ย้ายบ้านแล้วครับผม มีดอทคอมเป็นของตัวเองเรียบร้อยครับ
10000tip.com
หมื่นทิพ's Movie Review

เทพบุตรตบะแตก!!
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 116 คน [?]




ค้นหารีวิวหนังเก่าๆ ได้ที่นี่ครับ
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2554
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
12 พฤษภาคม 2554
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add เทพบุตรตบะแตก!!'s blog to your web]
Links
 

 
Film Retro: Disaster is all around! เปิดตำนานหนังภัยพิบัติ

เครื่องบินตก เรือล่ม สัตว์ร้ายบุก แผ่นดินไหว ตึกติดไฟ ตามด้วยดาวหางชนโลก นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของความหายนะสารพัดที่นักสร้างหนังพยายามนำมากำนัลเราทุกคนด้วยการบอกเล่าผ่านภาพและเสียงที่สมจริง (ตามแต่ยุคสมัยนั้นๆ จะเนรมิตได้)

อันว่า หนังแนวภัยพิบัติ (Disaster Film) มีเนื้อหาว่าด้วยคนสักกลุ่มหนึ่งหรืออาจจะหลายกลุ่มต้องหาทางหนีตายเอาตัวรอดจากภัยร้ายที่ธรรมชาติหรือมนุษย์บันดาลให้เกิด อย่างเช่น เครื่องบินกำลังจะตก หรือไฟไหม้ ด้านโปรดักชั่นก็ต้องลงทุนให้เหมือนจริง มีดาราดังๆ มานำแสดงให้เพื่อเรียกลูกค้า เน้นความตื่นเต้นเร้าขวัญเป็นหลัก ส่วนเรื่องดราม่าถ้ามีสักนิดเป็นน้ำจิ้มก็ช่วยทำให้ความสนุกเพิ่มขึ้น

หนังที่ได้ชื่อว่าเป็น Disaster Film เรื่องแรกคือ Fire! (1901) หนังเงียบจากอังกฤษที่นำภาพกลุ่มนักผจญภัยเพลิงที่ต้องออกปฏิบัติการสยบไฟที่ลามเลียไปตามบ้าน พร้อมทั้งช่วยคนให้รอดออกมา หลังจากนั้นหนังแนวนี้ก็เงียบๆ ไป จนกระทั่งการมาของ Night and Ice (1912) ที่จับเอาเรื่องราวการจมของเรือไททานิคมาบอกเล่า หนังเยอรมันความยาว 30 นาทีเรื่องนี้ได้รับคำชมไปพอตัวในแง่การถ่ายทอดนาทีสุดท้ายของคนบนเรืออย่างน่าขนลุก

หนังหายนะยุคแรกๆ ยังไม่มีการแยกอย่างชัดเจนว่าต้องเกิดจากภัยธรรมชาติเท่านั้น เลยมีการลากเอาสัตว์ประหลาดเข้าไปเกี่ยวด้วย เพราะถือว่าเจ้าตัวพวกนี้พอเดินเข้าเมืองทีไรก็เกิดหายนะได้ไม่แพ้แผ่นดินไหว สัตว์ตัวแรกที่ไปเดินถล่มชาวเมือง จนขึ้นชื่อคลาสสิกคือ ลิงยักษ์อย่างแห่ง King Kong (1933) ที่ถือว่าเปิดมิติใหม่ให้ผู้ชม โดยการนำเอาความลึกลับของธรรมชาติมาสานต่อเรื่องราว ให้คนเกิดความสงสัยว่าในโลกอันแสนกว้างใหญ่นี้ ยังมีสิ่งทีชีวิตปริศนาแอบซ่อนอยู่หรือไม่ (ซึ่งก็ได้เรื่องของสัตว์ประหลาดอย่างเนสซี่ บิ๊กฟุตและสามเหลี่ยมเบอร์มิวด้าเข้ามาช่วยเสริมแรงด้วย) ทีนี้เมื่อคนสนใจมากๆ หนังแนวตัวประหลาดบุกเมืองเลยเยอะขึ้น จนในที่สุดถึงมีการแยกแนว Monster หรือสัตว์ประหลาดออกไปต่างหากอีกแนวหนึ่ง (แล้วก็ฮิตกันสุดขีด)



