Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2549
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
30 กรกฏาคม 2549
 
All Blogs
 
ภาคใต้:คนรับผิดชอบยังไม่ลงตัว

การก่อความรุนแรงในจังหวัดภาคใต้ของประเทศไทยเกิดขึ้นสืบเนื่องกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน แต่นับตั้งแต่ช่วงระยะเวลาปลายปี ๒๕๔๔ ต่อเนื่องจนถึงรอบปีที่ผ่านมา (๒๕๔๗) มีการลอบวางระเบิด ลอบสังหาร และวางเพลิงสถานที่ของทางราชการเป็นจำนวนมาก จากรายงานข่าวกรองของสหรัฐอเมริกาพบว่าขบวนการมุสลิมหัวรุนแรงได้ทำการประชุมกัน ณ จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทยในเดือนมกราคม ๒๕๔๕ เพื่อเตรียมการโจมตีบาร์ สถานบันเทิงยามราตรี รวมทั้งสถานที่พักแรมของนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ไทยเอจ, Online ๒๕๔๖) ซึ่งหลังจากระยะเวลานั้นเป็นต้นมา การก่อความไม่สงบในประเทศไทยยังคงเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง และในปี พ.ศ.๒๕๔๖–๔๗ ความรุนแรงของเหตุการณ์ก็ทวีมากขึ้น จนถึงขั้นการปล้นอาวุธปืนจากค่ายทหาร อันเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าปัญหาต่าง ๆ นอกจากจะมิได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องแล้ว ยังมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

จากมติของคณะรัฐมนตรีที่ให้ยุบหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้ายภาคใต้ในระดับยุทธศาสตร์ คือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ หน่วยบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ ๔๓ (พตท.๔๓) โดยให้หน่วยงานระดับจังหวัดทำการประสานงานกันเพื่อทดแทนองค์การทั้ง ๒ นั้น รัฐบาลจึงได้ปรับกลยุทธ์เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว โดยกำหนดให้หน่วยงานหลักที่จะทำการแก้ไขปัญหา ประกอบด้วย กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการต่างประเทศ ตามนโยบายของพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน เป็นผลให้จำต้องมีการประสานงานทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับรัฐบาล และการประสานกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาเลเซีย ทั้งในเรื่องบุคคลสองสัญชาติ การค้าอาวุธเถื่อน การค้ายาเสพติด และการสนับสนุนกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนจากต่างชาติ นอกจากนั้นจะต้องปรับความเข้าใจกับกลุ่มมุสลิมบางกลุ่มซึ่งกล่าวหาว่าประเทศไทยทำการบีบคั้นชาวมุสลิมทางภาคใต้ (อิสลามออนไลน์, Online ๒๕๔๖) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ยังเป็นที่เคลือบแคลงของบุคคลหลายฝ่ายว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากผลของการยุบ ศอบต. และ พตท.๔๓ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องบางคนมีความเห็นว่าอาจจะทำให้รัฐบาลขาด “เจ้าภาพ” ในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ในเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งต้องการการบูรณาการและประสานการทำงานจากหลาย ๆ หน่วยงานในพื้นที่ แต่บางส่วนก็เห็นว่า เป็นการทำให้บ้านเมืองเข้าภาวะปกติ โดยคืนความรับผิดชอบให้กับหน่วยงานปกติ ทั้งฝ่ายพลเรือนและตำรวจ โดยให้หน่วยทหารเป็นผู้สนับสนุนเมื่อได้รับการร้องขอ อย่างไรก็ตาม จากการที่รัฐบาลได้จัดตั้ง กอ.สสส.จชต.ขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์อย่างชัดเจนแล้วว่า มีความจำเป็นจะต้องมีองค์การเฉพาะที่รับผิดชอบในการแก้ปัญหานี้ในระดับยุทธศาสตร์ และแนวความคิดเกี่ยวกับผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการมีความเหมาะสมในภาวะปกติเท่านั้น ไม่สามารถนำมาใช้ได้ในกรณีวิกฤต

