กุมภาพันธ์ 2551

 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
 
 
ฮาลอง เบย์ อ่าวแห่งมังกร
วันรุ่งขึ้นผมตื่นนอนแต่เช้า เตรียมจัดสัมภาระที่จำเป็นติดตัวไปเพื่อเดินทางไปเยือนดินแดนผืนน้ำที่เป็นส่วนหนึ่งของอ่าวตังเกี๋ย ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ใกล้แนวพรมแดนที่ติดกับประเทศจีน มีพื้นน้ำกว้างใหญ่ราว 1500 ตารางกิโลเมตร มีแนวชายหาดยาว 120 กม เป็นอ่าวที่อยู่ห่างจากกรุงฮานอยไปทางตะวันออก 170 กม ใช้เวลาเดินทางราวสามชั่วโมงครึ่ง มีนามว่าอ่าวฮาลอง มีความหมายว่า “อ่าวแห่งมังกรผู้ดำดิ่ง” ที่ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งหนึ่งของประเทศเวียดนามเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา
ผมนั่งรถรับส่งของโรงแรมที่พักที่อาสาพาไปในราคาไม่แพงมากนัก ออกจากกรุงฮานอยมุ่งหน้าสู่ท่าเทียบเรือ ความหนาวเย็นก็ยังคงติดตามผมไปทุกที่ที่เดินทางไป ผมแปลกใจว่าที่ฮานอยหนาวขนาดนี้ ทำไมผู้คนขับขี่รถจักรยานยนตร์กันราวกับไม่รู้สึกถึงความหนาวเย็น หรืออาจจะเป็นเรื่องของความเคยชิน ระหว่างทางเพลิดเพลินกับทิวทัศน์สองข้างทางที่น่าตื่นตาตื่นใจด้วยเหตุที่เหมือนเป็นสิ่งใหม่ เมื่อมองดูท้องทุ่งนา พื้นที่เกษตรกรรมแล้วอดหวลคิดคนึงถึงบ้านเราไม่ได้ ทันทีที่เสียงแตรเริ่มแผ่วเบาลง นั่นเป็นสัญญาณว่าผมมาถึงบริเวณท่าเทียบเรือ ขณะนั้นเป็นเวลาใกล้เที่ยงวัน แต่สถาพอากาศแทบไม่เห็นแสงตะวันแม้แต่นิดเดียว ท้องฟ้าที่ปกคลุมด้วยม่านหมอกและความชื้น แต่สิ่งที่ยังคงเดิมคือความหนาวเย็น อุณหภูมิอยู่ที่ 15 องศา บริเวณท่าเทียบเรือ ท่าเรือมีเรือจดเทียบท่าอยู่หลายลำ ผมสังเกตุว่าส่วนใหญ่เรือจะออกแบบมามีความละม้ายคล้ายเรือสำเภาในสมัยก่อน เห็นภาพเสากระโดงและสายระยางโยงไปมาแล้วราวกับภาพแห่งวันเวลาในยุคก่อน ในวันนั้นนักท่องเที่ยวค่อนข้างหนาตา เนื่องจากเป็นวันหยุดส่งท้ายปี ผู้คนมากมายรอลงเรือที่นำพวกเค้าไปล่องไปในอ่าวสวรรค์แห่งนี้ บางคนมีสัมภาระติดตัวไปเพื่อพักค้างแรม ดื่มด่ำบรรยากาศในอ่าวฮาลองเป็นแน่


