มีนาคม 2556
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
27 มีนาคม 2556
 

เมื่อการช่วยเหลือของผู้จัดการ ถูกตีความผิดๆ

คนเรามีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหน้าที่การงาน เปลี่ยนแปลงบทบาทการทำงาน ย่อมเป็นเรื่องปกติที่เราจะต้องผ่านกระบวนการปรับตัวกับตำแหน่งหรือบทบาทใหม่ๆ และมักจะเผชิญปัญหากับการยึดติดวิธีการเดิมๆที่ “เคยเวิร์ค” ในอดีต เหตุการณ์ของคุณกรวิทย์ ผู้จัดการใหม่ไฟแรงคนนี้ก็เช่นกัน

“ อาจารย์ติ๊กครับ ผมกำลังตั้งหน้าตั้งตารอการเข้าออฟฟิตประจำสัปดาห์ของอาจารย์เลยหล่ะครับ” คำทักทายแรกของคุณกรวิทย์ ผู้จัดการใหม่ไฟแรงที่เพิ่งถูกโปรโมตตำแหน่งผู้จัดการเมื่อสองเดือนที่ผ่านมา
“สวัสดีค่ะ รอคอยกันขนาดนี้ แสดงว่า มีเรื่องอะไรอยากให้ช่วยโค้ชให้ใช่ไหมคะ” อาจารย์ติ๊กกล่าวอย่างเดาใจ
“ใช่เลยครับ ผมมีปัญหาเกี่ยวกับการสร้างทีมงาน และการติดตามงานครับ” คุณกรวิทย์ ไม่รีรอที่จะฉกฉวยโอกาสเวลาอันมีค่าของที่ปรึกษาสาว ที่จะเข้ามาให้คำแนะนำเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

“โอเคค่ะ งั้นเราหาที่นั่งคุยกันดีไหมคะ มีอะไรอยากให้ข้อมูลอาจารย์ก่อนบ้างไหมคะ” อาจารย์ติ๊กเชื้อเชิญผู้จัดการคนใหม่หามุมนั่งคุยกันแบบดูเป็นกันเองไม่เป็นทางการมากนัก
“ ครับ คือ ผมไม่ค่อยแน่ใจว่า ผมบริหารทีมงานได้เหมาะสมหรือไม่ ..” คุณกรวิทย์กล่าว พร้อมสีหน้าลังเลใจ พร้อมหยุดนิ่งไปชั่วขณะ เหมือนกำลังคิดว่า จะลำดับเหตุการณ์เรื่องราวต่างๆ อย่างไรให้กระชับใจความ พอที่จะขอความคิดเห็นจากที่ปรึกษาสาวได้

“ผมกำลังเผชิญปัญหากับการควบคุมงานของทีมงานท่านหนึ่งที่อาวุโสกว่าผม ซึ่งผมระมัดระวังเรื่อง “การให้เกียรติ” พี่เขามากๆ เพราะ อย่างไรพี่เขาก็อาวุโสกว่าผม ทุกครั้งที่ผมติดตามงาน และส่งรายงานขึ้นยังระดับบน ผมไม่เคยที่จะลืม refer ว่าเป็นผลงานของพี่เขานะครับ” คุณกรวิทย์เริ่มให้ข้อมูล
“ดีมากค่ะ คุณกรวิทย์ใช้ทักษะการให้เกียรติในการทำงานได้ดีมาก ก็ไม่มีปัญหาอะไรนี่ค่ะ” ที่ปรึกษาสาวกล่าวชมเชย

“แต่มีความรู้สึกว่า งานที่กำลังให้พี่เขารับผิดชอบ หากผมไม่เข้าไปช่วย งานต้องไม่สำเร็จแน่เลยครับอาจารย์ ผมก็เลยอาสาว่าอย่างไรซะทุกๆรายละเอียดของงาน ผมจะเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย แต่ผมกลับได้รับปฏิกิริยาแปลกๆจากพี่เขาครับ ผมไม่ได้ต้องการไปแย่งงานเขานะ” ผู้จัดการคนใหม่ เริ่มแสดงความวิตกกังวลใจออกมาก
“คุณกรวิทย์มีเจตนาที่จะช่วย แต่ได้รับการตอบรับที่ไม่ดีจากทีมงาน อาจารย์เข้าใจถูกต้องใช่ไหมคะ คุณพอจะช่วยอธิบายวิธีการช่วยเหลือทีมงานให้ทราบได้ไหมค่ะ” ที่ปรึกษาสาวสอบถามเพื่อให้แน่ใจในสิ่งที่ผู้จัดการพยายามสื่อสารให้ทราบ พร้อมขอข้อมูลเพิ่มเติม

“ใช่ครับ ยกตัวอย่างเช่น ผมบอกให้พี่เขาเขียนรายงานมาให้ ซึ่งผมพบว่าทักษะในการเขียนงานของพี่เขายังมีปัญหา ผมเลยบอกว่าจากนี้ไป ผมจะช่วยเขียนด้วย” คุณกรวิทย์ตอบ
“โอ้ว คุณจะช่วยเขียนเลยเหรอค่ะ แล้ว.... คิดว่า การช่วยเขียน มีโอกาสทำให้ลูกน้องแปลเจตนาดีของคุณผิดๆได้ไหมคะ” ที่ปรึกษาสาวเปิดประเด็น
“อืมมมม หมายความว่า มีโอกาสที่เขาจะคิดว่า ผมแทรกแซงงานเขา ก้าวก่ายงานเขา ใช่ไหมครับ .. ก็มีโอกาสเป็นไปได้นะครับ” คุณกรวิทย์เริ่มคิดตาม

