ค้นหารีวิวหนังเก่าๆ ได้ที่นี่ครับ
|
|
|
|
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 |
8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 |
15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 |
22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 |
29 | 30 | 31 | |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
Film Retro: Love Corner with Directors of Romance Episode II (มองมุมรักกับผู้กำกับหนังรัก ตอนจบ)
เป็นอย่างไรบ้างครับ การ Retro คราวก่อน ทำให้เพื่อนๆ อยากหยิบหนังรักของผู้กำกับอย่าง Nora Ephron และ Woody Allen ขึ้นมาดูบ้างหรือเปล่า (ท่านที่ยังไม่ได้อ่าน สามารถคลิ้กไปอ่านได้ ที่นี่นะครับ) หรือท่านใดเห็นว่าหนังยังไม่โดน แนวยังไม่ใช่ที่ต้องการสำหรับคอหนังรัก (ใช่ครับ บางคนเรียกร้องของหวานๆ) เล่มนี้เราก็ไม่รอช้าขอนำอีกสองผู้กำกับที่ถือว่าเป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่หนังรักโรแมนติกมือดี
คำเตือนประการเดียวสำหรับการดูหนังของผู้กำกับสองรายนี้คือ โปรดระมัดระวังใจท่านให้ดีๆ ไม่งั้นจะอินจนจมลึกไปกับหนังโดยไม่รู้ตัว เพราะพวกเขาทำหนังรักได้สมจริง พร้อมทั้งเคลือบช็อกโกแลตแบบเนียนนุ่ม รสชาติกลมกล่อมชวนเพ้อฝัน แต่ขณะเดียวกันเท้าท่านก็ยังติดดินไม่ไปไหน ซึ่งไม่ใช่ของง่ายเลยนะครับ
ผู้กำกับหนังรักหลายคนมักทำหนังแบบถ้าไม่ซึ้งสุดขีดจนน้ำเน่าไปเลย ก็จะทำแบบเบาๆ จนสุดท้ายเนื้อเรื่องก็โหวง แต่กับ Richard Curtis และ Nancy Meyers แนวทางการทำของทั้งสองต่างผสมผสานทั้งความเบาแบบโรแมนติกกึ่งฝันกลางวันเข้ากับความซึ้งที่ไม่เน่าจนคนดูเอียนได้อย่างลงตัว ... มารู้จักพวกเขากันเลยดีกว่าครับ
เจ้าพ่อหนังรักมีระดับแห่งอังกฤษ Richard Curtis
ผลงานการันตี: เขียนบท Four Weddings and a Funeral (1994), Notting Hill (1999), Bridget Jones's Diary (2001) เขียนบทและกำกับ Love Actually (2003)
ไม่ได้หมายความว่าหนังของคนอื่นไม่มีระดับนะครับ แต่หนังของเขาคนนี้น่ะมีระดับ ... งงไหมเนี่ย?