สถานการณ์ความรุนแรงในการปฏิบัติการของขบวนการโจรก่อการร้ายมาจากสาเหตุรากฐานปัญหาที่สะสมมาในอดีต ซึ่งดินแดนในเขตชายแดน ๕ จังหวัดภาคใต้ เคยเป็นเมือง
ประเทศราชมาก่อน ต่อมาถูกรวมเข้าสู่ศูนย์อำนาจส่วนกลาง ทำให้บรรดาผู้ครองนคร (City-State) เสียผลประโยชน์และต่อต้านการปกครองจากส่วนกลาง นอกจากนั้นการศึกษาข้อมูลยังพบว่าความขัดแย้งรุนแรงที่เกิดขึ้นบางยุคบางสมัย เกิดจากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการปราบปรามเพียงด้านเดียวโดยไม่คำนึงถึงขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมของประชาชนใน ๕ จังหวัดภาคใต้ นอกจากนั้นยังพบว่าข้าราชการที่ส่งไปประจำใน๕ จังหวัดภาคใต้ ไม่เข้าใจถึงขบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของประชาชนใน ๕ จังหวัดภาคใต้โดยเฉพาะชาวไทยมุสลิม ข้าราชการที่ส่งไปปฏิบัติหน้าที่ใน ๕ จังหวัดภาคใต้มักจะทำตัวเป็นเจ้าขุนมูลนายดูถูกเหยียดหยามชาวไทยมุสลิม เป็นเหตุให้ชาวไทยมุสลิมเคียดแค้นและชิงชังต่อข้าราชการที่ส่งไปจากส่วนกลาง

เมื่อพิจารณาในแง่มุมเชิงสังคมวิทยาเกี่ยวกับเรื่องของชนกลุ่มน้อยด้านเชื้อชาติ (Ethnic Group) และศาสนาแล้ว ความตึงเครียด (Tension) ระหว่างชาวไทยมุสลิมกับไทยพุทธ ซึ่งมีขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมต่างกันแล้ว เป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่ความขัดแย้ง(พล.ต.ต.ธานี ทวิชศรี. ๒๕๔๖:ก-ข) เมื่อทำการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบความเป็นมาและการดำเนินงานของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในประเทศเพื่อนบ้านอันประกอบด้วยประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและศรีลังกา พบว่า ปัจจัยเกื้อกูลและปัจจัยอุปสรรคที่มีผลต่อความสำเร็จของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในประเทศทั้ง ๒ นั้น เป็นปัจจัยที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

ลักษณะของการดำเนินงานก่อการร้ายที่ผ่านมาในอดีต

๑. เนื่องจากกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ป่าเขาถูกเจ้าหน้าที่ทางการกดดัน ปราบปรามอย่างต่อเนื่อง ทำให้ถูกจำกัดเสรีในการปฏิบัติ โจรก่อการร้ายต้องกระจายกำลังเป็นกลุ่มย่อย กลุ่มละ ๕–๗ คน จรยุทธหลบซ่อนในพื้นที่อิทธิพลที่แต่ละกลุ่มรับผิดชอบ ไม่มีค่ายพักถาวร การเคลื่อนไหวในพื้นที่ป่าเขาจะลดน้อยลง ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะพบปะแนวร่วมเพื่อรับเสบียงอาหาร และสืบข่าวติดตามความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่

๒. พฤติกรรมข่มขู่กรรโชกทรัพย์และเรียกเก็บค่าคุ้มครอง โดยอาศัยแนวร่วมเครือญาติผู้ให้การสนับสนุนที่อยู่ในพื้นที่เป็นผู้ดำเนินการ โดยแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับกลุ่มบุคคลดังกล่าว และจะใช้มาตรการรุนแรงต่อผู้ไม่ให้ความร่วมมือ ลอบทำร้ายผู้ที่ไม่จ่ายค่าคุ้มครองเพื่อสร้างอิทธิพลของตนและพวก ทั้งนี้เพื่อความอยู่รอดของกลุ่ม