ส่วนตลาดหนังหายนะกลับไม่ได้ตูมตามเท่าแนวสัตว์ยักษ์เขมือบคน ตัวแทนหนังภัยพิบัติที่ทำออกมาฮิตพอฟัดกับหนังตัวประหลาดได้ก็มี When Worlds Collide (1953) หนังทำนายเหตุการณ์ว่าเมื่อดาวหางตรงปรี่มาชนโลกแล้วคนจะรอดภัยครั้งนี้ไปได้อย่างไร (เรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจให้เกิด Deep Impact ในเวลาต่อมา)

ถ้าว่ากันถึงช่วงสุดยอดรุ่งโรจน์ของหนังภัยพิบัติต้องยกให้ทศวรรษที่ 70 อันเรียกได้ว่าเป็นยุคทอง (The Golden Age of the Disaster film) เพราะมีการยกเครื่องหนังแนวนี้เสียใหม่ จากเดิมที่เอาแต่ขายฉากทำลายล้าง หรือไม่ก็เทคนิคพิเศษจนลืมไปเลยว่าหนังยังมีตัวละครเดินไปเดินมาอยู่ จุดอ่อนสำคัญที่ทำให้หนังภัยพิบัติก่อนยุค 70 เข้าเป้าไม่มากก็เนื่องจากเหตุนี้แหละครับ มัวแต่เน้นภาพแสงสีเสียง แต่คนดูก็ไม่ใคร่จะปลื้มมาก เพราะเอาเข้าจริงก็ไม่ต่างจากการจ่ายเงินไปดูภาพสารคดีเท่านั้นเอง เห็นน้ำท่วม ไฟไหม้ แผ่นดินสะเทือนผ่านทางทีวีก็ไม่ต่างกัน คนทำหนังยุคนั้นยังตีความภาพภัยพิบัติได้ไม่มีสีสันเท่าไร เหมือนดูหนังแล้ว ตัวร้าย (ซึ่งหมายถึงภัยนั้น) ไม่ค่อยร้ายเท่าที่ควร คนดูเลยแห่ไปชมหนังสัตว์ประหลาดที่ตัวร้ายดูมีสีสันกว่ากันเยอะ

แล้วนักสร้างหนังผู้คร่ำหวอดอย่าง Ross Hunter ก็ได้แนวคิดใหม่สำหรับหนังภัยพิบัติ เนื่องด้วยพี่ท่านเป็นผู้อำนวยการสร้างหนังที่ชอบจับเอาดาราดังๆ มาขาย ตามด้วยผูกเรื่องราวโดยเน้นที่ความสัมพันธ์ของตัวละคร เพื่อคนดูจะได้มีอารมณ์ร่วม เช่น Pillow Talk (1959) ก็จับเอาดาราคู่ขวัญแห่งยุค Rock Hudson กับ Doris Day มาเข้าคู่สร้างความหฤหรรษ์ให้ผู้ชม พร้อมทั้งทำให้คนดูพากันหลงรักสองคาแร็คเตอร์หลักอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ด้วยปมเล็กปมน้อยกับบุคลิกน่ารักๆ Hunter เลยจับเอาจุดนี้มาคิดใหม่ทำใหม่ เขามองว่าหนังแนวหายนะแบบเดิมๆ มักเพิกเฉยต่อพลังดารา และไม่สนใจบทดีๆ ที่จะทำให้ตัวละครตรงหน้ามีชีวิตชีวา

ในเมื่อพลังดาราและคาแร็คเตอร์ที่ติดตาทำให้ผู้ชมเอาใจช่วยตัวละครให้รักกันได้ แล้วคิดดูสิครับว่าถ้าเอาพลังแบบนั้นไปใส่ลงในหนังที่ชีวิตของตัวละครต้องมาประสบอันตรายตายได้ทุกเมื่อ คนดูจะอินมากขนาดไหน