ผู้กำกับหนังรักคนเก่งคนนี้ ชื่อจริงคือ Richard Whalley Anthony Curtis เกิดที่นิวซีแลนด์ ฐานะของเขาก็ไม่ธรรมดานะครับ เป็นถึงลูกชายของผู้บริหารบริษัท Unilever เลยทีเดียว ชีวิตวัยเยาว์ของเขาต้องเดินทางย้ายถิ่นอยู่หลายประเทศ (เช่น สวีเดนและฟิลิปปินส์ เป็นต้น) จนกระทั่งเขาอายุ 11 ปีถึงได้มาอยู่ประจำที่อังกฤษเข้าโรงเรียนเพพเพิลวิค ก่อนจะคว้าทุนไปเรียนต่อที่ฮาโรว์ โรงเรียนมีชื่ออีก ตามด้วยการจบมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดด้วยคะแนนระดับยอดเยี่ยมในสาขาภาษาอังกฤษเอกวรรณกรรม เก่งไม่ใช่เล่นเลยนะครับพี่แกเนี่ย
ที่อ็อกซ์ฟอร์ดนั้นเอง Curtis ได้พบกับเพื่อนซี้นามว่า Rowan Atkinson หรือมิสเตอร์บีนนั่นเอง ระหว่างนั้น Curtis ก็เริ่มทำงานเขียนบทภาพยนตร์พวกซีรี่ส์ตลกอาทิ Not the Nine O'Clock News จากนั้นเขากับ Atkinson ก็กอดคอกันดังรอบแรกไปจากซีรี่ส์สุดฮาแนวย้อนยุคว่าด้วยอัศวินดำจอมเปิ่นที่ออกฉายในช่วงปี 1983 - 1989 เรื่อง Blackadder (คนแสดงนำก็คือ Atkinson นั่นแหละ) แต่งานชิ้นที่แจ้งเกิดแบบระเบิดระเบ้อให้พวกเขาหนีไม่พ้น Mr.Bean ที่ออกฉายครั้งแรกปี 1990 พร้อมโกยคำชื่นชมไปมหาศาล ยอดผู้ชมก็มากมายชนิดที่ดูกันเกือบทั้งเกาะอังกฤษ ยอดขายวีดีโอยังทะลุเป้าไปทั่วโลก ถือเป็นประวัติการณ์ที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนเลยครับ
ในช่วงแรกของชีวิตการเป็นนักเขียนบท Curtis มีชื่อมากในเรื่องการผูกบทสนทนาได้น่าสนใจ เรียกได้ทั้งเสียงฮาและความลุ่มลึกบางอย่างที่แฝงไว้ แม้ Mr.Bean จะไม่ได้มีบทสนทนาเยอะก็เถอะ แต่ด้านการสร้างฉาก การกำหนดสถานการณ์ให้เรื่องราวน่าติดตามนั้นก็ทำให้เขาได้รับคำชื่นชมไปไม่น้อย
ด้วยนิสัยส่วนตัวของเขาที่ชอบสังเกตผู้คนและความเป็นไปต่างๆ ซึ่งเห็นได้จากผลงานของเขาจะเน้นสถานการณ์และรายละเอียดจนสามารถหยิบยกทุกสิ่งในฉากนั้นมาเร้าอารมณ์ได้เสมอ ไม่ว่าจะให้คนดูขำหรือเศร้า พร้อมทั้งนำเสนอมันออกมาในรูปแบบใหม่ถอดด้าม (ก็เคยมีคนทำซีรี่ส์ต๊องระดับ Mr.Bean มาก่อนหน้านี้ไหมล่ะครับ) Curtis จึงเริ่มคิดอ่าน อยากทำหนังแนวรักที่ไม่ใช่แค่ตัวละครมาบอกรักกันแล้วจบ เขาตั้งใจทำมันให้ลึกลงไปอีกระดับ ให้ผู้ชมได้เห็นความสัมพันธ์และพัฒนาการ พร้อมคำพูดที่คมคายได้แง่คิดผสมกับการวิพากษ์รูปแบบความรักของคนในปัจจุบัน
นั่นนำมาสู่ผลงานรักที่ดังไปทั้งโลกเรื่อง Four Weddings and a Funeral (กำกับโดย Mike Newell) ที่แจ้งเกิด Curtis ในฐานะนักเขียนบทหนังรักมือทอง ต้นทุนแค่ไม่กี่ล้าน แต่กระหน่ำทำรายได้ไป 244 ล้านเหรียญจากทั่วโลก ทำสถิติหนังจากเกาะอังกฤษที่โกยเงินสูงสุด ตามด้วยการเข้าชิงออสการ์และลูกโลกทองคำในสาขาภาพยนตร์และบทยอดเยี่ยม และส่งให้ Hugh Grant กลายเป็นพระเอกในฝันของสาวๆ นับแต่นั้น
จุดที่ทำให้ Four Weddings and a Funeral ได้รับความนิยมก็ด้วยความเฉียบของหนัง ตั้งแต่บทพูดที่ทั้งฮาและ แทรกจิตวิทยาลงไปอย่างพอเหมาะ ตามด้วยตัวละครที่แม้จะเยอะแต่ก็แบ่งความเด่นกันแบบทั่วถึง นอกจากนี้แต่ละคนยังแสดงได้น่ารัก บรรยากาศในเรื่องก็สวยงามตามสไตล์หนังอังกฤษ และที่ลืมไม่ได้คือการวิจารณ์ความรักของชาร์ลส (Grant) พระเอกในเรื่องที่เป็นหนุ่มอังกฤษซึ่งบางครั้งก็เก็บงำความรู้สึกเกินไปหรือไม่ก็เอาแต่วาดฝัน ราวกับ Curtis พยายามจะบอกหนุ่มอังกฤษร่วมชาติว่า ความรักที่เอาแต่เหนียมอายไร้การแสดงออก ซ้ำยังติดอยู่กับการวาดหวังนั้นมันจะนำมาซึ่งความสมหวังได้อย่างไร!
