มุมดีดี มีอยู่มากมาย อยู่ที่เราจะมองเห็นมันหรือไม่..เท่านั้น
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728 
 
19 กุมภาพันธ์ 2549
 
All Blogs
 

จัดกลุ่มพระไตรปิฎก



เวลาที่ผมอ่านหนังสือพุทธศาสนา ก็จะพบจะมีอ้างอิงออกไปถึงคัมภีร์โน้นคัมภีร์นี้อยู่เสนอ ซึ่งอ่านๆไปก็จะงงๆว่า เอ๊.. นี่กำลังพูดถึงส่วนไหนของพุทธศาสนาอยู่ พอดีได้มีโอกาสไปอ่านความรู้เรื่องพระไตรปิฎก ที่เว็บลานพุทธศาสนา ก็พบว่า เรื่องหมวดหมู่ของพระไตรปิฎกนี่เอง ที่สามารถตอบโจทย์ผมได้ว่า คัมภีร์ที่อ้างถึงในหนังสืออยู่ในส่วนไหนของพุทธศาสนา ก็เลยขออนุญาติคัดลอกมาไว้ที่ blog นี้ครับ

โดยสรุป ซึ่งคนส่วนใหญ่รู้กันอยู่แล้วว่า พระไตรปิฎกนั้น สามารถจัดกลุ่มออกได้เป็น 3 กลุ่มหลักคือ

  • วินัยปิฎก ว่าด้วยวินัยหรือศีลของภิกษุ ภิกษุณี
  • สุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระธรรมเทศนาทั่ว ๆ ไป
  • อภิธัมมปิฎก ว่าด้วยธรรมะล้วน ๆ หรือธรรมะที่สำคัญ

ทีนี้ในแต่ละปิฎก ยังมีการจัดกลุ่มย่อยลงไปอีก ซึ่งก็คือเนื้อหาในส่วนถัดไปที่ผมไปคัดลอกมา ผสมกับความเข้าใจของตัวเองบางส่วน

ในเบื้องต้น คงได้แต่คัดมาก่อนนะครับ.. แล้วจะเข้ามาเพิ่มคำอธิบาย หรือตกแต่งในภายหลัง

By dharma



ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ


ก่อนจะเข้าเรื่องพระไตรปิฎก คงขอพูดภาพรวมของศาสนาตามหลักพระคัมภีร์ก่อน ที่จะสามารถแบ่งศาสนาออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ และพระไตรปิฎกนี้ ก็จะตกอยู่ในส่วนแรก

ปริยัติ เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับความรู้ที่ปรากฏเป็นถ้อยคำ สำหรับบันทึกจดจำศึกษาเล่าเรียน ส่วนนี้ก็คือพระไตรปิฎก ที่มีการบันทึกเป็นคัมภีร์ต่างๆไว้มากมาก การบันทึกนี้ก็จะแบ่งเป็น 3 ส่วนซึ่งจะกล่าวถึงรายละเอียดต่อไปคือ

  • พระวินัยปิฎก
  • พระสุตตันตปิฎก
  • พระอภิธรรมปิฎก


ปฏิบัติ เป็นส่วนของศาสนาที่อยู่กับตัวของผู้ปฏิบัติ ไม่อยู่เป็นเล่มหนังสือ หรือคำพูด จะเกี่ยวข้องกับการผึกของผู้ปฏิบัติในด้านกาย วาจา ใจ ส่วนของการปฏิบัตินี้ก็จะแยกเป็น 3 ส่วนคือ

  • ศีล เป็นการปฏิบัติระดับแรก เพื่อควบคุมกายวาจาให้ปราศจากโทษ และให้เหมาะสมเพื่อที่จะเกิดสมาธิต่อไป
  • สมาธิ เป็นการปฏิบัติขั้นถัดไปเพื่อความสงบลึกลงไปจนถึงความสงบในส่วนจิต เพื่อให้สะดวกต่อการเจริญปัญญา เมื่อจิตเป็นสมาธิ ก็พร้อมที่จะส่งเสริมให้เกิดปัญญา
  • ปัญญา หมายถึงความรอบรู้ ในสิ่งที่ควรรู้ เป็นการปฏิบัติเพื่อให้ถึงความสงบในส่วนกิเลสชั้นละเอียดที่นอนอยู่ในสันดาน สิ่งที่ควรรู้ในที่นี้คือเรื่องของ ทุกข์ ซึ่งต้องใช้ปัญญาในการเรียนรู้ทั้งเรื่อง ทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับสนิทของทุกข์ และการปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งความดับสนิทของทุกข์ ซึ่งเป็นความจริง 4 เรื่องที่เราเรียกว่า อริยสัจ 4 นี่เอง


