ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการคลอด
ค่าใช้จ่ายต่างๆในการคลอด
พอดีอ่านจากนิตยสารทะมะโกะ คลับนิตยสารของคุณแม่ตั้งครรภ์ เขามีสำรวจเกี่ยวกับเรื่องค่าใช้จ่ายในการตรวจและคลอด ก็เลยอยากเขียนเก็บเอาไว้เล่นๆ
หมายเหตุ 100 เยน = 37 บาท ง่ายๆ คือ เอา 3 หาร) ค่าตรวจ 1.ค่าใช้จ่ายในการตรวจรวมทุกครั้งเฉลี่ย 75,006 เยน (มากที่สุด 180,000 เยน น้อยที่สุด 36.000 เยน) นอกจากการตรวจปรกติแล้ว อาจจะมีการตรวจในกรณีพิเศษ หรือในกรณีที่มีปัญหา หรือบางคนตั้งครรภ์ปรกติแต่เกินกำหนด เพราะฉะนั้นทางที่ดีควรเตรียมไว้ประมาณ 100,000 เยน 2.เฉลี่ยค่าใช้จ่ายในการตรวจแต่ละครั้งประมาณ 4,284 เยน(มากที่สุด 8,000 เยน น้อยที่สุด 1,000 เยน) โดยการตรวจครั้งแรกที่มีการตรวจเลือดด้วยนั้น จะเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 10,000 เยน
3. จำนวนครั้งที่ไปตรวจ โดยเฉลี่ย 13.9 ครั้ง( มากที่สุด 23 ครั้ง น้อยที่สุด 4 ครั้ง) สำหรับผู้ที่เกิน 20 ครั้ง อาจจะเป็นในกรณีย้ายโรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลนั้นกำหนดให้มาตรวจ 2 สัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยปรกติ การตั้งครรภ์จนถึง 23 สัปดาห์(ปลายเดือนที่ 6) ตรวจ 4 สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ตั้งครรภ์ 24-35 สัปดาห์(เดือนที่ 7-ปลายเดือนที่ 9) ตรวจ 2 สัปดาห์ละ 1 ครั้ง หลังตั้งครรภ์ 36 สัปดาห์ (เดือนที่ 10) ตรวจทุกสัปดาห์ (อ้างอิงจากหนังสือมูลนิธิวิจัยสุขภาพอนามัยแม่และเด็ก)
ค่าใช้จ่ายในการคลอดและขณะเข้าโรงพยาบาล ซึ่งค่าใช้จ่ายจะขึ้นอยู่กับกรณีดังต่อไปนี้ 1.ประเภทของโรงพยาบาล โดยปรกติแล้วโรงพยาบาลเอกชนจะแพงกว่าโรงพยาบาลรัฐบาล(แหงล่ะ) โรงพยาบาลเฉพาะทางแพงกว่าโรงพยาบาลรวม 2.ชนิดของห้อง จะมีทั้งห้องเดี่ยว ห้อง LDR (ห้องคลอด..พักฟื้นในห้องเดียวกัน) ห้องรวมสองคน ห้องรวมสี่คน แล้วแต่โรงพยาบาล 3.เวลาในการคลอด ในกรณีที่คลอดวันหยุด ช่วงหยุดปีใหม่ กลางดึก หรือนอกเวลาทำการ จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งจะคิดจากเวลาที่เด็กเกิด ประมาณ 2-30,000 เยน (งั้นตอนคลอดยูตะก็มีการคิดเพิ่ม เพราะคลอดตอนเช้าตรู่) 4.วิธีการคลอด หากเป็นการคลอดปรกติ จะเสียค่าใช้จ่ายเต็ม แต่ถ้าเลือกคลอดแบบไม่เจ็บ เช่น การบล๊อคหลัง จะเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม และหากเลือกผ่าคลอดก็สามารถใช้ประกันสุขภาพ(ของรัฐ)ได้ ทั้งนี้..สำหรับผู้ที่เข้าประกันสุขภาพของรัฐจะได้รับเงินช่วยเหลือในการคลอดไม่ต่ำกว่า 300,000 เยน (ถ้าคลอดลูกแฝดจะได้ 600,000 เยน และถ้าแฝดสาม ก็จะได้ 900,00 0เยน แต่ตอนเลี้ยง..จะเหนื่อยแย่น่ะสิ)โดยต้องยื่นเอกสารหลังคลอดแล้ว เพราะฉะนั้นค่าใช้จ่ายทุกอย่าง ต้องเตรียมเงินไว้จ่ายก่อน