... สงสัยประเด็นนี้คงถูกใจต่อมในตัวหนุ่มเมืองผู้ดี เพราะรักแท้นั้นหาใช่เจอแล้วรู้ไม่ มันต้องใช้เวลา บางครั้งอาจมีสิ่งที่นอกเหนือความคาดหมายทำให้ใจไม่เป็นสุขบ้าง แต่ใช่ว่ามันจะเป็นข้ออ้างให้เราเลิกผูกสัมพันธ์กับใคร
Four Weddings and a Funeral ยังมีประเด็นปลีกย่อยเกี่ยวข้องกับความรักอีกเพียบ ทำให้ผู้ชมพากันประทับใจ ส่วน Curtis นั้นก็ไม่ยอมหยุดนิ่ง หาพล็อตดีๆ สำหรับหนังรักลำดับต่อไป ซึ่งเขาได้ไอเดียในคืนหนึ่ง ว่ามันจะเป็นอย่างไร หากชายหนุ่มที่แสนจะธรรมดาคนหนึ่งได้เดินเที่ยวกับดาราดังที่รู้จักไปทั่วโลก ท่านคงรู้แล้วใช่ไหมครับว่ามันคือหนังเรื่องอะไร
สมัยก่อนผมเคยคิดนะครับว่า มันจะเป็นยังไงถ้าผมได้ไปดินเนอร์ที่บ้านเพื่อนพร้อมกับพาดาราดังแห่งยุคไปด้วย อาจจะเป็นมาดอนน่าหรือใครก็ตาม เพื่อนผมจะมีปฏิกิริยายังไง การดินเนอร์ครั้งนั้นจะออกมาแบบไหน และพอกินกันเสร็จแล้วพวกเขาจะพูดถึงผมกันอย่างไร Curtis เล่าถึงไอเดียที่ก่อให้เกิด Notting Hill
ไม่ใช่เรื่องแปลกครับที่งานนี้จะทำเงินกระหน่ำหนักกว่าเก่า พร้อมด้วยคำชมอีกหลายกระบุง เพราะเนื้อหามันผสมเอาหนังรักโรแมนติกเข้ากับเรื่องราวแบบเทพนิยายสไตล์ซินเดอเรลล่า ที่คราวนี้สลับให้ชายธรรมดาได้เจอเจ้าหญิงแทน มันเป็นเหมือนความฝันของผู้ชายทุกคนที่จะได้พบรักกับดาราสาวชื่อก้องโลก ส่วนผู้หญิงก็อยากเข้าไปสัมผัสเรื่องราวแบบนี้ไม่แพ้กัน ผลก็คือมีคนควักกระเป๋าจ่ายเงินให้หนังเรื่องนี้ รวมแล้ว 363 ล้านเหรียญจากทั่วโลก ทุบสถิติ Four Weddings and a Funeral กลายเป็นหนังอังกฤษที่ทำเงินสูงสุดตลอดกาลทันที
แต่คุณเชื่อไหมครับว่า Curtis เคยบ่นร่ำๆ ว่าไม่ค่อยพอใจกับงานชิ้นนี้ จนเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ทราบไหมว่าวาระที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตของผม คือตอนนั่งดู Notting Hill แล้วรู้สึกว่า นี่มัน Four Weddings and a Funeral นี่หน่า!
