|
|
|
|
|
| 1 | 2 |
3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 |
10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 |
17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 |
24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 |
|
|
|
|
|
|
|
|
โลกเปลี่ยนไป ในวันที่เขาเห็น "ฝนตกขึ้นฟ้า"
เริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ก็เกือบลืมไปแล้ว แต่ที่รู้วันนี้คือผมมีแว่นตาเป็นอวัยวะที่ 33 ติดตัวอยู่ตลอดเวลาอาจจะยกเว้นแค่ตอนนอนก็เท่านั้น ด้วยสายตาที่สั้นเกือบ 400 แม้อาจจะไม่ถึงขั้นหนักมาก แต่ก็พอที่จะทำให้โลกที่มีแว่นกับโลกไม่มีแว่นของผมแตกต่างกันพอควร และก็เกิดความลำบากไม่น้อย หากวันไหนต้องดำเนินชีวิตโดยที่ไม่มีแว่น เพราะอะไรๆ ก็ดูไม่ชัดไปเสียหมด แต่กับผู้ชายที่ชื่อ “ตุล” อาจแตกต่างออกไป เขามีปัญหาเรื่องสายตาเช่นเดียวกัน แต่ไม่ใช่สายตาสั้น สายตายาว ตาบอด หรือต้อตาอะไรทั้งสิ้น ที่เขาเป็นคือเขาเห็น “ทุกอย่างกลับหัว” อาจจะประหลาดสักหน่อย แต่เขาก็เห็นอย่างนั้นจริงๆ อย่างไรก็ตามเขากลับพบว่าด้วยสายตาที่ผิดปกติคู่นี้ มั่นทำให้เขาได้มองอะไรๆ ในโลกนี้ได้ “ชัด” กว่าเดิม
“ตุล” คือตัวละครนำในนวนิยาย Book Noir เรื่อง “ฝนตกขึ้นฟ้า” ของวินทร์ เลียววาริณ ที่วางจำหน่ายเมื่อปี 2550 ซึ่งผมด้วยความที่ก็เป็นแฟนหนังสือของวินทร์ ก็ซื้อมาอ่านตั้งแต่ตอนออกใหม่ๆ จนกระทั่ง 4 ปีผ่านไป เมื่อได้ยินข่าวว่าเป็นเอก รัตนเรืองได้นำเรื่องนี้มาทำเป็นภาพยนตร์ ก็เลยถือโอกาสหยิบเล่มนี้จากชั้นหนังสือมาอ่านอีกครั้งหนึ่ง
“ฝนตกขึ้นฟ้า” เล่าถึง “ตุล” อดีตตำรวจซึ่งสิ้นหวังกับระบบยุติธรรมในสังคม และผันตัวมาเป็นมือปืนให้กับหน่วยงานลับแห่งหนึ่ง ที่มีปรัชญาการทำงานว่า “ขจัดคนชั่วให้สังคม” เมื่อกฎหมายไม่สามารถให้ความยุติธรรมกับเราได้ เราก็ต้องเป็นคนสร้างมันขึ้นมาเอง นี่คือสิ่งที่ตุลยึดถือมาตลอดการทำงานในอาชีพมือปืนนี้ เขาฆ่าคนไปแล้วหลายคน นักการเมืองเลว เจ้าของซ่อง เจ้าพ่ออาชญากรรม ฯลฯ เขาไม่เคยตั้งคำถามกับสิ่งที่เขาทำ ในเมื่อคนที่เขาฆ่าเป็นคนเลว...ก็สมควรแล้วไม่ใช่เหรอ จนกระทั่งวันหนึ่งความคิดของเขาก็เริ่มสั่นคลอน
งานชิ้นล่าสุดคือการสังหารนายเจริญ จิตต์ธัญญา นักธุรกิจการเมืองที่มีเบื้องหลังไม่สะอาดนัก เขาทำสำเร็จ แต่เขาเองก็โดนยิงเข้าที่ศีรษะอย่างจัง โชคดีที่ดวงเขาอาจยังไม่ถึงฆาต แต่นั่นก็ต้องแลกมาด้วยกับการฟื้นขึ้นมาพร้อมสายตาที่เห็นทุกอย่างกลับหัวไปหมด อย่างไรก็ตามเขาไม่ได้บอกเรื่องนี้กลับใครไม่ว่าจะเจ้านายหรือลูกน้องคนสนิท แต่แล้วสายตาที่ผิดปกติก็เริ่มเป็นปัญหาต่องานของเขา ยิ่งกว่านั้นดูเหมือนลูกน้องของเหล่าเหยื่อสังหารของเขา ก็ดูจะไม่ยอมปล่อยให้เขาลอยนวลไปง่ายๆ เสียด้วย ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ ได้ทำให้มุมมองด้านชีวิตและสังคมของตุลค่อยๆ เปลี่ยนไป
“ในขณะที่คนอื่นๆ มองเห็นเม็ดฝนร่วงหล่นเปาะแปะตกลงบนพื้น เขาอาจเป็นเพียงคนเดียวในโลกที่เห็นฝนตกขึ้นฟ้า”
เวลาที่คนเรามองเห็นอะไรไม่ชัด เราก็ต้องใช้เวลานานกว่าปกติในการพยายามดูว่าสิ่งนั้นคืออะไรกันแน่ ตุลก็เหมือนกันหลังสายตาเปลี่ยนไป การมองแต่ละสิ่งของเขากินเวลานานขึ้น แต่นั่นก็มาพร้อมกับการใช้ความคิดเกี่ยวกับสิ่งนั้นนานขึ้นด้วย “ภาพหัวกลับ” จึงทำให้ตุลได้ “ภาพความจริง” ของสิ่งต่างๆ ที่เราต่างมองข้ามไป