ปฏิเวธ ศาสนาส่วนนี้จะเป็นตัวผลของการปฏิบัติ การรู้แจ้งแทงตลอด เกิดเป็นความสว่างไสว แจ่มแจ้ง สงบเย็นถึงที่สุด ส่วนนี้ก็แบ่งเป็น 3 ส่วนเหมือนกันคือ

  • มรรค คือตัวปัญญาที่เกิดขึ้น เป็นตัวความรู้ที่คม สามารถชำแรกแทรกแซงกิเลสให้กระจัดกระจาย เหือดหายไป
  • ผล คือความสงบโดยครง ที่เกิดขึ้นมาจากมรรค ปัญญาแทรกแซงทำลายกิเลสให้สูญหายไป
  • นิพพาน คือภาวะของที่ปราศจากกิเลส และทุกข์




วินัยปิฎก


พระวินัยปิฎก เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎข้อบังคับต่างๆ เพื่อการเป็นอยู่ของหมู่สงฆ์ที่จะเป็นระเบียบเรียบร้อย จะมีการจัดกลุ่มย่อยออกเป็น 5 กลุ่มคือ
  1. มหาวิภังค์ หรือ ภิกขุวิภังค์ ว่าด้วยศีลของภิกษุที่มาในปาฏิโมกข์ ( คำว่า ปาฏิโมกข์ คือศีลที่เป็นใหญ่เป็นสำคัญอันจะต้องสวดทบทวนในที่ประชุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน)
  2. ภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยศีลของภิกษุณี
  3. ม = มหาวัคค์ แปลว่า วรรคใหญ่ แบ่งออกเป็นขันธกะ คือหมวดต่าง ๆ ๑๐ หมวด
  4. จุ = จุลลวัคค์ แปลว่า วรรคเล็ก แบ่งออกเป็นขันธกะ คือหมวดต่าง ๆ ๑๒ หมวด
  5. ป = ปริวาร หมายถึงหัวข้อเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ เป็นการย่อหัวข้อสรุปเนื้อความ วินัยฉัยปัญญาใน ๔ เรื่องข้างต้น


ในการจัดกลุ่มอีกแบบหนึ่ง จะมองวินัยของภิกขุ และภิกขุนีรวมกัน แล้วแบ่งออกเป็นระดับความรุนแรงโดยจะแบ่งเป็น

อา = อาทิกัมม์ ( การกระทำที่เป็นต้นบัญญัติ ) หมายเฉพาะรายการพระวินัย ตั้งแต่อาบัติปาราชิกลงมาถึงสังฆาทิเสส

ปา = ปาจิตตีย์ เป็นชื่อของอาบัติในปาฏิโมกข์ เฉพาะตั้งแต่ถัด สังฆาทิเสสลงมา

ส่วนสามกลุ่มที่เหลือจะเหมือนเดิม จึงทำให้จำเป็นคำย่อว่า อา, ปา, ม, จุ, ป

หรือในหนังสืออรรถกถาวินัย ( สมันตัปปาสาทิกาภาค ๑ หน้า ๑๗ ) พระอรรถกถาจารย์ ก็มีการจัดหัวข้อย่อวินัยปิฎกไว้อีกแบบว่า

  • ปาฏิโมกข์ ๒ ( ภิกขุปาฏิโมกข์ ภิกขุนีปาฏิโมกข์ )
  • วิภังค์ ๒ ( มหาวิภังค์หรือภิกขุวิภังค์กับภิกขุนีวิภังค์)
  • ขันธกะ ๒๒ ( รวมทั้งในมหาวัคค์และจุลลวัคค์ )
  • บริวาร ๑๖