ด้วยเหตุนั้นเอง Curtis เลยตัดสินใจทำหนังเรื่องใหม่ที่ไม่ใช่แค่เรื่องรักๆ หนุ่มสาวอีกต่อไป (กลัวเขียนไปเขียนมาแล้วมันจะซ้ำเดิมอีก) พร้อมกุมบังเหียนกำกับเอง อันนำมาสู่หนังรักในดวงใจคนเกือบทั้งโลก Love Actually ที่เขาตั้งใจจะเล่าเรื่องความรักอันหลากหลายรสชาติ หลายมุมมองมาถ่ายทอด ซึ่งถือเป็นงานที่ท้าทายมากสำหรับนักทำหนังครับ เพราะการจะคุมเรื่องราวของตัวละครแค่ไม่กี่ตัวนี่ก็ยากแล้ว แต่ Curtis ใส่มาทีเดียวเป็นสิบตัว ซ้ำแต่ละคนก็ยังมีเรื่องราวเฉพาะตัวอีก ซึ่งเขาได้หยิบยืมสไตล์ของ Robert Altman ผู้กำกับผู้ล่วงลับมาใช้ ถ้าใครคุ้นเคยกับงานของ Altman คงเข้าใจนะครับ ว่าหนังของลุงคนนี้แกจะรวมดาราและชอบเดินเรื่องเหตุการณ์หลายๆ อันไปพร้อมกัน (งานชั้นครูของ Altman ที่บันดาลใจให้ Curtis ทำเรื่องนี้ก็คือ Nashville)
ตอนประกาศสร้างมีนักวิจารณ์บางคนออกมาบอกว่า ถ้าเนื้อเรื่องเยอะแบบนี้ ไปทำเป็นซีรี่ส์หรือไม่ก็ให้ความยาวมันสักสี่ชั่วโมงจะดีกว่ามั้ง แล้วไงครับ ออกมาเยี่ยมโคตร เล่าครบทุกองค์ประกอบในเวลาเพียงสองชั่วโมง!
เจตนาการทำ Love Actually ของเขาไม่ใช่แค่จะพิสูจน์ตนเองเท่านั้น แต่ Curtis ยังทำเพื่อบอกเล่าเรื่องราวความรักอันหลากหลาย ไม่จำกัดคำว่า รัก อยู่เพียงรักหนุ่มสาวเท่านั้น มันยังมีความรักอีกหลากหลายให้คนใส่ใจและไม่ว่ามันจะเป็นแบบไหนความรักก็เป็นสิ่งสวยงามเสมอ ขอเพียงใจคนมีรัก สิ่งดีๆ ก็จะเกิดขึ้นตามมาได้
อย่างที่บอกไงครับ Curtis เขาชอบสังเกตเรื่องราวรอบตัว และผลจากการสังเกตนั้นก็ได้มาเป็นเรื่องราวอันแสนจะหฤหรรษ์ใน Love Actually ที่เล่าถึงความรัก ด้วยหัวใจที่รักภาพยนตร์ และรักที่จะเห็นคนรักกัน นี่แหละผมจึงจำกัดความว่าเขาคือคนทำหนังรักอย่างมีระดับ ไม่ได้แปลว่าทำหนังให้ดูไฮโซ หรือดูมีคลาสหรอกนะครับ ระดับที่ว่าคือมีมาตรฐานในการทำงานที่ยอดเยี่ยม ปักหมุดความเฉียบขาดสำหรับหนังรักเอาไว้ ให้คนทำหนังรักทั้งหลายพากันไต่ระดับตามมาให้ถึง
งานชิ้นมาของ Curtis มีชื่อว่า The Boat That Rocked ซึ่งไม่ใช่โรแมนติกอีกต่อไป หลายคนก็ออกมาให้ความเห็นว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะ Curtis ได้มาถึงจุดสูงสุดสำหรับคนทำหนังรักโรแมนติกแล้ว เลยอยากเปลี่ยนแนวดู และ Love Actually คืองานระดับมาสเตอร์พีซชิ้นที่ว่านั้นเอง
