Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2549
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
29 กรกฏาคม 2549
 
All Blogs
 
วิกฤตตะวันออกกลาง:"ไซออนนิสต์ปะทะอาหรับ ยกใหม่

สันตะปาปา เบเนดิกท์ที่ ๒ ประมุขของนครวาติกัน ผู้นำของคริสต์ศาสนา นิกายโรมันคาทอลิค ได้ตรัสเมื่อ ๒๓ ก.ค.๔๙ ว่า (www.asianews.it/view.php?l=en&art=6774)
“...I take this opportunity to state once again the right of the Lebanese to the integrity and sovereignty of their country, the right of the Israelis to live in peace in their state and the right of the Palestinians to have a free and sovereign nation." (ข้าพเจ้าขอใช้โอกาสนี้ย้ำอีกครั้งถึงสิทธิของชาวเลบานอนในเรื่องอธิปไตยและบูรณภาพของประเทศ สิทธิของชาวอิสราเอลในการอยู่อย่างสงบสุขในประเทศของตน และสิทธิของชาวปาเลสไตน์ที่จะเสรีภาพและมีชาติเป็นอธิปไตย)

สาเหตุที่ทรงตรัสคำพูดดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องมาจากกรณีความขัดแย้งในตะวันออกกลาง จากการที่อิสราเอลใช้กำลังทหารขนาดใหญ่เข้าทำลายชีวิตและทรัพย์สินของพลเมืองชาวเลบานอนและปาเลสไตน์ ซึ่งก่อให้เกิดความตึงเครียดขึ้นในรอบเดือนที่ผ่านมา และยังความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง ส่งผลกระทบต่อความสงบสุขของประชาคมโลกในปัจจุบัน

เหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้เริ่มต้นเมื่อ ๒๕ มิ.ย.๔๙ โดยนักรบชาวปาเลสไตน์ภายใต้รัฐบาลของกลุ่มฮามาส ทำการโจมตีฐานทัพอิสราเอลที่พรมแดนอิสราเอล-กาซา สังหารทหาร ๒ คน และจับเป็นเชลย ๑ คน และในวันต่อมานักรบปาเลสไตน์ ๓ กลุ่ม ซึ่งประกอบกลุ่ม The Popular Resistance Committee-PRC กลุ่มนักรบติดอาวุธของฮามาสในปาเลสไตน์ และกองกำลังอิสลาม ร่วมกันจับตัวสิบโทกิลัด ชาลิต วัย ๑๙ ปี เพื่อต่อรองให้อิสราเอลปล่อยตัวนักโทษหญิงและเด็กซึ่งถูกกุมตัวในฐานะที่กระทำการต่อต้านรัฐยิว อิสราเอลจึงใช้กำลังทหารเข้าปฏิบัติการตั้งแต่ ๒๘ มิ.ย.๔๙ เป็นต้นมา โดยใช้กำลังพลประมาณ ๕,๐๐๐ คนพร้อมอาวุธหนัก รุกเข้าไปในเขตฉนวนกาซาเพื่อกดดันปาเลสไตน์ให้ปล่อยตัวทหารอิสราเอล และตั้งแต่ ๑๒ ก.ค.๔๙ ฝ่ายติดอาวุธของกลุ่มเฮซบอลลาห์ เริ่มปฏิบัติการ ”สัจจสัญญา” (Operation Truthful Promise) ทำการโจมตีข้ามพรมแดนเลบานอน มีนายทหารอิสราเอล ๘ นายเสียชีวิต และถูกจับเป็นเชลย ๒ นาย จากนั้นจึงตามมาด้วยการแก้แค้นของฝ่ายอิสราเอล ในชื่อ “ปฏิบัติการล้างแค้น” (Operation Just Reward) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ปฏิบัติการเบนเป้า (Operation Change of Direction) (www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9490000091064)

จากการวิเคราะห์ของสำนักข่าว บี บี ซี ได้แสดงข้อคิดเห็นไว้ว่า การปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในครั้งนี้ ใหญ่โตกว้างขวางเกินกว่าที่จะหวังเพียงช่วยเหลือทหารของตนที่ถูกจับกุมไป แต่น่าจะหวังในการทำลายล้างกำลังรบของกลุ่มเฮซบอลลาห์ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือในด้านอาวุธและการฝึกทางทหารจากอิหร่านและซีเรีย
(//news.bbc.co.uk/2/hi/middle_east/5193228.stm)

ประวัติของความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-อาหรับ
(www.geocities.com/somewherez2001/append/conflict.html)

ความขัดแย้งระหว่างอาหรับ-อิสราเอล มิได้เป็นเพียงความขัดแย้ง ระหว่างประเทศต่อประเทศ อย่างเช่นความขัดแย้งระหว่าง อินเดียกับปากีสถาน หรือระหว่างกลุ่มประเทศ เช่น ระหว่างกลุ่มอักษะประเทศกับกลุ่มสัมพันธมิตร ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ เท่านั้น แต่มันเป็นความขัดแย้ง ระหว่างชนชาติสองชนชาติ และระหว่างอุดมการณ์สองอุดมการณ์ เป็นความขัดแย้ง ระหว่างกลุ่มผู้ถือศาสนาหนึ่ง กับกลุ่มผู้ถือศาสนาอีกศาสนาหนึ่ง ซึ่งทั้ง ๒ ศาสนานั้นเกิดขึ้นจากรากฐานเดียวกัน

ดินแดนปาเลสไตน์ ตั้งอยู่แถบชายฝั่งตะวันออก ของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งรวมอิสราเอลปัจจุบันนี้ กับจอร์แดนและอียิปต์ด้วย ชาวฮิบรู (หรือยิว) ซึ่งเดิมเป็นพวกเร่ร่อน อยู่ในทะเลทรายปาเลสไตน์แถบแหลมสินาย ต้องการจะพิชิตดินแดนปาเลสไตน์ จึงยกพวกข้ามดินแดนจอร์แดนมา ในดินแดนปาเลสไตน์ (คะนาอัน) ภายใต้ผู้นำซึ่งมีชื่อว่าโจชัว ได้ฆ่าและขับไล่ชาวพื้นเมืองออกไป และทำลายวัฒนธรรมคะนาอัน (ซึ่งเคยเป็นอู่อารยธรรมหนึ่งในสี่แห่งของโลกเก่า) เสีย ส่วนใหญ่ชาวฮิบรู เข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ใน หุบเขาอันสมบูรณ์ทางภาคเหนือ แล้วขยายดินแดนมารุกรานชาวฟิลิสตีนซึ่งอยู่ตามแนวฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน พระคัมภีร์ไบเบิลได้กล่าวถึงความเป็นปรปักษ์ระหว่างชาวฮิบรูกับชาวฟิลิสตีน (คือชาวยิวกับปาเลสไตน์) ไว้ใน Book of Judge บทที่ ๑๘
ต่อมากษัตริย์เดวิดได้ชัยชนะเหนือชาวฟิลิสตีน และรวบรวมดินแดนคะนาอันทั้งหมด ไว้ใต้อำนาจของพระองค์ และได้สร้างอาณาจักรฮิบรูขึ้นเป็นครั้งแรก ในที่ซึ่งเป็นประเทศจอร์แดนปัจจุบันนี้ และขยายดินแดนไปถึงแม่น้ำยูเฟรติส ประมาณ ๑๐๐๐ ปีก่อน ค.ศ. ในรัชสมัยของกษัตริย์โซโลมอนโอรสของเดวิดชาวยิวมีอำนาจสูงสุด แต่หลังจากนั้นอาณาจักรฮิบรูก็แตกแยก เพราะการทะเลาะเบาะแว้งภายใน ชนชาติอื่นจึงเข้ามาครอบครองดินแดนนั้นต่อไป ชาวฮิบรูสิ้นอำนาจในดินแดนปาเลสไตน์ในปี ๕๘๖ ก่อน ค.ศ. ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ชาวยิว ตั้งอาณาจักรอยู่ใน ดินแดนปาเลสไตน์เป็นระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น และพวกเขาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชนเผ่าอื่นๆ ซึ่งอยู่ในดินแดนนั้น ส่วนชาวปาเลสไตน์เป็นกลุ่มชนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในดินแดนนั้นมาเป็นเวลานับพันปีมาแล้ว ดังนั้น การที่จะอ้างว่าชาวยิวทุกคนต้องมีสิทธิ์ในดินแดนปาเลสไตน์จึงฟังไม่ขึ้น แต่กระนั้นก็ดีชาวยิวมีความเชื่อที่ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาว่าจะมอบดินแดนนี้ให้แก่พวกเขา อีกประการหนึ่ง การที่ชาวยิวต้องกระจัดกระจายไปอยู่ในประเทศต่างๆ โดยอาศัยอยู่ในชุมชนยิวที่อัดแอไม่สะดวก ถูกกดขี่ข่มเหงจากเจ้าของบ้านเมืองที่ไปอาศัยอยู่ ก็ยิ่งทำให้พวกเขากระตือรือร้นที่จะกลับมายังดินแดนนี้มากขึ้น จนกลายเป็นขบวนการทางการเมืองและอุดมการณ์ซึ่งมีชื่อว่า ไซออนนิสม์

