Group Blog
 
<<
เมษายน 2550
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
13 เมษายน 2550
 
All Blogs
 

สรุปการบรรยายเรื่อง การก่อการร้ายในอิสราเอล กรณีศึกษาวิกฤตการณ์เลบานอน

พล.ต.ยูเซฟ เบน ฮานัน ผอ. The Foreign Defense Assistance and Defense Export Organization of the Israeli (อดีต ผอ.วปอ.อิสราเอล) มีภารกิจในการสร้างเครือข่ายพันธมิตรเพื่อสนับสนุนการป้องกันประเทศอิสราเอล รวมทั้งการหาแหล่งยุทโธปกรณ์เพื่อเสริมสร้างกองทัพ พล.ต.ฮานันฯ เคยดำรงตำแหน่ง ผอ.วปอ.อิสราเอล ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๓๓-๒๕๓๗ และเป็นที่ปรึกษา กห.ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๓๙-๒๕๔๐ สำเร็จการศึกษาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ในวันที่ ๒๑ มี.ค.๕๐ ได้เดินทางมาทำการบรรยาย เรื่อง การก่อการร้ายสากล-ภัยคุกคามของโลกประชาธิปไตย: กรณีศึกษาวิกฤตการณ์เลบานอน ณ
ห้องประชุมกระทรวงการต่างประเทศ ถ.ศรีอยุธยา ภายใต้การสนับสนุนของ ฯพณฯ ยาเอล รูบินสไตน์ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ในฐานะที่เป็นผู้หนึ่งซึ่งได้รับเชิญให้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในครั้งนี้ และเห็นว่าข้อมูลหลายประการที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย อย่างน้อยก็เพื่อกระจายองค์ความรู้ให้แก่สังคมได้รับทราบ จึงได้สรุปโดยย่อและนำเสนอในเวบบล็อก ดังต่อไปนี้ครับ

หัวข้อการบรรยาย
๑. ความเป็นมาของการก่อการร้าย
๒. รูปแบบของภัยคุกคามอันเนื่องมาจากการก่อการร้าย
๓. การเสริมสร้างขีดความสามารถในการตอบโต้การโจมตีของกลุ่มก่อการร้าย

ความเป็นมาของการก่อการร้าย
การก่อการร้ายในตะวันออกกลางในยุคปัจจุบันเกิดขึ้นบ่อยครั้งในกรุงเทลอาวีฟ ส่วนใหญ่เป็นการระเบิดพลีชีพของกลุ่มผู้คลั่งศาสนา โดยมุ่งที่จะทำร้ายประชาชนทั่วไปให้ประสบความยากลำบากในการดำเนินชีวิตในรูปแบบปกติ อันเป็นการทำลายขวัญและส่งผลกระทบถึงความมั่นคงแห่งชาติโดยตรง ซึ่งปฏิบัติการดังกล่าวนี้ได้แพร่กระจายไปในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกในปัจจุบัน และประเทศไทยก็เป็นตัวแบบที่น่าศึกษา โดยเฉพาะ กทม. ซึ่งเป็นสถานที่ที่ง่ายในการก่อการร้าย เพราะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศหลายล้านคนในแต่ละปี ทั้งนี้ ความเป็นจริงก็คือ ในโลกนี้ไม่มีประเทศใดที่สามารถแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยสมบูรณ์ อิสราเอลพยายามสร้างฉนวนกั้นในพื้นที่ชายแดนซีเรีย มีลักษณะเป็นถนนเลียบแนวชายแดนร่วมกับรั้วตาข่าย พร้อมระบบตรวจจับทางอิเล็กทรอนิกส์ และการตรวจการณ์ด้วยสายตาโดยใช้บอลลูน ทำให้ลดการสูญเสียจากการโจมตีของผู้ก่อการร้ายลงได้บางส่วน