แล้วโปรเจคท์ที่ Hunter หมายมั่นพร้อมทั้งได้ George Seaton ผู้กำกับที่คร่ำหวอดกับหนังแนวรักกุ๊กกิ๊กแบบเน้นดาราและพลังแห่งบทเหมือนกัน (ผลงานเด่นก็เช่น Teacher's Pet (1958) หนังรักหวานอร่อยที่จับเอา Clark Gable มาพบ Doris Day) เขาทั้งคู่จัดการร่วมกันเอาเลือดเนื้อและชีวิตมาใส่ลงไปใน Airport (1970)

Airport หรือ เที่ยวบินมฤตยู เล่าถึงเรื่องราวของคนมากหน้าหลายตาที่ต่างก็ต้องมีชะตากรรมมาขึ้นเครื่องบินลำเดียวกัน แต่ที่นี้ดันมีชายคนหนึ่งเกิดคิดสั้นพกระเบิดขึ้นเครื่องไปด้วย กะว่าถ้าหมดหวังในชีวิตมากๆ ก็จะตายมันซะบนนั้นเลย อีแบบนี้เหล่ากัปตันและแอร์โอสเตสก็เลยต้องหาทางยับยั้งไม่ให้คนต้องมาตายกันยกลำ

แล้วความพยายามลองของใหม่ก็ไม่เสียหลาย หนังทุน $10 ล้านเรื่องนี้ทำเงินกระหน่ำไปถึง $100.4 ล้าน ตามด้วยการชิงออสการ์อีก 10 ตัว แต่คว้ามาได้ 1 ครับ จากการแสดงบทสมทบหญิงอันยอดเยี่ยมของ Helen Hayes คุณยายช่างพูดผู้น่ารักปนน่ารำคาญ แต่นั่นก็นับว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่งแล้วครับ

เหตุผลที่ทำให้ Airport จอดเทียบท่าหนังภัยพิบัติเรื่องแรกที่ประสบความสำเร็จสูงสุดเช่นนี้ ก็ตรงตามที่ผู้สร้างคิดไว้ เพราะดาราดังๆ มากันคับคั่ง ไม่ว่าจะ Burt Lancaster, Dean Martin, Jacqueline Bisset, George Kennedy และ Hayes อีกทั้งคนดูยังพากันลุ้นตัวโก่งตอนที่หายนะครั้งใหญ่กำลังจะเกิดกับคนบนเครื่อง พูดง่ายๆ คือผู้ชมผูกพันกับตัวละครส่วนใหญ่ไปแล้วน่ะครับ เลยไม่อยากเห็นพวกเขาต้องมาตายต่อหน้า ทำให้การปูพื้นสร้างความสัมพันธ์กลายมาเป็นมาตรฐานสำคัญที่คนทำหนังรุ่นหลังพากันเดินตามรอย

เรื่องต่อมาที่เดินตามรอยแต่ออกมาเหนือชั้นกว่าคือ The Poseidon Adventure (1972) หรือ เรือนรกที่ครั้งนี้เหตุไปเกิดกลางทะเล เมื่อเรือโพไซดอนลำใหญ่ยักษ์โดนคลื่นขนาดยักษ์ยิ่งกว่าซัดจนเรือพลิกคว่ำ คนกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่ตายเลยหาทางขึ้นไปสู่ผิวน้ำให้เร็วที่สุดก่อนเรือจะจมดิ่งลงก้นมหาสมุทร



