ตุลาคม 2531 วันที่ 19 - 28 เมษายน 2542 และวันที่ 18 - 24 สิงหาคม 2546
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนออสเตรเลียอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 16 - 26 ตุลาคม 2527 และเสด็จฯ เยือนนครซิดนีย์ เพื่อทรงเป็นองค์ประธานในการแสดงคอนเสิร์ตของคุณพลอยไพลิน เจนเซ่น พร้อมด้วยทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญาฯ ระหว่างวันที่ 18 - 20 กรกฎาคม 2543
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี เสด็จเยือนออสเตรเลียอย่างเป็นทางการ 2 ครั้ง ระหว่างวันที่ 4 - 7 ธันวาคม 2533 และระหว่างวันที่ 23 สิงหาคม -19 กันยายน 2535 และได้เสด็จเยือนออสเตรเลียอีก 2 ครั้ง ระหว่างวันที่ 12 - 19 มิถุนายน 2542 และวันที่ 14 - 23 ธันวาคม 2542

ระดับผู้นำรัฐบาลไทย
- พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เยือนอย่างเป็นทางการระหว่าง วันที่ 31 สิงหาคม - 3 กันยายน 2524
- พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เยือนอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม - 3 กันยายน 2532
- นายชวน หลีกภัย เยือนอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 3 - 9 กุมภาพันธ์ 2538
- พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร เยือนอย่างเป็นทางการ 2 ครั้ง ระหว่างวันที่ 29 - 31 พฤษภาคม 2545 และ 4 - 6 กรกฎาคม 2547
- พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เยือนรัฐออสเตรเลียตะวันตก เพื่อบรรยายพิเศษในหัวข้อ "The Role of the Monarchy in Thailand" ณ University of Western Australia ระหว่างวันที่ 24 - 27 พฤศจิกายน 2545

ระดับผู้นำรัฐบาลออสเตรเลีย

- นายกรัฐมนตรี Bob Hawke ปี 2532

- นายกรัฐมนตรี Paul Keating ปี 2537

- นายกรัฐมนตรี John Howard เยือนเมื่อวันที่ 23-26 เมษายน 2541 แวะผ่านไทยเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2545 และเข้าร่วมการประชุมผู้นำ APEC ที่กรุงเทพ ฯ ระหว่างวันที่ 20-21 ตุลาคม 2546 และครั้งล่าสุดแวะผ่านไทยเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2548

SWOT
Strenght
• ออสเตรเลียเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์
น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ทองคำ เพชร แร่ธาตุต่างๆ รวมไปจนถึงแร่ยูเรเนียน
• จุดที่ตั้งสำคัญของเส้นทางลำเลียงน้ำมันของโลก และเส้นทางขนส่งสินค้าทางเรือ ระหว่างประเทศในประเทศซีกโลกใต้
• เศรษฐกิจ ประเทศออสเตรเลียอาจจะกล่าวได้ว่ามีขนาดเศรษฐกิจ หรือ GDP ของประเทศใหญ่เป็นอันดับที่ 14 ของโลก
• ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสังคมแบบสหวัฒนธรรม
• พื้นที่แถบชายฝั่งด้านตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐออสเตรเลียตะวันตก และรัฐทัสเมเนียมี ความอุดมสมบูรณ์มาก ฝนตกชุก ที่นี่มีสัตว์และพืชรวมทั้งดอกไม้ป่าหลายชนิดที่ไม่สามารถพบเห็นได้ในดินแดนอื่น

Weakness
• พื้นที่ตอนกลางของประเทศจะเป็นทะเลทราย และพื้นที่แห้งแล้งที่มีปริมาณฝนตกน้อยมาก
• ออสเตรเลียมีหนี้สินต่างประเทศประมาณ 7% ของ GDP
• ออสเตรเลียในปัจจุบัน กำลังประสบปัญหาหนักในด้านการผลิตเหมืองแร่และ ทรัพยากรธรรมชาติ โดยผลิตได้ไม่รวดเร็ว และทันต่อความต้องการของประเทศผู้ซื้อ
• ในปัจจุบันกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือในบางสาขา

Opportunity
• เศรษฐกิจมีขนาดใหญ่ ดูจาก GDP ที่ใหญ่เป็น 14 ของโลก
• เนื่องจากทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ทำให้ลดต้นทุนในการ Import เข้ามา
• ระบบขนส่ง การเดินทาง สะดวก
• เป็นสมาชิก WTO