ค่าใช้จ่ายในการคลอดและขณะเข้าโรงพยาบาลทั้งหมด เฉลี่ย 318,654 เยน (ค่าใช้จ่ายสูงสุด 600,000 เยน ค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด 120,000 เยน สำหรับผู้ที่เสียค่าใช้จ่ายเกิน 500,000 เยน อาจจะเป็นเพราะว่าพักฟื้นห้องเดี่ยวในโรงพยาบาลเอกชนของจังหวัด รายละเอียดสำหรับค่าใช้จ่ายในการคลอดและเข้าโรงพยาบาล ได้แก่ 1.ค่าใช้จ่ายสำหรับการเข้าโรงพยาบาล ค่าห้อง ค่าอาหาร 2.ค่าห้องพิเศษ ห้องเดี่ยว ห้องคู่ ห้อง LDR 3.ค่าคลอด 4.ค่าใช้จ่ายของเด็ก ค่าดูแลเด็ก 5.ค่าตรวจและค่ายา เช่น ค่าตรวจ ค่ายาเร่งมดลูก ค่าอุปกรณ์ต่างๆ ค่าตรวจและค่าวิตามินเคของเด็ก 6.ค่าวัสดุและอุปกรณ์ เช่น ค่าชุดคลอด ค่าผ้าปูเตียงคลอด อุปกรณ์ต่างๆของคุณแม่(อีกเพียบ) ค่านมและค่าผ้าอ้อมของทารก 7.ค่าเอกสาร เอกสารรับรองการเกิดต่างๆ (ตอนหลังคลอดยูตะ ต้องยื่นเอกสารการเกิดให้อำเภอเพื่อขอเงินจากประกันสุขภาพ เสียค่าปั้มตรายาง 3,000 เยน)
ชนิดของโรงพยาบาลที่เลือกคลอด 1.สถานผดุงครรภ์เอกชน 57% 2.โรงพยาบาลรวมของรัฐ 28% 3.โรงพยาบาลรวมของเอกชน 13% 4.โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยของเอกชน 1% 5.คลินิกผดุงครรภ์และอื่น 1%
ห้องที่ใช้ในการพักฟื้น 1.ห้องเดี่ยว 56% 2.ห้องรวม 35% 3.ห้องคู่ 7% 4.ห้อง LDR 2% (ตอนคลอดยูตะ ที่สถานผดุงครรภ์เอกชน เจ้านายอยากให้อยู่ห้องเดี่ยว แต่เราไม่อยากอยู่ห้องเดี่ยว เพราะเป็นคนขี้กลัว...บ้าเปล่า อีกทั้งกลัวว่าเขาประกาศเรียกหรือทำอะไร แล้วเราจะไม่รู้เรื่อง ขอห้องคู่ แต่พยาบาลแนะนำว่างั้นเป็นห้องรวมสี่คนดีกว่า ซึ่งก็ดีจริงๆ แคบแต่เป็นส่วนตัวพอสมควร ราคาไม่ต่างกันมาก 8,000 6,000 5,000 หรือยังไงนี่แหละ เพราะห้องเดี่ยวก็ไม่มีห้องน้ำในตัวเหมือนกัน ใช้ห้องรวมด้านนอก และห้องเดี่ยวที่นั่น..ก็ให้คนนอนค้างด้วยไม่ได้เหมือนกัน เวลาเยี่ยมเท่ากัน)

 นี่เป็นห้องที่เราอยู่..ห้องรวมโดยกั้นด้วยตู้บิลท์อิน ปลายเตียงมีผ้าม่านกั้น เล็กแต่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ มีทีวี ตู้เย็น ตู้เสื้อผ้าพร้อม