แม้ชื่อชั้นดาราอาจไม่ขนมาดังสนั่นเท่า Airport (เรื่องนี้ได้ Gene Hackman, Ernest Borgnine และ Shelley Winters นำแสดง) แต่สิ่งที่เหนือกว่าคือแอ็กชัน ฉากเสี่ยงตายลุ้นระทึกที่ถึงอกถึงใจกว่า Airport หลายกิโลขีด โดยครึ่งแรกหนังก็ไม่ลืมที่จะแนะนำตัวละครให้รู้สึกผูกพัน ก่อนจะค่อยๆ พรากเขาไปจากหน้าจอทีละคน ยิ่งไปกว่านั้นคือการสร้างภาพความหายนะบนเรือโพไซดอนให้กลายเป็น “วายร้าย” ของเรื่องได้อย่างสุดยอด เหมือนเหล่าตัวละครต้องหนีจากเรือนรกที่ขนสารพัดอุปสรรคมาทำให้เหยื่อไม่รอดไปจากความร้ายกาจของมัน นี่แหละครับสีสันที่ทำให้ ภาพภัยพิบัติบนแผ่นฟิล์มไม่ใช่แค่สารคดีอีกต่อไป

ด้วยความเด็ดของหนังทำให้การเข้าชิง 8 รางวัลออสการ์ไม่ใช่เรื่องน่ากังขา คว้ามาได้สามตัว จากดนตรีประกอบและเพลงประกอบ ปิดท้ายด้วยรางวัลพิเศษสาขาเทคนิคพิเศษ (เยี่ยมจริงครับ ดูได้เลย)

The Poseidon Adventure อุดรอยรั่ว Airport ได้อย่างน่าปรบมือ (เรื่องแรกมีจุดอ่อนคือกว่าจะเกิดภัยก็ปาเข้าไป 10 นาทีสุดท้ายแล้ว) ซ้ำยังสร้างความทึ่งให้ผู้ชมเพราะใช้ทุนแค่ $5 ล้าน ได้คืนมาราว $84.5 ล้าน อันนี้ต้องขอชมผู้สร้างอย่าง Irwin Allen ที่ได้รับฉายาเป็นเจ้าพ่อหนังภัยพิบัติ เพราะพี่ท่านทำหนังแนวนี้บ่อยกว่าใคร

ถัดมาปี 74 ฮอลลีวู้ดก็ต้องเผชิญกับหายนะใหม่ๆ อีก 3 ระลอก อันแรกมาจาก The Towering Inferno (ตึกนรก) อภิมหาหนังแอ็กชันหายนะฟอร์มยักษ์ที่สุดของวงการ เป็นการร่วมทุนของ 20th Century Fox และ Warner Bros ส่วนคนอำนวยการสร้างก็คือ Allen เจ้าเก่า ดาราก็ขนระดับไฮไลท์ขึ้นจอ ตั้งแต่ Paul Newman, Steve McQueen, William Holden และ Faye Dunaway กับอีกเป็นโหลครับ บอกแล้วว่าของเขาใหญ่จริง ลงทุนไป $14 ล้าน กับความยาวเกือบ 3 ชั่วโมง ทุกคนจับตาตั้งแต่ตอนประกาศสร้างว่าจะออกมาหมู่หรือจ่า ผลคือโกยเข้ากระเป๋าไป $116 ล้าน ชิงออสการ์ 8 คว้ามาได้ 4 ตัว (กำกับภาพ, ตัดต่อภาพ, ดนตรีประกอบและเพลงประกอบ)

ผลงานชิ้นนี้จัดแจงใส่ความตื่นเต้นเต็มพิกัด ชั่วโมงแรกก็แนะนำตัวละครโดยแฝงอารมณ์ขัน น่าติดตามอยู่ตลอด พอเข้าสู่ชั่วโมงที่สอง ความตื่นเต้นกระหน่ำตลอดแบบไม่มีพัก ฉากเสี่ยงตายมากขึ้น คนที่ต้องเสียชีวิตก็ตายแบบน่ากลัวยิ่งขึ้น ส่วนเนื้อเรื่องก็ว่าด้วยตึกสูงเสียดฟ้าแห่งหนึ่งที่สูงมากจนมีคนตรวจสอบแล้วพบว่า หากเกิดไฟไหม้ขึ้นล่ะคนบนนั้นจะพากันโดยย่างสดหมด แต่ก็ตามสูตรครับพวกผู้บริหารและเจ้าของตึกฟังกันที่ไหนล่ะ ยังอุตส่าห์จัดงานที่ยอดตึกอีก ทีนี้พอเกิดเหตุไฟลุกขึ้นมาจริง ก็หนีไม่ทัน คนพากันตายแล้วตึกยังทำท่าจะถล่มลงมาอีก งานนี้ก็เลยต้องลุ้นว่าคนที่เหลือจะรอดมาหายใจอีกได้ไหม และรอดอย่างไร (อันหลังนี่แหละที่ลุ้นสุดตัว)