การแบ่งแบบต่างๆนี้ ก็เพื่อให้จดจำได้ง่าย แต่เนื้อหาของพระธรรมวินัยไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป


สุตตันตปิฎก


คือ ตัวหลักธรรมพร้อมทั้งเรื่องราวที่ทำให้เกิดหลักธรรมนั้นๆขึ้น เป็นตัวหลักธรรมที่แสดงแต่ต้นจนตลอด ปรากฏเป็นเรื่องๆ เป็นสูตรๆไป สูตรยาวก็จัดไว้กลุ่มหนึ่ง สูตรกลางไว้พวกหนึ่ง สูตรสั้นๆก็ไว้อีกพวกหนึ่ง พวกเบ็ดเตล็ดก็จัดไว้อีกพวกหนึ่ง

หัวข้อย่อแห่งสุตตันตปิฎกมี คือ ที , ม, สัง, อัง, ขุ ดังต่อไปนี้

  1. ที = ทีฆนิกาย แปลว่า หมวดยาว หมายถึงหมวดที่รวบรวมพระสูตรขนาดยาวไว้ส่วนหนึ่งไม่ปนกับพระสูตรประเภทอื่น ในหมวดนี้มีพระสูตรรวมทั้งสิ้น ๓๔ สูตร

  2. ม = มัชฌิมนิกาย แปลว่า หมวดปานกลาง หมายถึงหมวดที่รวบรวมพระสูตรขนาดกลางไม่สั้นเกินไป ไม่ยาวเกินไปไว้ส่วนหนึ่ง ในหมวดนี้มีพระสูตรรวมทั้งสิ้น ๑๕๒ สูตร

  3. สัง= สังยุตตนิกาย แปลว่า หมวดประมวล คือประมวลเรื่องประเภทเดียวกันไว้เป็นหมวดหมู่ เช่น เรื่องพระมหากัสสป เรียกกัสสปสังยุต เรื่องอินทรีย์ ( ธรรมะที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน) เรียกอินทริยสังยุต เรื่องมรรค ( ข้อปฏิบัติ ) เรียกมัคคสังยุต ในหมวดนี้มีพระสูตรรวมทั้งสิ้น ๗,๗๖๒ สูตร ๑

  4. อัง = อังคุตตรนิกาย แปลว่า หมวดยิ่งด้วยองค์ คือจัดลำดับธรรมะไว้เป็นหมวด ๆ ตามลำดับตัวเลข เช่น หมวดธรรมะข้อเดียว เรียกเอกนิบาต หมวดธรรมะ ๒ ข้อ เรียกทุกนิบาต หมวดธรรมะ ๓ ข้อ เรียกติกนิบาต ดังนี้เป็นต้น จนถึงหมวดธรรมะ ๑๐ ข้อ เรียกทสกนิบาต หมวดธรรมะเกิน ๑๐ ข้อ เรียก อติเรกทสกนิบาต ในหมวดนี้มีพระสูตรรวมทั้งสิ้น ๙,๕๕๗ สูตร ๑

  5. ขุ = ขุททกนิกาย แปลว่า หมวดเล็กน้อย รวบรวมข้อธรรมที่ไม่จัดเข้าใน ๔ หมวดข้างต้นมารวมไว้ในหมวดนี้ทั้งหมด เมื่อจะแบ่งโดยหัวใหญ่ก็มี ๑๕ เรื่อง คือ

    1. ขุททกปาฐะ แปลว่า บทสวดเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยมากเป็นบทสวดสั้น ๆ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา

    2. ธรรมบท แปลว่า บทแห่งธรรม คือธรรมภาษิตสั้น ๆ ประมาณ ๓๐๐ หัวข้อ ( ส่วนเรื่องพิสดารมีท้องเรื่องประกอบปรากฏในอรรถกถา)

    3. อุทาน แปลว่า คำที่เปล่งออกมา หมายถึงคำอุทานที่เป็นธรรมภาศิต มีท้องเรื่องประกอบเป็นเหตุปรารภในการเปล่งอุทานของพระพุทธเจ้า