ผมเองก็ใช้เวลารออยู่สักครู่ใหญ่ ก่อนที่ไกด์จะเรียกลงเรือครับ คือเรือลำนี้เองที่จะพาผมล่องไปบนผืนน้ำอันกว้างใหญ่แห่งนี้ ลักษณะราวกับเรือสำเภาโบราณที่ดัดแปลงมาให้บริการนักท่องเที่ยว ทันทีที่ก้าวขึ้นเรือผมได้สัมผัสกลิ่นอาย บรรยากาศการเดินเรือย้อยยุค นึกถึงภาพในสมัยก่อนที่มีการติดต่อค้าขายกันทางเรือเป็นหลัก ชั้นดาดฟ้าสามารถเดินขึ้นมาชมวิวทิวทัศน์โดยรอบอ่าวแห่งนี้
ส่วนที่นั่งโดยสารอยู่ภายในลำเรือ มีที่นั่งซึ่งใช้เป็นโต๊ะสำหรับนั่งทานอาหารไปด้วย ชมวิวไปด้วยในตัว ไม่นานเรือก็พาคณะของเรามุ่งหน้าสู่ท้องน้ำสีมรกตอันกว้างใหญ่ไพศาล จรดขอบฟ้าสีหม่นจากม่านหมอกที่ปกคลุมไปทั่วบริเวณ ผมอดไม่ได้ที่จะรู้สึกเหมือนล่องลอยอยู่ในดินแดนที่ไร้ขอบเขตแห่งห้วงเวลา ท้องน้ำอันกว้างใหญ่จรดขอบฟ้าไกลสุดสายตาพาใจผมล่องลอยไปอย่างไร้จุดหมาย ความรู้สึกเดียวดายอยู่ในห้วงแห่งกระแสธารา ห่างจากบ้านอันเป็นที่รักมาคนละฝั่งฟากฟ้า ภาพภูเขาหินปูนที่อยู่เบื้องหน้าทำให้ผมอดไม่ได้ที่จะคิดถึงประเทศไทย คิดถึงบ้าน และคิดถึงแหล่งท่องเที่ยวในบ้านเรา หลายๆแห่ง ใน จ กระบี่ จ พังงา หรือแม้กระทั่งเขื่อนรัชประภา ที่ได้รับสมยาว่ากุ้ยหลินแห่งสยาม สถานที่แห่งนี้ก็ได้รับการเรียกขานเช่นกันว่ากุ้ยหลินแห่งฮานอย

อ่าวฮาลองมีเกาะหินปูนน้อยใหญ่ โผ่ลพ้นขึ้นมาจากผิวน้ำเกือบสองพันเกาะ หลายเกาะมีต้นไม้ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น และมีถ้ำอยู่ภายในหลายแห่งด้วยกัน ผมได้ทราบว่าถ้ำที่ใหญ่ที่สุดชื่อ “ถ้ำเสาไม้” ว่ากันว่าภายในมีหินงอกหินย้อยที่สวยงาม ในอ่าวแห่งนี้ยังมีเกาะที่มีขนาดใหญ่สองเกาะที่มีชายหาดและที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวด้วย ชื่อว่าเกาะกัดบาและเกาะ Tuan Chua นอกจากนี้ยังมีเกาะเล็กเกาะน้อยมากมายที่มีชายหาดสำหรับท่องเที่ยว และบางเกาะก็เป็นที่พักอาศัยของชาวประมง นอกจากนี้เกาะอื่นๆ ก็เป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ที่มีรูปร่างต่างๆกัน มีชื่อเรียกตามรูปร่างของเกาะ เช่น เกาะช้าง เกาะไก่ชน เป็นต้น ผมเพลิดเพลินกับทิวทัศน์รอบๆ จนเรือพาเรามาถึงหมู่บ้านชาวประมงลอยน้ำ มีแม่ค้าพายเรือนำผลไม้มาขาย และกระชังขายอาหารทะเลนานาชนิดจำหน่าย เช่นปู หอย กั้ง ปลาทะเล และปลาหมึกกระดองขนาดใหญ่ที่ผมซื้อปลาหมึกกระดองมาลองทานระหว่างมิ้อกลางวัน ทางเรือเป็นผู้จัดการปรุงให้ ตัวใหญ่มากเกือบสองโล ทานไม่หมดที่เหลือแบ่งให้ไกด์ครับ ไม่นานอาหารกลางวันก็ทะยอยออกมาวางบนโต๊ะ มีผัดผัก ปลาราดพริก และตามด้วยประหมึกกระดองเผาตัวที่เห็นเมื่อสักครู่ ไม่นานกัปตันก็พาเรามาถึงหินจุมพิต ซึ่งเป็นจุดที่เรือทุกลำต้องพานักท่องเที่ยวมาถ่ายภาพเป็นที่ระลึกที่นี่

