พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2556
 
23 สิงหาคม 2556
 
All Blogs
 

ว่าด้วยเรื่อง "สมี"

ว่าด้วยเรื่อง "สมี"


สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์ที่รัก ช่วงนี้ปวดหัว เครียด และครั่นเนื้อครั่นตัวเหมือนคุณครูลิลลี่ไหมคะ คุณครูลิลลี่ยอมรับเลยค่ะว่าช่วงนี้ไม่สบายใจกับข่าวสารบ้านเมืองของเราจริงๆ โดยเฉพาะเรื่องราวข่าวฉาวในแวดวงผ้าเหลือง ของ หลวงปู่เณรคำ ฉัตติโก (ในอดีต) ที่ในวันนี้ก็กลายเป็นมีหลากหลายฉายามากมายทั้งชื่อไทยและชื่อเทศ ไม่ว่าจะเป็น “สมีคำ” หรือ JET SET MONK ที่ทาง CNN ตั้งฉายาแปลว่าพระนั่งเจ็ต พูดตรงๆ ค่ะ ในฐานะพุทธศาสนิกชนคนหนึ่งที่ยึดหลักธรรมคำสอนขององค์พระพุทธเจ้ามาโดยตลอด แอบทอดถอนใจด้วยความเสียใจกับเรื่องราวครั้งนี้จริงๆ แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้วเรามาเอาความรู้ภาษาไทยกลับไปเป็นอาหารสมองคลายความเศร้าหมองจากข่าวนี้กันดีกว่าค่ะ

ได้ยินกันอยู่บ่อยๆ จากข่าวสารทางวิทยุและโทรทัศน์สำหรับคำว่า “สมี” แท้จริงแล้วคำนี้แปลว่าอะไรเรามาดูกันค่ะ คำว่า “สมี” อ่านว่า [สะ-หฺมี] เป็นคำนามใช้เรียกคนถูกไล่สึกจากพระ เพราะต้องอาบัติปาราชิก บุคคลที่เป็นสมีจะบวชอีกไม่ได้ตลอดชีวิต พออธิบายความหมายของคำว่า สมี เสร็จปุ๊บ ก็ต้องมีอีกหลายท่านสงสัยข้องใจและอยากถามต่อว่า แล้วที่อาบัติปาราชิก หมายความว่าอะไร เชื่อว่าพอรู้กันอยู่แล้วว่า ความหมายเป็นเชิงไม่ดีอย่างแน่นอน แต่ก็ไม่รู้ความหมายและความเป็นมาที่แน่นอนเช่นกัน เพราะฉะนั้นตามคุณครูลิลลี่มาทางนี้ค่ะ

พูดถึงคำว่า อาบัติปาราชิก ก็ต้องเล่าไปถึงคำว่า วินัยสงฆ์ ก่อน คำ ๆ นี้คือ พระวินัย อันเป็นกฎหมายของพระภิกษุ เป็นเครื่องควบคุมการปฏิบัติตนของบรรดาพระภิกษุให้เป็นนักบวชที่น่าเคารพ ทำให้ผู้พบเห็นเกิดความศรัทธาเลื่อมใส ในอดีตกาลเมื่อมีภิกษุทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมหรือทำให้เกิดความเสียหายอย่างใดอย่างหนึ่ง พระพุทธองค์ก็จะประชุมสงฆ์ ตรัสถามเรื่องราวจากภิกษุผู้กระทำผิดให้ได้ความกระจ่าง แล้วทรงชี้ให้เห็นโทษพร้อมกับทรงชี้ทางที่ควรประพฤติให้สงฆ์ได้ทราบ แล้วจึงมีพุทธบัญญัติขึ้นเป็นพระวินัย ห้ามมิให้ภิกษุทำอีกต่อไป การทำผิดพระวินัยเรียกว่า อาบัติ พระภิกษุที่อาบัติต้องรับโทษหนักเบาตามความรุนแรงของอาบัติที่กระทำ

ส่วนเมื่อเราเจาะลึกลงไปในคำว่า “อาบัติ” คำนี้มาจากภาษาบาลี คือ "อา+ปตติ" แปลว่า ตกลงไป, รุดไป, ลื่นลงไป หรือหมายถึง "การต้อง, การล่วงละเมิด" พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติชั้นความผิดของการละเมิดสิกขาบท (ไม่ประพฤติตาม) แยกประเภทตามความหนักเบาของอาบัติได้หลายระดับชั้น โดยความผิดขั้นที่สูงสุดคือ ปาราชิก เพราะฉะนั้น การอาบัติปาราชิกที่ตกเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ก็ถือเป็นการทำผิดที่ร้ายแรงหรือรุนแรงที่สุดนั่นเองค่ะ

คุณครูลิลลี่ขอเจาะลึกลงไปอีกนิดนะคะ ถือว่าเพิ่มเติมเป็นความรู้ โทษทางสงฆ์ที่เราเรียกกันว่า อาบัติปาราชิก มี 4 ข้อ จากศีลทั้งหมด 227 ข้อ โดย 4 ข้อที่ว่าก็คือ

1. เสพเมถุน แม้กับสัตว์เดรัจฉานตัวเมีย (ร่วมสังวาสกับคนหรือสัตว์)
2. ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ มาเป็นของตน จากบ้านก็ดี จากป่าก็ดี (ขโมย)
3. พรากกายมนุษย์จากชีวิต (ฆ่าคน) หรือแสวงหาศาสตราอันจะนำไปสู่ความตายแก่ร่างกายมนุษย์
4. กล่าวอวด  อุตริมนุสธรรม อันเป็นความเห็นอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ น้อมเข้าในตัวว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ ข้าพเจ้า เห็นอย่างนี้ (ไม่รู้จริง แต่โอ้อวดความสามารถของตัวเอง)

เล่ามาทั้งหมดนี้ ทั้งคำว่า สมี อาบัติปาราชิก ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ทำให้ขุ่นข้องหมองศรีทั้งนั้น แต่คุณครูลิลลี่เชื่ออย่างหนึ่งค่ะว่า ทุกสังคม ทุกที่ ทุกแห่ง มีทั้งคนดีและคนเลว แวดวงสงฆ์ก็คงไม่ต่าง หลักธรรมคำสอนต่างหากที่อย่างไรก็ตามไม่มีวันเสียหายและถูกทำลายไปได้ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในฐานะพุทธศาสนิกชนคนหนึ่งยืนยันค่ะว่า ยังศรัทธาในพระพุทธศาสนาไม่มีเปลี่ยนแปลง สวัสดีค่ะ




 

Create Date : 23 สิงหาคม 2556
0 comments
Last Update : 23 สิงหาคม 2556 8:01:23 น.
Counter : 1185 Pageviews.


amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.