Photobucket
Group Blog
 
 
มิถุนายน 2552
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
9 มิถุนายน 2552
 
All Blogs
 

The Candidate ความคลั่งของ “สื่อ”

วาระปรารภ
The Candidate
ความคลั่งของ “สื่อ”




วารสารราชดำเนิน/สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ฉบับ พ.ค.2552



ในทางการเมืองนักการเมืองทุกคนรู้ว่าการจะประสบความสำเร็จในเวทีการเมืองได้สิ่งสำคัญสั้นๆคือคำว่า “ประชาชน” แต่ในมิติที่มากกว่านั้นมีองค์ประกอบ ปัจจัยเกื้อหนุนต่างๆที่จะทำให้เขาได้พื้นที่จากมวลชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความนิยมของพรรค นโยบายการทำงาน แต่สิ่งที่จะเป็นอุปกรณ์ให้เข้าถึงประชาชนหนีไม่พ้นการต้องสื่อสารผ่าน “สื่อสารมวลชน” รวมทั้งการใช้ “เทคโนโลยี” สื่อสารมวลชนเพื่อให้ “เข้าถึง” กลุ่มคนขนาดใหญ่ได้อย่างทรงพลัง

กรณีที่เห็นชัดและกว้างขวางที่สุดคือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ผ่านมาระหว่าง “บารัค โอบาม่า” แห่งเดโมแครต และ “จอห์น แมคเคน” ณ รีพลับริกัน คือตัวอย่างที่เห็นชัดของการใช้ “สื่อสารมวลชน”อย่างหนักหน่วงของคู่ต่อสู้ทั้งสองฝ่าย เส้นทางการเข้าสู่ทำเนียบขาวที่ต้องพึ่งปัจจัยทั้งเงิน ทุน สื่อ เทคโนโลยี ภาพลักษณ์ การตลาด จิตวิทยา

เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในแวดวงการเมืองของสหรัฐอเมริกา และการหาเสียงเลือกตั้งของสหรัฐฯก็มักจะมีภาพออกมาถึงการแข่งขันที่ดูทรงพลัง ผ่านกระบวนการต่างๆจนเหมือนดูหนังเรื่องหนึ่งทีเดียว

มีภาพยนตร์ที่สะท้อนแง่มุมการเมือง โดยเฉพาะกระบวนการการเลือกตั้งที่ทำให้เห็นภาพรวมถึงการที่คนๆหนึ่งจะก้าวเข้าสู่วงการการเมืองต้องทำอะไรต่างๆมากมายได้อย่างดีคือ “The Candidate” ด้วยการนำเสนอประเด็นคลาสสิคของการเมืองนั่นคือ “การเมือง” กับ “สื่อสารมวลชน” และ “การโฆษณา”

หนังปี 1972 เรื่องนี้แม้จะกินเวลา 30 กว่าปีมาแล้ว แต่สาระของมันยังคงมีแง่มุมทฤษฎีที่ใช้ได้อย่างร่วมสมัย The Candidate ถูกนำมาใช้เป็นกรณีศึกษาประเด็น “การสื่อสารทางการเมือง” ในวิชารัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยหลายแห่งของสหรัฐฯ ตัวหนังไม่ได้ให้คุณค่าต่อการเมืองในเชิงกระบวนการทำงาน แต่หนังมุ่งเจาะจงพูดถึง “การเลือกตั้ง” และมีนัยที่บอกว่าการเลือกตั้งกับการทำงานการเมืองเป็นคนละเรื่องกันอย่างเห็นได้ชัด

The Candidate มีตัวละครหลักคือ “บิล แมคเคย์” รับบทโดย “โรเบิร์ต เรดฟอร์ด” ทนายความผู้ผันตัวเองมาลงสมัครชิงตำแหน่งวุฒิสมาชิกหน้าใหม่ เวทีการเมืองสำหรับแมคเคย์คือ “คนมาใหม่” ที่อยากจะปรับเปลี่ยน นำสิ่งที่ดีกว่ามาใช้ ดังเช่นสโลแกนหาเสียงสั้นๆ แต่มีใจความ McKay, The Better Way! ความเป็นนักอุดมคติในทางการเมืองทำให้เขาดูสด-ใหม่ และน่าลิ้มลอง ด้วยภาพลักษณ์คนหนุ่ม ไฟแรง ผนวกกับบุคลิกหน้าตาที่ดึงดูดสายตาได้อย่างกว้างขวาง แต่เพียงคุณสมบัติเท่านี้ก็ไม่ได้ทำให้การเข้าสู่ถนนการเมืองของแมคเคย์ง่ายดาย เมื่อเขามีคู่ชิงเป็นผู้คร่ำหวอดในแวดวงการเมือง

