พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
 
กุมภาพันธ์ 2555
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
26272829 
 
20 กุมภาพันธ์ 2555
 
All Blogs
 

ประวัติกองทัพอากาศ

"วันนี้ ได้เห็นแล้วกิจการบินได้ดำเนินการไปได้อย่างดียิ่ง ของสิ่งนี้โลกเขาก็นับว่าเป็นของยากมากอยู่อย่างหนึ่ง แต่ก็ได้เห็นคนไทยแท้ๆ ทำได้อย่างดีจริง โดยไม่ต้องอาศัยผู้อื่น ขอให้ได้รับความพอใจและขอบใจ ตั้งแต่ผู้มีอำนาจบังคับบัญชาสูงจนชั้นต่ำสุด จงทั่วกัน"
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จฯ เยือนกองบินทหารบก เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๔๕๙











"กำลังในอากาศ เป็นโล่อันแท้จริงอย่างเดียว ที่จะป้องกันมิให้สงครามมาถึงท่ามกลางประเทศของเราได้
ทั้งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการคมนาคมปกติ"

จอมพล สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ
กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ

 

กิจการบินของไทย เริ่มต้นในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๔ นายวันเดล เบอร์น ชาวฝรั่งเศส ได้นำเครื่องบินแบบ ออร์วิลล์ ไรท์ ปีก ๒ ชั้น มาแสดงการบินเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่สนามม้าสระปทุม หลังจากนั้นไม่นาน จอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหมได้ทรงปรึกษากับ จอมพล สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ เสนาธิการทหารบก ถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีเครื่องบินไว้ใช้ป้องกันประเทศเหมือนอารยประเทศ ที่เขากำลังเร่งดำเนินการกันอยู่ ด้วยเหตุนี้ กระทรวงกลาโหมจึงได้ดำริจะจัดตั้ง "แผนกการบิน" ขึ้นเป็นแผนกหนึ่งของกองทัพบก ตั้งแต่นั้นมา และได้ทำการคัดเลือกผู้ที่สมัครไปศึกษาวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส โดยมีนายทหารบก ๓ คนที่ได้รับคัดเลือก คือ

  • นายพันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ (สุนี สุวรรณประทีป)

  • นายร้อยเอก หลวงอาวุธสิขิกร (หลง สินศุข)

  • นายร้อยโท ทิพย์ เกตุทัต

     


  • ทั้ง ๓ ท่านนี้ ในเวลาต่อมา ได้รับพระราชทานยศ และบรรดาศักดิ์ ตามลำดับ คือ พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ, นาวาอากาศเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ และ นาวาอากาศเอก พระยาทะยานพิฆาต และ กองทัพอากาศได้ยกย่องให้เป็น "บุพการีของกองทัพอากาศ"













    พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ
    (นายพันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ)
    (สุณี สุวรรณประทีป)
    นาวาอากาศเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์
    (นายร้อยเอก หลวงอาวุธสิขิกร)
    (หลง สิน-ศุข)
    นาวาอากาศเอก พระยาทะยานพิฆาต
    (นายร้อยโท ทิพย์ เกตุทัต)

     

    ในขณะที่นายทหารทั้งสามกำลังศึกษาวิชาการบินอยู่นั้นทางราชการ ทางราชการก็ได้สั่งซื้อเครื่องบินเป็นครั้งแรก จำนวน ๗ เครื่อง เป็นเครื่องบินแบบเบรเกต์ปีก ๒ ชั้น จำนวน ๓ เครื่อง และเครื่องบินแบบนิเออปอร์ตปีกชั้นเดียว จำนวน ๔ เครื่อง เข้าไว้ประจำการ และเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) ได้เห็นความสำคัญของการมีเครื่องบินไว้ใช้ประโยชน์ของทางราชการ จึงได้อุทิศทรัพย์ส่วนตัวซื้อเครื่องบินแบบเบรเกต์ให้อีก ๑ เครื่อง จึงทำให้ทางราชการมีเครื่องบินไว้ใช้เป็นครั้งแรกรวม ๘ เครื่อง

  • เครื่องบินเบรเกต์ปีก ๒ ชั้น จำนวน ๔ เครื่อง

  • เครื่องบินนิเออปอรต์ปีกชั้นเดียว จำนวน ๔ เครื่อง









    เครื่องบินแบบเบรเกต์ ที่ซื้อมารุ่นแรก


    เครื่องบินแบบนิเออปอรต์ ที่ซื้อมารุ่นแรก

     



  •  

    อันอาจกล่าวได้ว่า กำลังทางอากาศของไทย เริ่มต้นจากนักบินเพียง ๓ คน และเครื่องบินอีก ๘ เครื่องเท่านั้น การบินของไทยในระยะแรก ได้ใช้สนามม้าสระปทุม หรือราชกรีฑาสโมสรในปัจจุบัน เป็นสนามบิน แต่ด้วยความไม่สะดวกหลายประการ บุพการีทั้ง ๓ ท่าน จึงได้พิจารณาหาพื้นที่ ที่มีความเหมาะสมต่อการบิน และได้เลือกเอาตำบลดอนเมือง เป็นที่ตั้งสนามบิน พร้อมทั้งได้ก่อสร้างอาคาร สถานที่โรงเก็บเครื่องบินอย่างถาวรขึ้น เมื่อการโยกย้ายกำลังพล อุปกรณ์ และเครื่องบิน ไปไว้ยังที่ตั้งใหม่เรียบร้อยแล้ว ในวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ กระทรวงกลาโหม จึงได้สั่งยกแผนกการบินขึ้นเป็น "กองบินทหารบก" ซึ่งถือได้ว่า กิจการการบินของไทย ได้วางรากฐานอย่างมั่นคงขึ้นแล้ว ตั้งแต่บัดนั้นมา กองทัพอากาศจึงถือเอา วันที่ ๒๗ มีนาคม ของทุกปีเป็น "วันที่ระลึกกองทัพอากาศ"