    4. อิติวุตตกะ แปลว่า “ ข้อความที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้” เป็นการอ้างอิงว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสข้อความไว้อย่างนี้ ไม่มีเรื่องประกอบ มีแต่ที่ขึ้นต้นว่า ข้าพเจ้าได้ยินมาว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันต์ตรัสไว้อย่างนี้

    5. สุตตนิบาต แปลว่า รวมพระสูตร คือรวบรวมพระสูตรเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน มีชื่อสูตรบอกกำกับไว้

    6. วิมานวัตถุ แปล่า เรื่องของผู้ได้วิมาน แสดงเหตุดีที่ให้ได้ผลดีตามคำบอกเล่าของผู้ได้ผลดีนั้น ๆ

    7. เปตวัตถุ แปลว่า เรื่องของเปรตหรือผู้ล่วงลับไป ที่ทำกรรมชั่วไว้

    8. เถรคาถา ภาษิตต่าง ๆ ของพระเถระผู้เป็นอรหันตสาวก

    9. เถรีคาถา ภาษิตต่าง ๆ ของพระเถรีผู้เป็นอรหันตสาวิกา

    10. ชาดก แสดงภาษิตต่าง ๆ เกี่ยวโยงกับคำสอนประเภทเล่านิทาน ( ท้องเรื่องพิสดารมีในอรรถกถา เช่นเดียวกับธรรมบท)

    11. นิทเทส แบ่งออกเป็นมหานิทเทสกับจูฬนิทเทส คือมหานิทเทสเป็นคำอธิบายพระพุทธภาษิตในสุตตนิบาต ( หมายเลข ๕ ) รวม ๑๖ สูตร ส่วนจูฬนิทเทส เป็นคำอธิบายพระพุทธภาษิตในสุตตนิบาต ( หมายเลข ๕ ) ว่าด้วยปัญหาของมาณพ ๑๖ คน กับ ขุคควิสาณสูตร กล่าวกันว่าเป็นภาษิตของพระสารีบุตรเถรเจ้า

    12. ปฏิสัมภิทามัคค์ แปลว่า ทางแห่งปัญญาอันแตกฉาน เป็นคำอธิบายหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ซึ่งกล่าวกันว่าพระสารีบุตรเถระเจ้าได้กล่าวไว้

    13. อปทาน แปลว่า คำอ้างอิง เป็นประวัติส่วนตัวที่แต่ละท่านเล่าไว้ ซึ่งอาจแบ่งได้ คือเป็นอดีตประวัติของพระพุทธเจ้า ของพระเถระอรหันตสาวก ของพระเถรีอรหันตสาวิกา ส่วนที่เป็นประวัติการทำความดีของพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น มีคำอธิบายว่า เป็นพุทธภาษิตตรัสเล่าให้พระอานนท์ฟัง

    14. พุทธวังส แปลว่า วงศ์ของพระพุทธเจ้า หลักการใหญ่เป็นการแสดงประวัติของพระพุทธเจ้าในอดีต ๒๔ องค์ รวมทั้งของพระโคตมพุทธเจ้าด้วยจึงเป็น ๒๕ องค์ นอกจากนั้นมีเรื่องเบ็ดเตล็ดแทรกเล็กน้อย

    15. จริยาปิฎก แปลว่า คัมภีร์แสดงจริยา คือการบำเพ็ญบารมีต่าง ๆ ของพระพุทธเจ้า ซึ่งแบ่งหลักใหญ่ออกเป็นทาน ( การให้) ศีล ( การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย) และเนกขัมมะ ( การออกบวช )




อภิธรรมปิฎก


คือคำอธิบายบทธรรมบทใดบทหนึ่งในสุตตันตปิฎก ที่ยกเอามาอธิบายโดยเฉพาะ ให้ลึกซึ้งเป็นพิเศษ

หัวข้อย่อแห่งอภิธัมมปิฎกมี ๗ คือ สัง, วิ, ธา, ปุ, ก, ย, ป ดังต่อไปนี้

  1. สัง = สังคณี ว่าด้วยการรวมหมู่ธรรมะ คือธรรมะแม้จะมีมากเท่าไร ก็อาจรวมหรือจัดเป็นประเภท ๆ ได้เพียงไม่เกิน ๓ อย่าง