นั่นล่ะครับ เจ้าพ่อหนังรักคนปัจจุบันที่ยังไม่มีใครมาลบสถิติได้ (และน่าจะหาคนลบสถิติได้ยากยิ่ง) ซึ่ง Curtis สร้างสรรค์หนังรักจากการสังเกต พร้อมอารมณ์ที่สดใส อีกทั้งยังถือเป็นตัวแทนการวิจารณ์สไตล์ความรักของผู้ชายจากมุมมองผู้ชายด้วยกัน ทีนี้ผมจะนำท่านไปรู้จักกับคนทำหนังรักที่เสมือนเป็นตัวแทนฝ่ายหญิงกันบ้าง
เจ้าแม่หนังรักแบบเข้าใจรักแห่งอเมริกัน Nancy Meyers
ผลงานการันตี: กำกับ The Parent Trap (1998), What Women Want (2000), Something's Gotta Give (2003) และ The Holiday (2006) (และเขียนบททุกเรื่อง ยกเว้น What Women Want)
รายนี้ชั่วโมงบินในฐานะผู้กำกับน้อยแค่ประมาณสิบปี แต่มาแรงแซงโค้งใครต่อใครแบบไม่เห็นฝุ่น เหตุผลง่ายมาก เพราะเธอทำหนังโรแมนติกออกมาได้ถึงวิญญาณ ... โคตรๆ
คอหนังทั้งหลายอาจเพิ่งมารู้จักเธอตอนทำ What Women Want แต่ผมติดตามผลงานของเธอมาตั้งแต่สมัยยังทำงานร่วมกับอดีตสามี Charles Shyer เจ้าของผลงานที่ผมชอบตลอดกาลอย่าง Father of the Bride ทั้งสองพบรักกันในวงการหลังกล้อง เมื่อ Shyer เขียนบทหนังมาสักเรื่อง Meyer ก็จะช่วยเกลาให้ และบทหนังเรื่องแรกที่ทั้งคู่ทำร่วมกันคือ Private Benjamin (1980) ที่ส่งให้ Goldie Hawn เข้าชิงออสการ์ พร้อมทั้งบทหนังที่ทั้งคู่ช่วยกันเขียนก็เข้าชิงออสการ์ไปอีกหนึ่งรางวัล และทั้งคู่ก็ตกลงปลงใจใช้ชีวิตร่วมกันในปีนั้นเอง
ทั้ง Shyer และ Meyers ได้ร่วมกันทำหนังออกมาอีกหลายเรื่อง แต่ละเรื่องก็สนุกสนาน แฝงประเด็นความรักในครอบครัวลงไปอย่างน่าปรบมือ เรื่องที่ประสบความสำเร็จสูงสุดหนีไม่พ้น Father of the Bride ที่ได้ทั้งเงินและได้คำชม ทำให้ชื่อของ Shyer เป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่ก็มีคำพูดวงในกล่าวว่าความสำเร็จแท้ๆ ของหนังทั้งหลายที่ Shyer กำกับมาจากแรงผลักดันของ Meyers ผู้เป็นภรรยาเป็นสำคัญ โดยเฉพาะบทภาพยนตร์ที่ผู้รู้ต่างบอกว่าเธอเป็นคนเติมทั้งอารมณ์ขัน, ความอบอุ่นและมิติตัวละครลงไป ซึ่งตอนนั้นคนส่วนใหญ่ยังไม่ปักใจเชื่อนัก
Meyers นั่งเก้าอี้กำกับครั้งแรก (และทำได้ดีมากๆ) ใน The Parent Trap หนังที่แจ้งเกิด Lindsay Lohan ในบทฝาแฝดสุดน่ารัก เนื้อเรื่องก็ว่าด้วยฝาแฝดแอนนี่และฮอลลี่ (สองชื่อนี้แท้จริงแล้วคือชื่อของลูกสาวของ Meyers เองครับ) ที่ต้องหาทางเชื่อมรักระหว่างคุณพ่อกับคุณแม่ที่แยกทางกันไปหลายสิบปี ให้ครอบครัวกลับมาอบอุ่นอีกครั้ง ก็ไม่รู้เป็นลางอะไรหรือเปล่า เพราะพอกำกับหนังเรื่องนี้เสร็จปีต่อมา (1999) Shyer และ Meyers ก็ปิดฉากความสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยาลง
ไม่มีใครทราบรายละเอียดเรื่องการแยกทางของคนทั้งสองนัก รู้เพียง Shyer แต่งงานใหม่ในอีกหลายปีต่อมา ทำให้หลายคนพากันคาดการณ์ไปว่าแนวทางการทำหนังของ Meyers นับจากนั้นจะออกมาอีหรอบเดียวกับสมัย Nora Ephron ทำ Heartburn ด้วยความโกรธเคืองบุรุษเพศหรือไม่
งานชิ้นต่อมาคือ What Women Want หนังเรื่องเดียวที่ Meyers กำกับโดยไม่ได้เขียนบทเอง เนื่องจากบทหนังโดนใจจนเธอยินดีรับหน้าที่กำกับ พระเอกของเรื่องคือนิค มาร์แชลล์ (Mel Gibson) สามีและคุณพ่อที่ไม่ได้เป็นที่รักของลูกเมียเพราะเขาไม่เคยคิดจะเข้าใจผู้หญิงเอาแต่คิดถึงแต่ตัวเองเพียงอย่างเดียว จนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุไฟฟ้าช็อต ส่งผลให้นิคสามารถได้ยินความคิดของเพศหญิงได้ ตอนแรกเขาก็เพลินกับพลังอันนี้ล่ะครับ กะใช้มันหาผลประโยชน์พร้อมทั้งใช้มันขโมยไอเดียงานดีๆ มาจาก ดาร์ซี่ แม็คไกวร์ (Helen Hunt) คู่แข่งคนสำคัญที่คอยขวางไม่ให้เขาเลื่อนตำแหน่งในบริษัท แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไปเขาก็เรียนรู้ว่าการเข้าใจคนรอบตัวอย่างลูกสาวและคนรักนั้นมีค่ากว่างานหรือเงินทองเป็นไหนๆ
บรรดาแฟนหนังของเธอคาดว่าหนังคงด่าบุรุษเต็มที่ แต่ไปๆ มาๆ หนังออกมาในเชิงจิกกัดแบบน่ารักๆ ซ้ำเรื่องอย่างการที่นิคขโมยไอเดียของดาร์ซี่ไปใช้สร้างหน้าตาให้ตน ก็เหมือนจะเป็นการว่ากระทบถึงสามีเก่า แต่บทสรุปนั้นกลับกลายเป็นว่านางเอกเข้าใจและพร้อมจะให้อภัยเสมอ ตามด้วยการถ่ายทอดเรื่องราวแบบเข้าใจผู้ชายชนิดที่หนุ่มๆ ฮากันกลิ้งกับพฤติกรรมทั้งหลายของนิค (เช่น พูดโม้โอ้อวด เอาแต่งานเป็นใหญ่ ปากบอกว่ารักลูกเมียแต่ไม่เคยเข้าใจพวกเธอเลย เป็นต้น)
ด้วยความลงตัวของหนังก็ทำให้มันฮิตโกยเงินเกือบสองร้อยล้านเฉพาะในอเมริกา ทำให้ชื่อของเธอกลายเป็นที่รู้จักในทันที พร้อมทั้งข่าววงในที่ว่า ความอบอุ่นในผลงานเก่าที่เธอเคยทำร่วมกับสามีนั้นมาจากฝีมือของเธอหรือไม่ ก็ได้รับคำตอบ เพราะใน What Women Want และทุกเรื่องที่เธอทำต่างก็มีองค์ประกอบของอารมณ์ขัน ความอบอุ่น และมีมิติครบถ้วน ในขณะที่หนังของ Shyer หลังจากนั้นไม่มีอะไรที่ว่านี่เลย (และแล้ว ปริศนาก็ไขกระจ่าง!)