หลังอาหารเที่ยง เรือก็มาถึงยังจุดจอดเทียบท่า เข้าชมถ้ำพระราชวังสวรรค์ เรือทุกลำจะต้องพานักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่สถานที่แห่งนี้ เรียกได้ว่าจะต้องบรรจุอยุ่ในกำหนดการท่องเที่ยวอ่าวฮาลองครับ จากจุดนี้เรือจอดเทียบท่าให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมความงามภายในถ้ำ นักท่องเที่ยวทุกคนลงจากเรือที่ท่าเทียบเรือในอ่าวแห่งนี้ ผมเดินไปตามสะพานทอดยาวเข้าไปที่จุดชมวิว และเดินขึ้นบันไดไปที่บริเวณปากทางเข้าถ้ำ บริเวณปากถ้ำเป็นจุดชมทิวทัศน์ที่สวยงามแห่งหนึ่งของอ่าวแห่งนี้ทีเดียว เมื่อเดินเข้าไปภายในถ้ำ มีการจัดแสงสีได้สวยงาม แสงไฟหลากสีที่เกิดจากการใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์ ทำให้ทางเดินไม่มืด เดินสะดวกสบาย เดินชมปฏิมากรรมที่ธรรมชาติเป็นผู้สร้างสรรค์ ให้ความเพลิดเพลินสวยงามดีครับ ผมได้ทราบว่าถ้ำนี้มีตำนานเจ้าชายมังกรหลงรักหญิงสาวและจัดพิธีแต่งงานในถ้ำแห่งนี้ มีบรรดาสัตว์ต่างๆมาร่วมงานกันมากมาย มีการเต้นรำกันอย่างสนุกสนานภายในถ้ำแห่งนี้ บรรดาหินงอกหินย้อยที่เห็นในถ้ำเป็นร่องรอยที่เหลือของงานแต่งที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น ทั้งหมดเป็นเรื่องราวที่ผมได้ยินมาเกี่ยวกับถ้ำสวรรค์แห่งนี้ จริงเท็จประการใดต้องขออภัยด้วยครับ

ผมเดินไปตามทางเดินที่จัดทำไว้ วนมาถึงช่องที่แสงจากภายนอกส่องเข้ามาภายในถ้ำ ซึ่งเป็นช่องทางออกจากถ้ำแห่งนี้ ซึ่งเป็นคนละทางกับทางเข้า เมื่อออกมาภายนอกถ้ำ บริเวณนี้ สามารถมองเห็นทิวทัศน์ที่สวยงาม ในเวิ้งอ่าวอันกว้างใหญ่ได้อีกเช่นกัน ภาพที่ปรากฏแก่สายตา ทำให้ผมนึกถึงภาพยนตร์สมัยก่อนที่สะท้อนเรื่องราวเกี่ยวกับโจรสลัด