๓. การปฏิบัติการทางทหารด้วยกำลังเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ ไม่มีขีดความสามารถจะกระทำได้ หากมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่จะไม่ยืดเยื้อ และเมื่อถูกปราบปรามกดดันอย่างหนัก โจรก่อการร้ายจะตอบโต้ด้วยการลอบยิงเจ้าหน้าที่ จับครู ข้าราชการ หรือก่อวินาศกรรมในเมือง ทั้งนี้เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของเจ้าหน้าที่

๔. เนื่องจากกองกำลังติดอาวุธของโจรก่อการร้ายถูกจำกัดเสรีในการปฏิบัติ โจรก่อการร้ายได้ปรับการปฏิบัติมาใช้แนวร่วมก่อเหตุร้ายในชุมชนมากขึ้น เพราะใช้คนน้อย ลงทุนน้อย ทำง่ายแต่ได้ผลในการสร้างผลงานและสร้างอิทธิพล

๕. สมาชิกระดับนำซึ่งหลบซ่อนในต่างประเทศ ยังคงดำรงการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงว่ายังมีอุดมการณ์ในการแบ่งแยกดินแดน เพื่อขอรับการสนับสนุนด้านการเงินจากต่างประเทศ

๖. โจรก่อการร้ายมีแนวโน้มใช้เงื่อนไขทางเชื้อชาติ ศาสนา เป็นข้ออ้างในการปลุกระดมในการแบ่งแยกดินแดน โดยการเผยแพร่แนวความคิดผ่านทางโรงเรียนสอนศาสนา องค์การและหน่วยงานต่าง ๆ ของมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ลักษณะของการดำเนินงานก่อการร้ายในปัจจุบัน

๑. ในปัจจุบันการปฏิบัติการของกลุ่มโจรก่อการร้านมีการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากจะทวีความรุนแรงในการทำลายเป้าหมายทั้งชีวิตและทรัพย์สินของทางราชการแล้ว ยังมีการใช้การปฏิบัติการจิตวิทยาเพิ่มมากขึ้นเพื่อสร้างแนวร่วมให้ชาวมุสลิมทั้งในและนอกประเทศ ต่อต้านขัดขวางการดำเนินงานของรัฐบาล

๒. มีการเชื่อมโยงเครือข่ายกับกลุ่มก่อการร้ายสากล และประสานการปฏิบัติร่วมกัน จากการติดตามความเคลื่อนไหวด้านการก่อการร้ายเท่าที่ตรวจพบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในขณะนี้ ทำให้พิจารณาได้ว่าขบวนการก่อการร้ายต่างๆ ซึ่งรวมถึงขบวนการแบ่งแยกดินแดน ขบวนการมุสลิมหัวรุนแรงของแต่ละประเทศ ได้มีการเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายสากล โดยเฉพาะมีความเป็นไปได้ว่าเกี่ยวข้องกับอัลกออิดะห์ โดยพื้นฐานขั้นต้นอาจเป็นเพียงความสัมพันธ์ในด้านการศึกษาทางศาสนา และการฝึกทางทหาร หรือการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนไหวตามวัตถุประสงค์แต่ละกลุ่ม อย่างไรก็ตามจากการขยายผลการปราบปรามและจับกุมของรัฐบาลสิงคโปร์ตลอดจนการเปิดเผยข้อมูลบางส่วนของทางการสหรัฐฯ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ มีความเป็นไปได้สูงว่าขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง ในภูมิภาคนี้ ได้มีการติดต่อเชื่อมโยงเครือข่ายได้ในระดับหนึ่ง โดยจะเห็นได้จากความสัมพันธ์ของกลุ่ม JI ในสิงคโปร์ กับกลุ่ม KMM ในมาเลเซีย และกลุ่มอาบู เซยาฟ ในฟิลิปปินส์ และอาจรวมทั้งกลุ่ม MMI ของนายอาบูบาการ์ ในอินโดนีเซียด้วย ทั้งนี้อุดมการณ์ความร่วมมือของเครือข่าย จะมุ่งเน้นการสร้างรัฐอิสลามบริสุทธิ์ขึ้นในภูมิภาค ซึ่งมีเป้าหมายรวมถึงไทยและพม่าด้วย ในขณะที่การสร้างกระแสต่อต้านชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และอิสราเอล ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่กลุ่มหัวรุนแรงในภูมิภาคจะให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายสากล เพื่อผลต่อการสร้างรัฐอิสลามในระยะต่อไปด้วย (ขว.ทหาร. ๒๕๔๖:๒-๓)