ไซออนนิสม์ คือ ขบวนการการเมืองนานาชาติ ของชาวยิวกลุ่มหนึ่ง(มิใช่ทั้งหมด) มีวัตถุประสงค์จะผูกพันชาวยิวในโลกไว้ด้วยพันธะด้านเชื้อชาติ ให้กลายเป็นชนชาติที่ยิ่งใหญ่ โดยมีศูนย์กลางทางการเมืองและวัฒนธรรมอยู่ที่รัฐอิสราเอล พวกไซออนนิสม์ทำการต่อสู้เพื่อจัดตั้งมาตุภูมิของชนชาติยิวขึ้นในประเทศปาเลสไตน์ โดยความเชื่อที่ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงประทานดินแดนนั้นให้แก่พวกตน และพวกตนเคยเป็นเจ้าของดินแดนมาแต่ครั้งโบราณ โดยไม่ยอมรับความจริงที่ว่า การที่ชาวยิวมาครอบครองดินแดนปาเลสไตน์ในสมัยไบเบิลนั้น เป็นเพียงเหตุการณ์ตอนหนึ่งในประวัติศาสตร์อันยาวนานของประเทศนี้เท่านั้น และเชื้อสายของชาวยิวที่อยู่ในปาเลสไตน์ ก็เกือบจะหมดสิ้นไปแล้วตั้งแต่ศตวรรษที่หนึ่ง อีกทั้งยิวก็ไม่ใช่ผู้อาศัยคนแรกในปาเลสไตน์ หรือเป็นเจ้าของปาเลสไตน์ด้วย
ผู้ก่อตั้งลัทธิไซออนนิสม์ มีชื่อว่า นายเธียวดอร์ เฮอร์เซิล เป็นชาวยิวสัญชาติฮังกาเรียน อาชีพของเขา คือ นักหนังสือพิมพ์ มีความคิดว่าวิธีเดียวที่จะแก้ไขปัญหาความเป็นปรปักษ์กับชาวเซมิติค (ลัทธิแอนตี้-เซมิติสม์ คือ ลัทธิที่เกลียดชังชาวยิวและศาสนาจูดาย ซึ่งเริ่มขึ้นโดย นักหนังสือพิมพ์ชาวเยอรมันผู้มีนามว่า วิลเฮล์ม มารร์) ของชาวยุโรปได้ ก็คือ การจัดตั้งรัฐมาตุภูมิของชนชาติยิวขึ้น นายเฮอร์เซิลพยายามขยายความคิดที่ว่าปาเลสไตน์เป็นแผ่นดินที่ไม่มีผู้คน จึงเหมาะที่จะให้เป็นที่อยู่ของชนชาติที่ไม่มีดินแดนอยู่ (คือยิว) ทั้งๆ ที่ในขณะนั้นในปาเลสไตน์มีชาวอาหรับอาศัยอยู่แล้วประมาณ 700,000 คน และมีชาวยิวประมาณ 56,000 คน อันที่จริงนั้นได้มีผู้เสนอให้จัดตั้งรัฐยิวขึ้นที่อื่นมาแล้ว เช่น ดร.แองเจโล แรพโพพอร์ท และนายอับราฮัม กาแลนท์ เสนอให้จัดตั้งในประเทศซูดาน (ในทวีปแอฟริกา) เพราะในนั้นมีประชากรอยู่น้อย แต่องค์การไซออนนิสม์ไม่ให้ความสนใจ เพราะปักใจจะเอาปาเลสไตน์อยู่แล้ว ผู้นำขบวนการไซออนนิสม์หัวรุนแรงคนหนึ่ง คือ นายยาโบตินสกี้ ได้เรียกร้องให้ตั้งรัฐยิวขนาดใหญ่ ซึ่งจะรวมเอาฝั่งตะวันออกของจอร์แดนและดินแดนโพ้นทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจนถึงแม่น้ำยูเฟรติสมารวมไว้ด้วย นี่คือ ปรัชญาที่กำหนดทิศทางทางการเมืองของอิสราเอลมาจนถึงทุกวันนี้