Threat
• ปัญหาด้านภาษาที่ใช้ติดต่อ เพราะมีรูปแบบหลากหลายวัฒนธรรม
• การส่งออกโดยทางเรือก็ประสบความล่าช้าจากสิ่งอำนวยความสะดวกของ การท่าเรือ ที่ไม่เพียงพอต่อการขยายตัวด้านการส่งออกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
• ออสเตรเลียประสบปัญหาขาดดุลการค้า
• ประเทศแคนาดาและบราซิลซึ่งเป็นคู่แข่งของออสเตรเลียในด้านของความกว้างใหญ่ของพื้นที่ และการมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ กำลังเร่งการผลิตและส่งออกทรัพยากรธรรมชาติเป็นการใหญ่เช่นกัน

Consumer Behavior
 กลุ่มสินค้าเกี่ยวกับอาหาร
 ลักษณะของคนออสเตรเลีย เขาจะไม่ยึดติดกับแบรนด์เท่าไหร่ ราคาต้องเหมาะสมเมื่อเทียบกับคุณภาพ
 สะดวกซื้อ สะดวกทำ สะดวกรับประทาน เพราะคนรุ่นใหม่ทำงานมากขึ้น มีเวลาจำกัด อาหารไทยที่ทำในรูปแบบอาหารพร้อมรับประทาน เพียงแค่เข้าไมโครเวฟ
 กลุ่มสินค้ายานยนต์
 ออสเตรเลียมีการนำเข้ารถจากต่างประเทศมาก
 ประเทศไทยส่งออกรถกระบะไปออสเตรเลียจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสที่ชิ้นส่วนที่เป็น After Market จะส่งไปขาย
- เน้นสินค้าที่มีคุณภาพดี
- ไม่จำเป็นต้องเป็นของแท้ตามยี่ห้อรถ
- ราคาต้องไม่สูงเกินไป
 กลุ่มสินค้าแฟชั่น
 นักออกแบบชาวออสเตรเลียมักสั่งตัดเสื้อผ้าจากต่างประเทศ
 จึงเป็นโอกาสของผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปและวัตถุดิบของไทยในการเสนอบริการ ขณะเดียวกันในส่วนของผู้รับจ้างผลิต ก็มีโอกาสขยายตลาดเช่นเดียวกัน โดยการส่งออกออกเสื้อผ้าไปยังออสเตรเลีย จะได้เปรียบด้านภาษีนำเข้าหลังทำFTAแล้ว

สิทธิพิเศษทางการค้า (GSP)

หมายถึง ระบบการให้สิทธิ พิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปที่ประเทศที่พัฒนาแล้วให้แก่สินค้าที่มีแหล่งกำเนิดใน ประเทศที่กำลังพัฒนา โดยลดหย่อนหรือยกเว้นอากรขาเข้าแก่สินค้าที่มีอยู่ในข่ายได้รับสิทธิ พิเศษทางการค้าทั้งนี้ประเทศผู้ให้สิทธิพิเศษฯ จะเป็นผู้ให้แต่เพียงฝ่ายเดียวไม่หวังผลตอบ แทนใดๆทั้งสิ้น
วัตถุประสงค์ของ GSP
• เพื่อเพิ่มรายได้จากการส่งออกให้กับประเทศที่กำลังพัฒนา
• เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมของประเทศที่กำลังพัฒนา
• เพื่อเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนา

FTA

ความหมาย การที่สองประเทศขึ้นไปตกลงจะขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกันโดยลดอุปสรรคทางการค้าด้านภาษีและที่ไม่ใช่ภาษีให้เหลือน้อยที่สุด ครอบคลุมการเปิดเสรีทั้งด้านการค้าสินค้า บริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

ขอบเขตของความตกลง FTA
• ลดภาษีสินค้าทุกรายการ
• เปิดให้มีการลงทุนทางตรงในธุรกิจบริการหลายสาขาตามที่ระบุในกฎหมาย

ไทยและออสเตรเลีย ได้ลงนามความตกลงการค้าไปแล้วเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2547 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548

ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2548 สินค้านำเข้าจากไทยนับ 5,000 รายการที่ส่งไปตลาดออสเตรเลียจะลดภาษีเหลือ 0%

- 5 กลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพเปิดตลาด ได้แก่ อาหาร ของขวัญของตกแต่งบ้าน แฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ และชิ้นส่วนยานยนต์

- ถึงแม้จะเป็นตลาดเล็ก มีประชากรน้อยไม่ถึง 20 ล้านคน แต่สามารถเป็นฐานกระจายสินค้าต่อไปยังประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกและนิวซีแลนด์

- ผู้สนใจควรเดินทางเข้าไปดูตลาดออสเตรเลียด้วยตัวเอง ควรศึกษากฎระเบียบการค้าให้รอบคอบ รวมถึงการยืดหยุ่น "มินิมั่ม ออเดอร์"




 

Create Date : 05 ตุลาคม 2550
0 comments
Last Update : 5 ตุลาคม 2550 19:00:20 น.
Counter : 1466 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


hip_ib
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add hip_ib's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.