  2. วิ = วิภังค์ ว่าด้วยการแยกธรรมะออกเป็นข้อ ๆ เช่น เป็นขันธ์ ๕ เป็น เป็นต้น ทั้งสังคณีและวิภังค์นี้ เทียบด้วยคำว่าสังเคราะห์ ( Synthesis ) และวิเคราะห์ ( Analysis ) ในวิทยาศาสตร์ เป็นแต่เนื้อหาในทางศาสนากับทางวิทยาศาสตร์ มุ่งไปคนละทาง คงลงกันได้ไนหลักการว่า ควรเรียนรู้ทั้งในทางรวมกลุ่มและแยกกลุ่ม เช่น รถคันหนึ่งควรรู้ทั้งการประกอบเข้าเป็นคันรถ และแยกส่วนต่าง ๆ ออกฉะนั้น

  3. ธา = ธาตุถกา ว่าด้วยธาตุ คือธรรมะทุกอย่าง อาจจัดเป็นประเภทได้โดย ธาตุ อย่างไร

  4. ปุ = ปุคคลบัญญัติ ว่าด้วยบัญญัติ ๖ ประการ เช่น บัญญัติขันธ์ บัญญัติอายตนะ จนถึงบัญญัติเรื่องบุคคล พร้อมทั้งแจกรายละเอียดเรื่องบัญญัติบุคคลต่าง ๆ ออกไป

  5. ก = กถาวัตถุ ว่าด้วยคำถาม คำตอบ หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา (เพราะอรรถกถาจารย์กล่าวว่า เป็นคำถาม ๕๐๐ คำตอบ ๕๐๐ แต่ตัวเลข ๕๐๐ นี้ อาจหมายเพียงว่าหลายร้อย เพราะเท่าที่นับกันดูแล้ว ได้คำถาม คำตอบ อย่างละ ๒๑๙ ช้อ)

  6. ย = ยมก ว่าด้วยธรรมเป็นคู่ ๆ บางทีจัดคู่ก็มีลักษณะเป็นตรรกวิทยา ซึ่งจะได้กล่าวถึงใน ๓ ภาค ย่อความแห่งพระไตรปิฎก

  7. ป = ปัฏฐาน ว่าด้วยปัจจัย คือสนับสนุน ๒๔ ประการ




เปรียบเทียบ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก และ อภิธัมมปิฎก ในแง่มุมต่างๆเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น

๑. วินัยปิฎก เป็น อาณาเทศนา คือการแสดงธรรมในลักษณะตั้งเป็นข้อบังคับโดยส่วนใหญ่
๒ . สุตตันตปิฎก เป็น โวหารเทศนา คือการแสดงธรรมยักย้ายสำนวนให้เหมาะสมแก่จริตอัธยาศัยของผู้ฟัง
๓. อภิธัมมปิฎก เป็น ปรมัตตถเทศนา คือการแสดงธรรมเจาะจงเฉพาะประโยชน์อย่างยิ่ง ซึ่งเป็นธรรมะชั้นสูงไม่เกี่ยวด้วยท้องเรื่องหรือโวหาร

๑. วินัยปิฎก เป็น ยถาปราธสาสนะ คือการสอนตามความผิด หรือโทษชนิดต่าง ๆ ที่พึงเว้น
๒. สุตตันตปิฎก เป็น ยถานุโลมสาสนะ คือการสอนโดยอนุโลมแก่จริตอัธยาศัยของผู้ฟัง ซึ่งมีต่าง ๆ กัน
๓. อภิธัมมปิฎก เป็น ยถาธัมมสาสนะ คือการสอนตามเนื้อหาแท้ ๆ ของธรรมะ