๓. การก่อความรุนแรงต่อเป้าหมายที่เปราะบาง เช่น กรรคุกคามชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั่วไป โรงเรียน สถานที่ราชการ และข้าราชการซึ่งมีขีดความสามารถในการป้องกันตัวในระดับต่ำ เช่น ครู หรือ แม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ/ทหาร ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่เสียเปรียบในด้านกำลังพลหรือยุทโธปกรณ์ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๗ จนถึงปัจจุบัน (๑๕ มิ.ย.๔๙) มีผู้เสียชีวิตจากการลอบทำร้ายของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบฯ เป็นจำนวนประมาณ ๑,๓๐๐ คน (//news.bbc.co.uk/2/hi/asia-pacific/5082094.stm)

การพิจารณาแบบจำลองพลวัตรของความจัดแย้งเพื่อทำความเข้าใจในปัญหาภาคใต้

ในการทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทั้งทางด้านความคิดและการใช้ความรุนแรงในสังคม มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ศึกษาจะต้องนำตัวแบบหรือกรอบแนวความคิดมาสร้างหลักในการวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ มิฉะนั้นก็จะใช้เพียงสามัญสำนึกวิเคราะห์จากประสบการณ์เดิมของแต่ละคน .ซึ่งนอกจากจะเป็นข้อผิดพลาดอย่างยิ่งแล้ว ยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง ดังเช่นที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ข้าพเจ้าจึงได้ทำการสืบค้นแบบจำลองที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาเป็นหลักในการพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้น และเห็นว่าแบบจำลองความขัดแย้งของ บลุมฟิลด์-ไลส์ มีความเหมาะสมที่จะจำมาใช้เพื่อการนี้

แบบจำลองพลวัตรของความขัดแย้ง ของ บลุมฟิลด์-ไลส์ (Bloomfield-Leiss Dynamic Phase Model of Conflict) นับเป็นแบบจำลองที่ได้รับการยอมรับมากในปัจจุบัน โดยได้พัฒนาขึ้นเป็นระบบการวิเคราะห์ความขัดแย้งโดยใช้คอมพิวเตอร์และสามารถพยากรณ์ผลลัพธ์ของความขัดแย้งในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้อย่างน่าสนใจ

จากแนวความคิดของ บลุมฟิลด์-ไลส์ ความขัดแย้งเริ่มพัฒนาการมาจากความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน (Dispute) ในระหว่างบุคคลสองกลุ่มขึ้นไปในระดับแรกซึ่งยังไม่มีการใช้กำลังรุนแรงและสังคมยังสามารถควบคุมได้ ระดับที่สูงขึ้นเป็นระดับของความขัดแย้ง (Conflict) โดยตรงซึ่งกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดหรือหลายกลุ่มนั้น เริ่มมีความเคลื่อนไหวในการจัดตั้งกองกำลังเพื่อทำการปะทะกันด้วยอาวุธเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการ และระดับสุดท้ายก็คือการสู้รบด้วยกำลังทหาร หรือการโจมตีด้วยวิธีการก่อการร้าย

ในแต่ละระดับจะมีตัวแปรที่เกี่ยวข้องในการเสริมหรือลดความขัดแย้งนั้นๆ ซึ่งประกอบด้วย (Massachusetts institute of technology, Online ๒๕๔๖)
๑. บุคลิกลักษณะของคู่กรณี
๒. ความสัมพันธ์ของคู่กรณีในรูปแบบต่าง ๆ
๓. มาตรการที่แต่ละฝ่ายนำมาใช้ปฏิบัติต่อกัน
๔. สถานการณ์แวดล้อม
๕. การรับรู้สถานการณ์นั้น ๆ ของคู่กรณี และ
๖. เงื่อนไขอื่น ๆ