ระหว่างทางเดินไปยังถ้ำอีกแห่งหนึ่ง เป็นทางเดินแคบๆ ขึ้นลงลัดเลาะไปตามสันเขา ทางเดินเป็นขั้นบันไดสะดวกสบาย ระหว่างมีถังขยะรูปร่างน่าสนใจจนต้องเก็บรูปเป็นที่ระลึก มาถึงจุดนี้เป็นร้านขายของที่ระลึกและเป็นจุดเริ่มต้นไปยังถ้ำอีกแห่งหนึ่ง ที่มีชื่อว่า ถ้ำ Dau Go ถ้าแปลเป็นภาษาไทยก็น่าจะเรียกว่า “ถ้ำเสาไม้” ที่ผมกล่าวถึงในตอนแรกว่าเป็นถ้ำที่ใหญ่ที่สุดในอ่าวฮาลอง จากจุดนี้เดินทางไปตามขั้นบันไดราว 90 ขั้นเพื่อขึ้นไปที่ปากถ้ำ มีตำนานบอกเล่าเกี่ยวกับถ้ำเสาไม้แห่งนี้ว่า ในสมัยอดีตกาล ชาวเวียดนามทำสงครามทางน้ำต่อสู้กับกองทัพมองโกลผู้รุกรานนำทัพโดยกุปไลข่านผู้เกรียงไกร มีการส่งทหารมาตัดไม้แล้วทำเป็นเสาไม้เก็บซ่อนไว้ที่ถ้ำแห่งนี้ จากนั้นก็นำไปตอกลงสู่ก้นแม่น้ำสายหนึ่งเพื่อเป็นแนวรั้วป้องกันข้าศึกรุกรานที่ซ่อนอยุ่ใต้น้ำ ในสงครามทางเรือสมัยก่อนมีการลวงข้าศึกให้ล่องเรือเข้ามาในลำน้ำสายนี้ในช่วงเวลาที่น้ำลดระดับลงต่ำทำให้เรือข้าศึกติดแนวป้องกันที่ทำขึ้นจากเสาไม้เหล่านั้นโผ่ลพ้นน้ำขึ้นมา ทำให้ข้าศึกไม่สามารถเคลื่อนพลต่อไปได้ ถ้ำเสาไม้แห่งนี้ยังเป็นที่ซ่องสุมกำลังพลเพื่อโจมตีกองทัพมองโกลในสมัยก่อนอีกด้วย

ถ้ำเสาไม้แห่งนี้อยู่ภายในเกาะเขาหินปูนสูงจากระดับน้ำทะเลราว 180 เมตร ภายในถ้ำประกอบด้วยสามคูหา โดยคูหาแรกที่อยู่ด้านนอกบริเวณปากทางเข้าจะมีขนาดใหญ่ที่สุด มีความสูงจากพื้นถ้ำถึงเพดานราว 25 เมตร คูหานี้จุผู้คนได้สามถึงสี่พันคนได้สบายๆ และมีหินงอกหินย้อยที่สวยงาม บางอันสูงถึง 20 เมตร มีรูปร่างคล้ายมนุษย์ ชาวบ้านที่นี่เชื่อกันว่าหินงอกหินย้อยเหล่านี้คือเหล่าเทพที่ปกปักรักษาถ้ำแห่งนี้นั่นเอง ในบริเวณถ้ำมีทางเดินและแสงไฟส่องสว่าง ซึ่งต่างจากถ้ำในบ้านเรา ที่ต้องใช้ไฟฉายหรือตะเกียงส่องนำทาง ส่วนคูหาที่สองที่อยู่ลึกเข้าไปด้านใน ทางเข้าจะแคบมาก กว้างราวๆ เมตรกว่าๆ ผมไม่ได้เดินเข้าไปสำรวจเนื่องจากไม่มีมัคคุเทศนำทาง แต่เท่าที่ทราบได้ยินว่าในคูหาที่สองนี้มีหินคริสตัลทรงกลมตามทางเดินที่สวยงามยามต้องแสงไฟจะส่องประกายฉายแสงออกมา สวยงามมาก ส่วนในคูหาที่สามซึ่งอยุ่ด้านในสุดและเป็นคูหาที่เล็กที่สุด ได้ยินว่ามีหินงอกหินย้อยหลากสีสรรสวยงามมากเช่นกัน นอกจากนี้ในนั้นยังมีบ่อน้ำจืดอยู่ข้างในที่มีน้ำเต็มตลอดทั้งปี ถ้ำเสาไม้แห่งนี้จึงนับเป็นถ้ำที่สวยงามน่าค้นหามากแห่งหนึ่งของอ่าวฮาลอง ในอดีตเชื้อพระวงค์ของเวียดนามหลายพระองค์เคยเสด็จพระราชดำเนินมาชมความงามของถ้ำแห่งนี้และจารึกลายพระหัตพรรณาถึงความประทับพระทัย ไว้ที่แผ่นหินบริเวณปากทางเข้าถ้ำไว้ด้วย