     

    นับแต่นั้นมา บทบาทของกำลังทางอากาศ ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญ และมีการพัฒนาอย่างเป็นลำดับ นับตั้งแต่การเข้าร่วมรบ ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ กับพันธมิตรในยุโรป เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ซึ่งทำให้ชื่อเสียงและเกียรติภูมิ ของชาติ เป็นที่ยอมรับ และยกย่อง เป็นอันมาก และทางราชการได้ยกฐานะ กองบินทหารบกขึ้นเป็น "กรมอากาศยานทหารบก" ในเวลาต่อมา กำลังทางอากาศ ได้พัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง และเป็นกำลังสำคัญ ในการพัฒนาประเทศชาติทางด้านต่างๆ อันเป็นรากฐาน ของกิจการหลายอย่างในปัจจุบัน อาทิ การบินส่งไปรษณีย์ทางอากาศ การส่งแพทย์ และเวชภัณฑ์ทางอากาศ เป็นต้น

     

    ในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ กระทรวงกลาโหม ได้พิจารณาเห็นว่า กำลังทางอากาศ มิได้เป็นกำลังเฉพาะในด้านยุทธศาสตร์ทางทหารเท่านั้น แต่มีประโยชน์ อย่างกว้างขวางต่อกิจการด้านอื่นๆ อีกด้วย จึงได้แก้ไขการเรียกชื่อจาก กรมอากาศยานทหารเป็น "กรมอากาศยาน" และเป็น "กรมทหารอากาศ" ในเวลาต่อมา โดยให้อยู่ในบังคับบัญชาของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยตรง พร้อมทั้งได้มีการกำหนดยศทหาร และการเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบ จากสีเขียว มาเป็นสีเทา ดังเช่นปัจจุบัน วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๐ กรมทหารอากาศได้ยกฐานะเป็น "กองทัพอากาศ" มีนาวาอากาศเอก พระเวชยันต์รังสฤษฎ์ เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศคนแรก กองทัพอากาศ จึงได้ถือเอา วันที่ 9 เมษายน ของทุกปีเป็น "วันกองทัพอากาศ"










    เครื่องแบบ กองบินทหารบก พ.ศ.๒๔๕๗


    เครื่องแบบ กรมอากาศยานทหารบก พ.ศ.๒๔๖๒ สมัยรัชกาลที่ ๖


    เครื่องแบบ กรมอากาศยาน พ.ศ.๒๔๗๕ สมัยรัชกาลที่ ๗

     

    กำลังทางอากาศ ได้พัฒนาไปอย่างมากมาย และได้เป็นกำลังสำคัญในการปกป้อง รักษาอธิปไตยของชาติ อาทิ สงครามกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส และสงครามมหาเอเชียบูรพา รวมทั้งเข้าร่วมกับกองกำลังสหประชาชาติ ในสงครามเกาหลี และร่วมกับพันธมิตร ในสงครามเวียดนาม จากเครื่องบินใบพัดเพียง ๘ เครื่องในอดีต จนมาถึงเครื่องบินไอพ่นที่ทันสมัย ในปัจจุบัน กองทัพอากาศ ขอยืนยัน ที่จะดำรงความมุ่งมั่นในภารกิจ ที่จะพิทักษ์ รักษาเอกราช และอธิปไตยของชาติ ไว้ให้มั่นคงสถาพตลอดไป

     

    ประวัติโดยสังเขป

  • ๒๗ มีนาคม ๒๔๕๗ ยกฐานะจาก "แผนกการบิน" เป็น "กองการบินทหารบก" ถือเอาวันนี้เป็น วันที่ระลึกกองทัพอากาศ

  • ๒๙ มีนาคม ๒๔๖๑ ยกฐานะเป็น "กรมอากาศยานทหารบก"

  • ๑ ธันวาคม ๒๔๖๔ เปลี่ยนชื่อเป็น "กรมอากาศยาน" ขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม

  • ๑๒ เมษายน ๒๔๗๘ ยกฐานะเป็น "กรมทหารอากาศ"

  • ๙ เมษายน ๒๔๘๐ สถาปนาเป็น "กองทัพอากาศ" ถือเอาวันนี้เป็น วันกองทัพอากาศ (ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อ ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๑)








    สนามม้าสระปทุม ใช้เป็นสนามบินในอดีต






  •  

    Create Date : 20 กุมภาพันธ์ 2555
    0 comments
    Last Update : 20 กุมภาพันธ์ 2555 2:49:42 น.
    Counter : 3266 Pageviews.


    amulet108
    Location :
    กรุงเทพฯ Thailand

    [ดู Profile ทั้งหมด]

    ฝากข้อความหลังไมค์
    Rss Feed
    Smember
    ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








    Friends' blogs
    [Add amulet108's blog to your web]
    Links
     

     Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.