ปัจจัยแต่ละชนิดเหล่านี้ส่งผลให้สถานการณ์เลวร้ายลงซึ่งก็คือการเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นหรืออาจจะทำให้ความรุนแรงลดลงได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะของปัจจัยว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด ซึ่งแบบจำลองนี้สร้างขึ้นโดยการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อรูปแบบของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์

การประเมินแบบจำลองความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ในกรณีของความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย มีลักษณะที่ดีก็คือ สถานการณ์ยังไม่พัฒนาไปมากนัก เนื่องจากการต่อสู้อย่างรุนแรงด้วยกองกำลังจัดตั้งที่มีขีดความสามารถในระดับกองทัพนั้นยังไม่ปรากฏ และคาดว่ากลุ่มโจรก่อการร้ายไม่สามารถพัฒนาขีดความสามารถไปสู่การปะทะโดยตรงกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลดังเช่นที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้เคยกระทำมาแล้วในอดีต แต่สถานการณ์ก็ยังไม่พัฒนาไปสู่ขั้น Settlement หรือ Dispute Settle เพราะยังมีความเคลื่อนไหวในการต่อสู้กับอำนาจรัฐอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นภารกิจที่รัฐบาลจะต้องดำเนินมาตรการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบในพื้นที่ต่อไป

การวิเคราะห์สถานการณ์ความรุนแรง
และการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ในปัจจุบัน (มิ.ย.๔๙)

ภายหลังการเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ครบ ๖๐ ปี ซึ่งเป็นวาระที่ชาวไทยทั้งประเทศมีความภาคภูมิใจและเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อการเทิดพระเกียรติ์โดยพร้อมเพรียงกัน กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เร่งสร้างเหตุการณ์รุนแรงอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการลอบวางระเบิดและการล่าสังหารกลุ่มเป้าหมายที่อ่อนแอ เช่น ประชาชน พระภิกษุ ครู ฯลฯ รวมถึงข้าราชการที่ขาดการคุ้มกันเพียงพอในขณะที่คนร้ายมีกำลังคนและอาวุธที่เหนือกว่า ก่อให้เกิดความหวาดกลัวอย่างรุนแรง ทั้งในพื้นที่ภาคใต้เอง และในภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความมั่นคงของประเทศ

สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้กลับมารุนแรงขึ้นอีกเมื่อกลุ่มคนร้ายลอบวางระเบิดในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะสำนักงานของหน่วยงานทางราชการและย่านชุมชนในเวลาใกล้เคียงกัน คือ ช่วงเช้าของวันที่ ๑๕ มิถุนายน รวมทั้งสิ้น ๕๔ จุด แบ่งเป็นจุดเกิดเหตุใน ๑๒ อำเภอของ จ.ปัตตานี ๑๒ อำเภอ จ.นราธิวาส และ จ.ยะลา ๖ อำเภอ ทั้งนี้ ในพื้นที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส และ อ.กะพ้อ จ.ยะลา คนร้ายใช้เครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม ๗๙ เป็นอาวุธ ขณะที่บางจุดใน อ.ระแงะ และ อ.รือเสาะ คนร้ายขี่รถจักรยานยนต์ตระเวนขว้างระเบิดใส่เป้าหมาย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้มีผู้เสียชีวิต ๒ ราย บาดเจ็บอีก ๒๕ ราย โดยคาดการณ์ว่าสาเหตุที่กลุ่มขบวนการเลือกก่อเหตุในวันดังกล่าว เนื่องจากเพราะตรงกับวันที่กลุ่มขบวนการได้ร่วมประชุมจัดตั้งสมัชชาประชาชนปัตตานีขึ้นที่รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๐ และประกาศให้ถือเป็นวันชาติรัฐปัตตานี ต่อมาสมัชชาประชาชนปัตตานีกลายมาเป็นขบวนการเบอร์ซาตู โดยเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มขบวนการพลูโล บีอาร์เอ็น และมูจาฮีดีนปัตตานี เพื่อร่วมมือกันปฏิบัติการตามแนวอุดมการณ์ที่วางไว้
(www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01p0104160649&day=2006/06/16)