หลังจากใช้เวลาชมถ้ำทั้งสองแห่ง ผมเดินกลับออกมาจากถ้ำเสาไม้ลงมาตามทางเดิน ผมเดินไปตามสะพานลัดเลาะเกาะหินปูนขนาดใหญ่ กลับไปที่จุดจอดเรือ ภาพธรรมชาติที่ห้อมล้อมเวิ้งอ่าวแห่งนี้ ป่าเขากลางท้องน้ำอันกว้างไกลจรดขอบฟ้า ภายใต้ท้องฟ้าที่ไร้ขอบเขต ช่างงดงามสมกับที่เป็นมรดกโลก ภาพเรือที่จอดเรียงราย ล่องลอยในกระแสธารสะท้อนภาพตำนานและอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ ณ ดินแดนแห่งนี้อย่างชัดเจนในตัวเอง ผมเพลิดเพลินกับภาพและเรื่องราวความเป็นมาของอ่าวแห่งมังกรแห่งนี้จนลืมนึกถึง ความหนาวเย็น ที่ยังไม่มีทีท่าจะจางหายไป อุณหภูมิขณะนั้นอยู่ที่ 13 องศา ในไม่ช้าก็ได้เวลาที่จะต้องอำลาอ่าวฮาลองเดินทางกลับเข้าฝั่ง เรือค่อยเคลื่อนออกจากท่าเทียบที่เกาะเขาหินปูนขนาดใหญ่ ระหว่างทางผมนึกถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับตำนานที่มาของชื่ออ่าวฮาลองว่า ในสมัยโบราณที่ชาวเวียดนามต่อสุ้กับกองทัพจีนผุ้รุกรานเทพเจ้าได้ส่งมังกรลงมาปกป้องแผ่นดินเวียดนาม และมังกรเหล่านี้ได้ดำดิ่งลงสู่ก้นอ่าวฮาลองในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดอัญมณีและหยกพวยพุ่งขึ้นมาจากท้องทะเลกลายเป็นเกาะแก่งต่างๆที่เห็นในปัจจุบัน เป็นเกาะป้องกันผู้รุกราน ทำให้เวียดนามรวมกันเป็นหนึ่งดังเช่นทุกวันนี้ ตราบจนนาทีสุดท้ายของการมาเยือนอ่าวฮาลอง ที่ผมได้ทบทวนเรื่องราวที่เป็นตำนานความเป็นมาของอ่าวแห่งมังกรดำดิ่งแห่งนี้ ผมจึงได้ตระหนักว่าเหตุใดเรือทุกลำจึงมีสัญญลักษณ์มังกรไม้แกะสลักติดตั้งอยู่ที่หัวเรือ

เรือพาผมกลับมาที่ท่าเที่ยบเรือเพื่อขึ้นรถกลับเข้าฮานอย ภาพแห่งความงดงามเหล่านั้นยังคงอยุ่ในห้วงคำนึงของผมตลอดเวลาที่เดินทางกลับสู่กรุงฮานอย ความประทับใจเกิดขึ้นมากมายแม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาอันแสนสั้นและจะอยู่กับผมตลอดไป ผมถึงฮานอยราวๆ หนึ่งทุ่มเศษ เข้าที่พัก อาบน้ำอาบท่าแล้วก็ออกไปรับทานอาหารเย็นที่ร้านใกล้ที่พัก ก่อนกลับมานอนพักผ่อน วันรุ่งขึ้นผมต้องอำลาฮานอย เพื่อเดินทางโดยเที่ยวบินสู่จุดหมายต่อไป ที่เมืองดาลัท ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม ผมจึงถือโอกาสนี้ที่จะกล่าวคำอำลาฮานอย นครที่เต็มเปี่ยมไปด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนาน เรื่องราวการต่อสู้กว่าจะมาถึงวันนี้ วันที่ควันไฟแห่งสงครามจางหายไป...



Create Date : 07 กุมภาพันธ์ 2551
Last Update : 7 กุมภาพันธ์ 2551 11:23:22 น.
Counter : 1646 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

3KKK
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]



New Comments
MY VIP Friend