ค่าชุดคลุมท้องและชุดเด็กทารก ค่าใช้จ่ายของชุดคลุมท้องทั้งหมดเฉลี่ย 15,212 เยน(มากที่สุด 150,000 เยน น้อยสุด 0 เยน) ส่วนใหญ่จะรับจากผู้ที่ผ่านการคลอดมาแล้ว (เหมือนเรา) หรือบางคนก็อาจใส่เสื้อผ้าหลวมๆ สำหรับคนที่เสียค่าใช้จ่ายเกิน 100,000 เยน เป็นกรณีที่ทำงานต้องพบปะผู้คน เช่น การตลาด จึงจำเป็นต้องซื้อใหม่ ค่าใช้จ่ายสำหรับชุดชั้นในสำหรับคนท้องเฉลี่ย 12,008 เยน(สูงสุด 160,000 เยน ต่ำสุด 0 เยน) ส่วนใหญ่จะเป็นค่ากางเกงชั้นใน ผ้าสำหรับรัดหน้าท้อง ผ้าสำหรับพยุงหน้าท้อง เป็นต้น
ค่าใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์ต่างๆของเด็ก ค่าใช้จ่ายรวมเฉลี่ย 95,316 เยน (มากสุด 400,000 เยน น้อยสุด 5,000 เยน) วิธีการซื้อเสื้อผ้าและอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับเด็ก คือ 1.รวบรวมข้อมูล สำรวจข้อมูลต่างๆ ถึงสิ่งที่จำเป็นรวมทั้งเปรียบเทียบคุณภาพและราคาจากนิตยสาร แคทตาล๊อก หรือจากผู้ที่เคยคลอดแล้ว 2.ทำลิสต์ ทำลิสต์ว่าอะไรที่จำเป็นต้องใช้ และกะงบประมาณเอาไว้คร่าวๆ 3.เช็คราคา ลองดูจากหลายๆ ร้าน เพราะบางร้านก็จะตั้งราคาไว้แตกต่างกันพอสมควร หรืออาจจะดูช่วงที่เซลล์ และอาจเปรียบเทียบราคากับการสั่งซื้อสินค้าทางไปรษณีย์หรือกับการเช่า 4.ถือลิสต์ไปซื้อของด้วย เพื่อกันซื้อของเกินจำเป็น (แต่ แหม..ของเด็กๆ น่ารักทั้งน้าน) และเผื่อลืมซื้อซ้ำ(คนแก่ก็งี้แหละ) ทางที่ดีรอตอนเซลล์จะได้ของราคาดีกว่า
ตัวอย่างลิสต์ของจำเป็นที่ควรซื้อ เสื้อผ้าเด็ก ชุดเด็กขนาด 50 เซนติเมตร 3 ชุด ชุดเด็กขนาด 60 เซนติเมตร 2 ชุด ชุดหมี 2 ชุด ผ้าสำหรับห่อตัวเด็ก 1 ผืน ชุดคลุมกันหนาว 1 ชุด อุปกรณ์นม ขวดนมและจุกนม 1 ชุด (แต่ถ้าเลี้ยงด้วยนมผง อาจต้องเตรียมมากกว่านี้) นมผง 1 กระป๋อง แปรงล้างขวดนม 1 ชุด น้ำยาล้างขวดนม 1 ขวด อุปกรณ์ผ้าอ้อม ผ้าอ้อมกระดาษ 1 แพ๊ค กระดาษเช็ดก้น 1 แพ็ค (ถ้าใช้ผ้าอ้อมผ้า) ผ้าอ้อม 20 ผืน ผ้าคลุมผ้าอ้อม 4 ชุด เครื่องนอน ชุดเครื่องนอน 1 ชุด อุปกรณ์อาบน้ำ อ่างอาบน้ำเด็ก 1 อ่าง เทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิน้ำ 1 เครื่อง สบู่อาบน้ำเด็ก 1ก้อน สำลีพันปลายไม้ 1กล่อง เทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิร่างกาย1เครื่อง กรรไกรตัดเล็บเด็ก 1อัน ผ้าเช็ดตัว 2 ผืน
Create Date : 20 เมษายน 2548 |
|
4 comments |
Last Update : 21 เมษายน 2548 14:05:27 น. |
Counter : 2424 Pageviews. |
|
 |
|