ชีวิตคือการเรียนรู้

 
กุมภาพันธ์ 2553
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28 
 
6 กุมภาพันธ์ 2553
 

รถไฟ...คนจน


ข่าวการหยุดเดินรถไฟของสหภาพการรถไฟฯเมื่อเดือนที่ แล้ว เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทำให้เราหันกลับมาตระหนักถึงปัญหาของรถไฟไทย ที่แม้จะมีการเรียกร้องให้ปรับปรุงหลายครั้งแต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จ กลายเป็นระบบขนส่งมวลชนที่ขาดความน่าเชื่อถือที่สุดระบบหนึ่ง

ทั้งที่ตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้วบริการที่มีราคาถูกที่สุดอย่างรถไฟ น่าจะเป็นระบบขนส่งที่มีผู้เลือกใช้บริการมากที่สุด...แต่เปล่าเลย รถไฟกลับเป็นตัวเลือกท้ายๆของหลายๆคน บางคนเลือกที่จะนั่งเครื่องบินหรือรถโดยสารทั้งที่ราคาแพงกว่ารถไฟ

ทำไม?

บางทีเหตุผลในการเลือกใช้บริการขนส่งแบบใดของคนใดคนหนึ่งอาจถูก พิจารณาได้จากชั้นทางสังคม หากลองสังเกตแล้วจะพบว่าชั้นทางสังคมที่ต่างกันอาจส่งผลต่อการเลือกใช้ บริการที่ต่างกัน คนรวยส่วนใหญ่ไม่นิยมนั่งรถไฟ และรถไฟไทยยังถูกนิยามว่าเป็นการเดินทางของชนชั้นล่างหรือผู้มีรายได้น้อย เสียเป็นส่วนใหญ่ และตัวชั้นทางสังคมนี่เองยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การปรับปรุงรถไฟไม่เป็น จริงเสียที

สำหรับคนที่พอมีฐานะหรือชนชั้นกลางขึ้นไปแล้ว การเดินทางหาได้คำนึงเพียงแค่ค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปเท่านั้น แต่ยังรวมเอาปัจจัยเวลาและคุณภาพเข้าไปด้วย เนื่องจากชนชั้นกลางส่วนใหญ่ผูกติดอยู่ระบบทุนนิยมที่เน้นให้ความสำคัญ เกี่ยวกับเวลาเป็นหลัก การสายไปเพียงแค่ไม่กี่นาทีอาจมีผลถึงการสูญเสียมูลค่าทางธุรกิจมหาศาล ขณะเดียวกันความสะดวกสบายจากการบริการก็เป็นตัวบ่งบอกถึงการมีคุณภาพชีวิต ที่ดี สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่พวกเขามีความคาดหวังว่าจะได้รับจากรถไฟ

ในขณะที่กลุ่มชนชั้นล่างนั้น แม้จะมีการให้ความสำคัญกับเวลาและบริการอยู่บ้าง แต่เรื่องของราคาเป็นปัจจัยสำคัญสุดที่ทำให้พวกเขาเลือกวิธีในการเดินทาง การเสียค่าใช้จ่ายในราคาถูกสำหรับการโดยสารรถไฟมีความหมายสำหรับพวกเขาเป็น อย่างมาก เพราะนั่นหมายถึงพวกเขาอาจมีเงินเหลือในการเอาไปอย่างอื่นได้

มองย้อนกลับไปในอดีตรถไฟไทยหาได้ถูกนิยามว่าเป็นพาหนะสำหรับคนจน ไม่ รถไฟของไทยเคยมีความก้าวหน้าเป็นลำดับต้นๆของเอเชีย แต่ทันทีที่มีการเปลี่ยนแนวทางการการพัฒนาโดยหันมาให้ความสำคัญกับการขนส่ง ทางถนนแทน ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะแรกๆ รัฐเริ่มไม่อุดหนุนการรถไฟ หัวรถจักรและโบกี้โดยสารถูกทิ้งให้อยู่ในสภาพเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ

การหันไปให้ความสำคัญกับถนน เป็นภาพสะท้อนอย่างหนึ่งในแนวทางการพัฒนาประเทศที่มุ่งตอบสนองผลประโยชน์ของ กลุ่มคนเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น เพราะเมื่อมีถนนก็ต้องมีรถวิ่ง แล้วใครละที่มีรถ ถ้าไม่ใช่คนที่มีเงินพอที่จะซื้อรถนะสิ รัฐให้ความ สำคัญกับคนกลุ่มนี้เพราะเห็นว่าพวกเขาคือส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ของประเทศและอาจหมายรวมไปถึงความอยู่รอดของรัฐบาลอีกด้วย