หายนะต่อมาก็คือแผ่นดินถล่ม ในหนังเรื่อง โลกแตก หรือ Earthquake ที่นำเอาเหตุการณ์แผ่นดินเคลื่อนใต้เมืองลอสแอนเจลิสมาสร้างเป็นเหตุการณ์หายนะครั้งใหญ่ เกทัพหนังภัยพิบัติทุกเรื่อง เพราะเรื่องก่อนๆ ก็เกิดแค่วงจำกัด แต่นี่ประกาศศักดาเลยว่าทั้งเมืองต้องจมธรณี พร้อมทั้งเอาดาราระดับลายครามแห่งยุค Charlton Heston และ Ava Gardner มาเสิร์ฟความบันเทิงให้คนดู ตามด้วยระบบเสียง Sensurround ที่มาใช้กับ Earthquake เป็นเรื่องแรก ทำให้ผู้ชมรู้สึกสะเทือนตามภาพตรงหน้าด้วย แต่ส่วนที่พร่องคือดราม่าที่พยายามสร้างยังไงก็ไม่ค่อยผูกพันเพราะดันผูกเรื่องพระเอกมีชู้เข้ามา คนดูเลยไม่ค่อยยอมรับ อีกทั้งเทคนิคพิเศษแม้จะดี แต่ความลุ้นระทึกกลับน้อยกว่า The Towering Inferno ข้อนี้เลยทำให้ Earthquake เสียรังวัดไปพอตัว เพราะประกาศว่าภัยใหญ่กว่า แต่ดันสนุกสู้ตึกไฟไหม้ไม่ได้ ด้านรายได้ก็ไม่ขี้ริ้ว ลงทุนไป $7 ล้าน ได้คืนมา $79 ล้าน

ปิดท้ายภัยพิบัติแห่งปี 74 ด้วย Airport 1975 (แล้วทำไมฉายปี 74 หว่า อิอิ) ภาคต่อของ Airport เจ้าตำรับหนังแนวนี้ ที่คนปลื้มน้อยกว่าเพื่อน จับเอาเหตุเครื่องบินจะตกมาเล่น ได้ Heston แสดงนำด้วย แต่ความสนุกเร้าใจสู้ต้นฉบับไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง ขนาดสู้หนังหายนะในปีเดียวกันยังแพ้หมดรูปเลย เพราะจับเรื่องดราม่าก็ไม่ติด ความตื่นเต้นก็ไม่เยอะ คำบ่นปากต่อปากเลยทำให้รายได้หนังหยุดอยู่แค่ $25 ล้าน นี่รวมทั่วโลกแล้วนะ!



และช่วงปี 1975 – 1978 คืออภิมหาวาระแห่งหนังหายนะครับ สร้างออกมาชนกันเพียบไปหมด ตั้งแต่ The Hindenburg (1975) หนังหายนะเรือเหาะนาซีของผู้กำกับ Robert Wise (The Sound of Music) แสดงโดย George C. Scott, The Cassandra Crossing (1976) ทีนี้เกิดเรื่องบนรถไฟครับ ได้ Sophia Loren มานำขบวนให้, Rollercoaster (1977) ที่งานนี้ไปเกิดเรื่องกับรถไฟเหาะครับ, Gray Lady Down (1978) กับ Heston (อีกแล้ว) ในหายนะบนเรือดำน้ำ และ City on Fire (1979) ได้ Henry Fonda มารับบทนักผจญเพลิงที่ต้องรับมือกับไฟผลาญเมือง