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (๒๒ มิ.ย.๔๙) รัฐบาลได้มอบหมายให้ พล.อ.สนธิบุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก รับผิดชอบดำเนินการแก้ไขปัญหาภาคใต้แทน พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี โดยมีความหวังว่าจะทำให้เกิดเอกภาพในการบังคับบัญชาและเอกภาพในเรื่องทิศทางของการแก้ไขปัญหามากขึ้น เนื่องจากฝ่ายรัฐบาลตกเป็นรองและเป็นฝ่ายตั้งรับการใช้ความรุนแรงของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมาโดยตลอด

เมื่อพิจารณาถึงปัญหาความผิดพลาดในการแก้ไขความรุนแรงในภาคใต้ของรัฐบาล ปัญหาใหญ่ประการหนึ่งก็คือ ความจำเป็นที่จะต้องบูรณาการการปฏิบัติงานของส่วนราชการต่างๆ ซึ่งมีอยู่มากมายและต่างมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างสันติภาพในภาคใต้ ให้ประสานงานและร่วมทำงานกันสู่จุดมุ่งหมายที่กำหนด และในขณะเดียวกันแต่ละส่วนราชการนั้นก็จะต้องคำนึงถึงภารกิจหลักที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาโดยตรงจากต้นสังกัดด้วย ในการสั่งการให้มีประสิทธิภาพนั้น ในอดีตเมื่อครั้งยังมี ศอ.บต. และ พตท.๔๓ ทำหน้าที่รับผิดชอบปัญหาภาคใต้ นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหา โดยการเสนอแนะของสภาความมั่นคงแห่งชาติ แต่ในยุคของรัฐบาลปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีไม่ลงมาดำเนินการอย่างใกล้ชิด แต่ก็ยังมอบหมายหน้าที่ให้แก่รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ซึ่งเป็นที่ยอมรับในอำนาจที่มีอยู่ตามสายการบริหารราชการ และรองนายกฯ ที่ได้รับมอบอำนาจนั้น ก็สามารถสั่งการส่วนราชการทุกระดับได้อย่างถูกต้องชอบธรรม โดยอาศัยอำนาจของนายกรัฐมนตรี

ในปัจจุบัน กลับมีการเปลี่ยนแปลงบุคคลผู้รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาภาคใต้อีกครั้งหนึ่ง โดยปรับให้ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เพียงควบคุมนโยบายและให้อำนาจแก่ ผบ.ทบ. เข้ามารับผิดชอบอย่างใกล้ชิดแทน ซึ่งทำให้รองนายกฯ ต้องถอยห่างออกจากกระบวนการแก้ไขปัญหา ในขณะเดียวกันผู้ที่เข้ามารับผิดชอบแทนรองนายกฯ กลับมีตำแหน่งหน้าที่ทางราชการต่ำกว่าเป็นอย่างมาก ผลกระทบที่ชัดเจนก็คือความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของ “อำนาจ” ในการสั่งการลดลง ซึ่ง “อำนาจ” ในที่นี้ข้าพเจ้าได้พิจารณาเป็น ๔ ความหมายด้วยกัน กล่าวคือ

๑. Authority
อำนาจตามกฎหมายที่ได้รับอย่างถูกต้อง ซึ่งแม้ว่า ผบ.ทบ. จะได้รับมาจากนายกรัฐมนตรีโดยตรง แต่ในตำแหน่งฐานะยังด้อยเกินกว่าที่จะสั่งการกระทรวงใดๆ ได้ ซึ่งตรงกันข้ามกับ พล.ต.อ.ชิดชัย ฯ ซึ่งในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบอำนาจโดยตรงจากนายกรัฐมนตรี ย่อมที่จะมี Authority อย่างเต็มที่ในการสั่งการทุกส่วนราชการ และทุกระดับ