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มิได้เกิดจากคนที่เป็นและไม่เป็นมุสลิมเท่านั้น เพราะในสงครามโลกครั้งที่ ๒ เยอรมันและฝรั่งเศสต่างเป็นคริสเตียน ก็ฆ่าฟันกันล้มตายไปมากมาย ซึ่งประเทศต่างๆ จะต้องร่วมมือกันต่อต้านภัยจากการก่อการร้ายอันเป็นภัยคุกคามต่อมวลมนุษยชาติ ทุกประเทศจะต้องตระหนักและเตรียมรับมือกับภัยคุกคามนี้ เช่น ร่วมมือกันควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุน การสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ เทคโนโลยี ฯลฯ ซึ่งจะต้องมีผู้สนับสนุนที่อยู่ในประเทศต่างๆ นั่นเอง ด้วยคนที่มีความรู้สูงที่อาจจะสำเร็จการศึกษาจากอเมริกา อังกฤษ หรือในประเทศที่มีการก่อการร้ายนั้นๆ แนวหน้าในการป้องกันคือ สื่อมวลชน ที่จะนำเสนอสถานการณ์แก่สังคมด้วยความถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ

รูปแบบของภัยคุกคามอันเนื่องมาจากการก่อการร้าย
สำหรับกรณีของอิสราเอลเหตุการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลางในปัจจุบันนี้ เริ่มต้นเมื่อ ๒๕ มิ.ย.๔๙ โดยนักรบชาวปาเลสไตน์ภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลของกลุ่มฮามาส ทำการโจมตีที่ตั้งทางทหารของอิสราเอลที่พรมแดน อิสราเอล-กาซา สังหารทหาร ๒ คน และจับเป็นเชลย ๑ คน และในวันต่อมานักรบปาเลสไตน์ ๓ กลุ่ม ซึ่งประกอบกลุ่ม The Popular Resistance Committee-PRC กลุ่มนักรบติดอาวุธของฮามาสในปาเลสไตน์ และกองกำลังอิสลาม ร่วมกันจับตัวสิบโทกิลัด ชาลิต วัย ๑๙ ปี เพื่อต่อรองให้อิสราเอลปล่อยตัวนักโทษหญิงและเด็กซึ่งถูกกุมตัวในฐานะที่กระทำการต่อต้านรัฐยิว อิสราเอลจึงใช้กำลังทหารเข้าปฏิบัติการตั้งแต่ ๒๘ มิ.ย.๔๙ เป็นต้นมา โดยใช้กำลังพลประมาณ ๕,๐๐๐ คนพร้อมอาวุธหนัก รุกเข้าไปในเขตฉนวนกาซาเพื่อกดดันปาเลสไตน์ให้ปล่อยตัวทหารอิสราเอล และตั้งแต่ ๑๒ ก.ค.๔๙ ฝ่ายติดอาวุธของกลุ่ม
เฮซบอลลาห์ เริ่มปฏิบัติการ ”สัจจสัญญา” (Operation Truthful Promise) ทำการโจมตีข้ามพรมแดนเลบานอน มีนายทหารอิสราเอล ๘ นายเสียชีวิต และถูกจับเป็นเชลย ๒ นาย จากนั้นจึงตามมาด้วยการแก้แค้นของฝ่ายอิสราเอล ในชื่อ “ปฏิบัติการล้างแค้น” (Operation Just Reward) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ปฏิบัติการเบนเป้า (Operation Change of Direction) และก่อให้เกิดความรุนแรงของความขัดแย้งในตะวันออกกลางครั้งใหม่ ซึ่งสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้

การเสริมสร้างขีดความสามารถในการตอบโต้การโจมตีของกลุ่มก่อการร้าย
ในการตอบโต้การโจมตีจากกลุ่มก่อการร้าย จะต้องให้ความสำคัญต่อการข่าว และเทคโนโลยีในการพิสูจน์ทราบ (ทางยุทธวิธี) เช่น การใช้บอลลูนตรวจการณ์ การพัฒนาเรด้าสำหรับภารกิจต่างๆ การใช้อากาศยานไร้นักบิน (UAV) การชี้เป้าด้วยเรเซอร์ เครื่องรบกวนการสื่อสารทางวิทยุ การวางระบบเครือข่ายการสั่งการ แม้แต่อุปกรณ์ตรวจการณ์ในที่มืด ซึ่งกองทัพอิสราเอลได้จัดให้มีในอัตรายุทโธปกรณ์ประจำกายของทหารทุกนายไว้อย่างพร้อมสรรพ