ไหนจะมีหนังภาคต่อของ Airport มาอีกสองตอน และ Beyond the Poseidon Adventure (1979) แล้วยังไม่หมดนะครับ Roger Corman เจ้าพ่อหนังเกรดบีก็ปั่นสารพัดหายนะออกมาแชร์ตลาดกับเขาด้วย หนักกว่านั้นก็คือทีวีนี่แหละครับ มีการทำหนังทีวีแนวบ้านเมืองถล่มแผ่นดินทลายกันเยอะไปหมด จนชาวบ้านช่วงนั้นถ้าไม่อ้วกออกมาเป็นภัยพิบัติ ก็พากันชินไปหมดแล้ว เจอหายนะทุกเวลาทุกสถานที่ (พอๆ กับตอนบ้านเราเจอท่านเปาจนหน้ามืดไปตามๆ กันนั่นแหละครับ) แต่ผลงานทั้งหมดที่ผมบอกไปไม่ว่าจะทุนหนาหรือทุนน้อย ต่างก็ออกมาแบบธรรมดา ไม่มีเรื่องไหนสู้งานก่อนหน้าอย่าง The Poseidon Adventure หรือ The Towering Inferno ได้เลยแม้แต่เรื่องเดียว

แล้วคำโบราณก็พูดถูก สูงสุดย่อมคืนสู่สามัญ ด้วยความที่ Disaster Film ออกมาเดินขบวนจนคนดูเอียน ส่งผลให้ทางตันมาถึงช่วงปี 1980 เมื่อหนังทุนสูงอย่าง The Swarm (1978) ว่าด้วยผึ้งบุกเมือง, Meteor (1979) ว่าด้วยดาวหางชนโลก และ When Time Ran Out... (1980) ที่จับเอาเรื่องภูเขาไฟระเบิดมาเป็นประเด็น

3 เรื่องนี้เจ๊งระนาว โดยเฉพาะเรื่องสุดท้ายที่ Allen ลงทุนไป $20 ล้าน แต่รู้ไหมครับว่าทำเงินเท่าไร... $1.7 ล้าน! ทั้งๆ ที่ดาราอย่าง Paul Newman, Jacqueline Bisset, William Holden, Ernest Borgnine และ Pat Morita มาผนึกกำลังกัน เอาชื่อเจ้าพ่อหนังภัยพิบัติอย่าง Allen เป็นประกัน หนังยังไปไม่รอด เท่านั้นละครับทุกโครงการที่ว่าด้วยหายนะถูกสตูดิโอทั้งหลายแช่เย็นหรือไม่ก็ทิ้งขยะกันหมด

เหตุที่หายนะมาเกิดกับหนังหายนะซะเอง เนื่องมาจากการกระหน่ำแย่งตลาดจนคนดูเอียนจนไม่รู้จะเอียนยังไง หันไปทางไหนมีแต่ภัยพิบัติ มิหนำซ้ำคุณภาพเรื่องบทที่เป็นจุดเด่นชั้นดีของ Disaster Film ต้นยุค 70 กลับหายไป คนทำยัดเยียดแต่ Effects Effects และ Effects ซึ่งไม่ได้เนียนอะไรมาก แค่ยัดฉากเสี่ยงตายเข้าไปเท่านั้น แต่ไม่มีเนื้อหาที่ดีพอ มิติตัวละครถูกละเลย เรียกว่าเดินทางผิด หนังเลยถึงทางตันในเวลาแค่ 10 ปีเท่านั้น

Disaster Film ก็เงียบหายไปเกือบ 20 ปีเชียวนะครับ (ทำเป็นพี่อินดี้ไปได้ ฮ่าๆ) ก่อนจะมีคนมาปลุกผีโดยไม่ตั้งใจ นั่นคือ Apollo 13 (1995) ที่อาจไม่ใช่หนังหายนะแท้ๆ แต่ก็เล่าถึงเรื่องราวนักบินอวกาศยานอพอลโล 13 ที่ต้องเปลี่ยนภารกิจกะทันหัน จากเดินทางไปดวงจันทร์เป็นกลับบ้านให้ได้แทน ความสนุกของหนังก็อยู่ที่สารพัดอุปสรรคแล้วแต่ธรรมชาติจะบันดาลให้ พวกนักบินต้องมาแก้ทีละเปราะ กว่าจะกลับบ้านได้เล่นเอาเหนื่อย