“ค่ะ แล้วถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริงๆ คุณคิดว่าจะมีวิธีอื่นในการช่วยเหลือไหมค่ะ” ที่ปรึกษาสาวถามเพื่อให้ผู้จัดการไฟแรงคิดต่อ
“เออ..... ผมนึกไม่ออกครับ เพราะ ที่ผ่านมา ผมก็ใช้วิธีนี้มาตลอด แล้วก็เวิร์คทุกครั้งนะครับ” สีหน้าของคุณกรวิทย์ตอนนี้ ดูมีความภาคภูมิใจกับการแก้ไขปัญหาที่ประสบความสำเร็จในอดีตที่ผ่านมา แต่แววตาก็แฝงด้วยความสงสัยว่าเหตุใด แนวทางดังกล่าวจึงไม่สามารถแก้ปัญหาครั้งนี้ได้

“โอเคค่ะ ตอนนี้ ดูเหมือนคุณกรวิทย์เริ่มสับสนเล็กน้อย ต้องบอกว่า สิ่งที่เคยทำมาแล้วเวิร์ค อาจจะไม่เวิร์คเมื่อบทบาทของเราเปลี่ยนไปนะคะ เป็นเรื่องปกติค่ะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร อาจารย์ก็เคยเจอสถานการณ์เช่นนี้มาแล้ว” ที่ปรึกษาสาวพยายามให้กำลังใจ แล้วกล่าวสอบถามต่อ

“ในตอนที่คุณกรวิทย์ ใช้วิธีช่วยเหลือตามที่เล่ามา ตอนนั้น คุณกรวิทย์อยู่ในบทบาทหน้าที่งานส่วนไหนขององค์กรค่ะ”
“ตอนนั้น ผมเป็น supervisor ที่คุมน้องในทีมประมาณ 3 คนครับ” คุณกรวิทย์ตอบอย่างภาคภูมิใ

“ลองช่วยอธิบายเปรียบเทียบความแตกต่างของน้องในทีม 3 คน ขณะที่เป็น supervisor กับทีมงานตอนนี้ที่คุณเป็น manager ได้ไหมคะ” ที่ปรึกษาสาวถามต่อ
“อืมมมม ส่วนใหญ่น้องทั้งสามคน เป็นบัณฑิตจบใหม่จากรั้วมหาวิทยาลัย ยังไม่มีประสบการณ์ เขาก็จะรู้สึกดีที่ผมไปช่วยงานเขา..... แต่....... จริงด้วยครับ ทีมงานผมตอนนี้ ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีประสบการณ์มาระดับหนึ่งแล้ว เผลอๆ บางคน โดยเฉพาะพี่คนนี้มีอายุงานมากกว่าผมเสียอีก โอ้ววววว ผมคงต้องหาวิธีการใหม่ในการทำงานกับทีมงานซะแล้ว” ในที่สุด ผู้จัดการหนุ่มไฟแรงก็เริ่มเข้าใจความแตกต่างที่เกิดขึ้น

“ใช่แล้วค่ะ งั้นเราลองมาช่วยกันหาแนวทางการทำงานเมื่อคุณกรวิทย์เปลี่ยนบทบาทของตัวเองกันดีไหมคะ” อาจารย์สาวตอบให้กำลังใจกับสิ่งที่ผู้จัดการคนใหม่ตระหนักถึงด้วยรอยยิ้ม

เมื่อบทบาทการทำงานเปลี่ยนไป ทีมงานเปลี่ยนไป วิธีการทำงานที่เหมาะสมก็ย่อมเปลี่ยนไปด้วย หลายๆคนมักจะคิดว่าสิ่งที่เคย “เวิร์ค” จะ “เวิร์ค” ตลอดไป ... อย่าลืมนะคะ ว่า โลกยังหมุนรอบตัวเองทุกวัน น้ำในแม่น้ำ ณ จุดเดิมไม่เคยเป็นมวลน้ำก้อนเดิมเลย แล้วอะไรจึงทำให้คุณคิดว่าทุกสิ่งจะคงเดิมหล่ะคะ



Create Date : 27 มีนาคม 2556
Last Update : 27 มีนาคม 2556 0:55:56 น. 0 comments
Counter : 466 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

ajarntik
 
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ได้รับทุนภูมิพล(ปริญญาตรี)
เศรษฐศาสตร์ มธ. (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง)
แล้วได้รับทุนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ มธ.)
มีประสบการณ์สอน 15 ปี จากสถาบันกวดวิชาเดอะเบรน
และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ก่อนจะผันตัวเองออกมาทำธุรกิจส่วนตัว พร้อมๆไปกับงานที่ปรึกษา
[Add ajarntik's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com