Group Blog
 
<<
มกราคม 2552
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
1 มกราคม 2552
 
All Blogs
 
ไม่มีอะไรดีไปกว่าการแปลเยอะ ๆ - คุณอำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงษ์

“ไม่มีอะไรดีไปกว่าการแปลเยอะ ๆ”

อำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงษ์


//www.praphansarn.com/new/c_talk/detail.asp?ID=222

นักแปลรุ่นเก๋าจากดอกหญ้าอย่างคุณ เย อำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงษ์ ช่วงนี้ก็หันกลับสู่เส้นทางการแปลหนังสืออีกครั้ง หลังจากที่ห่างหายการแปลหนังสือไปเล่นการเมือง และทำกิจการอื่น ๆ อยู่สักพัก ซึ่งหลาย ๆ คนคงจำได้กับผลงานที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ How to ต่าง ๆ และหนังสือประเภทพยากรณ์ศาสตร์ที่คุณเยสนใจเป็นพิเศษ วันนี้เราจะมาฟังทัศนะคติและวิธีการทำงานของนักแปลที่เรียกได้ว่าแปลเป็นอาชีพอย่างคุณเยกันบ้าง

เริ่มต้นแปลหนังสือ

ผมแปลหนังสือให้เพื่อนก่อนอยู่พักหนึ่ง แล้วก็มาแปลให้ดอกหญ้าตั้งแต่ดอกหญ้าเริ่มเปิดใหม่ ๆ ผมก็จำไม่ได้ว่าปีอะไร น่าจะหลังจากปี 2525 ไม่นานนัก ผมก็เริ่มแปลหนังสือประเภท How toให้เพื่อนก่อน แล้วก็มาแปลให้สำนักพิมพ์จตุจักร เป็นสำนักพิมพ์เก่ามากแล้ว ในช่วงเวลาเดียวกันก็มาแปลให้สำนักพิมพ์ดอกหญ้า ส่วนใหญ่ที่แปลแรก ๆ จะเป็นหนังสือประเภท How to พอมาหลัง ๆ ผมมาเจอหนังสือที่สนใจมานานแล้ว ผมมีความสนใจในเรื่องศาสตร์ที่เหนือคำอธิบายทั้งหลายแหล่ ซึ่งจัดอยู่ในหมวดของพยากรณ์ศาสตร์ ซึ่งผมสนใจอยู่ก่อนโดยส่วนตัว แล้วพอมาเจอหนังสือฮวงจุ้ยของฝรั่งก็ได้มีโอกาสมาแปล ทีนี้มันก็ไปกันใหญ่เลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโหวเฮ้ง ลายมือ แต่เป็นลายมือของฝรั่งนะ ส่วนลายมือของคนจีนเขาก็จะมีของเขาอีกภาคหนึ่ง หมายถึงว่าศาสตร์ฮวงจุ้ยของคนจีน แต่เขาได้รับการถ่ายทอดสู่ฝรั่ง ผมก็เลยแปลจากภาษาอังกฤษ เพราะผมไม่รู้ภาษาจีน

หลักในการเลือกหนังสือมาแปล ก็คือเลือกเรื่องที่ผมสนใจก่อนแล้วก็อ่านเนื้อหา แต่กว่าจะได้เล่มนึงนี่ผมต้องซื้อหนังสือมาหลายเล่ม ช่วงหลัง ๆ ปรากฏว่าหนังสือแนวฮวงจุ้ยนี่เริ่มนิ่ง ๆ ไป อีกประเภทหนึ่งที่ผมเริ่มหันมาสนใจก็คือหนังสือในแนวจิตวิญญาณ หรือ Spiritual และไปเจอหนังสือชุดของหมอไวส์ ก็ตามอ่านอยู่ แล้วก็มีเรื่องใหม่ ๆ ที่ผมทำแนวนี้ก็มีเยอะ ส่วนงานที่เขียนเองนั้น เคยศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์จีนช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม แล้วก็เขียนมาให้ดอกหญ้าพิมพ์แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จนัก



ผลงานที่สร้างชื่อ

ก็คงจะเป็นหนังสือชุดพวกพยากรณ์ทั้งหลายนี่แหละ และก็รวมถึงหนังสือ How to ด้วยนะ เพราะว่าช่วงที่ทำกับดอกหญ้าใหม่ ๆ ตอนนั้นตลาดมันไม่ค่อยมี How to หลังจากของเดลคาเนกี้มามันก็ไม่ค่อยมี ผมก็เป็นคนทำคนแรก ๆ ในยุคหลังนี้ แต่ว่าทำไปได้พักนึงผมก็หันมาสนใจเรื่องของฮวงจุ้ย และพยากรณ์ศาสตร์ทั้งหลาย พวกฮาวทูก็เลยเฟดไปสำหรับผม