นายเชม วีซมานน์ ผู้นำคนหนึ่งของลัทธิไซออนนิสม์ได้ขอร้องรัฐบาลประเทศต่างๆ รวมทั้งผู้คนจำนวนมากโดยเน้นถึงผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างประเทศเหล่านั้น กับองค์การไซออนนิสม์สากล และใช้ความสนิทสนมกับบุคคลสำคัญต่าง ๆ มาเป็นเครื่องมือของพวกไซออนนิสม์ ทำให้สามารถบีบคั้นทางการเมืองแก่รัฐบาลของประเทศตะวันตกโดยมุ่งไปที่อังกฤษ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งรัฐบาลอังกฤษซึ่งในขณะนั้นมีเซอร์ วินสตัน เชอร์ชิล เป็นนายกรัฐมนตรี ถูกผู้แทนของประธานาธิบดีวิลสันแห่งสหรัฐอเมริการบเร้าจนได้ประกาศคำประกาศบัลโฟร์ออกมาเมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๑๙๔๗ เป็นคำประกาศสนับสนุนการจัดตั้งรัฐยิวขึ้นในปาเลสไตน์ และกล่าวว่ารัฐบาลอังกฤษจะพยายามอย่างดีที่สุดที่จะให้การนี้บรรลุความสำเร็จ คำประกาศนี้มีในรูปของจดหมายซึ่งนายอาเธอร์ บัลโฟร์ รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษสมัยนั้นเขียนถึงลอร์ด นอร์ธสไชด์นายธนาคารชาวฝรั่งเศส ต่อมาฝรั่งเศส อิตาลีและสหรัฐอเมริกาก็รับรองคำประกาศนี้
อังกฤษได้ส่งชาวยิวจากประเทศอังกฤษไปยังปาเลสนไตน์เพื่อทำให้คำประกาศบัลโฟร์เป็นผลสำเร็จขึ้นมา นอกจากนั้นก็มีชาวยิวจากประเทศอื่น ๆ อพยพเข้ามาอีก เช่น จากรัสเซียเป็นจำนวนมาก อังกฤษได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการอพยพเข้าประเทศขึ้น ทำให้มีโควต้าชาวยิวที่จะอพยพเข้ามาได้ปีละ ๑๖,๕๐๐ คน และยังได้ออกกฎหมายแบ่งสันที่ดินและตั้งหลักแหล่งชาวยิวขึ้น นอกจากนั้น อังกฤษยังออกกฎหมายให้ชาวยิวใช้ทรัพยากรสินแร่และจัดทำโครงสร้างพื้นฐานขึ้นได้ ชาวยิวจึงมีอำนาจควบคุมการชลประทาน การไฟฟ้า และการใช้สินแร่ที่สำคัญของประเทศมากขึ้นซึ่งมาตรการเหล่านี้เป็นการเอาเปรียบประชากรส่วนใหญ่คือชาวอาหรับซึ่งเดิมมีจำนวนร้อยละ ๘๐ ของประชากรในประเทศ (๑๙๒๒) ประธานาธิบดีทรูแมนแห่งสหรัฐอเมริกาได้ส่งสาส์นถึงเซอร์
วินสตัน เชอร์ชิล คัดค้านการจำกัดโควต้ายิวอพยพ และได้ใช้อิทธิพลหว่านล้อมเชอร์ชิลให้ช่วยเหลือพวกไซออนนิสม์ ชาวยิวบางส่วนก็ได้ลักลอบเดินทางเข้าปาเลสไตน์โดยความช่วยเหลือของอเมริกา องค์กรที่เป็นตัวแทนของชาวยิวได้เรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษประกาศว่าปาเลสไตน์เป็นดินแดนของยิว และชาวปาเลสไตน์ควรจะเป็นชนกลุ่มน้อยที่อยู่ภายใต้การควบคุมของยิว
ไซออนนิสม์ในปาเลสไตน์ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากชาวยิวที่ร่ำรวยในประเทศอื่น ๆ และยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลประเทศตะวันตกที่มีอิทธิพลอีกด้วย ในเดือนเมษายน ๑๙๑๘ ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการไซออนนิสม์ในปาเลสไตน์ขึ้น อ้างตนว่าเป็นตัวแทนของชาวยิวทั่วโลก มีหน้าที่ให้คำแนะนำแก่รัฐบาลอังกฤษในปัญหาทุกอย่างเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐยิว คณะกรรมการนี้ได้รับความสนับสนุนจากองค์กรไซออนิสต์สากล ซึ่งเกิดขึ้นในเมืองบาเซิลเมื่อปี ค.ศ.๑๘๙๗ ในไม่ช้าองค์การตัวแทนชาวยิวนี้ก็ได้กลายเป็นรัฐบาลที่สอง คู่กับรัฐบาลอังกฤษในปาเลสไตน์ มีสำนักงานใหญ่อยู่ในยุโรปและอเมริกา เป็นผู้พิจารณาอนุมัติในเรื่องที่ชาวยิวจะเข้ามาอยู่ในประเทศ ได้จัดตั้งระบบการศึกษาและสุขาภิบาลขึ้นเพื่อชาวยิวโดยเฉพาะ ยิ่งกว่านั้นนายยาโบตินสกี้ ผู้นำฝ่ายขวาขององค์การไซออนนิสท์ ยังได้จัดตั้งกองทัพใต้ดินของยิวขึ้นมีชื่อว่าหน่วยฮากานาห์ ในขณะเดียวกันอังกฤษก็พยายามเกลี้ยกล่อมสหรัฐอเมริกาให้ช่วยรับผิดชอบทางทหารและทางการเงินในปาเลสไตน์ด้วย การคัดค้านของชาวอาหรับในการที่ยิวอพยพเข้ามาอย่างมากมาย และการที่ชาวอาหรับต่อสู้กับชาวยิว รวมทั้งองค์กรใต้ดินของยิวต่อสู้กับอังกฤษ เพราะอังกฤษไม่ยินยอมเพิ่มโควต้าชาวยิวอพยพตามที่อเมริกาขอร้อง ทำให้รัฐบาลอังกฤษประกาศถอนตัวไปจากปาเลสไตน์ในวันที่ 15 พฤษภาคม 1948 ทิ้งให้ปาเลสไตน์อยู่ในการดูแลของสหประชาชาติ

สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่ช่วยเหลือสนับสนุนอิสราเอลอยู่ตลอดมา นับตั้งแต่ขณะที่อังกฤษประกาศ “คำประกาศบัลโฟร์ ” เช่น ยอมรับรองคำประกาศนั้นและออกเงินสนับสนุนให้ชาวยิวอพยพเข้าประเทศปาเลสไตน์ (สมัยประธานาธิบดีทรูแมน) ทั้งนี้เพราะอเมริกาไม่อยากให้ชาวยิวเข้าไปอยู่ในสหรัฐอเมริกามากนัก เมื่อยิวตั้งรัฐอิสราเอลขึ้นแล้ว อิสราเอลได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐสองทางด้วยกันคือ ความช่วยเหลือจากรัฐบาลหรือองค์การที่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลโดยตรง กับความช่วยเหลือทางอ้อมคือความช่วยเหลือจากสถาบันและองค์การไซออนนิสม์อเมริกัน
และจากประชาชนอเมริกัน รวมทั้งความช่วยเหลือจากรัฐบาลอื่นๆ และสถาบันอื่น ๆ ภายใต้ความกดดันของรัฐบาลสหรัฐ

จากประวัติความเป็นมาโดยสังเขปดังกล่าวนี้ ทำให้เห็นได้ว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากประวัติศาสตร์อันยาวนาน ภายใต้การแทรกแซงของประเทศมหาอำนาจสืบต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้ เมื่อพิจารณาในเชิงลึก จะเห็นได้ว่าสหรัฐอเมริกาได้พยายามทุกวิถีทางที่จะคงอำนาจของตนไว้ในดินแดนตะวันออกกลาง เนื่องจากเป็นชัยภูมิสำคัญที่เป็นจุดกึ่งกลางระหว่างทวีปเอเชีย ยุโรป และอาฟริกา พร้อมกับยังเป็นแหล่งทรัพยากรที่สหรัฐกระหายเป็นอย่างยิ่งก็คือ น้ำมัน ดังจะเห็นได้จากการที่นางสาวไรซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอเมริกากำลังเดินทางอยู่ในตะวันออกกลางเพื่อหาข้อยุติความรุนแรงครั้งนี้ แต่ในขณะเดียวกันก็มีข่าวเผยแพร่ทั่วไปว่าอาวุธของอิสราเอลที่ใช้ทำลายล้างที่มั่นทางทหารและพลเรือนชาวเลบานอน รวมทั้งกองกำลังติดอาวุธของฮามาสนั้นได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากสหรัฐอเมริกา จึงเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า ตะวันออกกลางจะไม่มีโอกาสได้พบสันติสุขในช่วงระยะเวลาอันใกล้นี้อย่างแน่นอน