ผู้สร้างหลายเจ้าก็เริ่มได้ไอเดีย เพราะเทคโนโลยีมันก้าวไปไกล จนสามารถเนรนิตอะไรได้มากขึ้น ไม่ว่าจะหุ่นเหล็กโคตรเก่งใน Terminator 2: Judgment Day (1991) หรือไดโนเสาร์ใน Jurassic Park (1993) ทีนี้พอแนวเรื่องคล้าย Disaster Film อย่าง Apollo 13 ได้ไปตั้ง $172 ล้าน มันก็น่าเสี่ยงกันหน่อย

หัวหอกก็นำโดย Executive Decision (1996) ที่มาพร้อมกลิ่นอายหนังวินาศกรรมบวกภัยพิบัติ เมื่อผู้ก่อการร้ายยึดเครื่องบิน ทหารอเมริกันก็ต้องแห่ขึ้นไปกู้สถานการณ์ ซึ่งหนังก็อัดแน่นทั้งแอ็กชัน ความกดดันแบบไม่ยั้ง และตัวละครในเรื่องต่างก็มีมิติและเอกลักษณ์ หนังได้รับคำชมดีพร้อมโกยไป $60 ล้าน ซึ่งก็เป็นเรื่องแปลกดีที่เมื่อยุค 70 Disaster Film ก็เปิดศักราชโดย Airport หนังหายนะทางเครื่องบินเหมือนกัน



หนังภัยพิบัติมาบูมอีกรอบด้วย Twister (1996) ที่แสดงศักยภาพเหนือชั้นของ Special Effects พร้อมพล็อตรองที่ว่าด้วยคู่รักเท่าที่กำลังจะหย่ากัน มาสานสัมพันธ์รักอีกครั้งท่ามกลางการตามล่าพายุทอร์นาโด เรียกว่าครบเครื่องทั้งเรื่องลุ้นและเรื่องรัก ผู้ชมทั่วโลกเลยตอบสนองความสนุกด้วยการแห่เข้าไปจ่ายเงินถึง $494.4 ล้าน

พอได้ข่าวว่าหนังทำเงินขนาดนี้ ตอนนั้นผมนั่งคิดเลยว่า Disaster Film Returns แน่ ไหนจะได้ Independence Day (1996) มาปลุกกระแสหนังโลกวินาศอีก แล้วก็เป็นไปตามคาด ตั้งแต่พี่ Sylverter Stallone เอา Daylight (1996) มากำนัลผู้ชม ตามด้วยการชนกันของหนังภูเขาไฟปี 1997 อย่าง Dante's Peak และ Volcano ที่สนุกเอาเรื่อง แต่เงินได้ไปไม่ถึงเป้า ก่อนหนังหายนะจะขึ้นสู่จุดสุดยอดกับ Titanic (1997) ที่จับเอาเรื่องรักมาผสมกับฉากหายนะแบบถึงใจพระเดชพระคุณ จนได้เงินไปทั่วโลก $1,800 ล้าน กับออสการ์อีก 11 ตัว

หลังจากนั้นปี 1998 ก็มีอุกกาบาตมาชนโลกถึงสองรอบ ได้แก่ Deep Impact และ Armageddon ที่แม้จะแนวเดียวกัน แต่ต่างฝ่ายต่างก็มีหมัดเด็ดสร้างความบันเทิงเป็นอย่างดี เลยกอดคอกันโกยเงิน