ในภาพยนตร์ The Candidate เราจึงได้เห็นกระบวนการทำงานวางแผนหาเสียงเลือกตั้งที่ถูกวางแผนอย่างรอบคอบทุกตารางนิ้วและอิริยาบถเพื่อดึงให้ “แมคเคย์” กลายเป็น “สปอร์ตไลท์” ที่ถูกจับจ้อง ด้วยกระบวนการต่างๆนับตั้งแต่การสร้างและย้ำภาพลักษณ์คนหนุ่มรุ่นใหม่ และนักอุดมคติ กับการชูนโยบายสาธารณะเพื่อสิทธิ์คนด้อยโอกาส ปกป้องสิทธิ์ของคนผิวสี มีนโยบายด้านสาธารณสุขที่เข้มแข็ง และเมตตาผู้ยากไร้

เท่านั้นไม่พอเราได้เห็นกระบวนการเตรียมตัวกระทั่งวิธีการจับมือกับฝูงชนจะเขย่ามือและใช้สายตาอย่างไรเพื่อให้เกิดความประทับใจ และมั่นใจในตัวผู้เข้าชิงอย่างที่สุด เป็นต้นว่า นักการเมืองอาชีพจะไม่จ้องมองฝูงชนอย่างเขม้นบนใบหน้าคนนี้หรือคนนั้น แต่พยายามกราดยิ้มและพยักหน้า สิ่งเหล่านี้ถูกถ่ายทอดผ่าน “สื่อสารมวลชน” ที่ก็ตะครุบถึงการสร้างพลังและกระแสให้ผู้สมัครอย่างแนบเนียน ด้วยเพราะตัวผู้สมัครอย่าง “แมคเคย์” เองก็มีส่วนที่น่าดึงดูดและมีพลังพอที่จะเข้าทางกับที่สื่อจะฉายไฟสนใจเขาได้มากเช่นกัน

เมื่อสื่อถูกดึงเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองไม่ใช่แค่ผู้รายงานข่าวสาร แต่ถูกกลืนกินเข้ามาเป็นกระบวนการหนึ่ง โดยเฉพาะสื่อวิทยุโทรทัศน์ ในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกาช่วงที่สื่อเข้ามามีอิทธิพลต่อการเมืองเด่นชัดเกิดขึ้นในยุคทศวรรษ 60 เป็นต้นมา เมื่อสื่อเริ่มมาทำหน้าที่ถ่ายทอดสดการดีเบตระหว่าง “จอห์น เอฟ.เคนเนดี้” กับ “ริชาร์ด นิกสัน” และเช่นกันใน The Candidate สื่อก็ทำหน้าที่ในทางโฆษณากับกระบวนการสื่อสารทางการเมืองอย่างทรงพลังอีกครั้ง

ประเด็นใน The Candidate เหล่านี้นี่เองที่ถูกยกเป็นกรณีศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “การโฆษณา” และ “กระบวนการการเลือกตั้ง” หลายฉากในหนังถูกนำมาวิเคราะห์ รวมทั้งถูกอ้างอิงในเชิงรัฐศาสตร์มากมายกระบวนการหาเสียงทางการเมืองจึงเป็นทั้งศาสตร์ ศิลปะ ธรรมชาติ และจิตวิทยาได้อย่างกลมกลืน

เป็นเช่นนี้เราจึงได้เห็นสื่อนำเสนอภาพสมัยประธานาธิบดีบุชที่ทั้งเล่นกระดานหิมะ เต้นรำ ทำแพนเค้ก โดยเชื่อกันว่าภาพและกิจกรรมเหล่านี้ผ่านการเตรียมมาอย่างดีจากทีมงาน หรือแม้กระทั่งการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ารีพลับริกันทุ่มงบประมาณหาเสียงจำนวนหนึ่งหมดไปกับค่าใช้จ่ายเสื้อผ้า เครื่องประดับ เพื่อสร้างบุคลิกความน่าประทับใจให้ “ซาราห์ เพลิน” ผู้เข้าชิงรองประธานาธิบดีสหรัฐฯจนเกินพอดี และแม้กระทั่งการติดตามชมการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯจนถึงวันพิธีสาบานตนของโอบาม่าก็มีความเป็น “บันเทิง” (Entertainment) ปะปนกับ “การแสดง” (Performance) อยู่สูง บางครั้งให้ความรู้สึกเหมือนกำลังติดตามชมซีรีส์ทีเดียว