บรรณานุกรม

//www.asianews.it/view.php?l=en&art=6774
//www.geocities.com/somewherez2001/append/conflict.html
//www.mfa.go.th/web/479.php?id=359 //www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9490000091064
//www.manager.co.th/Around/AroundShowWord.asp?wordday_id=257
//news.bbc.co.uk/2/hi/in_depth/629/629/5177932.stm
//news.bbc.co.uk/2/hi/middle_east/5193228.stm





Create Date : 29 กรกฎาคม 2549
Last Update : 29 กรกฎาคม 2549 10:52:09 น. 10 comments
Counter : 1089 Pageviews.

 
ชาวยิวมีอยู่ทั่วทุกมุมโลก ส่วนใหญ่เชื่อว่า ชาวยิวฉลาดและกุมอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองที่สำคัญๆ เช่นยิวในอเมริกา และยุโรป

รวมถึงบุคคลในรัฐบาลของประเทศมหาอำนาจ ก็มีพวกเชื้อสายยิวปะปน

และพวกนี้มีส่วนสำคัญในการให้ความสนับสนุนและผลักดันอยู่ใช่ไม๊เจ้าคะ เข้เคยได้อ่านมาอย่างนั้น



ตอนเข้ดูหนังเกี่ยวกับสงครามล้างเผ่าพันธุ์ยิวในเยอรมัน ก็สงสารพวกเขามาก ..แต่ก็ไม่เข้าใจเลย ว่าคนที่น่าสงสารแบบนั้น ทำไม ในเวลานี้ ใจร้ายจัง

เข้เชื่อว่าแผ่นดินบนโลก มีพื้นที่กว้างมากเพียงพอสำหรับมนุษย์ทุกๆคน จะอยู่ร่วมกันโดยสันติสุข ..

เข้คิดว่าหลายๆคนคิดแบบนี้ แต่พอเอาจริงๆขึ้นมา.. บางเวลา เราก็ลืมกันหมด กลับไปถือ ของเค้า ของเรากันอย่างเดิม ว่าไม๊เจ้าคะคุณอา..


โดย: ตะเข้ (Jakaey ) วันที่: 29 กรกฎาคม 2549 เวลา:18:33:37 น.  

 
เห็นด้วยเจ้าค่ะ


โดย: พ.อ.อนุชาติ บุนนาค IP: 58.9.97.119 วันที่: 29 กรกฎาคม 2549 เวลา:20:59:22 น.  

 
ขออนุญาต เอา blog ของอีกคน มาให้อ่านก่อน https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=jess&group=6&month=07-2006&date=23&blog=1

ผมว่าถ้าจะศึกษาประวัติศาสตร์ อย่าศึกษาแค่ผิวเผิน อย่างไปดูเว็บข่าวที่นั่นที่นี่แล้วมาสรุปเลยครับ ถ้าศึกษาจริงๆ จะรู้ว่า ประวัติศาสตร์โบราณ ไม่มีส่วนกับความขัดแย้งในปัจจุบันเลย นอกจากจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่ออ้างความชอบธรรมให้กับตัวเองเท่านั้น


โดย: Rabbit IP: 124.120.7.128 วันที่: 31 กรกฎาคม 2549 เวลา:23:24:33 น.  

 
ขอบคุณที่ให้คำแนะนำครับ แต่ผมเชื่อว่าความขัดแย้งในประวัติศาสตร์เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังกันในปัจจุบัน การที่ญี่ปุ่นก่อกรรมทำเข็ญกับชาวจีนและเกาหลี รวมทั้งประเทศอื่นๆ ที่เข้าไปยึดครองครั้งสงครามมหาเอเชียบูรพา ยังส่งผลต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศและท่าทีของประเทศเหล่านั้นต่อญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าประวัติศาสตร์มีความเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับทัศนคติ ค่านิยม และความรู้สึกนึกคิดของคนในรุ่นปัจจุบันครับ