ดูเหมือนว่าหนังหายนะในยุค 90 เรื่องมาถึง 2000 จะดังแบบพอดีๆ ไม่ตูมตามสร้างกันแบบถล่มทลาย จะสร้างแต่ละทีก็ต้องสร้างบทให้มีสมดุลย์ทั้งแง่ Drama และ Action เลยทำให้ Disaster Film ยุคใหม่ไม่ถึงทางตันง่ายๆ เพราะ Effect ดีอยู่แล้ว เพียงแค่ใจเย็นรอให้บทลงตัวสักหน่อย คนก็รอดูเอง เช่น The Perfect Storm (2000) ที่รับไปเหนาะๆ $180 ล้านในอเมริกา กับ The Day After Tomorrow (2004) ที่วาดภาพหายนะจากโลกร้อนได้ยอดเยี่ยมจนน่านะพรึง ก็สำเร็จได้เงินเป็นอย่างดี

แต่ที่พลาดพลั้งคะมำหงายเพราะเขียนบทไม่ลงตัวก็มีอย่าง Hard Rain (1997) หนังน้ำท่วมที่มีน้ำเยอะไปหน่อย เนื้อไม่มีเลยจนคนดูไปหาเนื้อที่อื่นดีกว่า, The Core (2003) ก็จับประเด็นแกนโลกหยุดหมุนมาเล่น แต่ดันพลาดไปนิดที่บทขาดลูกเล่น ดาราไม่น่าสนใจพอ แล้วดันมาทางเดียวกับ Armageddon แต่ทำได้ไม่ถึง ก็เลยฟุบสนิท ล่าสุดที่เสียงชื่อผู้กำกับ Wolfgang Petersen ไปเลยก็คือ Poseidon (2006) หนังรีเมค The Poseidon Adventure แต่ดันขายแต่ Effect ซ้ำยังฉีกแนวนำเสนอตัวละครให้ดูเห็นแก่ตัว น้ำใจไม่ค่อยมี บางคนก็น่ารำคาญ ไม่มีตัวไหนมีเสน่ห์เลย คนดูจึงรับไม่ได้ รายได้ก็พลอยหายไปด้วย

หนังแนวหายนะแบบนี้ก็ยังมีอีกเรื่อยๆ ครับ อย่าง 2012 นี่ก็เหมาะรวมภัยพิบัติไปเรียบร้อย ก็ให้ลุ้นต่อไปครับ ว่าจะมีอะไรมาสร้างความตื่นเต้นให้คนดูได้อีก

ไม่รู้ผมเป็นไปคนเดียวมั้ยนะครับ แต่การดูหนังแนวธรรมชาติพิโรธหลังๆ นี่มันให้อารมณ์สยองสมจริงจนน่าขนลุก ไม่ใช่เพราะเทคนิคพิเศษ แต่เพราะหลายๆ อย่างที่นักสร้างหนังทำนายไว้มันกำลังทยอยเกิดขึ้นทีละอย่างๆ
... หวังว่าเราจะแก้ไขทัน ก่อนมันจะสายไปกว่านี้




Create Date : 12 พฤษภาคม 2554
Last Update : 12 พฤษภาคม 2554 12:02:46 น. 3 comments
Counter : 5984 Pageviews.

 
ชอบหนังแนวนี้ครับ มีหลายเรื่องที่ยังไม่เคยดู ไม่แน่ใจว่าจะหาdvdดูได้รึเปล่า เล็ง The Poseidon Adventure กับ The Towering Inferno ไว้ ยังพอมีขายมั้ยครับ ขอบคุณมากๆที่เขียนให้อ่านครับ ติดตามเรื่อยๆ


โดย: คนดูหนัง IP: 192.168.108.49, 58.9.54.123 วันที่: 14 พฤษภาคม 2554 เวลา:15:03:41 น.  

 
ไม่มีรีวิวให้อ่านเหรอคร้บ


โดย: big IP: 202.29.53.1 วันที่: 27 พฤษภาคม 2554 เวลา:14:09:50 น.  

 
ขอบคุณมากครับ
เขียนได้ดีมากจริง จนผมต้องออกล่าหาหนังเก่าแนวนี้แล้ว


โดย: สุพรรณ usa IP: 76.174.91.80 วันที่: 19 เมษายน 2555 เวลา:23:00:35 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.