ส่วน 10 ปีหลังผมเคยไปทำกลุ่มวัฏจักรอยู่ 2 ปี ไปเป็นผู้บริหารหนังสือราย สัปดาห์์ให้เขาอยู่ ช่วงปี 2539-2540 แล้วหลังจากปี 2540 ก็ชวนเพื่อนฝูงเข้าไปในวงการเมือง การแปลหนังสือก็เฟดหายไป มาเริ่มใหม่อีกทีจริง ๆ จัง ๆ ก็ 2 ปีนี้แหละ



หลักในการแปลหนังสือ

ผมมีหลักการที่ว่า ต้องแปลให้ครบหมายถึงว่าถ่ายทอดชนิดที่ว่าอมความหมายของเข้าไว้ได้ครบถ้วนอย่าให้หลุด นี่คือพื้นฐาน แต่ถ้าถัดจากพื้นฐานขึ้นมาก็คือสะท้อนอรรถรส หรือวิธีเขียนของเขา สไตล์สำนวนของเขา เราต้องพยายามสะท้อนให้ครบถ้วน สรุปขั้นแรกคือเนื้อหา ขั้นที่สองคืออรรถรส ขั้นที่สามคือสไตล์ของภาษา พยายามให้มันครบถ้วนอย่าให้ตกหล่น สำหรับระยะเวลาแปลก็จะอยู่ที่จำนวนหน้ากระดาษ หนังสือที่ผมชอบก็จะแปลไปเรื่อย ๆ โดยไม่ได้รู้สึกหนักใจอะไร เล่มนึงก็อาจจะสักเดือนกว่าถึงสองเดือน ขึ้นอยู่กับว่าบางหรือหนา ไม่เคยแบบว่าต้องรีบหรือว่าไม่รีบอ ก็แปลไปเรื่อย ๆ ด้วยความเคยชิน ผมก็ไม่รู้ว่าคนอื่นเขาแปลเร็วหรือแปลช้ากว่านี้ เขาอาจจะบอกว่าทำไมผมแปลช้าก็ได้นะ แล้วแต่คนผมก็ไม่เคยเปรียบเทียบกับใครแล้วก็ไม่เคยรู้ด้วยว่าคนอื่นเขาทำงานช้าหรือเร็วกว่า



มองวรรรกรรมไทยกับวรรณกรรมแปลอย่างไร

บอกตรง ๆ นะว่าผมไม่ได้อ่านวรรณกรรมไทยเลย เพราะรู้สึกว่ามันตายแล้ว จริง ๆ นะ รู้สึกว่าอ่านแล้วมันก็ไม่ได้ลึกซึ้งอะไร ผมว่าประเด็นสังคมที่เขาเสนอไม่ว่าจะแหลมคมลึกซึ้งเท่าไหร่ มันยังจืด ยังไม่ลึกพอ และวนเวียนอยู่แบบเดิม ผมก็เลยตัดไปไม่อ่านเลย ส่วนวรรณกรรมแปลที่เป็นนิยายผมก็อ่านสนุก ๆ หรือว่าถ้าอยากผ่อนคลายก็จะอ่านวรรณกรรมสืบสวนสอบสวน เพื่อเป็นการระบายอารมณ์เพื่อความเพลิดเพลิน แต่เป็นวรรณกรรมแปลนะ พูดได้ว่าผมแทบจะไม่เคยอ่านนวนิยายที่เป็นภาษาฝรั่ง มีอยู่เล่มหนึ่งที่ผมเคยอ่านเป็นภาษาอังกฤษแล้วเข้าใจยาก ก็เลยลองมาอ่านฉบับแปลไทยดูถึงรู้ว่ามันสนุกอย่างนี้นี่เอง ต้องยอมรับว่าผมไม่ถนัดที่จะอ่านนิยายเป็นภาษาฝรั่ง เพราะรู้สึกว่าภาษาของเขา บางทีมันใช้คำคุณศัพท์เยอะแล้วผมไม่ค่อยถนัด เพราะผมอ่านแต่ตำรับตำรา หนังสือฮาวทู หนังสือพวกนี้ไม่ค่อยมีคำหวือ ๆ หวา ๆ หวาน ๆ แบบนั้น ก็เลยอ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง



นักเขียนไทยควรเดินไปอย่างไร

เรื่องนี้ผมมิอาจนะ เพราะผมไม่รู้ว่าหนังสือไทยเขาไปถึงไหนแล้ว อย่างที่อ่านบทสัมภาษณ์ในมติชนของดร.ป๊อบนี่ ความคิดหรือสไตล์การเขียนกว้างไกลไปขนาดไหนแล้ว เลยไม่บังอาจ แต่ในฐานะคนอ่านผมรู้สึกว่า เนื่องจากเราอยู่ในโลกภาษาอังกฤษที่คนใช้กันจำนวนมาก แล้วก็มีคนเขียนจำนวนมาก แล้วประเด็นที่ 3 คือหนังสือแต่ละเล่มที่ได้รับการตีพิมพ์ใหญ่ ๆ มันมาจากการคัดเลือกและกรองกันมาหลายชั้นแล้ว เพราะฉะนั้นการกลั่นกรองน่าจะใช้ได้พอสมควร แล้วเขามีวัฒนธรรมการอ่านการเขียนหนังสือยาวนานกว่าเรา กว้างขวางกว่าเรา ความคิดความอ่านหรือปรัชญาต่าง ๆ ที่ซ่อนอยู่มันลึกลับกว่าเราเยอะ แล้วนักขียนไทยจะทำอย่างไรล่ะ นักเขียนไทยก็ต้องอ่านมาก ๆ แต่อ่านอย่างเดียวแล้วจะเป็นนักเขียนได้ไง มันตามกันไม่ทัน กว่าคุณจะมานั่งเขียนเองมันก็ไปอีกแล้ว หมายถึงถ้าต้องการตามความคิดที่ลึก ๆ นะ อย่างเช่นดร.ป๊อบบอกว่า จะเขียนเรื่องใหม่ก็ ต้องไปศึกษาเรื่องเทพ ปกีรณัม ตำนานความเป็นมาของเทพกรีกอะไรแบบนี้ ฝรั่งเขาเขียนหนังสือเขาทำแบบนี้จริง ๆ เขาศึกษาค้นคว้า แต่สำหรับนักเขียนไทยางคนเขียนปีนึงตั้งหลายสิบเรื่องซึ่งมันต่างกันมหาศาล ไม่มีทางที่จะไล่กันทันเพราะหนึ่ง คุณต้องเขียนหลายเรื่องถึงจะอยู่รอดได้ แล้วแต่ละเรื่องที่เขียนมามันก็พิมพ์ไม่กี่ครั้ง ครั้งนึงก็พิมพ์จำนวนน้อย แต่ฝรั่งเขาคิดว่าเขาพิมพ์เรื่องหนึ่งเขาขายไปได้ทั่วโลก แค่ค่าลิขสิทธิ์มันก็ทำให้อยู่ไปได้หลายปี เขาจึงมีเวลาไปศึกษาเพิ่มเติมได้ มันต่างกันตรงนี้ เราจะไปโทษว่าเป็นนักเขียนไทยเขียนไม่ดีก็ไม่ได้หรอก



ฝากถึงนักแปลหน้าใหม่

สมัยนี้จะเอาแบบผมไม่ได้แล้ว คือไม่ได้หมายความว่าผมวิเศษเลิศหรูอะไรหรอก จริง ๆ แล้วผมไม่ได้ตั้งใจที่จะเป็นนักแปลหนังสือแต่แรก ผมก็เรียนหนังสือของผมโดยที่อ่านหนังสือมาก ๆ เข้า เพื่อนก็มาบอกว่าเห็นอ่านภาษาอังกฤษเยอะก็เลยให้ลองแปลงานให้ แล้วเมื่อก่อนผมก็เคยเขียนวิจารณ์หนังสือมาก่อน ผมก็เลยลองแปลให้ แล้วก็ได้ทำมาเรื่อย แต่สมัยนี้ถ้าหากอยากจะเป็นนักแปลจริง ๆ เราไม่พูดถึงนักเขียนนะ ถ้าอยากเป็นนักแปลสงสัยจะใช้วิธีอย่างผมไม่ได้ มันต้องไปเรียนเป็นล่ำเป็นสัน ไปเรียนภาษาอังกฤษเลยแล้วก็ไปเรียนการแปลให้เชี่ยวชาญตั้งแต่ต้น แล้วก็ไม่มีอะไรที่จะดีไปกว่าการแปลเยอะ ๆ เหมือนกับการยกน้ำหนักถ้าไม่ฝึกไว้เยอะ ๆ ก็ก้าวไม่ขึ้น แต่จะทำเป็นอาชีพได้หรือไม่ผมไม่แน่ใจ แล้วแต่คนแล้วแต่โชควาสนา ครรลองของชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน




Create Date : 01 มกราคม 2552
Last Update : 1 มกราคม 2552 14:42:27 น. 2 comments
Counter : 820 Pageviews.

 
มาอ่านแล้ว
การแปลถ้าไม่มีคนแปลเก่งๆๆคอยแนะเราก็จะแปลได้เท่าที่เราแปลได้นะครับ ถ้ามีคนแปลแบบชี้แนะจะทำให้เราเกิดมุมมองใหม่ๆๆและการแปลจะพัฒนาไปได้จากจุดเดิมๆๆ


โดย: Tong (narongm1 ) วันที่: 3 มกราคม 2552 เวลา:10:14:29 น.  

 
ดีครับ


โดย: 1 (neung333 ) วันที่: 15 มกราคม 2552 เวลา:7:42:41 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Flowery
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Flowery รักการเขียน รักการเรียนรู้ รักภาษาอังกฤษ รักการแปล และรักที่จะแบ่งปันประสบการณ์ความรู้
Friends' blogs
[Add Flowery's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend


 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.