๑. วินัยปิฎก เป็น สังวราสังวรกถา คือถ้อยคำที่ว่าด้วยความสำรวมและไม่สำรวม
๒. สุตตันตปปิฎก เป็น ทิฎฐิวินิเวฐนกถา คือถ้อยคำที่สอนให้ผ่อนคลาย ทิฎฐิ คือความเห็นผิด
๓. อภิธัมมปิฎก เป็น นามรูปปริจเฉทกถา คือถ้อยคำที่สอนให้กำหนดนามแลรูป คือร่างกายจิตใจ

๑. วินัยปิฎก เป็น อธิศีลสิกขา คือข้อศักษาเกี่ยวกับอธิศีล คือศีลชั้นสูง
๒. สุตตันตปิฎก เป็น อธิจิตตสิกขา คือข้อศึกษาเกี่ยวกับสมาธิชั้นสูง
๓. อภิธัมมปิฎก เป็น อธิปัญญาสิกขา คือข้อศึกษาเกี่ยวกับปัญญาชั้นสูง

๑.วินัยปิฎก เป็น วีติกกมปหาน คือเครื่องละกิเลสอย่างหยาบ ที่เป็นเหตุให้ล่วงละเมิดศีล
๒. สุตตันตปิฎก เป็น ปริยุฏฐานปหาน คือเครื่องละกิเลสอย่างกลางอันรัดรึงจิต ได้แก่นิวรณ์คือกิเลส อันกั้นจิตมิให้เป็นสมาธิ
๓. อภิธัมมปิฎก เป็น อนุสยปหาน คือเครื่องละกิเลสอย่างละเอียด อันได้แก่ที่นอนอยู่ในสันดาน เหมือนตะกอนนอนก้นตุ่ม ไม่มีอะไรมากวนก็ไม่แสดงตัวออกมา นอกจากนั้นยังได้อธิบายโดยใช้ศัพท์ ปหาน ในรูปอื่นอีก ซึ่งเห็นว่าเท่าที่นำมากล่าวนี้พอแล้ว จึงนำมากล่าวทั้งหมด



อ้างอิง: การจัดหมวดหมู่ของแต่ละปิฎก, พระไตรปิฎกฉบับประชาชน, ลานพุทธศาสนา




 

Create Date : 19 กุมภาพันธ์ 2549
4 comments
Last Update : 9 มิถุนายน 2549 16:19:40 น.
Counter : 1242 Pageviews.

 

นี่ค่ะพี่ หนูอยากได้หนังสือมากๆเลยค่ะ

พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ โดย รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

//84000.org/true/index.html

 

โดย: what for ^.~ 6 มีนาคม 2549 23:11:47 น.  

 

กำลังนึกสงสัยค่ะว่า ทำไมคุณถึงได้สนใจพุทธศาสนาอย่างนี้ ชอบหรือคะ แต่ก็ดีนะเพราะหายากแล้ว เราก็สนใจเหมือนกัน ดีนะคะที่ได้แบ่งปันความรู้ที่ไม่ใช่เรื่องทั่วๆไปบ้าง ไม่คิดจะลองเขียนบทความเกี่ยวกับการใช้ธรรมะในชีวิตประจำวันบ้างหรือคะ คนอื่นๆ ที่เป็นทุกข์อยู่จะได้สบายใจไงคะ

cheescakeoishi@yahoo.com

 

โดย: cheescakeoishi IP: 203.107.214.199 24 มีนาคม 2549 18:53:05 น.  

 

คุณชีสเค๊กโออิชิ.. ก็พอมีเขียนอยู่บ้างอะครับ..
เอาไว้จะมาอัพใส่บล็อกนะครับ..

ขอบคุณที่มาเยี่ยมนะครับ

 

โดย: dharma 31 มีนาคม 2549 22:59:05 น.  

 

ทำให้หาง่าย ค้นคว้าได้เร็วขึ้น ขอให้พัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ จะได้เป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้นครับ.

 

โดย: จำลอง ชุมแสง นครสวรรค์ IP: 61.19.192.210 9 ตุลาคม 2549 15:02:15 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


NETA Dad
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]














ไหนๆก็มาแล้ว แวะไป
เซ็นสมุดเยี่ยม
หน่อยนะครับ

วันเกิด blog นี้ : 2 กุมภา 49
















Friends' blogs
[Add NETA Dad's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.