มีหลายสิ่งหลายอย่างในสังคมที่เราปล่อยผ่านไปและไม่เคยสนใจจะไปตั้งคำถามกับมันเลย ทำไมเราต้องเรียนหนังสือ ทำไมต้องทำงานในกรุงเทพฯ แทนที่จะกลับไปทำงานที่บ้านต่างจังหวัด ทำไมต้องใช้ไอโฟน ทำไมต้องกินคริสปี้ครีม ทำไมต้องมีศาสนา ทำไมต้องกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำไมต้องไปเลือกตั้ง ทำไมต้องให้ใช้บัตรเหลือง ทำไมต้องเป็นฉัน ทำไมต้องถาม ทำไม และทำไม??? แม้ดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ยิ่งเราปล่อยผ่านไปเท่าไหร่ ก็เท่ากับเรายิ่งลดความเป็นตัวเองลง และปล่อยให้เป็นไปตามกระแสสังคมพาไปเท่านั้น
โลกที่ชัดเจนซึ่งเต็มไปด้วยความเร่งรีบอาจไม่เปิดโอกาสได้ตุลคิดเรื่องเหล่านี้นัก แต่โลกกลับหัวไม่ใช่ ตุลได้มีเวลามาคิดเรื่องที่เขากระทำลงไปอีกครั้ง ความยุติธรรมคืออะไร ที่เขาทำลงไปถูกต้องจริงหรือ คนเหล่านั้นสมควรถูกฆ่าจริงหรือ หรือที่สุดแล้วมันเป็นการคิดเอาเองของเขาแต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น คนเลวในมุมมองของเขา อาจเป็นคนดีที่สุดของใครบางคนก็ได้ หรือมันอาจไม่มีสิ่งที่เรียกว่าเกิดมาดีหรือเลวโดยสันดานก็เป็นได้ ทุกอย่างล้วนแต่ขึ้นกับมุมมองของเราเท่านั้น
ตุลอาจไม่ได้คำตอบของคำถามเหล่านี้ แต่อย่างน้อยการได้ตั้งคำถาม ก็ได้ทำให้เขาเห็น ได้เข้าใจ และได้เป็นตัวเองมากขึ้น ไม่ได้เป็นเพียงคนๆ หนึ่งที่พร้อมจะไหลไปกับสังคม
“บางทีเราก็ควรหัดมองโลกกลับหัวดูบ้าง...”
วินทร์ให้คำจำกัดความนวนิยายเรื่องนี้ว่าเป็น Book Noir อันแผลงมาจาก Film Noir ซึ่งเป็นสไตล์หนังที่เน้นด้านมืดและลงลึกเข้าไปในจิตใจของมนุษย์ ซึ่งวินทร์ก็ทำออกมาได้ดี การตัดสลับ Flashback ในการเล่าเรื่อง ระหว่างช่วงหลังสายตามีปัญหา กับช่วงก่อนจะมาเป็นมือปืน ก็ทำให้เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอกมากขึ้น ไม่เพียงแต่ตุลที่ตั้งคำถามกับตัวเอง แต่นวนิยายเรื่องนี้ยังทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเองและสิ่งต่างๆ รอบตัวไปด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หากจุดเด่นของวินทร์คือการวางพล็อตที่น่าสนใจ แฝงคำพูดแง่คิด และความรู้เรื่องต่างๆ โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ “ฝนตกขึ้นฟ้า” ก็ยังคงเรื่องข้อด้อยเดิมๆ ของวินทร์อยู่ คือการใช้ภาษาที่แม้คมคายแต่ไม่ลึกซึ้ง หลายครั้งฟังดูเหมือนโดนเทศนาอยู่ ขณะที่ภาพประกอบที่วินทร์ตั้งใจนำมาใส่ เพื่อให้ใกล้เคียง Film Noir ก็ถือเป็นเทคนิคที่น่าสนใจ แต่หลายภาพก็ดูออกได้ชัดว่าเป็น Photoshop ที่ดูไม่เนียนเสียเท่าไหร่ ทำให้เสียอรรถรสไม่น้อย ซึ่งปัญหานี้ก็เกิดกับพวกชุดเรื่องสั้นประกอบภาพของวินทร์ เช่น หนึ่งวันเดียวกัน วันแรกของวันที่เหลือ ฯลฯ มาแล้ว
แต่กระนั้น ผมก็ยังยืนยันว่า “ฝนตกขึ้นฟ้า” เป็นนวนิยายที่ควรอ่าน และก็เป็นเล่มที่ผมชอบเป็นอันดับต้นๆ ของวินทร์ทั้งหมด (ชอบมากที่สุดคือสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน) และผมก็จะรอติดตามภาพยนตร์เรื่อง ฝนตกขึ้นฟ้า ของเป็นเอก อันที่จริงเริ่มแรกวินทร์ตั้งใจเขียนเรื่องนี้ให้เป็นบทหนังในโครงการของพันทิพย์ ลิมสุโรจน์ แต่ก็ไม่ได้มีโอกาสเป็นหนังจริงๆ จนกระทั่งเป็นเอกหยิบมาทำ ซึ่งก็หวังว่าจะออกมาดี ไม่เหมือนปืนใหญ่จอมสลัดของนนทรี นิมิตบุคร ที่บอกตามตรงว่า “เสียของ”
ผู้กำกับและทีมนักแสดงภาพยนตร์เรื่องฝนตกขึ้นฟ้า
Create Date : 23 เมษายน 2554 |
|
0 comments |
Last Update : 23 เมษายน 2554 0:54:33 น. |
Counter : 1555 Pageviews. |
|
|
|
|
| |
|
เซียวเล้ง |
|
|
|
|