เมื่อถูกแย่งชิงลูกค้าจากถนนและรัฐก็ลดการอุดหนุน เงินที่จะนำมาพัฒนากิจการก็ลดลง คุณภาพการให้บริการก็ตกต่ำลงเรื่อยๆ รถไฟก็ต้องพยายามหาจุดยืนใหม่ให้กับตัวเอง สิ่งเดียวที่พอจะเอามาเป็นจุดขายได้ก็คือราคาค่าโดยสารที่ถูกกว่าโดยอาศัย ข้อได้เปรียบของการเป็นหน่วยงานรัฐทำให้ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการขาดทุนมาก นัก และกลุ่มที่กลายมาเป็นลูกค้าสำคัญของรถไฟก็คือกลุ่ม ชนชั้นล่างที่มีรายได้น้อยนั่นเอง ส่วนคนกลุ่มอื่นได้หันไปใช้บริการขนส่งแบบอื่นที่สามารถตอบสนองด้านเวลาและ บริการได้ดีกว่า แม้ว่าราคาจะแพงกว่าก็ตาม

กลุ่มชนชั้นล่างได้กลายมาเป็นลูกค้ารายใหญ่ของการรถไฟ ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวน 70-80% จากจำนวนผู้โดยสารรถไฟทั้งหมด ตราบใดที่กลุ่มเหล่านี้ยังสนับสนุนการรถไฟฯ การเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็ดูจะเป็นเรื่องยาก และทุกครั้งที่คิดจะเปลี่ยนแปลงก็มักมีการหยิบยกผลกระทบที่จะเกิดกับชนชั้น ล่างมาอ้างอยู่เสมอ ด้านกลุ่มชนชั้นล่างเองก็ไม่กล้าเรียกร้องอะไรมาก ถึงแม้ว่ารถไฟไทยจะบริการย่ำแย่หรือถึงปลายทางช้าเพียงไร พวกเขาก็ยังเลือกที่จะโดยสารรถไฟอยู่ดี เพราะการเดินทางแบบอื่นมันแพงไปสำหรับพวกเขา นั่นก็เลยเป็นการสนับสนุนทางอ้อมให้การรถไฟที่แม้จะเน่าเฟะเพียงใด แต่ก็ยังคงอยู่ได้ต่อไป

ปัญหาของการรถไฟที่เราได้ยินในช่วงนี้ ต้นตอจึงไม่ได้มาจากการคอร์รัปชั่นหรือเรื่องของโครงสร้างทางการบริหารเท่า นั้น จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ยังมาจากการพัฒนาที่ไม่ให้ความสำคัญแก่ประชาชนทุก ส่วนในประเทศอย่างเท่าเทียมกัน การแก้ปัญหาเรื่องรถไฟไทยจึงใช่ว่าจะทำได้เพียงแค่การประท้วงหยุดเดินรถ หรือการแปรรูปเท่านั้น เสียงวิพากษ์วิจารณ์รถไฟไทยตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์นั้น ไม่ได้มีความหมายอะไรสำหรับการรถไฟเลย เพราะเราไม่ใช่ลูกค้าหลักที่การรถไฟจะใส่ใจ ตราบใดที่กลุ่มลูกค้ารายใหญ่อย่างชนชั้นล่างยังไม่กล้าออกมาเรียกร้อง รถไฟไทยก็ยังจะเป็นเหมือนเดิม พลังของชนชั้นล่างจึงสำคัญที่สุดในการเปลี่ยนแปลงรถไฟไทย

แต่จะหวังให้ชนชั้นล่างลุกขึ้นมาได้อย่างไร หากสภาพเศรษฐกิจยังบังคับให้พวกเขาต้องใช้บริการราคาถูกจากการรถไฟอยู่แบบ นี้...


หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เขียนส่งงานวิชา JC310 การเขียนบทบรรณาธิการและบทความ เป็นบทความชิ้นแรกที่เขียนในวิชานี้


Create Date : 06 กุมภาพันธ์ 2553
Last Update : 27 กุมภาพันธ์ 2553 16:01:50 น. 1 comments
Counter : 590 Pageviews.  
 
 
 
 
 
 

โดย: ผมชอบกินข้าวมันไก่ วันที่: 6 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:23:09:22 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

เซียวเล้ง
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ตอนนี้ย้าย Blog หลักไปที่ zeawleng.wordpress.com แล้วนะครับ
[Add เซียวเล้ง's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com