ส่วนที่ Rabbit กล่าวว่าประวัติศาสตร์ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ก็เป็นความจริงที่ผมเห็นด้วยเช่นกัน เราไม่สามารถจะตัดเรื่องใดเรื่องหนึ่งออกและทำการพิจารณาประเด็นความขัดแย้งแบบแยกส่วนได้ ดังนั้น บริบททั้งหมดที่เกี่ยวข้องจะต้องนำมาศึกษาอย่างชัดเจน

ผมมิใช่พหูสูตรจะได้นั่งเทียนเขียนบทความได้ครับ จึงต้องค้นคว้า และนำมาเสนอโดยอ้างแหล่งข้อมูลที่ชัดเจนเพื่อผู้ที่สนใจจะได้ศึกษาต่อให้แตกฉานยิ่งขึ้น และก็ไม่กลัวที่จะแสดงความคิดเห็นใดๆ จึงใช้ชื่อและนามสกุลจริงทุกครั้ง ทั้งที่ในอินเทอร์เน็ตนี้ไม่มีใครเขาใช้กัน


โดย: พ.อ.อนุชาติ บุนนาค IP: 58.9.94.164 วันที่: 2 สิงหาคม 2549 เวลา:12:34:45 น.  

 
สังสัยคุณยังไม่เข้าใจที่ผมพูดถึง "ประวัติศาสตร์โบราณ (ancient history)" นะครับ เพราะตัวอย่างที่คุณยกขึ้นมากรณีจีน-ญี่ปุ่น คือประวัติศาสตร์ปัจจุบัน (modern history) ที่ถึงแม้ยากต่อการบิดเบือน เพราะอาจยังมีพยานบุคคลหรือวัตถุพยานบ่งชี้ไปในทางใดทางหนึ่ง ยังไม่วายมีคนบิดเบือนเป็นอีกอย่างได้ ประวัติศาสตร์โบราณยิ่งง่ายต่อการบิดเบือนมากกว่า และง่ายต่อการตกเป็นเครื่องมือเพื่ออ้างความชอบธรรมให้อีกฝ่าย

เช่น อะไรคือสาเหตุของท่าทีที่เด็ดขาดของอิสราเอลต่อเพื่อนบ้านอาหรับ? คำตอบ ย่อมเป็นประวัตศาสตร์อันใกล้ ที่เป็นตัวบ่งชี้ เช่น สงครามหลายครั้งที่ประเทศเพื่อนบ้านช่วยกันก่อ เพื่อลบอิสราเอลออกจากแผนที่โลก มากกว่าจะบอกว่า เพราะอิสราเอลเห็นว่า ดินแดนนี้พระเจ้าประทานให้พวกเขา คงจะเห็นความแตกต่างนะครับ

ผมยังคงแนะนำให้คุณอ่าน blog ของคนที่ผมเอามาให้อ่านครับ เพราะอย่างน้อยก็รู้ว่า เขาทำ research มาดี และหากคุณสงสัยในข้อเท็จจริงตรงไหน ก็ถามแย้งเขาได้ อย่างน้อย คนอ่านอย่างผมก็จะได้กำไรจากการที่ 2 คน ศึกษาประวัติศาสตร์เดียวกัน แต่ได้ข้อสรุปที่แตกต่างกันคนละขั้ว

แล้วจะแวะเวียนมาอ่านนะครับ


โดย: Rabbit IP: 124.120.6.184 วันที่: 2 สิงหาคม 2549 เวลา:17:48:28 น.  

 
ขอบคุณครับ ที่กรุณาสั่งให้ผมทำอย่างที่คุณต้องการ ว่างแล้วจะทำให้ครับ อย่าเพิ่งโกระนะครับ


โดย: พ.อ.อนุชาติ บุนนาค IP: 58.9.95.219 วันที่: 3 สิงหาคม 2549 เวลา:19:29:00 น.  

 
มาเยี่ยมค่ะ



โดย: vad (vad ) วันที่: 7 สิงหาคม 2549 เวลา:18:53:57 น.  

 
เกลียด ไซออนนิสขาดใจ


โดย: แบร์ IP: 203.113.77.41 วันที่: 5 กรกฎาคม 2550 เวลา:17:18:56 น.  

 


โดย: u8h8uh IP: 125.24.107.129 วันที่: 5 พฤษภาคม 2551 เวลา:14:04:01 น.  

 


โดย: ihuhio;l IP: 125.24.107.129 วันที่: 5 พฤษภาคม 2551 เวลา:14:04:28 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

anuchartbunnag
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add anuchartbunnag's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.