Meyers เคยพูดถึงการที่เธอให้ความสำคัญกับมิติภาพรวมของคาแร็คเตอร์ เพราะมันเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง เราไม่มีทางรู้ได้ว่าสาวคนนั้นจะรักหนุ่มคนนั้นได้อย่างไร จนกว่าเราจะสร้างบุคลิกของเธอให้ชัดเจน คุณถึงจะทราบว่าเธอจะรักหนุ่มแบบไหน และหนุ่มแบบไหนที่เหมาะกับเธอ นี่คือหลักการหนึ่งที่เธอใช้ในการสร้างเรื่องราวมาตลอด เรื่องบรรยากาศและอารมณ์จะตามมาเอง หากมีตัวเอกที่มัดใจผู้ชมแล้ว
Something's Gotta Give และ The Holiday คือสองผลงานล่าสุดที่ครบถ้วนทั้งความอบอุ่น น่ารัก อุดมด้วยพลังดาราและความเข้าใจเบื้องลึกของตัวละคร ในเรื่องแรกนั้นว่าด้วยความสัมพันธ์ของชายหญิงสูงอายุ (Jack Nicholson และ Diane Keaton) ที่ฝ่ายชายก็ไม่ยอมรับความชราของตัวเอง เอาแต่หาปี๊บไล่เตะ ส่วนฝ่ายหญิงก็ห่อเหี่ยวเปลี่ยวใจเพราะไม่มีคนดูแลหัวใจมานาน แต่แล้วทั้งสองก็มาลงเอยกันด้วยความเข้าใจ... เข้าใจตนเอง เข้าใจกันและกัน
ส่วนเรื่องหลังก็หยิบเอาเนื้อหาการเดินทางเพื่อดามแผลใจของสองสาว (Cameron Diaz และ Kate Winslet) ที่หัวใจแตกสลาย เลยถือโอกาสช่วงวันหยุดแลกบ้านกัน เพื่อลืมรักเก่าที่ไม่เข่าท่า และหารักใหม่ที่แสนสวยงาม ซึ่งก็เดินเรื่องได้อารมณ์จนสาวๆ บ้านเราพากันอินอยากเข้าเน็ตประกาศแลกบ้านเพื่อหารักแท้บ้าง
Nancy Meyers เป็นผู้หญิงที่ละเอียดอ่อนมากคนหนึ่ง สังเกตได้จากหนังครับ เธอไม่ละเลยความลึกของตัวละครไม่ว่าจะฝ่ายชายหรือหญิง จนนักวิจารณ์อเมริกันยกให้เธอเป็นผู้กำกับหญิงแถวหน้าที่สามารถสร้างคาแร็คเตอร์ได้มีเสน่ห์ที่สุด นอกจากได้บรรยากาศที่อบอุ่นแล้ว ยังรู้สึกราวกับคนทั้งหลายในจอหนังนั้นมีชีวิต
มีคนกล่าวว่าที่ Nancy Meyers ทำหนังรักได้ออกรสเพราะเธอเข้าถึงหัวใจแท้จริงของความรัก... เธอเข้าใจคนและให้อภัยเสมอ ซึ่งนั่นคือนามปากกาแนบท้ายประจำในหนังของเธอ... ผมว่าจริงนะครับ ไม่เชื่อเหรอ ... ลองดูผลงานล่าสุดของเธออย่าง It's Complicated สิครับ ผมว่าหลังจากคุณทราบเรื่องราวคร่าวๆ ของเธอแล้ว คุณน่าจะดูหนังเรื่องที่ว่าได้สนุกขึ้นนะ
Create Date : 03 พฤษภาคม 2554 |
Last Update : 6 พฤษภาคม 2554 10:20:20 น. |
|
3 comments
|
Counter : 2469 Pageviews. |
|
|
|
โดย: คนขับช้า วันที่: 14 กรกฎาคม 2554 เวลา:14:51:04 น. |
|
|
|
|
|
|