สิ่งเหล่านี้เป็นทฤษฎีที่ปรากฎใน The Candidate แง่มุมของหนังที่สะท้อนการตลาดกับการเมืองและจิตวิทยาได้อย่างเห็นชัด

ต่อเนื่องจากประเด็นดังกล่าวตามมาด้วยข้อกังขาในเรื่องความเหมาะสมของสื่อ? ต่อการตกเป็นเครื่องมือ หรือจำใจหรือตั้งใจที่จะกระโดดเข้ามาอย่างเต็มตัว แต่การใช้สื่อกับการเมืองยังคงมีลักษณะเช่นนี้มาตลอด สิ่งที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลาคือ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้สื่อ สถานการณ์ขณะนี้สื่อที่น่าจับตาและมีบทบาทมากขึ้นในทางการเมืองคือ “อินเทอร์เน็ต” เครือข่ายใยแมงมุมที่เข้าถึงประชาชนได้ง่ายขึ้นทุกวัน และกระจายในวงกว้าง ก่อนจะออกไปสู่ปากต่อปาก และหลายครั้งก็กลายเป็นประเด็นใหญ่ของสังคม

ส่วนหนึ่งของกระบวนการ “คลั่งโอบาม่า” (Obamania) ที่ฮิตไปทั่วโลกก็เพราะผ่านอินเทอร์เน็ตที่เข้ามาช่วยทั้งสนับสนุน และตัดความนิยมของอีกฝ่าย รวมทั้งแม้แต่จะกระจายความคิด แนวคิดเพื่อตอกย้ำก็ทำได้ง่ายดาย กระบวนการใช้สื่ออินเทอร์เน็ตนี่เองยังเป็นแหล่งผุดบรรดาภาพ อนิเมชั่น ล้อเลียนนักการเมืองดังๆ และผู้นำคนสำคัญของโลก สิ่งนี้กำลังจะเป็นเทรนด์หนึ่งในปี 2009 ที่เรียกว่า Political Remixing และแน่นอนมันเป็นจุดเริ่มต้นที่พอจะชี้แนวโน้มด้านคะแนนนิยมได้ไม่มากก็น้อย

ที่ว่ามาคือกรณีตัวอย่างของการใช้สื่อเพื่อการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเพียงกระบวนการเริ่มต้นของการเข้าสู่การเมือง แต่สิ่งที่ตามมานั้นสื่อยังคงต้องติดตามให้ความสำคัญ เช่นเดียวกับฉากสุดท้ายของ The Candidate เมื่อ “แมคเคย์” ได้รับชัยชนะประโยคหักมุมที่เขาหันไปพูดกับที่ปรึกษาว่า “แล้วเราจะทำอะไรกันต่อไปดี” นั่นทำให้เรารู้สึกคาดหวังกับนักการเมืองได้ครึ่งเดียว จากที่ยืนข้างและฟังประชาชนเมื่อช่วงหาเสียง แต่เมื่อผ่านพ้นไปสิ่งที่ยากกว่านั้นคือการยังคงคิดในมุมเดียวกับประชาชน

/////////////





 

Create Date : 09 มิถุนายน 2552
1 comments
Last Update : 9 มิถุนายน 2552 1:14:57 น.
Counter : 1119 Pageviews.

 

แนะนำเว็บดูหนังซีรีย์เกาหลีฟรี

 

โดย: koreaserie (loveyoupantip ) 6 สิงหาคม 2554 10:46:54 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


tistoo
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ติสตู...เริ่มเขียนบล๊อกที่นี่ตั้งแต่ปี 2549 (ก่อนการปฏิวัติรัฐประหาร) และทิ้งบล๊อกบ่อยๆ



ช่วงนี้มึนงงกับ House M.D. และชอบเสียงแหบๆของ Sophia Bush รวมทั้งพยายามคิดๆๆในโปรเจคเรื่องสั้นของคนข่าว 12 Months
Friends' blogs
[Add tistoo's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.