ในการจัดกำลังเคลื่อนที่เร็ว และการเพิ่มประสิทธิภาพในการยิงทำลายเป้าหมาย กองทัพอิสราเอล สามารถปฏิบัติการได้ภายในเวลาจำกัดนับเป็นนาที โดยมีการจัดตั้งกองกำลังเคลื่อนที่เร็ว พร้อมอาวุธจู่โจมที่เหมาะสม เช่น เฮลิคอปเตอร์ ที่สามารถเข้าทำลายที่มั่นของฮิสบอเราะห์ซึ่ง ชี้เป้าโดย UAV และกองทหารสามารถเคลื่อนที่ไปในจุดปะทะได้ภายในเวลาอันสั้น รวมทั้งมีการพัฒนายุทโธปกรณ์ของตนเองขึ้น อันเป็นการออกแบบอาวุธที่เหมาะสมต่อการสู้รบกับกลุ่มก่อการร้ายในเมือง เช่น ปืนอัตโนมัติประจำกายที่สามารถหักงอลำกล้องได้ (MTAR) กล้องตรวจการณ์ในความมืด โดยใช้หลักนิยมในการพัฒนาอาวุธบนพื้นฐานของภารกิจและสภาพแวดล้อมของอิสราเอลโดยตรง และกองทัพอิสราเอลมีความเห็นว่ายุทโธปกรณ์จากสหรัฐอเมริกาไม่เหมาะสมต่อพฤติกรรมของทหารและสภาวะแวดล้อมโดยทั่วไปในอิสราเอล ยกตัวอย่างเช่น Spike Missile ที่อิสราเอลพัฒนาขึ้นเอง และสามารถสั่งทำลายตนเองได้หากพบว่าเป้าหมายที่กำหนดนั้นมีความผิดพลาดหรืออาจจะมีผลกระทบต่อพลเรือน ฯลฯ เป็นต้น

(อาวุธประจำกาย Mtar ซึ่งอิสราเอลพัฒนาขึ้นใช้สำหรับการรบในเมืองโดยเฉพาะ สามารถโค้งลำกล้องปืนไปในทิศทางของข้าศึก และทำการยิงได้ในขณะผู้ยิงไม่จำเป็นต้องโผล่ออกจากที่กำลังเพื่อทำการเล็ง Mtar ผลิตขึ้นเพื่อทดแทนอาวุธปืนอูซี่และกาลิลี่ มีความคล่องตัวสูง ยาวประมาณ ๗๒๐ ม.ม.หนัก ๒.๘ ก.ก. ผลิตโดยบริษัท Israel Military Industries)

สรุป
การก่อการร้ายเป็นภัยคุกคามทุกประเทศในโลก ในระดับยุทธศาสตร์ ประชาคมโลกจำเป็นจะต้องร่วมมือกันสร้างเครือข่ายเพื่อป้องกันและต่อต้านการขยายตัวของการก่อการร้าย ส่วนในทางการปฏิบัติด้านยุทธวิธีนั้น แนวความคิดในการป้องกันและปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายจะต้องได้รับการพัฒนาในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของประชาชนโดยทั่วไปในประเทศนั้นๆ และออกแบบพัฒนายุทโธปกรณ์ที่เหมาะสม การนำระบบอาวุธสำเร็จรูปจากประเทศมหาอำนาจผู้ส่งออกสินค้ายุทธภัณฑ์มาใช้โดยไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมและหลักนิยมที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ นอกจากจะเป็นการสูญเปล่าทางด้านงบประมาณแล้ว ยังไม่สามารถสร้างประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายได้อย่างแท้จริง




 

Create Date : 13 เมษายน 2550
0 comments
Last Update : 13 เมษายน 2550 10:57:18 น.
Counter : 2309 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


anuchartbunnag
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add anuchartbunnag's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.