๒. Power
อำนาจเฉพาะตัว เมื่อพิจารณาถึงฐานะ ตำแหน่ง หน้าที่ ในทุกประเด็นรองนายกฯ ย่อมจะต้องมีมากกว่า ผบ.ทบ. อย่างแน่นอน เพราะการแก้ไขปัญหาภาคใต้ มิได้ใช้เฉพาะ ทบ. เพียงหน่วยงานเดียว ซึ่งแม้แต่ในส่วนกำลังรบของ กห. เอง ผบ.ทบ.ก็มิใช่ผู้ที่มีอำนาจสูงสุดแต่อย่างใด แต่อำนาจในการบังคับบัญชาส่วนกำลังรบเป็นของ ผบ.ทหารสูงสุด ซึ่งนายกรัฐมนตรีไม่เคยให้ความสำคัญกับผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้ เพราะการสั่งการเพื่อแก้ไขปัญหาภาคใต้ มักจะสั่งการตรงไปสู่ผู้ปฏิบัติซึ่งหมายถึงบุคคลที่เห็นชอบ โดยมิได้คำนึงถึงสายการบังคับบัญชา ดังเช่นกรณี
พล.อ.สิริชัย ฯ ในขณะที่ดำรงตำแหน่ง รอง ผบ.ทหารสูงสุด ก็เคยได้รับคำสั่งให้รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาภาคใต้ แต่ก็ถูกย้ายกลับภายในระยะเวลาไม่ถึง ๑ ปี

๓. Charisma
อำนาจบารมี เป็นผลเกี่ยวพันกับ ๒ ประเด็นแรกที่ได้กล่าวแล้ว ซึ่งสังคมยังกังขาว่าบารมีของ พล.อ.สนธิฯ จะมีมากพอที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ เนื่องจากในอดีต เมื่อพิจารณากรณีของ พล.อ.หาญ ลีนานนท์ อดีต มทภ.๔ มีความใกล้ชิดกับ พล.อ.เปรม ติณณสูลานนท์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดเมื่อ ๒๕ ปีที่ผ่านมา และจนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีบทบาททางการเมืองและการทหารอยู่ สถานะดังกล่าวทำให้ พล.อ.หาญฯ สามารถดำเนินนโยบาย
“ใต้ร่มเย็น” และได้รับการยอมรับจากส่วนราชการอื่น ๆ ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวนี้มิได้เกิดขึ้นเพราะ Authority แต่เป็นเพราะ Charisma เฉพาะตน ซึ่ง มทภ.๔ คนอื่นไม่สามารถจะสร้างบารมีขึ้นเทียบเคียงได้ ทั้งนี้ พล.อ.สนธิฯ ก็มิได้มีระดับของบารมีเทียบเท่าทั้ง พล.อ.เปรมฯ และ พล.อ.หาญฯ อย่างแน่นอน

๔. Attraction
พล.อ.สนธิฯ ผบ.ทบ. ยังไม่เคยสร้างผลงานที่ทำให้สังคมยอมรับอย่างเต็มที่ในฐานะผู้นำกองทัพ ชื่อเสียงของท่านเพิ่งปรากฏต่อสังคมไทย จากการที่ได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็น ผบ.ทบ.และประชาชนหลายคนก็มีความเชื่อว่า ท่านได้ตำแหน่งนี้เนื่องจากเป็น “แขก” หรือเป็นชาวมุสลิม ตามนโยบายของรัฐบาลที่จะสร้างความพอใจให้แก่กลุ่มมุสลิมในประเทศไทยเท่านั้น จนทำให้หลายกลุ่มเห็นว่า ขณะนี้มีการเอาใจหรือ “โอ๋” กลุ่มมุสลิมเป็นการใหญ่ จนเกิดความลำเอียงต่อชาวพุทธหรือชาวคริสต์ ที่ได้รับการปฏิบัติด้อยกว่าชาวมุสลิมใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ในพื้นที่นี้มีประชากรประมาณ ๑.๕ ล้านคน เป็นชาวมุสลิม ๑.๒ ล้านคน ส่วนที่เหลือนักถือศาสนาพุทธและคริสต์รวมกับประมาณ ๓ แสนคน) ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนมุสลิมจะมีโอกาสมาท่องเที่ยว กทม. โดยการจัดของหน่วยงานต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ แต่นักเรียนในโรงเรียนวัดหรือโรงเรียนคริสต์ กลับไม่ได้รับโอกาสเช่นนี้ (ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้นำทางศาสนาพุทธและคริสต์ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อ เม.ย.๔๙) ดังนั้น ความต้องตาต้องใจ หรือความเลื่อมใสศรัทธาในหมู่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เกิดขึ้นมากพอที่จะเกื้อกูลให้ พล.อ.สนธิฯ สามารถดำเนินนโยบายได้อย่างราบรื่น

จากความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องของ นโยบาย ตัวบุคคล การจัดโครงสร้างองค์การที่จัดตั้งขึ้น และ ฯลฯ แสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอน และความไร้ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยปราศจากการควบคุม และฝ่ายก่อความไม่สงบมีเสรีในการปฏิบัติการอย่างเต็มที่ การแก้ไขที่มีประสิทธิภาพก็คือ รัฐบาล และผู้ที่มีอำนาจสั่งการระดับสูง จะต้องเปิดใจ ยอมตรวจสอบและน้อมรับความผิดพลาดของตนเอง ด้วยความถ่อมตน และแสดงให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเชื่อว่าสามารถที่จะชี้แจงหรือให้ข้อแนะนำในทางตรงกันข้ามกับความคิดของผู้บริหารระดับสูงได้ โดยไม่ถูกกล่าวหาว่า “ขัดนโยบาย” และหาทางลงโทษกลั่นแกล้งด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งความหวาดกลัวในประเด็นนี้เป็นความคิดเห็นของข้าราชการที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งทหาร ตำรวจ และ ฝ่ายพลเรือนในปัจจุบัน ส่งผลให้รัฐบาลไม่ได้รับข้อมูลที่เป็นจริง นำไปสู่การกำหนดนโยบายที่ไร้ผลในการปฏิบัติ พร้อมกันนั้นก็จะต้องมอบหมายงานให้แก่หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรง ไม่เลือกใช้เฉพาะคนที่ตนเองไว้วางใจ หรือ ไม่ใช้คนเป็นหลักในการพิจารณามอบหมายอำนาจหน้าที่ แต่จะต้องใช้ระบบและโครงสร้างตามสายการบังคับบัญชาของงานราชการเป็นหลัก

ท่านผู้อ่านที่มีความสนใจจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เขียน ขอความกรุณาติดต่อทาง MSN Messenger ที่ anuchartbunnag@hotmail.com ทุกวัน ระหว่าง ๒๐.๐๐ – ๒๒.๐๐ น.ด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่ง

พ.อ.อนุชาติ บุนนาค

บรรณานุกรม

ธานี ทวิชศรี, พล.ต.ต. ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้. เอกสารวิจัยส่วนบุคคล วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร. ๒๕๔๖.
ขว.ทหาร. สรุปสถานการณ์การก่อการร้ายในเอเชียอาคเนย์. กรุงเทพ:อัดสำเนา. ๒๕๔๖.
สุนทร ซ้ายขวัญ, พล.ต.ท. ขบวนการโจรก่อการร้ายกับปัญหาอาชญากรรมใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้. เอกสารวิจัยส่วนบุคคล วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร. ๒๕๓๗.
Richard J.Ellings and Aaron L.Friedberg. The War on Terrorism in Southeast Asia. London. 2004.
//www.theage.com.au
//www.mit.edu
//www.matichon.co.
//www.theage.com.au
//www.islamonline.net
//www.bangkokbiznews.com
//www.bbc.co.uk
//www.pulo.org


Create Date : 30 กรกฎาคม 2549
Last Update : 30 กรกฎาคม 2549 20:55:16 น. 0 comments
Counter : 827 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

anuchartbunnag
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add anuchartbunnag's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.